Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2535
"โครงการรถไฟฟ้า กทม. ยืดเยื้อ ธนายงเร่งสัญญาหวั่นพิษการเมือง"             
 


   
search resources

ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ, บมจ.
ธนายง, บมจ.
Transportation




ข่าวการลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ของจำลอง ศรีเมืองเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในนามหัวหน้าพรรคพลังธรรมเมื่อเร็ว ๆ นี้ถ้าวิเคราะห์ผลกระทบในเชิงธุรกิจเกี่ยวกับโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร นับว่าเป็นเรื่องราวที่ไม่ธรรมดา เพราะขณะนี้ร่างสัญญาสัมปทานโครงการสองหมื่นล้านนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีพลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดีเป็นรัฐมนตรีว่าการฯ ก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีลงมติในที่สุด

"โดยส่วนตัวนายกอานันท์ ท่านเห็นชอบในหลักการที่โครงการนี้จะแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ได้ แต่ถ้าไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ทันจริง ๆ คิดว่าจะมีปัญหาได้โครงการอาจจะล่าช้าไป เพราะไม่ทราบว่าระหว่างเปลี่ยนแปลงนั้นใครจะมาดูแลแทน" บำเพ็ญ จตุรพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธาเล่าให้ฟัง

โครงการรถไฟฟ้า กทม. นี้เกิดขึ้นในยุคของพลตรี จำลอง ศรีเมืองเป็นผู้ว่าฯ กทม. เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตจราจรในกรุงเทพฯ โดยมีเส้นทางสองสาย คือ สายที่หนึ่งอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงแยกถนนสุรศักดิ์ ผ่านถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนราชดำริ ถนนสีลมระยะทาง 6 กิโลเมตร สายที่สองสายสุขุมวิท จากแยกคลองตันถึงแยกปทุมวัน ผ่านถนนสุขุมวิท ถนนเพลินจิต และถนนพระรามที่ 1 ระยะทางยาว 8.5 กิโลเมตร

ผู้ที่ได้รับสัมปทานโครงการ 30 ปีนี้คือกลุ่มธนายง ซึ่งเสนอในนามของ "บริษัท บางกอก ทรานซิส ซิสเต็ม จำกัด" หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "บีทีเอส" เป็นการร่วมทุนของธนายงกับบริษัทชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น บริษัทซิโต และบริษัทดิคไค โฮฟฟ์ แอนด์ วิดมันน์จากเยอรมนี กลุ่มธนายงเป็นผู้ลงทุนเบ็ดเสร็จในโครงการนี้ 100%

ศึกชิงชัยในงานประมูลครั้งนี้ กลุ่มธนายงคว้าชัยชนะได้เพราะความสามารถด้านการเงินลงทุน 2 หมื่นล้านในโครงการนี้และเทคนิคที่ใช้ระบบรถไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และปรับอากาศ ที่มีรถ 24 ขบวนที่มีกำลังส่งผู้โดยสารได้ประมาณชั่วโมงละ 2 หมื่นคนต่อทิศทาง อีกทั้งค่าโดยสารในขณะประมูลมีอัตราต่ำกว่ารายอื่น กลุ่มธนายงเสนอเก็บเพียงคนละ 12 บาทต่อคนต่อทิศทาง

แต่เมื่อต้นปีนี้ ผลกระทบจากภาษีมูลค่าเพิ่มต่อโครงการรถไฟฟ้า กทม. ทำให้บริษัทได้ร้องเรียน กทม. ว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น 7% และคณะกรรมการพิจารณาโครงการฯ ได้ตรวจสอบและพบว่าโครงการได้รับผลกระทบจากภาษีใหม่นี้ประมาณ 900 ล้านบาท ดังนั้นผู้บริหาร กทม. จึงให้กลุ่มธนายงกู้ยืมเงินจำนวน 500 ล้านบาทโดยไม่คิดดอกเบี้ย และใช้วิธีทยอยจ่าย 100,200 และ 200 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปี 2537 ตามลำดับ

"เมื่อเปลี่ยนมาใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มก็ทำให้ค่าใช้จ่ายเขาสูงขึ้นช่วงแรกทางบริษัทชี้แจงว่าสูงถึง 2 พันล้านบาท แต่เมื่อคณะกรรมการศึกษาอย่างละเอียดแล้วพบว่า สูงกว่าเดิมเพียง 900 ล้านบาท กทม. ก็ให้ธนายงกู้ยืมเงิน 5 ร้อยล้านโดยไม่คิดดอกเบี้ย" ร.อ. กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา รองผู้ว่าฯ กทม. ฝ่ายการโยธาแถลงเหตุผลเรื่องเงินกู้ยืม

นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ได้อนุมัติให้มีการขึ้นอัตราค่าโดยสารเป็น 15 บาท ตลอดสาย ซึ่งเป็นข้อเสนอเดียวกับที่กลุ่ม ช. การช่างที่ร่วมกับธนบุรีพาณิชย์เสนอแล้ว แต่ต้องมาพ่ายแพ้ให้กับกลุ่ม ธนายงในที่สุด

"ผมยืนยันได้เลยว่า ไม่มีปัญหาเพราะค่าใช้จ่ายในการสร้างอู่โรงซ่อมนั้นมีประมาณ 5 พันล้านบาท ซึ่งทางบริษัทยินดีจ่ายอยู่แล้ว 2 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือ 3 พันล้านบาทนั้น จากการหารือกันพบว่าสามารถปรับเข้าหากันได้ ผมยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการซุกซ่อนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด ไม่ต้องห่วง ผมมั่นใจโครงการนี้เกิดขึ้น 100%" คีรี กาญจนพาสน์รับปากหนักแน่น

แท้จริงแล้วขุมทรัพย์ที่ซ่อนในโครงการรถไฟฟ้า กทม. นี้ฝังอยู่ในพื้นดินที่กลุ่มธนายงสามารถเอาไปพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ได้ พื้นที่ดังกล่าวจะนำมาสร้างเป็นอู่ซ่อมรถ (WORKSHOP) ซึ่งในตอนแรกทางกรุงเทพมหานครได้พิจารณาที่ดินอยู่ 4 แห่งคือบริเวณสวนจตุจักร บริเวณซอยรางน้ำ บริเวณสวนลุมพินีและบริเวณโรงสูบน้ำพระโขนง

แต่ความปรารถนาสูงสุดของกลุ่มธนายงที่ต้องการจะได้บริเวณซอยรางน้ำก็ต้องมีอันล้มเหลวไป เพราะที่ดินบริเวณนี้เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ 25 ไร่ใจกลางเมือง ทาง กทม. ได้ทำสัญญาเช่ากับทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเวลา 30 ปีมูลค่าเช่า 300 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่วนรวม คือทำสวนสาธารณะโดยไม่หวังผลตอบแทนทางธุรกิจ ดังนั้นการจะนำมาสร้างเป็นอู่ซ่อมรถไฟฟ้าและพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ก็ผิดวัตถุประสงค์ดังกล่าวไป

"ทางธนายงเองต้องการที่จะใช้พื้นที่ที่สวนลุมพินี และที่ช่องนนทรีเพื่อสร้างเป็นอู่หรือที่จอดรถ เพราะที่ซอยรางน้ำนั้นไม่สามารถจะดำเนินการให้ธนายงได้ทัน เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ที่อื่นแทน ทาง กทม. อยากที่จะให้พื้นที่ซอยรางน้ำนั้นแต่ก็ติดขัดปัญหาในหลาย ๆ ด้านถ้าไม่ติดขัดปัญหาที่ซอยรางน้ำและภาษีมูลค่าเพิ่มโครงการดังกล่าวน่าจะเสร็จไปนานแล้ว" รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงอุปสรรคล่าช้าในโครงการ

อย่างไรก็ตาม ทางกรุงเทพมหานครก็ได้พยายามหาทางออกให้กลุ่มธนายงได้ในที่สุด พื้นที่ที่สร้างอู่ซ่อมรถจะใช้บริเวณพื้นที่ที่ช่องนนทรีจำนวน 7 ไร่ บริเวณสวนลุมพินีซึ่งเดิมจะให้ 10 ไร่ก็เพิ่มเป็น 20 ไร่ และผู้รับสัมปทานสามารถสร้างเป็นอาคารพาณิชย์หรือห้างสรรพสินค้าเพื่อขายได้ รวมทั้งบริเวณที่รับส่งผู้โดยสารด้วย

ผลตอบแทนจากการพัฒนาที่ดินมูลค่ามหาศาลจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับโครงการรถไฟฟ้า กทม. ที่กลุ่มธนายงเข้ารับสัมปทานครั้งนี้ เส้นทางสู่ความฝันของคีรี กาญจนพาสน์เริ่มก่อรูปร่างเป็นจริงขึ้น เพียงแต่สามารถก้าวข้ามสู่ขั้นตอนการเซ็นสัญญา

กลุ่มธนายง ผู้ได้รับสัมปทานนี้จึงเสมือนไต่เส้นลวดการเมือง ที่ต้องอาศัยการประคองตัวอย่างดีมาก ๆ รวมทั้งเร่งเซ็นสัญญาให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงสูงจากพิษการเมือง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us