Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน26 กุมภาพันธ์ 2551
แฉเลี้ยบลดภาษีเจ๊ง1.6แสนล. -ตลท.นัดถกปรับกลยุทธ์วันนี้             
 


   
www resources

โฮมเพจ กรมสรรพากร

   
search resources

กรมสรรพากร
Auditor and Taxation




กรมสรรพากร แฉมาตรการภาษีที่ขุนคลัง "เลี้ยบ" นำมาใช้ฉุดรายได้รัฐหาย 1.6 แสนล้าน ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ รับยืดมาตรการลดภาษีบริษัทจดทะเบียนจะเอื้อให้เอกชนเข้ามาระดมทุนมากขึ้น และช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุน พร้อมยืนยันไม่ส่งผลกระทบทำให้เอกชนชะลอแผนเข้าตลาดหุ้นออกไปอีก ด้าน "ปกรณ์" นัดทีมงานประชุมวางกรอบขยายฐานนักลงทุนวันนี้

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ประเมินผลกระทบจากการปรับลดภาษีในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเบื้องต้นแล้ว โดยเฉพาะมาตรการที่มีความชัดเจนว่า นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ค่อนข้างเห็นด้วย ประกอบด้วย มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนของรายได้ 1.5 แสนบาทแรก เพื่อช่วยผู้มีเงินได้น้อยให้ไม่ต้องมีภาระภาษี คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี จากผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว 8 ล้านราย

มาตรการต่ออายุการคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ระดับ 7% ไปอีก 2 ปี นับจาก 30 ก.ย.51 เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ถึงแม้จะไม่มีผลกระทบให้รัฐมีรายได้ลดลงแต่ทำให้สูญเสียรายได้ที่พึงจะได้รับในอนาคตหากปรับเป็น 10% ตกประมาณปีละ 1.46 แสนล้านบาท

การขยายเวลามาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทจดทะเบียนจากเดิมที่หมดอายุเมื่อสิ้นธ.ค.2550 โดยขยายให้เป็นหมดอายุวันที่ 31 ธ.ค.52 หรือขยายไปอีก 2 ปี โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับได้แก่ บริษัทที่ยื่นไฟลิ่งก่อนระยะเวลาดังกล่าวจะได้สิทธิประโยชน์ในการเสียภาษีนิติบุคคลในอัตรา 25%เป็นเวลา 3 รอบบัญชี เพื่อจูงใจให้บริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น ไม่สามารถประเมินได้

ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือบจ.เดิม จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลดหย่อนอัตราภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 25% สำหรับกำไรสุทธิไม่เกิน 300 ล้านบาทแรก ส่วนที่เกินให้เสียในอัตรา 30% คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 4,400 ล้านบาท

มาตรการเพิ่มค่าลดหย่อนสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อเกษียณอายุ (อาร์เอ็มเอฟ) จาก 3 แสนบาทต่อปี เป็น 5 แสนบาทต่อปี รายได้กรมฯจะหายไปประมาณ 600 ล้านบาท มาตรการในการช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนโดยยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับวิสาหกิจชุมชนในส่วนของรายได้ 1 ล้านบาทแรก ส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทขึ้นไปให้เสียภาษีตามปกติ รายได้หายไปประมาณ 500 ล้านบาท

"ยอมรับว่ามาตรการดังกล่าวมีผลกระทบกับรายได้ของกรมสรรพากรโดยตรง โดยคิดเป็นประมาณ 162,500 ล้านบาท แต่ถ้ารัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องยอมรับผลกระทบกับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ทั้งปีของกรมด้วยเช่นกัน เพราะเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิม 1.2 ล้านล้านบาทนั้นยังไม่ได้คำนึงถึงมาตรการเหล่านี้เอาไว้ แต่" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวส่วนมากจะเป็นการแก้ไขกฎหมายในกฎกระทรวงและแก้ไขพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 นี้สามารถแก้ไขได้โดยง่ายสามารถประกาศใช้ได้โดยเร็ว

ขณะที่การแก้ไขกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือประมวลรัษฎากรต้องผ่านขั้นตอนการพิจาณาของสภา และใช้เวลาในการแก้ไขนานไม่สามารถประกาศใช้ได้ทันตามความต้องการของรัฐบาลเพื่อให้นโยบายประชานิยมที่หาเสียงก่อนเลือกตั้งดำเนินการได้ตามที่หาเสียงไว้กับประชาชน

"กฎหมายส่วนใหญ่นั้นแก้ไขได้ง่ายและเร็ว โดยหากครม.ให้ความเห็นชอบแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็สามารถใช้อำนาจลงนามในประกาศกฎกระทรวงได้ทันที"

โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมานั้น มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหลังจากหักค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็น 1.5 แสนบาทนั้น ตามหลักการแล้วจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในประมวลรัษฎากรซึ่งต้องเข้าสู่การประชุมของรัฐสภาให้ความเห็นชอบจึงจะสามารถทำได้ แต่สำหรับกรณีนี้ครม.คงให้ความเห็นชอบและมอบหมายรมว.คลังดำเนินการได้ทันทีเนื่องจากเป็นวงเงินที่ไม่สูงมากนักไม่กระทบต่อการจัดเก็บรายได้เท่าใดนัก จึงสามารถแก้ไขเพิ่มเติมในกฎกระทรวงแทนได้ รวมทั้งมาตรการที่เพิ่มสินทธิในการลดหย่อนทั้งหมดส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ไขในกฎกระทรวงทั้งสิ้น

ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีนิติบุคคลสำหรับบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอัตรา 25% นั้นเป็นกฎหมายที่ออกโดยพระราชกฤษฎีกาจึงต้องแก้ไขตามศักดิ์ของกฎหมายซึ่งใช้เวลาไม่นานเช่นกัน

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้ (26 ก.พ.) คณะอนุกรรมการการขยายฐานนักลงทุน จะจัดการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางและกลยุทธ์การดำเนินงานในการขยายฐานนักลงทุนให้มากขึ้น หลังจากที่กระทรวงการคลังมีนโยบายจะพิจารณาขยายเวลาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกไปอีก 3 ปี จากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อปลายปี 2550 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มาตรการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว คงจะไม่มีผลกระทบทำให้บริษัทที่เตรียมจะเข้าจดทะเบียนมีการชะลอออกไป เพราะการเข้ามาจดทะเบียนได้เร็วเท่าไรจะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเร็วเท่านั้น และการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นถือว่าเป็นการเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีด้วย

สำหรับมาตรการดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ดีในการจูงใจให้มีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น เพราะในขณะนี้จำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีจำนวนไม่มากนักแค่ 525 บริษัทเท่านั้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการบริษัทที่ดีเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับนักลงทุน ขณะที่บริษัทจดทะเบียนจะได้ประโยชน์จากการเข้ามาระดมทุนที่มีต้นทุนที่ต่ำ

"คณะอนุกรรมการในการเพิ่มดีมานด์จะมีการประชุมในวันนี้ เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางและวางกลยุทธ์ในการดำเนินงาน ขณะที่กระทรวงการคลังกำลังจะมีการพิจาณาในการลดภาษีบจ. ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการที่จะเพิ่มซัพพลายให้มากขึ้น เพราะการเพิ่มดีมานด์และซัพพลายนั้นเป็นงานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องดำเนินงานไปพร้อมๆ กัน" นายปกรณ์ กล่าว

ส่วนบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเสียภาษีนิติบุคคลเหลือ 25% จากเดิม 30% และบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) จะเสียภาษี 20% จากเดิม 25% ส่วนบริษัทที่จดทะเบียนอยู่แล้วแต่มีกำไรสุทธิไม่เกิน 300 ล้านบาท จะได้รับการลดภาษีเหลือเพียง 25% จากเดิม 30% ซึ่งถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นประโยชน์เป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย เพราะการเป็นบริษัทจดทะเบียนมีภาระค่าใช้จ่ายหลายอย่างเพื่อให้การดำเนินงานให้เป็นไปตามบรรษัทภิบาลที่ดี

อย่างไรก็ตาม จากที่มีการให้สิทธิประโยชน์จากภาษีกับบริษัทที่ยื่นความจำนงที่จะเข้าจดทะเบียนภายในปีนี้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมานั้น ทำให้มีบริษัทยื่นความจำนงเข้ามาถึง 107 บริษัท ซึ่งถือว่าเรื่องการลดภาษีนั้นมีบทบาทต่อการที่จะเข้ามาจดทะเบียน

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลดภาษีให้กับบริษัทใหม่ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทที่จดทะเบียนอยู่แล้วแต่ให้ในส่วนของกำไรสุทธิไม่เกิน 300 ล้านบาทนั้น ถือเป็นการให้ประโยชน์กับบริษัทที่มีการดำเนินงานอย่างโปร่งใส และเป็นการสนับสนุนบริษัทให้มีการเติบโตมากขึ้น รวมถึงเป็นการส่งเสริมในเรื่องการลงทุน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us