Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2535
"ที่ภัทรฯ ไม่มี DEAL ประเภทหวือหวา เราต้องการทำ QUALITY ORIENTED"             
 

 
Charts & Figures

ตารางหุ้นสามัญที่ภัทรฯ เป็น LEAD UNDERWRITE ปี 2534


   
search resources

ภัทรธนกิจ, บง.
บรรยง พงษ์พานิช
Stock Exchange
Financing




บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจในหลายปีที่ผ่านมามีชื่อในเรื่องการทำอันเดอร์ไรต์หุ้นเข้าตลาดอย่างมาก ๆ มีหุ้นหลายตัวที่ภัทรฯ พาเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วเจอปัญหาทางเทคนิคโดยเฉพาะเรื่องราคา เป็นเหตุให้นักลงทุนจำนวนมากพากันโวยวาย

แต่กระนั้นภัทรฯ ก็เป็นผู้ครองแชมป์การทำอันเดอร์ไรต์ในปี 2534 ที่ผ่านมา ด้วยการพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ 8 ราย และทำอันเดอร์ไรต์หุ้น PO อีก 3 ราย (ดูตารางหุ้นสามัญที่ภัทรฯ เป็น LEAD UNDERWRITE ปี 2534)

บรรยงค์ พงษ์พานิช รองกรรมการผู้จัดการ บงล. ภัทรธนกิจ จก. เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "การทำอันเดอร์ไรต์ในความหมายของภัทรฯ ไม่ได้หมายความว่าการเข้าไปรับประกันแต่หมายถึงการจัดให้ลูกค้าระดมเงินจากตลาดได้ ภัทรฯ เป็นตัวกลางในการระดมเงินให้กับบริษัท ผมภูมิใจมากว่าภัทรฯ ทำอันเดอร์ไรต์มาประมาณ 5 ปี นำบริษัทเข้าตลาดประมาณ 60 กว่าราย ยังไม่เคยถูกปฏิเสธแม้แต่บริษัทเดียว"

ในช่วงปี 2531-2533 ภัทรฯ มีส่วนแบ่งการตลาดอันเดอร์ไรต์สูงมากถึง 40% แต่ปี 2534 บรรยงค์มองว่ามาร์เก็ตแชร์ของภัทรฯ ลดลง เขาให้เหตุผลว่า "มันเป็นนโยบายของบริษัทและเราเตรียมตัวไว้แล้วด้วย คือเราเน้นเรื่องคุณภาพมากขึ้น เมื่อเน้นตัวนี้ งานก็ช้าลง ภัทรฯ ใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนในการที่จะเข้าไปดูไปช่วย ให้แน่ใจว่าระยะยาวแล้วจะดีสำหรับลูกค้าและเรามีการเลือกลูกค้าด้วย เราจะทำให้เมื่อเห็นว่าบริษัทลูกค้าอยู่ในขั้นตอนที่เหมาะสม"

ภัทรฯ จะไม่ทำอันเดอร์ไรต์บริษัทที่มีวงเงินต่ำกว่า 200 ล้านบาท กล่าวง่าย ๆ คือ DEAL เล็ก ๆ จะไม่ทำ บรรยงค์เปิดเผยว่า "DEAL ที่ภัทรฯ ภูมิใจมากที่สุดคือการทำ PO หุ้นธนาคารกสิกรไทยเพราะเป็นการขายหุ้นในช่วงที่ภาวะไม่ดีทั้งหมดมี 10 ล้านหุ้น แบ่งขายให้นักลงทุนต่างประเทศ 2.5 ล้านหุ้นและนักลงทุนในประเทศ 7.5 ล้านหุ้น ปรากฏว่าภัทรฯ สามารถขายได้หมด โดยนักลงทุนที่เป็นนักเล่นหุ้นนี่แทบจะไม่ซื้อเลย ภัทรฯ จึงปรับเอาวิธีการขายของต่างประเทศมาใช้คือ ขายให้คนธรรมดาสามัญ ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนประเภทที่เรียกว่า SLEEPY INVESTOR คือนักลงทุนที่ไม่ได้เล่นหุ้น เราพยายามชักชวนให้เขาเข้ามาลงทุนโดยการออกเอกสารและพูดคุยกับพวกเขา"

ผลจากการขายหุ้นกสิกรไทยได้หมดทำให้ภัทรฯ ได้เห็นข้อเท็จจริงที่เป็นแนวโน้มของธุรกิจหลักทรัพย์ประการหนึ่งคือ ยังมีนักลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก บรรยงค์ให้เหตุผลว่า "เงินฝากทั่วประเทศทั้งหมดมีอยู่ 1.5 ล้านล้านบาทแต่เงินที่มาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยนักลงทุนรายบุคคลมีประมาณแสนกว่าล้านบาทเท่านั้น ผมคิดว่าเรายังสามารถตั้งเป้าหมายกับนักลงทุนเหล่านี้ได้อีกมาก"

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าหุ้นธนาคารมีลักษณะเฉพาะต่างไปจากหุ้นกลุ่มอื่น ๆ ที่สำคัญคือเป็นหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานดีและเป็นที่นิยมของนักลงทุนระยะยาว

แต่มีหุ้นบางตัวที่ภัทรฯ อันเดอร์ไรต์เข้าไปในตลาดแล้วราคาตก เช่น หุ้นโรงพยาบาล 2 ตัว บรรยงค์ให้ความเห็นในเชิงปกป้องตัวเองว่า "ผมก็สงสัยว่าทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะผมมองว่าหุ้นโรงพยาบาลเป็นกลุ่มที่เรียกว่า DEFENSIVE STOCK คือเป็นหุ้นที่ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจผันผวนอย่างไรเขาก็กำไรของเขาอย่างนั้น เพราะกิจการโรงพยาบาลไม่เกี่ยวกับเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาวะเศรษฐกิจผันผวน ดังนั้นนักลงทุนควรจะมีหุ้นกลุ่มนี้ไว้ใน PORTFOLIO"

นั่นเป็นความเชื่อของบรรยงค์เมื่อทำอันเดอร์ไรต์หุ้นโรงพยาบาล แต่ปรากฏว่าเขาพบในเวลาต่อมาว่านักลงทุนรายบุคคลที่ซื้อหุ้นโรงพยาบาลไป จะขายหุ้นภายใน 5 วันทำการแรกที่มีการซื้อขาย และเขายังพบด้วยว่าปัญหาเชิงเทคนิคของหุ้นโรงพยาบาลก็คือ โรงพยาบาลแทบทุกแห่งใน กทม. สร้างขึ้นโดยมีผู้ถือหุ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จะไม่มีใครถือหุ้นใหญ่แต่เพียงรายเดียว เมื่อหุ้นโรงพยาบาลที่นักลงทุนรายบุคคลเหล่านี้เคยถือไว้ในราคา 100 บาท ครั้นเวลาผ่านไป 8 ปีมีราคาขึ้นมาเป็น 100 กว่าบาทเมื่อเข้าตลาดหุ้น นักลงทุนเหล่านี้ย่อมขายหุ้นของตัวออกไปเป็นธรรมดา

ข้อสรุปเหล่านี้บรรยงค์ได้จากผลการวิจัยของสถาบันวิจัยภัทรธนกิจ ซึ่งเขามองว่ามันเป็นปัญหาทางเทคนิคระยะสั้นบรรยงค์พยายามใช้กลไกที่ภัทรฯ มีอยู่คืองานวิจัยของสถาบันวิจัยฯ เป็นตัวเคาน์เตอร์ปัญหาเรื่องนี้

เขากล่าวว่า "สิ่งที่ภัทรฯ ทำได้มีทางเดียวคือพยายามโปรโมตความเชื่อของเราออกไปทางงานวิจัยว่าหุ้นโรงพยาบาลเป็นหุ้นที่ดี เป็น DEFENSIVE STOCK กำไรจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอนเป็นธุรกิจที่จะมีอัตราการเติบโตสูงในระยะสั้นเพราะ รพ. มีไม่เพียงพอกับอัตราการเจ็บป่วยของคน แม้ว่าระยะยาวอาจจะลดลงก็ตามเมื่อมีการสร้าง รพ. มากขึ้น ผมพยายาม DEFEND อันนี้ออกไปซึ่งก็ได้ผล แม้จะใช้เวลาสักหน่อยก็ตาม"

ว่าไปแล้วโบรกเกอร์ก็มีกลไกหลายอย่างในการที่จะแก้ไขปัญหาสารพัดที่เกิดจากการอันเดอร์ไรต์หุ้น บรรยงค์ยืนยันว่าเขามีวิธีการมากมายแต่ไม่ใช่การโยนราคาการปั่นราคาที่เป็นเรื่องผิดกฎหมายแน่

เขาเปิดเผยวิธีการทำอันเดอร์ไรต์หุ้นซึ่งเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งในแผนกวาณิชธนกิจที่เขาดูแลอยู่ว่า "เมื่อมีลูกค้ามาหา เราจะคัดเลือกและให้ความเห็นก่อนว่าบริษัทนั้น อยู่ในภาวะเหมาะสมหรือยัง แข็งแรงพอที่จะเข้าตลาดและได้ประโยชน์ระยะยาวหรือยัง การยอมรับจากนักลงทุนจะมีหรือไม่ หากเราคิดว่าเขาควรจะรออีกสักปีสองปีจะเป็นประโยชน์ทั้งเขาและนักลงทุน เราก็จะบอกให้เขารอ"

การพิจารณาบริษัทลูกค้าในขั้นเริ่มต้นนี้เป็นความเห็นเฉพาะของคนภัทรฯ ซึ่งบรรยงค์เชื่อมั่นว่า "ผมไม่ได้บอกว่าผมคิดถูก แต่ภัทรฯ จะมีมาตรฐานของตัวเอง"

ขั้นตอนหลังจากที่รับตกลงเป็นอันเดอร์ไรต์แล้ว จะมีการดูโครงสร้าง 2 ส่วนคือด้านธุรกิจ (BUSINESS STRUCTURE) ดูว่าบริษัทนั้น ๆ มีกิจการอะไรบ้าง ควรจะรวมกิจการที่เกี่ยวข้องเข้ามาไว้ด้วยกันเพื่อเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกันไปเลยหรือไม่ ทำอย่างไรจะไม่เกิด CONFLICT OF INTEREST

บรรยงค์ยกกรณีกลุ่มของ ป. เจริญพันธ์ ซึ่งเป็นหุ้นตัวแรกที่ภัทรฯ ทำอันเดอร์ไรต์ในปีนี้ว่า "ผมเอาบริษัทที่เกี่ยวข้องในสายการผลิตเดียวกันมารวมไว้ด้วยกัน โดยมีบริษัทอยู่ประมาณ 10 แห่ง ผมจับเอามาถือหุ้นกัน 100% ทั้งหมด ยกเว้นอาหารสัตว์ถือ 60% เพราะเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว เมื่อทำอย่างนี้นักลงทุนก็จะมองเห็นว่าหากเขาซื้อหุ้นตัวนี้ก็สามารถซื้อได้ทั้งกลุ่ม เจ้าของจะยักย้ายถ่ายเทอย่างไรก็อยู่ในกลุ่มนี้แน่ไม่มีทางไปไหน"

หลังจากดูโครงสร้างกินการแล้วก็มาดูเรื่องโครงสร้างทางการเงิน (FINANCIAL STRUCTURE) ซึ่งเป็นเรื่องตัวเลขต่าง ๆ เช่นดูว่าธุรกิจประเภทนี้ควรจะมีหนี้เท่าไหร่ มีทุนเท่าไหร่ ระยะยาวควรจะเป็นอย่างไร จากนั้นอันเดอร์ไรต์จะแนะนำว่าควรจะมีการขายหุ้นเท่าไหร่ แล้วจึงทำการยื่นเอกสารขอเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ขั้นตอนถัดมาเป็นการขายหุ้น (PLACEMENT) ซึ่งภัทรฯ มีวิธีการที่ซับซ้อนพอสมควร บรรยงค์เล่าว่า "มีการทำวิจัยและจัดสรรหุ้นว่าจะขายให้นักลงทุนในประเทศ/ต่างประเทศกี่ส่วนนักลงทุนสถาบัน/รายบุคคลกี่ส่วนเราจะ CREATE ให้เกิดราคาที่สมควรผมไม่พอใจหากขายออกไปแล้วหุ้นราคาตก หรือมีราคาพุ่งขึ้นสูงมากก็ไม่ดีเพราะเท่ากับว่าคนจองถือไว้ไม่นานก็ได้กำไรมากมาย ผมว่ามันไม่ยุติธรรมต่อผู้ถือหุ้นเดิม คนจองควรจะได้ 10%-20% ต่อเดือนก็มหาศาลแล้ว"

นอกจากทำวิจัยแล้ว ยังมีการทำกึ่ง ROADSHOW เป็นเอกสารหรือพานักลงทุนที่เป็นสถาบันไปเยี่ยมชมโรงงานมีการพัฒนา SYNDICATION DESK ที่มีหน้าที่ประเมินความต้องการซื้อหุ้นจากนักลงทุนประเภทต่าง ๆ และจัดสรรไปตามความต้องการนั้น และยังมีการพัฒนาเรื่อง BOOK RUNNING ตามมาด้วย คือเมื่อมีการ SYDICATION ออกไปแล้วหรือตั้งเป้าหมายไว้แล้ว แต่เมื่อถึงเวลาจริง ๆ ไม่เป็นไปตามนั้น BOOK RUNNING มีหน้าที่ที่จะปรับทุกอย่างให้ลงตัวให้ได้

บรรยงค์กล่าวว่า "เครื่องมือเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตลาดต่างประเทศ ผมเพียงเอามาดัดแปลงให้เข้ากับตลาดไทยเท่านั้นพอทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาก็สามารถขายหุ้นได้หมด หลังจากนั้นเป็นปัญหาของตลาดหุ้นไทยคือใช้เวลาประมาณ 45 วันกว่าจะได้เข้าไปซื้อขาย สิ่งที่ภัทรฯไม่ได้ทำในอดีตคือไม่ค่อยได้เข้าไปทำหุ้นนอกตลาด ซึ่งต่อไปภัทรฯ อาจจะทำตัวนี้ก็ได้ คือพยายามจะเป็นสะพานของดีมานด์ซัพพลายอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่การปั่นหุ้นครับ"

ขั้นตอนสุดท้ายเป็นการโปรโมชั่น ด้วยการออกงานวิจัยนัดนักวิเคราะห์จากที่ต่าง ๆ ไปพบบริษัทอย่างต่อเนื่อง พยายามสร้างมาตรฐานเพื่อให้ข้อมูลเผยแพร่ออกไปอย่างถูกต้องและทั่วถึง

งานอันเดอร์ไรต์ 4 ขั้นตอนนี้เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของงานวาณิชธนกิจซึ่งมีพนักงานอยู่ทั้งหมด 22 คน ฝ่ายนี้ตั้งมานาน 6 ปี ทำธุรกิจทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับงานวาณิชธนกิจ เช่น เป็นที่ปรึกษา ทำอันเดอร์ไรต์ โปรเจกต์ไฟแนนซ์ การร่วมลงทุน (JOINT VENTURE) การซื้อขายกิจการ (MERGER&ACQUISITION) การปรับโครงสร้างกิจการ (CORPORATE RESTRUCTURING) เป็นต้น

บรรยงค์เน้นว่าฝ่ายวาณิชธนกิจของเขาจะไม่เติบโตแบบพรวดพราด "ผมเน้นเรื่องการฝึกอบรมคน ผมจะจ้างคนที่มีประสบการณ์มาฝึก เพราะภัทรฯ มีวัฒนธรรมองค์กรของตัวเองผมต้องการเน้นเรื่องคุณภาพบริษัทอื่น ๆ ที่ทำอันเดอร์ไรต์นั้นส่วนมากจะใช้คนฝ่ายค้าหลักทรัพย์บ้างฝ่ายสินเชื่อบ้าง หรือคนจากฝ่ายที่ปรึกษา ซึ่งจะมีจุดยืนไม่ถูกต้อง คือพวกค้าหลักทรัพย์นี่มีแนวโน้มที่จะเอียงไปทางเก็งกำไรหุ้นหรือฝ่ายสินเชื่อก็จะอนุรักษ์มากเกินไปตามธรรมชาติของเจ้าหน้าที่สินเชื่อ ผมคิดว่าจุดยืนของวาณิชธนากรคือต้องยืนข้างลูกค้า ให้เขาได้ในสิ่งที่ดีที่สุด แล้วเราแบ่งกับเขาในรูปของค่าธรรมเนียม"

บรรยงค์คุยว่า "ค่าธรรมเนียมของฝ่ายวาณิชธนกิจเมื่อปี 2534 ได้ประมาณ 120 ล้านบาท เป็นค่าธรรมเนียมเพรียว ๆ กำไรบอกยาก แต่ค่าใช้จ่ายของฝ่ายนี้คิดแล้วประมาณ 15 ล้านบาท ที่เหลือไม่ใช่กำไรทั้งหมดเพราะมีค่าใช้จ่ายให้กับฝ่ายค้าหลักทรัพย์และฝ่ายวิจัยที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่ด้วย แต่ก็เป็นจำนวนไม่มากเท่าไร"

นับว่าเป็นความสามารถเฉพาะของพนักงานฝ่ายนี้แต่กระนั้นบรรยงค์ก็ออกตัวว่าฝ่ายอื่น ๆ ที่ทำกำไรมากกว่าฝ่ายวาณิชฯ ของเขาก็มี โดยเฉพาะ MONEY MARKET และ LENDING

โครงสร้างการดำเนินงานของภัทรธนกิจแยกออกเป็นธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ :

สายเงินทุนมีฝ่ายจัดหาเงิน (FUNDING) ให้กู้เงิน (LENDING) และ MONEY MARKET ทำหน้าที่ค้าเงิน (TREASURY) และค้าตราสารทางการเงินประเภทหนี้ (DEBT INSTRUMENT) ที่ฝ่ายวาณิชธนกิจเป็นผู้คิดค้นติดต่อกับลูกค้า

สายหลักทรัพย์ มีฝ่ายค้าหลักทรัพย์ (BROKER) ฝ่ายบริหาร เงินทุน/กองทุน (FUND MANAGEMENT) ฝ่ายวาณิชธนกิจและสถาบันวิจัยภัทรฯ

บรรยงค์กล่าวถึงแนวคิดในการธุรกิจวาณิชธนกิจของเขาว่า "ผมมีความเชื่อว่าในขั้นตอนการพัฒนาประเทศที่เป็นอย่างนี้ผมเน้นที่จะทำธุรกิจแบบ SERVICE ORIENTED มากกว่าที่จะเป็น DEAL ORIENTED"

SERVICE ORIENTED หมายถึงการเน้นเรื่องการให้บริการต่าง ๆ ให้คำแนะนำกับลูกค้า ทำ PLACEMENT ให้ลูกค้า หรือการให้บริการทั้งหมดแล้วรับค่าธรรมเนียมในการให้บริการนั้นส่วน DEAL ORIENTED คือการไปติดต่อหาลูกค้าเพื่อที่จะ TAKE PORTION เข้ามา เอากำไรเยอะ ๆ แล้วก็จบกันไป

วิธีการทั้งสองแบบเป็นเรื่องที่มีการปฏิบัติอยู่ทั่วไปในต่างประเทศ แต่บรรยงค์เลือกที่จะทำธุรกิจในแบบแรกเพราะเชื่อว่าประเทศไทยยังขาดสิ่งที่เป็น BASIC INFRASTRUCTURE ทางไฟแนนซ์ หรือวิธีการที่เป็น BASIC

เขากล่าวว่า "ในช่วงสองปีที่ผ่านมาและอีก 1-2 ปีข้างหน้า ภัทรฯ จะทำเรื่องธรรมดา ๆ ให้มีคุณภาพเช่นทำอันเดอร์ไรต์ธรรมดาแต่เน้นเรื่องการปรับปรุงวิธี คุณภาพสิ่งที่ผมจะไม่กระตือรือร้นเลยคือการทำอย่างที่เรียกว่า SEXY DEAL หรือ FANCY DEAL คือวิธีการที่สลับซับซ้อน ยุ่งยากและไม่ MAKE SENSE"

ยกตัวอย่างให้ชัดคือมีลูกค้ามาหาภัทรฯ 2-3 รายเพื่อขอให้ทำ BACK-DOOR LISING อยากจะซื้อบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีราคาถูกแค่ 300-400 ล้านบาทเท่านั้น เพื่อที่จะเอาบริษัทของตนพ่วงเข้าตลาดฯ ด้วย

บรรยงค์เล่าว่า "ผมบอกลูกค้าว่าหากบริษัทคุณดีจริงไม่ต้องไปซื้อในตลาดฯหรอก ผมสามารถพาคุณเข้าไปได้ ผมไม่เคยพลาด หากลูกค้าเคยยื่นเข้าตลาดฯ แล้วถูกปฏิเสธ ก็ต้องมาดูว่าเพราะอะไร หากตลาดฯ ไม่รับเพราะลูกค้ายังไม่ควรเข้าก็ไม่ควรทำไม่ว่าจะเป็น BACK -DOOR หรือ FRONT-DOOR LISTION ผมปฏิเสธแบบนี้ไป 2-3 รายเพราะไม่ MAKE SENSE ไม่เห็น SYNERGY"

สิ่งที่เป็นเป้าหมายของบรรยงค์คือ "การทำ BASIC ให้มีประสิทธิภาพมากว่าที่จะทำแบบมีเงื่อนงำ (GIMMICK) ผมต้องการที่จะทำธุรกิจแบบ QUALITY ORIENTED ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ในต่างประเทศที่ทำแบบนี้และมีชื่อเสียงยืนยงอยู่ได้ทุกวันนี้ได้แก่ GOLDMAN SACHE และ S.G. WARBURG เป็นต้นนี่เป็นต้นแบบที่ผมอยากจะให้ภัทรฯเป็น ผมไม่นิยมพวกที่ทำธุรกิจแบบมีเงื่อนงำมาก ๆ และตอนนี้ปรากฏว่าเจ๊งกันเป็นแถบ ๆ เช่น DREXEL"

บรรยงค์กล่าวด้วยว่า "ภัทรฯ อยากจะโลว์โพรไฟล์อย่างมาก ๆ ผมไม่มี DEAL หวือหวาประเภทเซียน มือพระกาฬ ภัทรฯ ไม่ต้องการเป็นสิ่งที่ภัทรฯ ต้องการคือการเป็น NO STAR COMPANY เป็นบริษัทที่ไม่มีใครเด่นเป็นพิเศษ เพราะทุกคนใช้ได้เน้นคุณภาพเป็น TEAM APPROACH ไม่ใช่ INDIVIDUAL APPROACH ไม่มีนายวิโรจน์หรือนายบรรยงค์เป็นมือหนึ่ง ไม่มี เพราะทุกคนล้วนมีคุณภาพทั้งสิ้น"

นี่อาจจะเป็นปรัชญาการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างออกไปจากวาณิชธนากรอื่น ๆ ซึ่งบรรยงค์ก็ยอมรับว่าเขาคิดไม่เหมือนใคร

หากจะเปรียบเทียบแล้ว อาจกล่าวได้ว่าภัทรฯทำธุรกิจแบบอนุรักษ์อย่างมาก ๆ บรรยงค์ดูไม่ AGGRESSIVE เมื่อเทียบกับวาณิชธนากรใน บง. เอกธนกิจและน้องใหม่อย่าง บงล. นิธิภัทร

เอกธนกิจนั้นไม่ได้ทำวาณิชธนกิจธรรมดา แต่ทุกครั้งที่มี DEAL ด้านนี้เกิดขึ้น วาณิชธนากรในเอกธนกิจสามารถ CREATE VALUE ให้บริษัทตามมาได้ด้วย โดยเฉพาะในด้านการเติบโตของสินทรัพย์ อย่างล่าสุดคือการซื้อฟิลาเท็กซ์ที่นำมาปรับโฉมจนกลายเป็นกลไกระดมทุนไม่มีดอกเบี้ยอีกตัวหนึ่งในตลาดหุ้น

หรืออย่างการซื้อกิจการเฟิร์สท์ แปซิฟิคฯ เพื่อเป็นช่องทางและเครือข่ายในการทำวาณิชธนกิจทั่วเอเชียและยุโรป ซึ่งเฟิร์สท์ฯ มีฐานด้านนี้อยู่อย่างพร้อมมูล

ชื่อของปิ่น จักกะพากกลายเป็น REGIONAL INVESTMENT BANKER ในภูมิภาคนี้อย่างรวดเร็ว และเอกธนกิจก็มีฐานของสินทรัพย์ที่ใหญ่โตกว้างขวางส่งเสริมให้ปิ่นใช้ดำเนินธุรกิจได้ครอบคลุมทั่วภูมิภาค

อย่างไรก็ดี การเปรียบเทียบเอกธนกินกับภัทรฯ อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะสองบริษัทนี้เป็นขั้วที่ดูเหมือนจะมีปรัชญาการดำเนินธุรกิจที่ต่างกันอย่างมาก ๆ

บรรยงค์ก็ย้ำเน้นกับ "ผู้จัดการ" ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า "ผมไม่คิดแข่งธุรกิจกับใคร นอกจากตัวเอง และผมไม่คิดว่าภัทรฯ จะต้องเป็นคนที่ทำอะไรเป็นคนแรก ผมจะดูคนอื่น ๆ หากดีผมก็จะทำตาม แต่ผมต้องศึกษาก่อนว่ามันเป็นวิธีการที่ดีอย่างไร"

นอกจากนี้บรรยงค์ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการปรับปรุงมาตรฐานมาก "ผมมีเป้าหมายที่ INTERNATIONAL STANDARD ตอนนี้ยังไปไม่ถึง ผมยอมรับว่ายังอีกไกลแต่คิดว่ามาถูกทางแล้ว ทิศทางโดยส่วนรวมนั้นถูก มีรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้นที่ต้องปรับปรุง" บรรยงค์กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยความเชื่อมั่น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us