Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์25 กุมภาพันธ์ 2551
แม่เจ้าโว้ย! 3 ปี ไทยเปลี่ยนโฉม ยกเครื่องแผนท่องเที่ยวทั้งกระบิ             
 


   
www resources

โฮมเพจ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

   
search resources

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
Tourism




- ผ่ายุทธศาสตร์รัฐมนตรีป้ายแดง ปั้นไทยให้ร้อนแรงในมุมมองใหม่ที่น่าสนใจกว่าเดิม
- จับตา “แบรนด์ประเทศไทย” จะเปลี่ยนไปแบบไหน และอย่างไร
- เผยแผนปฏิบัติการยกชั้นแหล่งเที่ยว 4 ระดับ จากจังหวัด ถึงประเทศ ก่อนเขยิบไประดับโลก
- ข้อมูลร้อนๆ บัญชีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน

ด้วยความที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่สร้างเม็ดเงิน สร้างงานให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก และกำลังจะเป็นธุรกิจที่มีอัตราก้าวหน้าเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายประเทศในโลกพยายามจะแข่งขันเพื่อแย่งชิงนักท่องเที่ยวให้มาประเทศของตนให้มากที่สุด โดยเฉพาะในย่านเอเชียที่นับวันการแข่งขันยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ละประเทศพยายาม Position และนิยามมุมมองประเทศของตนให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น Incredible India, Truly Asia ของมาเลเซีย เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นธุรกิจท่องเที่ยวจึงถูกปฏิวัติเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ยากจะคาดเดาในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

World Travel and Tourism Council หรือ WTTC มีสถิติว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยมีสัดส่วนร้อยละ 6.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือคิดเป็นเม็ดเงินสูงถึง 5.67 แสนล้านในปี 2007 และจะคงอัตราการเติบโตนี้ไว้ใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำเงินได้ถึง 1.256 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในปีที่ผ่านมาได้สร้างงานให้กับคนไทยถึงเกือบ 2 ล้านคน โดยมีคนทำงานในภาคนี้รวมทั้งสิ้น 4.1 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 4.7 ล้านคนในปี 2017

แต่เมื่อ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นกระทรวงหลักที่ถูกกำหนดให้ตัวจักรสำคัญในการดำเนิน 1 ใน 7 นโยบายหลักของชาติ และในวันเข้ารับตำแหน่งได้ประกาศไว้ว่าจะโกยเงินจากการท่องเที่ยวในปีนี้ให้ได้ถึง 8 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าเป้าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือททท. ตั้งเป้าไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขอเพียง 6 แสนล้านบาท โดยไม่ได้พูดถึงจำนวนนักท่องเที่ยวเหมือนอดีต เพราะต้องการนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยมากกว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ รมว.ท่องเที่ยวใหม่ป้ายแดงที่มาจากพรรคชาติไทย จึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่หมด ด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) ในการรุกตลาด ด้วยการวางนโยบายเร่งด่วน คือ วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสและอุปสรรค แหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ ด้วยการจัดทำบัญชีแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ และได้สั่งการปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา จัดทำมาเสนอภายในระยะเวลา 30 วัน

การวิเคราะห์ดังกล่าวได้จำแนกแหล่งท่องเที่ยวออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวระดับจังหวัด ระดับกลุ่มจังหวัด ระดับประเทศ และระดับโลก เพื่อที่จะใช้วางแผนด้านการตลาด ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนกำหนดเขตที่มีศักยภาพเพื่อการลงทุนด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างให้ไทยทั้งประเทศเป็น World Class Destination เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกในลักษณะเดียวกับประเทศฝรั่งเศส อิตาลี ที่ผู้คนปรารถนาไปสัมผัสทุกซอก ทุกมุม สัมผัสความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของคนในทุกมิติ ไม่ใช่เพียงแค่ไปดูหอไอเฟล หรือหอเอนแห่งเมืองปิซ่า แล้วเดินทางกลับเท่านั้น

จากยุทธศาสตร์ที่กำหนดให้เมืองไทยเป็น World Class Destination เหมือนกับประเทศดังกล่าวข้างต้น ไม่ใช่รู้จักหรือต้องการมาเพียงแค่ เชียงใหม่ ภูเก็ต เกาะสมุย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ภาครัฐให้ความสำคัญจนถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงยุทธศาสตร์ในการทำรายได้เข้าประเทศเหมือนที่ผ่านมา

ยุทธศาสตร์ปั้นไทยเป็นเวิลด์คลาส

“ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น World Class destination”เป็นคำพูดของ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันทีหลังจากที่เข้ามากำกับดูแลโดยตรง ซึ่งไม่แปลกนักที่รัฐมนตรีว่าการฯจะมีแนวคิดใหม่ๆออกมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของการทำงานต่อไป แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้กลับกลายเป็นโจทย์ที่ต้องพยายามหาคำตอบให้ได้เร็ววันที่สุด

สอดคล้องกับแผนนโยบายการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ต้องการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีพร้อมทั้ง ความสะดวก สะอาด ปลอดภัย และมีเอกลักษณ์ ซึ่งในภาวะของการแข่งขันในตลาดโลกโดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยวเกือบทุกประเทศมักจะเป็นรายได้หลักในอันดับต้นๆ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยเองเมื่อรัฐบาลชุด สมัครสุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะส่งเสริมให้ปี 2551-2552 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวและลงทุน เพื่อหวังที่จะใช้เป็นตัวช่วยในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ

ส่งผลให้หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงอย่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต้องรีบนำกลับมาทำการบ้านแบบเร่งด่วนภายใต้ภาวะแรงกดดันที่ถูกเสนอให้เป็นพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งนั่นคือที่มาของนโยบาย “World Class Destination”

แหล่งท่องเที่ยวที่จำเป็นจะต้องมีความสะดวก สะอาด ปลอดภัย และได้เอกลักษณ์

“สะดวก ในที่นี้คือคือมีสถานที่รองรับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน โรงแรม การเดินทางเข้าประเทศ ป้ายบอกทางต่างๆของแหล่งท่องเที่ยวที่ชัดเจน ส่วนความสะอาด สุขอนามัยด้านอาหารของประเทศไทยก็มีความหลากหลายไว้รองรับนักท่องเที่ยว เรื่องความปลอดภัย ประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่รับรองว่าเป็นประเทศที่ปลอดภัยจาก สงคราม ไข้ป่า รวมไปถึงด้านเอกลักษณ์ คนไทยที่มักจะมีความเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวซึ่งทั้ง 4 ปัจจัยกลายเป็นจุดเด่นที่สามารถนำมาเป็นจุดขายให้กับเมืองไทยด้านยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวให้ขับเคลื่อนดึงนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศได้”ฯพณฯ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาบอกถึงแนวคิดดังกล่าว

การมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมากแต่ขาดวินัยในเรื่องต่างๆก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี หรือการเข้ามาของนักท่องเที่ยวคุณภาพไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมากแต่อยู่เที่ยวเมืองไทยหลายวันก็ถือว่าคุ้ม ส่งผลให้แผนการตลาดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ตามนโยบายใหม่จำเป็นต้องปรับดัชนีวัดไปด้วยจากก่อนที่เคยตั้งเป้าเป็นจำนวนตัวเลขของนักท่องเที่ยวในแต่ละปีก็ถูกให้เปลี่ยนเป็นการตั้งเป้ารายได้เพิ่มแทน ซึ่งปี 2551 จะต้องทำให้เมืองไทยมีรายได้เข้ามาถึง 8 แสนล้านบาททีเดียว

หลังจากปรับตัวเลขใหม่เป็นการตั้งเป้ารายได้แทนจำนวนนักท่องเที่ยวก็ส่งผลให้การทำงานของการท่องเที่ยวฯอยู่ในภาวะที่ไม่ค่อยกดดันเท่าไรนักเพราะไปสอดคล้องกับการทำตลาดในปัจจุบันนี้ที่จะเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว เป้าหมายที่การท่องเที่ยวตั้งไว้สำหรับรายได้ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อปีที่วางไว้แต่เดิม 6 แสนล้านบาทนั้นแม้ว่าทางรัฐบาลจะปรับเพิ่มเป็น 8 แสนล้านบาทก็ตามจึงไม่น่าเกิดปัญหาต่อแผนการทำตลาด

ว่าด้วยยุทธศาสตร์แบบ World Class destination ในที่นี้จึงไม่เหมือนกับ ทัวริสต์ ทั่วไปที่เมื่อเดินทางไปถึงแหล่งท่องเที่ยวแล้วเพียงแค่ถ่ายรูปภาพเสร็จสรรพก็เดินทางกลับไป แต่นัยสำคัญของ World Class destination ถูกให้คำจำกัดความว่า

“นักท่องเที่ยวต้องการอยากได้สัมผัส อยากรู้จัก และอิ่มหนำกับบรรยากาศ ตั้งแต่เปิดประตูโรงแรมออกสู่แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ โดยจะออกสำรวจทุกอย่างในพื้นที่ที่มีอยู่อย่างตื่นเต้น”

ประเทศไทยเปรียบเสมือนเป็น World Class Destination Country ที่มีทั้ง หาดทราย แสงแดด และทะเล กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดสร้างแรงจูงใจให้กับนักท่องเที่ยวจนทำให้เป็นที่รู้จักและเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงเมืองไทยผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้นก็คือแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆที่มีเอกลักษณ์เฉพาะด้านจะได้รับอานิสงส์ตามมาซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนด์พวกนี้จะเป็นผู้ตัดสินใจเดินทางไปเที่ยวที่อื่นเอง

ขณะที่บริษัทนำเที่ยวที่มีอยู่ในประเทศไทยจะเป็นตัวช่วยเสริมดึงความสนใจให้กับนักท่องเที่ยวด้วยการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวแปลกใหม่โดยมีการจัดเตรียมแพกเกจทัวร์ไว้อยู่แล้ว ซึ่งบางแห่งนักท่องเที่ยวยังไม่เคยได้สัมผัสแต่เมื่อเดินทางไปถึงแล้วรู้สึกประทับใจและคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ใช้จ่ายไปซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง

ปรับโปรดักส์+มุมมองใหม่

ด้วยพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวระดับคุณภาพ เทรนด์การท่องเที่ยวในสถานที่ซ้ำๆกันมักไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก เพราะนักท่องเที่ยวคุณภาพกลุ่มนี้จะเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่ตรงกับรสนิยมหรือความต้องการที่อยากจะไปสัมผัสใกล้ชิดและดื่มด่ำกับบรรยากาศเต็มที่ ดังนั้นแผนการตลาดที่เดิมที การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)วางไว้ว่าจะต้องโปรโมทเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวหัวเมืองหลักเดิมๆอยู่นั้นจึงเป็นแนวคิดที่นับว่าไม่ทันต่อกระแสความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

วิสัยทัศน์แนวนโยบายการเปลี่ยนมุมมองใหม่ควบคู่กับมีโปรดักส์แปลกๆออกมานำเสนอจึงเป็นกลยุทธ์การตลาดที่จะสามารถสอดคล้องกับนโยบาย “World Class Destination”ได้

การตลาดที่หยิบนำเอาสิ่งที่คนรู้จักมานำเสนอก่อนนั้นก็เป็นเรื่องที่ทำกันมานาน แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นมาภายในแนวคิดการบริหารจัดการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก้าวต่อไปคือที่มาของการสร้างแบรนด์ให้คนได้รู้จักและเกิดความแข็งแกร่งสามารถต่อสู้กับตลาดคู่แข่งขันต่างประเทศได้

หากเปรียบเมืองไทยเป็นรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ผู้ใช้คือกลุ่มเป้าหมายจะต้องรู้ว่ารถยนต์รุ่นนี้เกิดเมื่อไร รุ่นไหนใหม่สุด รุ่นไหนเหมาะกับผู้ใช้อย่างไร เป็นต้น และหากศักยภาพรถยนต์ของเราดีพอ...เชื่อได้ว่า รถยนต์ภายใต้แบรนด์เดียวกันทุกคลาสทุกรุ่นที่มีอยู่ก็จะมีคนใช้อย่างเหนียวแน่น

สอดคล้องกับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เชื่อว่า เมืองไทยมีดีหลายหลาก สามารถแยกสถานที่ท่องเที่ยวส่วนดีๆออกมาได้ ซึ่งนับว่าเป็น World Class แบบไหนกลุ่มไหนที่เข้าพักและมีระยะเวลาเข้าพักที่ต่อเนื่องหลายวัน

“ของแบบนี้ประเทศไทยมีวัตถุดิบที่ดีพอสามารถขัดเกลาจากป้ายเงินไปสู่ป้ายทองคำได้โดยไม่ยากนัก”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวฯกล่าว

ที่ผ่านมาแผนการตลาดของการท่องเที่ยวมักจะมองว่าแหล่งท่องเที่ยวหลักๆจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาเที่ยวอีกครั้งอย่าง ภูเก็ต กระบี่ พังงา เชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะถูกหยิบนำมาโปรโมตแทบทั้งสิ้น ซึ่งไม่แปลกที่จะเป็นแบบนั้น

ขณะที่ต่างประเทศสามารถหยิบเอาทุกส่วนทุกมุมของประเทศมาเป็นจุดขายใหม่ๆแทนที่จะหยิบเอาแหล่งท่องเที่ยวเดิมๆซ้ำๆออกมาอย่างเดียว ดังนั้นสิ่งที่ต่างประเทศกำลังทำอยู่ประเทศไทยสามารถนำมาประยุกต์เพื่อเปลี่ยนมุมมองใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแต่ว่าจะสามารถขายมุมมองใหม่ได้หรือไม่เท่านั้น

แม้แต่เรื่องของกีฬาก็สามารถนำมาประยุกต์ให้เกิดมุมมองใหม่ด้านท่องเที่ยวได้ด้วยเช่นกัน อาทิ ภูเก็ตรีกัตตา การแข่งขันเรือใบที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา หากมีใครถ่ายภาพตอนแล่นเรือแล้วพบว่ามีมุมสวยขึ้นมาและเมื่อภาพนั้นถูกเผยแพร่ออกไปจะทำให้แหล่งท่องเที่ยวนั้นได้รับความสนใจไม่แพ้หาดทรายขาวเช่นกัน

ปัจจุบันโรงแรมในระดับ 5 ดาวที่มีอยู่ในเมืองไทยส่วนใหญ่มีห้องพักจำนวนมากแถมด้วยการโปรโมพร้อมอัดโปรโมชั่นแข่งขันกันสุดฤทธิ์ แต่ใช่ว่านักท่องเที่ยวระดับสูงในปัจจุบันจะให้ความสำคัญมากนักกับสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมักจะเลือกโรงแรมที่ตรงกับรสนิยมของการพักผ่อน

สังเกตได้จากการเดินทางไปเที่ยวแบบธรรมชาติที่ไม่ต้องการแสงสีเสียงมากนักเพียงแค่มี บูทิครีสอร์ตหรูๆเพียงไม่กี่หลังแต่สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีห้องพักจำนวนมากแต่สามารถเข้ากับรสนิยมอำนวยความสะดวกได้ก็สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวคุณภาพเหล่านั้นเข้าใช้บริการได้

หากเมืองไทยมีของดีๆที่จะหยิบนำขึ้นมาโชว์ก็คงไม่แพ้ต่างชาติ และด้วยเอกลักษณ์วิถีชีวิต รวมไปถึงวัฒนธรรมของไทยต่างเป็นจุดขายที่สามารถนำมากระตุ้นให้นักท่องเที่ยวคุณภาพสนใจเข้ามาท่องเที่ยวได้เช่นกัน

“ภูมิปัญญา สายน้ำไทย ยังอยู่ เพียงแต่ต้องไปปรับแต่งให้สะดวก สะอาด และปลอดภัย ซึ่งเอกลักษณ์นั้นรออยู่แล้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บอก

เทรนด์ใหม่ของนักท่องเที่ยวคุณภาพ

ในโลกของความเป็นจริงคนตะวันตก หรือคนมีเงิน ปัจจุบันพยายามค้นหาคุณค่าของชีวิต ผิดจากเมื่อก่อนที่ทัวริสท์คนรวยมักจะค้นหารางวัลแห่งชีวิตด้วยการเดินทางท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศ

สังเกตได้ว่าการท่องเที่ยวที่ได้คุณค่ากำลังเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวคุณภาพให้อยากค้นหามากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ดาราฮอลิวู้ดอย่าง ริชาร์ด เกียร์ ที่ชื่นชอบคลั่งไคล้ประเทศธิเบตมากที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่เมืองธิเบตยังขาดไปก็คือความ สะดวก สะอาด ปลอดภัย

“ปลอดภัย” ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกว่าเป็นเมืองหนึ่งที่ปลอดภัยแม้ว่าในอดีตกาลที่ผ่านมาต่างประเทศรอบข้างจะเต็มไปด้วยสงคราม อาทิ สงครามเวียดนาม หรือแม้แต่เขมรแตก ก็ตาม แต่ความรู้สึกของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงรู้สึกว่าประเทศไทยไม่เป็นอะไรเหมาะสำหรับการเดินทางเข้าไปท่องเที่ยว

กอปรกับด้วยเอกลักษณ์ของคนไทยที่มีรอยยิ้มเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว กลายเป็นอีกจุดขายหนึ่งที่มักถูกมองข้ามไป ซึ่งในปัจจุบันเอกลักษณ์และวัฒนธรรมเก่าแก่ของคนไทยกำลังจะถูกหยิบนำมาขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพที่เคารพเอกลักษณ์มรดกโลกในทุกประเทศเข้ามาท่องเที่ยวได้สัมผัสและรู้จักอีกมุมหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่จะทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจจากสายตาของนักท่องเที่ยวคุณภาพเช่นกัน

นักท่องเที่ยวคุณภาพที่เดินทางเข้ามานั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเดิมให้มีเวลาสำหรับการพัฒนาปรับปรุงซ่อมแซมบ้าง โดยเฉพาะให้เวลากับธรรมชาติช่วยฟื้นฟูด้วยตัวเอง ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวแปลกใหม่ยังคงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดเพื่อให้นักท่องเที่ยวพยายามค้นหาและมีโอกาสได้สัมผัสอย่างแท้จริง

สร้างตลาดใหม่ในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก

แหล่งท่องเที่ยวหัวเมืองหลักอาทิ ภูเก็ต แม้ว่าจะมีห้องพักอยู่จำนวนมากก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการสร้างวัฒนธรรมท่องเที่ยวแนวใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวประเภททัวร์ชั้นกลาง ทัวร์สามดาวครึ่งถึงสี่ดาวให้เข้าไปใช้บริการเพิ่มขึ้น เพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพเชื่อได้ว่าจะมีจำนวนลดลง ดังนั้นการแก้เกมของการท่องเที่ยวฯจึงควรจะเน้นกลุ่มตลาดที่พอมีศักยภาพในการใช้จ่ายสำหรับที่จะท่องเที่ยวในเกาะภูเก็ต ขณะเดียวกันการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแปลกใหม่บนเกาะภูเก็ตเชื่อได้ว่ายังมีสถานที่ใหม่ๆไว้คอยแนะนำอยู่อีกหลายแห่งดูได้จากบัญชีแหล่งท่องเที่ยวของไทยที่ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการฯ

หลังจากที่มีบัญชีแหล่งท่องเที่ยวเพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อเท็จจริงขึ้นมาทั้งที่เร่งด่วน 43 จังหวัดและยังมีเหลืออยู่อีกหลายจังหวัดที่ยังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูล ส่งผลให้เกิดยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดเกิดขึ้นตามมาทันที โดยจะมีส่วนผสมของกีฬาเข้าไปช่วยเสริมในการทำตลาดเชิงรุกมากขึ้น และบทบาทของประชาชนในพื้นที่จะมีส่วนร่วมด้วยเช่นกันเพื่อช่วยในการสร้างแผนงานภาคบริการขึ้นมารองรับตลาดท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไปในพื้นที่นั้นๆ ส่งผลให้มีการกระจายเม็ดเงินไปยังภาคธุรกิจส่วนต่างๆของท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง

เบื้องต้นการเข้ามาดูแลยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งชาติให้มีคณะกรรมการทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นเข้ามาร่วมมือกันในการหาข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดไปพร้อมๆกับเปิดเกมรุกทำตลาดให้กับแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่

ขณะเดียวกันประชาชนท้องถิ่นจะสามารถชี้แจงปัญหาและแนวทางแก้ไขให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้และสามารถเข้าไปดูแลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งมุมมองจะกว้างกว่าหน่วยงานหรือองค์กรท่องเที่ยวที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นับเป็นช่องทางที่จะเชื่อมต่อระหว่างภาครัฐ-เอกชน-ประชาชนท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างนิคมท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นมา โดยพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวตรงนั้นจะถูกบริหารจัดการใหม่ทั้งหมดเพื่อการท่องเที่ยวในมิติต่างๆ ภายใต้แนวคิดและทิศทางของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

นับเป็นที่มาที่ไปของ การค้นหาบัญชีแหล่งท่องเที่ยว ขึ้นมา โดยกระบวนการของขั้นตอนต่างๆจะถูกแยกส่วนออกมาอย่างชัดเจน ด้านสำนักพัฒนาแหล่งท่องท่องเที่ยวรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพในการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงของบัญชีแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศทั้งแบบเร่งด่วนและระยะยาวส่วนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)จะเป็นผู้รับไม้ต่อจากกระทรวงเพื่อนำไปปฏิบัติเป็นแผนการทำการตลาดประชาสัมพันธ์เพื่อต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยวให้สามารถต่อสู้แข่งขันกับธุรกิจท่องเที่ยวต่างประเทศได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

เน้นคลัสเตอร์-ใช้เรื่องราวเพิ่มพลังการดูดคน

เมื่อแนวโน้มการแข่งขันของโลกเปลี่ยนไป ในอนาคตธุรกิจไม่ว่าประเภทใดๆ ต้องให้ความสำคัญใน 3 เรื่องนี้คือ การให้ความสำคัญกับลูกค้ากลุ่มหลักที่เหมาะสมกับสินค้าหรือบริการ การใช้เครือข่ายเพื่อหาความร่วมมือกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และสุดท้าย การร่วมกลุ่ม หรือรวมกลุ่มเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขัน ในรูปแบบคลัสเตอร์ (Cluster)

โดยเฉพาะเรื่อง “คลัสเตอร์” ซึ่งเป็นอีกยุทธศาสตร์ที่ รัฐมนตรีฯ วีระศักดิ์ ให้ความสำคัญ เนื่องจากเห็นว่าหากมีการรวมกลุ่มจังหวัดที่มีวัฒนธรรมคล้ายกัน มีแหล่งท่องเที่ยวคล้ายกัน มีประวัติศาสตร์ที่คล้ายกัน แล้วมาสร้าง “Theme” การท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์เพื่อสร้างเรื่องราวเพิ่มแรงจูงใจในการท่องเที่ยวได้มากกว่าเดิม เช่น รวมกลุ่มจังหวัดทางภาคอิสานที่เป็นพำนักของพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นจำนวนมากที่ดับขันธ์ไปแล้ว เช่น หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย, หลวงปู่ดูลย์ อตโล วัดบูรพาราม สุรินทร์, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร, หลวงปู่มั่น ภูริภัตโต วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร เป็นต้น เพื่อให้ทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่นับถือศาสนาพุทธเดินทางไปนมัสการ หรือไปปฏิบัติธรรมตามรอยเหล่าพระอรหันต์ที่ได้ดับขันธ์ไปแล้ว เป็นต้น

การนำรูปแบบของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธมาอย่างยืนยาว มีพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ในเมืองไทยมากมายนับจากอดีตถึงปัจจุบัน มาดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือผู้ศรัทธา ซึ่งคล้ายกับประเทศอินเดียที่ใช้สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาดึงดูดผู้คนที่นับถือพระพุทธศาสนาที่ปรารถนามาสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆเหล่านี้

อาจกล่าวได้ว่าหากจะปั้นจังหวัดอื่นขึ้นมาเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ในการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว จึงอาจต้องการโครงสร้างพื้นฐาน มารองรับให้มากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ นักท่องเที่ยว อาทิ การบริการที่พัก, ร้านอาหาร, และระบบคมนาคมที่สะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยในการเดินทางไปทุกหนทุกแห่ง เพราะเมื่อที่ใดก็ตามที่ประเทศไทยมีส่วนประกอบดังกล่าวที่ลงตัว การได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก และนั่นหมายถึงรายได้ที่เจ้าของประเทศจะได้รับ

เปิดคัมภีร์บัญชีแหล่งท่องเที่ยวของไทย....

หลังจากรับมอบหมายนโยบายให้สานต่อโครงการ “World class destination”การหาข้อมูลบัญชีแหล่งท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วนจึงเริ่มขึ้น....

ณ ห้องทำงานของ ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต่างทุ่มเทเวลาให้กับการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงจากฐานข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวทั่วเมืองไทยเพื่อให้ได้ทันตามกำหนดเวลาที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาต้องการ

หนึ่งในความคิดเห็นของบทสรุปการวิเคราะห์จากจำนวนบัญชีแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพนั้นมาจากฐานความคิดที่ว่า ต้องมีสองมิติคือ “มูลค่า”ซึ่งได้แก่ ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว มีจำนวนโรงแรมให้บริการ และอีกส่วนหนึ่งคือ “คุณค่า” นับเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย วิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณี แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวจำนวนน้อยก็ตามแต่ก็ถือว่ามีคุณค่าของความเป็นไทย

ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ให้ความเห็นกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”ว่า สิ่งหนึ่งที่ถูกนำมาวิเคราะห์พื้นที่ในแหล่งท่องเที่ยวต้องสามารถเดินทางได้ในวันเดียว และอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุ-ผู้พิการรวมทั้งสัตว์เลี้ยงสามารถร่วมเดินทางไปได้ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นการสร้างคุณค่าให้การท่องเที่ยว

“หากถามว่าจะสร้างรายได้มากหรือไม่คงเป็นไปไม่ได้ แต่มูลค่าของความเป็นคนไทยวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีไทยจึงเป็นที่มาของ บัญชีแหล่งท่องเที่ยว 43 จังหวัด”ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าว

กว่าที่จะได้มาของบัญชีแหล่งท่องเที่ยวนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้มอบหมายให้สองหน่วยงานคือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)กับ สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว(สพท.)เป็นผู้รับผิดชอบโดยในส่วนของการวิเคราะห์ฐานข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงจะเป็นส่วนของ สพท.

ขณะที่ ททท.มีหน้าที่สานต่อโครงการเพื่อนำไปเป็นแผนการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ต่างประเทศได้รับรู้ และเนื่องด้วยระยะเวลาที่จำกัดแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในมือและพอที่จะสามารถวิเคราะห์ได้จนสามารถนำเสนอต่อรัฐมนตรีได้นั้นเป็นบัญชีแหล่งท่องเที่ยวมาถึง 43 จังหวัด

ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า มีการนำแหล่งท่องเที่ยวต่างๆมาประเมินหาจุดอ่อนจุดแข็ง และโอกาส รวมไปถึงศักยภาพความเป็นไปได้ของการพัฒนาปรับปรุงควบคู่ไปกับความพร้อมในด้านการลงทุนเพื่อแบ่งเป็นโซนนิ่ง

“หลังจากนั้นจะนำมาประเมินว่าควรไปในทิศทางใด อาทิ แหล่งท่องเที่ยวต้องปรับปรุงขาดที่พักแรม บริการยังไม่ดี ร้านอาหารไม่สะอาด หน้าที่หลักคือต้องเข้าไปยกระดับและปรับปรุงทันที”ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯกล่าว

และเพื่อให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยว ไฮเอนด์ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีความพร้อมในการใช้จ่าย ดังนั้น แหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้วจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ด้วยเช่นกัน และหากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปจำนวนมากจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับไม่ว่าจะเป็นด้านมัคคุเทศก์ บริการด้านอื่นๆ หรือแม้แต่แหล่งท่องเที่ยวที่กำลังจะเสื่อมโทรมทางกระทรวงฯก็จะเตรียมเข้าไปป้องกันพร้อมๆกับพัฒนาปรับปรุงอนุรักษ์เหล่านี้เป็นต้น

“แหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรมก็จะมีการพัฒนาให้ดีขึ้น ส่วนแหล่งท่องเที่ยวที่ดีอยู่แล้วต้องระวัง ขณะเดียวกันก็จัดโซนนิ่งแหล่งท่องเที่ยวใหม่คือให้มีการลงทุนของผู้ประกอบการที่ต้องการทำธุรกิจท่องเที่ยว” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าว

เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาตามนโยบาย “ World class destination”เมื่อมีการพัฒนาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่สิ่งที่จะตามมาก็คือ ด้านการลงทุนในเรื่องของธุรกิจท่องเที่ยวบริการ ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดโซนนิ่ง ด้วยเงื่อนไขง่ายๆอาศัยกฎหมายตาม พรบ.การท่องเที่ยวเพื่อขอใช้พื้นที่ของภาครัฐมาเปิดให้เอกชนประมูลสัมปทานเช่าทำธุรกิจท่องเที่ยวในระยะยาว หรือถ้าหากภาครัฐมีศักยภาพเพียงพอก็อาจจะลงมือทำเอง

แน่นอนที่สุดก่อให้เกิดกลุ่มธุรกิจรายย่อยอย่าง SMEs ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจท่องเที่ยวบริการเพิ่มขึ้นมา อาทิ โรงแรมขนาดกลางไปจนถึงขนาดเล็ก ซึ่งจะเป็นเอกสิทธิ์พิเศษสงวนงานมอบให้กลุ่มคนไทยเท่านั้น ขณะเดียวกันก็มีการแบ่งโซนนิ่งให้กับกลุ่มโรงแรมที่ไว้รองรับนักท่องเที่ยวระดับสูงโดยจะแยกออกจากกัน

บทสรุปฐานข้อมูลของบัญชีแหล่งท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญและจำเป็นต้องจัดทำขึ้นเพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้นซึ่งท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่การวางแผนเพื่อทำตลาดควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในทิศทางเดียวกัน

หากรู้ว่าแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติป่าไม้หากรู้ว่าอยู่ตรงไหนควรให้ความสำคัญตามลำดับ เพื่อไปฟื้นฟูพัฒนาปรับปรุงให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งจำเป็นต้องขอความร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาปรึกษาถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขโดยตั้งกติกาใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวได้ปฏิบัติ

หรือแม้แต่การสร้างแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ขึ้นมา ภาครัฐอาจจะลงมือทำเอง หรือไม่ก็มีการจัดบริเวณโซนนิ่งพื้นที่ต่างๆของภาครัฐที่ไม่ได้ใช้งานหรือขาดการพัฒนาโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีพื้นที่จำนวนเท่าใด เพื่อเตรียมให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนเช่าสัมปทานและต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดต่างๆของการอนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมๆกันด้วย ขณะเดียวกันต้องฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่นั้นๆด้วยเช่นกัน

และด้วยแนวคิดแหล่งท่องเที่ยวที่สร้าง “มูลค่า”ไปพร้อมๆกับ “คุณค่า”ส่งผลให้ต้องดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับไฮเอนด์และนักท่องเที่ยวคนไทย ซึ่งจะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวที่มาจากทั้งสองทางพร้อมกัน ขณะเดียวกันแนวทางปฏิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้นตามนโยบายจะไปสอดคล้องกับการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศซึ่งสามารถเดินทางไปกับรถยนต์ได้สะดวก

ไม่ว่าจะเป็นประเทศเวียตนามที่เดินทางด้วยรถยนต์ ผ่านประเทศลาว เข้าสู่ประเทศไทย หรือแม้แต่มาเลเซียก็เดินทางเข้ามาแต่ละปีเป็นล้านๆคน สิ่งเหล่านี้หากมีการทำให้มากขึ้นหลากหลายขึ้นเชื่อได้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงในการใช้จ่ายก็จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเช่นกัน

โปรแกรมท่องเที่ยวก็เป็นแบบง่ายๆคือไปไหว้พระ หรือหาอาหารอร่อยๆทาน พาครอบครัวไปเที่ยวเล่นพักผ่อน ปัจจัยทั้งหมดจะนำไปสู่ตัวเลขรายได้ที่มีมูลค่าสูงถึง 8 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถทำยอดรายได้ตามเป้าอย่างแน่นอน

เดิมทีในแต่ละปีจำนวนตัวเลขของนักท่องเที่ยวจะมีการตั้งเป้าไว้ แต่สำหรับปี 2551 เป็นต้นไปรายได้ของนักท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการเพิ่มรายได้แทนการเพิ่มจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยว ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายจึงต้องมีการยกระดับให้ได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ

อย่างไรก็ตามการเติบโตอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอของจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในปีที่ผ่านมาคือ 2550-51 นักท่องเที่ยวเติบโตเพียง 4.5% คือจาก 13.8%เป็น 14.5% เท่านั้นซึ่งจากบทวิเคราะห์กลุ่มนักท่องเที่ยวอาเซียนมี 3 ประเทศเท่านั้นที่เติบโตเพียงเลขตัวเดียวได้แก่ ไทย มาเลเซีย และพม่า หากนำมาเปรียบเทียบประเทศรอบข้างแล้วการเติบโตที่เหมาะสมสม่ำเสมอควรจะเป็นระหว่าง 8-10%โดยเฉลี่ยต่อปี

ภาระทั้งหมดของการทำตลาดจึงตกมาเป็นภาระหน้าที่หลัก ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ที่จะต้องเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพให้ได้มากที่สุดเช่นกัน จะเห็นได้ว่าปัจจุบันตลาดนักท่องเที่ยวจาก รัสเซีย อินเดีย หรือตะวันออกกลาง จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ทาง ททท.วางแผนเตรียมรุกตลาดพวกนี้เพราะนั่นหมายถึงเม็ดเงินรายได้จากนักท่องเที่ยวที่ตั้งเป้าไว้ต้องไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท...ซึ่งจะประสบความสำเร็จหรือไม่ภายใต้แนวคิดมุมมองใหม่แบบนี้เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us