|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
เพียง 1 ปีหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลพุ่งกว่า 31% คนไทยเจอทั้งพิษเศรษฐกิจ ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ แถมเกณฑ์ชำระขั้นต่ำ 10% ของแบงก์ชาติหนุนส่ง ผู้ประกอบการยอมรับตัดหนี้สูญกันหลายพันล้านบาท คาดจะมากขึ้นอีกหากรัฐยังคลำทางไม่เจอ วอนแบงก์ชาติอย่ามองแค่มุมเดียว สุดท้ายจะกลายเป็นผู้ผลักลูกหนี้ให้เดินเข้าหาหนี้นอกระบบ
การเปิดเผยตัวเลขการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตและข้อมูลสินเชื่อบุคคลของปี 2550 ของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ข้อมูลดังกล่าวได้มีรายการเพิ่มเติมจากการรายงานครั้งก่อน ด้วยแสดงตัวเลขหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนไว้ทุกไตรมาส โดยย้อนหลังให้ถึงเดือนมิถุนายน 2548
สำหรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2550 ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นจาก 10.9 ล้านบัญชีเป็น 12 ล้านบัญชี หรือเพิ่มขึ้น 10.12% โดยสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจาก 1.71 แสนล้านบาทเป็น 1.79 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.84% ที่น่าสนใจคือยอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปจาก 4.45 พันล้านบาทกระโดดขึ้นเป็น 5.85 พันล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 31.48%
ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยเพิ่มขึ้นคือตัวเลขสินเชื่อบุคคล ที่ในรอบ 1 ปี มียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มจาก 1.84 แสนล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 2.04 แสนล้านบาทในสิ้นปี 2550 หรือเพิ่มขึ้น 10.83% โดยที่บัญชีของสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นจาก 9.84 ล้านบัญชี เป็น 10.78 ล้านบัญชี คิดเป็นเพิ่มขึ้นขึ้น 9.58% แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้บัตรเครดิตคือสินเชื่อผิดนัดชำระที่เกินกว่า 3 เดือนของสินเชื่อบุคคลเพิ่มจาก 7 พันล้านบาทเป็น 9.23 พันล้านบาท หรือสูงขึ้น 31.74%
นับได้ว่าในรอบ 1 ปี 2550 นั้น ทั้งการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันและเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ
หนี้เสียพุ่ง 31%
แหล่งข่าวจากวงการบัตรเครดิตกล่าวว่า จริง ๆ แล้วตัวเลขดังกล่าวผู้ประกอบการแต่ละรายก็ทราบแต่เฉพาะของตัวเอง เมื่อเห็นภาพรวมทั้งหมดที่แบงก์ชาติเปิดเผยมานั้น มองได้ว่ากำลังซื้อของประชาชนในปี 2550 นั้นตกต่ำมาก เมื่อแยกพิจารณาจะพบว่ารายการหนี้คงค้างของสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นมากกว่าหนี้คงค้างของบัตรเครดิต
ทั้งนี้ การหาสมาชิกใหม่ของทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นไม่มานัก เพียงแค่ 9-10% เท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย กลุ่มลูกค้าเป้าหมายรายใหม่ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนจึงมีไม่มากนัก นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่นอีกเช่น งบประมาณของแต่ละในการหาลูกค้ารายใหม่อาจลดลงไปหรืออาจจะเป็นเรื่องของนโยบายบริษัทที่ต้องการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจึงเปิดรับลูกค้ารายใหม่น้อยลง
สิ่งที่น่าสนใจคือหนี้คงค้างที่เพิ่มขึ้นของบัตรเครดิต แม้จะเพิ่มขึ้นเพียง 4.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่ในปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาก รวมถึงเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้การผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 5% เป็น 10% ที่มีผลเมื่อ 1 เมษายน 2550 อาจทำให้ตัวสินเชื่อคงค้างไม่เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขเพราะเกรงประวัติทางด้านสินเชื่อเสีย
แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการเพิ่มขึ้นของยอดหนี้ค้างชำระที่เกิน 3 เดือนที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าตกใจหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น 1.4 พันล้านบาทหรือเกือบ 31.5% แม้จะมีเกณฑ์ที่ต้องผ่อนชำระขั้นต่ำที่ 10% แล้วก็ตาม การที่หนี้ค้างชำระเพิ่มขึ้นในขณะที่หนี้คงค้างเพิ่มขึ้นน้อยกว่าหลายเท่าตัวนั้น เป็นผลมาจากความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนลดลง ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงทำให้ราคาสินค้าเกือบทุกชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยที่รายได้ของผู้ถือบัตรยังเท่าเดิม
“จริง ๆ แล้วยอดหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนสูงที่สุดของปี 2550 อยู่ในช่วงไตรมาส 3 โดยมียอดสูงถึง 6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2549 ถึง 35% แต่ได้ลดลงไป 159 ล้านบาทในช่วงปลายปี แม้ว่าจะเทียบกับยอดคงค้างแล้วหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนจะมีสัดส่วนเพียง 2-3.5% ถือว่าไม่มากนัก แต่ก็นับว่าอยู่ในทิศทางที่ปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่เราจะต้องนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้พิจารณาในการออกผลิตภัณฑ์หรือกำหนดทิศทางในปีนี้” ผู้บริหารระดับสูงของบัตรเครดิตรายหนึ่งกล่าว
คนไทยเจอ 2 เด้ง
เขากล่าวต่อไปว่านี่คือความโชคร้าย 2 ชั้นของภาคประชาชน ที่ต้องผ่อนชำระขั้นต่ำ 10% ตามเกณฑ์ของแบงก์ชาติแล้วยังมาเจอเรื่องความถดถอยของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ชมรมธุรกิจบัตรเครดิตได้เคยนำเสนอถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทยไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ทุกอย่างก็ไม่เป็นผล จนถูกแบงก์ชาติมองว่าพวกเราหวังจะได้ประโยชน์จากการได้ดอกเบี้ยจากยอดผ่อนชำระที่ยาวขึ้นของผู้ถือบัตร
แบงก์ชาติไม่ได้มองถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นของผู้ประกอบการว่า ยิ่งผู้ถือบัตรผ่อนชำระนานขึ้นผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับความเสี่ยงมากขึ้น เพียงแต่ขณะนั้นกระแสเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นทำให้แบงก์ชาติต้องออกมาตรการดังกล่าวมาควบคุม เพื่อต้องการให้ตัวเลขสินเชื่อคงค้างให้ลดลงจากเดิมเท่านั้นเป็นพอ
แม้ว่าวันนี้สถานการณ์ด้านหนี้เสียของบัตรเครดิตในภาพรวมยังไม่สูงมากนัก แต่มีแนวโน้มของหนี้ค้างชำระที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการหลายรายก็ต้องแก้ปัญหากันเอง รายใหญ่ ๆ ที่มีลูกค้ามากก็ต้องตัดเป็นหนี้สูญมากเช่นกัน รายกลาง ๆ บางแห่งตัดหนี้สูญกันพันกว่าล้านบาทแล้วก็มี หากคิดรวม ๆ กันคาดว่าคงมีการตัดหนี้สูญกันไปแล้วหลายพันล้านบาท
การบีบให้ผู้ถือบัตรชำระขั้นต่ำที่ 10% ด้วยความหวังที่จะให้จำนวนหนี้ภาคครัวเรือนลดลง หรือช่วยให้ผู้ประกอบการเสี่ยงน้อยลงในสายตาของแบงก์ชาตินั้น ถึงวันนี้ชัดเจนว่าสินเชื่อคงค้างในธุรกิจนี้ไม่ได้ลดลง แถมยังมีหนี้ค้างชำระที่เสี่ยงต่อการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ เมื่อเทียบกับช่วงปี 2548-2549 หนี้ค้างชำระที่เกิน 3 เดือนอยู่ระหว่าง 3.4-4.4 พันล้านบาทเท่านั้น
เมื่อประชาชนต้องพบกับแรงกดดันทั้ง 2 ปัจจัย ย่อมทำให้หนี้ค้างชำระเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่ผ่อนชำระมาก่อนที่มีเกณฑ์ชำระขั้นต่ำที่ 10% ออกมา ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และต้องจ่ายขั้นต่ำที่ 10% จากเดิมจากที่ 5% พวกเขาก็ต้องจำใจเลือกที่จะไม่จ่าย กลายเป็นภาระกับผู้ประกอบการ
โยกหนี้บัตรสู่สินเชื่อบุคคล
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการหลายรายก็มักจะเสนอทางออกให้กับลูกค้าที่ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขผ่อนชำระที่ 10% ได้ ด้วยการเสนอให้ใช้สินเชื่อบุคคลเข้ามาซื้อหนี้ก้อนหนี้ไปแทน เพื่อแก้ปัญหาเกณฑ์ใหม่ เนื่องจากสินเชื่อบุคคลสามารถผ่อนชำระขั้นต่ำที่ 5% ได้ แต่ก็ต้องแลกกับการที่ต้องผ่อนชำระที่อัตราดอกเบี้ย 18-20% มารับสภาพที่ดอกเบี้ย 28% ต่อปี กลายเป็นว่าลูกค้าต้องมาจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มอีก 8-10%
ต้องไม่ลืมว่าผู้ถือบัตรเครดิตทุกคนแม้ว่าจะมีรายได้ขั้นต่ำที่ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน แต่ภาระความรับผิดชอบในการดำรงชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน ไม่ใช่ว่าผู้มีบัตรเครดิตทุกคนจะผ่อนชำระขั้นต่ำที่ 10% ได้ทั้งหมดในทุกเวลา อย่างในช่วงปี 2550 ใครจะคิดว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นมากรวมไปถึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขึ้นตามกันมา
ในด้านสินเชื่อบุคคลในรอบปี 2550 พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อคงค้างเกือบ 11% แต่หนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนก็อยู่ในระดับสูงที่ 31.7% ใกล้เคียงกับบัตรเครดิต ที่น่าสนใจคือการเพิ่มของสินเชื่อคงค้างนั้นสูงขึ้นเป็นพิเศษตั้งแต่ปลายปี 2549 เรื่อยมา หรือเพิ่มขึ้นมาราว 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่สินเชื่อคงค้างของบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเพียง 8.27 พันล้านบาทเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการย้ายหนี้บัตรเครดิตไปสู่สินเชื่อบุคคล
แม้ยอดค้างชำระเกิน 3 เดือนอยู่ในระดับ 3.5-4.6% ของสินเชื่อคงค้าง ถือว่าสูงกว่าตัวเลขของบัตรเครดิต ในส่วนนี้คาดว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นได้อีก จากการที่ลูกค้าบัตรเครดิตบางรายที่ผ่อนตามเกณฑ์ขั้นต่ำ 10% ไม่ไหวก็อาจต้องโยกหนี้มาสู่สินเชื่อบุคคลแทน หรืออาจมีผู้ถือบัตรเครดิตบางรายที่ผู้ออกบัตรไม่ปล่อยวงเงินให้อีกเนื่องจากมีปัญหาด้านการชำระ ก็อาจมาขอใช้บริการผ่านสินเชื่อบุคคลแทน
แม้ว่าบริการของสินเชื่อบุคคลจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ผ่อนชำระบัตรเครดิต แต่ก็ไม่สามารถทำได้ทุกราย เพราะผู้ประกอบการแต่ละรายก็ต้องเน้นรับซื้อเฉพาะลูกหนี้ที่มีประวัติในการผ่อนชำระที่ดี แน่นอนว่ากลุ่มที่ไม่สามารถย้ายหนี้บัตรเครดิตได้ก็อาจต้องเข้าไปพึ่งพาบริการของสินเชื่อเถื่อนที่ประกาศเชิญชวนตามสะพานลอยหรือตามตู้โทรศัพท์ ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บต่อลูกค้าก็สูงกว่าผู้ประกอบการในระบบที่มีกฎหมายควบคุมอยู่ ตรงนี้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการแก้ไขได้ ทุกวันนี้ก็เปิดให้บริการตามปกติ
หากมองภาพรวมทั้งหมดผู้ประกอบการรายเล็กก็ถอยออกจากธุรกิจนี้ไปบ้างแล้ว รายที่ยังเหลืออยู่ก็เข้มงวดในการให้สินเชื่อมากขึ้น นั่นเท่ากับเป็นการปิดประตูสำหรับผู้ที่เดือดร้อนให้ต้องหันไปพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบอย่างไม่มีทางเลือก ที่ต้องเผชิญกับดอกเบี้ยที่สูงกว่าผู้ให้บริการในระบบมาก รวมถึงวิธีการทวงหนี้ที่อาจมีการคุกคามถึงชีวิต
คนเรียกหาประชานิยม
ตลอดทั้งปี 2550 เป็นช่วงที่รัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลลานนท์ เข้ามาบริหารประเทศแทนรัฐบาลไทยรักไทยที่ถูกยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 แต่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว กลับไม่ได้มีมาตรการใด ๆ ออกมาบรรเทาความเดือดร้อนจากสภาพเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น แถมยังอยู่ในช่วงที่ต้องเร่งเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ทำให้ราคาสินค้าแทบทุกชนิดปรับเพิ่มขึ้น
ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ไม่มีท่าทีว่าจะปรับลดลง รัฐบาลในช่วงปี 2550 ไม่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ จึงไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่จะคิดถึงรัฐบาลเดิมที่ตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาได้ตรงใจประชาชน ดังนั้นผลการเลือกตั้งเมื่อ 23 ธันวาคม 2550 จึงเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะคนในต่างจังหวัดยังคงต้องการให้รัฐบาลไทยรักไทยกลับมาแม้จะกลายมาเป็นพรรคพลังประชาชนก็ตาม
พวกเขาไม่ได้หวังจะให้มาแก้หนี้ให้โดยตรง แต่ขอให้มีเม็ดเงินบางส่วนเข้ามาเพื่อนำไปใช้หมุนเวียนแก้ปัญหาให้กับเขาที่รัฐบาลเดิมเคยหยิบยื่นมาให้เขา
“จะไปกล่าวหาประชาชนว่าเสพติดประชานิยมไปแล้วก็ไม่ได้ เพราะนี่คือความเป็นจริงของมนุษย์ที่ปากท้องต้องอิ่มมาเป็นอันดับแรก หลังจากการยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 รัฐบาลที่เข้ามาทำหน้าที่แทนนั้นได้อะไรให้กับคนเหล่านี้บ้าง ถ้าจะกล่าวว่าการบริหารงานของรัฐบาลชุดที่แล้วช่วยหนุนให้ทีมงานของไทยรักไทยเดิมในบ้านหลังใหม่อย่างพลังประชาชนได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้งก็คงไม่ผิด”ผู้บริหารบัตรเครดิตรายหนึ่งกล่าว
ถ้ารัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์มองเห็นถึงปัญหานี้ แล้วลงมือแก้ปัญหาให้กับประชาชนพร้อมทั้งปรับเปลี่ยนแนวทางและวิธีคิดของผู้คน การยึดอำนาจที่ผ่านมาก็คงไม่สูญเปล่า
|
|
 |
|
|