มีนักวิชาการน้อยคนนักเป็นนักอนุรักษ์และยิ่งน้อยลงไปอีกสำหรับการเป็นนักอนุรักษ์เชิงรุกแต่จำนวนอันน้อยนิดนี้มีสุรพล
สุดาราเป็นคนหนึ่งที่ร่วมขบวนด้วยในระดับที่ถือว่าเป็นหัวแถว
โดยภาระหน้าที่หลัก "ดร. สุรพล สุดารา" เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเพียง "ครู" คนหนึ่ง
แต่อาจกล่าวได้ว่าไม่มีผู้คนที่สนใจข่าวสารบ้านเมืองคนใดไม่เคยได้ยินชื่อเขา
ยิ่งผู้บริหารประเทศ คนของรัฐในหน่วยงานด้านที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากร
โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตยิ่งค่อนข้างจะคุ้นเคยด้วยเหตุว่าหลาย
ๆ โครงการของหน่วยงานเหล่านี้เคยได้รับการติติงคัดค้านจากนักชีววิทยาคนนี้มาแล้ว
โครงการสร้างเขื่อนต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อภาวะแวดล้อมซึ่งขบวนการอนุรักษ์ทั้งหลายแสดงการคัดค้านจนกระทั่งต้องพับโครงการไป
นับตั้งแต่เขื่อนน้ำโจน เขื่อนแก่งกรุง เบื้องหลังส่วนหนึ่งนั้นล้วนเกิดจากการออกโรงเคลื่อนไหวโดยสุรพล
ภาพพจน์แห่งการเป็นนักต่อต้าน เป็นหัวขบวนของกลุ่มพลังอนุรักษ์ที่ได้รับตามมาจึงนับว่าไม่อาจปฏิเสธ
แม้ว่าจะไม่ใช่ภาพพจน์ที่ครอบคลุม
"มีหลายเรื่องที่ผมเข้าไปสนับสนุน แต่คนไม่เคยรู้และไม่เคยเอามาพูด
หลายอย่างที่ทำสำเร็จได้ในตอนหลังถ้าไม่ใช่เพราะฝีมือผมต่อต้านในตอนนั้น
สะกิดกันให้ถูกทางมันไม่เกิด เหมือนอีสท์เทริร์น์ซีบอร์ดเวลานี้คนที่ได้
เครดิตคือคนที่ในเวลาเมื่อสมัยที่พลเอกชาติชายเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรมยังไม่มีใครรู้จักเขาตอนนั้นคืออุตสาหกรรมหนัก
จะเกิดที่แหลมฉบังพวกผมก็รณรงค์ต่อต้าน ถึงกับคณะกรรมการต่าง ๆ ขึ้นมา 7
คณะ พิจารณากันในที่สุดก็เห็นว่าแหลมฉบังไม่เหมาะสมจริง ๆ ที่เหมาะสมคือมาบตาพุต"
สุรพลเล่าถึงเบื้องหลังที่น้อยคนนักได้รับรู้
ความสำเร็จในการย้ายตลาดนัดออกจากสนามหลวงไปสู่สวนจตุจักรก็มีรายละเอียดแบบเดียวกันนี้ด้วย
ในลักษณะของการทำงานร่วมกับรัฐบาลคอยให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งทั้งที่เป็นด้านดีและไม่ดีเพื่อชี้ว่ารัฐควรหรือไม่ควรทำอะไรแค่ไหน
สุรพลมีบทบาทด้านการอนุรักษ์มาแล้ว 20 ปีเต็มๆ ตั้งแต่เมื่อแรกกลับมาถึงเมืองไทยหลังจากจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาวาย
และทำงานที่นั่นอยู่หลายปีในตำแหน่งหน้าที่อันมีเกียรติและมั่นคง โดยที่ภรรยาก็ได้เป็นอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยด้วย
ไม่มีใครนึกว่าเขาจะกลับมา แต่ทั้งสองคนตัดสินใจเลือกที่จะทำงานให้กับบ้านเกิดมากกว่า
ขณะนั้นความตื่นตัวต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังระบาดไปทั่วโลก เนื่องจาก ปรากฏการณ์ความเลวร้าย
ตลอดจนความเสื่อมทรามทางระบบนิเวศน์กำลังปะทุขึ้นทั่วไป การประท้วงโดยกลุ่มชาวบ้าน
นักเรียน นักศึกษามีขึ้นที่โน้นที่นี่มากมายไปหมด โดยเหตุที่เขาได้เข้าร่วมและได้เก็บรับประสบการณ์เหล่านี้มาพอสมควร
ความตั้งใจที่จะจับงานด้านนี้จึงมีมาแต่แรกทว่าก็ไม่เคยกำหนดไว้เลยว่าจะเป็นนักคัดค้าน
ความตั้งใจที่พกกลับมาด้วยมีเพียงว่าจะต้องรณรงค์ให้คนไทยตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น
เขาเข้าเป็นอาจารย์ ในสถาบันที่บ่มเพาะตนเองมาโดยเชื่อว่าในสถานะเช่นนั้นจะสามารถทำงานดังตั้งใจได้
ไม่ว่าจะเป็นการสอนหรือการเผยแพร่งานวิจัย ซึ่งประการหลังไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก
"ผมเริ่มต้นในรูปของการให้ความรู้ผ่านสื่อมวลชน ระยะแรก ๆ ก็อึดอัดเพราะว่าไม่ค่อยมีใครยอมรับ
เลยคิดว่าทำเองดีกว่า ผมเข้าทำวิทยุจุฬาฯ ตั้งแต่ตอนนั้น พูดเรื่องทางวิชาการทั่ว
ๆ ไป เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมติดต่อกันเรื่อยมาเป็นลำดับ ต่อจากวิทยุจุฬาฯ
ก็ไปทำรายการมหาวิทยาลัยทางอากาศ ทำมาประมาณ 13 ปีไม่เคยหยุดเลยทุก ๆ วันอังคาร"
สุรพลยังคงทำงานรณรงค์จนถึงทุกวันนี้
บทบาทในด้านการเคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่ตามมาในภายหลัง อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งเขารู้จักคุ้นเคยกับสื่อมวลชนพอสมควรเมื่อผลงานสะท้อนให้เห็นถึงฝีมือมากขึ้นๆ
พร้อมๆ กับได้สัมพันธ์กับใครต่อใครมากขึ้นกลุ่มต่าง ๆ ก็เข้ามาติดต่อประสานงาน
ขอความร่วมมือด้วยเป็นจำนวนมาก
โดยทั่วไปแล้วเขามักจะตอบรับด้วยความยินดีไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมขบวนกับองค์กรอนุรักษ์ระดับใด
นักศึกษาหรือนักพัฒนาหรือราชการ ขอเพียงให้งานนั้นมีเป้าหมายเพื่อการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องถึงต้องต่อสู้กับอำนาจใหญ่โตก็ไม่ละเว้น
"เป็นเรื่องความสำคัญของงานด้วย อันไหนคิดว่าพลาดไม่ได้ผมกระโดดลงไปต่อสู้เต็มตัวเลย
อย่างโครงการเขื่อนต่าง ๆ พวกนี้ไม่ได้ เราต้องรักษาสิ่งที่มันจะทำลายก็มีการค้านหลายเรื่องที่ผมไม่เข้าไปร่วม
อาจจะยินดีให้ใช้ชื่อแต่เผอิญไม่ว่าเรื่องไหนพอกระโดดไปแล้วผมไม่ค่อยถอย
และทุกครั้งผมมีเหตุมีผลที่จะพูด"
การที่โครงการเขื่อนน้ำโจนยังคงถูกพับอยู่จนบัดนี้ไม่ว่าจะมองว่าเป็นความดีหรือความชอบก็จำเป็นต้องยกให้ว่าเป็นนักวิชาการคนนี้
เพราะเขาคือ 1 ใน 2 ผู้เข้าไปแจกแจงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการมีเขื่อนให้กับคณะรัฐมนตรียุคพลเอกเปรม
ติณสูลานนท์ทั้งคณะฟัง การตัดสินใจของ ครม. ในที่สุดเป็นเครื่องที่บ่งบอกอยู่เองแล้วว่า
ข้อมูลและการทำงานของคนคนนี้มีน้ำหนักเพียงใด
อย่างไรก็ตามขอบเขตงานเชิงสร้างสรรค์ที่เขาทำมิได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องใหญ่
ๆ เหล่านี้เท่านั้น …
นอกเหนือจากงานวิชาการในรูปของการสอนหนังสือแล้ว สุรพลมีทีมเล็ก ๆ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลอยู่ในความดูแลด้วย
ซึ่งในเมืองไทยนับว่าค่อนข้างจะเป็นสาขาวิชาการใหม่ ยังขาดข้อมูลและความรู้อีกมาก
สุรพลเล่าว่า "หน่วยวิจัยปะการังและหญ้าทะเลเกิดเพราะเราเห็นว่างานนี้น่าทำ
ไม่มีคนทำ ตอนแรกก็มีกัน 3-4 คน ลูกศิษย์ของผม แล้วก็เริ่มมีงานออกมามากขึ้น
ๆ จนเริ่มมีชื่อ สร้างเด็ก ๆ ของผมขึ้นมาเป็นรุ่น ๆ หลายรุ่นแล้ว"
ในฐานะที่เป็นอาจารย์ของจุฬาฯ หน่วยวิจัยนี้จึงขึ้นต่อคณะวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน
ที่ดำเนินการมาได้ก็ด้วยการทำงานวิจัยพร้อม ๆ ไปกับการหาทุนรอนอาจจะด้วยการรับจ้างหน่วยงานบางแห่งเช่น
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมป่าไม้ หรือสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติค้นคว้าและเก็บข้อมูลในเรื่องต่าง
ๆ จนกระทั่งในตอนหลังนี้เมื่อโครงการอาเซียนออสเตรเลียมีเงินทุนให้สำหรับการวิจัยด้านปะการังโดยตรงทางหน่วยฯ
รับมาทำก็สามารถทำให้จัดหาอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
ความเป็นนักนิยมธรรมชาติของสุรพลโดยพื้นฐานนั้นได้สั่งสมอยู่ในจิตใจมาตั้งแต่เด็ก
ๆ แล้ว จากการติดตามพ่อออกไปท่องเที่ยวสัมผัสกับป่าเขาและผืนทะเลหลาย ๆ แห่ง
"ผมมีความประทับใจว่าธรรมชาติเป็นสิ่งซึ่งให้ประโยชน์กับคนมาก ผมเป็นคนกรุงเทพ
แต่พ่อได้พาไปเที่ยวดูธรรมชาติที่ต่าง ๆ มาก ทำให้ได้เห็นได้เรียนรู้ เมื่อเรียนหนังสือก็สนใจทางด้านวิชาชีวะ
ผมคงจะต้องยกความดีทั้งหลายให้ ดร. คุ้ม วัชโรบล ซึ่งถ่ายทอดความรู้ให้มาตั้งแต่ปี
1 พาออกไปนอกสถานที่ ไปทะเลเป็นหลักไปป่าดูแมลง ดูของจริงกันมากกว่าจะนั่งทำในห้องปฏิบัติการ"
สุรพลย้อนเล่าถึงความหลัง
แท้จริงแรกเริ่มเมื่อก้าวเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา สุรพล สุดาราเลือกที่จะเป็นนายแพทย์เรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่
1 ปีเต็ม ๆ ก่อนจะพบว่า ความหดหู่จากการป่วยไข้นั้นไม่เหมาะสมกับตนเองเลย
ขณะเดียวกันเขาเริ่มติดใจในวิชาชีววิทยาอย่างจริงจังขึ้น จึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนเข็มการเรียน
แต่สิ่งที่รักมาแต่ต้นอีกสิ่งหนึ่งก็คืองานด้านการสร้างสรรค์เชิงศิลปะ เขาคงจะได้เป็นสถาปนิกด้วยซ้ำไปถ้าไม่ถูกจูงใจให้เลือกสมัครแพทย์เสียก่อน
ด้านนี้มีเฉพาะคนใกล้ชิดเท่านั้นที่รู้ สมัยเป็นนิสิตเขาคือประธานเชียร์ผู้ริเริ่มวางรากฐานการแปรอักษรแบบต่าง
ๆ ในงานฟุตบอลประเพณี เขาชอบการวาดรูปและเป็นมือระดับที่เคยได้รับรางวัล
เขาเล่นดนตรีเป็นคนหนึ่งที่ร่วมก่อตั้งวงดนตรีของนักศึกษาจุฬาฯ CU BRAND
และ ณ วันนี้ก็ยังคงต้องรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของชมรมดนตรีสากลตามคำเรียกร้องของนักศึกษา
สุรพล สุดารา ไม่เคยจำกัดตัวเองว่าเป็นนักวิชาการแล้วต้องอยู่แต่ภายในร่มรั้วของมหาวิทยาลัย
หรือปฏิบัติงานเพียงเฉพาะในกรอบของหน้าหนังสือตำราต่าง ๆ เท่านั้น ขอบเขตการเป็นนักอนุรักษ์ก็เช่นเดียวกัน
มิได้ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรเพียงประการเดียว
เขาเป็นกรรมการวิชาการให้กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรพร้อมกันก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกันนี้ด้วย
ที่สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสภาพแวดล้อม ซึ่งให้ความสนใจกับการรักษาโบราณสถานไม่น้อยกว่าการพิทักษ์ป่า
"ผมไม่เคยสนใจว่าต้องทำให้เฉพาะจุฬาฯ จึงจะเป็นตัวผมได้ ผมถือว่าหน้าที่อาจารย์มหาวิทยาลัยมี
4 อย่าง สอน-วิจัย-บริการสังคม-ทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผมทำหมด 4 อย่างเวลาผมออกไปพูดหรือทำอะไรข้างนอกผมถือว่านี่คือการบริการสังคม
และผมพูดทุกครั้งก็เป็นตัวของผมเองเรื่องก็ง่ายๆ ธรรมดาแค่นั้น"
คงไม่ผิดที่จะกล่าวว่าการให้ความหมายเช่นนี้เอง ที่ทำให้ในขบวนแถวนักวิชาการอนุรักษ์อันมีสมาชิกไม่มากมายนักมีสุรพลร่วมอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง