หน่วยงานด้านอนุรักษ์สัตว์ป่าเมื่อ 30 ปีก่อนเป็นเพียงหมวดสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าสังกัดกองบำรุง
กรมป่าไม้ มีเพียงพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 เป็นเครื่องมือในการทำงานพร้อมกับตำแหน่งหัวหน้าหมวดที่มีผู้ใต้บังคับบัญชาหนึ่งคน
ขณะที่สภาพโดยทั่วไปก่อนการประกาศใช้กฎหมายสัตว์ป่าฉบับแรกของเมืองไทย การล่าสัตว์เป็นที่นิยมทั้งของคนกรุงและคนในชนบทที่กระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
จะต่างกันก็ตรงที่คนกรุงล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงแต่คนชนบทล่าโดยวิถีชีวิตเพื่อการยังชีพ
ที่สำคัญที่สุดคือถิ่นอาศัยสัตว์ป่าในยุคนั้นไม่ต้องบุกป่าผ่าดงไปไกล เพียงแค่ขับรถไปถึงทุ่งรังสิตก็มีสัตว์ป่าให้ส่องด้วยลูกปืนจากบรรดาผู้มีอันจะกินที่นิยมการล่าสัตว์เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง
ตำแหน่งหัวหน้าหมวดภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้เป็นที่น่าหนักใจมิใช่น้อยสำหรับผู้ที่ต้องมารับผิดชอบ
ซึ่งเท่ากับเป็นการบุกเบิกทุกอย่างใหม่ไปเสียหมดไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานและกฎหมายรวมถึงผ่อง
เล่งอี้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานคนแรกซึ่งเพิ่งจะจบการศึกษาจากคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสมัครเข้าทำงานกรมป่าไม้เป็นที่แรก
จากนิสิตที่จบด้านการจัดการป่าไม้ แต่ต้องมาบุกเบิกงานด้านสัตว์ป่า ซึ่งบรรดาเพื่อนฝูงญาติพี่น้องที่รู้ว่าเขาขันอาสามาทำงานนี้ต่างพากันหัวเราะเห็นเป็นเรื่องตลกขบขันที่มาทำงานนับขี้กวาง
ขี้ช้าง เพราะงานของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในยุคนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการตัดไม้และการปลูกป่าทดแทนนั่นย่อมหมายถึงเรื่องเงิน
ๆ ทอง ๆ ที่เข้าออกกระเป๋าถ่ายเทกันอย่างง่ายดาย ภาพพจน์ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่ว่ายุคไหน
ๆ ดูจะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักในเรื่องทำนองนี้
สำหรับงานของผ่องเล่งอี้สิ่งแรกที่เขาพอจะทำได้ภายใต้กำลังคน และงบประมาณอันน้อยนิดในช่วงนั้น
คือพยายามหาภาพสัตว์สงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองมาจัดพิมพ์เป็นโปสเตอร์ส่งไปยังหน่วยงานต่าง
ๆ เพื่อให้รู้ว่าสัตว์ป่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร และให้ประชาชนรับรู้ว่าเริ่มมีการใช้กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องสัตว์ป่าแล้ว
การล่าสัตว์มิได้กระทำได้อย่างอิสระเช่นแต่ก่อน
ผ่องเองเขายอมรับว่ามิได้มีความรู้มากนักเกี่ยวกับเรื่องสัตว์ป่าเพียงแค่เคยเรียนวิชาการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ซึ่งมีเรื่องสัตว์ป่าเป็นหัวข้อหนึ่งของการเรียน ในระดับปริญญาตรี
จนกระทั่งโอกาสมาถึงเขาอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี 2506 ที่รัฐบาลไทยมีทุนให้ไปศึกษาวิชาการจัดการสัตว์ป่าต่อ
ผ่องจึงได้ไปเรียนรู้ด้านสัตว์ป่าอย่างแท้จริงที่มหาวิทยาลัยมอนตาน่าสหรัฐอเมริกา
หลังจากจบปริญญาโทผ่องตระเวนดูงานด้านสัตว์ป่าในยุโรป อัฟริกา อินเดียสะสมความรู้และประสบการณ์
กลับมาเมืองไทยเพื่อวางแผนแม่บทในการดำเนินงานจัดการสัตว์ป่า
แนวคิดและภาระหลักของกรมป่าไม้ช่วงพุทธศักราช 2509 คือ การให้สัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศเพื่อให้เอกชนช่วยดูแลในรูปบริษัททำไม้จังหวัดและการปลูกป่าทดแทน
ขณะเดียวกันภาระของผ่อง เล่งอี้คือทำอย่างไรที่จะสงวนสัตว์ป่าไม่ให้ถูกล่า
สัตว์ป่าจะอยู่ได้เมื่อมีถิ่นที่อยู่อาศัยคือป่าไม้ เขาต้องต่อสู้ฟาดฟันทางความคิดกับเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ในกรมป่าไม้
เพื่อสงวนพื้นที่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในรูปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าให้ได้
ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับตำแหน่งเล็ก ๆ ของผ่อง เล่งอี้ซึ่งเป็นแค่หัวหน้าหมวดคนหนึ่งเท่านั้น
แต่เขาทำได้
"ผมก็ทำหน้าที่จนมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามากขึ้น ได้กำลังเจ้าหน้าที่เพิ่ม
งบประมาณมากขึ้น มีการตั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติคนไม่พอก็ไปขออาสาสมัครอเมริกันมาช่วยของบประมาณจาก
WORLD WILDLIFE FUND มาซื้ออาวุธในการปราบปรามจนรัฐบาลเห็นความสำคัญ
เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในช่วงปี
พ.ศ. 2518 นับเป็นแรงสำคัญที่ช่วยผลักดันหมวดสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าให้เลื่อนฐานะเป็นกองอนุรักษ์สัตว์ป่าและแน่นอน
ผ่อง เล่งอี้ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองอนุรักษ์สัตว์ป่าคนแรก
ผ่องนั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการกองอนุรักษ์สัตว์ป่าจนกระทั่งปี 2522 รวมเวลาที่อยู่กับงานด้านนี้นานถึง
18 ปี เขาแย่งชิงพื้นที่จากสัมปทานมาเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้ 20 กว่าแห่ง
รวมพื้นที่ประมาณ 12-14 ล้านไร่
เมื่อเขาย้ายมาเป็นผู้อำนวยการกองอุทยานแห่งชาติ 7 ปี จากเดิมที่มีอุทยานแห่งชาติอยู่
17 แห่ง ผ่องประกาศพื้นที่เพิ่มเป็น 69 แห่ง โดยเฉพาะอุทยานทางทะเลฝั่งอันดามันซึ่งยังไม่ได้ถูกยึดครองมากเท่ากับทางอ่าวไทย
"น่าเสียดายที่เขตรักษาพันธุ์และอุทยานหลายแห่งเป็นป่าซึ่งได้ถูกทำลายไปมากแล้วคือเป็นพื้นที่ที่ถูกทำลายก่อนที่จะประกาศ
แต่เราพยายามต้านเอาไว้ หลายอุทยานจะมีปัญหาเพราะเป็นปัญหาเก่าที่สะสมไว้ก่อนจะเป็นอุทยาน
ประชาชนเข้าไปอยู่โดยที่เราไม่รู้ ก็แก้ไม่มีที่สิ้นสุด"
ผ่องกล่าวถึงปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นจากการที่เขาพยายามชิงพื้นที่มาเป็นป่าอนุรักษ์ให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตามผ่องเห็น และตระหนักมาโดยตลอดว่าป่าอนุรักษ์ในรูปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานจะเป็นพื้นที่ป่าผืนสุดท้ายที่พอจะอนุรักษ์ไว้
เพื่อคานกับป่าสัมปทานซึ่งเขาไม่เคยเชื่อมาแต่ไหนแต่ไรว่าบริษัททำไม้จังหวัดจะปฏิบัติตามหลักวิชาการตัดไม้ที่ถูกต้องและรักษาป่าไว้ได้
"การอนุรักษ์ป่าสองอันนี้เป็นสิ่งที่ผมภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ในการเป็นข้าราชการกรมป่าไม้นึกทีไร
ผมก็ดีใจ ปิติ ที่ได้ทำให้ป่าเหลือเป็นชิ้นสุดท้ายจนทุกวันนี้ ผมว่า 80%
ของป่าพวกนี้ผมมีส่วนทำไว้"
ในอดีตงานอนุรักษ์สัตว์ป่าไม่ได้รับความสนใจทั้งจากรัฐบาลและประชาชนโดยทั่วไปมากเท่าทุกวันนี้
หลายครั้งที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของผ่องบ่นท้อใจผ่อง มักพูดเสมอว่าวันหนึ่งงานด้านอนุรักษ์สัตว์ป่าจะเป็นงานที่มีความสำคัญมาก
เรื่องกำลังคนและงบประมาณจะต้องตามมาอย่างแน่นอน
ปัจจุบันการอนุรักษ์สัตว์ป่าเป็นสิ่งที่รับรู้ในวงกว้าง แม้ในทางปฏิบัติจะยังคงมีปัญหาที่ผ่องเป็นห่วงเสมอมาคือเรื่องการล่าสัตว์ป่าอยู่
แต่เขาก็หวังว่าร่างกฎหมายสัตว์ป่าฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ซึ่งอนุญาตให้มีการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าได้อย่างถูกกฎหมายจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของการล่าแบบทำลายล้างในอดีตได้
ถึงกระนั้นก็ตามผ่องเห็นว่าการให้การศึกษา รณรงค์ให้ประชาชนมีสำนึกในเรื่องการอนุรักษ์
ไม่ทำลายทรัพยากรป่าไม้ ไม่นิยมรับประทานเนื้อสัตว์ป่าประกอบกับความเข้มงวดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เป็นการทำงานระยะยาวที่ส่งผลอย่างถาวร
"ผมเชื่อว่าเด็กรุ่นหลังจะไม่กินสัตว์ป่า ผมเชื่อว่าใครที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติเป็นคนที่น่ารังเกียจ
คนที่ยึดเอาของสาธารณะเป็นของส่วนตัวจะถูกประณาม สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา"
การทำงานด้านอนุรักษ์เป็นการทำงานที่ต้องขัดผลประโยชน์กับคนจำนวนไม่น้อย
ผ่องมีความเห็นว่าบุคคลที่จะทำงานนี้ได้จะต้องเป็นคนที่เสียสละอย่างน้อยก็ต้องเสียสละให้ใครต่อใครพากันเกลียดหน้า
และสิ่งสำคัญมากที่สุดคือความซื่อสัตย์สุจริต เพราะเป็นงานที่ต้องเอาผิดกับคนที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
หากผู้ถือกฎหมายมือไม่สะอาดแล้วก็ยากที่จะบังคับใช้กฎหมายนั้น ๆ ได้
ผ่องกล่าวถึงการรับราชการว่าการใส่ร้ายป้ายสีเป็นเรื่องธรรมดา ในยุทธจักรของการแย่งชิง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่มีผลประโยชน์อย่างกรมป่าไม้ แต่สิ่งที่เขายึดถือปฏิบัติมาตลอดคือการไม่แย่งชิง
ผ่องยืนยันว่าเขาไม่เคยที่จะวิ่งเต้นเพื่อให้ได้ตำแหน่ง และเขาก็ปฏิบัติตัวอย่างที่เรียกว่าโปร่งใสมาตลอดชีวิตที่รับราชการ
หลังปี พ.ศ. 2529 ผ่องย้ายจากกองอุทยานแห่งชาติมาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ
ระยะหนึ่ง จึงกลับเข้ากรมป่าไม้ในตำแหน่งรองอธิบดีและด้วยเหตุผลทางการเมืองเขาไปศึกษางานชั่วคราวที่กรมปศุสัตว์
ซึ่งเป็นระยะที่เขาไม่ประทับใจนักเขาให้เหตุผลว่าไม่ค่อยถนัดเรื่องฆ่าสัตว์
ตัวเขาเองไม่รับประทานเนื้อสัตว์และไม่ฆ่าสัตว์ทุกชนิดมานานแล้ว
เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาผ่องเป็นแคนดิเดทคนสำคัญในตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้
ด้วยแรงสนับสนุนจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่เชื่อมั่นฝีไม้ลายมือในงานด้านอนุรักษ์
และนิสัยใจคอที่รับทั้งผิดและชอบต่องานของลูกน้อง
แต่แล้วในที่สุด ผ่อง เล่งอี้ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ และกรมป่าไม้เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เขารับผิดชอบดูแลอยู่
จากการวางรากฐานการดำเนินงานด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า ที่เริ่มจากเจ้าหน้าที่รัฐเพียงสองคนกับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพุทธศักราช
2503 จนกระทั่งถึง ณ วันนี้ที่เป็นกองอนุรักษ์สัตว์ป่า สังกัดกรมป่าไม้ และกำลังจะมีกฎหมายสัตว์ป่าฉบับใหม่ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าจะปรับเข้ายุคสมัยและมีความรัดกุมกว่าเดิม