คนที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างอาจไม่คุ้นนักกับชื่อของกลุ่มบริษัทศิริดาฯ
ในขณะที่บางคนรู้จักกลุ่มบริษัทแห่งนี้แต่เพียงผิวเผินเท่านั้น
ถ้าจะพูดไปแล้วกลุ่มบริษัท ศิริดานับเป็นบริษัทที่ให้บริการบริหารการดำเนินงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ครบวงจรที่สุดในประเทศไทยปัจจุบัน
ทั้งนี้จากการก่อตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิริดา ในปี 2524 และต่อมาได้จดทะเบียนใหม่เป็นบริษัท
ศิริดา คอนซัลแตนท์ จำกัดในปี 2526 จนกระทั่งปัจจุบันเครือข่ายการให้บริการของศิริดาได้ขยายออกไปถึง
3 บริษัทด้วยกันคือ
บริษัท ศิริดา คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นบริษัทที่ให้บริการวิเคราะห์การลงทุนในโครงการพัฒนาที่ดิน
และโครงการอื่น ๆ โดยศึกษาด้านการตลาดการเงิน นอกจากนี้ยังให้บริการออกแบบด้านงานสถาปัตยกรรมวิศวกรรมโครงสร้างและวิศวกรรมระบบต่าง
ๆ พร้อมทั้งจัดทำเอกสารสำหรับประมูลก่อสร้าง และจัดทำเงื่อนไขสัญญาก่อสร้าง
รวมทั้งหมายกำหนดการต่าง ๆ ของสัญญาก่อสร้างให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ว่าจ้าง
บริษัท ศิริดา คอนสตัคชั่น แมนเนจเม้นท์ จำกัด เป็นบริษัทที่ให้บริการทางด้านบริหารงานควบคุมงานก่อสร้างโครงการ
ซึ่งมีขอบเขตตั้งแต่งานบริหารโครงการในช่วงงานออกแบบ งานบริหารโครงการในช่วงงานก่อสร้าง
และงานควบคุมการก่อสร้าง
และบริษัท ศิริดา แอพเพรซัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เปิดหลังสุดเมื่อ 3
ปีที่แล้วโดยให้บริการด้านประเมินราคาทรัพย์สินให้กับธนาคาร สถาบันการเงิน
บริษัทประกันภัย หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศ
พิเชษฐ์ อาริยวัฒน์คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเติบใหญ่ของกลุ่มบริษัทศิริดาฯ
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
หลังจากที่ได้ปริญญาตรีเกียรตินิยมสาขาการโยธาโครงสร้างจากคณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2514 แล้วพิเชษฐ์ได้เดินทางไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกในสาขาเดียวกันที่
PURDU UNIVERSITY รัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจากศึกษาจบในปี 2517 พิเชษฐ์ก็ได้รับการทาบทามจาก PORTLAND CEMENT
ASSOCIATION, USA. ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการทำสำรวจในด้านวัสดุและวิธีการก่อสร้างและออกแบบอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กโดยตรง
ให้เข้าร่วมงานในตำแหน่งวิศวกรสำรวจ
จนกระทั่งถึงปี 2520 พิเชษฐ์ก็ได้ลาออกมาร่วมงานกับ VSL COPORATION, USA.
ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ เกี่ยวกับการก่อสร้าง ในตำแหน่งวิศวกร โครงสร้างและที่ปรึกษาระบบคอมพิวเตอร์
และในช่วงนี้เองที่พิเชษฐ์ได้เข้าศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับด้านอสังหาริมทรัพย์
อีก 2 ปีต่อมาจึงได้ลาออกจาก VSL มาร่วมงานกับ T.Y. LININTERNATIONAL,
USA. ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาทางด้านการออกแบบสะพานและอาคารโดยเข้าร่วมในตำแหน่งวิศวกรโครงสร้าง
หลังจากที่ได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานกับบริษัทในต่างประเทศถึง 7 ปีเต็ม
พิเชษฐ์จึงเดินทางกลับประเทศไทยโดยหวังที่จะนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกี่ยวกับการก่อสร้างที่ได้รับมากลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่
ดังนั้น หจก. ศิริดา จึงถือกำเนิดขึ้นเป็นแห่งแรก โดยรับเป็นที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมการออกแบบและก่อสร้างเป็นหลักและงานแรกที่ได้
คืองานก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่บริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัยที่ถนนสุรวงศ์
จากนั้นมาขอบข่ายการให้บริการของบริษัทศิริดา ก็ขยายวงกว้างขึ้นเมื่อ ดร.
พิเชษฐ์มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะลงมือปฏิบัติการ และใช้จุดนี้เป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจบริการใหม่เพิ่มขึ้น
ผลงานโครงการที่กลุ่มบริษัทศิริดา ได้ดำเนินงานไปเมื่อเร็ว ๆ นี้คือโครงการว่องวานิชเป็นโครงการที่บริษัทศิริดาฯ
ได้ทำการวิเคราะห์โครงการเพื่อการลงทุน ออกแบบด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโดยใช้เงินลงทุน
1,000 ล้านบาท
โครงการบ้านฉาง แลนด์แอนด์ เฮ้าส์ทาวเวอร์ บริษัทศิริดาฯ เป็นผู้ดำเนินงานบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง
โครงการศูนย์โทรคมนาคม บริษัทศิริดาฯ เป็นผู้ออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมวิศวกรรมและงานระบบต่าง
ๆ
โครงการทางด่วนพิเศษขั้นที่ 1 บริษัทศิริดาฯ เป็นผู้ออกแบบโครงสร้าง
โครงการอาคาร ONE PACIFIC PLACE บริษัทศิริดาฯ เป็นผู้ออกแบบและเป็นที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม
พร้อมทั้งดำเนินการควบคุมการก่อสร้าง บริหารงานก่อสร้างจนเสร็จโครงการ
นอกเหนือจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านอสังหาริมทรัพย์คือ ที่ดิน อาคารแล้ว
จนถึงปัจจุบันกลุ่มศิริดาฯ มีผลงานและบริการทางด้านอุตสาหกรรม เช่น การจัดทำแผนแม่บทการใช้เหล็กแผ่นในอุตสาหกรรมในประเทศไทย
การวิเคราะห์การลงทุนในโครงการผลิตหินอ่อน การศึกษาตลาดด้านธุรกิจเหมืองแร่ในประเทศไทยให้กับสถานทูตแคนาดา
รวมถึงวิเคราะห์การลงทุนในโครงการออกแบบด้านวิศวกรรม และควบคุมการก่อสร้างโรงงานผลิตหินอ่อนของบริษัทอุตสาหกรรมวิคตอรี่แกรนนิต
โรงงานผลิตท่อน้ำ POLYETHYLENE ของ WILK&HOEGLUND CO., LTD. และโรงงานน้ำตาลไทยของบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย
และสำหรับ "โรงเรียนศิริดาการประเมินราคาทรัพย์สิน" นับเป็นขอบข่ายงานใหม่ล่าสุดของบริษัท
ศิริดา แอพเพรซัลซึ่งกำลังจะเปิดทำการสอนในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
พิเชษฐ์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "เมื่อเราขยายบริการเกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินให้กับลูกค้ามากขึ้นในขณะที่การพัฒนาที่ดินเติบโตอย่างรวดเร็ว
ทำให้เรารู้ว่าเราขาดบุคลากร โดยเฉพาะคนที่มีคุณภาพหมายถึง คนที่ซื่อสัตย์สุจริตและมีความรู้ในงานอาชีพนี้ดีพอ
เราจึงคิดว่าน่าจะมีโรงเรียนที่สามารถฝึกอบรมในระยะสั้นขึ้นมาเป็นมืออาชีพได้
ซึ่งในต่างประเทศถือว่าการประเมินเป็นอาชีพสาขาหนึ่ง มีหลักสูตรการเรียนการสอนโดยเฉพาะคนที่จะทำงานนี้ได้ต้องมีใบอนุญาตประกอบอาชีพเช่นเดียวกับแพทย์
แต่เมืองไทยยังไม่มีและยังถือว่าเป็นของใหม่สถานที่ที่จะผลิตบุคลากรด้านนี้มีเพียงวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ
ซึ่งผลิตนักเรียนออกมาได้ไม่นานในวุฒิ ปวส. และมีจำนวนไม่เพียงพอ"
แนวความคิดดังกล่าวได้รับการตอบรับจากบรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินราคาทรัยพ์สิน
ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ หรือเอกชนเพราะที่ผ่านมาหน่วยงานแต่ละแห่งจะฝึกอบรมกันขึ้นมาเอง
ดังนั้นการจัดตั้งโรงเรียนจึงเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลในหน่วยงานต่าง
ๆ เหล่านี้ได้เข้ารับการศึกษาในด้านนี้โดยตรง และผู้ที่เข้ารับการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองคุณวุฒิจากโรงเรียนแห่งนี้ด้วย
สำหรับหลักสูตรการประเมินราคาทรัพย์สินเป็นหลักสูตรระยะสั้นประมาณ 3 เดือนซึ่งรวมระยะเวลาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
โดยใช้ระยะเวลาเรียนในช่วงเย็นตั้งแต่ 18.00 น. เป็นต้นไปเพื่อให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติงานได้ในเวลาปกติ
โดยจะเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนทั้งหมดประมาณ 20,000 บาท และในแต่ละครั้งจะรับจำนวนผู้เข้าอบรมไม่เกิน
60 คน
และคุณสมบัติของผู้เข้าอบรมจะต้องอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย
1 ปี การศึกษาจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์สถาปัตยกรรมศาสตร์ นิติศาสตร์
บัญชี การเงิน เศรษฐศาสตร์ และอนุปริญญา (ปวส.) ในสาขาช่างก่อสร้าง ช่างสำรวจ
ถึงแม้ว่าความคิดที่จะเปิดโรงเรียนแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่การที่จะอธิบายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดตั้งโรงเรียนได้เข้าใจถึงเรื่องการประเมินและความจำเป็นที่จะต้องมี
จากวิกฤตการณ์ทางด้านกำลังคนที่เข้าขั้น "โคม่า" กลายเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย
แต่จากความเพียรพยายามจนในที่สุดก็ได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งเป็นโรงเรียน
และได้รับอนุญาตให้ใช้หลักสูตรดังกล่าวจากกระทรวงศึกษาธิการได้
ถึงแม้ว่าการเปิดโรงเรียนมันจะไม่ใช่ธุรกิจที่ทำเงินเป็นกอบเป็นกำ แต่การที่บริษัทศิริดาได้รับการยอมรับ
ในฐานะที่ช่วยส่งเสริมงานด้านนี้มากกว่าที่จะเป็นถึงแต่กำไรเพียงอย่างเดียวน่าจะมีค่ามากกว่าเป็นไหนจริงไหม
!