อี๊สต์เอเชียติ๊ก (ประเทศไทย) เป็นเทรดดิ้งเฟิร์มเก่าแก่อายุไม่ต่ำกว่า
100 ปี สำนักงานที่ตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยายังคงรูปลักษณ์ตะวันตกอันภาคภูมิทั้งภายในและภายนอก
สายน้ำที่ไหลเอื่อย ๆ เป็นเช่นนี้นับร้อยปี ขณะที่วัฒนธรรมการบริหารที่อี๊สต์เอเชียติ๊กเปลี่ยนแปลงน้อยมากด้านผู้นำที่มีฝรั่ง
เป็นนายเสมอมา
จวบจนกระทั่งเมษายนปี 2535 ที่กำลังจะถึงนี้ ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นในวัฒนธรรมเก่าแก่นับร้อยปีของอี๊สต์เอเชียติ๊ก
กรรมการผู้จัดการคนใหม่ที่จะมาแทน เฮ็นริก เดอ จองเคียร์ เป็นผู้บริหารไทยที่มีความสามารถและประสบการณ์การบริหารจากสิงคโปร์
ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของอี๊สต์เอเชียติ๊กจะต้องบันทึกไว้ว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่
"โชติ โพควนิช" คือ "นายคนไทย" ที่กุมบังเหียนกิจการเก่าแก่แห่งนี้
โชติ โพควนิช เป็นนักบริหารบัญชีการเงินมืออาชีพที่มีความสามารถล้ำเหลือ
จนกระทั่งบริษัทแม่ที่กรุงโคเปนเฮเกนได้ตัดสินใจส่งไปบริหารบริษัทอี๊สต์เอเชียติ๊กที่ประเทศสิงคโปร์เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า
6 ปี ตำแหน่งสุดท้ายของโชติในเมืองไทยขณะนั้นคือ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบัญชี
กลางปีนี้โชติ โพควนิช จะเข้าสวมตำแหน่งแทน เฮ็นริก เดอ จองเคียร์ ผู้มีมาดของผู้ดีที่ภาคภูมิใจในเกียรติแห่งความเป็นอี๊สต์เอเชียติ๊กมากเหลือเกิน
จองเคียร์เป็นคนหนึ่งที่ถูกหล่อหลอมวัฒนธรรมจากสถาบันอี๊สต์เอเชียติ๊กที่กรุงโคเปนเฮเกนเมื่อจบก็ทำงานที่นี่
ผ่านประสบการบริหารที่ประเทศบราซิลและฟิลิปปินส์ จองเคียร์บริหารบริษัทนี้ในฐานะกรรมการผู้จัดการคนล่าสุด
ซึ่งจะส่งมอบตำแหน่งให้กับโชติในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
เวลาไม่ต่ำกว่า 7 ปีที่ "จองเคียร์" ได้บริหารงานอยู่ในคณะจัดการ
การเติบโตของกิจการอยู่ในระดับ 20% ต่อปี ยอดขายตั้งแต่ปี 2529-2534 จองเคียร์ได้ฝากผลงานแบบอนุรักษ์นิยมของเขาไว้ดังนี้ในปี
2529-ยอดขาย 1,984 ล้านบาท ปี 2530-ขายได้ 2,063 ล้านบาท ปี 2531-ยอดขายขึ้นเป็น
2,707 ล้านบาท ปี 2532-ตัวเลขพุ่งขึ้น 3,368 ล้านบาท ปี 2533-ตัวเลขเป็น
4,076 ล้านบาท และปีที่แล้ว ยอดขายขึ้นเพียง 4,452 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเดิม
8% เพราะปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมือง ทั้งในและนอกประเทศ
ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบยอดขายกับเทรดดิ้งเฟิร์มยักษ์ใหญ่ "ดีทแฮล์ม"
ซึ่งมียอดขายปีที่แล้วประมาณ 9,800 ล้านบาท ต้องบอกว่าอี๊สต์เอเชียติ๊กได้ถูกทิ้งไม่เห็นฝุ่นในลู่การแข่งขันนี้เสียแล้ว
โครงสร้างธุรกิจของอี๊สต์เอเชียติ๊ก แบ่งเป็น 5 กลุ่มคือหนึ่ง-กลุ่มเคมีภัณฑ์ในอุตสาหกรรมจากบริษัทไอซีไอ
สอง-กลุ่มกราฟิกที่ใช้การพิมพ์ ล่าสุดเป็นตัวแทนขายไลโนไทฟ์ของอังกฤษ สาม-กลุ่มเทคนิคอุปกรณ์เครื่องยนต์กลไก
สี่-กลุ่มอุปโภคบริโภครวมเวชภัณฑ์ อาหาร และห้า-กลุ่มการเดินเรือชิปปิ้งและคอนเทนเนอร์
กลุ่มการเดินเรือนี้ จองเคียร์ได้เปิดทิศทางการลงทุนไปสู่อินโดจีนอีกครั้ง
หลังจากสนามรบได้เปลี่ยนเป็นสนามการค้าแล้ว สำนักงานอีเอซีในไซ่ง่อนที่ร้างไปช่วงสงครามก็ถูกรื้อฟื้นมาทำใหม่
และเตรียมเปิดสาขาที่ฮานอยเพิ่ม เพื่อทำธุรกิจวิ่งส่งสินค้าระหว่างโฮจิมินห์
สิงคโปร์ โคเปนเฮเกน ตลอดจนขยายเส้นทางไปสู่ฮ่องกงและโตเกียวด้วย ขณะเดียวกันก็นำสินค้าเข้าสู่ตลาดเวียดนามด้วย
นอกจากตลาดการค้าในอินโดจีนแล้ว ที่พม่า สำนักงานของอี๊สต์เอเชียติ๊กยังดำเนินการส่งออกไม้สักไปทั่วโลก
ตามแนวคิดโบราณสมัยอาณานิคมอยู่อีก
ลักษณะเด่นระหว่างอี๊สต์เอเชียติ๊กกับดีทแฮล์ม อยู่ในวิถีสร้างดาวกันคนละดวง
ขณะที่อี๊สต์เอเชียติ๊กเป็นยักษ์ใหญ่กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพราะส่วนแบ่งของรายได้
60.6% มาจากกลุ่มนี้ดีทแฮล์มกลับมีความเด่นในธุรกิจเวชภัณฑ์ ทำรายได้มากที่สุดถึงปีละ
3,000 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจเวชภัณฑ์ของอีสต์เอเชียอีสต์เอเชียติ๊กเป็นยักษ์ใหญ่กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพราะส่วนแบ่งของรายได้
60.6% มาจากกลุ่มนี้ดีทแฮล์มกลับมีความเด่นในธุรกิจเวชภัณฑ์ ทำรายได้มากที่สุดถึงปีละ
3,000 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจเวชภัณฑ์ของอีสต์เอเชียติ๊กเพียงแค่ 5.9% หรือประมาณ
240 ล้านบาทเท่านั้น
"เราอยู่ในเมืองไทยมานานกว่า 100 ปี เราพิจารณาประเทศไทยว่าเป็นตลาดของเรา
ตลอดเวลาที่อยู่ในเมืองไทยก็พยายามที่จะเข้าใจคนไทยวัฒนธรรมไทยเราคิดว่าจะทำธุรกิจที่นี่ในระยะยาว
เราไม่ได้คิดอะไรแบบสั้น ๆ" นี่คือทัศนะของจองเคียร์
ถึงกระนั้นก็ตาม การดำเนินนโยบายการบริหารอนุรักษ์นิยมที่เติบโตอย่างมั่นคง
ในสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างไทยนับตั้งแต่รัฐประหารจนกระทั่งจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า
จองเคียร์ ได้กล่าวได้ว่า
"ในปีที่ผ่านมา เราต้องตัดสินใจชะลอธุรกิจไว้ก่อน จะไม่มีการลงทุนขนานใหญ่ในช่วงนี้
แต่จะหันมาปรับปรุงภายในองค์กร เพื่อให้ทันรับกับสถานการณ์" ทิศทางการลงทุนของบริษัทจึงไม่ปรากฏดังคำพูดของจองเคียร์
หลังจากที่ในปี 2533 บริษัทได้ขายหุ้นลงทุนในบริษัทอีเอซี พร็อพเพอร์ตี้ส์
ซึ่งเคยวาดฝันว่าจะสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่ท่าน้ำดูเม็กซ์ 12 ไร่ แต่ปัญหาจราจรจลาจลทำให้จองเคียร์เปลี่ยนใจขายให้กับกลุ่มไทยรุ่งเท็กซ์ไทล์และโตโยเมนกาในราคา
1,350 ล้านบาท แล้วย้ายไปสร้างที่แห่งใหม่บนที่ดิน 19 ไร่สายบางนา-ตราด กม.
ที่ 7.5
นอกจากนั้น บริษัทยังได้ขายหุ้นลงทุนในบริษัทเอสเคเอฟ (ประเทศไทย) อีกด้วย
และโครงการร่วมลงทุน 10% ในบริษัทไทยพีทีเอที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2532 ก็เป็นอันฝันสลายเนื่องจากโครงการนี้มีความเป็นไปได้น้อย
จึงล้มเลิกทำ
ในอดีตยุคทองปี 2530 การตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางการลงทุนของจองเคียร์เป็นไปอย่างคึกคัก
มีการลงทุนใหญ่ในไทยหลายโครงการ เช่น โครงการร่วมกับกลุ่มไอซีไอที่นิคมอุตสาหกรรมบางปูโครงการศูนย์คลังและแจกจ่ายสินค้าที่บางนา-ตราด
กม. 12 โครงการศูนย์บรรจุคอนเทนเนอร์นอกท่าโครงการร่วมลงทุน 15% ในบริษัทเพรอกซี่ไทย
ช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมามีการเพิ่มทุนสองครั้ง ๆ ละ 300 ล้านบาท ปัจจุบันทุนจดทะเบียนของบริษัท
900 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในทรัพย์สินถาวรคือการก่อสร้าง สำนักงานใหญ่
โรงงาน อุปกรณ์และเครื่องจักร
โครงการดังกล่าวจะกระทบต่อการดำเนินงานให้ผลตอบแทนในอนาคตอย่างไร? จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์สำเร็จและตอบสนองคนสามกลุ่มได้คือ
หนึ่ง-ผู้ถือหุ้น สอง-บริษัทและสาม-พนักงาน ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเหล่านี้เป็นภารกิจที่กรรมการผู้จัดการคนใหม่อย่าง
"โชติโพควนิช" จะต้องบริหารให้กิจการยักษ์ใหญ่โบราณอายุร้อยกว่าปีที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแห่งนี้ไปสู่ดวงดาว