ซิงเกอร์ฯรื้อระบบปล่อยสินชื่อ ต้องเข้มงวด หวั่นหนี้สูญหลอกหลอนอีก ชูเครดิตคอนโทรลเลอร์ปีนี้ลุยเต็มระบบ แบ่ง 3 เฟส พร้อมเพิ่มพนักงานขายอีก 5,000 คน ลุยแต่งตั้งตัวแทนแบบ ยูอาร์ อีก 1,000 แห่ง มั่นใจปีนี้เป็นปีพลิกผันฟื้นตัวแน่นอน
นายบุญยง ตันสกุล กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายวัน” ว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ค่อยดีในขณะนี้ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่งผลให้ทางซิงเกอร์ต้องเข้มงวดในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาซิงเกอร์ต้องประสบกับภาวะขาดทุนซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการทำตลาดจักรยานยนต์ ซึ่งปรากฏว่าเกิดหนี้สูญอย่างมาก
ดังนั้นซิงเกอร์จึงได้เริ่มใช้ระบบเครดิตคอนโทรลเลอร์มาตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว โดยได้ตั้งศูนย์อนุมัติสินเชื่อตามภาคต่างๆ 10 เขตพื้นที่การขายของบริษัทฯ ซึ่งศูนย์นี้จะเป็นผู้อนุมัติปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า จากเดิมที่พนักงานขายสามารถอนุมัติเองและเก็บเงินเองได้ พร้อมกับการแยกทีมพนักงานขายกับทีมเก็บเงินคนละทีมออกจากกัน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯได้คัดทิ้งผู้ยื่นขออนุมัติสินเชื่อไปกว่า 20% จากจำนวนลูกค้าทั้งหมด
โดยที่ผ่านมาได้เริ่มทำมาแล้ว แต่ปีนี้จะเป็นปีที่ชัดเจนและสมบูรณ์แบบมากขึ้น ซึ่งแผนการดำเนินงานจะแบ่งเป็น 3 เฟส เฟสที่ 1 ทำกับกลุ่มเกรดซีก่อน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ซึ่งเป็นร้านค้าประเภทที่มีสินค้าคืนมากและเก็บเงินได้ต่ำกว่าปรกติมีประมาณ 30% ของร้านค้าทั้งหมด ซึ่งบริษัทฯจะต้องตรวจสอบเข้ม 100% ก่อนที่จะต่อด้วยเฟสที่2กับกลุ่มเกรดบีซึ่งมีร้านค้าประมาณ 60% ที่เก็บเงินได้ไม่ตามเป้าหมายโดยบริษัทฯจะใช้การสุ่มตัวอย่างประมาณ 20% ถ้าพบว่าลูกค้ามีปัญหามากก็จะยกเลิกไป และตามด้วยเกรดเอเป็นเฟสสุดท้าย ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาน้อยที่สุดมีประมาณ 10% ของจำนวนร้านค้าทั้งหมด ซึ่งกลุ่มนี้จะบริหารอิสระและเก็บเงินได้เกือบครบ 100%
ปัจจุบันซิงเกอร์มีพนักงานขายกว่า 5,000 คน ซึ่งกระจายอยู่ตามสาขาร้านซิงเกอร์กว่า 200 แห่ง โดยที่ปีนี้ยังไม่มีแผนที่จะเปิดร้านซิงเกอร์เพิ่มแต่อย่างใด แต่จะมีการเพิ่มพนักงานขายอีกเท่าตัวคือ 5,000 คน รวมเป็น 10,000 คนในสิ้นปีนี้ ซึ่งซิงเกอร์มีพนักงาน 2 แบบคือ 1.พนักงานเต็มเวลาหรือ Sale Agent ทำงานเต็มเวลามีกว่า 4,000 คน และ 2.ตัวแทนขายหรือ Sale Representative จำนวนกว่า 1,000 คน
นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและการตลาดอีก ในรูปแบบใหม่ๆ โดยมีแผนที่จะตั้งช่องทางจำหน่ายอีกกลุ่มคือ ยูนิต รีพรีเซนเททีฟ (Unit Reprensensative) เน้นไปในพื้นที่ที่ห่างไกล และเป็นร้านย่อยๆ โดยที่ร้านค้านั้นต้องเป็นลูกค้าของซิงเกอร์อยู่แล้ว เพราะจะเข้าใจระบบของซิงเกอร์เป็นอย่างดี ซึ่งซิงเกอร์จะแต่งตั้ง ยูอาร์/UR นี้ประมาณ 1,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งจะเริ่มปีนี้เป็นปีแรก
“การทำงานของ ยูอาร์ นี้เหมือนกับแบงก์ที่เปิดสำนักงานย่อยๆตามแหล่งชุมชนต่างๆหรือในศูนย์การค้าเวลานี้ที่มีมากมาย เพื่อเป็นการเข้าหาลูกค้าได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น” นายบุญยงกล่าว
ส่วนร้านค้าที่เป็นรูปแบบขายสินค้ามือสองที่ชื่อ สมาร์ทซีเล็ค นั้น หลังจากที่ได้มีการปรับระบบกันใหม่ ล่าสุดได้เปิดสาขาแรกของสมาร์ทซีเล็คไปแล้วที่ตลาดยิ่งเจริญ ซึ่งจะเป็นร้านจำหน่ายสินค้ามือสองที่มีคุณภาพของซิงเกอร์และมีแบรนด์อื่นบ้าง ซึ่ปีน้ก็มีแผนที่จะเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้นอีก โดยพิจารณาทำเลและความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก
สำหรับผลประกอบการของ บมจ.ซิงเกอร์ ช่วง3ไตรมาสแรกปี 2550 มีตัวเลขขาดทุน 418 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2549 ที่ขาดทุน 1,010 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมมีประมาณ 1,983 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่มี 2,919 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมทั้งปี 2549 อยู่ที่ 3,813 ล้านบาท
“ผมคิดว่าปี 2551 นี้ จะเป็นปีที่สำคัญและเป็นปีที่พลิกผันของซิงเกอร์อีกครั้ง หลังจากที่เรามีการปรับตัวปรับระบบใหม่มาตั้งแต่ปีที่แล้ว และปีนี้ก็มีความเข้มงวดในการปล่อยเครดิตมากขึ้น รวมทั้งระบบใหม่ๆที่จะเริ่มอีกในปีนี้” นายบุญยงกล่าว
ปัจจุบันซิงเกอร์มียอดขายที่มาจากสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ามากกว่า 80% และอีก 20% เป็นสินค้ากลุ่มอื่นเช่น คอมพิวเตอร์ มอเตอร์ไซค์ เป็นต้น โดยมีจำนวนลูกค้ากว่า 250,000 บัญชี โดยสินค้าที่ขายดีมากที่สุดเรียงลำดับดังนี้ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ทีวี จักรเย็บผ้า
|