กลุ่มเซ็นทรัลยังหวาดกลัวเศรษฐกิจปีนี้ หั่นงบลงทุนลงเหลือ 15,000 ล้านบาท จากที่ตั้งปีที่แล้วที่ 19,000 ล้านบาท แต่ยังใช้ไม่ถึงด้วยซ้ำไป เหตุปัญหาเศรษฐกิจ หวั่นแผนตั้งกองทุนรวมอสังหาฯสะดุด เหตุมาตรการ 30% เป็นขวากหนาม ด้านการรถไฟฯเผยอยู่ระหว่างตรวจสอบร่างสัญญาเซ็นทรัลลาดพร้าว ให้เซ็นทรัลเสนอผลตอบแทนกลับมา
นายสุทธิชัย จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เปิดเผยว่า ทางกลุ่มเซ็นทรัลประเมินว่าสภาพเศรษฐกิจในปี 2551 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาราคาน้ำมันที่ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับลดต้นทุน เช่นลดการจ้างงาน จะกระทบต่อกำลังซื้อ การบริโภค ขณะที่การส่งออกของไทยอาจจะชะลอตัวลงบ้าง แต่คาดว่าจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ 10% ซึ่งการส่งออกที่ชะลอในปี 2550 เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า ปี 2551 อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวบ้าง และจะหนุนให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เร่งขยายตัวได้ที่ 5%
ส่วนอีกหลายโครงการขนาดใหญ่ของเซ็นทรัลกรุ๊ปก็ยังไม่สรุปเช่น เซ็นทรัลลาดพร้าว ซึ่งยังไม่ได้รับหนังสือเจรจาเป็นทางการจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ถึงเรื่องการต่อรองรอบล่าสุด ส่วนโครงการที่สถานทูตอังกฤษนั้นก็อยู่ระหว่างการออกแบบ
ส่วนโครงการในต่างประเทศนั้น ล่าสุดได้มีการเจรจากับกลุ่มทุนของดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะร่วมลงทุนทำธุรกิจทั้งในไทยและที่ดูไบ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจา
หวั่นพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์สะดุด
นายปริญญ์ จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร-การเงิน กล่าวว่า เรื่องของ มาตรการกันสำรองเงินตราต่างประเทศ 30% ซึ่งขณะนี้ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิก ซึ่งถ้าหากไม่ยกเลิกก็คงส่งผลกระทบต่อแผนการตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์) ของกลุ่มเซ็นทรัลแน่นอน เพราะกลุ่มเซ็นทรัลโดยบริษัทในเครือ ซีพีเอ็นมีแผนที่จะตั้งอย่างน้อย 2 กองทุน ที่เกี่ยวกับโรงแรมประมาณ 7,000 ล้านบาท และอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 4,000 ล้านบาท
โดยการลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัลส่วนใหญ่แล้ว จะใช้ทั้งเงินกู้และเงินสดแล้วแต่ละธุรกิจ เช่น กลุ่มค้าปลีกตอนนี้กู้น้อยใช้เงินสดเป็นส่วนใหญ่ ส่วนศูนย์การค้าต้องกู้มากประมาณ 2-3,000 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งถ้าตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ บางโครงการก็คงต้องกู้เงินซึ่งจะทำให้เรามีต้นทุนที่สูงขึ้นอีก เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ย หรือใช้วิธีร่วมทุน ส่วนเรื่องการเพิ่มทุนนั้นเป็นทางเลือกสุดท้าย
หั่นงบลงทุน
อย่างไรก็ตาม แผนการลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัลในปีนี้นายสุทธิชัย กล่าวว่า ตั้งไว้ 15,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วที่ตั้งไว้ที่ 19,000 ล้านบาท แต่ใช้จริงเพียง 12,000 ล้านบาท อันเนื่องมาจาก มีการตั้งงบเผื่อเอาไว้ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีของปีที่แล้วทำให้ใช้เงินลงทุนไม่ถึงเป้าหมาย ขณะที่ยอดขายทั้งกลุ่มปีนี้ตั้งไว้ที่ 103,600 ล้านบาท หรือเติบโต 9% ซึ่งจะทะลุเกินล้านบาทเป็นครั้งแรก
โดยแผนการลงทุนปีนี้ รวมทั้งเป้าหมายยอดขายแต่ละกลุ่มธุรกิจแบ่งเป็น 1.กลุ่มค้าปลีก (ซีอาร์ซี) ลงทุน 5,000 ล้านบาท สัดส่วน 33% คาดยอดขาย 80,000 ล้านบาท เติบโต 7% 2.กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ซีพีเอ็น) ลงทุน 6,000 ล้านบาท สัดส่วน 40% คาดรายได้ 10,000 ล้านบาท เติบโต 13% 3.กลุ่มค้าส่ง (ซีเอ็มจี) ลงทุน 130 ล้านบาท สัดส่วน 1% คาดรายได้ 4,800 ล้านบาท เติบโต 7%
4.กลุ่มโรงแรม (ซีเอชอาร์) ลงทุน 3,500 ล้านบาท สัดส่วน 23% คาดรายได้ 4,000 ล้านบาท เติบโต 30% และ 5.กลุ่มเรสตอรองส์กรุ๊ป (ซีอาร์จี) ลงทุน 370 ล้านบาท สัดส่วน 3% คาดยอดขาย 4,800 ล้านบาท เติบโต 12%
สำหรับผลประกอบการทั้งกลุ่มเซ็นทรัลปี 2550 แบ่งเป็น ยอดขายรวมประมาณ 95,400 ล้านบาท เติบโตเพียง 5% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้แต่เดิม เพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นตลอดทำให้การบริโภคของประชาชนไม่สูงมากนัก นอกจากนั้นในช่วงปลายปีก็ยังถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยของสหรัฐฯ โดยเฉพาะปัญหาซับไพรม์อีกด้วย
โดยแยกรายได้และงบลงทุนปีที่แล้วเป็น 5 ธุรกิจดังนี้คือ 1.กลุ่มคาปลีก (ซีอาร์ซี) ยอดขาย 74,700 ล้านบาท เติบโต 4% งบลงทุน 4,200 ล้านบาท สัดส่วน 35% 2.กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ซีพีเอ็น) รายได้ 8,850 ล้านบาท เติบโต 14% งบลงทุน 4,800 ล้านบาท สัดส่วน 40%
3.กลุ่มค้าส่ง (ซีเอ็มจี) ยอดขาย 4,500 ล้านบาท ไม่เติบโต งบลงทุน 100 ล้านบาท สัดส่วน 1% 4.กลุ่มโรงแรม (ซีเอชอาร์) รายได้ 3,070 ล้านบาท เติบโต 18% งบลงทุน 2,600 ล้านบาท สัดส่วน 22% และ 5.กลุ่มเรสตอรองส์กรุ๊ป (ซีอาร์จี) ยอดขาย 4,280 ล้านบาท เติบโต 4% งบลงทุน 300 ล้านบาท สัดส่วน 2%
ร.ฟ.ท.ยื่นเซ็นทรัลสัปดาห์นี้
แหล่งข่าวจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบร่างสัญญา แต่มั่นใจว่าจะส่งให้แก่ทางบริษัทเซ็นทรัลฯพิจารณาได้ภายในสัปดาห์นี้อย่างแน่นอน โดยร.ฟ.ท.จะแจ้งให้เซ็นทรัลเสนออัตราผลตอบแทนการเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกลับมายังร.ฟ.ท.ภายใน 1 สัปดาห์นับจากวันได้รับหนังสือร่างสัญญาด้วยส่วนระยะเวลาการเช่ามี 2 ทางเลือกคือ 20 ปี และ 30 ปีโดยจะพิจารณาข้อเสนอระยะเวลาเช่า 20 ปีก่อนซึ่งบริษัทที่ปรึกษาได้ประเมินว่าระยะเวลาเช่า 20 ปีจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าและใช้ประโยชน์จากตัวอาคารได้มากที่สุด ส่วนระยะเวลา 30 ปีจะทำให้ได้รับผลตอบแทนลดลงเพราะมีภาระในการบำรุงรักษาเข้ามา
จากการประเมินผลตอบแทนระยะเวลา 20 ปี จะได้รับประมาณ 11,500 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเมื่อรวมกับดอกเบี้ยประมาณ 20,000 ล้านบาท ส่วนระยะเวลา 30 ปี คาดว่าจะได้ผลตอบแทนประมาณ 13,500 ล้านบาทเมื่อรวมกับดอกเบี้ยมากกว่า 20,000 ล้านบาทแต่ผลตอบแทนจะไม่สูงกว่าที่มาบุญครองจ่ายให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะมีความแตกต่างของพื้นที่ใช้สอยและราคาประเมิน
ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า เรื่องนี้จะต้องปฏิบัติตามสัญญาและกรอบของกฎหมายที่กำหนดให้เจรจากับผู้เช่ารายเดิมก่อนที่จะเปิดประมูลซึ่งทาง ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างดำเนินการและหลังจากแถลงนโยบายรัฐบาลเสร็จในวันที่ 20 ก.พ.นี้ จะเรียกผู้บริหาร ร.ฟ.ท.มาชี้แจงเรื่องนี้ตลอดจนตัวเลขข้อเสนอผลตอบแทนที่เหมาะสม โดยให้คำนึงถึงความเป็นธรรมให้กับเอกชนที่เข้ามาลงทุนด้วย
|