|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ปตท.ยอมรับขาดทุนวันละ 20 ล้านบาทจากการตรึงราคาขายปลีกน้ำมัน ผ่านมา 5 วันขาดทุนไปแล้ว 100 ล้านบาท ทำใจดีสู้เสือกัดฟันตรึงราคาต่อเนื่อง ยังไม่ยอมส่งสัญญาณปรับขึ้น ด้านผู้ค้ารายอื่นโอดขอดูอีกระยะว่าจะตรึงต่อไปได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่เรกูเลเตอร์ชี้ขาดค่าเอฟทีเออีกครั้งวันนี้ขึ้นเท่าไร
นายวิทยา หวังจิตรารักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีกหน่วยธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า แม้ว่าค่าการตลาดจะเป็นศูนย์ในขณะนี้ แต่ปตท.ยังไม่ตัดสินใจปรับราคาน้ำมันขายปลีก เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยจะขอดูทิศทางตลาดโลกในการพิจารณาวันต่อวันไปก่อนแต่ยอมรับว่า ผลจากการที่ปตท.ตรึงราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ปตท. ขาดทุนเฉลี่ยวันละ 20 ล้านบาท
รายงานข่าว แจ้งว่า ปตท.ได้ตรึงราคาน้ำมันมาแล้วรวม 5 วัน ส่งผลให้รับภาระขาดทุนไปแล้ว 100 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ เนื่องจากมียอดขายมากที่สุด ขณะที่ผู้ค้ารายอื่นๆ ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้เช่นอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากมีบทเรียนที่ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดหายไปอยู่ในฝั่งของปตท.แทน
นายยอดพจน์ วงศ์รักมิตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาดค้าปลีก บมจ.บางจาก กล่าวว่า บางจากคงจะไม่ปรับราคาตามรายใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ต้องรับภาระขาดทุนวันละ 8-9 ล้านบาท รวมรับภาระแล้ว 5 วันที่ผ่านมาประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งบางจาก คงจะต้องพิจารณาต่อว่าจะรับภาระได้มากน้อยเพียงใดเพราะดูทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกแล้วยังคงปรับขึ้นต่อเนื่อง
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมัน กล่าวว่า ปตท.ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่ปรับขึ้นในแง่ของธุรกิจ เพราะค่าการตลาดต่ำมากแล้ว นอกเหนือจากเหตุผลทางสังคมเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าระยะสั้นแล้วการดำเนินงานดังกล่าวก็จะเกิดผลดีกับประชาชนที่จะไม่ต้องรับภาระราคาน้ำมันแพง แต่การตรึงราคาน้ำมันบ่อยครั้งและทำเป็นระยะยาวแล้ว ไม่ได้เป็นผลดีต่อธุรกิจน้ำมันเพราะเท่ากับเป็นการลดการแข่งขันของธุรกิจลง
“หากยึดนโยบายตรึงราคาน้ำมันระยะยาวจะไม่เกิดผลดีเพราะธุรกิจรายอื่นๆ ที่ไม่ได้มีศักยภาพเช่นปตท.ที่มีธุรกิจครบวงจรก็จะไม่สามารถนำรายได้อย่างอื่นมาเกลี่ยการขาดทุนได้ ซึ่งในที่สุดก็จะอยู่ลำบากและการแข่งขันก็ลดต่ำลง การบริการที่ดีก็จะไม่มีให้เห็น”นายมนูญกล่าว
ทั้งนี้ หากพิจารณาราคาน้ำมันสิงคโปร์ 6 วันที่ผ่านมาเบนซินปรับขึ้นไปเฉลี่ย 6 เหรียญต่อบาร์เรล ดีเซล 9 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาขายปลีกไทยไม่มีการปรับเปลี่ยนเลยโดยผู้ค้ารับภาระขาดทุนแทนประชาชน ซึ่งหากให้สะท้อนต้นทุนจะต้องปรับแล้วตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว 40 สตางค์ต่อลิตรและสัปดาห์นี้อีก 40 สตางค์ต่อลิตร
นายนภดล มัณฑะจิตร กรรมการในคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ เรกูเลเตอร์ กล่าวว่า คณะกรรมการฯจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ เอฟทีงวดก.พ.-พ.ค. 51 ในวันนี้(20 ก.พ.) หลังจากที่ได้มีการเปิดให้รับฟังข้อคิดเห็นผ่านเว็บไซต์สำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ(สนพ.) ตั้งแต่วันที่15-19 ก.พ.ที่ผ่านมาตามกฎหมายเพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส อย่างไรก็ตามค่าเอฟทีที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและบริการพิจารณาปรับขึ้น 2.75 สตางค์ต่อหน่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ยังไม่สามารถระบุได้คงต้องพิจารณารายละเอียดก่อน
แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือกฟภ.กล่าวว่า การพิจารณาค่าไฟที่ล่าช้าทำให้บิลค่าไฟที่จะเรียกเก็บกับประชาชนเลื่อนออกไป 5 วันจากที่เดิมจะเป็นวันที่ 19 ก.พ.ก็จะเลื่อนไปเป็นวันที่ 23 ก.พ.นี้แทน ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก เพราะการจ่ายเงินให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เจรจาขอให้งดการจ่ายค่าปรับหรือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายกรณีจ่ายเงินผิดเวลา
|
|
|
|
|