|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตปี 2551 ปรับหลากหลายกระบวนยุทธ์ กระตุ้นธุรกิจบัตรเครดิต ส่งผลให้เป็นปีของผู้ประกอบการเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น พร้อมเดินหน้าทำการตลาดขยายฐานบัตรเครดิต เร่งการใช้จ่ายผ่านบัตร ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2550 ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการแข่งขันกับคู่แข่งทางธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการบัตรเครดิตยังต้องทำธุรกิจแข่งกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค เนื่องจากธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยตรง ทำให้ผู้ประกอบการต่างผลักดันแคมเปญออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ถือบัตรของตนใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าหรือบริการ นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตแล้ว ในปี 2550 ที่ผ่านมา ผู้ใช้บัตรเครดิตยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การชำระบัตรเครดิตจากขั้นต่ำร้อยละ 5 ของยอดสินเชื่อคงค้าง เป็นขั้นต่ำร้อยละ 10 ของยอดสินเชื่อคงค้าง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจากเดิมที่ร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 20 ต่อปี ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มียอดคงค้างสินเชื่อที่สูง ทำให้ผู้ใช้บัตรเครดิตบางกลุ่มชะลอการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลง
ธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2551 จะเป็นปีที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการยังคงเดินหน้าทำการตลาดขยายฐานบัตรเครดิต เร่งการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น ในขณะเดียวกันยังจะเป็นปีที่ผู้ประกอบการต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพภาพของสินเชื่อ ถึงแม้ว่ายอดสินเชื่อคงค้างโดยรวมของระบบในปี 2550 ที่ผ่านมา จะขยายตัวเพียงร้อยละ 4.8 ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 19.2 ในปี 2549 แต่รายงานตัวเลขยอดค้างชำระที่เกิน 3 เดือนขึ้นไปของบัตรเครดิตทั้งระบบของธนาคารแห่งประเทศ พบว่า ยอดค้างชำระที่เกิน 3 เดือนขึ้นไปของบัตรเครดิตทั้งระบบ ณ สิ้นปี 2550 อยู่ที่ประมาณ 5,850 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 31.5 ซึ่งเร่งขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 29.5 ในปี 2549
แนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2551
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ปริมาณบัตรเครดิตในระบบ ณ สิ้นปี 2551 น่าจะมีปริมาณบัตรเครดิตอยู่ที่ประมาณ 12,915 ล้านบัตร ขยายตัวร้อยละ 7.6 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 10.1 ในปี 2550 โดยการขยายฐานบัตรเครดิตในปี 2551 คาดว่า กลยุธท์การตลาดที่ออกมาเพื่อช่วยจูงใจให้สมัครบัตรเครดิต เช่น การแจกของสมนาคุณเมื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการตามที่กำหนด และการใช้ตัวแทนในการทำตลาด (โดยตัวแทนเหล่านี้จะใช้กลยุทธ์ในการแจกของรางวัลเมื่อผู้สมัครได้รับอนุมัติบัตรจากผู้ประกอบการ) โดยจะเป็นการทำตลาดในรูปแบบการทำตลาดรวม (Mass Marketing) และการทำตลาดในรูปแบบเจาะกลุ่มลูกค้าตามพฤติกรรมความชอบ วิถีชีวิต ในการใช้จ่ายซื้อสินค้าหรือบริการ (Segment Marketing)
ทั้งนี้ การที่ผู้ประกอบการมีการออกบัตรเครดิตในรูปแบบเจาะกลุ่มตลาดมากขึ้น (Segment Marketing) การสร้างบัตรเครดิตเฉพาะประเภทหรือเฉพาะบางธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้าได้รับสิทธิประโยชน์จากการใช้บัตรประเภทนั้นเป็นพิเศษ แต่เนื่องจากความต้องการของคนทั่วไปไม่ได้มีเพียงแค่หนึ่งเดียว ทำให้แนวโน้มผู้ถือบัตรเครดิต1 คน จะมีการถือบัตรเครดิตมากกว่า 1 บัตรเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากต้องการสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุม ตัวอย่างเช่น บัตรเครดิตท่องเที่ยว เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่ชอบเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งผู้สมัครบัตรประเภทนี้จะได้รับส่วนลดสิทธิพิเศษด้านที่พักโรงแรม รับส่วนลดในการซื้อตั๋วโดยสาร ที่เป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการ แต่ในขณะเดียวกันลูกค้ากลุ่มนี้อาจมีความต้องการสิทธิประโยชน์ส่วนลดพิเศษด้านอื่น อาทิ บัตรเครดิตสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ บัตรเครดิตที่ได้รับส่วนลดพิเศษจากห้างสรรพสินค้า หรือบัตรเครดิตสำหรับผู้ที่รักกีฬา ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้หันไปสมัครบัตรเครดิตที่ให้ส่วนลดสิทธิพิเศษด้านนี้เพิ่มกับผู้ประกอบการรายอื่น หรือแม้กระทั่งการใช้กลยุทธ์การตลาดบัตรเครดิตที่มอบสิทธิประโยชน์แตกต่างกันในแต่ละตัวบัตร ทำให้ลูกค้าบางรายถือบัตรเครดิตจากผู้ประกอบการเดียวกันมากกว่า 1 บัตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนบัตรส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าที่มีบัตรเครดิตอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการบัตรเครดิตยังคงเผชิญกับความท้าทายในการขยายฐานบัตรเครดิตไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่ยังไม่คิดจะมีบัตรเครดิต เนื่องมาจากผู้บริโภคกลุ่มนี้อาจจะยังคงมีมุมมองที่ไม่ดีต่อสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ในการที่ผู้ประกอบการจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของบัตรเครดิต เพื่อจูงใจให้ผู้ริโภคกลุ่มนี้หันมาใช้บริการสินเชื่อบัตรเครดิต นอกจากนี้การขยายฐานสินเชื่อบัตรเครดิตไปยังต่างจังหวัดยังคงมีข้อจำกัด เนื่องจากลักษณะการใช้ชีวิตของคนในกรุงเทพฯและคนที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก รวมทั้งแหล่งร้านค้า สถานที่รับบัตรเครดิตไม่เป็นที่แพร่หลาย ทำให้สินเชื่อบัตรเครดิตยังไม่เป็นที่นิยมในต่างจังหวัด
ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งระบบในปี 2551 จะอยู่ที่ประมาณ 816,500 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 13.5 ซึ่งใกล้เคียงกับที่ขยายตัวร้อยละ 13 (มีมูลค่า 719,344 ล้านบาท) ในปี 2550 ทั้งนี้ปัจจัยที่มีส่วนทำให้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตใน 2551 เพิ่มขึ้นมาจากการที่ผู้ประกอบการทุกกลุ่มให้ความสำคัญต่อกลยุทธ์การส่งเสริมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต โดยผู้ประกอบการพยายามเน้นความแปลกใหม่ในความแตกต่างให้แก่ผลิตภัณฑ์ของตนเอง ด้วยการพยายามจับกลุ่มตลาดใหม่ๆ
สำหรับกลยุทธ์การตลาดบัตรเครดิตผู้ประกอบการยังคงเน้นการเพิ่มพันธมิตรร้านค้ามากขึ้น เมื่อผู้ประกอบการมีเครือข่ายร้านค้าที่ร่วมกิจกรรมการตลาดมากมายและทั่วถึง ทำให้ผู้บริโภคต้องการที่จะสมัครบัตรเครดิตจากผู้ประกอบการรายนั้น เพื่อให้ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการซื้อสินค้า และทำให้เกิดการใช้จ่ายผ่านบัตรมากขึ้น การสร้างรอยัลตี้โปรแกรม การจูงใจให้ชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิตอีกวิธีหนึ่ง คือ โปรโมชั่นรับเงินคืนเข้าบัญชี (Cash Back) หรือ การคืนเงินให้ในรูปแบบของบัตรกำนัล (Gift Voucher) การเพิ่มคะแนนสะสม เช่น รับคะแนนทันที 3 เท่า เพื่อนำมาใช้แลกของรางวัล การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการใช้จ่ายผ่านบัตรอื่นๆ เช่น การรับประกันอุบัติเหตุระหว่างการเดินทาง หากชำระค่าโดยสารเครื่องบินด้วยบัตรเครดิต เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการทำแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2551 นั้น จะเป็นปีที่ผู้ประกอบการยังคงต้องทำงานหนัก เนื่องจากผู้บริโภคยังคงเผชิญกับปัจจัยลบ เช่น การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ที่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินค้าและบริการ ทำให้ราคาสินค้าในหลายประเภทมีการปรับตัวสูงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคบางกลุ่ม นอกจากนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจากร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 20 และจากการปรับขึ้นการชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 10 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มียอดสินเชื่อคงค้างที่สูง ที่ต้องมีภาระการผ่อนชำระมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต
สำหรับสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต ณ ปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะอยู่ที่ประมาณ 190.780 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 6.4 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 ในปี 2550 สาเหตุน่าจะมาจากแคมเปญการกระตุ้นการใช้บัตรของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตามยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตในปี 2551 ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องเฝ้าระวัง ถึงแม้ว่ายอดสินเชื่อคงค้างในปี 2550 จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แต่สาเหตุหนึ่งมาจากผู้ประกอบการบัตรเครดิต มีการตัดบัญชีหนี้สูญทันที หรือการที่ผู้ประกอบการบางรายมีการเสนอสินเชื่อเงินสด (รีไฟแนนซ์) ให้แก่ลูกค้าที่ประสบปัญหาไม่สามารถชำระสินเชื่อบัตรเครดิตได้
ปริมาณการเบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิต ณ ปี 2551 จะอยู่ที่ประมาณ 224,001 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 9.8 ชะลอลงจาก ร้อยละ 10.8 ในปี 2550 ซึ่งการขยายตัวของการเบิกเงินสดล่วงหน้าในอัตราที่ชะลอลงนั้น สาเหตุน่าจะมาจากผู้บริโภคมีทางเลือกทางการเงินมากขึ้น ซึ่งสถาบันการเงินหลายแห่งต่างแข่งขันกันออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อเงินสดประเภทต่างๆ โดยเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในการจูงใจ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2.99 เป็นระยะเวลา 2 เดือน การขยายระยะเวลาการผ่อนชำระคืนให้นานขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางรายมีการเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทบัตรเบิกเงินสด หรือสินเชื่อหมุนเวียน
โดยสรุปว่า ที่ผ่านมาธุรกิจบัตรเครดิตมีการแข่งขันที่รุนแรง ผู้ประกอบการพยายามโหมแคมเปญการตลาด เพื่อขยายฐานบัตรและกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิตแทนการชำระด้วยเงินสดมากขึ้น แต่ภาพรวมของธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2550 ยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เนื่องจากผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายไปตามภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2551 เป็นปีที่ผู้ประกอบการยังคงเผชิญกับโจทย์ใหญ่ในการกระตุ้นให้ผู้บริโภคชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิต ขณะเดียวกันยังคงต้องเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องของความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ในภาวะที่ผู้บริโภคยังคงเผชิญกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น เนื่องมาจากราคาสินค้าที่ทยอยปรับสูงขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจบัตรเครดิตในปีนี้จะเป็นการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการบัตรเครดิตรายใหญ่ทั้งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ และกลุ่ม Non-Bank ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการบัตรเครดิตขนาดกลางได้ชะลอแคมเปญการตลาดออกไป เนื่องจากต้นทุนการทำตลาดบัตรเครดิตที่สูงขึ้น โดยผู้ประกอบการบัตรเครดิตขนาดกลางน่าจะหันไปเน้นการปล่อยผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทอื่นแทนสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่มการใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจจะมาจากบัตรเครดิตสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้ การได้รับสิทธิประโยชน์ส่วนลดเมื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิตมากกว่าการชำระด้วยเงินสด และยังสามารถนำคะแนนสะสมที่ได้จากการใช้บัตรเครดิตมาแลกเป็นของรางวัลได้
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในภาวะที่สินเชื่อบัตรเครดิตมีการแข่งขันที่สูง ผู้ประกอบการต่างยังคงใช้กลยุทธ์เพิ่มสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิต เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคชำระสินค้าผ่านบัตรเครดิตแทนเงินสดมากขึ้น ซึ่งผู้ใช้บัตรเครดิตจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่สูง ก็ต่อเมื่อผู้ใช้บัตรเครดิตมีการวางแผนทางการเงินที่ดี โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไม่ควรเกินกำลังความสามารถของตนเองในการชำระคืนในเดือนถัดไป เช่น การกำหนดวงเงินในการใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ไม่ควรเกินร้อยละ 20 ของรายได้ต่อเดือน เป็นต้น และไม่ควรปล่อยให้ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตสะสมเป็นวงเงินที่สูงเกินกว่ารายได้ต่อเดือน เนื่องจากการชำระสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิตเปรียบเสมือนการนำเงินในอนาคตมาใช้ เมื่อถึงรอบบัญชีเรียกเก็บหากชำระไม่เต็มจำนวนก็จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยในรอบบัญชีถัดไป ซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อปี
|
|
|
|
|