|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เจ้าหนี้ปิคนิคฯ สุดเซ็ง คดีฟ้องร้องทวงเงินคืนชะงัก หลังผู้บริหารหัวใส ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ สุดมึนงบการเงินติดลบเฉยหลังเป็นบวกมาตั้งนาน ขณะที่บลจ.กรุงไทยเผยตอนนี้ทำอะไรไม่ได้ ต้องรอลุ้นศาลพิจารณา 17 มีนาคมนี้เพียงอย่างเดียว ส่วนจะคัดค้านหรือไม่ ให้ลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของเงินตัดสินใจ แต่ยังย้ำติดตามทวงเงินคืนให้ได้
นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการฟ้องร้องบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI ที่ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) ว่า ขณะนี้คดีในชั้นศาลที่บริษัทได้ฟ้องร้องปิคนิคให้ชำระหนี้ไปทั้งหมดต้องหยุดไปก่อน เนื่องจากปิคนิคได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เจ้าหนี้ทุกรายต้องหยุดกระบวนการฟ้องร้องเอาไว้ทั้งหมด เพื่อรอการพิจารณาคำร้องศาลอีกครั้ง โดยศาลได้นัดฟังคำพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 17 มีนาคมที่จะถึงนี้
โดยในระหว่างนี้ ศาลจะพิจารณาคำร้องของปิคนิกว่าในส่วนของเจ้าหนี้จะมีความเห็นว่าอย่างไร เพื่อตัดสินใจว่าจะพิจารณารับปิคนิคเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้ หากศาลฟื้นฟูมีมติรับปิคนิคเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้รายไหนที่ชนะคดีแพ่งจากการฟ้องร้องไปก่อนหน้านี้ หรือที่กำลังฟ้องร้องกันอยู่จะไม่สามารถดำเนินการอะไรต่อได้เลย
"หากศาลฟื้นฟูรับคำร้องแล้วเห็นชอบให้ปิคนิคเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ ทุกคดีที่ค้างอยู่ในตอนนี้ต้องหยุดหมด เพื่อให้ปิคนิคดำเนินกิจการต่อไป"นายธีระพันธ์กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของบลจ.กรุงไทยซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้จะคัดค้านการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหรือไม่นั้น นายธีระพันธ์กล่าวว่า เนื่องจากเงินทั้งหมดเป็นเงินของลูกค้า ดังนั้นเราจึงให้ลูกค้าตัดสินใจว่าจะคัดค้านหรือไม่ ซึ่งบริษัทได้แจ้งให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการผิดชำระหนี้ของปิคนิคทั้งหมดได้ทราบถึงการขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งอธิบายถึงข้อดีข้อเสียของการฟื้นฟูกิจการดังกล่าวด้วย ซึ่งหลังจากนี้คงต้องรอข้อสรุปอีกครั้งว่า ลูกค้าต้องการคัดค้านหรือไม่
"ตอนนี้เราได้แจ้งให้ลูกค้าที่เป็นเจ้าหนี้ทั้งหมดทราบถึงการขอฟื้นฟูกิจการของปิคนิคแล้ว ส่วนจะคัดค้านหรือไม่คงต้องให้ลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของเงินเป็นผู้ตัดสินใจเอง แต่ความรู้สึกเราที่อยากบอกคือ เงินที่เราลงทุนไปทั้งหมด เป็นเงินของลูกค้า และเป็นเงินก้อนสุดท้ายของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเอาเงินดังกล่าวมาคืนให้กับลูกค้าให้ได้ เราเองไม่ยอมอยู่แล้ว เพราะถือว่าเอาเงินของลูกค้าเราไปแล้วต้องใช้คืนด้วย" นายธีระพันธ์กล่าว
สำหรับบลจ.กรุงไทย มีมูลหนี้ที่ปิคนิคผิดชำระหนี้ทั้งหมดประมาณ 1,000 ล้านบาท จากจำนวนกองทุนทั้งหมด 1 กองทุน โดยในช่วงที่ผ่านมาได้รับการชำระคืนไปแล้วประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งยังเหลือมูลหนี้ที่ค้างชำระอีกประมาณ 200 ล้านบาทจากจำนวนกองทุนทั้งหมด 9 กองทุน ซึ่งที่ผ่านมา บลจ.กรุงไทยเองก็ได้ดำเนินการฟ้องร้องเพื่อให้ปิคนิคชำระหนี้ดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตของการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของปิคนิคในครั้งนี้ว่า อยู่ดีๆ งบการเงินของปิคนิคเปลี่ยนแปลงจากที่เป็นบวกมาติดลบได้อย่างไร ซึ่งจากการที่งบการเงินติดลบดังกล่าวทำให้เข้าเงื่อนไขการฟื้นฟูกิจการได้
ก่อนหน้านี้ บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2551 บริษัทได้ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ในคดีหมายเลขดำที่ ฟ. 2/2551 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอให้ศาลพิจารณารับคำร้อง และศาลล้มละลายกลางได้กำหนดวันนัดพิจารณาคำร้องในวันที่ 17 มีนาคม 2551 เวลา 9.00 น.
สำหรับสาเหตุที่ต้องนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ สืบเนื่องจาก PICNI มีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งเจ้าหนี้ได้ทำการอายัดและยึดทรัพย์สินของบริษัทอย่างต่อเนื่อง อาทิ เงินสด หุ้นของบริษัท เอ็นเนซอล จำกัด และหุ้นของบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้บริษัทได้รับได้รับผลกระทบและขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ
ประกอบกับงบการเงินประจำปี 2550 ซึ่งเป็นงบภายในของบริษัทมีส่วนทุนติดลบเป็นเงินจำนวนประมาณ 1,258 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีขาดทุนจากการดำเนินงานต่อเนื่อง รวมทั้งมีสินทรัพย์ลดลงจากการที่บริษัทถูกบังคับโอนหุ้นเวิลด์แก๊สให้กับเจ้าหนี้ ดังนั้นเมื่อผู้สอบบัญชีดำเนินการจัดทำงบการเงินบริษัทเรียบร้อยแล้ว บริษัทจะแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทต่อไป
|
|
|
|
|