Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2535
"การคงอยู่ของชนรุ่น 3 เตี่ยกับเสี่ยในว่องวานิช"             
 

   
related stories

"เข้าตลาดหุ้นร่วมทุนซื้อลิขสิทธิ์สูตรการเติบโตชนรุ่นหลาน "ว่องวานิช"

   
search resources

อังกฤษตรางู (แอล.พี.), บจก.
บุญยง ว่องวานิช
Pharmaceuticals & Cosmetics




ตระกูลว่องวานิชถือกำเนิดจากหมอล้วน ว่องวานิชมีเชื้อสายเป็นชาวไหหลำ ที่เกิดในประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. 2434 หมอล้วนมีพี่น้อง 3 คนทั้งพ่อและแม่เสียชีวิตเมื่อเขามีอายุได้ 8 ปีส่วนน้องชายเสียชีวิตตั้งแต่ยังเยาว์ หลังจากนั้นไม่นานพี่สาวซึ่งออกเรือนไปแล้วก็ได้เสียชีวิตลงพี่เขยจึงได้พาเข้าประเทศไทยซึ่งขณะนั้นอายุได้ 12 ปี

ยุคแรกของการเข้ามาอยู่ในเมืองไทยหมอล้วนได้รับการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ขณะเดียวกันก็ทำงานอยู่กับพี่เขยที่โรงงานน้ำอัดลมเชิงสะพานมอญ สี่กั๊กพระยาศรีด้วย และเมื่อพี่เขยเสียชีวิตเขาก็ได้ต่อสู้ชีวิตด้วยลำแข้งของตนเองเป็นครั้งแรก ที่ห้างขายยาตราบัว มีตำแหน่งเป็นเภสัชกรต่อมาได้เข้าทำงานที่ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ในตำแหน่งผู้ช่วยเภสัชกรและผู้ช่วยแพทย์

หมอล้วนได้ย้ายที่ทำงานไปเรื่อย ๆ จากห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ไปอยู่ที่ห้างขายยาบางกอก ดิสเปนซารี่ (ตราช้าง) ห้างขายยาเยาวราช สมัยท่าน กิมพงษ์ (ทองทัด) เป็นเจ้าของในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการและผู้ช่วยแพทย์จนในที่สุดได้ออกมาตั้งตัวโดยเข้าหุ้นกับเพื่อนอีก 2 คนคือเม่งกิต และโกศล ปังศรีวงศ์ (ซึ่งต่อมาโกศลเป็นเจ้าของห้างขายยา บี. แอลฮั้ว) ตั้งห้างขายยาสมิท ฟาร์มาซีอยู่ที่สี่แยกวัดตึกเป็นตัวแทนจำหน่ายยาปาร์คเดวิส

เมื่อแมคเบธเจ้าของห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ต้องการที่จะพักผ่อนและกลับประเทศของตนเพราะมีอายุมากแล้วจึงได้ขายห้างนี้ให้กับหมอล้วนซึ่งเป็นบุคคลที่มีความสามารถรอบด้าน คือเป็นทั้งเภสัชกรและแพทย์ประกาศนียบัตร ซึ่งรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุขรวมทั้งพูดภาษาต่างประเทศได้ดีไม่ว่าจะเป็นภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษ ซึ่งหมอล้วนศึกษามาจากโรงเรียนอัสสัมชัญแมคเบธจึงเจรจาขายห้างใหในสมัยนั้นด้วยราคา 100,000 บาท

หมอล้วนเล็งเห็นว่าห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) จะมีความเจริญเติบโตต่อไปในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน จึงได้หยิบยืมเงินเพื่อนฝูงส่วนหนึ่งและเงินสดของตนเองอีกส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายหุ้นในห้างขายยาสมิท ฟาร์มาให้กับเม่งกิตนำมาซื้อห้างขายยาแห่งนี้ เมื่ออายุเพียง 36 ปีเท่านั้น

เมื่อหมอล้วนได้เป็นเจ้าของห้างขายยาอังกฤษตรางูเขาก็ได้ขายหุ้นของห้างขายยาสมิท ฟาร์มาซีให้กับเม่งกิตไปและตนเองได้มาดูแลห้างขายยาอังกฤษตรางูอย่างเต็มตัว

นั่นคือการเปิดฉากธุรกิจของตระกูลว่องวานิชโดยมีหมอล้วนเป็นต้นตระกูล

หมอล้วนมีบุตรชายหญิงด้วยกัน 6 คนคือนายแพทย์บุญชิต, ดร. บุญยง, วรรณา บุญศรี (เสียชีวิตเมื่อปี 2499) วลัย และวิไลพันธ์ ก่อนที่หมอล้วนจะเสียชีวิตได้ยกกิจการห้างขายยาให้กับหมอบุญชิตและบุญยงเป็นผู้ดูแลสืบทอดเจตนารมย์ต่อไป

หมอล้วนเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2507 ขณะนั้นมีอายุได้ 73 ปีในขณะที่หมอล้วนบริหารงานห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) อยู่นั้น บุญยงบุตรชายคนที่ 2 เล่าว่าหมอล้วนผู้เป็นบิดามีปรัชญา 4 ข้อในการทำธุรกิจที่เป็นของตนเองตลอดมาคือเพื่อประชาชน เพื่อผู้ลงทุน เพื่อผู้ร่วมงานและเพื่อช่วยพัฒนาสังคม

ปัจจุบันห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ได้ผ่านพ้นมือผู้บริหารของตระกูลว่องวานิชมาด้วยกันถึง 3 ยุค แต่ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้วห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ได้เปลี่ยนมือผู้บริหารมาถึง 4 สมัย

บุญยงบุตรชายคนที่ 2 ของหมอล้วนซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกรรมการห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) หรือประธานว่องวานิชกรุ๊ปเล่าให้ฟัง "ผู้จัดการ" ฟังว่า แท้ที่จริงแล้วการเปลี่ยนมือผู้บริหารห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ในปัจจุบันนี้เป็นรุ่นที่ 3 ของตระกูลว่องวานิชก็จริง แต่หากนับย้อนจากยุคแรกคือยุคของหมอเฮส์หรือโธมัส เฮย์วาร์ด เฮส์ ผู้ก่อตั้งห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) โดยร่วมทุนกับหมอปีเตอร์ กาแวนเมื่อปี พ.ศ. 2435 ก่อนยกให้แมคเบธเมื่อปี 2441 ก็นับได้ว่าปัจจุบันได้เข้าสู่ยุคที่ 4 ของการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารห้างขายยาอังกฤษ(ตรางู)นั่นเอง

นับจากสมัยแรกหมอเฮส์เปิดเป็นร้านขายยาโดยใช้ชื่อว่า BRITISH DISPENSARY และมีรูปงูที่หัวมีศรปักเป็นเครื่องหมายการค้า แต่เนื่องจากคนไทยในสมัยนั้นไม่สามารถออกเสียงได้ ประกอบกับเครื่องหมายการค้าของร้านขายยาแห่งนี้เป็นรูปงูถูกศรปักที่หัว ทำให้คนไทยเรียกร้านขายยาแห่งนี้ว่า "ห้างขายยาอังกฤษตรางู"

ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) แห่งแรกตั้งอยู่ที่ปากตรอกโรงภาษีข้าม หมอเฮส์เล็งเห็นว่าห้างนี้จะสามารถรองรับลูกค้าที่เป็นชาวต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ประกอบกับอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อมีเรือเทียบท่าลูกค้าก็ย่อมมีเพิ่มขึ้น และอีก 5 ปีต่อมาได้ขยายสาขาอีกแห่งหนึ่งที่สี่กั๊กพระยาศรี ซึ่งที่นี่กลุ่มเป้าหมายก็ได้เปลี่ยนไปจากชาวต่างชาติมาเป็นลูกค้าที่เป็นเจ้านาย ข้าราชการ และบรรดาผู้มีอันจะกินที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้พระบรมมหาราชวัง

กิจการร้านขายยากำลังรุ่งเรืองแต่น่าเสียดายที่หมอกาแวนจะต้องเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดของตนจึงได้ขายหุ้นทั้งหมดให้กับหมอเฮส์จนถึงปี พ.ศ. 2449 หมอเฮส์ก็ได้ขายหุ้นทั้งหมดให้กับแมคเบธซึ่งเป็นคนปรุงยาในร้อน (ปัจจุบันคือเภสัชกร) ทำงานกับหมอเฮส์มาตั้งแต่เมื่อเริ่มเปิดร้านขายยามาได้ 6 ปี (พ.ศ. 2441)

ห้างขายยาฯ ในสมัยหมอเฮส์ผู้ก่อตั้งนั้นเป็นเพียงร้านหมอและขายยาให้ลักษณะการขายปลีกเท่านั้น

ปี 2471 เป็นสมัยที่ 2 ของผู้บริหารห้างฯ เมื่อหมอล้วนได้ซื้อกิจการห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) จากแมคเบธและเป็นยุคแรกของตระกูลว่องวานิช ซึ่งในยุคนี้หมอล้วนได้ใช้ชั้นบนของห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) เปิดเป็นคลีนิคเพื่อรักษาคนไข้ส่วนชั้นล่างก็ได้จัดเป็นร้านขายยาและจำหน่ายสินค้าอื่น ๆ โดยเริ่มต้นการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเซนลุกซ์อาทิ สบู่ยาเซนลุกซ์ น้ำมันเซนลุกซ์และขี้ผึ่งเซนลุกซ์ ด้วยการสั่งเข้ามาจำน่ายจากประเทศอังกฤษ รวมไปถึงเมลลินฟู้ดส์ น้ำมันตับปลา ยาแก้ปวดเพอร์รีเดวิส นอกจากนี้ยังเป็นคลังจำหน่ายสินค้าชั้นดีของเบอร์โรห์ส และบริษัทผลิตยาเวลคัมแอนด์โค

นอกจากนี้ในยุคของหมอล้วน ยังได้ริเริ่มการผลิตสินค้าของตนเองเพิ่มเติมโดยสินค้าที่หมอล้วนคิดค้นพัฒนาได้คือแป้งน้ำโดยการปรับปรุงจากยามะโนลาที่ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ผลิตอยู่แล้วและต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นแป้งน้ำมโนราโดยการนำเอาแป้งมาละลายกับน้ำแล้วเติมกลินน้ำอบไทย และผสมเมนธอลแล้วนำไปบรรจุขวดเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นแป้งน้ำควินนาและแป้งเด็กเซนลุกซ์ก็เกิดในยุคนี้ด้วยเช่นกัน

ปี พ.ศ. 2506 หมอล้วนได้ยกธุรกิจห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ให้กับหมอบุญชิต และบุญยงเป็นผู้ดูแลกิจการต่อไป จึงถือว่าห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ได้เข้าสู่สมัยที่ 3 ของการบริหารห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู)

และเป็นยุคที่ 2 ของการสืบทอดมรดกทางธุรกิจของตระกูลว่องวานิช

ในยุคของบุญชิตและบุญยงนี้เป็นช่วงของการดำเนินงานท่ามกลางวิกฤติการณ์ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้กิจการไม่ค่อยจะรุ่งเรืองเหมือนเมื่อครั้งก่อนสงครามยุคของหมอล้วนที่รุ่งโรจน์สุดขีด

"แต่ก็ไม่ถึงกับต้องปิดกิจการไปสินค้าใดที่เคยผลิตในสมัยหมอล้วนก็ยังคงผลิตและขายต่อไปเพียงแต่ยากลำบากกว่ายุคของพ่อเท่านั้น" บุญยงเล่าว่าความลำบากที่ว่านี้หมายถึงต้องคอยหลบการทิ้งระเบิดของฝ่ายพันธมิตรซึ่งย่านสี่พระยาเป็นเป้าหมายหนึ่งของการโจมตีทางอากาศ

อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นสุดสงครามในยุคนี้ก็ได้มีการขยายการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเพิ่ม เช่นยาของบูทส์เพียวดรัก และอิลายลิลลี่ รวมทั้งจำหน่ายเครื่องสำอางชั้นดี เช่น อูบากอง อลิซเบธอาร์เดน และคริสเตียนดิออร์ด

ในยุคของบุญชิตและบุญยงนี้มีความสามารถที่แตกต่างกัน คนเก่าแก่ที่เคยอยู่ห้างฯ นี้มาก่อนเล่าว่า บุญชิตเก่งด้านการผลิตเพราะเป็นทั้งหมอและเภสัชกร จึงคิดค้นและผลิตสินค้าภายใต้ชื่อของตนเองขึ้นมาได้อีกมากมาย ในขณะที่บุญยงเก่งด้านบริหารและงานขายจึงได้มีการจัดทีมงานขายของตนเองขึ้นมาเพื่อขยายออกไปขายตามต่างจังหวัด

"ในส่วนของการขายก็ขายไปเรื่อย ๆ ส่วนด้านการผลิตก็ผลิตไปเรื่อย ๆ พร้อมกับการพัฒนาสินค้า เช่น เดิมเคยผลิตแป้งกระป๋องที่มีบรรจุภัณฑ์ทำด้วยกระดาษเมื่อสมัยก่อนก็เปลี่ยนเป็นกระป๋องสังกะสี นอกจากนี้การผลิตเครื่องสำอางก็เกิดขึ้นในยุคนี้ด้วย"

นับได้ว่าสมัยที่ 3 ของห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) แต่เป็นยุคที่ 2 ของตระกูลว่องวานิชได้เกิดโรงงานผลิตสินค้าและเริ่มเน้นการผลิตสินค้าภายในชื่อของตนเองเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะเมื่อสิ้นสุดสงครามเจ้าของสินค้า ที่เคยเป็นตัวแทนจำหน่ายเห็นว่าสินค้าของตนเองขายดีและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักก็เริ่มที่จะดึงสินค้าของตนเองกลับไป

อนุรุธ ว่องวานิชบุตรชายคนโตของบุญยง และเป็นกรรมการบริหารว่องวานิชกรุ๊ปถึงกับกล่าวว่า "การนำสินค้าของคนอื่นเข้ามาขายในฐานะเป็นเพียงแค่ตัวแทนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ดีไม่มีอะไรยั่งยืนเราพึ่งพาอะไรเขาไม่ได้"

ปี พ.ศ. 2506 จึงนับว่าเป็นปีที่สำคัญเพราะได้เริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตสินค้าขึ้นมา กุญแจที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คือการเปลี่ยนแปลงจากการยืมจมูกคนอื่นหายใจมาเป็นการพึ่งพาตนเอง พัฒนาสินค้าของตนเอง เป็นปีที่มีทรัพยากรบุคคลมีสินค้า มีทีมงานขาย มีการขายปลีก ขายส่ง เพราะการผนึกกำลังของบุญชิตและบุญยงโรงงาน แอล. พี. แสตนดาร์ดจึงเป็นรูปร่างได้สำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้การสะสมที่ดินจนกลายเป็นแลนด์แบงก์ก็ได้เกิดขึ้นในยุคนี้อีกเช่นกัน โดยที่ดินพื้นที่เก่าแก่ที่สุดของตระกูลนับย้อนได้ 40 ปีมาแล้วปัจจุบันนี้ยังถือครองอยู่คือที่ดินที่บ้านเพ จังหวัดระยองมีทั้งหมด 70 ไร่

ล้วนชาย ว่องวานิช บุตรชายอีกคนหนึ่งของบุญยงเล่าว่า "คุณพ่อเป็นคนที่มีสัญชาติญาณพิเศษเกี่ยวกับที่ดินที่ดินทุกพื้นที่คุณพ่อซื้อไว้ในมือ ปัจจุบันมักจะมีมูลค่ามหาศาลเลยทีเดียวทุกครั้งที่มีเวลาว่างท่านจะขับรถบุกป่าเพื่อซื้อที่ดินพฤติกรรมของท่านเป็นเช่นนี้ตลอดเวลา 40 ปีที่ผ่านมา"

นับจากวันนั้นของการเริ่มต้นซื้อที่ดินของบุญยงจนมาถึง ณ วันนี้ที่ดินของว่องวานิชกรุ๊ปมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

ส่วนบุญชิตขณะนี้ป่วยด้วยโรคอัมพาตขณะเดียวกันลูก ๆ ทั้ง 3 คนก็ออกไปทำธุรกิจของตัวเองโดยไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจของว่องวานิชกรุ๊ปเลย

ในขณะที่บุญยงมีบุตร-ธิดาด้วยกัน 4 คนคืออัญญา อนุรุธ ล้วนชาย และเพิ่มหญิง ทั้ง 4 คนจึงกลายเป็นทายาทผู้สืบสานเจตนารมย์ของบุญยงต่อไปในอนาคตจากจุดเปลี่ยนด้วยการเริ่มต้นผลิตสินค้าจุดนี้เองเมื่อเข้าสู่สมัยที่ 4 ของห้างขายยาแห่งนี้และเป็นยุคที่ 3 ของตระกูลโดยลูก ๆ ทั้ง 4 คนของบุญยงไม่ว่าจะเป็นอัญญา อนุรุธ ล้วนชายและเพิ่มหญิงก็ได้เข้ามาช่วยผู้เป็นบิดาดูแลกิจการนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2530 เป็นต้นมา จึงเป็นสมัยของการพัฒนาธุรกิจให้มีรากฐานที่มั่นคงยิ่งขึ้นด้วยน้ำมือของชนรุ่น3 นี้เองอาจกล่าวได้ว่าชนรุ่น 3 ของตระกูลนี้ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงภาพพจน์ของธุรกิจแบบครอบครัว ให้เข้าสู่ความเป็นสากลมีมืออาชีพเข้ามาร่วมงานพร้อมกับแตกแขนงธุรกิจออกไปอีกมากมาย

นั่นหมายความว่าธุรกิจห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ได้เปลี่ยนแปลงจากยุคของการลงทุนโดยลำพังในลักษณะครอบครัว (CONSERVATIVE) เข้าลักษณะของการร่วมหุ้น (JOINT VENTURE) เพื่อเป็นหลักประกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต่างชาติหรือคนไทยด้วยกันหรือแม้แต่การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้เป็นของมหาชนในอนาคตก็ตาม

ยุคสมัยที่ 4 กลุ่มธุรกิจของว่องวานิชเริ่มขยายกิ่งก้านสาขาแตกแขนงออกไปมากมาย แต่ก็ยังยึดหลักธรรมในการดำเนินงานและชีวิตพร้อมกับการขยายตัวจากธุรกิจยาและสินค้าอุปโภค-บริโภคซึ่งเป็นสินค้าดั้งเดิมมีอนุรุธเป็นผู้ดูแลกิจการนี้สู่ธุรกิจอาหาร มีกิตติพงษ์ เมธาธรรมบุตรเขย (แต่งงานกับอัญญาบุตรสาวคนโต) ดูแลในนามของบริษัทยูเคเอ็ม และธุรกิจพัฒนาที่ดิน ล้วนชายบุตรชายคนเล็ก เป็นผู้ดูแลส่วนบุตรสาวคนโตคืออัญญาดูแลด้านการเงิน และเพิ่มหญิงบุตรสาวคนสุดท้องดูแลโรงงานผลิตสินค้าป้อนให้กับบริษัทในเครือ

ซึ่ง ณ วันนี้ธุรกิจในเครือได้แตกกิ่งก้านสาขาออกไปถึง 13 บริษัท (ดูผังบริษัทในเครือกลุ่มว่องวานิชประกอบ 3 สายธุรกิจ) ในขณะที่บุญยงมีอายุได้ 68 ปีและเตรียมที่จะปลดเกษียณตนเองเมื่ออายุครบ 70 ปีโดยยกหน้าที่หัวเรือใหญ่ให้กับอนุรุธเป็นผู้นำดูแลสืบสานกิจการต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us