|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
- เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน สื่อทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพเจาะเข้าถึงก็เปลี่ยนไป
- แมสมีเดีย ทีวี วิทยุที่เคยสร้างอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ วันนี้ถูกสื่อรุ่นใหม่ ทั้งอินเทอร์เน็ต เอสเอ็มเอส แอมเบียนมีเดีย สื่อริมถนนรายทาง แย่งชิงความสนใจจนผู้บริโภคสับสน
- กลายเป็นโอกาสของสื่อที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคเป็นลำดับสุดท้ายก่อนการตัดสินใจซื้อ อย่าง อินสโตร์ มีเดีย ที่ถูกจับตามองว่าจะกลายเป็นสมรภูมิชิงกำลังซื้อด่านสุดท้าย ที่ผู้ชนะคือการเพิ่มยอดขายอย่างแท้จริง
บนความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นักการตลาดจับตามอง สื่อใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายเพื่อรองรับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่มีสื่อชนิดใดที่สร้างอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคอย่างชัดเจนได้เลย ในทางกลับกันสื่อรุ่นใหม่อย่าง อินเทอร์เน็ต ยังกลับไปแชร์ความสนใจจากผู้ชมโทรทัศน์ ฟังวิทยุ ลดประสิทธิภาพของสื่อทางการตลาดอันดับ 1 และ 2 ลงไปอีก
ความหลากหลายของสื่อที่สร้างความสับสนต่อการรับรู้ข่าวสาร ผนวกกับกระแสลอยัลตี้ที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์ใน พ.ศ.นี้เริ่มอ่อนแรงลง ทำให้นักการตลาด และนักโฆษณามองไปถึงสื่อที่วางตำแหน่งอยู่ในลำดับสุดท้าย ก่อนที่ผู้บริโภคจะควักกระเป๋าซื้อสินค้า ชิงซีนสุดท้ายหวังเปลี่ยนใจให้กันมาหยิบสินค้าของตน กลายเป็นโอกาสของ "อินสโตร์ มีเดีย"
สื่อราคาถูก ยิงเข้าเป้า สร้างโอกาสการขาย
อินสโตร์ มีเดีย อาจไม่ใช่สื่อใหม่ที่มีอยู่ในตลาด ภาพของการตกแต่งชั้นวางสินค้าด้วยพรอพที่สอดคล้องกับคอนเซปต์สินค้า สติกเกอร์หลากสีสันที่มาสร้างความโดดเด่นให้กับชั้นวาง มีมานานหลายปี เม็ดเงินที่ใช้ไม่มากนัก เหมือนกับเป็นเศษงบประมาณที่หลงเหลือจากการแพลนให้กับสื่อหลัก แต่บทบาทเริ่มแสดงเด่นชัดเมื่อราว 3 ปีที่ผ่านมา จากการเกิดขึ้นของศูนย์การค้าขนาดใหญ่ สยามพารากอน ที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปสื่อภายในศูนย์ฯ เพื่อให้สอดคล้องกับภาพพจน์ความทันสมัย ยิ่งใหญ่ สื่อดิจิตอลจึงเริ่มเข้ามาสู่อินสโตร์ มีเดีย มูลค่าโดยรวมของสื่อถูก นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช บริษัทผู้ทำวิจัยการใช้สื่อ แยกออกมาจากกลุ่มสื่อเอาต์ดอร์ ตั้งขึ้นเป็นกลุ่มอินสโตร์ มีเดีย โดยเฉพาะ แม้มูลค่าที่ไหลเข้ามาตลอดปีที่ผ่านมา 570 ล้านบาท อาจไม่ใช่มูลค่าที่สูงนัก แต่อัตราการเติบโตที่สูงกว่าเท่าตัวในทุก ๆ ปี จนถึงตัวเลข 81.53% ในปีล่าสุด บ่งบอกถึงอนาคตที่สดใสของสื่ออินสโตร์ ท่ามกลางความซบเซาของสื่อหลักที่ถดถอยถ้วนหน้า
"สื่ออินสโตร์คงจะเติบโตไปได้อีกไกล เพราะวันนี้ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ยังคงมีการขยายสาขาต่อไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้แต่ละแบรนด์ยังมีการปรับรูปแบบสาขาให้เล็กลงเป็นมินิมาร์ท ขยายเจาะลึกลงไปในพื้นที่อย่างรวดเร็ว พฤติกรรมผู้บริโภคก็มีความนิยมเข้าไปใช้บริการมากขึ้น เนื่องจากใกล้บ้าน ทำให้สื่ออินสโตร์เป็นสื่อได้รับความสนใจจากเจ้าของสินค้าอย่างดีในปัจจุบัน" วรรณี รัตนพล ประธานบริหาร บริษัท อินิทิเอทีฟ จำกัด มีเดียเอเยนซียักษ์ใหญ่ กล่าวแสดงความเห็น
วิญญลักษณ์ โสรัต กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอส อินสโตร์ มีเดีย จำกัด ในเครืออาร์เอส กล่าวว่า วันนี้สื่อมีมากมาย โทรทัศน์ วิทยุ มีช่องเพิ่มขึ้น มีสถานีเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เมื่อมีมากขึ้นผู้บริโภคเลือกไม่ถูก ละครดี ๆ ออกอากาศในเวลาเดียวกัน ไม่รู้จะเลือกดูช่องไหน การโฆษณาในโมเดิร์นเทรดจึงเป็นช่องทางใหม่ ๆ ที่คนวิ่งเข้าหา ผู้บริโภคชาวไทยอาจเห็นโฆษณาจากสื่อทีวี ต้องการซื้อ แต่กว่าจะเดินทางไปถึงห้างสรรพสินค้า ผ่านสื่อต่าง ๆ รายทางมากมาย กว่าจะถึงห้างฯ อาจลืมไปแล้ว ดังนั้นสื่ออินสโตร์จึงเป็นเหมือนการสร้างความทรงจำครั้งสุดท้าย เพราะเชื่อว่าความทรงจำสุดท้ายที่ได้ยิน คือสิ่งแรกที่คนจำได้ จึงได้รับการยอมรับว่าสื่ออินสโตร์มีประสิทธิภาพ
"เราไม่ได้พูดเองว่าสื่อเรามีประสิทธิภาพ แต่นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ก็ยืนยันเช่นนั้น ราวเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เรามีการทำวิจัยคนที่เดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้า พบว่าแบรนด์ที่ผู้บริโภคจดจำได้ เป็นแบรนด์ที่ลงโฆษณาในอินสโตร์มีเดียมาเป็นเวลานาน ตัวอย่างเช่น น้ำผลไม้ทิปโก้ที่ลงโฆษณาในอินสโตร์มานาน 5 ปี วันนี้ถามผู้บริโภคที่อยู่ในห้างถึงน้ำผลไม้ ชื่อทิปโก้จะเป็นชื่อแรก ๆ ที่คิดถึง สร้างแบรนด์ที่นี่มานาน 4-5 ปี ผู้บริโภคที่เข้ามาจับจ่ายก็เป็นกลุ่มเดิม ๆ 21 ล้านคน เดินเข้าห้างเดิมทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ฟังสปอตที่มีชื่อสินค้าเดิม ๆ ทุกครั้ง แบรนดิ้งต้องติดอยู่ในใจของผู้บริโภคแน่นอน"
ขณะที่ ปริน ชนันทรานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอปโซลูท อิมแพค จำกัด ในเครืออาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) บริษัทผู้ได้สิทธิในการบริหารสื่ออินสโตร์ภายในกลุ่มเดอะมอลล์ทั้งหมด โดยมีจุดเด่นคือ การใช้สื่อโฆษณา 3 มิติ แห่งแรกในเอเชีย กล่าวว่า บทบาทของอินสโตร์มีเดีย คือการสร้างแรงกระตุ้น เมื่อผู้บริโภคเดินเข้ามาในห้างสรรพสินค้าไม่ว่าต้องการมาซื้อสินค้า หรือเดินเล่น ไม่ว่าจะมีแบรนด์ลอยัลตี้ในใจว่าต้องการซื้อสินค้ายี่ห้อใดหรือไม่ สื่อโฆษณาภายในห้างจะเป็นตัวที่กระตุ้นการซื้อ เป็น Point of Purchase ที่ทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อได้ทันที
จุดเด่นประการหนึ่งของสื่ออินสโตร์ ปรินกล่าวว่า เป็นสื่อที่ไม่ได้ตั้งราคาตามเทคโนโลยี แม้บริษัทจะเป็นผู้ให้บริการสื่อที่ผสมผสานเทคโนโลยี 3 มิติ (3D) รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย รวมถึงในเอเชีย แต่ตลาดยังตั้งราคาตามความสามารถในการสร้างความสนใจจากจำนวนผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นสื่อตู้ไฟ หรือสติกเกอร์ที่แทบไม่มีต้นทุน ไปจนถึงจอพลาสมา แอลซีดี และเทคโนโลยี 3D ล้วนมีระดับราคาไม่ต่างกัน เมื่อเป็นสื่อที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ทำให้ราคาไม่สามารถตั้งให้ทัดเทียมกับสื่อแมส ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายในแนวกว้างได้
แอบโซลูทฯ วางเป้าสร้างเน็ตเวิร์ค เปลี่ยนเป้าหมายจากนิช ขึ้นสู่แมส
ประสิทธิภาพของสื่ออินสโตร์ มีมากขึ้นเมื่อบริษัทที่เข้ามาสู่การเป็นผู้ให้บริการสื่อ เปลี่ยนโฉมจากฟรีแลนซ์รายเล็ก ๆ กลายเป็นบริษัทใหญ่ที่มีแบ็คอัพเป็นถึงบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้มีการลงทุนเพื่อนำสื่อดิจิตอลเข้ามาทดแทนป้าย สติกเกอร์ จนหมดสิ้น
แอปโซลูท อิมแพค มีสื่อให้บริการหลักประกอบด้วย 3D Digital Signage จอแอลซีดี 3 มิติในศูนย์การค้าสยามพารากอน และดิ เอ็มโพเรียม End Cap TV จอแอลซีดีขนาดเล็ก ติดตั้งบนหัวเชลฟ์ อันเป็นทำเลการจัดวางสินค้าที่ดีที่สุดของห้าง อยู่ในโฮม เฟรส มาร์ท และบิ๊กซี Tunnel Media, Shelf Media และ Mall Wrap ในเครือเดอะมอลล์ทั้งหมด
"วันนี้เราทำตัวเหมือนเป็นผู้รับใช้เอเยนซี ไม่ใช่แค่นำแคตตาล็อกสื่อไปเปิด แต่เราเข้าไปพร้อมโซลูชั่นในการช่วยเอเยนซีวางแผนลอนช์สินค้าให้กับลูกค้า ผมจัดวางสื่อให้ครอบคลุม ตั้งแต่เดินเข้าสู่ห้าง ซุ้มประตู ลิฟท์ บันไดเลื่อน ในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ทั้งหมดจะอยู่ในกรอบที่เป็นมิตรกับผู้บริโภค ไม่เป็นการยัดเยียด มีครีเอทีฟ มีดีไซน์ เราทำให้ได้ทั้งหมด" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอปโซลูท อิมแพค กล่าว
ปรินกล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่สร้างความสำเร็จในการทำธุรกิจสื่ออินสโตร์ของแอบโซลูท อิมแพค คือการมีทำเลที่ตั้งชัดเจน ทำให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะการที่เจ้าของสินค้าและเอเยนซีจะแบ่งงบประมาณโฆษณามาใช้กับอินสโตร์มีเดีย ก็เนื่องมาจากเป็นงบที่จ่ายตรงเข้าหากลุ่มเป้าหมายชัดเจน ต่างจากสื่อแมสที่กวาดหมดทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกเซกเมนต์ แต่หากลูกค้าเป้าหมายคือคนที่เดินอยู่ในสยามพารากอน ดิ เอ็มโพเรียม กระจายอยู่ในห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขาต่าง ๆ ทุกมุมเมือง หรือเป็นพ่อบ้านแม่บ้านที่ใช้บริการบิ๊กซี สื่ออินสโตร์ของบริษัท ตอบโจทย์ได้ชัดเจน
นอกจากนี้ แนวทางในการสร้างศักยภาพให้กับสื่ออินสโตร์ คือการสร้างเน็ตเวิร์คจากทำเลที่ตั้งของเชนค้าปลีกที่ได้รับสิทธิ์ 2 ศูนย์การค้าใหญ่ สยามพารากอน ดิ เอ็มโพเรียม ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ 6 จุดสำคัญในกรุงเทพฯ และโคราช รวมถึงบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 53 สาขาทั่วประเทศ ที่ปรินเตรียมแต่งตัวบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อระดมทุนราว 94 ล้านบาทในการขยายเน็ตเวิร์ค ปริน กล่าวว่า ยิ่งขยายเครือข่ายเน็ตเวิร์คได้มากเท่าไหร่ ประสิทธิภาพในการนำเสนอสื่อก็จะมากขึ้น เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากนิซ กลุ่มเล็ก ๆ ไปสู่แมส ที่มีผู้รับสื่ออยู่ทั่วประเทศได้พร้อม ๆ กัน
"เน็ตเวิร์คที่เราวางไว้จะเป็นการเสริมประสิทธิภาพงานรอบด้าน สามารถสร้างโซลูชั่นในการนำเสนอได้หลากหลาย เน็ตเวิร์คจะรวมไปถึงการบริหารคอนเทนต์ที่จะปรากฏบนจอ มีข่าววิ่ง รับข้อความ SMS เป็นเรียลไทม์ มีแบนเนอร์โฆษณา เปลี่ยนให้จอแอลซีดี กลายเป็นดิจิตอลบิลบอร์ด สามารถเล่นอะไรได้เยอะ เปิดตัวสินค้าที่พารากอน ก็สามารถถ่ายทอดสดไปที่เอ็มโพเรียม หรือที่อื่น ๆ ทั่วประเทศได้ เลือกจัดกิจกรรมเฉพาะพื้นที่ก็ได้ นี่คือแนวทางของเราในปีนี้"
รวมพลังคอนเทนต์อาร์เอส สร้างจุดขาย อาร์เอส อินสโตร์
ด้านอาร์เอส อินสโตร์ มีเดีย วิญญลักษณ์ กล่าวว่า สื่ออินสโตร์ของบริษัทประกอบด้วยกลุ่มเสียง และภาพ ที่มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดการซินเนอยีธุรกิจทั้งหมดของกลุ่มอาร์เอส มาสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทั้งสื่อเสียง คือ P.O.P Radio และสื่อภาพ จอแอลซีดี DDS(Dynamic Digital Signage) จะใช้ประโยชน์จากคอนเทนต์ต่าง ๆ ของอาร์เอสให้ได้สูงสุด เช่น การนำเพลงหลากหลายแนวมาเปิดในรายการวิทยุ นำเสียงของศิลปินอาร์เอสมาออกอากาศสร้างความสนใจ ใช้ดีเจของสกาย-ไฮ เน็ตเวิร์คมาร่วมจัดรายการ คลิปภาพศิลปินบนจอ DDS แจกบัตรคอนเสิร์ตที่จัดโดยอาร์เอส เป็นต้น
"คนเปลี่ยนไปมากด้วยเทคโนโลยี รายได้ สภาพเศรษฐกิจ อย่าลืมว่าค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ปรับขึ้น แต่ราคาสินค้าสูงขึ้น น้ำมันแพงขึ้น คนต้องพิจารณามากขึ้น เศรษฐกิจไม่ดี อินสโตร์มีเดียจึงได้เปรียบ ทุกวันนี้สินค้าจะไม่โฆษณพร่ำเพรื่อหวังสร้างภาพพจน์ แต่ในแต่ละเดือนจะตั้งยอดขายได้เท่าไหร่ และเชื่อว่าสื่ออินสโตร์กระตุ้นยอดขายได้ เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่บอกว่าสินค้ามีอะไร โปรโมชั่นอะไร แม้สุดท้ายผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินใจซื้อ แต่โอกาสของสินค้าที่ลงโฆษณากับเรามีมากกว่า เพราะเรารับสินค้ายี่ห้อเดียว ไม่รับคู่แข่งในสินค้าประเภทเดียวกัน กักคู่แข่งไม่ให้เข้ามายาว 12 เดือน มีแต่คุณที่คุยกับลูกค้าทุกวัน ๆ ลูกค้าก็คงต้องเปลี่ยนมาเลือกซื้อบ้าง" วิญญลักษณ์กล่าว
วิญญลักษณ์กล่าวว่า แม้ปีนี้เพิ่งผ่านไปเพียงเดือนเศษ แต่ยอดการจองสื่อ P.O.P Radio ที่ออกอากาศในเชนโมเดิร์นเทรดทั้ง 4 รายใหญ่ ราว 660 สาขา ในท้อปส์ บิ๊กซี โลตัส และคาร์ฟู ก็เข้ามาแล้วกว่า 90% จากรูปแบบการจัดรายการที่ได้รับการยอมรับ ผสมผสานระหว่างโฆษณา เข้ากับเพลง และคอนเทนต์สาระประโยชน์เข้าด้วยกันในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่เป็นการยัดเยียดจนเกินไป จำกัดสปอตโฆษณาไม่ให้มีมากกว่า 10-12 รายการ ขณะเดียวกันก็จะไม่เปิดเพลงมากเกินไป เพราะคนที่เดินในห้างฯ ไม่ใช่คนที่ต้องการเข้าไปฟังเพลง
จุดเด่นอีกจุดที่ทำให้ P.O.P Radio ได้รับความสนใจอย่างมาก คือการขยายรูปแบบการสื่อสารจากการจัดรายการวิทยุ สู่การจัดอีเวนต์ภายในโมเดิร์นเทรด ไม่ต่างไปจากรูปแบบการจัดรายการวิทยุบนหน้าปัทม์วิทยุในปัจจุบันที่เหล่าดีเจต้องออกจากห้องส่งมาสู่ภาคสนาม ดีเจในซูเปอร์มาร์เก็ตของอาร์เอสก็เช่นกัน วิญญลักษณ์กล่าวว่า การทำงานของบริษัทถือเป็นการบริหารพื้นที่ ณ จุดขาย ดังนั้นกิจกรรมใด ๆ ที่สามารถต่อยอดเพื่อสร้างสีสันเป็นแมกซ์เน็ตให้คนเดินเข้าห้างได้ ก็จะทำ ในปีที่ผ่าน บริษัทฯ มีการจัดกิจกรรมอินเตอร์แอคทีฟ เล่น SMS กับผลิตภัณฑ์แอ็กซ์ ของยูนิลีเวอร์ แคมเปญแจกเงินแสน สำหรับปีนี้ก็จะเริ่มนำคอนเทนต์ฟุตบอลยูโร 2008 ที่อาร์เอสได้ลิขสิทธิ์การทำตลาดครบวงจรมา มาจัดกิจกรรมร่วมสนุก ชิงรางวัล ถ่ายทอดสด และรีรันการแข่งขัน จัดแคมเปญแข่งฟุตบอลตามภาคต่าง ๆ และมาชิงชนะเลิศที่โมเดิร์นเทรดในกรุงเทพฯ รวมไปถึงการจัดฟรีคอนเสิร์ตศิลปินอาร์เอสตามโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
สำหรับแผนการในส่วนภาพ จอ DDS ซึ่งมีตำแหน่งติดตั้งอยู่ ณ จุดแคชเชียร์ของท้อปส์ วิญญลักษณ์ กล่าวว่า เป็นจุดที่สามารถสื่อสารสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นจุดเดียวของห้างที่มั่นใจได้ว่าคนที่เดินเข้าสู่ห้างทั้งหมด จะต้องเดินผ่านจอนี้เมื่อชำระเงิน หรือเดินออก โดยในปีนี้มีแผนจะขยายจุดติดตั้งจอ โดยเพิ่มขนาดเป็นจอขนาดใหญ่ 42 นิ้ว ติดตั้งตามจุดขายสินค้าหมวดหมู่ต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสินค้า หรือสูตรการทำอาหารจากวัตถุดิบที่วางขายอยู่บริเวณนั้น
"จอ DDS ปีนี้จะเป็นจอคอนเทนต์ 42 นิ้ว เนื้อหาเป็นเรื่องของ Cooking Show แม่บ้านอยากทำอะไรให้พ่อบ้านทาน มีสูตร เครื่องปรุง วัตถุดิบ วิธีทำแสดงให้เห็นทั้งหมด แม่บ้านเห็นแล้วก็แฮปปี้ ซื้อของไปโดยมีเป้าหมายว่าจะทำอะไร คนได้กำไรคือเจ้าของสินค้าเล็ก ๆ น้ำปลา กะปิ กระเทียม จะเริ่มหมุนเวียน ถือเป็นสื่อที่มีคอนเทนต์ตอบโจทย์หลากหลายความต้องการในห้าง"
วิญญลักษณ์กล่าวว่า นอกเหนือจากแผนการติดตั้งจอ DDS ในจุดอื่น ๆ แล้ว ยังได้วางแนวทางการนำเสนอรูปแบบการสื่อสารแบบอินเทอร์แอคทีฟเข้ามาใช้ด้วย ขณะนี้เริ่มจากการโทรศัพท์เข้ามาเล่นเกมชิงรางวัล แต่อนาคตจะเข้าไปดำเนินการภายใต้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น โดยเฉพาะระบบ RFID ที่บัตรเครดิตเริ่มนำมาใช้เพื่อเก็บข้อมูลของผู้ถือบัตร อนาคตจะมีเครื่องมือที่สามารถซิงโครไนซ์กับระบบ เพื่อส่งข้อมูลกิจกรรมภายในโมเดิร์นเทรด ทำอินเตอร์แอคทีฟกับผู้บริโภคเฉพาะคนได้ คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเวลา 2-3 ปี
มั่นใจแนวโน้มสื่ออินสโตร์โตไม่หยุด
วิญญลักษณ์ กล่าวว่า มันใจว่าแนวโน้มของสื่ออินสโตร์ยังคงเติบโตต่อไปอีกแน่นอน เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในวันนี้ไม่ได้ซื้อสินค้าครั้งละมากชิ้น 3-4 ขวดเหมือนก่อน แต่จะซื้อเพียง 1 ชิ้นเท่าที่ต้องการใช้ เม็ดเงินที่จะจ่ายมีน้อยลง จึงต้องเลือกแบรนด์ที่คุ้มค่าที่สุด บทบาทของสื่ออินสโตร์ที่อยู่ใกล้ชิดที่สุดจึงเติบโตไม่หยุด
"แมสมีเดียให้คนเลือกเสพมีเยอะขึ้น เรามีทั้งเคเบิลทีวี อินเทอร์เน็ต หลายคนอาจเริ่มบอกว่า ไม่เอาแล้ว ออกไปอ่านหนังสือตามร้านกาแฟ สื่ออินสโตร์วันนี้เป็นสื่อเดียวที่การันตีว่ายอดไม่ลดลง คนเข้าโมเดิร์นเทรดสูงขึ้น 21 ล้านคน 30 ล้าน 40 ล้านคน โตขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวันนี้โลตัสเอ็กซ์เพรสไปเปิดในตลาดสด มีปลา มีไก่ ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่ต้องการซื้อของในบรรยากาศแบบนี้ โมเดิร์นเทรดจึงมีแต่กลุ่มคนที่ใหญ่ขึ้น และเติบโตไปสู่จังหวัดต่าง ๆ คนที่อยู่ต่างจังหวัดจึงเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมาเดินในโมเดิร์นเทรด ติดแอร์ ไม่ได้ซื้อของก็มาเดินเล่น มีโรงหนังอยู่ข้างบน มีแมกซ์เน็ตที่จะดึงคนเข้ามา แล้วสื่อไหนที่จะสามารถส่งข้อมูลไปถึงคนเหล่านั้น มีแต่สื่ออินสโตร์เท่านั้น"
ด้านปริน กล่าวว่า แนวโน้มสื่ออินสโตร์ในปีนี้จะคงมีการเติบโตในระดับ 60-70% การแข่งขันในธุรกิจคงอยู่ในรายใดจะได้พื้นที่ในการบริหารได้ก่อน ซึ่งเจ้าของพื้นที่คงไม่ได้เลือกบริษัทที่เข้าบริหารสื่อด้วยการดูตัวเลขผลตอบแทนแน่นอน เพราะเม็ดเงินหลักร้อยล้านบาทที่เกิดจากสื่อนี้ คงไม่สามารถเทียบได้กับรายได้ของห้างที่มีนับหมื่นล้านบาทในแต่ละปี เชื่อว่าภาพรวมของบริษัทที่มีประสบการณ์ ความสำเร็จอย่างแอปโซลูท อิมแพค จะมีโอกาสมากกว่า โดยเป้าหมายของบริษัทคือการครองส่วนแบ่งตลาดให้ได้ 40% จากผู้ให้บริการรายใหญ่ที่มีอยู่ประมาณ 4 รายในตลาด ซึ่งเชื่อว่า เมื่อสามารถสร้างส่วนขยายเน็ตเวิร์คได้สมบูรณ์ จะเป็นอาวุธสำคัญในการรุกธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน
|
|
|
|
|