Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2535
"เข้าตลาดหุ้นร่วมทุนซื้อลิขสิทธิ์สูตรการเติบโตชนรุ่นหลาน "ว่องวานิช"             
 

   
related stories

"การคงอยู่ของชนรุ่น 3 เตี่ยกับเสี่ยในว่องวานิช"

   
search resources

อังกฤษตรางู (แอล.พี.), บจก.
บุญยง ว่องวานิช
Pharmaceuticals & Cosmetics




บริษัทอายุเก่าแก่มาถึง 100 ปี กำลังมีการเปลี่ยนแปลงชนรุ่นหลาน กำลังก้าวเป็นผู้นำพร้อมแผนการเข้าตลาดหุ้น ร่วมทุน ซื้อลิขสิทธิ์ เป็นกลไกในการสร้างการเติบโต ที่ชนรุ่นพ่อและปู่ไม่มี

"บุญยง" ชายวัย 70 ปี ชอบใส่เสื้อและกางเกงสีขาวเมื่ออยู่ในวัดหลังใหญ่ที่อยู่ห่างจากกรุงเทพออกไปทางทิศเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร บุญยงไว้ผมสั้นเหมือนคนไทยที่สูงอายุทั่วไป ต่างกันก็ตรงที่ว่าบุญยงเป็นคนรูปร่างสมส่วนไม่อ้วน บุคคลิกภายนอกเป็นคนสุขุมเยือกเย็น

บ่อยครั้งในวันสุดสัปดาห์ เขามักใช้ชีวิตอยู่กับสภาพแวดล้อมของศาสนาที่วัดธรรมกาย มากกว่าที่จะอยู่ในสังคมของนักธุรกิจวัยเดียวกัน เขาปรารถนาที่จะสนทนาเรื่องธรรมะมากกว่าการค้า

การซึมซับต่ออิทธิพลของศาสนาทำให้ชีวิตของเขาหมุนไปตามแกนของการปฏิบัติธรรม ในทางส่วนตัว เขาถือศีล และตั้งมูลนิธิว่องวานิชเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางพุทธศาสนา

ในสังคมธุรกิจไทย คนแบบนี้มีไม่มากนัก และดูออกจะแปลกมากเมื่อวิถีชีวิตของเขาถูกแยกออกเป็น 2 ส่วนที่ขัดแย้งกันระหว่างการสร้างผลกำไรในธุรกิจเพื่อสะสมความมั่งคั่งกับการปฏิบัติธรรมเพื่อความสุขทางจิตวิญญาณ

บุญยงเป็นชนรุ่นลูกของตระกูลว่องวานิช ที่สืบทอดมรดกทางธุรกิจบริษัทห้างขายยาอังกฤษตรางูต่อจากพ่อ "หมอล้วน" เมื่อ 30 ปีก่อน

ขณะนี้ธุรกิจของเขากำลังเดินอยู่บนเส้นทางของการเปลี่ยนแปลง เมื่อบุญยงได้ผ่องถ่ายอำนาจการจัดการให้ลูกซึ่งเป็นชนรุ่นหลานของตระกูล พร้อม ๆ กับการเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจจากที่อยู่กระจัดกระจาย มารวมอยู่เป็นกลุ่มบริษัท

ว่องวานิชกรุ๊ปเกิดขึ้นมาได้เมื่อประมาณเสี้ยวปีที่ผ่านมา แต่ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้ว กลุ่มธุรกิจของตระกูลว่องวานิช เกิดขึ้นมาได้นับกว่า 60 ปีในขณะที่ชื่อเสียงของห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ซึ่งเป็นธุรกิจเริ่มต้นของตระกูลเพิ่งจะผ่านพ้นอายุครบ 100 ปีเมื่อเดือนที่ผ่านมานี่เอง

หมายความว่าตระกูลว่องวานิชได้เป็นเจ้าของและดำเนินการบริหารธุรกิจห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) เป็นเวลากว่า 60 ปีเริ่มตั้งแต่ปี 2471 ซึ่งก่อนหน้านี้ธุรกิจห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) มีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและถือครองบริหารมาอยู่ก่อนแล้วถึง 36 ปีด้วยกันก่อนที่จะตกมาอยู่ในมือของต้นตระกูลว่องวานิชและส่งทอดมาได้ 3 ชั่วอายุคนในวันนี้

การเติบโตของกลุ่มธุรกิจว่องวานิชกรุ๊ปนั้นมีรากฐานมาจากร้านขายยาแล้วคืบคลานธุรกิจสู่สินค้าอุปโภค-บริโภคจนขยายเข้าไปถึงธุรกิจที่อยู่อาศัยแตกกิ่งก้านสาขาในปัจจุบันนับได้ถึง 13 บริษัทในเครือเมื่อมีอายุได้ครบ 100 ปีพอดี

หากพิจารณาจากตัวเลขของการขยายกิจการในเครือที่มีเพียง 13 บริษัทเท่านั้นก็ถือว่าเล็กน้อยสำหรับกิจการที่มีอายุมาได้ถึง 100 ปีเต็ม

บุญยง ว่องวานิช ประธานกรรมการว่องวานิชกรุ๊ป ยอมรับว่าเพราะห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) นั้นเป็นบริษัทที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม (CONSERVATIVE) อย่างเต็มที่จึงทำให้การขยายกิ่งก้านสาขาของเขาจึงเป็นไปอย่างค่อนข้างที่จะเชื่องช้า

หากพิจารณาจากประเด็นเงื่อนไขของการขยายธุรกิจของกลุ่มจากธุรกิจหนึ่งสู่อีกธุรกิจหนึ่ง จะเห็นว่าการคืบคลานเข้าสู่ธุรกิจที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่น่าลงทุน

หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเป็นสินค้าที่ผลิตออกมาแล้วต้องขายได้อย่างแน่นอนไม่ว่าเป็นอาหาร ยา ที่อยู่อาศัยและเครื่องนุ่งห่ม

อย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้นี้ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) กำลังจะสลัดคราบความเป็นบริษัทที่มีความอนุรักษ์นิยมอย่างสูงออกไป แล้วหันเข้าหาความเป็นบริษัทที่มีการจัดการระบบแบบสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น

"หลังจากเราปรึกษาหารือกันในครอบครัวแล้วประการแรกเราตกลงที่จะหาบุคคลภายนอกที่มีประสบการณ์และฝีมือมาร่วมบริหารในกลุ่มธุรกิจของเรา ประการที่สอง เราต้องนำบริษัทชั้นดีในกลุ่มของเราเข้าตลาดหุ้น" อนุรุธลูกชายคนโตพูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำหนดไว้ในปีหน้า

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเหล่านี้ กลุ่มผู้บริหารรุ่นที่ 3 ของตระกูลต่างมีความเห็นร่วมกันว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องปรับสภาพองค์กรให้เข้ากับเงื่อนไขของเวลาในปัจจุบัน

"เพราะคลื่นมาแรงมากขึ้นทุกที เราต้องปรับปรุงให้แข็งแรงพอที่จะกระทบคลื่นได้โดยไม่แตกออกเป็นเสี่ยง ๆ เสียก่อน" ล้วนชาย ว่องวานิช กรรมการบริหารว่องวานิชกรุ๊ปยกตัวอย่างของความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงองค์กรอันเนื่องมาจากการแข่งขันที่สูงจึงต้องป้องกันตัว

กลุ่มธุรกิจของว่องวานิชมี 3 ส่วนคือส่วนแรก-เป็นธุรกิจรับจ้างผลิตยาและผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัวมาตั้งแต่ปี 2506 ส่วนที่สอง-เป็นธุรกิจจัดจำหน่าย ซึ่งมีอยู่ 6 บริษัทได้แก่บริษัทห้างขายยาอังกฤษตรางู เอเซียสุพรีมมาร์เก็ตติ้ง ยูเคเอ็มอินเตอร์เนชั่นแนล เอเซียเฮลท์ ไซแอนซ์ และเดอะเฟมัส เอมัสคุ้กกี้ ส่วนที่สาม-เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มี 6 บริษัทที่ควบคุมตั้งแต่การซื้อที่ดิน การจัดสรร การพัฒนา การก่อสร้าง

แต่ละส่วนของธุรกิจจะมีบริษัทธงนำอยู่ เช่น จัดจำหน่ายก็เป็นห้างขายยาอังกฤษตรางู อสังหาริมทรัพย์ก็เป็น วี. อินเตอร์เนชั่นแนลพรอพเพอร์ตี้

อนุรุธลูกชายคนโตดูแลกลุ่มธุรกิจจัดจำหน่าย ขณะที่ล้วนชายน้องชายดูแลกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

การแข่งขันที่สูงมีผลกระทบอย่างมากต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่เป็นธงนำของกลุ่ม จากข้อมุลผลประกอบการของบริษัทที่แจ้งต่อกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ ช่วงระหว่างปี 2531-2533 ส่วนเหลื่อมกำไร (PROFIT MARGIN) ของบริษัทห้างขายยาอังกฤษตรางูซึ่งเป็นผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนตัวประเภทแป้ง ยาน้ำ ขี้ผึ้ง อยู่ในระดับต่ำมากเพียงร้อยละ 1.02-1.03 ของรายได้จากยอดขายเท่านั้น ส่วน แอล. พีสแตนดาร์ด มีแนวโน้มลดลงอยู่จากร้อยละ 1.83 หรือ 1.00 ในช่วงเวลาเดียวกัน

อนุรุธ ว่องวานิช ลูกชายคนโตของบุญยง ซึ่งคาดหมายว่าจะเป็นผู้นำธุรกิจของกลุ่มแทนบุญยงในอนาคตกล่าวว่า การนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้นก็เพื่อต้องการที่จะระดมทุนนำไปลงทุนในโครงการต่างๆ ที่กำลังจะขยายต่อไปในอนาคต

ความเป็นไปได้ในปีหน้าที่ บริษัท เดอะเฟมัสเอมัส ซึ่งเช่าแฟรนไชล์จากบริษัทเฟมัสเอมัสสหรัฐ จะลงทุนผลิตแป้งและส่วนผสมต่าง ๆ เองที่เมืองไทยภายใต้ข้อตกลงเช่าสิทธิบัตรเทคดนโลยี่การผลิตจากบริษัทบริษัทเฟมัสเอมัสสหรัฐ จากทุกวันนี้ที่ต้องสั่งซื้อวัตถุดิบทุกอย่างจากเฟมัสเอมัสสหรัฐเพื่อนำเข้ามาอบที่เมืองไทย

"มันเป็นเรื่องที่น่าเบื่อมากที่จะต้องมานั่งดูแลของเก่า ๆ ที่พ่อและปู่สร้างมา" เขากล่าวถึงเหตุผลหนึ่งที่กลุ่มว่องวานิชรุ่นหลานต้องการลงทุนต่อไป

ส่วนทางด้านล้วนชาย เขามีแผนการที่จะขยายการลงทุนในโครงการอาคารชุดสำนักงานและที่อยู่อาศัยบนพื้นที่ดินราคาถูกที่ตกทอดจากรุ่นพ่อ

การเข้าตลาดหุ้น เป็นสูตรสำเร็จกลไกการทำธุรกิจของชนรุ่นลูกหลานในธุรกิจครอบครัวทุกแห่ง ที่กำลังเปลี่ยนผ่านเหตุผลมีอยู่ว่าการเข้าตลาดหุ้นเป็นหน้าต่างการระดมทุนขยายธุรกิจที่ปราศจากดอกเบี้ย และสามารถสร้างความมั่นคั่งได้ง่ายจากพรีเมี่ยม

ตามรายงานของกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ บริษัทห้างขายยาอังกฤษตรางูมีเงินทุนที่ยังไม่ได้ปันผลอยู่ประมาณ 29 ล้านบาทจากทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 3 ล้านบาท รายรับต่อหุ้น (EPS) อยู่ในระดับหุ้นละ 681 บาท เมื่อสิ้นปี 2533

ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัท แอล. พี สแตนดาร์ดมีเงินทุนที่ยังไม่ได้ปันผลอยู่ประมาณ 42 ล้านบาทจากทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 10 ล้านบาท รายรับต่อหุ้น (EPS) อยู่ในระดับหุ้นละ 154 บาท

"กลุ่มบริษัทนี้เราถือว่าชั้นดี แม้ธุรกิจหลักจะมีมาร์จิ้นน้อยแต่มีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งมาก" แบงก์เกอร์รายหนึ่งให้ข้อสังเกต

การเข้าตลาดหุ้นของบริษัทธุรกิจครอบครัวที่ถ่ายทอดมรดกกันมานานนับ 60 ปี เป็นเรื่องที่บุญยงตัดสินใจไม่ง่ายนัก

"ที่ผมตกลงใจเข้าตลาดหุ้นเพื่อป้องกันลูก ๆ ทะเลาะกันเมื่อผมไม่อยู่" บุญยงพูดถึงเหตุผลสำคัญ

ความแตกต่างในเป้าหมายการเข้าตลาดหุ้นของชน 2 รุ่นที่ต่างกันทั้งภูมิหลังและโลกทัศน์เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมธุรกิจครอบครัวคนจีน หนทางแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสหพัฒน์ที่นายห้างเทียมโชค วัฒนาตัดสินใจนำบริษัทต่าง ๆ ในเครือสหพัฒน์เข้าตลาดหุ้น ซึ่งเป็นไปเพื่อเหตุผลป้องกันลูกทะเลาะกัน

บุญยงกำลังจะวางมือจากการเป็นประธานกรรมการของกลุ่มบริษัทและยกหน้าที่นายใหญ่ให้กับอนุรุธ ลูกชายคนโตเป็นผู้ดูแลกิจการของตระกูลแทน บุญยงกล่าวว่าอนุรุธเป็นคนหนุ่มไฟแรง พูดเก่ง มนุษยสัมพันธ์ดี เข้าผู้ใหญ่ได้ดีและเป็นบุคคลที่มีบุคลิกของความเป็นผู้นำอยู่สูง "ที่สำคัญเขาเป็นลูกชายคนโต"

มันเป็นธรรมเนียมของครอบครัวคนจีนที่มรดกการจัดการธุรกิจมักตกเป็นของลูกชายคนโต

บุญยงมีลูก 4 คนเป็นชาย 2 หญิง 2 ที่สืบทอดมรดกธุรกิจจากเขา อนุรุธ ล้วนชาย อัญญา และเพิ่มหญิง

ความเท่าเทียมกันด้านการศึกษาที่ต่างคนต่างเรียนกู้มาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ เช่น อัญญา จบปริญญาตรีทางเคมีและปริญญาโททางบริหารธุรกิจ อัญญาจึงรับหน้าที่ดูแลด้านการเงินของบริษัททั้งหมด และในขณะที่น้องสาวคนสุดท้องยังไม่เข้ามาช่วยงานอัญญาจึงต้องรับหน้าที่ดูแลโรงงาน แอล. พี. แสตนดาร์ดไปพลาง ๆ ก่อน ขณะเดียวกันก็รับบทหนักด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกด้วย

"อัญญาเป็นคนเงียบ ๆ และเป็นตั้วเจ๊ (พี่ใหญ่) ของน้อง ๆ จึงให้ดูแลน้อง ๆ ด้วยการควบคุมด้านการเงินของบริษัท หากความเป็นตั้วเจ๊ไม่สามารถคุมน้องได้ก็ช่วยอะไรเขาไม่ได้เช่นกัน" บุญยงพูดถึงลูกสาวคนโตซึ่งมีครองครัวไปแล้วโดยแต่งงานกับกิตติพงษ์ เมธาธรรม

กิตติพงษ์ เป็นลูกเขยของบุญยงดูแลธุรกิจสายอาหารคือผลิตภัณฑ์คุกกี้เฟมัสเอมัสและคือบริษัทยูเคเอ็มฯ ซึ่งเป็นธุรกิจนำเข้า ส่วนอนุรุธ จบรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์และปริญญาโทบริหารธุรกิจเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐ

ห้างขายยาอังกฤษตรางูกิจการหลักของกลุ่มว่องวานิชที่อนุรุธดูแลอยู่มีสินค้าที่เด่น ๆ เป็นผู้นำตลาดอยู่เพียงตัวเดียวคือแป้งเย็นปริกลี่ฮีทตรางู แป้งเด็รเซนลุกซ์ อนุรุธกล่าวถึงแผนการว่าจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ในไลน์เดียวกันเช่นแชมพูสระผม หรือสบู่

ส่วนเครื่องสำอางมี อาดอร่า มายดรีม สินค้าเหล่านี้ จัดจำหน่ายโดยบริษัทในเครือคือเอเซียสุพรีมมาร์เก็ตติ้ง ส่วนยาจำหน่ายโดยห้างขายยาอังกฤษตรางูมียา 6 หมวดผลิตโดยโรงงาน แอล. พี. สแตนดาร์ดมียาผง ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำ ยาขี้ผึ้งครีมและยาปราศจากเชื้อ

นอกจากนี้ยังมีอาหารเสริมสุขภาพและอุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพโดยการนำเข้าของบริษัท เอเซียเฮลท์ไซเอนซ์ จำกัดจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ไต้หวัน ออสเตรเลียและอเมริกา

อนุรุธได้วางโครงการเพื่อสร้างความเติบโตโดยมุ่งพัฒนาเครือข่ายการจัดจำหน่ายของห้างขายยาอังกฤษตรางูต่อไป เขาตั้งความหวังว่าจากสินค้าที่มีอยู่ทั้งหมดของบริษัทนั้นจะเปิดเป็นเชนสโตร์เน้นการขายยาและสินค้าอุปโภค-บริโภคโดยใช้ชื่อเชนว่า "BRITISH DISPENSARY" และเมื่อครบ 10 สาขา จะทำเป็นแฟรนไชส์ซึ่งปัจจุบันมี 5 สาขาคือ สี่พระยา ศาลเจ้าเจ็ด สำโรง สุขุมวิทซอย 5 พระราม 9

ล้วนชาย จบปริญญาโทบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยซารินาส สหรัฐด้านการค้าระหว่างประเทศ เกียรตินิยมอันดับ 1 เช่นเดียวกับอนุรุธ เนื่องจากล้วนชายเคยมีประสบการณ์และเรียนรู้ด้านการพัฒนาที่ดินในขณะที่อยู่ต่างประเทศมาบ้างแล้ว บุญยง จึงให้เขาเข้ามาดูแลธุรกิจใหม่คือ ธุรกิจพัฒนาที่ดิน มีเครือข่ายถึง 6 บริษัทที่ต้องดูแลตั้งแต่การจัดซื้อที่ดิน การจัดสรร การก่อสร้าง การพัฒนา การจำหน่าย

บริษัทจัดซื้อที่ดินคือห้างหุ้นส่วนจำกัดว่องวานิช ที่ตกทอดมาตั้งแต่รุ่นบุญยง เมื่อซื้อมาแล้ว ถ้าต้องการจัดสรรก็ให้บริษัทห้างหุ้นส่วนว่องวานิชที่ดิน และเคหะเป็นผู้ดำเนินงาน หรือถ้าต้องการพัฒนาเป็นโครงการอาคารชุดก็จะให้บริษัท วี. อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาหรือถ้าต้องการพัฒนาเป็นบ้านจัดสรรก็ให้ บริษัทพฤกษาก่อสร้างเป็นคนก่อสร้าง

เมื่อสร้างเสร็จจะขายหรือให้เช่าก็ให้บริษัท บี. วายเทรดดิ้งเป็นผู้ดำเนินการจำหน่ายทั้งหมด

มันเป็นรูปแบบการจัดการธุรกิจครบวงจรในตัวเองที่สามารถประหยัดต้นทุนการดำเนินงาน ทำให้สะดวกตรงเวลาตามแผนโครงการ

ล้วนชายกล่าวถึงที่มาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มว่า ธุรกิจพัฒนาที่ดินซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นธุรกิจใหม่ของตระกูลแต่ในความเป็นจริงแล้วธุรกิจพัฒนาที่ดินตระกูลว่องวานิชทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อเมื่อสมัย 40 ปีมาแล้วที่ได้มีการซื้อที่ดินสะสมไว้มากมายจน ณ วันนี้เฉพาะมูลค่าที่ดินที่ถือครองอยู่ทั้งหมดมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท นับรวมทั้งที่ดินว่างเปล่าพร้อมการพัฒนาและที่ดินที่ได้พัฒนาจัดสรรโครงการแล้ว

"ยุคนี้เราเล็งเห็นว่าน่าที่จะบุกในเรื่องนี้จากการศึกษาบริษัทใหญ่ ๆ ทั่วโลกจะเห็นว่าเบื้องหลังของความสำเร็จที่มีกิจการใหญ่โตขึ้นมาได้ทุกวันนี้เขาจะมีธุรกิจเรียลเอสเตรทอยู่ทั้งนั้น"

โครงการล้วนพฤกษาจึงเกิดขึ้น ในช่วง 3 ปีเกิด 3 โครงการเฟส 1, 2 และ 3 รวมกันทั้งหมด 175 หลังในเนื้อที่ 125 ไร่ นอกจากนี้ยังมีโครงการตึกสูงว่องวานิชเอและบีและมีโครงการที่จะสร้างอาคารตึกสูงอีก 2 โครงการในอีก 3-4 ปีข้างหน้าซึ่งโดยส่วนใหญ่คือ 70% หากเป็นโครงการที่อยู่ในเมืองจะเป็นโครงการตึกสูง ส่วนที่ดินในเขตปริมณฑลจะสร้างเป็นโครงการหมู่บ้านจัดสรรแต่ทั้งหมดจะอยู่ในลักษณะของการขายโครงการในขณะที่เหลืออีก 30% จะเป็นการให้เช่าซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนระยะยาว

ล้วนชายมีความเห็นว่าการให้เช่าอาคารเป็นการลงทุนระยะยาวกว่าจะถึงจุดคุ้มทุนต้องใช้ระยะเวลา 6-10 ปีในขณะที่ขายโครงการจะได้ทุนคืนภายใน 2-3 ปีซึ่งนับจากนี้ต่อไปในรุ่นนี้จะต้องหาธุรกิจใหม่ ๆ และเป็นในลักษณะของการร่วมทุนเพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา

ส่วนเพิ่มหญิง จบปริญญาเอกทางเภสัชกรรมศาสตร์ บุญยงจึงให้เข้ารับหน้าที่ดูแลกิจการด้านการผลิต ที่โรงงาน แอล. พี. แสตนดาร์ดรับทอดจากอัญญา

เพิ่มหญิงกล่าวว่า เพิ่งจะเข้ามารับหน้าที่นี้เมื่อปีที่ผ่านมา ดังนั้นขณะนี้จึงเป็นไปในลักษณะของการเรียนรู้งานจากผู้ที่มีประสบการณ์ในโรงงานแห่งนี้ อย่างไรก็ตามเพิ่มหญิงได้ตั้งเป้าเอาไว้ว่า เขาจะพัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการนำเครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการผลิตซึ่งก่อนหน้าที่จะเป็นใช้แรงงานคนเป็นส่วนใหญ่

จากโอกาสทางการศึกษาที่พี่น้อง 4 คนได้รับจากประเทศสหรัฐอเมริกาทุกคน ได้บ่งบอกถึงความสามารถของเขาเหล่านั้นว่าในด้านความคิดความอ่านหรือการกระทำมีอยู่โดยเท่าเทียมกันหรืออาจมากกว่ากันด้วยซ้ำ ดังนั้นสิ่งที่บุญยงหวั่นวิตกในเรื่องของความขัดแย้งอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนย่อมมีสิทธิเกิดขึ้นได้เสมอเมื่อปราศจากการควบคุมจากผู้มีบารมีสูง

การป้องกันการทะเลาะเบาะแว้งของลูก ๆ โดยการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์จึงเป็นความคิดหลักที่บุญยงหมายมั่นว่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นและมีอนาคตไกล

"หากบริษัทถือหุ้นโดยมหาชนผู้ถือหุ้นเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนค้ำไม่ให้ลูก ๆ ต้องทะเลาะกัน สิ่งที่พวกเขาต้องทำตลอดเวลาคือ บริหารอย่างไรให้บริษัทเจริญงอกงามมีกำไรดี เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นหากเขามัวแต่ทะเลาะกันบริษัทขาดทุนก็จะโดนตำหนิจากผู้ถือหุ้นเหล่านี้ได้"

ความคิดของบุญยงที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เช่นนี้ไม่ใช่เกิดจากแนวความคิดของตนเองเป็นการส่วนตัว ทว่าเป็นการดำเนินรอยตามการเติบโตของสหพัฒนฯ ซึ่งมีนายห้างเทียมเป็นผู้นำกลุ่มในขณะที่มีชีวิตอยู่อันเป็นบุคคลที่บุญยงนับถือและศรัทธาในรูปแบบการบริหารงานของนายห้างเทียมมาโดยตลอดนั่นเอง

บุญยงศึกษาการเจริญเติบโตของนายห้างเทียมผู้นำสหพัฒนฯเป็นหลักแม้ว่าสหพัฒนฯจะมีอายุเพียงครึ่งหนึ่งของบริษัทห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ก็ตาม แต่การแตกออกไปโตของสหพัฒน์ฯ จัดได้ว่าเป็นการบริหารของมือชั้นบรมครูเลยทีเดียว

เช่นการแตกตัวของบริษัทลูกซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 200 บริษัท และมีบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ถึง 19 บริษัทเฉพาะบริษัทแม่บริษัทเดียวคือสหพัฒนพิบูลมียอดรายได้ในปีที่ผ่านมาถึง 4,500 ล้านบาทแต่ถ้าเป็นสหกรุ๊ปรวม 200 กว่าบริษัทในเครือจะมีรายได้ร่วม 10,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

ความเจริญเติบโตของสหพัฒนฯ และการโยงใยเครือข่ายของสหกรุ๊ปทำให้บุญยงนำมาเป็นแบบอย่างของการทำให้ว่องวานิชกรุ๊ปโตแม้จะไม่เท่าสหกรุ๊ปแต่ใกล้เคียงก็ยังดี

ขณะเดียวกันในด้านการวางตัวบุคคลเพื่อสืบสานมรดกทางการค้าไว้ก่อนที่ตนเองจะหมดแรงย่อมทำ ให้กิจการมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องไม่ทำให้ต้องหยุดชะงักเพราะขาดผู้นำ

นอกจากการมองของบุญยงในแง่ของการป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นกับลูก ๆ ของเขาในอนาคตถึงกับต้องนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว อีกประเด็นหนึ่งคือการจัดสรรความรับผิดชอบของลูก ๆ แต่ละคนของบุญยงรวมทั้งเขยและหลาน ๆ ด้วยแล้ว ก็น่าที่จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ป้องกันความเสี่ยงที่จะทำให้องค์กรของห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ห่างไกลความหายนะหรือล่มสลายเพราะลูกหรือชนรุ่นที่ 3 ทะเลาะกันเองได้อย่างแนบเนียนทีเดียว

นั่นคือการแตกออกไปโตใน ธุรกิจสายใหม่ ๆ และจัดผู้ดูแลตาม ความถนัดของแต่ละคน

อย่างไรก็ตามประเด็นของการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของตระกูลว่องวานิชในชน2 รุ่นต่างมีมุมมองที่ต่างกันคือพ่อซึ่งเป็นชนรุ่นที่ 2 ของตระกูลมองว่าเป็นการป้องการการทะเลาะเบาะแว้งได้ดีแต่ลูก ๆ กลับมองว่ารุ่นที่ 3 นี้กลับมองว่าเป็นการระดมทุนและกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจซึ่งเป็นความจำเป็นของสมัยปัจจุบันมากกว่า

ว่องวานิชกรุ๊ปจึงเกิดขึ้นในรุ่นที่ 3 นี้แทนโครงสร้างเดิมที่บริษัทห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) เป็นบริษัทแม่ ด้วยการชูว่องวานิชกรุ๊ปเป็นบริษัทแม่แล้วจัดกลุ่มธุรกิจเป็นหมวดหมู่จากบริษัทในเครือมาแบ่งสาย และเริ่มพัฒนาระบบเข้าสู่ความเป็นองค์กรสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการระดมมืออาชีพเข้ามาบริหาร การพัฒนาบุคลากรภายใน การร่วมทุนกับต่างประเทศการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้และการหวังพึ่งข้อมูล เพื่อเป็นปัจจัยเอื้อให้กับการตัดสินใจที่จะลงทุนหรือขยายธุรกิจออกไปได้แน่นอนมากยิ่งขึ้น

นี่คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการเปลี่ยนแปลงของชนรุ่นหลานว่องวานิชในปีหน้า

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us