สถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งใหม่โดยเอกชนเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แม้ว่าในทางเทคนิคด้านคลื่นวิทยุจะมีความแออัด
แต่ยังมีทางออกและเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน ปัญหาอยู่ที่ว่าสิทธิ์นี้จะเข้าสู่มือของเอกชนได้อย่างไร
ในเมื่อวงการนี้ดำรงอยู่ด้วยการผูกขาดมาโดยตลอดภายใต้ผลประโยชน์ที่มองไม่เห็น
ระบบบริการจัดการที่เละเทะ และที่สำคัญคือกฎหมายและนโยบายอันคับแคบ
โทรทัศน์เครือข่ายของประเทศมีอยู่ด้วยกัน 5 ช่อง ทั้งหมดเป็นของรัฐบาลและกองทัพ
เช่นเดียวกับวิทยุประมาณเกือบ 500 สถานีทั่วประเทศที่สี่เหล่าทัพครอบครองอยู่ถึง
244 สถานี หรือคิดเป็นประมาณ 50% และส่วนที่เหลือนั้นถ้าไม่ใช่ของกรมประชาสัมพันธ์หรือองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
(อ.ส.ม.ท.) ก็ต้องเป็นของหน่วยงานราชการหน่วยใดหน่วยหนึ่งเสมอ (ดูตาราง)
สิทธิ์ในการครอบครองสื่อวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงหรือที่เรียกว่าสื่ออิเล็คทรอนิกส์นั้นไม่มีแม้แต่แห่งเดียวที่เป็นของเอกชน
ความเป็นจริงนี้นับว่าเป็นความขมขื่นอย่างมากสำหรับสื่อทั้ง 2 ชนิดนี้
เพราะระบบกรรมสิทธิ์ผูกขาดนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับความคับแคบทางด้านอิสรภาพและเสรีภาพ
หากเทียบกับสื่อสิ่งพิมพ์ย่อมจะเห็นได้ชัดเพราะสื่อสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นของเอกชนมาเนิ่นนานแล้ว
ยิ่งในช่วงเวลา 2-3 ปีให้หลังมานี้ยิ่งพัฒนาไปมากขึ้นด้วยการก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ
กลายเป็นสื่อที่มีมหาชนเป็นเจ้าของอย่างเต็มตัวมีเสรีในการเสนอข่าวสารมากกว่า
ในขณะที่โทรทัศน์และวิทยุคงลักษณะแห่งการเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลและกองทัพอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง
โดยในเวลาปกติจะดูมีอิสระดีพอสมควร และมีรูปลักษณ์ออกไปในทางเป็นสื่อพาณิชย์มากกว่า
เนื่องจากเอกชนส่วนหนึ่งได้รับสัมปทานเข้าไปผลิตรายการ
แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดมีวิกฤตการณ์ที่รัฐบาลเป็นคู่กรณี ความจริงที่ว่าใครคือผู้กุมสิทธิ์ที่แท้จริงก็เป็นต้องได้รับการพิสูจน์และตอกย้ำอยู่ทุกครั้งไป
เท่าที่ได้มีสิทธิเสรีภาพบ้างในยามปกติจึงเป็นเสมือนหนึ่งภาพลวงตา ไม่ถาวร
และเป็นภาพที่ขึ้นกับการกำหนดของผู้เป็นเจ้าของสถานีเป็นสำคัญ ภาวะแห่งการเป็นลูกไก่ในกำมือที่ไม่มีสิทธิ์
ไม่มีเสียง ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง และไม่สามารถต่อรองมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ
วิกฤตแห่งการนำเสนอข่าวสารของโทรทัศน์และวิทยุเมื่อเดือนพฤษภาคมนั้นคือบทพิสูจน์ที่ไม่จำเป็นต้องอธิบาย
เพราะขบวนการเพรียกหาระบบเสรีหลังเดือนพฤษภาคมไม่เพียงแต่เกิดขึ้นต่อระบบการเมืองเท่านั้น
ระบบการสื่อสารมวลชนก็ได้รับการทวงถามถึงความเป็นเสรีที่โปร่งใสเช่นเดียวกัน
ตลอดจนมีการตั้งข้อสังเกตอย่างจริงจังกับสภาพการครองครองกรรมสิทธิ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัญหาระดับรากเหง้าด้วย
กระแสเสียงเรียกร้องให้เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถเป็นเจ้าของสถานีวิทยุโทรทัศน์
(TELEVISION) และวิทยุกระจายเสียง (RADIO) ไม่นับว่าเป็นเรื่องใหม่ทีเดียวนัก
เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่เคยได้มีการผลักดันอย่างจริงจังมาก่อน และแม้ว่าจะได้มีการพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อทั้ง
2 ประเภทนี้มาโดยตลอด แต่ก็มักเป็นเรื่องของเสรีภาพในระดังที่เกี่ยวกับคนหรือเสรีภาพของสารเท่านั้น
ส่วนเสรีภาพในระดับโครงสร้างไม่ค่อยได้มีการกล่าวถึงมากนัก
ที่เป็นเช่นนี้ด้านหนึ่งเป็นเพราะว่าระบบเซนเซอร์เนื้อหารายการต่าง ๆ นั้นมีลักษณะของการคุกคามอย่างเห็นได้ชัด
ในขณะที่เรื่องของระบบกรรมสิทธิ์หรือโครงสร้างการถือครองสื่อออกจะไกลตัวกว่า
อีกทั้งยังเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการด้วยกัน การจะเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องที่กระทำได้ง่าย
ๆ
สิ่งที่เป็นความจำเป็นและเงื่อนไขที่ยุ่งยากในการตั้งสถานีแห่งใหม่ก็คือเรื่องการขออนุญาต
ซึ่งมีอยู่ 2 ประการคือ ประการแรก ต้องขออนุญาตทำการกระจายเสียงหรือแพร่ภาพ
ประการที่สอง ต้องขออนุญาตใช้ความถี่วิทยุซึ่งต้องเกี่ยวข้องกังหน่วยงาน
2 หน่วยได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์และกรมไปรษณีย์โทรเลข โดยหน่วยงานแรกเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลด้านการดำเนินการส่งกระจายเสียงตาม
พรบ. วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ส่วนหน่วยงานหลังเป็นผู้มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ
และมีอำนาจหน้าที่ตาม พรบ. วิทยุคมนาคม
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติแล้ว อำนาจการพิจารณาอนุญาตที่แท้จริงนั้นจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ
2 ชุดเป็นสำคัญ
หนึ่งคือ คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์หรือที่รู้จักกันดีในนามว่า
กบว. ซึ่งในหมวด 1 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ชื่อว่า ระเบียบว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
พ.ศ. 2518 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการตั้งสถานีไว้อย่างชัดเจน
2 ประการด้วยกัน นั่นคือ (1) กำหนดเงื่อนไขและวิธีการในการจัดตั้งหรือย้ายสถานี
และ (2) พิจารณาและอนุญาตให้จัดตั้งหรือย้ายสถานี
ส่วนคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งก็คือ คณะกรรมการบริหารความถี่วิทยุคมนาคม หรือ
กบถ. ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายด้านการบริหารและการจัดสรรความถี่ รวมทั้งมีสิทธิ์ขาดในการอนุมัติให้ใช้ความถี่คลื่นวิทยุด้วย
อำนาจการตัดสินว่าคลื่นใดจะให้ใช้ในกิจการใดและแก่ใครนั้นอยู่ในมือของ กบถ.
อย่างเต็มที่ทีเดียว
การขอตั้งสถานีโดยทั่วไปจึงต้องผ่าน กบว. และ กบถ. โดยแรกสุดผู้จะขอเปิดสถานีต้องยื่นเรื่องไปยัง
กบว. ซึ่งมีอนุกรรมการย่อยคณะหนึ่งชื่อว่าคณะอนุกรรมการฝ่ายเทคนิคของ กบว.
อันมีอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นประธานจะเป็นผู้ทำการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในแง่มุมต่าง
ๆ ทางด้านเทคนิค จากนั้นจึงเข้าสู่การพิจารณาของ กบถ. ว่าจะอนุมัติให้ใช้ความถี่ที่มีอยู่หรือไม่
จากนั้นเรื่องก็จะส่งกลับคืนมาให้คณะกรรมการชุดใหญ่ของ กบว. ประชุมพิจารณาอนุมัติทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง
(ดูแผนภูมิ)
"ในการอนุญาต ปกติเขาก็ดูเรื่องจุดประสงค์การตั้งสถานี ซึ่งก็มักมีฟอร์มอยู่แล้วว่าเพื่อการศึกษา
เพื่อความมั่นคง เป็นสถานีด้านวัฒนธรรมหรือสถานีที่ให้บริการทุกด้านแล้วแต่จะระบุกัน
อันนี้ยื่นต่อ กบว. ซึ่งก็จะดูด้วยว่าคนเข้ามาขอนั้นมีความพร้อมและน่าเชื่อถือหรือไม่
จะสร้างปัญหาความมั่นคงต่อชาติไหม ก่อความวุ่นวายหรือเปล่า ทำนองนั้น จากนั้นก็ต้องยื่นขอต่อกรมไปรษณีย์ดูว่ามีคลื่นว่างไหม
จะกระจายเสียงด้วยกำลังส่งเท่าไร ดูเรื่องที่เป็นด้านเทคนิคทั้งหลาย คือทั้งสองอย่างต้องไปด้วยกันถ้าผู้ขอมีความเหมาะสมแต่คลื่นไม่ว่างก็อด
หรือถึงคลื่นว่างแต่ไม่มีความเหมาะสมก็อดเหมือนกัน" อรทัย ศรีสันติสุข
คณบดีคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บอกเล่าถึงเงื่อนไข
ต่อเมื่อขั้นตอนการอนุญาตเรียบร้อยแล้วก่อนที่จะดำเนินการจัดตั้งสถานีต้องเกี่ยวข้องกับกรมไปรษณีย์ฯ
อีก ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนการติดตั้งตรวจสอบ
และเมื่อจะทำการแพร่ภาพกระจายเสียงก็ต้องติดต่อกับกรมประชาสัมพันธ์อีกครั้งหนึ่งนำรายการไปให้พิจารณา
"การขอนำเข้าเครื่องส่งและอุปกรณ์สถานีต่าง ๆ จะต้องมีสัญญาก่อนคือทางเราทำกับทางเจ้าของสถานที่ได้รับอนุญาตหรืออาจะเป็นผู้ได้สัมปทาน
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงกันแต่อุปกรณ์ทั้งหลายซื้อแล้วก็ตกเป็นของทางราชการหมด
แม้ผู้สัมปทานจะเป็นคนซื้อ พอนำเข้าแล้วกรมไปรษณีย์จะเป็นผู้ตรวจสอบด้วยว่าถูกต้องหรือเปล่า
ต้องมีการคุมในทางด้านเทคนิค โดยเฉพาะเรื่องกำลังส่งจะต้องตรงตามที่ได้รับอนุญาต"
ประภากร จุลกะรัตน์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายกิจการโทรทัศน์และวิทยุบริษัทล็อกซเล่ย์กล่าว
คลื่นวิทยุนับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สุดในการตั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งคลื่นวิทยุนั้นก็คือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าช่วงหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์ทางการสื่อสาร
เป็นพาหนะนำเสียง ภาพ และสัญญาณได้
คลื่นวิทยุนับเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากและมีอยู่อย่างจำกัด อีกทั้งแต่ละช่วงคลื่นก็มีคุณสมบัติที่เอื้อประโยชน์ได้แตกต่างกัน
จึงทำให้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการด้านการใช้ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ
โดยที่หลักการใหญ่ ๆ จะมีแบบแผนค่อนข้างแน่นอนอยู่แล้วจากการกำหนดของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ
- THE INTERNATIONAL TELECOMMUNICATION UNION (ITU)
ITU เป็นองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมและบริหารความถี่วิทยุทั่วโลกด้วยการควบคุมผ่านรัฐบาลของแต่ละประเทศ
ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้นเป็นหน้าที่ของกรมไปรษณีย์โทรเลขที่จะต้องติดต่อกับ
ITU เพราะได้เข้าเป็นสมาชิกไว้แล้วตั้งแต่เมื่อปี 2428 ก่อนที่จะมีการใช้คลื่นวิทยุภายในประเทศเสียอีก
"ITU แบ่งโลกเป็น 3 ภูมิภาค และแบ่งซอยแต่ละคลื่นสำหรับการใช้แต่ละแบบ
เป้าหมายคือเพื่อป้องกันการรบกวนกัน โดยเป็นการแบ่งตามมาตรฐานทางเทคนิค ประเทศที่มีความพร้อมก็จะเข้าเป็นสมาชิก
ITU เพราะได้ประโยชน์คือสามารถตามเทคโนโลยีทันและได้รับการคุ้มครองสิทธิ
ถ้ามีใครมารบกวนการใช้คลื่นของเราก็ทักท้วงได้" เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์
รองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขอธิบายให้เห็นถึงบทบาทของ ITU
คลื่นวิทยุที่ใช้ส่งสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุระบบ F.M. เป็นคลื่นที่มีความถี่สูงมากเรียกว่า
VHF(VERY HIGH FREQUENCY) ส่วนวิทยุระบบ A.M. อยู่ในย่านความถี่ปานกลางคือ
MEDIUM FREQUENCY) ก็เป็นอีกย่านหนึ่งที่สามารถใช้สำหรับโทรทัศน์ได้
ตามหลักการสากลแล้วถือกันว่าคลื่นวิทยุนั้นเป็นสมบัติของมนุษยชาติ การจัดสรรจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลักใหญ่
โดยนัยเช่นนี้ย่อมหมายความว่า เจ้าของคลื่นที่แท้จริงนั้นคือประชาชน และหากผู้ใดได้คลื่นไปใช้ไม่ว่าจะเพื่อการใดก็ตาม
อย่างน้อยกิจการนั้นจะต้องยังประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่ด้วย
แต่สำหรับหลักการการจัดสรรคลื่นความถี่ของไทยนั้นถือว่าราชการคือผู้เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุทั้งหมด
ดังนั้นจึงมีแต่หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจเท่านั้นที่มีสิทธิ์ถือครองเป็นเจ้าของได้
หลักการนี้แม้ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นหลักคิดที่อยู่เบื้องหลังการร่างกฎหมาย
อีกทั้งยังได้ครอบงำในการทำงานจัดสรรความถี่ด้วย
คลื่นวิทยุ "ทั้งหมด" ในการสื่อสาร "ทุกชนิด" ถูกระบุว่าเป็นของรัฐ
(อันมีความหมายว่ารัฐบาล) และความถี่แทบทั้งหมดก็ล้วนมีหน่วยงานของรัฐจับจองไว้แล้ว
นอกจากนี้เนื่องจากสถานีส่งของวิทยุและโทรทัศน์นั้นถือว่าเป็นสถานีวิทยุคมนาคมด้วยจึงต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามมาตรา
5 และ 6 ของ พรบ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 นั่นคือหากผู้ใดจะตั้งสถานีก็ต้องได้รับอนุญาตจากกรมไปรษณีย์โทรเลขก่อน
ยกเว้นแต่หน่วยงานราชการบางหน่วยเท่านั้นที่ได้รับสิทธิ์พิเศษ
"ในจุดนี้ มีกฎหมายออกมาก่อนกำหนดเลยว่าคนที่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของคลื่นต้องเป็นเฉพาะหน่วยงาน
10 กว่าหน่วยเท่านั้นเอง มีการระบุเลยว่ากระทรวงอะไรบ้าง แม้แต่มหาวิทยาลัยก็ไม่มีสิทธิ์
อย่างที่ธรรมศาสตร์หรือจุฬาฯ มีคลื่นนี่ก็ขอยืมมา ของธรรมศาสตร์เป็นปชส.
10 หมายความว่าคือคลื่นของกรมประชาสัมพันธ์ แต่ก็เรียกว่าเป็นการให้ยืมกันแบบถาวร
เราต้องยืมมาเพราะว่าไม่มีสิทธิ์ขอจากกรมไปรษณีย์โดยตรง" อรทัย ศรีสันติสุขแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล่าให้ฟัง
หลักการไม่ถูกต้องในลักษณะเดียวกันนี้มีอยู่ในข้อกำหนดด้านการดำเนินบริการส่งกระจายเสียงด้วย
กล่าวคือ กิจการด้านนี้ถูกขีดกรอบให้เป็นของรัฐบาลเท่านั้น เอกชนไม่มีสิทธิ์
จริงอยู่ที่ว่าจุดกำเนิดแรกแห่งกิจการกระจายเสียงและแพร่ภาพนั้นมีหน่วยงานราชการเป็นผู้บุกเบิกผลักดัน
สถานีจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของหน่วยราชการมาก่อน แต่ถ้านับระยะเวลาจากจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของไทยทั้ง
2 ชนิดจนกระทั่งปัจจุบัน กาลเวลาก็ล่วงเลยมานานแล้วและระบบเสรีก็ไม่มีพัฒนาการเรื่อยมาทำให้ภาคเอกชนก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างมากในส่วนต่าง
ๆ ของสังคม หากกิจการด้านนี้ได้รับการปลดปล่อยให้พัฒนาตามธรรมชาติก็ย่อมแน่นอนว่ามาถึงวันนี้น่าจะมีเอกชนเป็นเจ้าของสื่อวิทยุหรือโทรทัศน์กันไม่น้อย
เพราะฉะนั้นสภาพของการมีแต่สถานีของหน่วยราชการทั้งพลเรือน และทหารดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มิได้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ
หรือเป็นลักษณะธรรมชาติแต่อย่างใด หากเกิดขึ้นจากหลักคิดพื้นฐานที่ปิดกั้นและกฎระเบียบอันคับแคบ
ข้อความในระเบียบว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2518 ตอนหนึ่งนับว่าน่าสนใจมากข้อความดังกล่าวคือ
"ฉะนั้นเพื่อให้สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจทุกแห่งอยู่ภายใต้ระเบียบเดียวกัน
และดำเนินกิจการให้เป็นประโยชน์โดยแท้จริงแก่รัฐและประชาชนให้มากที่สุด คณะรัฐมนตรีมีมติให้กำหนดระเบียบขึ้นไว้.."
ข้อความเหล่านี้อ่านผ่าน ๆ อาจจะไม่บอกเล่าอะไรมากนัก แต่หากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า
ระเบียบนี้ตราขึ้นโดยรัฐบาลสมัย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นระเบียบฉบับที่ก่อให้เกิดกบว.
ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลด้านการดำเนินกิจการวิทยุและโทรทัศน์ของประเทศทั้งหมด
ประโยคที่ว่า "สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ"
จึงมีความหมายเท่ากับและเท่ากันกับ "สถานีวิทยุและโทรทัศน์ทั้งประเทศ"
นั่นเอง
ความคับแคบของหลักการและกฎหมายดังที่กล่าวมานี้ กล่าวได้ว่าคือปัญหาพื้นฐานที่สุดกีดกันมิให้เอกชนมีสิทธิ์เป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์และวิทยุอย่างค่อนข้างจะโดยสิ้นเชิง
และออกจะเป็นอุปสรรคที่ใหญ่มาก แต่นี่ก็เป็นเพียงชั้นต้นเท่านั้นยังไม่ใช่ทั้งหมดของปัญหาในภาพรวม
"ธรรมศาสตร์ขอคลื่น F.M. มาร่วม 10 ปีแล้วจนป่านนี้ก็ยังไม่ได้"
อรทัย ศรีสันติสุข คณบดีคณะวารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
คำตอบที่ตามมาสำหรับคำถามว่า "เคยมีแววไหม" นั้นน่าสนใจมาก
"สมัยนายกฯ ชาติชายเคยใกล้จะได้แล้วแต่เปลี่ยนรัฐบาล คนที่ติดต่อเอาไว้ก็เลยทำให้ไม่ได้คือเรื่องนี้เป็นเรื่องสลับซับซ้อนมาก
การที่จะได้หรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังติดต่อกับใครคนคนนั้นเขาอยู่ในตำแหน่งหรือฐานะอะไร"
"สายสัมพันธ์" คำเดียวสั้น ๆ คำนี้ดูเหมือนจะมีความหมายเสมอและมีอย่างมากด้วยในสังคมไทยโดยเฉพาะในระบบการบริหารราชการ
! ….
ในระยะเวลาประมาณ 5-6 ปีมานี้ ทั้ง กบถ. และ กบว. ต่างก็ปฏิเสธที่จะอนุมัติให้เกิดการตั้งสถานีใหม่
ๆ เรื่อยมา โดยคำตอบที่ผู้ขอคลื่นวิทยุส่วนใหญ่ได้รับก็คือ ความถี่เต็ม มีการจองไว้หมดแล้ว
ไม่มีคลื่นว่างเลย ในขณะที่คำตอบต่อการขออนุญาตดำเนินกิจการกระจายเสียงและแพร่ภาพจะมีอยู่ว่าโทรทัศน์และวิทยุของไทยมีมากมายอยู่แล้ว
ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องเพิ่มจำนวนขึ้นอีก
ต้องยอมรับว่า คำตอบทั้งของ กบถ. และ กบว. ล้วนเป็นความจริง !
ในเรื่องของความถี่ ถ้าไม่นับย่าน UHF ที่ใช้ส่งโทรทัศน์ซึ่งยังว่างอยู่ทั้งหมด
ความถี่ย่าน VHF สำหรับทั้งวิทยุและโทรทัศน์นั้นเต็มมานานแล้ว ส่วนในเรื่องจำนวนสื่อ
ประเทศไทยก็จัดว่าเป็นประเทศที่ปริมาณสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 2 ชนิดมากเหลือเกินถึงกับติดอันดับต้น
ๆ ในแถบทวีปเอเชียเลยทีเดียว โดยเฉพาะโทรทัศน์เครือข่าย 5 แห่งนั้นเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วปรากฏว่ามากกว่าถึงเท่าตัว
ข้อเท็จจริงทั้ง 2 ข้อนี้โดยตัวของมันเองออกจะมีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลต่อกันและเสริมกันอย่างยิ่งในการใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการไม่อนุมัติการจัดตั้งสถานีแห่งใหม่
เพราะแม้ข้ออ้างที่ว่าไม่มีความถี่ว่างจะมีความหนักแน่นอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงคนในวงการต่างก็รู้ว่าในส่วนของโทรทัศน์ยังมีคลื่น
UHF ว่างอยู่ทั้งหมดดังนั้นการได้ข้ออ้างที่ว่าจำนวนสถานีมีมากมายแล้วมาเสริม
จึงช่วยย้ำน้ำหนักให้เห็นความไม่จำเป็นอย่างยิ่งของการมีสถานีเพิ่มขึ้น
ในระยะหลายปีมานี้จึงแทบไม่มีการอนุญาตตั้งสถานีแห่งใหม่เลย ทั้ง ๆ ที่หน่วยงานราชการหลายแห่งต่างก็ยื่นขอกันมากมาย
เพียง 12 หน่วยงานก็ยื่นเสนอขอตั้งสถานีวิทยุเพิ่มรวมแล้วมากถึงประมาณ 60
สถานี ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่อกหัก มีที่ผ่านการอนุมัติก็คือของกรมประชาสัมพันธ์
ส่วนทางด้านทีวีก็มีการขอใช้คลื่นย่าน UHF กันหลายหน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นคำขอจากหน่วยทหาร
ไม่ว่าจะเป็นกองทัพเรือหรือกองทัพอากาศ แต่โครงการทั้งหลายเหล่านี้ก็เป็นอันต้องพับไปทั้งหมด
ไม่มีการอนุญาตให้เพิ่มโทรทัศน์อีกเลยหลังปี 2528 ที่โทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง
11 ได้ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว
ในสภาพเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องพูดถึงโอกาสของเอกชน
หรือแม้แต่กรณีสถานีวิทยุ F.M. ของธรรมศาสตร์เองก็นับว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะสถาบันการศึกษาไม่ใช่องค์กรที่มีกำลังอำนาจบังคับย่อมจะต้องได้รับการพิจารณาเป็นรายหลัง
ๆ นอกเสียจากว่าสามารถหาตัวต่อที่ใหญ่พอได้ ดังที่เคยมีแววมาแล้วในสมัยรัฐบาล
ชาติชาย ชุณหะวัณ
"เวลาที่พูดกันว่า กรุงเทพฯ มีแท็กซี่เยอะแล้วไม่ควรให้เกิดอีก เสร็จแล้วเกิดอะไรขึ้น
ป้ายแท๊กซี่ขายกันเท่าไร? กรณีนี้เหมือนกัน ผมเองไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการตั้งสถานีแน่
ๆ แต่ผมมองว่าถ้าเราต้องการความหลากหลาย จำนวนก็ต้องมาก อย่างน้อยประชาชนไม่ชอบฟังอันหนึ่งก็สามารถเปิดไปฟังอีกอันหนึ่ง"
นี่เป็นความเห็นของเลอสรร ธนสุกาญจน์อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เคยเป็น
1 ในคณะที่ปรึกษา "บ้านพิษณุโลก" ของอดีตนายกฯ ชาติชาย และเคยศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเปิดเสรีสื่อโทรทัศน์วิทยุได้เป็นอย่างดี
ทว่าเอกสารทั้งหมดได้หายไปแล้วพร้อมกับการ รสช.
"เรื่องเปิดสถานีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาโดยรอบคอบ ถ้ามีทีวีช่องเดียวแต่เป็นช่องที่ถูกใจคุณก็คงบอกว่ามีสถานีเดียวพอ
ตอนนี้เรามี 5 ช่องทำให้ดีก็เหลือเฟือแล้ว ไม่ใช่ว่า 4 ช่องมีแต่รายการเหมือนกันหมด
ผมว่ามีสัก 20 ช่องก็ไม่เกิดอะไรขึ้นมา ข้อที่เขาต้องพิจารณากันมากก็คือพบว่า
การเปิดช่องใหม่ก็เหมือนกับเปิดโอกาสให้คนกลางเข้ามาหากินเท่านั้นเอง อีกประการหนึ่งเนื่องจากการจัดสรรคลื่นระบบยูเราต้องจัดเป็นระบบเครือข่ายเหมือนกันเหมือนที่ระบบวีมี
5 เครือข่าย ทีนี้เราก็จัดได้อยู่ 5 เครือข่ายแต่มีคนขอมาประมาณ 9 หรือ 11
ราย ปัญหาคือจะให้ใครล่ะ" เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ รองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข
ผู้ก้าวมาจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารความถี่วิทยุแสดงทัศนะพร้อมกับแตกประเด็นที่น่าสนใจออกไปอีกถึง
2 ประเด็นด้วยกัน หนึ่งคือประเด็นเกี่ยวกับการขอสถานีเพื่อใช้ "หากิน"
และสองคือเกี่ยวกับเทคนิคเรื่องคลื่น
ในยุคหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงทศวรรษที่แล้วและก่อนหน้านั้น มีการอนุญาตให้เปิดสถานีวิทยุและโทรทัศน์กันอย่างเป็นล่ำเป็นสันโดยปราศจากควบคุมใด
ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งผลก็คือได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ลักษณะหนึ่งมาจนกระทั่งทุกวันนี้
นั่นคือสื่ออิเล็กทรอนิกส์มิได้เป็นสื่อมวลชนในความหมายที่แท้จริง แต่เป็นสื่อโฆษณาการค้ามากกว่า
มีหน่วยงานหลายหน่วยทีเดียวที่ไม่ได้ดำเนินการบริหารสถานีเอง และไม่ผลิตรายการอะไรทั้งสิ้น
ได้แต่ให้เอกชนรับช่วงสัมปทานหรือเช่าเวลาไป ทำตัวเป็นเสือนอนกิน คอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เพียงอย่างเดียวหรืออีกลักษณะหนึ่ง
บางหน่วยงานก็ใช้สื่อเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อตามความต้องการของตนอย่างเต็มที่ความเสรีเกิดขึ้นอย่างไม่มีขอบเขตและไร้ระบบอย่างยิ่ง
"ตอนขอเป็นเจ้าของคือหน่วยราชการ แต่ได้ไปแล้วก็ไปผ่องถ่ายต่อ ทำสัญญากัน
บางรายก็ขอมาตามความจำเป็นจริง แต่บางรายมีไว้เพื่อค้าขายชัดเจน บางทีการพิจารณาของเราก็ลำบากเหมือนกัน"
เศรษฐพรกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
โครงสร้างการควบคุมของรัฐบาลมักมีข้อบกพร่องให้เห็นอยู่เสมอ เช่นในกรณีนี้
ในขณะที่การขอตั้งสถานีมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างจะปิดกั้นมากและในส่วนของการกระจายเสียงแพร่ภาพก็มีมาตรการควบคุมที่เต็มไปด้วยรายละเอียดจุกจิกโดย
กบว. แต่ขั้นตอนระหว่างหลังการขอจนถึงการผลิตรายการกลับไม่มีหน่วยงานไหนควบคุมดูแลเลย
"กบว. ไม่อาจเข้าไปตรงนั้นได้ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่รู้ ๆ กันอยู่ว่าเขาได้ไปแล้วทำอะไร
ข้อนี้ไม่ต้องถามผม ผมไม่ตอบ" วีรพล ดวงสูงเนิน ผู้อำนวยการกองงาน กบว.
เป็นเลขาของคณะกรรมการ กบว. โดยตำแหน่งเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องนี้
สำหรับความเป็นจริงเกี่ยวกับเรื่องคลื่นนับเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง
ปัญหาที่ว่าไม่มีความถี่ว่างดูจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดที่จะต้องพบ
"การมีสถานีมากนั้น เหตุก็เนื่องมาจากที่กฎหมายมีการเปิดโอกาสให้หน่วยงานบางหน่วยมีสิทธิ์พิเศษ
ซึ่งต่างก็รีบฉวยโอกาสกัน ขอกันเต็มที่อย่างกองทัพทั้งหลายก็มีหมด ส่วนเรื่องคลื่นยอมรับว่าค่อนข้างเต็ม
แต่จริง ๆ แล้ว เขาก็มีการสงวนคลื่นกันพอสมควร อาจจะมีเหลือบ้างในบางหน่วย
จองไว้โดยไม่ได้ใช้" แหล่งข่าวในวงการสื่อสารมวลชนตั้งข้อสังเกต
เรื่องการจองคลื่นดูเหมือนจะเป็นการปฏิบัติอันเป็นปกติที่คนในวงการต่างก็รู้ว่า
"เขาทำกันทั้งนั้น"
แหล่งข่าวใกล้ชิดกรมไปรษณีย์โทรเลขเล่าให้ฟังว่า "การ LOCK คลื่นเป็นเรื่องของอิทธิพลและผลประโยชน์
เพราะคนที่จองคลื่นได้ก็ต้อง "เส้น" พอสมควร และส่วนหนึ่งกรมไปรษณีย์เองมั่นล่ะมักจะใส่ชื่อเป็นเจ้าของคลื่นนั้นคลื่นนี้เอาไว้
แล้วก็เก็บคลื่นเหล่านี้ไว้เพื่อให้กับผู้ขอบางคนที่คัดสรรแล้ว หรืออาจมีการเสนอไปให้ผู้อยู่ในอำนาจบางคนใช้
อันนี้หมายถึงคลื่นที่ใช้ในการสื่อสารทั่ว ๆ ไป อีกอย่างหนึ่งก็คือโครงสร้างของกบถ.ที่ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของทหาร
หน่วยงานความมั่นคง ดูจากตรงนี้ก็บอกเล่าหลายอย่างได้"
ในด้านหนึ่งคงต้องเห็นใจกรมไปรษณีย์โทรเลขอยู่เหมือนกันในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบจัดสรรคลื่น
เนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับความกดดันหลายลักษณะ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ขอเป็นหน่วยราชการ
อย่างน้อยที่สุดก็คือความเกรงใจในแง่ที่เป็นราชการด้วยกัน ยิ่งกว่านั้นก็คือ
หลายหน่วยที่ขอมาก็อาจมีอำนาจและบารมีสูงมาก แท้จริงแล้วการที่มีกลไกอย่างกบถ.ซึ่งประกอบไปด้วยระดับผู้ใหญ่จากหลาย
ๆ หน่วยงานเกิดขึ้นมาช่วยทำหน้าที่เป็นเรื่องของการหาทางออกให้กับตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้การที่คลื่นมีชื่อคนจองไว้เต็มไปหมดก็ช่วยในแง่ของการทำให้การปฏิเสธทำได้ง่ายขึ้นมากส่วนที่ว่าได้ก่อให้เกิดภาวะของการเลือกปฏิบัติตามมา
เกิดการปิดกั้นหรืออะไรอื่น ๆ นั่นก็นับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวิทยุและโทรทัศน์ไม่ได้มีปัญหาในลักษณะที่กล่าวมามากนัก
หรือถ้ามีก็ไม่ใช่เป็นการจองคลื่นไว้เฉย ๆ แต่เป็นการจองในลักษณะของการขอเปิดสถานีเอาไว้มากมายไปหมดจนความถี่เต็ม
โดยเฉพาะย่าน VHF ไม่มีเหลือแล้วสำหรับทั้งโทรทัศน์และวิทยุ F.M.
คลื่นที่มีความถี่สูงมากหรือ VHF นี้คือช่วงความถี่ตั้งแต่ 30-300 เมกะเฮิรตซ์
(MHz) แถบคลื่นช่วงที่ได้รับการจัดให้ใช้สำหรับวิทยุกระจายเสียงระบบ F.M.
คือระหว่าง 80-108 MHz และมีการแบ่งช่องห่าง 0.5 เท่ากับมีอยู่ 40 ช่อง ซึ่งขณะนี้มีการครอบครองหมดแล้ว
ทางด้านโทรทัศน์มีการแบ่งช่องไว้ทั้งสิ้น 11 ช่อง ตั้งแต่ 2-12 ขณะนี้ยังเหลือช่อง
2, 4, 6, 8 และ 10 อยู่ แต่ก็ไม่สามารถใช้ได้ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากจะทำให้เกิดการรบกวนกัน
"จริง ๆ สามารถใช้ได้ทั้ง 11 ช่อง แต่ถ้าสถานีใกล้กันมากก็มีการรบกวน
จึงให้ใช้ช่องเว้นช่องแต่ถ้าเป็นคนละพื้นที่ อย่างต่างจังหวัดก็มีช่อง 7
ได้อีกและจริง ๆ เราก็ใช้คลื่นอยู่ทั้งหมด โดยแยกสลับพื้นที่กัน ถ้าจัด 11
ช่องในกรุงเทพฯ รับรองว่าดูไม่ได้เลยเพราะต่างออกมาแรง กวนกันเอง" รองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขอธิบาย
อย่างไรก็ตาม หากจะพูดถึงความเป็นไปได้เชิงเทคนิคเรื่องคลื่นสำหรับการเปิดสถานีใหม่ก็มิใช่ว่าจะสิ้นไร้ไม้ตอกเสียทีเดียว
ไม่ว่าจะเป็นวิทยุหรือโทรทัศน์ก็ตาม โดยทางด้านโทรทัศน์ออกจะดีกว่าเพราะยังมีความถี่ย่าน
UHF ให้ใช้ได้อย่างเต็มที่อีกถึงหลายสิบช่อง คุณสมบัติของคลื่นย่าน UHF ที่ต่างจาก
VHF ก็คือจะมีรัศมีการส่งสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างไกลน้อยกว่า แต่สามารถให้ภาพและเสียงที่มีคุณภาพดีกว่า
คมชัดกว่า
เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ชี้แจงถึงความเป็นไปได้ในเรื่องนี้เอาไว้ว่า "คลื่นยูเราทำแผนไว้แล้ว
เป็น 5 เครือข่ายคลื่นยูมีรัศมีทำการแคบก็ต้องมีหลายจุดจำนวนสถานีตั้งได้เยอะ
แต่ถ้าตั้งมากรัศมีบริการก็ต้องครอบคลุมพื้นที่เล็กลง"
ความหมายของตรงนี้คือ ถ้าจะใช้คลื่น UHF ให้ทำการแพร่ภาพไปถึงทั่วประเทศเหมือนกับช่อง
7 สี, ช่อง 9 หรือช่อง 3, ช่อง 5 ก็ตาม ก็จะมีได้อีก 5 เครือข่ายเท่านั้น
แม้จะมีช่องแบ่งได้ถึงกว่า 80 ช่อง แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องเป็นสถานีลูกข่าย-นั่นคือความเป็นไปได้ภายใต้ข้อจำกัดระดับหนึ่งในการจะมีสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่
ส่วนทางด้านวิทยุ ทางออกสำหรับภาวะอับจนที่เป็นอยู่นั้นอยู่ที่การแก้ไขทางเทคนิค
ต้องซอยให้ได้ช่องมากขึ้นด้วยการบีบแถบความถี่จาก 0.5 ให้แคบลง ซึ่งในทางหลักวิชาประกอบกับกฎเกณฑ์ของ
ITU สามารถบีบได้จนถึง 0.2 ซึ่งเท่ากับจะมีสถานีเพิ่มจาก 40 ช่องเป็น 100
ช่อง เพียงแต่ในทางปฏิบัติจริง ถ้าเป็นเช่นนั้นจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเลื่อนความถี่สถานีที่แต่เดิมลงตัวอยู่ที่ห่างช่วงละ
5 จาก 90 ถัดไปเป็น 90.5, 91, 91.5, 92, 92.5 ฯลฯ เพราะฉะนั้นแทนที่จะบีบเป็น
0.2 ทางที่ดีกว่าก็น่าจะบีบเป็น 0.25 ซึ่งก็เท่ากับจะได้สถานีเพิ่มอีกเท่าตัว
โดยสถานีเดิมไม่ต้องเปลี่ยนความถี่
"การทำอย่างนั้นในทางทฤษฎีตอบได้ 100% ว่าไม่มีความเสียหายอะไร รวมทั้งการรบกวนกันก็ไม่น่าจะเกิด
แต่ในทางปฏิบัติของบ้านเราทำไม่ได้เพราะในการขอตั้งสถานีที่ทำ ๆ กันมาแต่เดิม
มีการลักลอบเสริมกำลังส่งเกินกว่าที่ขอ เช่นได้รับอนุญาตให้ส่ง 10 กิโลวัตต์
แต่ส่งจริง 20 เพื่อให้ได้รัศมีทำการกว้างไกล เพื่อหวังโฆษณาหรืออะไรก็ตามแต่
เมื่อเป็นอยู่เช่นนี้ถ้าบีบลงไปก็จะเกิดการรบกวนกันอย่างบ้าคลั่งเลย ต้องคุมเรื่องกำลังส่งกันก่อน"
เลอสรร ธนสุกาญจน์ อาจารย์ประจำจุฬาฯ ผู้ซึ่งเป็นกรรมการพัฒนากิจการอวกาศของกระทรวงคมนาคมอยู่ด้วยชี้ถึงลักษณะพิเศษของสังคมไทยที่ไม่ค่อยเคารพกติกาและหลักการกันเลย
สำหรับวิธีการคุมที่เลอสรรเห็นว่าน่าจะเป็นทางแก้ปัญหาได้ก็คือ จะต้องมีการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ให้สถานีเป็นของเอกชน
เพราะ 1) เอกชนย่อมจะมีความเกรงกลัวเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมากกว่าเจ้าของเดิมซึ่งได้แก่ทหารหรือราชการ
2) คนฟังสามารถรู้ได้ถ้ามีการเพิ่มกำลัง ซึ่งเจ้าของที่เป็นเอกชนจะแคร์คนฟังมาก
3) เมื่อเกิดการกวนกัน ทั้ง 2 สถานีที่เป็นคู่กรณีจะเสียหายทั้งคู่ หรือเพิ่มฝ่ายเดียวฝ่ายที่เสียหายก็ย่อมต้องโวย
ทำให้มีการตกลงในทางที่อยู่ในกฎเกณฑ์ได้
อุปสรรคเรื่องคลื่นเป็นอันว่าพอมีทางออกอีกส่วนหนึ่งก็คืออุปสรรคทางซีก
กบว. ว่าด้วยด้านนโยบายในการออกใบอนุญาตจัดตั้งสถานี
วีรพล ดวงสูงเนิน ผู้อำนวยการกองงาน กบว. และเลขา กบว. กล่าวว่า "การเปิดให้เอกชนนั้นแล้วแต่นโยบายของรัฐขึ้นกับคณะรัฐมนตรีแต่ละชุดว่ามีนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับกิจการด้านกระจายเสียง
ถ้ามีนโยบายจะให้เป็นของเอกชนหรือของบริษัทมหาชนตามที่พูด ๆ กันมากตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม
ก็ย่อมกระทำได้โดยร่างกฎหมายขึ้นมา ถ้าผ่านสภาฯ ก็ใช้ได้แล้ว กบว. ไม่เกี่ยวไม่ใช่ผู้ร่างกฎหมาย
แล้วแต่นโยบายของรัฐบาล แต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายก็ต้องมีกฎหมายรองรับมีระเบียบ
มีเครื่องมือ"
คำว่า "นโยบาย" เป็นคำที่มีความสำคัญมากและเป็นเรื่องของผู้บริหารประเทศ
ไม่ใช่เกิดจากองค์กรที่มีลักษณะเป็น POLITICAL BODY อย่าง กบว. แม้ว่าบางครั้งเหมือนมีอำนาจมากต่อวิทยุและโทรทัศน์เป็นคณะกรรมการที่คอยกำกับนโยบายด้าน
ELECTRONIC MEDIA นี้โดยตรง สามารถชี้ขาดตั้งแต่ในขั้นของการขอตั้งสถานีจนถึงการควบคุมด้านเนื้อหารายการ
ขีดกรอบแห่งการหารายได้ด้านโฆษณาแต่ส่วนที่เปราะบางก็คือ สถานภาพของ กบว.
เองอยู่ที่การชี้ขาดของคณะรัฐมนตรีเท่านั้นเอง
กบว. ทั้งคณะอาจถูกยุบเลิกได้โดยมติคณะรัฐมนตรีเนื่องจากกำเนิดมาเช่นนั้น
นอกจากนี้ตำแหน่งประธานคณะกรรมการนั้นก็คือนายกรัฐมนตรีหรือคนที่นายกฯ มอบหมาย
ความเป็นอยู่ของกบว. จึงมีลักษณะที่ผันผวนไปตามการเมืองและขึ้นอยู่กับแนวนโยบายของคณะรัฐบาลแต่ละชุดเป็นสำคัญ
การทำงานด้านนโยบายส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่รับผิดชอบจึงได้รับผลกระทบจากตัวแปรเหล่านี้ไปด้วย
ในการใช้อำนาจพิจารณาอนุญาติตั้งสถานีนั้น กบว. ใช้การประชุม เช่นเดียวกับการตัดสินในเรื่องอื่น
ๆ ทั้งหมดที่กระทำในรูปของคณะกรรมการเสมอและกรอบแห่งการพิจารณาก็อาศัยแนวนโยบายที่มีอยู่แล้วนั่นเอง
"นโยบายตอนนี้ก็คือให้ชะลอและระงับการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงระบบ
AM., F.M. และสถานีโทรทัศน์ในระบบอื่นนั่นคือ UHF ไว้ก่อน เป็นนโยบายที่เกิดจากมติคณะรัฐมนตรีตามสิ่งที่
กบว. เสนอขึ้นไป ออกมาตั้งแต่ประมาณปี 2530 ก่อนที่ผมจะมาเป็นเลขา กบว. สมัยนั้นมีการขอกันมากมีปัญหายุ่งยาก
ท่านรองสนธิ บุณยะชัยเลยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งพิจารณาเรื่องนี้ส่งให้
ครม. อนุมัติเป็นมติ" วีรพล ดวงสูงเนินเล่าให้ฟัง
เรื่องการอนุญาตตั้งสถานีจึงเป็นอันจบตั้งแต่นั้นมา เพราะนโยบายที่ออกมาจำกัดกรอบการตัดสินใจไว้แล้ว
"ใครขอมาก็ติดหมดตอนนี้ ยากที่จะได้นอกจากหน่วยไหนบอกว่าถ้าไม่ได้สถานีต้องตายแน่บรรลัยแน่
อันนี้อาจจะเป็นไปได้ ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ" เลขา กบว. กล่าวติดตลก
เมื่อปี พ.ศ. 2530 เนื่องจากสภาฯ ได้ผ่านร่าง พรบ. วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ฉบับใหม่ออกมาแก้ไขฉบับปี
2498 และได้โยกเอาอำนาจหน้าที่ด้านการควบคุมและกำกับดูแลสื่อโทรทัศน์-วิทยุไปให้เป็นของกรมประชาสัมพันธ์
จากอำนาจหน้าที่จำนวน 8 ข้อที่มีอยู่เดิม ขณะนี้ กบว. จึงเหลืออยู่เพียง
2 ข้อเท่านั้นคือข้อ 1 และ 2 ที่เป็นอำนาจเกี่ยวกับการตั้งสถานีนั่นเอง
นี่นับได้ว่าสั่นคลอนสถานภาพของ กบว. ไม่น้อยเพราะจริง ๆ แล้วเมื่อนับตั้งแต่กฎหมายมีการประกาศใช้
กบว. ก็ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจในการเซ็นเซอร์รายการแล้ว ที่ทำต่อมาจนกระทั่งถูกนายกฯ
อานันท์ ปัญยารชุนยกเลิกไปเมื่อต้นปีนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไปพลางระหว่างที่รอให้มีการกำหนดรายละเอียดในระเบียบและกฎกระทรวงเท่านั้นเอง
หลังจากนั้นแล้วหน้าที่ กบว. ก็แทบไม่ต้องทำอะไรนอกจากคอยปฏิเสธการขอตั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์
"โลกเปลี่ยนไปแล้ว การตั้งสถานีของทหารเป็นเรื่องที่ล้าสมัย แต่ความคิดที่จะทำทีวีใหม่ยังไม่ล้าสมัยเพียงแต่ว่า
ใครจะเป็นเจ้าของแต่ต้องไม่ใช่กองทัพไม่มีเหตุผลที่จะเป็นเช่นนั้น ผมพบว่ากองทัพมีสื่ออยู่ในมือมาก
ทีวี 2 ช่อง สถานีวิทยุอีกเป็นร้อย แต่ไม่รู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ
หรือแม้แต่แก้ภาพพจน์ตัวเองก็ยังทำไม่เป็น" สมเกียรติ อ่อนวิมล แห่งแปซิฟิกกรุ๊ปประกาศกร้าว
จากการศึกษาของสมเกียรติเองเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว เขาพบว่า ถ้าจะลงทุนทำโทรทัศน์
UHF สัก 1 ช่อง ต้องใช้งบประมาณ 1,200 ล้านบาทสำหรับค่าเช่าอาคารสถานที่และเครือข่าย
ไม่รวม SOFTWARE อื่น ๆ ถ้าคิดจากตัวเลขนี้ บวกเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขวันเวลาที่เปลี่ยนไป
มีเงิน 2,000 ล้านก็เป็นเจ้าของโทรทัศน์ได้ ส่วนถ้าเป็นสถานีวิทยุ ตัวเลขก็จะอยู่ที่ระดับ
50-100 ล้านบาท
"ธุรกิจทีวีเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ ธุรกิจวิทยุก็ยังพอทำได้ในต่างจังหวัด
ผมเห็นด้วยกับการเปิดเสรีเพราะว่าปัจจุบันถึงจะเป็นชื่อของหน่วยราชการแต่เขาก็ไม่ได้เป็นคนทำเองอยู่แล้ว"
ประภากร จุลกะรัตน์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายกิจการโทรทัศน์และวิทยุแห่งบริษัทล็อกซเล่ย์แสดงทัศนะ
ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับการค้าอุปกรณ์ตั้งสถานีมานานเกือบ 10 ปีในบริษัทที่ครองส่วนแบ่งตลาดถึงกว่า
60% ประภากรยืนยันว่าด้านเงินลงทุนสำหรับสถานีแห่งใหม่ไม่ได้แพงอย่างที่คิด
โดยเฉพาะถ้าพูดถึงอุปกรณ์สถานี ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ๆ คืออุปกรณ์เครื่องส่งและอุปกรณ์ผลิตรายการนั้นยิ่งใช้เงินไม่เท่าไร
หนึ่งสถานีโทรทัศน์ตกประมาณ 100 ล้านบาท ในขณะที่หนึ่งสถานีวิทยุราคา 5-10
ล้านบาท
เขากล่าวว่า "สถานีแต่ละแห่งราคาไม่เท่ากันขึ้นกับอุปกรณ์ที่เลือกใช้
ของดีราคาก็ต้องแพง ซึ่งในแง่ธุรกิจถ้าจะทำจริง ๆ อย่างน้อยก็ต้องเอาคุณภาพระดับปานกลาง
และอุปกรณ์ทุกชนิดมีอายุการใช้งาน ถ้าบำรุงรักษาดีก็ใช้ได้ประมาณ 10 ปี แต่ถ้าเป็นทีวีคลื่นยูก็จะแพงกว่าวีด้วยเฉพาะเครื่องส่งอย่างเดียวให้ได้เขตบริการเท่ากันต้องใช้เงิน
40 ล้าน ไม่รวมอุปกรณ์อื่น แต่ถึงที่สุดรวมทุกอย่างก็ไม่ได้ต่างกันมาก"
โดยทั่วไปแล้วทุนกองใหญ่ที่ต้องใช้จึงไม่ใช่ส่วนของ HARDWARE แต่เป็นเรื่อง
SOFTWARE มากกว่า
อย่างไรก็ตาม เรื่องงบประมาณสูงหรือต่ำไม่ใช่ปัญหา ขอเพียงให้มีแรงจูงใจที่ดีมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า
นักธุรกิจที่ดีก็ย่อมจะไม่หวั่นไหวต่อจำนวนเม็ดเงินมหาศาลที่ต้องทุ่มลงไป
"ผมว่าทุกคนอยากลงทุนเพราะเป็นธุรกิจที่มีรายได้ดีพอสมควร แต่ถ้าเปิดกันมาก
ๆ ก็น่าเป็นห่วง เพราะรายได้ของธุรกิจทีวี-วิทยุอยู่ที่ธุรกิจโฆษณาและเงินงบประมาณของโฆษณาเหมือนอยู่ในถ้วยกาแฟถ้วยหนึ่ง
เพราะฉะนั้นตั้งสถานีเพิ่มรายได้ก็ต้องแบ่งออกไป กระจายออกมากขึ้น คนที่จะกระเทือนที่สุดก็คือสถานีที่มีอยู่แล้ว
แต่ถ้าถามความเห็น ผมว่าเปิดไปเถอะเพราะจะทำได้ไม่มากหรอก" ประภากรกล่าว
พร้อมกับระบุด้วยว่าถ้ามีโอกาสสำหรับเอกชนเมื่อใด ล็อกซเล่ย์เองก็เป็นผู้หนึ่งที่สนใจที่จะเป็นผู้บุกเบิก
ถ้ามองในเชิงเศรษฐศาสตร์วิทยุและโทรทัศน์ก็คือสินค้าและบริการสาธารณชน
หรือเรียกว่า PUBLIC GOODS มีลักษณะสำคัญคือไม่เป็นปฏิปักษ์ในการบริโภค หมายถึงบริโภคโดยคนหนึ่งแล้ว
ไม่เป็นเหตุให้คนอื่น ๆ ไม่ได้รับ และการบริโภคที่เพิ่มขึ้นไม่ก่อให้เกิดผลกระทบถึงต้นทุนการผลิต
ตามลักษณะเช่นนี้จึงจัดว่าเป็นสินค้าที่ไม่ควรคิดค่าบริการ แนวทางปฏิบัติคือรัฐบาลต้องเป็นผู้จัดสรรงบประมาณเพื่อทำหน้าที่บริการประชาชนซึ่งระบบของไทยก็เป็นเช่นนั้น
เพียงแต่ประชาชนต้องจ่ายค่าบริการทางอ้อมด้วย โดยการซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคที่มีราคาแพงขึ้นเพราะการโฆษณา
จริง ๆ แล้ววงเงินงบประมาณการโฆษณาหรือขนาดของ "ถ้วยกาแฟ" ที่ประภากรกล่าวถึงก็นับว่ามีขนาดใหญ่ไม่ใช่น้อย
และจากสถิติแต่ละปีที่ผ่านมาก็มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยตลอดด้วย
ในปี 2532 งบโฆษณาของโทรทัศน์มีเท่ากับ 4,957.9 ล้านบาท ขณะที่วิทยุมี
1,300 ล้านบาท ครั้นในปีที่ผ่านมาคือ พ.ศ. 2534 ถ้วยกาแฟของทั้งสองสื่อก็ขยายขึ้นเป็น
8,180.2 ล้านบาทและ 1,870 ล้านบาทตามลำดับ
เทียบกับปริมาณสื่อที่มีอยู่สัดส่วนนับว่าเข้ารูปอย่างดีพอสมควร เป็นเส้นทางที่มีความสดใส
(อันเป็นเหตุให้หน่วยงานต่าง ๆ ขอเปิดสถานีกันมิได้ว่างเว้น) ยิ่งหากนับถึงผลตอบแทนในแง่ที่ไม่ใช่เงินกำไร
แต่เป็นผลตอบแทนเชิงนามธรรม เช่นอิทธิพล อภิสิทธิ์ ฯลฯ ยิ่งเป็นเสน่ห์ที่เย้ายวน
อย่างไรก็ตาม ถ้วยกาแฟหรือบ่อกาแฟที่มีอยู่นี้มิใช่ว่าทุกฝ่ายจะมีสิทธิ์ได้ส่วนแบ่งเท่ากัน
ภาวะการแข่งขันนั้นมีอยู่อย่างค่อนข้างรุนแรง หากเผอิญหน้าใหม่ ๆ มีโอกาสเข้าไปได้จริง
จะอยู่รอดได้ก็ต้องมีพลังที่แข็งแกร่งและมีสายป่านยาวพอสมควรทีเดียว หรือมิเช่นนั้นก็ต้องชัดเจนว่าจะทำอะไรเพื่ออะไร
"อาจต้องเลือกเอาว่า คุณจะทำเอาร่ำรวยหรือให้เกิดความภูมิใจ สำหรับผมต้องการหาสื่อทำงานไม่ใช่หาสื่อเพื่อแย่งโฆษณา
ถ้าได้คลื่นและหาเงินลงทุนได้ผมจะทำให้เป็นสื่อที่คนทำภูมิใจได้ อาจจะเป็นแค่สถานีเล็ก
ๆ แต่ไม่ต้องท้อแท้ ไม่ต้องคอยเหนื่อยหน่ายกับอำนาจที่มาปิดกั้นเราอยู่อย่างมีเกียรติไม่จำเป็นต้องใหญ่โตมาก
ๆ อย่างเช่นช่อง 3-5-7-9 " สมเกียรติ อ่อนวิมล ระบุถึงความมุ่งมั่นของเขาโดยเน้นว่าขอเพียงให้สามารถเป็นเจ้าของสถานีส่งได้เองเท่านั้น
เรื่องอื่นล้วนไม่ใช่ปัญหา
ถ้าเป็นไปได้จริง แน่นอนว่ารูปแบบของสถานีคงจะต้องเปลี่ยนไปด้วย ทั้งสาเหตุจากการมีรัศมีอันจำกัดของคลื่น
UHF และจากเงื่อนไขความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ซึ่งแนวทางที่จะเกิดขึ้นก็คือเมื่อผู้ผลิตมีมากขึ้นการแบ่งลักษณะตลาดก็จะต้องชัดเจนขึ้น
สื่อแต่ละช่องจะต้องเจาะจงกลุ่มเป้าหมายของตนเองชัดเจนขึ้นและจำกัดในลักษณะเดียวกับที่สื่อนิตยสารทำอยู่
"การให้บริการจะเฉพาะด้านขึ้นเช่น เป็นสถานีเพื่อข่าว เพื่อกีฬา เพื่อเด็ก
เป็นด้านภาพยนตร์ ด้านดนตรีคลาสสิก ฯลฯ" อรทัย ศรีสันติสุขแห่งคณะวารสารศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่หลายคนอยากให้เกิดขึ้น
ถ้าตัดข้อจำกัดทางด้านนโยบายออกไป การตั้งสถานีใหม่น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้อย่างแน่นอนเพียงแต่ว่าในความเป็นจริงแล้ว
การตัดข้อจำกัดบางข้อนั้นช่างยากเสียเหลือเกิน
อย่างไรก็ตาม เสรีภาพของประชาชนกับเสรีภาพของสื่อมวลชนนั้นเป็นเสมือนภาพที่ซับซ้อนทับกันแทบจะแนบสนิท
ยากที่จะแยกขาดออกจากกันได้ ยิ่งระบบสังคมเปิดกว้างมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเติบโตมากขึ้น
ประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้นระบบการสื่อสารมวลชนก็ย่อมต้องได้รับการพัฒนาให้ก้าวไปพร้อมกับภาคส่วนอื่น
ๆ ของสังคม ทั้งในด้านของเทคโนโลยี การบริหารและการมีเสรีภาพ
ในทางกลับกันหากการปิดกั้นหรือครอบงำสื่อมวลชนยังคงมีอยู่ ไม่ว่าในรูปแบบใด
หรือระดับใด แม้ว่าภาคอื่น ๆ จะก้าวหน้าไปไกลมากแค่ไหนสังคมนั้นก็ยังไม่อาจนับว่าศิวิไลซ์จริง
ซึ่งในท่ามกลางกระแสเสรีที่ไหลเชี่ยวกรากไปทั่วโลกขณะนี้การปิดกั้นและการครอบงำย่อมไม่อาจต้านทานอยู่ได้นาน
หากยิ่งฝืนมากก็ยิ่งต้องภินท์พังมาก
และนี่คือสัจธรรม ……