Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน14 กุมภาพันธ์ 2551
บริษัทอสังหาฯมึนต้นทุนคอนโดฯพุ่งหวั่น!ทิ้งโครงการ             
 


   
search resources

Real Estate




เอกชนหวั่นคอนโดฯราคาถูกสร้างไม่ได้ เหตุต้นทุนก่อสร้างพุ่งกว่า 20,000 บาท/ตร.ม. แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัวควบคุมต้นทุน หวังรัฐบาลใหม่ใช้อสังหาฯกระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้บริหารธนาคารเกียรตินาคินฯยอมรับ กำไรบริษัทอสังหาฯลดลง ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯระบุเงินเฟ้อ-ราคาน้ำมันแนวโน้มลดลง ปัจจัยบวกตลาอสังหาฯปี51 ด้านผู้พัฒนาโครงการคอนโดฯเร่งเสริมจุดขายสินค้า ค่ายAP ส่งโครงการร่วมทุน Life @ MRT รัชดา ดึง"Calum Srigley" ดีไซน์เนอร์ชาวแคนาดา เนรมิตโฉมหน้าอาคารให้สวยงามเทียมเท่าระดับสากล บริษัทแอล.พี.เอ็น.ฯ ชูจุดขายโครงการลุมพินี วิลล์ รามคำแหง 2 กับโครงการแอร์พอร์ต ลิงก์

วานนี้ (13 ก.พ.51) ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์จัดงานสัมมนาเรื่อง “ เจาะกลยุทธ์บุกตลาดอสังหาริมทรัพย์ กรุงเทพ—ปริมณฑล 2551 โดยนายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2551 น่าเป็นห่วง เนื่องจากราคาวัสดุปรับขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาเหล็กทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างปรับสูงขึ้น อาจทำให้โครงการคอนโดมิเนียมที่มีการขายไปแล้วก่อนหน้านี้ ไม่สามารถก่อสร้างได้หรือผู้ประกอบการทิ้งบางส่วน โดยเฉพาะราคา 30,00 บาท/ตร.ม.เชื่อว่าจะไม่สามารถก่อสร้างได้ เพราะเดิมต้นทุนการก่อสร้างตร.ม.ละ 10,000 กว่าบาทซึ่งรวมชุดครัว แต่ปัจจุบันขึ้นไปถึง 20,000 บาท/ตร.ม. ส่วนคอนโดฯที่มีระดับราคาสูงกว่านั้น อาจมีการทิ้งไปบางส่วน ซึ่งปัจจุบันมีโครงการคอนโดมิเนียมกว่า 200 โครงการ

“จะต้องรอดูสถานการณ์อาคารชุดแม้ว่าจะขายดี แต่จะสามารถก่อสร้างได้หรือไม่ เพราะต้นทุนสูงขึ้นมาก คอนโดฯ ตรม.ละ60,000-70,000 บาท อาจมีการทิ้งบางส่วน ส่วนตรม.ละ 30,000 บาท อาจสร้างไม่ได้ เพราะค่าก่อสร้าง 20,000 กว่าบาท แต่ตรม.ละ 1 แสนคงไม่มีใครทิ้งแน่นอน” นายอิสระกล่าว

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กรมการค้าภายในได้ประกาศปรับขึ้นราคาแนะนำเหล็กเส้นประจำปักษ์แรกเดือน ก.พ. 51 เพิ่มขึ้น 1.50 บาทต่อกิโลกรัม มีผลตั้งแต่วันที่ 1-15 ก.พ.นี้ และมีแนวโน้มราคาแนะนำเหล็กในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับราคาขึ้นอีก เพราะตามมติของคณะอนุกรรมการพิจารณาเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาเหล็กเส้นถึง 3 บาทต่อกิโลกรัม

รับมือกฎหมายและกฎสิ่งแวดล้อมใหม่

นายอิสระกล่าวว่า สำหรับกฎหมายแอสโครว์แอคเค้าท์ หรือพ.ร.บ.ดูแลผลประโยชน์คู่สัญญา ที่ต้องมีคนกลางดูแลคู่สัญญา โดยอาจเป็นธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน สิ่งที่ดีคือ บริษัทขนาดกลาง-เล็กมีศักยภาพใกล้เคียงกับขนาดใหญ่ เงินไม่สูญ หน่วยของบ้านที่สร้างเสร็จอาจจะมีลดลง ความกดดันสร้างเสร็จก่อนขายต้องลดลง เพราะเป็นบ้านสั่งสร้าง ทำให้บริษัทขนาดกลาง-เล็กมีโอกาสในทางธุรกิจ ซึ่งพรบ.ที่ออกมาแล้วจะต้องรอกม.ลูกอีก 8-9 ฉบับ จะต้องใช้เวลาอีก 1 ปีจึงจะมีผลบังคับใช้เพราะต้องรอ กม.ลูก ส่วนปัจจัยลบผู้ประกอบการไม่สามารถนำเงินดาวน์ไปใช้ได้ ซึ่งสถาบันการเงินอาจเปลี่ยนโครงสร้างการให้สินเชื่อ อาจให้สินเชื่อมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการต้องแบกภาระดอกเบี้ยมากขึ้น

ส่วนกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สวล.) ที่หลายข้อกำหนดมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น แอร์ 2 ตัน ปลูกต้นไม้ 1 ต้นปัญหาไม่ใช่ต้นไม้ แต่ต้องมีพื้นที่ก่อสร้างเพิ่มอีก1-2 เท่า หากสวล.มีกฎเกณฑ์ออกมา ควรมีการศึกษาเป็นรายกรณีและมีกฎที่จะชัดเจน โดยผู้ประกอบการต้องรู้ล่วงหน้าว่าเกณฑ์พื้นฐานที่ต้องปฏิบัติตามสวล.มีอะไรบ้าง และส่วนไหนที่อ่อนไหวควรพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ อย่างไรก็ตามการพัฒนาที่อยู่อาศัยจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติและอยู่ภายใต้กฎหมายหลายฉบับรวบแล้ว 40-50 ฉบับ

สำหรับแนวคิดที่จะรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวกับอสังหาฯ ให้เป็นวันสต็อปเซอร์วิสนั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการให้เกิดขึ้น เพราะจะช่วยลดต้นทุนเรื่องเวลาส่งผลต่อดอกเบี้ย และสามารถดำเนินการคล้ายกับบีโอไอ ดำเนินการกับอุตสาหกรรม

ต้นทุนค่าก่อสร้างขยับ

ด้านนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงสร้างตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันเปลี่ยนไป จากยอดขายทั้งตลาด 1.9 แสนล้านบาท ในปี 2550 เป็นสินค้าประเภทคอนโดมิเนียม 48% จากเดิมในปี 2549 มีเพียง 36% ส่วนบ้านเดี่ยวมีจำนวนลดลงเหลือ 33% จาก 43% ส่วนทาวน์เฮาส์มีสัดส่วนคงเดิม

ในขณะที่สถิติการขายในปี 2550 คอนโดมิเนียมมีสัดส่วนการมากที่สุด 76% ทาวน์เฮาส์ 16% ในขณะที่บ้านเดี่ยวมีเพียง 8% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มขยับเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จะเริ่มเห็นคอนโดฯระดับบนที่เสนอขายตารางเมตรละ 200,000 บาทในเขตศูนย์กลางธุรกิจ(ซีบีดี) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายมีแผนจะพัฒนาจำนวนกว่า 1,000 ยูนิต มีมูลค่า10-20% ของตลาดรวม เน้นกลุ่มลูกค้าชาวต่างไทยและชาวไทย

“เมื่อ1-2 ปีที่แล้วทุกคนมีความสุขกับการขายคอนโดฯ แต่ตอนนี้คงมีความทุกข์แล้วกับราคาเหล็กที่กำลังปรับขึ้น ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับลดต้นทุน และต้องควบคุมต้นทุนให้ได้ ต้นทุนของอสังหา 40% คือค่าก่อสร้าง ซึ่งต้องรอเงินกู้ ปีที่แล้วโครงสร้างตลาดเป็นของรายใหญ่ ซึ่งไม่ใช้เงินกู้จากสถาบันการเงิน เราต้องปรับตัวไปหาตลาดตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ผู้ซื้อไม่ปรานี ผู้แพ้สำหรับรัฐบาลใหม่ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามาจากรัฐบาล พตท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีการใช้อสังหาฯเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะอสังหาฯคิดเป็น 6-10% ของจีดีพี” นายประเสริฐกล่าว

แบงก์ชี้อบริษัทสังหาฯหั่นราคาขายกระทบกำไร

ด้านนายธวัชชัย สุทธิกิจพิศาล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปัจจุบันอุตสาหกรรมอสังหาฯ มีกำไรลดลง โดยดูจากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์พบว่า ในปี 2549 มีกำไรสุทธิที่ 14% ส่วนบริษัทที่พัฒนาเฉพาะบ้านเดี่ยวกำไรลดลงเหลือ 5-6 % ส่วนคอนโดฯ กำไรอยู่ที่ระดับ 10-15% เพราะขายได้น้อยลงจากค่าใช้จ่าย และจำนวนสินค้าที่มีมากกว่าความต้องการ ทำให้ปรับขึ้นราคาไม่ได้ อีกทั้งต้นทุนค่าก่อสร้างปรับขึ้นอีกด้วย สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย มีสองแนวทาง หากปรับขึ้นจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากประชนรากหญ้า จะใช้นโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ธนาคารเกียรตินาคินทำธุรกิจกับลูกค้ากลาง-เล็กมาตลอด แต่การที่เราเล็กจะทำให้ปรับตัวเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้เปรียบ เพราะวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับที่อยู่อาศัยคือที่ดิน รายใหญ่จะต้องซื้อที่ใหญ่ลงทุนมากจึงจะคุ้มทุน ขณะที่รายย่อยสามารถซื้อที่ดินแปลงเล็กๆ แทรกเข้าไปได้ทุกตลาด สายพันธ์ที่อยู่รอดได้ไม่ใช่สายพันธ์ที่ใหญ่ที่สุด แต่สายพันธ์ที่อยู่รอดได้คือผู้ที่ปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด” นายธวัชไชยกล่าว

แห่เปิดคอนโดฯราคาต่ำ3ล้านบาท

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โครงการบ้านจัดสรรมีการลงทุนลดลงตามสภาพของตลาด ที่มีปัจจัยเชิงลบจากเงินเฟ้อและน้ำมันจนส่งผลให้กำลังซื้ของผู้บริโภคลดลง ขณะที่ตลาดอาคารชุดหรือคอนโดฯ มีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดรวมยังสามารถขยายตัวในอัตราที่เท่าๆ กับช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้ตลาดอาคารชุด หรือคอนโดฯยังขยายตัวอยู่คือ ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า ที่ช่วยลดต้นทุนและล่นระยะเวลาในการเดินทาง ทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อคอนโดฯมากขึ้น

" หากในปี51 นี้ แนวโน้มเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันมีทิศทางจะปรับลดลง ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นให้เริ่มฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง ซึ่งหากรัฐบาลเดินหน้าโครงการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า9 เส้นทางตามแผนแม่บทที่วางไว้ คาดว่าจะส่งผลให้ตลาดบ้านเดี่ยวในย่านชานเมืองฟื้นตัวกลับในระยะใกล้ได้อย่างแน่นอน" นายสัมมากล่าว

นายสัมมา กล่าวว่า จากผลการสำรวจตลาดอสังหาฯในปี50ของ ศูนย์ข้อมูลฯ ในพื้นที่ กรุงเทพ –ปริมณฑลพบว่า มีโครงการที่อยู่อาศัยสะสมจากปี49จนถึงไตรมาส 3 ปี 2550 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขายรวม 1,157 โครงการ จำนวนรวม 231,164 หน่วย แบ่งออกเป็นบ้านเดี่ยว 951โครงการ จำนวน 153,648 หน่วย (ในพื้นที่กทม.403 โครงการ จำนวน 53,655 หน่วย) และโครงการอาคารชุด 206 โครงการ จำนวน 77,516 หน่วย (ในพื้นที่กทม.185 โครงการ จำนวน 62,880 หน่วย ) โดยระดับราคาขายอาคารชุดประมาณ 44%หรือ 34,351 หน่วย มีราคาขาย 1 – 2.99 ล้านบาท

สำหรับโครงการอาคารชุดมีอัตราการระบายออก ณ ไตรมาส3 ปี50 ทั้งหมด48,732 หน่วย เป็นหน่วยที่ขายได้ใหม่ในช่วงไตรมาส3 ปี2550 จำนวน8,656 หน่วย และมีหน่วยเหลือขายรวมทั้งสิ้น28,793 หน่วย ในจำนวนนี้เป็นบ้านสร้างเสร็จเหลือขาย จำนวน4,627 หน่วย คิดเป็น16%ของหน่วยเหลือขายทั้งหมด โดยอัตราการดูดซับของตลาด (Absorption rate) ในช่วงไตรมาส3ปี2550อยู่ที่ 23% กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีอัตราการดูดซับสูงสุด 29%

ผู้นำตลาดคอนโดฯประชันจุดขาย

นายวิษณุ สุชาติล้ำพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (AP) เปิดเผยว่า จากการร่วมทุนทางธุรกิจกับกลุ่มแปซิฟิค สตาร์ ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาคอนโดมิเนียม 2 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 6,000 ล้านบาทนั้น ล่าสุดบริษัท มีแผนเปิดตัวโครงการแรก คือ "Life @ MRT รัชดา" มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัย ในย่านรัชดาภิเษก รัชโยธิน ลาดพร้าว วิภาวดีรังสิต โดดเด่นด้วยทำเลที่ตั้งเพียงก้าวเดียวถึงรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีรัชดาภิเษก โดยเป็นอาคารชุดพักอาศัยสูง 37 ชั้น 1 อาคาร และสูง 32 ชั้น 1 อาคาร จำนวนรวม 883 ยูนิต ราคาเริ่มต้นเพียง 73,000 บาทต่อตร.ม. โดยตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.นี้ เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน ทางบริษัทฯได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าลงชื่อแสดงความต้องการห้องชุดล่วงหน้า (Book Build) ณ สำนักงานขายกลาง ภายในศูนย์การค้าเอสพละนาด (Esplanade) ซึ่งการเปิดBook Build เป็นกลยุทธ์อีกรูปแบบหนึ่งที่บริษัทฯนำมาใช้ เพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริง

"ในปีนี้ APมีเป้าหมายการพัฒนาสินค้าและบริการให้ก้าวเกินคู่แข่งในตลาด โดยเฉพาะด้านโปรดักส์ ดีไซน์ โดยได้นำความรู้จากต่างชาติเข้ามาพัฒนาสินค้าในหลายๆ ด้าน ที่เห็นได้ชัด คือ การปรับโฉมด้านสถาปัตยกรรมให้เข้าสู่ระดับสากลยิ่งขึ้น ด้วยการว่าจ้าง "Calum Srigley" ดีไซน์เนอร์ชาวแคนาดา ดำเนินการออกแบบงานด้านสถาปัตยกรรมให้แก่ 2 โครงการที่เกิดขึ้นจากการร่วมทุน โดยประเดิมที่โครงการรัชดาภิเษก" นายวิษณุกล่าว

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN เปิดเผยถึงแผนการพัฒนาโครงการลุมพินี วิลล์ รามคำแหง 26 ว่า เป็นการพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบรับกระแสความต้องการของผู้พักอาศัยในย่านรามคำแหง บางกะปิ ลาดพร้าวที่มีปริมาณมาก โดยยังคงมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักศึกษา คนทำงาน หลังจากก่อนหน้านี้ บริษัทได้เปิดขาย 2 โครงการที่บริษัทฯเข้าไปบุกเบิกทำเลใหม่ ภายใต้แบรนด์ "ลุมพินี วิลล์" และ "ลุมพินี คอนโดทาวน์" จำนวนกว่า 4,000 ยูนิต มูลค่าโครงการรวม 3,800 ล้านบาท

สำหรับโครงการลุมพินี วิลล์ รามคำแหง 26 อาคารชุดพักอาศัยสูง 8 ชั้น จำนวน 5 อาคาร รวม 998 ยูนิต มูลค่าขายกว่า 1,250 ล้านบาท ในราคาห้องชุดเริ่มต้นเพียง 9.8 แสนบาทเศษ ผ่อนดาวน์ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน พร้อมเปิดขาย 16 ก.พ.นี้

"ทำเลดังกล่าวมีความน่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะการที่อยู่ใกล้รถไฟฟ้าโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรรภูมิ หรือ แอร์พอร์ตลิงก์ มีจุดเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT โดยแอร์พอร์ตลิงก์กำหนดแล้วเสร็จก.พ.2552 อีกทั้งบริษัทยังเตรียมบริการรถรับและส่งผู้อยู่อาศัยไปยังระบบคมนาคมที่สำคัญต่างๆ "นายโอภาสกล่าว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us