"แบงก์ทหารไทยกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติศรัทธาจากแรงผลักของพฤษทมิฬ นับจาก
พ.ศ. 2500 ถึงปัจจุบัน แบงก์ทหารไทยเพิ่มทุนไปแล้ว 10 ครั้ง ครั้งสำคัญที่ทำให้สัดส่วนถือหุ้นกองทัพลดลงคือปี
2526 เพราะจำเป็นต้องนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จากนั้นมาการเพิ่มทุนไม่ได้มีผลต่อสัดส่วนผู้ถือหุ้นเลย
กองทัพยังคงถือหุ้นอยู่ 36.7% ในแต่ละปีสถาบันกองทัพยังได้รับเงินปันผลในจำนวนมหาศาลถ้ารวม
7 ปีให้หลังก็รับไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท แค่นี้ก็คงพอรู้แล้วว่าแบงก์แห่งนี้
ทหารคงไม่ปล่อยให้พ้นมือแน่นอน แม้ว่าผู้บริหารมืออาชีพจะยืนยันว่าพวกเขาได้รับอิสระในการทำงาน
แต่ที่มาของพวกเขาก็มาจากคณะกรรมการทหาร ซึ่งข้อบังคับของแบงก์ก็เปิดช่องให้กรรมการใช้อำนาจแบบไม่จำกัดเสียด้วย"
"THAI MILITARY'S FINANCIAL POWER REMAINS" นี่คือข่าวพาดหัวใหญ่ของเอเชี่ยนวอลล์สตรีท
เจอร์นัล ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน 2535 ถึงผู้นำกองทัพไทยที่ฉาวโฉ่ไปทั่วโลก
ถ้าจะแปลกันอย่างไม่ต้องสละสลวยนักก็น่าจะภาคภาษาไทยตามเนื้อหาของบทความได้ว่าอำนาจเงินของผู้นำทหารไทยยังทรงอิทธิพลอยู่
ในเนื้อความของซินเทีย โอเวนส์ ผู้เขียนนั้นบ่งบอกถึงการหาผลประโยชน์ของผู้นำทหารไทยและการใช้เงินเพื่อให้ตนเองมีอำนาจทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย
ซึ่งได้กล่าวพาดพิงถึงที่มาของเงินว่าส่วนหนึ่งมาจากธนาคารทหารไทย
เช่นเดียวกับนิตยสาร TIME ที่กล่าวถึงบทบาททหารในแวดวงธุรกิจว่ายังคงมีบทบาทมากเกินไป
ยกตัวอย่างการเข้าไปมีหุ้นส่วน ในองค์การโทรศัพท์เป็นมูลค่าสินทรัพย์ถึง
3,800 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายองค์กรที่ทหารเข้าไปมีอิทธิพล แต่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการที่จะกล่าวถึงคือ
แบงก์ทหารไทยเพราะมักจะถูกสันนิษฐานว่าเป็นฐานการเงินของผู้นำทางทหาร
ข้อความเหล่านี้ตีแผ่หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬซึ่งนอกจากกระทบต่อสถาบันทหารแล้ว
ยังส่งผลต่อแบงก์ทหารไทยในทางลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกันข่าวด้านลบนานับปการของแบงก์แห่งนี้ถูกตีแผ่ทั้งในประเทศ
และระดับโลกเสมือนหนึ่งมรสุมที่โถมเข้าหาผู้บริหารแบงก์อย่างไม่รู้ตัว
ข่าวพลเอกสุจินดา คราประยูรนายกรัฐมนตรี 48 วันและครอบครัว ถอนเงินจากแบงก์ทหารไทย
200 ล้านบาทเพื่อเดินทางออกนอกประเทศ เข้าหูประชาชนได้สร้างกระแสไม่พอใจมากขึ้น
เพราะหลายฝ่ายเชื่อว่ามีมูลความจริง เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวแบงก์ได้ทำการซื้อเงินดอลล่าร์มากกว่าปกติจึงเกิดข้อสันนิษฐานว่าจะนำไปทดแทนเงินบาทที่ถูกถอนออกไป
และแบงก์หากู้คืนมาสำรองไม่ทัน
จากการสืบค้นของ "ผู้จัดการ" ทราบว่าปกติแบงก์ทหารไทยจะซื้อดอลลาร์อยู่ในระหว่าง
5-20 ล้านเหรียญสหรัฐต่อวันแล้วแต่ความต้องการของลูกค้า ซึ่งในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวปรากฏว่าแบงก์ได้ซื้อดอลลาร์มากขึ้นเป็น
30-40 ล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน
นิติกร ตันติธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักบริหารเงินธนาคารไทยทนุให้ความเห็นว่าอัตราการซื้อดอลลาร์เพิ่มของแบงก์ทหารไทยไม่อยู่ในภาวะน่าวิตกแต่ประการใด
และก็เป็นไปไม่ได้ว่าเหตุของการซื้อดอลลาร์มากขึ้นมาจากการถูกถอนเงินจำนวนมาก
เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น สิ่งที่แบงก์ควรทำคือการกู้เงินบาทภายในประเทศเพื่อจะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับอัตราแลกเปลี่ยน
ส่วนข้อครหาที่ว่าเนื่องมาจากกู้เงินบาทไม่ทันนั้นก็คงเป็นไปไม่ได้เพราะในตลาดหรือแบงก์ชาติเองก็ยังมีสภาพคล่องพอให้กู้ได้
ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร ก็เดือดร้อนแบงก์ทหารไทยด้วยกันทั้งสิ้น !
ศุภชัย พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย ผู้รับภาระหน้าเสื่อต้องรีบออกทำการแถลงข่าวในวันที่
26 มิถุนายน เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น
แต่เรื่องนี้ใช่ว่าแค่พูดแล้วจะเรียกศรัทธาคืนได้ ! เพราะสถานภาพของแบงก์ทหารไทยแยกไม่ออกจากกองทัพ
ภาพประชาชนถูกทุบตี ทำร้าย ภาพคนตาย 46 ศพ สาบสูญอีก 980 คน (รวบรวมจาก 8
ศูนย์มหาดไทย มหิดล จุฬา นิด้า มูลนิธิเด็ก วันที่ 27/6/35) จากฝีมือทหารยังอยู่ในความทรงจำของผู้คน
ยุทธการต่อต้านทหารโดยการเรียกร้องให้มีการตัดสัมพันธ์จากวงจรที่ทหารเกี่ยวข้องเริ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการถอนเงินจากแบงก์แห่งนี้ แหล่งข่าวในแบงก์ทหารไทย กล่าวว่ามีการถอนเงินจากแบงก์จริง
แต่ไม่มากอย่างที่เป็นข่าว รายใหญ่สูงสุดก็ไม่เกิน 10 ล้านบาท และเมื่อเหตุการณ์สงบก็เข้าสู่ภาวะปกติ
ส่วนสาขาภาคใต้ ดินแดนที่มีกระแสสูงในการต่อต้านทหารนั้น นักธุรกิจรวมตัวกันได้ระดับหนึ่งซึ่ง
ชาญ ลีลาภรณ์ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เริ่มมีประชาชนไม่พอใจแบงก์ที่รับใช้เผด็จการ
เชื่อว่าอีกไม่นานแบงก์ต้องได้รับผลกระทบแน่
ผู้จัดการสาขาแบงก์ทหารไทยในจังหวัดสงขลายอมรับกับ "ผู้จัดการ"
ว่าแบงก์ได้รับผลกระทบจากการถอนเงินจริง แต่บอกไม่ได้ว่าจำนวนเท่าไรเพราะเกรงจะมีปัญหาต่อหน้าที่การงาน
อย่างไรก็ตามจากการสำรวจของ "ผู้จัดการ" พบว่ายอดเงินฝากของแบงก์ทหารไทยในกรุงเทพเองก็ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ในเดือนพฤษภาคมโดยเฉพาะสาขาบางลำภู
จากการรวบรวมยอดเงินฝากของส่วนวิจัยเงิน ธนาคารกสิกรไทย ปรากฏว่ายอดเงินสิ้นเดือนพฤษภาคม
2535 นี้แบงก์ทหารไทยมีเงินฝาก 112,097 ล้านบาทในขณะที่แบงก์ทหารไทยแถลงผลการดำเนินงานสิ้นไตรมาส
1 ของปี 2535 ว่ามียอดเงินฝาก 111,111 ล้านบาท
ถ้าดูจากตัวเลขเฉลี่ย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม จะพบว่ายอดเงินฝากเฉลี่ยลดลงเหลือเดือนละ
22,419.4 ล้านบาท จากไตรมาสแรกที่สามารถระดมเงินฝากได้เฉลี่ยเดือนละ 37,037
ล้านบาท เท่ากับยอดเงินฝากลดลงถึง 39% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณเดือนละ
20-25% ทั้ง ๆ ที่ช่วงก่อนหน้านี้มีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยประเภทเงินฝากประจำสวนทางท่าทีแบงก์อื่นด้วยซ้ำไป
ปรากฏการณ์ถดถอยของอัตราการเพิ่มยอดเงินฝากธนาคารทหารไทย คงจะเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาที่มีต่อแบงก์
ศุภชัย กล่าวว่าไม่จำเป็นต้องมีการแก้ภาพพจน์ใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะแบงก์ทหารไทยไม่ได้เกี่ยวข้องกับทหารโดยตรงผู้ถือหุ้นเองก็มาจากเงินกองทุนของทหารส่วนใหญ่ถือในนามสถาบัน
ไม่ใช่ตัวบุคคลและแบงก์เองก็ดำเนินธุรกิจแบบเอกชน เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
ทหารไม่เคยมาเกี่ยวข้องหรือก้าวก่ายในการบริหารงาน สักวันประชาชนจะเข้าใจเอง
แม้ว่าผู้บริหารระดับสูงในแบงก์ยังคงยืนกรานว่า ทหารไม่ได้ก้าวก่ายการบริหารงานของมืออาชีพ
แต่ในความเป็นจริง คณะกรรมการของแบงก์ก็ล้วนเป็นทหาร ประจำการ และนอกราชการเกือบทั้งหมด
(ดูตารางคณะกรรมการแบงก์ประกอบ) ยกเว้นเพียง 3 คนจากจำนวนทั้งหมด 15 คนเท่านั้นที่เป็นพลเรือนคือศุภชัย
พานิชภักดิ์ วีรศักดิ์ อาภารักษ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ อนุชาติ
ชัยประภา กรรมการผู้จัดการทั่วไป
ซึ่งจะว่ากันให้ถึงที่สุดแล้วก็ยังถือว่าเป็นพลเรือนแค่ 2 คน เพราะอนุชาตินั้นเป็นนายทหารนอกราชการคือลาออกจากสังกัดกองทัพบก
เหล่าการเงิน การะทรวงกลาโหมมาทำงานแบงก์เมื่อได้ยศร้อยตรีและเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทริเริ่มก่อตั้งแบงก์ทหารไทย
ในขณะที่กรรมการพลเรือนของแบงก์พยายามบอกกับโลกภายนอกว่า คณะกรรมการมีบทบาทเพียงแค่กำหนดนโยบายเท่านั้นแต่ในข้อบังคับของแบงก์กลับให้อำนาจคณะกรรมการมากมายไม่จำกัด
ข้อบังคับหมวด 3 ว่าด้วยกรรมการข้อที่ 29 ได้ระบุไว้ว่ากิจการทั้งหลายของบริษัทย่อมอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการที่จะกระทำได้
ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้จัดการใหญ่คนหนึ่งคนใดหรือกรรมการอื่นร่วมกันตั้งแต่
2 คนขึ้นไปมีอำนาจลงลายมือประทับตราบริษัทในเอกสารหรือหนังสือสำคัญก็ได้
จากข้อบังคับนี้จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการมีอำนาจมากในการบริหารงานทุกอย่างของบริษัท
โดยผ่านประธานกรรมการหรือกรรมการตั้งแต่สองคนขึ้นไปหรือกรรมการผู้จัดการใหญ่
แม้ในข้อบังคับได้พ่วงกรรมการผู้จัดการใหญ่เข้าไปมีอำนาจด้วยก็ตามแต่ข้อบังคับที่
30 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าคณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลใด ๆ เป็นผู้จัดการใหญ่
ตลอดจนตั้งตัวแทนของบริษัทโดยให้ผู้ใดหรือบุคคลใดมีอำนาจและหน้าที่เพียงใดสุดแต่คณะกรรมการจะเห็นควร
ข้อที่ 30 นี้แสดงให้เห็นว่ากรรมการผู้จัดการใหญ่หรือผู้บริหารคนอื่น ๆ
จะทำอะไรไม่ได้เลยถ้ากรรมการธนาคารไม่เห็นด้วยเพราะผู้ที่แต่งตั้งผู้จัดการใหญ่หรือผู้บริหารคนอื่น
ๆ ก็คือคณะกรรมการนั่นเอง ซ้ำยังมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะกำหนดขอบเขตของอำนาจหน้าที่ผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารคนอื่น
ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสิทธิถอดถอนกรรมการผู้จัดการใหญ่ออกจากตำแหน่งกรรมการหรือตำแหน่งบริหารอื่น
ๆ ได้ตามข้อบังคับที่ 21 และ 29 โดยใช้มติของที่ประชุมเป็นผลบังคับ
ตำแหน่งที่ศุภชัยดำรงอยู่ปัจจุบันก็มีที่มาหนีไม่พ้นสัจธรรมดังกล่าวและเมื่อย้อนอดีตไปปี
2531 ศุภชัยเคยให้สัมภาษณ์ว่ามาได้เพราะพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบก
สมัยนั้นเป็นผู้ชักจูงแต่วันนี้ ! เจ้าตัวได้ปฏิเสธและชี้แจงว่า ขณะที่เขาได้รับการติดต่อให้มาทำงานที่แบงก์นี้นั้นเขายังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบและกำกับธนาคารพาณิชย์ที่แบงก์ชาติ
"บิ๊กจิ๋วไม่เคยมาประชุมที่นี่ ขั้นตอนการคัดเลือกกรรมการผู้จัดการใหญ่มีอะไรบ้างผมไม่ทราบ
คนที่ชวนผมเข้ามาทำงานคือพลเอกประยุทธ จารุมณีประธานกรรมการ และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่
2 คน มีอาจารย์ประยูร จินดาประดิษฐ์และคุณอนุตร อัศวานนท์ ผมมานี่เพราะ 3
ท่านนี้จริง ๆ ซึ่งทั้ง 3 ท่านก็ชวนผมมานานแล้วผมเองก็ขอเวลาคิดเป็นปี ๆ
จนหลังเลือกตั้งปี 2531 จึงตัดสินใจมาที่นี่เหตุผลเพราะว่า ผมไม่อยากทำประโยชน์ให้เฉพาะกลุ่มตระกูลใดตระกูลหนึ่งเท่านั้นสำหรับทหารไทย
ผมรู้สึกเหมือนได้ทำงานเพื่อส่วนรวม" ศุภชัย ยืนกรานกับ "ผู้จัดการ"
ยังมีข้อบังคับที่ 24 ที่ให้อำนาจกรรมการแบบเต็มที่โดยเขียนไว้ว่า ในจำนวนกรรมการแม้ตำแหน่งจะว่างไปบ้าง
กรรมการที่เหลืออยู่ย่อมทำกิจการได้ความหมายในข้อนี้มีนัยว่าหากกรรมการผู้จัดการใหญ่ลาออกหรือถูกปลดออกหรือไม่อยู่
กรรมการเหล่านี้สามารถตัดสินใจได้โดยไม่ต้องรอกรรมการผู้จัดการใหญ่เลยข้อบังคับข้อนี้จึงเป็นอันตรายในกรณีที่มีการเล่น
"เส้น" เพื่อขอให้สินเชื่อจากแบงก์ทหารไทย
ฉะนั้นการบริหารงานของแบงก์ทหารไทยจะมีประสิทธิภาพแบบมืออาชีพได้ก็มิใช่ขึ้นอยู่กับคนนอกที่เข้าบริหารเพียงอย่างเดียว
แต่ต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพคนที่จะมาเป็นกรรมการด้วย
กรรมการส่วนใหญ่ก็จะมาโดยตำแหน่ง อาทิ ตำแหน่งรองประธานธนาคารมักจะมาจากผู้บัญชาการทหารบก
ส่วนบรรดากรรมการจะมาจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งสามเหล่าทัพซึ่งมียศขั้นต่ำแต่แม่ทัพภาคที่
1 ขึ้นไป อาทิ ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เสนาธิการทหาร แม่ทัพภาคที่
1 เป็นต้น และจะมีกรรมการบางส่วนที่ขาดไม่ได้เลยคือทหารประจำการที่มาจากกองการเงินของแต่ละเหล่าทัพ
ส่วนวาระของกรรมการนั้นในข้อบังคับที่ 22 ระบุไว้ว่ากรรมการต้องออกจากตำแหน่งตามวาระหนี่งในสามเป็นอัตรา
หรือโดยจำนวนที่ใกล้เคียงหนึ่งในสามที่สุดในคราวประชุมใหญ่ครั้งแรกของการจดทะเบียนตั้งบริษัท
หรือในคราวประชุมใหญ่สามัญทุก ๆ ปีต่อไป
อย่างไรก็ตามกรรมการที่ออกนั้นจะสามารถเข้ารับตำแหน่งใหม่อีกก็ได้เพราะข้อบังคับไม่ได้ระบุจำนวนวาระเอาไว้
ทำให้กรรมการบางคน เช่น พลเอกประยุทธ จารุมณี จึงสามารถเป็นกรรมการและประธานมาได้กว่า
10 ปีแล้ว
ศุภชัย ยังกล่าวยืนยันกับ "ผู้จัดการ" เหมือนเดิมว่าแม้ข้อบังคับจะเปิดช่องให้สามารถจัดการบริหารและแต่งตั้งบุคคลได้ทุกกรณีในแบงก์
แต่โดยการปฏิบัติกรรมการก็ไม่เคยเลยที่จะเข้าแทรกแซงเรื่องราวต่าง ๆ โดยเฉพาะการแต่งตั้งระดับผู้จัดการฝ่ายลงมา
ยกเว้น ตำแหน่งที่สูงไปกว่านั้นก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของกรรมการอยู่แล้ว
อำนาจของกรรมการยังไม่หมดแค่นี้กรรมการยังสามารถเลือกและแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารและประธานกรรมการบริหารได้
โดยกรรมการบริหารชุดนี้จะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารในแบงก์และทำหน้าที่อื่นเป็นเรื่อง
ๆ เท่าที่กรรมการแบงก์จะมอบหมายให้ทำ
ไม่ว่าผู้บริหารระดับสูงของแบงก์จะปฏิเสธความข้องเกี่ยวของอำนาจทหารต่อการทำงานแบงก์อย่างแข็งขันเพียงใดก็ตาม
แต่ก็ยังยอมรับว่ามีพนักงานจำนวนไม่น้อยที่เป็นลูกหลานทหารหรือทหารนอกประจำการมาทำงานในแบงก์แล้วได้ดิบได้ดีพอสมควรทีเดียว
สังเกตได้จากตำแหน่งในพื้นที่สำคัญ ๆ เช่น ผู้จัดการสำนักราชดำเนิน ซึ่งมีฐานะสำคัญรองจากสำนักงานใหญ่โดยทางเปิดเผย
และในทางปิดลับเป็นที่เล่าลือกันว่าสาขานี้แหละเป็นแหล่งฝากเงินงบราชการลับของกองทัพไทยนั้นผู้ที่ดำรงตำแหน่งมักจะเป็นพรรคพวกทหารทั้งนั้น
อาทิ ร้อยโทหญิงรุจิราภรณ์ จุณณานนท์ ที่เพิ่งเกษียณเมื่อไม่นานมานี้แต่ก็ยังได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการธนาคารและผู้ที่มาสืบทอดการดูแลสำนักราชดำเนินก็คือ
พันตรีประชา ธรรมโชต ซึ่งควบตำแหน่งผู้จัดการสาขากระทรวงกลาโหมไว้ด้วยจนเกษียณเช่นกัน
ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบเป็นอีกตำแหน่งหนึ่งที่มีผู้ดำรงตำแหน่งมียศทางทหาร
ตัวอย่างเช่น พันตรีประยุทธ ชัยธรรม ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการสาขาในพื้นที่ที่ทหารเป็นใหญ่อย่างลพบุรีมาก่อน
จนเมื่อเกษียณจึงให้รองผู้จัดการขึ้นแทน หรือตัวอย่างจากคนอื่นๆ ที่มีนามสกุลยิ่งใหญ่เช่น
ปริพันธ์ หนุนภักดี ผู้จัดการฝ่ายการต่างประเทศ คนหนุ่มที่คนในแบงก์คุยกันว่าไม่ใช่เพราะฝีมืออย่างเดียวจึงก้าวหน้าแต่บวกนามสกุลด้วย
จึงทำอะไรก็ดูดีไปหมด ทำให้ภาพพจน์ของแบงก์แห่งนี้เต็มไปด้วยเด็กฝากซึ่ง
ศุภชัยก็ยอมรับว่ามีจริง โดยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าแบงก์อื่นก็มีเด็กฝากเหมือนกัน
พลเอกสิทธิ จิรโรจน์ อดีตประธานกรรมการบริหาร ธนาคารทหารไทย ให้ความเห็นว่า
เรื่องลูกหลานทหารเข้าทำงานในแบงก์ทหารไทยก็มีบ้าง แต่ไม่ได้มากมายอะไร ส่วนเรื่องที่มาของกรรมการนั้นนอกจากมาด้วยตำแหน่งทางการทหารแล้ว
ที่สำคัญก็คือตำแหน่งทางการเงิน เช่นปลัดบัญชีเพราะเป็นคนที่ดูแลเงินของกองทัพ
ซึ่งต้องนำเงินมาฝากไว้ที่แบงก์ และที่จำเป็นอีกบางตำแหน่งก็คือพวกนักวิชาการ
นักกฎหมาย เพราะธุรกิจแบงก์เป็นธุรกิจที่ต้องทำอย่างรอบคอบจึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ
ในส่วนของการบริหารงานสินเชื่อแหล่งข่าวเปิดเผย "ผู้จัดการ"
ว่าแต่เดิมคณะกรรมการทหารไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวซึ่งทำให้การบริหารในยุคต้น
ๆ ที่สุขุม นวพันธ์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ได้อยู่ในความดูแลของผู้บริหารพลเรือนอย่างเต็มมือ
แต่เหตุการณ์เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อพลเอกจิตติ นาวีเสถียรเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร
สุขุม เริ่มติดขัดในการทำงานยุคปลาย ๆ ของตำแหน่งเพราะ พลเอกจิตติไม่ยอมนั่งเป็นพระประธานคอยประทับตราอนุมัติคำสั่งของผู้จัดการใหญ่เท่านั้น
พลเอกจิตติ มานั่งทำงานที่แบงก์แทบทุกวัน พิจารณาคำขออนุมัติของสุขุมด้วยตัวเอง
หากคำขอใดไม่มีรายละเอียดชัดเจน ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ ซ้ำยังตีกลับให้นำไปทำใหม่
ยุคนี้จึงถือได้ว่าทหารเริ่มมีบทบาทบริหารงานแบงก์อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี
2523 เป็นต้นมา
ระหว่างปี 2525 พลเอกสิทธิ เข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารแบงก์ทหารไทยแทนพอเอกจิตติที่เสียชีวิตลงในขณะเดียวกันตำแหน่งประธานกรรมการแบงก์ก็เป็นของพลเอกประยุทธ
จารุมณีซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและรองประธานกรรมการแบงก์ทหารไทยในช่วงปี
2524 เพราะอุบัติเหตุทางการเมืองว่าด้วยการปฏิวัติของ จปร. รุ่น 7 ที่เรียกกันว่า
"เมษาฮาวาย"
พลเอกสิทธิเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าขณะนั้นลงไปคลุกคลีกับงานบริหารของแบงก์มาก
โดยเฉพาะเรื่องสินเชื่อรายใหญ่ทางฝ่ายสินเชื่อจะต้องเสนอขอความเห็นมายังคณะกรรมการบริหารเราก็จะพิจารณาว่าควรอนุมัติหรือไม่
ถ้ามีข้อสังเกตก็จะส่งไปให้ทางฝ่ายสินเชื่อทบทวนดูใหม่
"เป็นประธานกรรมการบริหารที่นี่รู้สึกว่างานมากและต้องคลุกกับปัญหาเยอะตั้งแต่เรื่องสินเชื่อจนถึงการเลือกทำเลเพื่อเปิดสาขาของแบงก์ไม่เหมือนอยู่ที่แบงก์
มหานครซึ่งรับตำแหน่งประธานกรรมการที่ดูแต่งานนโยบายเท่านั้น" นายพลผู้มีภาพพจน์มือสะอาดและซื่อตรงกล่าว
(อ่านล้อมกรอบสิทธิ จิรโรจน์)
ดังนั้นในยุคแรกของการตะลุยเปิดสาขาแบงก์จึงเลือกสถานที่ในเขตที่มีกองทหารตั้งอยู่เป็นส่วนใหญ่
เช่นลพบุรี นครราชสีมา
ประยูร จินดาประดิษฐ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ปี 2524-2530 ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการกล่าวว่าเรื่องการให้สินเชื่อมีการแบ่งอำนาจกัน
กรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจการให้สินเชื่อทางตรงคือให้เงินกู้กับลูกค้ารายละไม่เกิน
30-40 ล้านบาท
ถ้าเกินกว่านี้ ก็ต้องส่งให้คณะกรรมการบริหารพิจารณา เช่นเดียวกับสินเชื่อโครงการรายใหญ่ระดับ
100-200 ล้านบาท ก็ต้องส่งให้กรรมการบริหารพิจารณาส่วนสินเชื่อทางอ้อมที่มีภาระผูกพัน
แต่มิใช่การให้เงินกู้นั้นจะมีวงเงินสูงขึ้นไปอีกหลายเท่าตัวซึ่งทางคณะกรรมการมิได้เข้มงวดสินเชื่อประเภทหลังนี้แต่ประการใด
ประสิทธิ์ ณ พัทลุง อดีตหัวหน้าส่วนธุรการเงินธนาคารแห่งประเทศไทยเผยว่า
อำนาจการให้สินเชื่อของกรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์ทหารไทยมีน้อยกว่าธนาคารอื่นซึ่งอยู่ในลักษณะเดียวกับแบงก์กรุงไทย
ศุภชัย เผยว่าปัจจุบันได้มีการเพิ่มอำนาจการให้สินเชื่อของกรรมการผู้จัดการใหญ่ขึ้นเป็นวงเงิน
50 ล้านบาทต่อราย ประธานกรรมการมีอำนาจอนุมัติวงเงิน 100 ล้านบาทต่อราย คณะกรรมการบริหาร
200 ล้านบาทต่อราย ถ้าเกินนี้ก็เข้าพิจารณาในคณะกรรมการแบงก์
แหล่งข่าววงในแบงก์ทหารไทยกล่าวว่าเรื่องอำนาจการอนุมัติสินเชื่อไม่ใช่ปัญหาสำคัญ
เพราะมีหลายครั้งทีเดียวที่คณะกรรมการของแบงก์มอบอำนาจให้ผู้บริหารพลเรือนเป็นคนจัดการ
แต่ปัญหาที่สำคัญก็คือเรื่องเด็กเส้น ที่เริ่มมีเข้ามาอย่างเห็นได้ชัดสมัยพลเอกสุจินดา
คราประยูรหรือพลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี เข้าเป็นกรรมการ คือมีนามบัตร มีการแนะนำตัวว่ามาจากคนนี้นะ
คนนั้นนะ ทางแบงก์ก็ต้องอนุมัติ แต่ก็พยายามให้อยู่ในขอบเขตไม่ให้น่าเกลียดนัก
ส่วนโครงการที่เกินเลยกฎของแบงก์ก็จะมีการทำวิเคราะห์ความเป็นไปได้โครงการพร้อมด้วยคิดค่าธรรมเนียมเช่นเดียวกับโครงการของเอกชนอื่น
ๆ
สินเชื่อที่ทหารขอมาส่วนใหญ่มักจะนำไปทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งบางครั้งก็ไม่ประสบผลสำเร็จ
และไม่สามารถชำระหนี้ได้จนเกิดการฟ้องร้องกันตามมาเช่น ธุรกิจท่าทราย ทำไร่อ้อย
เป็นต้น
"ทหารใหญ่ ๆ ฉลาด เวลาล้มคนถูกฟ้องมักจะเป็นลูกน้อยยศเล็ก ๆ พวกจ่า
นายสิบ บางทีเราก็รู้ว่าเป็นแค่คนขับรถซึ่งเขาให้เป็นแพะรับแทน" แหล่งข่าวกล่าวตบท้าย
แต่กรรมการผู้จัดการใหญ่คนปัจจุบันกล่าวคำรับรองว่า ไม่มีแน่เรื่องทหารใช้เส้นขอสินเชื่อข้ามขั้นตอน
ในยุคของเขาใครขอมาก็พิจารณาตามระเบียบของแบงก์ส่วนเรื่องการให้ความเห็นของกรรมการก็อาจจะมีบ้างตามบทบาทของตำแหน่ง
อย่างไรก็ตามบทบาทของคณะกรรมการทหารจะแตกต่างไปตามแต่ละยุคตามลักษณะของแต่ละบุคคล
โดยเฉพาะยุคของพลเอกชวลิต จะวางขอบเขตของตนเอง ไว้เพียงแค่ให้ความเห็นเท่านั้น
ในแง่ของประโยชน์ที่มีทหารเข้าเป็นกรรมการแบงก์ทหารไทย ก็คือความได้เปรียบแบงก์อื่น
ๆ ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารระดับลึกทำให้มองเห็นภาพความจริงของธุรกิจบางชนิดและไหวตัวทันกับสถานการณ์
ยกตัวอย่างเช่น สมัยพลเอกชวลิตเป็นกรรมการอยู่ เคยมีนักธุรกิจมาขอสินเชื่อเพื่อทำโครงการระเบิดหินและทำหินอ่อนผู้บริหารแบงก์เองเห็นว่าดีมีอนาคตไกลควรจะอนุมัติ
บิ๊กจิ๋วจึงให้ความเห็นว่าไม่ควรเพราะทหารกำลังจะปิดป่า ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถเข้าไประเบิดหินได้ตามที่ทำโครงการเสนอมา
ต่อมาปรากฏว่าเป็นจริงตามที่ท่านให้ความเห็นและโครงการดังกล่าวก็ประสบปัญหาอย่างมากและไม่เพียงตัวอย่างนี้เท่านั้นยังมีกรณีอื่น
ๆ อีกที่ข้อมูลวงในถูกนำมาใช้ผสมผสานกับธุรกิจได้ดีอย่างยิ่ง
นี่คือผลดีที่ทำให้แบงก์ทหารไทยสามารถให้คำแนะนำลูกค้าในโครงการ INTERNATIONAL
FINANCE และ INVESTMENT BANKING ได้ดี
อีกประเด็นหนึ่งที่แบงก์ได้ประโยชน์จากคนในเครื่องแบบสีเขียวก็คือธุรกิจที่เกี่ยวพันกับเงินฝาก
และต่างประเทศเพราะแบงก์ทหารไทยอาศัยฐานเงินฝากจากหน่วยงานทหารโดยกองทัพนำงบประมาณของทหารทั้งหมด
และหน่วยงานรัฐบางส่วนมาฝากไว้ที่แบงก์ แต่เมื่อแบงก์กรุงไทยถือกำเนิดขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บุญมา วงศ์สรรค์ ในยุครัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์
สั่งให้หน่วยงานรัฐทั้งหมดนำเงินที่เกี่ยวข้องกับราชการและรัฐวิสาหกิจไปฝากไว้ที่แบงก์ของรัฐ
เช่นกรุงไทย ออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งมีสถานภาพเป็นแบงก์รัฐบาลมากกว่าแบงก์ทหารไทย
ยุคนั้นพลเอก กฤษณ์ สีวะรา เป็นประธานคณะกรรมการธนาคาร จึงต้องออกโรงใช้กำลังภายในช่วยคงเงินบางส่วนของกองทัพเช่นส่วนของกองบัญชาการทหารสูงสุดและ
3 เหล่าทัพ ฝากไว้กับแบงก์ทหารไทยต่อไป
แหล่งข่าววงในเล่าว่า ตอนนั้นได้รับผลกระทบมากเหมือนกันเพราะทำให้ยอดเงินฝากสิ้นปี
2516 ที่มีจำนวน 2,117.6 ล้านบาทลดลงในปี 2517 เหลือ 2,050.7 ล้านบาท
ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ความจริงในยุคหลัง ๆ นี้เงินฝากจากส่วนของกองทัพไม่น่าจะมีมากนัก
เพราะธนาคารขยายตัวมากแล้ว คาดว่ามีไม่เกิน 10% ของเงินฝากปัจจุบัน
ส่วนศุภชัยกล่าวสนับสนุนว่า เงินฝากของทหารปัจจุบันได้กระจายไปตามแต่ละแบงก์
แล้วแต่แบงก์ไหนจะเสนอผลประโยชน์สูงสุดให้ ที่เหลืออยู่ที่พวกเงินสวัสดิการของทหารบางส่วนเท่านั้นสำหรับเรื่องงบลับ
แบงก์ทหารไทยเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า กองทัพไปฝากไว้ที่ไหนเพราะงบราชการลับนี้จะฝากในนามบุคคลซึ่งจะไม่มีใครรู้ได้เลยว่าเป็นงบลับ
ประยูร เผยกับ "ผู้จัดการ" ว่าทหารเองมีส่วนช่วยให้ธุรกิจต่างประเทศของแบงก์ไปได้ดีเหมือนกันเพราะทหารมีการโอนเงินติดต่อกับต่างประเทศในกรณีการซื้อขายอาวุธ
ซึ่งเดิมก็ใช้ที่แบงก์ทหารไทยประจำ แต่ปัจจุบันได้กระจายไปตามแบงก์อื่น ๆ
ด้วย ทางทหารไทยเองเมื่อได้ธุรกิจนี้มาก็คิดค่าธรรมเนียมตามระเบียบการช่วยเหลือราชการ
คือคิดให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ รายการโอนเงินคิดเพียง 1/32% หรือเก็บเพียง
1 บาทจากจำนวน 3,200 บาทเท่านั้น
แหล่งข่าวในแบงก์เองกล่าวว่าแม้ว่าจะคิดค่าธรรมเนียมน้อยก็จริง แต่จำนวนเงินโอนผ่านในแต่ละปีมหาศาลเลยทีเดียวถ้าคิดจากตัวเลขที่เอเชียน
วอลล์สตรีทเจอร์นัลเปิดเผยว่าปีล่าสุดงบทหารสั่งซื้ออาวุธประมาณ 2,700 ล้านบาทเท่ากับจะได้ค่าธรรมเนียม
843,750 บาท ซึ่งถือว่าไม่มาก หากไม่นับรวมรายการอื่น ๆ ด้วย
ความสำคัญของทหารในการขยายธุรกิจยังมีอีกหลายประการเช่น การเปิดสาขาหรือสำนักงานตัวแทนของแบงก์ในอินโดจีน
มักจะได้รับการนำร่องจากผู้นำทหาร ตัวอย่างในยุคพลเอกสุจินดา เป็นรองประธานฯ
ได้ช่วยบุกเบิกการเจรจากับผู้นำเขมรเพื่อขอเปิดสาขาจนได้รับอนุมัติในหลักการตามที่ต้องการ
หรืออย่างในประเทศพม่า ซึ่งเป็นประเทศที่ปิดตัวเอง พลเอกสุจินดาก็นำร่องในการเจรจาจนสามารถจะเข้าไปตั้งสำนักงานตัวแทนได้เช่นกัน
ซึ่งที่พม่านี้คาดว่าจะเปิดได้ประมาณปลายปี 2535 หรือที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นลาว
เวียดนาม ก็เกิดจากการนำร่องของผู้นำทหารทั้งสิ้นแล้วจึงให้ผู้บริหารแบงก์สานต่อจนเป็นรูปเป็นร่าง
ฐานลูกค้ามาจากผู้นำทางทหารแนะนำยังมีอีกมาก โดยเฉพาะลูกค้าจากธุรกิจก่อสร้างที่ต้องการประมูลโครงการต่าง
ๆ ของหน่วยงานที่ทหารมีส่วนรับผิดชอบ ทหารจะแนะนำให้ใช้บริการต่าง ๆ ของแบงก์ทหารไทย
เช่น ค้ำประกันซอง ประมูล สินเชื่อในการสร้างงาน เป็นต้น เส้นสายเหล่านี้ตกทอดมาถึงปัจจุบันทำให้แบงก์แห่งนี้มีความชำนาญด้านสินเชื่อก่อสร้างมาก
และมีลูกค้ามากจนต้องตั้งสายงานก่อสร้างขึ้น รวมทั้งกำลังจะร่วมทุนกับญี่ปุ่นเพื่อเปิดบริษัทก่อสร้างด้วย
แหล่งข่าวกล่าวว่า ลูกค้าก่อสร้างที่มีสัมพันธ์เหนียวแน่นกับแบงก์ทหารไทยนี้
มิใช่มาจากทหารอย่างเดียว แต่มาจากสุขุม นวพันธ์ด้วย เพราะเขาก็เป็นนักพัฒนาที่ดินตัวยงเหมือนกัน
ผลงานที่เห็นได้ชัดคือนวธานี ซึ่งเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรมแห่งแรกด้วยซ้ำ
จะอย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าคณะกรรมการที่เป็นทหารมีคุณูปการต่อแบงก์มากทีเดียว
ซึ่งอนุชาต ชัยประภากรรมการผู้จัดการทั่วไปของแบงก์นี้ ได้กล่าวสนับสนุนความเห็นข้างต้นว่าแม้ประวัติศาสตร์ของแบงก์จะมาจากทหาร
แต่ปัจจุบันแบงก์ได้เติบโตและเป็นส่วนหนึ่งของการเกื้อหนุนสังคมเช่นกัน
และที่ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันจากมืออาชีพเกี่ยวกับข้อดีของแบงก์นี้ก็คือการให้โอกาสทำงานในตำแหน่งเบอร์
1 ซึ่งแบงก์อื่นไม่มี
ประวัติศาสตร์ของแบงก์ทหารไทยเป็นเรื่องเล่ากันไม่จบบ้างก็ว่ากำเนิดแบงก์แห่งนี้มาจากความคิดง่าย
ๆ เพียงแค่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกสมัยนั้นรู้สึกเมื่อยมือที่จะต้องเซ็นชื่อเพื่อสั่งซื้อน้ำมันกับสหรัฐบ่อย
ๆ จน "เบื่อ" จึงเริ่มปรึกษากับเพื่อนสนิทอดีตผู้อำนวยการกองสลากเงินแบ่งรัฐบาล
โชติ คุณะเกษม ว่ามีวิธีอื่นไหมที่จะทำให้ขั้นตอนดังกล่าวสะดวกขึ้น โชติได้ถามกลับว่าถ้าอย่างงั้นทำไมไม่ตั้งแบงก์แล้วให้แบงก์เป็นผู้จัดการแทน
ส่วนอนุชาต เคยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังดังนี้ "ตามที่ท่านจอมพลสฤษดิ์
บอกให้ฟังก็คือ ท่านอยากให้มีสถาบันการเงินที่เป็นแบบ MILITARY FINANCE FACILITY
คือท่านไปเห็นในฐานทัพของสหรัฐเขามีการให้บริการเบิกถอนแลกเปลี่ยนเงินท่านก็อยากให้มีแบบนี้
ซึ่งมันก็คือแบงก์อันหนึ่ง ตอนนั้นฐานทัพสหรัฐที่อู่ตะเภามี CHASE MANHATTAN
BANK ก็เข้าไปบริการ ต่อมาฐานทัพที่โคราชก็ใช้บริการของ BANK OF AMERICA
พวกพนักงานแบงก์ที่เข้าไปทำงานในฐานทัพ ก็ถือว่าเป็นทหารแต่ทำงานด้านพลเรือนเป็นลูกจ้างของกองทัพ"
นายพลคนดังคนนี้ได้ยึดอำนาจการปกครองจากจอมพล ป. พิบูลสงครามก่อนหน้าจะเปิดแบงก์ประมาณ
3 เดือน แรกเริ่มเขาตั้งใจจะเปิดธนาคารเพื่อทหารบกเท่านั้น แต่ต้องเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของเพื่อน
3 เหล่าทัพ ตามที่เขาได้เขียนไว้ในหนังสือส่งไปถึงนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และแบงก์ทหารไทยได้นำมาตีพิมพ์ในหนังสือครบรอบ
30 ปี ธนาคารทหารไทย ปี 2530 ว่า
"…เพื่อนนายทหารเรือ และทหารอากาศมาปรารภว่า การจัดตั้งธนาคารแต่ละแห่งขึ้นนั้นเป็นการกระทำด้วยความยากลำบาก…เมื่อได้โอกาสจัดตั้งธนาคารขึ้นแล้วเช่นนี้ควรจะเป็นธนาคารทหารทั้งสามกองทัพ
กิจการอันเกี่ยวกับการเงินของกองทัพก็ย่อมจะเป็นไปเช่นเดียวกับกองทัพเรือและอากาศ
หากได้รวมกิจการเงินทั้งสาม กองทัพให้ผ่านธนาคารเดียวกันแล้วกิจการของทหารทั้งสามกองทัพอันเกี่ยวกับการเงินก็จะเป็นปึกแผ่นมั่นคงยิ่งขึ้น…
จึงขอให้พิจารณาจัดตั้งธนาคารอันเป็นส่วนรวมของทหารบกทหารเรือและทหารอากาศด้วย…."
ด้วยกำเนิดจากทหาร จึงต้องเดือดร้อนเพราะทหาร !
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ หมดอำนาจถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี 2506 ทางการได้ทำการยึดทรัพย์
ซึ่งรวมไปถึงเงินฝากที่แบงก์ทหารไทยด้วยประมาณ 100 ล้านบาทส่งผลสะเทือนถึงยอดเงินฝากอย่างแรก
จนบางคนยังคาดเดาว่าทหารไทยจะไปไม่รอดเพราะขณะนั้นแบงก์มียอดเงินฝากแค่ 400
ล้านบาท
หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ปีมหาวิปโยค ที่ทหารการเมืองผลักดันให้ประชาชนต้องหนีเข้าป่าด้วยการปราบปรามผู้ที่มีความคิดต่างจากผู้นำทหารอย่างรุนแรงทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อแบงก์ทหารไทย
มีการผลัดเปลี่ยนอำนาจใหม่ทางทหารและผู้นำใหม่ในแบงก์อันนำไปสู่การก้าวเข้าสนามธนาคารพาณิชย์เต็มตัวโดยฝีมือ
วิสิษฐ์ ตันสัจจา รองกรรมการผู้จัดการที่สุขุมดังตัวมาจากบริษัทเอสโซ่ให้มาทำงานแทนระหว่างที่ตนเองหลบฉากจากสายตาหลายคู่ที่มองว่าเขาเป็นคนสนิทชิดเชื้อทหาร
ตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมามีการทำรัฐประหารหลายครั้ง เศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทยอยู่ในภาวะตกต่ำ
มีการลดค่าเงินบาทถึง 2 ครั้ง สถาบันการเงินบางแห่งล้มปิดกิจการไป เกิดวิกฤติการณ์จ้างงาน
คนไม่มีงานทำจำนวนมาก และปัญหาขาดดุลการค้ารุมเร้า แบงก์ทหารไทยได้ฉวยจังหวะนั้นตัดสินใจเพิ่มทุนเป็นครั้งแรกในปี
2525 เพื่อขยายกิจการและพยุงฐานะความมั่นคงของแบงก์ จากทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาทเป็น
100 ล้านบาทโดยคงราคาพาร์ 100 บาทต่อหุ้นและสัดส่วนผู้ถือหุ้นยังเหมือนเดิมคือกองทัพถือ
100%
ครั้งที่ 2 ปี 2526 แบงก์ยังคงต้องการเงินทุน เพื่อต่อสายป่านให้ยาวสู้กับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำต่อไปจึงตัดสินใจเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น
500 ล้านบาท ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของแบงก์ที่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นนับจากพ.ศ.2500
ที่แบงก์นี้ถือกำเนิดขึ้นมา
นับจากปี 2526 ถึงกุมภาพันธ์ 2535 แบงก์ทหารไทยมีการเพิ่มทุนอีก 8 ครั้งแต่ละครั้งจะขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมด
ยกเว้นปี 2532 ที่มีการขายให้กับประชาชนในราคาหุ้นละ 230 บาทประมาณ 3 ล้านหุ้นหรือ
50% ของหุ้นเพิ่มทุน แต่ก็ยังคงรักษาสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ของกองทัพไว้เหมือนเดิม
แม้ว่าปัจจุบันจะเพิ่มทุนจดทะเบียนมามากครั้งและมีทุนถึง 3,443.17 ล้านบาทก็ตาม
ที่สำคัญ ! การเพิ่มทุนแต่ละครั้งแบงก์ทหารไทยจะไม่นำหุ้นขายให้คนนอกแม้ว่าหุ้นเพิ่มทุนจะขายไม่หมดก็ตามซ้ำในส่วนหุ้นของกองทัพก็ไม่มีการนำมากระจาย
(ดูตารางสัดส่วนผู้ถือหุ้นฯ)
ระหว่างที่มีข่าวด้านลบกระทบแบงก์ทหารไทย ศุภชัย ในฐานะผู้บริหารพลเรือนมีอาชีพ
ให้สัมภาษณ์ว่าอาจจะมีการเพิ่มทุนเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของกองทัพเมื่อ
"ผู้จัดการ" สอบถามอีกครั้งหนึ่งศุภชัยเองก็ไม่แน่ใจว่าจะเพิ่มหรือไม่
เนื่องจากแบงก์เพิ่งจะเพิ่มทุนไปเมื่อ 3 เดือนก่อนเกิดพฤษภาทมิฬ
"อาจจะเพิ่มทุนก็ได้ แต่ต้องเป็นปลายปี ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าสัดส่วนของกองทัพจะลดลงหรือไม่เพราะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ถือหุ้นเดิมด้วยว่าจะซื้อหรือไม่เพียงไร"
กรรมการผู้จัดการใหญ่ นามศุภชัยกล่าว
ความจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ถือหุ้นเดิมจะซื้อหุ้นจำนวนเท่าไร
เพราะแม้กองทัพจะไม่ซื้อในส่วนของตนเอง คณะกรรมการแบงก์ซึ่งมาจากกองทัพก็ไม่นำออกมาขายให้คนอื่นอยู่ดี
ตัวอย่างการขายหุ้นเพิ่มทุนไม่หมดมีให้เห็นหลายครั้ง เช่น พฤศจิกายน 2533
ได้เสนอเรื่องเพิ่มทุนต่อตลาดหลักทรัพย์จาก 2,400 ล้านบาทเป็น 3,000 ล้านบาท
แต่ขายไม่หมดเพิ่มได้เพียง 2,765 ล้านบาท
เดือนเมษายน 2534 เสนอเรื่องเพิ่มทุนเป็น 3,225 ล้านบาทขายหุ้นและเพิ่มทุนได้เพียง
3,151.2 ล้านบาท เดือนกุมภาพันธ์ 2535 เสนอเพิ่มทุนเป็น 3,466.3 ล้านบาท
ขายหุ้นและเพิ่มทุนได้เพียง 3,443.17 ล้านบาท
แหล่งข่าวในแบงก์เปิดเผยถึงสาเหตุที่กองทัพไม่ยอมให้มีการนำหุ้นที่เหลือมากระจายขายต่อให้ผู้อื่นว่ามีเหตุผลเดียวคือ…
ไม่ต้องการลดสัดส่วนตนเองที่ถืออยู่ 36.7% !
กรรมการมักจะให้เพิ่มทุนในระยะเวลากระชั้นชิน ทำให้ไม่สามารถทำการกระจายหุ้นสู่ประชาชนได้
เพราะการกระจายแต่ละครั้งต้องใช้เวลาถึง 3-4 เดือนทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าแบงก์จะไม่มีทางลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิม ทางออกก็พอมีอยู่บ้าง
เพราะถ้าใช้ BIS แบงก์ต้องเพิ่มทุนแน่นอน แม้ว่าขณะนี้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของแบงก์จะพอเพียงก็ตาม
แต่ถ้าจะให้มีอัตราการเติบโตด้านสินทรัพย์ปีละ 20-25% การเพิ่มทุนเป็นสิ่งจำเป็น
และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มทุนในจำนวนมากประมาณ 700-800 ล้านบาท เพื่อที่จะไม่ต้องเพิ่มทุนบ่อยครั้ง
เนื่องจากการเพิ่มทุนแต่ละครั้งราคาหุ้นจะลดลงประมาณ 10-15% ซ้ำยังมีผลทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง
และส่งผลให้เงินปันผลต่อหุ้นลดลงบ่อยครั้ง จะเป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นไม่พอใจ
"ที่ว่ามีทางออกเพราะว่าแบงก์ทหารไทยไม่เคยขายหุ้นเพิ่มทุน ในราคาพาร์ส่วนใหญ่ขายในราคาตลาดให้ผู้ถือหุ้นเดิม
และถ้าเพิ่มในจำนวนมากกองทัพคงไม่มีเงินมากพอจะซื้อได้" แหล่งข่าวให้ความเห็นและกล่าวเสริมอีกว่า
ถึงที่สุดแล้วแบงก์คงไม่มาคำนึงเรื่องการลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นแต่คำนึงถึงเรื่องการระดมทุนมากกว่าว่าจำนวนที่ระดมได้นี้มากพอเพียงกับความต้องการหรือไม่
ฉะนั้นจึงต้องคิดก่อนว่าจะนำหุ้นเพิ่มทุนครั้งใหม่มากระจาย ให้ประชาชนแล้วจะคุ้มเท่ากับขายให้กองทัพ
หรือเปล่าและที่สุดของที่สุดคือมติกรรมการจะเห็นด้วยหรือไม่ที่จะเสียสัดส่วนถือหุ้นเดิมไป
ทางออกของกรรมการที่จะไม่ให้น่าเกลียดเกินไปก็อาจจะแบ่งหุ้นใหม่เป็นสองส่วนคือส่วนที่นำมากระจายกับส่วนที่ไม่นำมากระจาย
เช่นที่เคยทำมาก่อน โดยกำหนดให้กองทัพมีสิทธิซื้อหุ้นใหม่ให้คงสัดส่วนเท่าเดิม
เพราะนโยบายของกรรมการ โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ นั้นยึดมั่นในสถาบันกองทัพดังที่เคยเขียนไว้ในรายงานประจำปีเสมอว่าความสำเร็จในทางธุรกิจของธนาคารทหารไทยตลอดระยะเวลา
30 ปีที่ผ่านมา โดยยังคงบทบาทในฐานะของสถาบันการเงิน เพื่อสร้างสรรค์สวัสดิการให้แก่กองทัพไทย
เคียงคู่สถาบันการเงินที่ดีเพื่อสนับสนุนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมให้สอดคล้องกับแนวนโยบายและเจตนารมณ์ของรัฐบาลและทางราชการได้โดยครบถ้วน
นัยสำคัญในข้อความดังกล่าวข้างต้นได้ถูกแสดงออกมาในยุคของประธานคนนี้ด้วยการให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษแก่ทหารอยู่หลายครั้ง
อาทิ สินเชื่อเพื่อซื้อรถเก๋งของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ โดยไม่ลืมชั้นผู้น้อยติดห้อยท้ายโครงการในการให้กู้สร้างบ้าน
มีวงเงินถึง 3,000 ล้านบาททีเดียว
จะอย่างไรก็ตาม คนในวงการแบงก์ด้วยกันก็บอกว่า ถ้าอยากเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ไล่ซื้อหุ้นในตลาดได้
เพราะผู้ถือหุ้นทหารเขาพอใจเฉพาะสัดส่วนที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ความยุ่งยากอีกประการหนึ่งของการเพิ่มทุนคือ ความไม่พอใจของผู้ถือหุ้นเมื่อเงินปันผลลดลง
แหล่งข่าวในแบงก์เล่าให้ฟังว่าทหารเป็นนักลงทุน ไม่ใช่นักเก็งกำไรจึงต้องการเงินปันผลในอัตราที่สูง
เมื่อไม่ได้อย่างใจคิด บรรดานายพลเก่าแก่ก็จะโวยวาย ซึ่งเสียงนั้นก็ดังยิ่งนักทำให้แบงก์ทหารไทยในอดีตต้องปันผลมากถึง
80% ของกำไร แต่ปัจจุบันแบงก์ต้องการเงินกองทุนมารองรับมากขึ้นอัตราปันผลจึงลดลงเหลือ
60%
อดีตเงินปันผลที่กองทัพไทยและคนในเครื่องแบบสีเขียวได้รับจากแบงก์ทหารไทยถือเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวไล่จากปี
2527 มาถึงปัจจุบันรวมกันคาดว่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เพราะในแต่ละปีกองทัพได้รับผลประโยชน์นี้ประมาณ
100 ล้านบาท ดูจากปี 2534 กองทัพได้รับเงินปันผล 221.98 ล้านบาท ปี 2533
ได้รับ 183.304 ล้านบาท ในปี 2532 ได้รับ 88.884 ล้านบาท (ดูตารางเงินปันผล)
นับว่าจอมพลผ้าขาวม้าแดงอย่างสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้มองการไกลอย่างยิ่งที่คิดตั้งแบงก์เพราะนอกจากได้เงินปันผลจำนวนไม่น้อยแล้ว
แบงก์ทหารไทยยังช่วยงานสาธารณกุศลของกองทัพอย่างนับไม่ถ้วน เช่น จัดดนตรีคาราบาวนำรายได้สมทบทุนการศึกษาบุตรทหารผ่านศึกเป็นต้น
นอกจากนี้แบงก์ยังเป็นธุรกิจที่เกี่ยวพันกับการระดมเงินและเป็นแหล่งเงินทุนของธุรกิจอื่น
ๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วธุรกิจประเภทนี้ในไทยก็ทรงอิทธิพลเหลือหลายทีเดียว
ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจเลย ถ้าคณะกรรมการจากกองทัพจะไม่ยอมลดสัดส่วนการเป็นผู้ถือหุ้นลง