Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2535
"รอยยิ้มแห่งสันติภาพหวนคืนสู่ภาคตะวันตกของกัมพูชา"             
 

   
related stories

"กัมพูชา : อดีตที่รุ่งโรจน์กับความหวังในอนาคต"

   
search resources

Cambodia
Political and Government




"พระตะบองและศรีโสภณ 2 จังหวัดทางภาคตะวันตกของกัมพูชา กลับคืนสู่บรรยากาศของสันติภาพ หลังสงครามกลางเมืองได้ยุติลงการเข้ามาของทหารกองกำลังรักษาสันติภาพ ความสัมพันธ์ของชีวิตและโครงสร้างต่างๆ กำลังแปรเปลี่ยนไป"

ชีวิตได้กลับคืนสู่ภาคตะวันตกของกัมพูชา พร้อมด้วยความหวังแห่งสันติภาพอย่างช้า ๆ เหมือนแดดยามเช้าที่ค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิให้กับที่ราบลุ่มแม่น้ำสะตรึงสังคี สายน้ำที่ไหลผ่านเมืองพระตะบองไปอย่างเงียบเชียบประชาชนที่เริ่มสัญจรออกจากบ้านมุ่งสู่ตลาดเช้าได้เพิ่มจำนวนขึ้น บ่งบอกว่าความรีบเร่งสับสนสัญลักษณ์ของชีวิตได้หวนคืนสู่ถนนรนแคมในเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ หรือเมืองหลวงแห่งภาคตะวันตกอีกครั้งหนึ่งหลังจากหลายปีของภัยล้างผลาญแห่งสงคราม

ประชาชนที่นั่งซดข้าวต้ม หรือจิบกาแฟในตลาดเก่ากลางเมืองพากันพิศวงกับการปรากฏตัวของแถวทหารออสเตรเลียที่วิ่งออกกำลังกายในตอนเช้า และเด็กเสริฟอาหารที่ภัตตาคารกลางแจ้งริมฝั่งสะตรึงสังคีก็ได้ยินสำเนียงแปร่ง ๆ ของตำรวจชายแดนเยอรมันที่นั่งดื่มเบียร์เป็นกลุ่ม ๆ ใต้ฟ้าที่มีดาวระยิบระยับ

ทหารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังรักษาสันติภาพนานาชาติกว่า 2 หมื่นนายที่ถูกส่งเข้ามาประจำการทั่วกัมพูชาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 6 เดือนหลังจากข้อตกลงสันติภาพเพื่อยุติสงครามได้รับการลงนามจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่กรุงปารีสเมื่อเดือนตุลาคม 2534

สำหรับชาวพระตะบองการมาถึงของทหารต่างชาติเหล่าน ี้เป็นสัมผัสของความมั่นคงในความรู้สึกถึงกลิ่นอายของสันติภาพ และการสิ้นสุดของยุคแห่งความป่าเถื่อนและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เริ่มขึ้นพร้อม ๆ กับเดือนแรกในการปกครองของเขมรแดงเมื่อปลายปี 2518 ผ่าน 13 ปีของสงครามกลางเมืองผลพวงที่ตามมาจากการปรากฏตัวของทหารเวียดนามในกัมพูชาในปลายปี 2521

การถอนทหารเวียดนามออกจากกัมพูชาในเดือนตุลาคม 2532 เกือบจะทำให้พระตะบองตกกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดง หากกองทหารรัฐบาลไม่สามารถต้านยันการโจมตีของกองโจรเขมรแดงที่เข้มแข็ง ที่รุกประชิดเข้ามาจากทิศตะวันตกเอาไว้ได้เป็นผลสำเร็จ

ทว่า ทุกคนในพระตะบองก็ยังคงฝันร้ายกับประสบการณ์ครั้งล่าสุดของสงครามเมื่อต้นปี 2533 ได้ดี เมื่อเขมรแดงที่คืบใกล้เข้ามาห่างจากตัวเมืองทางตะวันตกเพียงแค่ 10-15 กิโลเมตร ปูพรมชุมชนตลาดใหม่ที่ชานเมืองด้านทิศใต้ด้วยจรวดและปืนใหญ่หลายร้อยนัด นายทหารสหประชาชาติผู้หนึ่งบอกกับเราว่าตัวตลาดที่มีขนาดกว้างราว 4 เท่าของสนามฟุตบอลแหลกไม่มีชิ้นดี มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 200 คน

"นั่นเป็นครั้งล่าสุดที่พระตะบองสัมผัสกับสงครามและเราหวังว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย" ชอน สารัธ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการท่องเที่ยวและข่าวสาร สำนักผู้ว่าราชการพระตะบองกล่าว

ในความเป็นจริงใช่ว่าที่ราบลุ่มพระตะบองไม่เคยตกอยู่ภายใต้สงครามมาก่อน ในประวัติศาสตร์เหมือนเมืองอื่น ๆ ในเอเชียอาคเนย์ ดินแดนที่แบ่งแยกเป็นรัฐเล็ก ๆ รัฐน้อยที่นี่ล้วนเคยตกเป็นเป้าหมายของการยึดครองและผ่านการรบพุ่งมาแล้วอย่างโชกโชน อย่างน้อยสำหรับพระตะบองเองมันก็ได้ปรากฏอยู่ในตำนานเมืองตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง

ฮกลี ซินลี เจ้าหน้าที่เขมรวัย 31 ปี ที่ทำงานที่ศูนย์รับกลับชาวอพยพกัมพูชาของสหประชาชาติที่ศรีโสภณ เมืองเอกของจังหวัดชายแดนบันเตียเมียนเจย เหนือพระตะบองขึ้นไปราว 70 กิโลเมตร บอกว่ากษัตริย์เขมรพระองค์หนึ่งทรงใช้กระบองขว้างใส่ข้าศึกในการรบพุ่งกับผู้รุกรานในที่ราบริมน้ำสะตรึงสังคีแห่งนี้ จนข้าศึกแตกพ่ายไป แต่กระบองมีฤทธิ์ของพระองค์ก็กระเด็นตกลงไปในแม่น้ำ งมหาไม่พบ เมืองที่ได้รับการสถาปนาขึ้นที่นี่ในเวลาต่อมาจึงได้ชื่อว่า "ปัตตะบอง" หรือ "กระบองสูญ" อันเป็นการรำลึกถึงที่มาของความสงบสุขในที่ราบแห่งนี้

ฮกลี ซินลี ที่พูดภาษาอังกฤษคล่องปรือในสำเนียงแปร่ง ๆ บอกว่าเขาได้อ่านตำนานเมืองพระตะบองระหว่างอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในไทยระหว่างปี 2525-2534 อย่างไรก็ดีเขาไม่ได้บอกว่ากองทหารสหประชาชาติจะมีอิทธิฤทธิ์มากพอ ที่จะสถาปนาสันติภาพเหนือประเทศนี้ขึ้นมาอีกครั้งเหมือนกระบองที่สูยหายไปหรือไม่

แต่กระนั้น เช่นเดียวกับชาวเมืองพระตะบอง ชาวเขมรในฝั่งตะวันตกของประเทศกำลังฝากความหวังไว้กับกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ หรืออันแทค(UNTAC) ในการกอบกู้พวกเขาออกจากภาวะของเชลยแห่งสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเอง

สำหรับกัมพูชา ไม่มีที่ไหนในประเทศที่ได้รับผลกรรมจากสงครามรุนแรงและยาวนานที่สุดเท่าภาคตะวันตก ตลอดระยะ 13 ปีของสงครามในกัมพูชา ภาคตะวันตกได้กลายเป็นสมรภูมิของการรบยืดเยื้อที่ดุเดือดรุนแรงที่สุดในเอเชียอาคเนย์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในจำนวนทหารเวียดนามกว่า 300,000 คนที่ปฏิบัติการในประเทศนี้ และทหารรัฐบาลพนมเปญกว่า 150,000 คนราว 2 ใน 3 ถูกส่งเข้ามาประจำการในเขตตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือที่ติดกับชายแดนไทย การต่อต้านจากกลุ่มกองโจรในสังกัดรัฐบาลผสม 3 ฝ่ายที่มีกำลังรวมกันราว 50,000 คน ได้ทำให้ภาคตะวันตกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเข้าใกล้ขั้นหายนะ ทั้งด้านโครงสร้างประชากร พื้นฐานทางเศรษฐกิจและด้านจิตใจ

สงครามได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรรุนแรงที่สุด มีผู้คนถูกกวาดต้อนและหนีภัยสงครามจากบริเวณนี้เข้ามาอยู่ค่ายอพยพในไทยกว่า 350,000 คน อีกจำนวน 1 ล้านคนต้องอาศัยกันอยู่ในเขตสู้รบแย่งชิงพื้นที่ที่ขนานไปกับชายแดน ไทย-กัมพูชา จากอุบลฯ จรดตราด ประชากรส่วนใหญ่ที่อยู่ในเขตรัฐบาลพนมเปญในแถบนี้ ซึ่งประมาณว่ามีอยู่ราว 2 ล้านคนเศษ ก็ต้องละทิ้งไร่นาของตนมาออกันอยู่ในตัวเมืองและถนนหลวง แหล่งเดียวที่ตนจะได้รับการคุ้มครองจากทหารรัฐบาลได้ดีที่สุด

สงครามได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดในภาคตะวันตกนี้ หรือไม่ก็ทำให้มันทรุดโทรมลงจนเกือบใช้การไม่ได้ เส้นทางหมายเลข 5 ซึ่งคู่ขนานไปกับทางรถไฟสายเดียวของกัมพูชา ซึ่งเชื่อมระหว่างอำเภอปอยเปต ซึ่งตั้งประชิดกับอำเภออรัญประเทศ ผ่านศรีโสภณ พระตะบอง โพธิสัตว์ กัมปงชะนัง กรุงพนมเปญ และเลยไปจนถึงท่าเรือน้ำลึกกัมปงโสมในอ่าวไทยถูกทำลายจนเกือบจะใช้การไม่ได้ ก่อนการบูรณะซ่อมแซม เฉพาะเส้นทางยาว 49 กิโลเมตรระหว่างปอยเปต-ศรีโสภณ ต้องใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ถึง 4 ชั่วโมง

ตัวเมืองที่ถูกเอ่ยถึงถูกทอดทิ้งในสภาพปรักหักพัง ขาดแคลนซึ่งสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า หรือน้ำประปา

มิพักจะกล่าวถึงรอยยิ้มที่หายไปนานจากใบหน้าของคนในท้องถิ่น ตามตลาดน้อยใหญ่สองฝากถนนเต็มไปด้วยคนพิการจากสงคราม และที่จริงภาวะอนาธิปไตยกลายเป็นวิถีชีวิตในเขตแดนต่อแดนของอิทธิพลที่สองฝ่ายตั้งเผชิญหน้ากันอยู่

โดยสรุป นอกจากตัวเมืองที่บริหารโดยคณะกรรมการพลเรือนพ้นรัศมี 5 กิโลเมตรออกไปแล้วปราศจากหลักประกันใด ๆ ต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนโดยสิ้นเชิง และนี่เป็นจริงทั้งในเมืองหลวงของภาคตะวันตกเช่นพระตะบองพอ ๆ กับเมืองชายแดนเช่น ตลาดปอยเปต

แม้สัญญาสันติภาพได้ลงนามกันไปแล้ว สถานะของมันยังคงสั่นไหวอยู่เสมอ กองกำลังเขมรแดงซึ่งหวาดละแวงต่อเงื่อนไขสันติภาพ ยังคงแทรกซึมจากฐานที่มั่นใหญ่ติดชายแดนไทย 3 แห่งเข้าไปสู่ส่วนในของประเทศจากอันอันลองเวียงฐานที่มั่น ใหญ่ตรงข้ามเขตแดนต่อแดนสุรินทร์ ศรีสะเกษในเขตกัมพูชาซึ่งอยู่ใต้การนำของ "ตาม๊อก" อดีตรัฐมนตรีกลาโหมเขมรแดงที่ดุร้ายที่สุด ทหารระดับกองพลได้แทรก ซึมลงมากดดันโจมตีรัฐบาลลึกถึงกัมปงทมการรบที่สมรภูมินี้ฝ่ายกองโจรยังได้รับกำลัง หนุนจากฐานที่มั่นพนมจะไกร ซึ่งตั้งอยู่หลังค่ายผู้อพยพกัมพูชา "ไซท์ 8" ในเขตอำเภอคลองหาดในปราจีนบุรีซึ่งแทรกซึมไปตามเส้นทางผ่านตอนใต้ของศรีโสภณไปทางตะวันออก

และจากฐานที่มั่นที่อำเภอไพลินในพระตะบองกองโจรเขมรแดงยังคงแทรกซึมเข้าไปกดดันรัฐบาลลึกถึงโพธิสัตว์ กำปงชะนัง และกำปงสะปือบนถนนหมายเลข 5

"การแทรกซึมของกองโจรในเขตที่ราบพระตะบอง เสียมเรียบ และกำปงทมทำกันได้อย่างเปิดเผยด้วยกำลังหมวดสงครามขนาดใหญ่พร้อมที่จะระเบิดขึ้นอีกได้ทุกเมื่อ" นายทหารไทยผู้หนึ่งอ้างถึงขีดความสามารถของฝ่ายเขมรแดง ที่ได้รับการสนับสนุนจากรถถังขนาดหนักจากจีนราว 30 คัน ในจำนวนนี้ครึ่งกับครึ่งแบ่งกันไปประจำอยู่ที่อันลองเวียงกับไพลิน

"เรายอมจ่ายทุกอย่าง เพื่อซื้อสันตภาพ" เพญ สารี เลขานุการของผู้ว่าราชการบันเตียเมียนเจย บอกกับผู้เขียนในระหว่างการสนทนา วันหนึ่ง หนึ่งวันหลังจากทหารราบบังคลาเทศกว่า 850 นายเคลื่อนย้ายกำลังเข้าไปตั้งมั่นในศรีโสภณ เพื่อเริ่มการปลดอาวุธทหารรัฐบาลพนมเปญในจังหวัดนั้น

"เราได้รับคำสั่งจากพนมเปญให้ร่วมมือกับกองกำลังสหประชาชาติโดยปราศจากเงื่อนไข" เลขาฯ หนุ่มที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสได้คล่องเหมือนภาษาแม่ของตนปรารภ เมื่อเราสนทนาถึงท่าทีขอองฝ่ายเขมรแดงที่ปฏิเสธการสั่งปลดอาวุธของกองทหารสหประชาชาติตามข้อตกลงปารีส

เช่นเดียวกับศรีโสภณที่อื่น ๆ ในฝั่งตะวันตกของกัมพูชาล้วนกำลังเปิดตัวออกต้อนรับกระแสสูงของสันติภาพและการฟื้นฟูบูรณะประเทศด้วยความหวัง

ทหารจากมาเลเซียอีก 850 นายได้ตั้งกองบัญชาการคร่อม "กองบัญชาการยุทธิภูมิที่ 5" ของฝ่ายพนมเปญในพระตะบองเอาไว้ในภาระกิจเดียวกันนี้

ที่ชายแดนอรัญประเทศ กองร้อยคอหนังเนเธอร์แลนด์พร้อมกำลังพล 250 นายกำลังพยายามบุกเบิกจากพื้นที่ในเขตไทยเข้าไปปลดอาวุธทหารเขมรแดงที่พนมมาลัย กองร้อยคอหนังนี้เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพนาวิกโยธินจากอดีตเจ้าอาณานิคมที่ต้องเข้าไปควบคุมเขตยึดครองของเขมรแดงทั้งหมด ที่เป็นแนวยาวขนานพรมแดนไทยใต้ลงไปจนจรดเขตจังหวัดตราดซึ่งรวมถึงขุมกำลังใหญ่ที่สุดของเขมรแดง ที่อำเภอไพลินทางตะวันตกเฉียงใต้ของพระตะบองด้วย

เหนือบันเตียเมียนเจยขึ้นไปเยื้องตะวันออก กองพันปากีสถานได้เคลื่อนพลเข้าไปยึดครองเขตแดนต่อแดนระหว่างอุดรมีชัยกับจังหวัดพระวิหาร ซึ่งอยู่ติดพรมแดนไทยในเขตอีสานใต้ของไทยเอาไว้แล้ว ขณะที่ต่ำลงมาอีกเล็กน้อยกองพันอินโดนีเซียก็เข้าประจำการในเขตจังหวัดเสียมเรียบ

รวมแล้วจะมีกองทหารทั้งสิ้น 18 กองพันหรือไม่น้อยกว่า 15,000 คน (กองพันละ 850 นาย) ตำรวจและเจ้าหน้าที่ด้านการบริหารอีกราว 5,000-7,000 คนเข้าไปประจำการทั่วกัมพูชาเพื่อยุติสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตนเองภายในกัมพูชา ทหารเขมรทั้งหมดกว่า 200,000 คนจะถูกปลดอาวุธ ร้อยละ 70 ในนั้นจะถูกปลดประจำการ และที่เหลือรอรายงานตัวต่อรัฐบาลใหม่หลังจากเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 2537

ในกรอบข้อตกลงที่ปารีส สหประชาชาติยังต้องทำหน้าที่จัดส่งผู้อพยพกว่า 370,000 คนกลับถิ่นฐาน ดำเนินการบริหารประเทศในระหว่างปฏิบัติแผน และอำนวยการเลือกตั้งทั่วประเทศ นับเป็นการวางกำลังทางทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนแผนสันติภาพที่มุ่งผลสูงที่สุดในประวัติการณ์ขององค์การสหประชาชาติ

ประชาชนกัมพูชากำลังฝากความหวังไว้ที่พวกเขา แต่กระนั้นการปฏิบัติจากแผนการทางทหารเพื่อสันติภาพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะหากมีการขัดขืน

เราพบขบวนรถหน่วยล่วงหน้าของกองร้อยนาวิกโยธินชาวดัทช์บนเส้นทางจากอรัญประเทศไปศรีโสภณในช่วงสายของวันหนึ่งเมื่อต้นเดือนมิถุนายน พวกเขากำลังเจรจากับทหารรัฐบาลพนมเปญที่บ้านนิมิตร 26 กิโลเมตรทางตะวันตกของสีโสภณ ที่ตั้งค่ายชั่วคราวที่จะได้รับคำประกันจากทหารรัฐบาลว่าปลอดกับระเบิด ที่คาดว่าจะถูกฝังไว้หลายหมื่นลูกตลอดเส้นทางสายนี้เป็นสิ่งที่ต้องการสำหรับคนเหล่านี้

อันที่จริงทหารหน่วยนี้พักค้างคืนในโรงแรมเดียวกับเราในตัวเมืองอรัญเมื่อคืนก่อนเกือบ 1 สัปดาห์แล้วที่พวกเขาถูกเขมรแดงขัดขวางไม่ยอมให้ข้ามเขตไทยเข้าไปตั้งฐานปฏิบัติการ เพื่อดำเนินการปลดอาวุธที่พนมมาลัย ติดเขตไทยห่างจากอรัญลงไปทางใต้เพียง 20 กิโลเมตร

ความล่าช้าของหน่วยล่วงหน้าทำให้ทหารส่วนหนึ่งค้างเติ่งที่พัทยา และการลำเลียงทหารที่เหลือจากเนเธอร์แลนด์มีอันต้องเลื่อนไปอีกอย่างไม่มีกำหนด

"พันตรีโฮเวิร์ด" หัวหน้าหน่วยล่วงหน้าดัทช์ บอกว่าเขาต้องขอความร่วมมือจากทหารรัฐบาลพนมเปญ เพื่อจะเข้าไปประจำการในเขตเขมรแดงให้ได้ กล่าวกันว่ากองพันนาวิกโยธินหน่วยนี้เป็นหน่วยรบที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดและพร้อมที่สุดของกองกำลังรักษาสันติภาพในกัมพูชา ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่พวกเขาได้รับมอบหมายภาระกิจที่ยากลำบากที่สุดในการเข้ายึดอำเภอไพลินซึ่งคาดว่าเป็นศูนย์บัญชาการทหารและที่เก็บตัวของ"พลพต" ผู้บัญชาการสูงสุดตัวจริงของเขมรแดง

"พวกเขา (คอหนังจากเนเธอร์แลนด์) เตรียมพร้อมมาเพื่อการปะทะ" นายทหารฝ่ายเสนาธิการไทยผู้หนึ่งบอกกับเราที่กรุงเทพฯ เขาอ้างถึงจำนวนที่ไม่เปิดเผย แต่มากพอของเฮลิคอปเตอร์กันชิปที่คอหนังหน่วยนี้ขนใส่เรือมาจากเมืองแม่ ในการเผชิญหน้ากับกองโจรที่ได้ชื่อว่ารบเก่งที่สุด มีวินัย มีประสบการณ์ที่สุด และเฉียบขาดที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคนี้

ท่ามกลางการแข็งขืนของฝ่ายเขมรแดงต่อบทบาทของทหารสหประชาชาติ การสู้รบละลอกใหม่ระหว่างทหารรัฐบาลกับเขมรแดงระลอกใหม่ก็ระเบิดขึ้นอีกในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน 50 กิโลเมตรเหนือกัมปงทมขึ้นไปตามทางหลวงหมายเลข 12 ที่ตัดตรงขึ้นไปอันลองเวียงในจังหวัดพระวิหาร การสู้รบระลอกใหม่ช่วยซ้ำเติมให้สถานภาพของสันติภาพคลอนแคลนมากยิ่งขึ้น

การแข็งขืนต่อสัญญาสันติภาพของเขมรแดงไม่ได้เป็นอุปสรรคเดียวสำหรับทหารอันแทค การหาที่ตั้งค่ายพัก วัสดุอุปกรณ์สำหรับสร้างที่พักซึ่งหายาก น้ำดื่ม มาลาเรีย ความไม่เคยชินกับสภาพภูมิอากาศ และความแตกต่างด้านการสื่อภาษาเป็นอุปสรรคที่มีการระบุให้อยู่ในระดับแรก ๆ ในบัญชีความยากลำบากที่เผชิญหน้าทหารนานาชาติกลุ่มนี้

ที่ศรีโสภณ ทหารราบบังคลาเทศทั้งกองพันพบว่าพวกเขาไม่อาจหาน้ำดื่มที่สะอาดได้ในตลาดใหญ่หรือที่ไหน ๆ ในตัวเมืองมา 2 วันแล้วนับตั้งแต่มาถึงในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน สาเหตุก็คือเครื่องทำน้ำประปาประจำกองพันเกิดใช้การไม่ได้

ดูเหมือนว่ากองร้อยทหารช่างไทยในสังกัดสหประชาชาติที่ตั้งอยู่ติดกันไม่สามารถแบ่งน้ำดื่มให้ได้ เครื่องทำประปาหน่วยนี้สามารถผลิตน้ำดื่มได้ประมาณ 8 คันรถต่อวัน ซึ่งใช้ภายในกองร้อยและสนองให้กับหน่วยภารกิจอื่นของสหประชาชาติในบันเตียเมียนเจยทั้งจังหวัด

"มันทารุณมากที่ไม่มีน้ำดื่ม" ร้อยเอกยักกี้ แห่งกองพันบังคลาเทศบอก เบื้องหลังของเขาคือทหารตัวดำมะเมื่อมนับร้อยที่นั่งหลบแดดยามเที่ยงอย่างง่วงเหงา ข้างตู้คอนเทนเนอร์ราว 20 ตู้ที่ขนสะเบียงอาวุธและอุปกรณ์ยังชีพผ่านอู่ตะเภาเข้ามา น้ำอัดลมกระป๋องเป็นน้ำดื่มสะอาดเพียงแหล่งเดียวในศรีโสภณ" นอกจากทำให้ท้องอืดแล้วมันยังทำให้เรากระหายน้ำมากขึ้นไปอีก" เขาเสริม

ภายใต้สภาพที่ขัดสนเช่นนี้ ดูเหมือนว่ากองพันทหารช่างของไทย ซึ่งได้เดินทางเข้าไปซ่อมสร้างเส้นทางในเขตตะวันตกของกัมพูชาล่วงหน้ามานานกว่า 3 เดือน ได้กลายเป็นที่พึ่งของหน่วยทหารใหม่ ๆ ที่หลั่งไหลเข้าไปในตะวันตกของกัมพูชาไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุปัจจัยสารพันที่ขาดแคลนหรือกระทั่งการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นชาวเขมร ความช่วยเหลือหรือคำแนะนำของเพื่อนร่วมภาระกิจจากไทยล้วนเป็นสิ่งมีค่า

"เราพยายามช่วยพวกเขาเท่าที่จะทำได้ "พันโท วีระศักดิ์ รักษาทรัพย์ ผบ. ช. พัน 1 ซึ่งรับผิดชอบกู้ถอนกับระเบิดและซ่อมสร้างถนนสายปอยเปต-ศรีโสภณ เอ่ยถึงคำร้องขอของหน่วยทหารเนเธอร์แลนด์ที่มาเยี่ยมชมการก่อสร้างค่ายพักที่สอดคล้องกับสภาพอากาศ และขอคำแนะนำด้านการก่อสร้างและการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ

"เราเหมือนแม่บ้านในภาคตะวันตกใครปวดท้องร้องไห้ก็วิ่งมาหาเราทั้งนั้น" พันตรี สมบูรณ์ ปัญญาวงศ์ นายทหารการข่าว กองพันทหารช่างที่ 2 สหประชาชาติที่พระตะบองบอก

กระนั้นก็ดี คุณูปะการของทหารไทยที่ได้มอบให้กัมพูชานั้น กลับเป็นสิ่งที่จับต้องได้ที่มีคุณค่า และส่งผลสะเทือนกว้างไกลมากกว่าบทบาทที่ว่านี้อย่างมหาศาล นั่นคือการพลิกฟื้นโครงการทางสรีระ โดยเฉพาะถนนหนทางที่นั่น

ในจำนวนทหารช่าง 2 กองพันที่รัฐบาลไทยจัดส่งเข้าไปในกัมพูชานั้น ประกอบด้วยกองพันช่างที่ 1 ซึ่งรับภาระหน้าที่ในการซ่อมสร้างเส้นทางปอยเปตศรีโสภณ มูลค่า 140 ล้านบาทซึ่งเป็นของขวัญแห่งสันติภาพที่รัฐบาลไทยมอบให้เปล่า ส่วนกองพันทหารช่างที่ 2 ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของอันแทคภารกิจคือซ่อมสร้างถนนหมายเลข 5 และหมายเลข 6 ตลอดทั้งสองสาย

พันโท ชัยวัฒน์ ฐิตสาโร รอง ผบ. ช. พัน 2 บอกว่าถนนทั้งสองสายเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ที่มีความสำคัญต่อชีวิตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของกัมพูชาที่สุด

"ไม่เพียงทหารอันแทคจะได้ใช้เส้นทางนี้ในการเคลื่อนย้ายใช้เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุงตลอดภาระกิจรักษาสันติภาพเท่านั้น มันยังเป็นเส้นทางหลักสำหรับการอพยพเขมรพลัดถิ่นกลับเข้ามาตั้งรกราก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าของกัมพูชาให้ฟื้นตัวจากภาวะสงครามได้อย่างรวดเร็ว" รอง ผบ. ช. พัน 2 บรรยายสรุปที่ ที่ตั้ง บก. ในพระตะบอง

ที่ปราจีนบุรี วิชา สีหไกร พาณิชย์จังหวัดเปิดเผยตัวเลขการค้าข้ามแดนไทย-กัมพูชาที่ตลาดด่านคลองลึก-ปอยเปตทวีปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงวันละไม่น้อยกว่า 7 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับการค้าเถื่อน อันได้แก่ไม้และพลอยซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าตัวเลขข้างต้นอีกหลายสิบเท่าตัว

การค้าที่ด่านคลองลึกได้กระตุ้นให้เกิดกลุ่มการค้าและการขนส่งสินค้า ผุดขึ้นปานดอกเห็ดตามหมู่บ้านตลอดสองฝากทางระหว่างปอยเปต ไปจนจรดพระตะบองด้านหนึ่ง พวกเขาจะขนสินค้าประเภทบุหรี่และสุราต่างประเทศ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องกลขนาดเล็กที่ทำในรัสเซียจากทางรถไฟที่ทอดยาวจากศรีโสภณไปถึงท่าเรือ กำปงโสม มาที่ปอยเปต เครื่องจักรสาน ของป่าและปลาถูกลำเลียงมาตามทางรถยนต์รอบ ๆ ทะเลสาบใหญ่ตนแลซับก็ถูกลำเลียงมาที่ตลาดแห่งนี้ อีกด้านหนึ่งในขากลับสินค้าเครื่องอุปโภค บริโภค รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไทยก็จะถูกลำเลียงกลับลึกเข้าไปทุกหนทุกแห่งในกัมพูชา

"ราคาและปริมาณสินค้าจากชายแดนไทยที่วางบนแผงในตลาด ช่วยให้พวกเราที่นี่รู้ถึงสถานการณ์ชายแดนได้โดยไม่ต้องออกจากเมืองไปไหน" ลงดี เกษตรกรอำเภอ ผู้จบสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยพระตะบองวัย 28 ปี บอกกับเราขณะจิบกาแฟอินสแตนท์จากไทยในยามเช้าที่พลุกพล่านในตลาดเก่าของพระตะบอง

เกษตรกรหนุ่มที่พูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว บอกว่าราคาสินค้าจากไทยในตลาดพระตะบองขณะนั้นแพงขึ้นอย่างผิดสังเกต เหตุการณ์นั้นประจวบกันอย่างมีเลศนัยกับราคาบุหรี่ และสุราต่างประเทศที่ตลาดปอยเปตที่ถีบตัวสูงขึ้นจากซองละ 14 บาทเป็น 18 บาทในชั่วข้ามสัปดาห์

ชอน โสภอน รองผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายการเมืองของบันเตียเมียนเจยบอกว่านั่นเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของด่านภาษีเถื่อนบนเส้นทางศรีโสภณ-ปอยเปต

เท่าที่เราสังเกตุด้วยตา ระหว่างขับรถบนถนนสายนั้นบนเส้นทาง 49 กิโลเมตรมีทหารรัฐบาลเคียนผ้าขาวม้าสะพายปืนอาการ์ (AK-47) กลุ่มละ 7-8 คนตั้งด่านเถื่อนเรียกเงินจากพ่อค้าแม่ค้าและผู้สัญจร ตามทางอื่น ๆ ตามอำเภอใจ กันไม่น้อยกว่า 20 จุดพวกเขาหลายคนอยู่ในสภาพมึนเมา

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นเพียง 2 วันหน่วยทหารหลักได้ส่งกำลังออกเคลียร์เส้นทาง นายทหารไทยที่ปอยเปตบอกว่ามีพวกแหกคอกตั้งด่านเถื่อนไม่น้อยกว่า 10 คนถูกยิงทิ้ง หลายสิบคนถูกจับ นั่นทำให้เราหวนคิดถึงคำพูดที่ว่า "เรายอมจ่ายทุกอย่างเพื่อสันติภาพ"

สำหรับผู้บริโภค ราคาสินค้าลดลงทันตาเห็น แต่สำหรับประชาชนที่นั่นมันก็คือบทเรียนทางธุรกิจของการค้าเสรีที่ดีที่สุด

ใต้มงคลบุรี เขตปลูกข้าวใหญ่ที่สุดของบันเตียเมียนเจย 10 กิโลเตร ยำ เติก ผู้อพยพภัยสงครามจากไซต์ 2 วัย 62 ปี กำลังวาดความหวังใหม่ในบั้นปลายชีวิตที่นี่ในเขตตั้งรกรากใหม่ชานเมือง เขาและครอบครัวซึ่งบัดนี้ได้บ้านหลังใหม่แล้วกำลังจะได้รับการจัดสรรที่ทำกิน อีก 5 ไร่

ครอบครัวของยำ เติก เป็น 1 ใน 40 ครอบครัวของชุมชนใหม่แห่งนี้ ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการและอนุเคราะห์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ที่จะอพยพผู้พลัดถิ่นจากภัยสงครามกลับประเทศ จนกระทั่งถึงต้นเดือนมิถุนายนมีผู้อพยพถูกส่งกลับประเทศไปแล้ว 18,700 คน จาก 4,199 ครอบครัวซึ่งกว่าร้อยละ 90 กระจายกันไปอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตภาคตะวันตกและที่เหลืออพยพไปพนมเปญ

ตามเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ผู้อพยพกลับจะได้รับที่ดินปลูกบ้านและอุปกรณ์ที่ดินครอบครัวละ 5 ไร่และเครื่องมือเกษตรหรือเงิน 50 เหรียญสหรัฐ และการเลี้ยงดูตลอดระยะเวลา 18 เดือนก่อนที่คาดว่าจะสามารถลงมือเพราะปลูกในฤดูฝนแรกที่เป็นไปได้

"ผมเลือกเอาที่ดิน เพราะลูก ๆ จะได้มีหลักประกันในอนาคต" ยำ เติกบอกพลางชี้ไปยังทุ่งเวิ้งที่กว้างราว 500 ไร่รายล้อมไว้ในทิวดงตาล ติดแม่น้ำมงคลบุรีที่อุดมสมบูรณ์ที่เห็นอยู่เบื้องหลังที่ แปลงนั้นเดิมทีเจ้าของจับจองอยู่แล้วแต่รัฐบาลท้องถิ่นมีแผนที่จะโยกย้ายคนเหล่านั้นไปสู่ที่ดินแปลงใหม่

เบย อู กิม ประธานคณะกรรมการเมืองมงคลบุรีบอกว่า ประชาชนที่จะถูกโยกย้ายออกไปมีปัญหาอยู่บ้าง "แต่ที่นี่เป็นของรัฐและแหล่งทำกินใหม่ก็อยู่ไกลออกไปจากที่เดิมเพียงไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น"

และนั่นดูเหมือนว่าจะเป็นการยืนยันอีกตัวอย่างหนึ่งตามนโยบาย "จ่ายทุกอย่างเพื่อสันติภาพ" ของรัฐบาลพนมเปญ

"พวกเขาให้ความร่วมมือดีมาก" นิฮาล เดอ ซอซ่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดหาชาวศรีลังกาประจำศูนย์รับผู้อพยพพนมกองวา 13 กิโลเมตรเหนือศรีโสภณ สรรเสริญความมีน้ำใจของรัฐบาลท้องถิ่น "มัน เป็นโชคของเราและผู้ตั้งรกรากที่นี่อย่างที่สุดแต่ที่อื่น ๆ ผมเองไม่ทราบ" ที่ศูนย์แห่งนี้มีสถิติจัดส่งผู้อพยพออกไปสู่เขตที่ทำกินได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับศูนย์อื่น ๆ คือยอดรับเข้าจนถึงสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน 4,350 คนและส่งออกไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ได้ 3,420 คน

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดปรากฏที่พระตะบอง ศูนย์รับกลับ 2 แห่งที่นี่คือที่โอตากีและตวลมะกั๊ก รับผู้อพยพกลับไปแล้ว 8,200 คน ราวครึ่งหนึ่งยังติดอยู่ในศูนย์รัฐบาลท้องถิ่นไม่สามารถจัดหาที่ทำกินให้ได้เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่ตกอยู่ในดงทุ่นระเบิดและที่เหลือก็มีผู้เข้าไปทำกินหมดแล้ว

เป็นความจริงที่ว่าหลังปี 2528 ซึ่งเป็นปีที่ทหารเวียดนามและทหารรัฐบาลได้เปิดศึกใหญ่ ผลักดันกองทหารฝ่ายต่อต้านแตกกระเจิงออกจากฐานที่มั่นเล็ก ๆ ที่เรียงรายอยู่ตามแนวชายแดนและลึกเข้าไปในภาคตะวันตก หนีเข้ามาอยู่ในเขตไทยได้สำเร็จ ยุทธการล้อมปราบครั้งนั้นทำให้เกิดความมั่นคงขึ้นโดยรอบในที่ราบพระตะบองประชากรตามริมฝั่งสะตรึงสังคี ซึ่งเป็นเขตปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดในกัมพูชาได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

จากจำนวนราว 1 แสนคนเศษบัดนี้มันขยายตัวออกเป็น 480,000 คนแล้ว "การรับผู้ตั้งรกรากใหม่เข้ามาเป็นปัญหาหนักอกของเราจริง ๆ" เต เฮียน ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดพระตะบอง ฝ่ายการเมืองชี้ให้เห็นปัญหาของการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรที่กำลังจะเกิดขึ้นกับจังหวัดนี้

ตามสถิติที่จัดทำโดยศูนย์ประสานการส่งชาวกัมพูชากลับมาตุภูมิ (ศปสก.) ของกองบัญชาการทหารสูงสุดที่รวบรวมไว้จากจำนวนผู้อพยพทั้งสิ้น 370,000 คน มีที่ต้องการกลับไปตั้งรกรากในจังหวัดพระตะบองทั้งสิ้น 187,000 คน "นั่นจะทำให้ประชากรของจังหวัดขยายตัวขึ้นถึงร้อยละ 40 ในชั่วข้ามคืน" ผู้ช่วยผู้ว่าฯ วัย 48 ซึ่งเป็น ผู้สืบเชื้อสายของตระกูล "อภัยวงศ์" บอกจังหวัดกำลังเจรจากับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เพื่อให้อีกฝ่ายได้รับทราบความยากลำบากของตน

ปัญหาที่พระตะบองเป็นส่วนหนึ่งที่กำลังจะทำให้แผนการจัดส่งผู้อพยพกลับของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ต้องประสบความล่าช้า แต่โครงสร้างประชากร ของกัมพูชาภาคตะวันตกก็ได้ถูกกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่กวาดซัดไปแล้วอย่างไม่อาจจะถอยกลับ

ที่บันเตียชมาร์และทะมอพวกตรงข้ามกับอำเภอตาพระยา ปราจีนบุรีกองกำลังทหารเขมรเสรีภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรีซอนซานน์ ได้เปิดเขตที่มั่นขึ้นใหม่ ประชาชนหลายหมื่นคนและทหารที่กำลังจะถูกปลดประจำการราว 1 หมื่นคนกำลังตั้งรกรากถิ่นฐานใหม่ เพื่อรองรับผู้อพยพอีกจำนวนหนึ่งในค่ายผู้อพยพไซต์ 2ให้เข้าไปร่วมชมรมด้วย พวกเขาจะได้รับที่ดินครอบครัวละ 25 ไร่หรือ 5 เท่าของที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่จะให้

เหนือขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประชาชนผู้นิยมเจ้านโรดม สีหนุ ในค่ายผู้อพยพไซต์บีส่วนหนึ่ง ก็กำลังเตรียมตัวเข้าไปสมทบกับทหาร และครอบครัวทหารที่จะปลดประจำการในพื้นที่รอบ ๆ เมืองสำโรง เมืองเอกของจังหวัดอุดรมีชัย และอัมปึลที่ติดกับชายแดนไทยในเขตจังหวัดสุรินทร์

ใต้ลงมาที่พนมจะไกร ตรงข้ามค่ายผู้อพยพ ไซต์ 8 ของเขมรแดง ในเขตอำเภอคลองหาด ปราจีนบุรี ประชากรในไซต์หลายหมื่นคนถูกบังคับให้เคลื่อนย้ายออกมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในบริเวณนั้น ตั้งแต่ปลายปี 2534 เพื่อทำงานเป็นกรรมกรตัดไม้และชักลากในป่าเบญจพรรณผืนนั้นและที่ไพลินซึ่งอยู่ตรงข้ามอำเภอโป่งน้ำร้อน จันทบุรี ประชากรอีกหลายหมื่นคนหวนกลับจากเขตป่าเขาและค่ายอพยพไซต์เคในเขตอำเภอบ่อไร่ ตราด เข้ามาพำนักในตัวเมือง หลังจากเขมรแดงยึดเมืองนั้นได้ เมื่อทหารเวียดนามถอนกลับประเทศปลายปี 2532 บัดนี้ไพลินกลายเป็นที่พักของกรรมกรเหมืองพลอยไปแล้ว

"เรามีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 7 หมื่นคน" ลอง โนริน ผู้อำนวยการสำนักข่าวสารของรัฐบาลเขมรแดงที่ไพลินบอกระหว่างการเยือนช่วงสั้น ๆ ของเราในช่วงกลางเดือนมีนาคม "จำนวนนี้อาจจะเพิ่มขึ้นอีก" เขาเสริม

และเหนือสุดของกัมพูชาประชากรในค่ายอพยพโอเตรา ทางตะวันตกของปราสาทเขาพระวิหาร ก็กำลังจะถูกเขมรแดงบังคับให้อพยพมาตั้งรกรากที่อันลองเวียงและหัวเมืองสำคัญ ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน

การอพยพโยกย้ายประชากรขนานใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในภาคตะวันตกของกัมพูชาขณะนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในแผนการแย่งชิงประชาชนที่ฝ่ายต่าง ๆ ในกัมพูชากำลังปลุกปล้ำกันอยู่ ภายใต้จมูกของชาวโลกที่กำลังวิตกกังวลต่อแนวโน้มของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่นั่น และช่างเป็นเรื่องที่น่าประหลาดไม่น้อยที่ไทยมีอิทธิพลต่อการโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหม่นี้โดยตรง

มีบริษัททำไม้ 2 แห่งที่ได้รับสัมปทานป่าไม้ในเขตบันเตียชมาร์ ทะมอพวก และยางแดงกุ่ม ซึ่งเป็นเขตยึดครองของเขมรเสรี และอีก 2 แห่งได้รับสัมปทานป่าจากเขมรแดงในเขตพนมจะไกร และไพลินนอกจากนี้บริษัทเหมืองพลอยไทยอีกเจ้าหนึ่งก็เข้าไปร่วมลงทุนกับเขมรแดงในการเปิดบ่อพลอยให้นักลงทุนไทยเช่าช่วงทำอีกราว 4 เจ้าในเขตเขาเพชรและรอบ ๆ อำเภอไพลิน

ไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการแต่ก็เห็นกันเป็นที่โจ่งแจ้งว่าชุมชนอพยพใหม่ ๆ ในการอำนวยการของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนั้นส่วนใหญ่ล้วนอิงอยู่บนกิจกรรมป่าไม้และเหมืองพลอยเป็นหลัก รถบลูโดเซอร์และรถเกรดจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปสร้างเส้นทางประดุจร่างแหในเขตสัมปทาน ซึ่งก็ได้กลายเป็นเส้นทางในการโยกย้ายถิ่นฐานและติดต่อกันระหว่างชุมชนเหล่านี้

บรรดาองค์กรนำของเขมรจะได้รายได้ซึ่งกำลังจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึง และได้ดำเนินแผนการตั้งชุมชนใหม่ ๆ ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของตนขึ้นในเขตยึดครองในขณะที่ประชากรที่อพยพเข้าไปในเขตนั้นก็จะได้ค่าจ้างเพื่อการยังชีพเป็นการตอบแทน

และสำหรับไทยเอง นี่เป็นก้าวสำคัญทางยุทธศาสตร์ ดินแดนที่ต้องสูญเสียให้ฝรั่งเศสไปได้หวลกลับเข้ามาอยู่ในวง-ไพบูลย์อีกครั้งหนึ่ง ในภารกิจใหม่ตามยุคสมัยที่เรียกกันว่า "การเชื่อมโยงเศรษฐกิจกัมพูชาเข้ากับตลาดโลก"

หรือว่า การขยายอาณานิคมได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาอีกแล้ว !

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามรอยยิ้ม ปรากฏขึ้นทั่วไปในไพลิน ประชาชนนับหมื่นปรากฏตัวขึ้นที่ลานโล่ง ๆ กว้างราว 200 ไร่กลางใจเมืองที่กระสุนปืนใหญ่และจรวดได้ช่วยรื้อถอนตึกรามบ้านช่องออกไป ในงานพิธีต้อนรับเจ้านโรดมสีหนุที่มาเยือนไพลินเมื่อกลางเดือนมีนาคม

พวกเขาอยู่ในชุดแต่งกายและจักรยานใหม่เอี่ยม จับกลุ่มซุบซิบขณะดูดหัวน้ำหวานผสมน้ำแข็งที่ขนผ่านด่านบ้านผักกาดจากจันทบุรีเข้าไปยังไพลิน โดยรถบริษัทเหมืองพลอยบนถนนที่ตัดโดยบริษัททำไม้ไทย

"คนที่นี่รวยกว่าและมีความเป็นอยู่ดีกว่าทั้งหมดในกัมพูชา" นายทหารติดตามพลตรี นาเวศ ณ หนองคาย ทูตไทยประจำตัวเจ้าสีหนุซึ่งได้ติดตามประมุขกัมพูชาผู้นี้ไปเยือนราษฎรในเขรยึดครองของฝ่ายต่อต้านและฝ่ายรัฐบาลพนมเปญในช่วงนั้นบอก

ผู้คนในเขตอิทธิพลรัฐบาลพนมเปญเองก็ยิ้มแย้มแจ่มใสไม่แพ้กัน เมื่อสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยวางขายอยู่เต็มตลาด และเงินดอลลาร์จากกระเป๋าของทหารและเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติมีไว้ให้เก็บเกี่ยวเอาอยู่ทั่วหัวระแหง

สาวเขมรหน้าตาคมคายเริ่มแต่งตัวฉูดฉาดมานั่งดื่มเบียร์และเต้นรำที่ภัตตาคารกลางแจ้งริมสะตรึงสาคีกันหนาตาขึ้น และทหารไทยก็เป็นผู้ที่น่าโปรดปรานมากที่สุดในบรรดาคนที่พกเงินดอลลาร์เข้าไป

"ฉันรักคนไทยมากที่สุดเลย" ดาริ ยา นูแม่ค้าสาวสวยวัย 18 ปีที่ตลาดใหม่ของพระตะบองบอก

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us