Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2535
"ใครคือบริษัทกฎหมายยอดนิยม"             
 


   
search resources

สำนักงานกฎหมายเบเกอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่
ธีรพล สุวรรณประทีป
สุจินต์ ชัยมังคลานนท์




"เป็นครั้งแรกที่มีการสำรวจบริษัทกฎหมายยอดนิยมเบเกอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ มาอันดับต้น ๆ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาการเงินขณะที่ดำเนิน สมเกียรติ บุญมา ได้รับความนิยมด้านลิขสิทธิ์ และสุวรรณ วลัยเสถียร ด้านภาษี"

เศรษฐกิจไทยกำลังขยับเข้าสู่ความเป็นสากล บริษัทต่างชาติก็มองที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น บทบาท "ที่ปรึกษา" ก็วิวัฒนาการตามมา เพื่อให้คำแนะนำการลงทุนของต่างชาติเหล่านั้น ตั้งแต่การจดทะเบียนตั้งบริษัท การร่วมทุนกับไทย จนถึงการขอบัตรบีโอไอ กล่าวกันว่า ที่ปรึกษากฎหมายนี้กำลังเป็นธุรกิจที่มีการขยายตัวสูงมาก นับแต่ยุครัฐบาลพลเอกเปรมเป็นต้นมา และเริ่มมีนักกฎหมายใหญ่ ๆ เข้าสู่ธุรกิจนี้มากขึ้น

เดิมที่ผ่าน ๆ มานั้น สิ่งที่บรรดานักธุรกิจวิตกและพยายามที่จะหลีกเลี่ยงมากที่สุดนั้นได้แก่เรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะรู้ ๆ กันว่า เป็นสิ่งที่ต้องเสียเวลา และเสียความรู้สึกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจจะเสียเงินเสียทองและเสียพันธมิตรธุรกิจด้วย

"กินขี้หมาดีกว่าเป็นความ" จึงเป็นคำกล่าวที่แฝงความเป็นจริงไม่น้อยเลย !!

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับกันว่า ในปัจจุบันเรื่องที่เกี่ยวกับทนายความนั้น ภาพที่ออกมา ค่อนข้างจะดีขึ้น ในสายตาของนักธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่

"เดิมนั้นในสายตาของคนทำธุรกิจทนายความถึงคนที่มาว่าความที่ศาลเท่านั้นไม่ได้ทำหน้าที่อื่น" ธีรพล สุวรรณประทีป ทนายความชื่อดังแห่งสำนักงานกฎหมายเบเกอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

แต่ในปัจจุบัน สำนักงานทนายความ ต่างก็ปรับตัวเอง เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายและปรึกษาเรื่องอื่น ๆ ด้วย กระทั่งกล่าวกันว่า สำนักงานกฎหมายที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา กลายเป็น "สิ่งจำเป็น" ทางธุรกิจไปแล้ว

จากการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์อุตสาหกรรม บริษัท บริการข้อมูลผู้จัดการ จำกัดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้สรุปว่า การให้บริการให้คำแนะนำด้านกฎหมายต่าง ๆ นั้น มาจากการขยายตัวทางธุรกิจ และความสลับซับซ้อนของธุรกิจที่มีมากขึ้น

"ดูเหมือนการเริ่มต้นของการเป็นที่ปรึกษาจะมีมากในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประมาณปี 2523-2524" สุจินต์ ชัยมังคลานนท์ แห่งสำนักงานกฎหมายเบเกอร์ แอนด์แม็คเค็นซี่ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงจุดหักเหครั้งสำคัญของสำนักงานทนายความหลายแห่ง

ทั้งนี้ นักธุรกิจรุ่นเก่าคนหนึ่งกล่าวถึงการทำธุรกิจในอดีตที่ผ่านมาว่า เดิมนั้น การตกลงทำธุรกิจกันจะเป็นการตกลงกันโดยวาจามากกว่าที่จะเป็นลายลักษณ์อักษรและยังคงมีอยู่บ้างในปัจจุบัน ในหมู่นักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล

แต่การไหลบ่าเข้ามาของนักธุรกิจชาวตะวันตก ในช่วงของสงครามเวียดนาม ได้มีการเริ่มใช้สำนักงานกฎหมายเป็นที่ปรึกษาบ้างแม้จะไม่มากนัก ซึ่งเหตุผลของการเข้ามาของนักธุรกิจตะวันตกนั้น ก็เนื่องมาจาก การที่ความมั่นใจในสถานการณ์บ้านเมืองของเวียดนามในขณะนั้น ไม่มีพอที่จะให้นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันตกมั่นใจว่า หากรัฐบาลของเวียดนามเหนือ ที่เน้นการปกครองระบอบสังคมนิยมเป็นฝ่ายชนะ ธุรกิจของพวกเขา จะยังคงอยู่ต่อหรือไม่

ไทยเป็นจุดเลือกแรกของการหนีมาลงทุนของนักธุรกิจตะวันตกเหล่านั้น

นักกฎหมายเก่าแก่คนหนึ่ง เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ความคิดของนักธุรกิจตะวันตกนั้นมองเรื่องการลงทุนว่า สมควรที่จะมีการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ก่อนที่จะเกิดปัญหาจริง ๆ ดังนั้นการร่วมทุนกับใครก็ตาม นักธุรกิจเหล่านี้ โดยเฉพาะชาวอเมริกาและชาวอังกฤษ นิยมที่จะร่วมทุนกับใครโดยการทำสัญญาก่อน

"แต่เดิมนั้น ในหมู่นักธุรกิจไทยยุคแรก ๆ โดยเฉพาะชาวจีนนั้น นิยมที่จะร่วมทุนแบบตกลงกันโดยวาจา เป็น HAND CHECK AGREEMENT ดังนั้นนักกฎหมายจึงไม่มีความสำคัญหรือจำเป็นต่อการทำธุรกิจของพวกเขา" ธีรพลกล่าว พร้อมทั้งอรรถาธิบายเพิ่มว่ามาถึงยุคปัจจุบัน การที่รุ่นลูกรุ่นหลานเริ่มเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจมากขึ้นการมองสำนักงานกฎหมาย เป็นที่ปรึกษา จึงมีมากขึ้นด้วย เพื่อความสบายใจกันของผู้ที่จะร่วมทุนกันทำธุรกิจ ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การทำธุรกิจก็จะยังคงอยู่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การตกลงร่วมธุรกิจของชาวจีนในไทยในรูปของการตกลงกันโดยวาจานั้น ยังคงมีอยู่ประปราย !!!

แม้หลายคนไม่มั่นใจว่าหากบรรพบุรุษผู้ร่วมกันทำธุรกิจเกิดล้มหายตายจากไป จะเกิดการล้มเลิกข้อผูกพันหรือไม่ก็ตาม

แม้งานที่ปรึกษากฎหมาย มีมาค่อนข้างนานแล้ว แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะทำหน้าที่เหล่านั้นได้

ว่ากันว่า เป็นเพราะเหตุผลหลาย ๆ ประการ

เจ้าหน้าที่ระดับกลางคนหนึ่งในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า การใช้สำนักงานกฎหมายเป็นที่ปรึกษานั้น ตนคิดว่าจะมีไม่มากนัก อาจจะเป็นเพราะเหตุผล 2 ประการกล่าวคือ ประการแรกบริษัทใหญ่ ๆ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ต่างก็มีนิติกรหรือฝ่ายกฎหมายของตนเอง จึงไม่น่าที่จะจำเป็นถึงขั้นต้องใช้ที่ปรึกษากฎหมาย และอีกประการก็คือ มีหลายเรื่อง ที่เป็นความลับทางธุรกิจที่น่าจะยากต่อการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา

เจ้าหน้าที่ในสำนักงานกฎหมายต่าง ๆ ยอมรับว่าเรื่องความลับทางธุรกิจนั้น ในรายละเอียดต่าง ๆ คงมีแน่ แต่ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันทนายความหรือนักกฎหมาย เป็นอาชีพที่ได้รับ การยอมรับมากขึ้น ดังนั้น ปัจจุบัน ลูกค้าหลาย ๆ บริษัทจึงกล้าที่จะเปิดเผยรายละเอียดที่เขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทมากขึ้น

สุจินต์ ชัยมังคลานนท์ แห่งเบเกอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ยอมรับว่า เรื่องความลับทางธุรกิจนั้นมีแน่นอน แต่ในส่วนของบริษัทที่ปรึกษา ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก และหลาย ๆ กรณีที่การเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ไม่ต้องการรายละเอียดถึงขั้นต้องได้ความลับทางธุรกิจมาช่วยในการทำงาน ซึ่งขึ้นกับทางบริษัทผู้ว่าจ้างว่าจะเปิดเผยแค่ไหน

กล่าวกันว่า ข้อมูลที่จะมีการให้กับบริษัทที่ปรึกษาหรือไม่นั้น ขึ้นกับฝ่ายบริษัทผู้ว่าจ้างเอง ว่าจะเปิดเผยหรือไม่ คุ้มหรือไม่กับการที่จะต้องมีการเปิดเผยตัวเลขหรือรายละเอียดต่างๆ ให้กับสำนักงานกฎหมายที่ตนว่าจ้าง

ขณะที่รัฐ จำเดิมเผด็จศึก แห่งสำนักงานกฎหมาย สนอง ตู้จินดา กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าฝ่ายกฎหมายของบริษัทต่าง ๆ หรือธนาคารพาณิชย์ตลอดจนบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นั้น จะทำหน้าที่ในเรื่องเกี่ยวกับเอกสารภายในบริษัท หรือพวกสัญญาของธนาคารหรือบริษัทกับลูกค้ามากกว่า ในขณะที่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภายนอกก็จะมีการว่าจ้างสำนักงานกฎหมายต่าง ๆ มาเป็นที่ปรึกษา

ในส่วนของนักกฎหมายในบริษัทที่ปรึกษาต่าง ๆ นั้น มีเรื่องเล่ากันว่าบ่อยครั้งที่พวกเขาตรวจสอบเอกสารโดยถูกปิดแม้กระทั่งชื่อของผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารทางการเงินของบริษัท

สำหรับการสำรวจของศูนย์วิเคราะห์อุตสาหกรรม บริษัท บริการข้อมูลผู้จัดการ เพื่อพิจารณาถึงการใช้สำนักงานกฎหมาย เป็นที่ปรึกษากฎหมายนั้นพบว่า มีรูปแบบของการใช้ 3 ลักษณะด้วยกัน กล่าวคือ ประการแรก เป็นรูปแบบของการให้คำปรึกษา คือการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งการวางแผนร่างสัญญาต่าง ๆ ให้กับบริษัทด้วย

การเป็นที่ปรึกษาของสำนักงานกฎหมายประการที่สองนั้น จากการสำรวจดังกล่าว พบว่า ได้แก่การว่าความ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเตรียมการฟ้อง การประนีประนอม จนถึงการดำเนินคดีความต่าง ๆ

ประการสุดท้ายของการให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมายนั้นได้แก่ การให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เช่น การบริการด้านลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า การจดทะเบียนบริษัท ตลอดจนถึงการขอรับการส่งเสริมการลงทุน

นักธุรกิจหลายคนที่ใช้บริการของสำนักงานกฎหมายต่าง ๆ ให้คำอธิบายถึงการใช้บริการของสำนักงานกฎหมายว่า เหตุผลหนึ่งที่เป็นที่นิยมของต่างชาตินั้นก็คือการที่สำนักงานที่ปรึกษาเหล่านั้น สามารถที่จะทำหน้าที่เป็นแขนขาในการเข้าหากลไกรัฐได้ เพื่อขอความสะดวกในการทำธุรกิจในไทยนั่นเอง

เจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยอมรับว่า ในจำนวนบริษัทต่างชาติที่ยื่นเรื่องขอบัตรส่งเสริมจากสำนักงานนั้นกว่า 90% เป็นการยื่นเรื่องโดยสำนักงานกฎหมายต่าง ๆ

"พวกนักธุรกิจข้ามชาติรู้ดีว่า ในการลงทุนในประเทศด้วยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา (เช่นประเทศไทย) นั้น CONNECTION สำคัญเสมอ" เจ้าหน้าที่บีโอไอคนเดิมกล่าว

สำหรับการสำรวจนั้น พบว่า สำนักงานกฎมายในไทย ที่มีกลุ่มบริษัทธุรกิจต่าง ๆ ใช้เป็นที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ นั้นมีการจัดตั้งเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน คือ

1) สำนักงานกฎหมายของต่างชาติซึ่งมีการก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเริ่มจากการว่าจ้างนักกฎหมายต่างชาติชาวตะวันตกมาเป็นทนายความและส่วนหนึ่งยังคงเปิดดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน

2) สำนักงานกฎหมายของฝรั่งที่ตั้งถิ่นฐานในไทย คือจากนักกฎหมายฝรั่งที่มาตั้งรกรากและโอนสัญชาติเป็นไทยและจัดตั้งสำนักกฎหมายขึ้นในไทย รวมทั้งมีบางส่วนที่มีการจัดตั้งกับนักกฎหมายไทย

3) สำนักงานกฎหมายของนักกฎหมายไทยที่แยกตัวมาจากสำนักงานกฎหมายของต่างชาติ โดยมีนักกฎหมายไทยที่ผ่านงานในสำนักงานกฎหมายของต่างชาติจนมีประสบการณ์และชื่อเสียงก็แยกตัวออกมาตั้งเป็นสำนักงานกฎหมายใหม่ขึ้น

4) สำนักกฎหมายของไทยที่มีการพัฒนาตนเองขึ้นมา โดยเป็นกลุ่มนักกฎหมายเก่าที่มีความพร้อมและได้ขยายธุรกิจจนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการ

สำหรับสำนักงานกฎหมายที่ตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในไทย ได้แก่ สำนักงานติลลิกีแอนด์กิบบินส์โดยนักกฎหมายชาวลังกา คือวิลเลียม อัลเฟรด ติลลิกี ที่ครั้งหนึ่งในวิชาชีพ เคยว่าความในคดีที่เป็นประวัติศาสตร์ นั่นคือ การแก้ต่างให้กับ "พระยอดเมืองขวาง" ในคดีข้อกล่าวหาว่าฆ่านายทหารฝรั่งเศสผู้หนึ่งโดยเจตนา ในกรณีพิพาทพรมแดนไทยอินโดจีน

เมื่อศาลตัดสินว่าจำเลยไม่ผิด ติลลิกีก็ได้รับพระราชบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาอรรถการประสิทธิ์" และดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการ

หุ้นส่วนของติลลิกีคือ ราล์ฟ กิบบินส์ นักกฎหมายชาวอังกฤษ ซึ่งในปี 2449 เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสากล (ศาลอุทธรณ์)

จากการสำรวจความเห็น ถึงการใช้บริการของสำนักงานกฎหมายต่าง ๆ นั้นสรุปได้ถึงการใช้บริการของสำนักกฎหมายต่างนั้น สรุปได้ถึงการใช้บริการของสำนักกฎหมายต่าง ๆ เพื่อเป็นที่ปรึกษาเป็น 6 ประเภทด้วยกัน คือ

1) หมวดที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นการให้บริการคำปรึกษากฎหมายที่เกี่ยวกับสัญญาการเงินต่างๆ เช่น SYDICATE LOAN

2) หมวดลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร เป็นการให้บริการคำปรึกษาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินการจดทะเบียนลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร

3) หมวดการ TAKE OVER เป็นการให้บริการด้านให้การแนะนำและร่างสัญญาในกรณีที่มีการ TAKE OVER ซึ่งครอบคลุมการให้บริการทั้ง 2 ฝ่ายคู่กรณีที่มีการ TAKE OVER

4) หมวดว่าความคดีแพ่ง เป็นการให้บริการในส่วนของการว่าความคดีแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการเงิน

5) หมวดภาษี เป็นการให้บริการคำปรึกษาในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษี รวมทั้งการร่างสัญญาภาษีต่าง ๆ

6) หมวดทั่วไป เป็นลักษณะของการให้บริการด้านกฎหมายทั่ว ๆ ไป ในลักษณะที่ผู้ใช้บริการเคยใช้บริการกับบริษัทที่ปรึกษากฎหมายแห่งหนึ่งก็จะใช้ในทุก ๆ ด้าน

จากการสำรวจผ่านบริษัทที่มียอดขายในปี 1991 มากกว่า 500 ล้านบาทจำนวน 150 บริษัทจาก 13 กลุ่มธุรกิจ คือธนาคาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิตและประกันภัยสิ่งทอ อาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมเกษตร วัสดุก่อสร้าง กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พาณิชย์ โทรคมนาคม โรงแรม โรงพิมพ์และสิ่งพิมพ์ และโรงพยาบาล ปรากฏว่า ส่วนใหญ่ของการใช้บริการบริษัทต่าง ๆ นิยมที่จะใช้บริการด้านการให้คำปรึกษาทั่วไปมากที่สุด คือ 49 บริษัท (ดูตารางประกอบ) รองลงมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษีอากร ที่มีผู้ใช้บริการปรึกษาถึง 38 บริษัท

"ที่เราได้รับการปรึกษามากที่สุดก็คือ เรื่องที่เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่มีการนำมาใช้ตั้งแต่ต้นปี แล้วก็เรื่องอาฟตา" นักกฎหมายคนหนึ่งกล่าว

แม้งานที่ปรึกษากฎหมายมีมาค่อนข้างนานแล้ว แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำหน้าที่เหล่านั้นได้

ว่ากันว่า เป็นเพราะเหตุผลหลาย ๆ ประการ

เจ้าหน้าที่ระดับกลางคนหนึ่งในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า การใช้สำนักงานกฎหมายเป็นที่ปรึกษานั้นตนคิดว่าจะมีไม่มากนัก อาจจะเป็นเพราะเหตุผล 2 ประการกล่าวคือ ประการแรก บริษัทใหญ่ ๆ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ต่างก็มีนิติกรหรือฝ่ายกฎหมายของตนเอง จึงไม่น่าที่จะจำเป็นถึงขั้นต้องใช้ที่ปรึกษากฎหมายและอีกประการก็คือ มีหลายเรื่องที่เป็นความลับทางธุรกิจ ที่น่าจะยากต่อการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา

เจ้าหน้าที่ในสำนักงานกฎหมายต่าง ๆ ยอมรับว่า เรื่องความลับทางธุรกิจนั้น ในรายละเอียดต่าง ๆ คงมีแน่ แต่ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันทนายความหรือนักกฎหมาย เป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น ดังนั้น ปัจจุบันลูกค้าหลาย ๆ บริษัทจึงกล้าที่จะเปิดเผยรายละเอียดที่เขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทมากขึ้น

สุจินต์ ชัยมังคลานนท์ แห่งเบเกอร์ แอนด์เม็คเค็นซี่ยอมรับว่า เรื่องความลับทางธุรกิจนั้นมีแน่นอน แต่ในส่วนของบริษัทที่ปรึกษา ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก และหลาย ๆ กรณีที่การเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ไม่ต้องการรายละเอียดถึงขั้นต้องได้ความลับทางธุรกิจมาช่วยในการทำงาน ซึ่งขึ้นกับทางบริษัทผู้ว่าจ้างว่าจะเปิดเผยแค่ไหน

กล่าวกันว่า ข้อมูลที่จะมีการให้กับบริษัทที่ปรึกษาหรือไม่นั้น ขึ้นกับฝ่ายบริษัทผู้ว่าจ้างเอง ว่าจะเปิดเผยหรือไม่ คุ้มหรือไม่กับการที่จะต้องมีการเปิดเผยตัวเลขหรือรายละเอียดต่าง ๆ ให้กับสำนักงานกฎหมายที่ตนว่าจ้าง

ขณะที่รัฐ จำเดิมเผด็จศึก แห่งสำนักงานกฎหมายสนอง ตู้จินดา กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าฝ่ายกฎหมายของบริษัทต่าง ๆ หรือธนาคารพาณิชย์ตลอดจนบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นั้น จะทำหน้าที่ในเรื่องเกี่ยวกับเอกสารภายในบริษัท หรือพวกสัญญาของธนาคารหรือบริษัทกับลูกค้ามากกว่า ในขณะที่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภายนอก ก็จะมีการว่าจ้างสำนักงานกฎหมายต่าง ๆ มาเป็นที่ปรึกษา

ในส่วนของนักกฎหมายในบริษัทที่ปรึกษาต่าง ๆ นั้น มีเรื่องเล่ากันว่า บ่อยครั้ง ที่พวกเขาตรวจสอบเอกสาร โดยถูกปิดแม้กระทั่งชื่อของผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารการเงินของบริษัท

"เป็นเรื่องยากที่จะประเมินมูลค่าการว่าจ้างในแต่ละปี" รัฐ จำเดิมเผด็จศึก แห่งสำนักงานกฎหมายสนอง ตู้จินดา ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ในเรื่องของมูลค่าการว่าจ้าง อันเนื่องมาจากการที่มูลค่าการว่าจ้างนั้น ไม่สามารถระบุตัวเลขแน่นอนได้

สำหรับรูปแบบของการว่าจ้างสำนักงานกฎหมายเป็นที่ปรึกษาทางการเงินนั้นมี 2 รูปแบบด้วยกันคือ รูปแบบแรก เป็นการว่าจ้างตามระยะเวลา โดยค่าจ้าง จะตกลงกันเป็นรายชั่วโมง ว่าจะคิดชั่วโมงละเท่าไร

สุจินต์กล่าวถึงรูปแบบดังกล่าวว่า ขึ้นกับว่าสำนักงานจะเลือกใครเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวโดยค่าจ้างนั้น จะขึ้นกับประสบการณ์ของทนายความหรือ นักกฎหมายผู้นั้นด้วย กล่าวคือหากทนายความหรือนักกฎหมายเก่ง ๆ ที่มีประสบการณ์ค่างจ้างต่อชั่วโมงก็จะสูงตาม แต่งานดังกล่าวก็จะเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาสั้น ๆ

"อย่างทนายความเก่ง ๆ ค่าจ้างอาจจะชั่วโมงละร้อยเหรียญทำงาน 2-3 ชั่วโมงก็เสร็จแต่งานเดียวกัน หากให้ทนายหนุ่ม ๆ ที่เพิ่งจบ อาจจะเสียค่าจ้างเพียงชั่วโมงละ 10 เหรียญ แต่ใช้เวลาเป็นเดือน" สุจินต์กล่าวถึงการจ้างในรูปดังกล่าว

ส่วนรูปแบบของการว่าจ้างสำนักงานกฎหมายอีกรูปแบบนั้น ได้แก่ การว่าจ้างเป็น PACKAGE ที่ขึ้นกับความยากง่ายของงานที่จะมีการตกลงกันและค่าบริการของการดำเนินงานนั้น จะคิดเมื่อเสร็จสิ้นงานดังกล่าว เช่น ในกรณีที่มีการตกลงให้ศึกษาเรื่องการนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ งานก็จะเริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์บริษัท การศึกษารายละเอียดการนำบริษัทการหาบริษัทมาศึกษาเรื่องการเงินหรือ UNDERWRITE และงานก็จะเสร็จสิ้นก็ต่อเมื่อมีการเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั่นเอง

จากการสำรวจของบริษัท บริการข้อมูลผู้จัดการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบคือที่ปรึกษากฎหมายที่มีการ "นึกถึง" ในกรณีที่จะมีการใช้บริการ และสำนักงานที่ปรึกษาที่มีการใช้จริงในปัจจุบัน

ผลการสำรวจพบว่า บริษัทที่ได้รับการนึกถึงนั้น มักจะเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ที่เป็นที่รู้จักกันดี แต่ในการว่าจ้างเป็นที่ปรึกษานั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทใหญ่ดังกล่าว

นักกฎหมายมีชื่อคนหนึ่ง อธิบายความเห็นส่วนตัวกับ "ผู้จัดการ" ว่าน่าจะมาจาก การที่บริษัทผู้ว่าจ้างอาจจะคิดว่า หากมีการว่าจ้างบริษัทใหญ่มากแล้ว ค่าบริการจะสูงมากไม่คุ้มกับงานที่จะว่าจ้าง

สำหรับผลการสำรวจนั้นบริษัทที่ปรึกษาที่บรรดานักธุรกิจหรือบริษัทผู้ใช้บริการ มีการ "นึกถึง" เป็นอันดับต้น ๆ นั้น เป็นบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เช่น เบเกอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ อุกฤษ มงคลนาวิน ดร. สุวรรณ วลัยเสถียร เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น ในด้านที่ปรึกษาการเงิน มีการนึกถึงเบเกอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่เป็นอันดับหนึ่งคือ 15.3% รองมาเป็นสำนักงานอุกฤษ มงคลนาวิน 15.3% เท่ากัน และธรรมนิติ 14% ติลลิกีแอนด์ กิบบินส์ 12%

ในขณะที่การใช้บริการจริง บริษัทที่มีชื่อเป็นที่รู้จักดีเหล่านั้น ไม่ได้อยู่ในอันดับหนึ่งในการใช้บริการ เช่น ในเรื่องเดียวกัน อันดับหนึ่งในการใช้บริการด้านการเงิน ได้แก่ ธรรมนิติ ที่มีผู้ใช้บริการ 18.8% รองมาเป็นเบเกอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ 15.6% และที่ปรึกษากฎหมายสากล 15.6% (ดูตารางประกอบ)

สำหรับความแตกต่างระหว่างการนึกถึง (AWARENESS) กับการใช้บริการจริงนั้น ในประเด็นของการนึกถึงนั้น หมายถึงยังไม่มีการใช้บริการอย่างแท้จริง (ต่อสำนักงานกฎหมายดังกล่าว) แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ บริษัทที่ผู้ได้รับการสอบถามกล่าวถึงนั้น จะเป็นอันดับต้นของการเรียกใช้บริการ

ส่วนการใช้บริการนั้น หมายถึง เป็นสำนักงานกฎหมายที่มีการใช้บริการจริง ๆ ของบริษัทต่าง ๆ ในปัจจุบัน และจากการสำรวจยังพบว่าผู้ใช้ยังไม่มีการแยกใช้บริการเฉพาะด้าน ยกเว้นบริษัทใหม่ๆ ที่จะมีการแยกประเภทของการใช้บริการ

นักกฎหมายที่คนหนึ่ง ให้ความเห็นเสริมที่สอดคล้องกับการสำรวจด้วยว่า บริษัทใหญ่ ๆ นิยมที่จะใช้บริการเฉพาะด้านในโครงการใหญ่ ๆ ด้วย และเป็นลักษณะของการใช้บริการเป็นครั้งคราวด้วย

เชื่อกันว่า การใช้บริการในโครงการใหญ่ ๆ แต่ละครั้งนั้น จะได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย เช่นกรณีซีพี ใช้บริการสำนักงานเบเกอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ในเรื่องการทำสัญญากับรัฐบาล ในเรื่องโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน

อนาคตของสำนักงานกฎหมายในฐานะที่ปรึกษา มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมจากตลาดเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ดี

ทั้งนี้เนื่องมาจาก ธุรกิจนานาชาติจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาเปิดสัมปทานใหม่ ๆ ของภาครัฐให้กับเอกชนหรือแม้กระทั่งการที่มีกฎหมายเฉพาะด้านมากขึ้น

เจ้าหน้าที่กฎหมายในบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง เปิดใจกับ "ผู้จัดการ" ว่า แม้บรรดาบริษัทหรือธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ต่างก็มีฝ่ายกฎหมายหรือนิติกรของตนเองก็ตาม แต่จาการที่บริษัทหรือธุรกิจเหล่านั้น ต้องมีการติดต่อสื่อสารกับธุรกิจ หรือเกี่ยวเนื่องกับภาครัฐ ความจำเป็นที่จะต้องใช้บริการของสำนักงานกฎหมาย จึงมีมากขึ้นกว่าปัจจุบัน เพราะความ ชำนาญเฉพาะด้านที่สำนักงานกฎหมาย ในฐานะบริษัทที่ปรึกษา มีมากกว่าฝ่ายกฎหมายของบริษัท

แม้กระทั่งนักกฎหมายที่ผ่านประสบการณ์มามากอย่าง สุจินต์ ชัยมังคลานนท์ ยังยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่าสำนักงานที่ปรึกษา จะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเพราะการเข้ามาของนักธุรกิจหน้าใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นนักธุรกิจต่างชาติ พวกเขายิ่งต้องการนักกฎหมายที่จะมาเป็นที่ปรึกษาของเขามากขึ้น

"งานสำหรับต่างชาติในฐานะที่ปรึกษา จะเริ่มตั้งแต่การจดทะเบียนบริษัทเลยทีเดียว" สุจินต์กล่าว

ขณะเดียวกัน รัฐ จำเดิมเผด็จศึก กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจด้วย ว่าจะอยู่ในภาวะใด กล่าวคือ หากภาวะเศรษฐกิจดี ความต้องการใช้สำนักงานกฎหมายเป็นที่ปรึกษาก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกคนมองตรงกันก็คือสำนักงานที่ปรึกษาต่าง ๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทนั้นจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรับภาระต่าง ๆ นั้น เช่นการแยกแผนกเฉพาะด้าน เพื่อให้บริษัทผู้ที่จะมาใช้บริการมองเห็นถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่พวกเขาสามารถที่จะพึ่งพาได้ในเรื่องนั้น ๆ

นักกฎมายชื่อดังหลายคน ชี้ถึงด้านต่าง ๆ ที่บรรดาสำนักงานกฎหมายที่จะแปรรูปเป็นที่ปรึกษานั้น ได้แก่ เรื่องที่รัฐจะออกมาเป็นกฎหมาย เช่น กฎหมายสิทธิบัตร กฎหมายลิขสิทธิ์ทางปัญญา กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายโทรคมนาคม กระทั่งกฎหมายเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ฯ

"เรื่องที่จะต้องใช้สำนักงานกฎหมายเป็นที่ปรึกษา (ด้านกฎหมาย) นั้น ที่น่าจะมากที่สุด น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสัญญาที่ต้องผูกพันกับรัฐ" นักกฎหมายรุ่นเก่าคนหนึ่งกล่าว

เขาให้ความเห็นว่า โอกาสที่สำนักงานกฎหมายของไทย จะก้าวไปสู่ความเป็นสำนักงานที่ปรึกษาระดับ INTERNATION นั้นมาถึงแล้ว ในยุคที่เศรษฐกิจของไทย กำลังจะถูกฟื้นฟูอีกครั้งหลังจากที่ตกต่ำอันเนื่องมาจากภาวะทางการเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากการเข้ามาสู่เส้นทางนี้ของนักกฎหมายที่มีชื่อเป็นที่รู้จักกันดีหลายคน เช่น ดร. สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี - พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หรือพิเศษ เสตเสถียร แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม แม้ประตูของเส้นทางที่ปรึกษากำลังเปิดกว้างเช่นนี้ แต่การจะเข้าไปแทรกในช่องว่างได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่สำนักงานกฎหมายของไทยจะเป็นผู้ตอบคำถามด้วยตนเอง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us