การแข่งขันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นทำให้ภาคธุรกิจต้องสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งโดยเพิ่มความต้องการสื่อสารข้อมูลต่าง
ๆ ที่มีความรวดเร็วแม่นยำและถูกต้อง แต่หน่วยงานรัฐบาลซึ่งผูกขาดการให้บริการสื่อสารอยู่
ไม่สามารถให้บริการได้เพียงพอทันความต้องการ อีกทั้งไม่สามารถตอบสนองรูปแบบบริการให้มีความหลากหลายตามความทันสมัยของเทคโนโลยีได้
และราคาค่าบริการที่ไม่ได้ถูกกำหนดจากราคาตลาดทำให้เป็นข้อจำกัดที่การสื่อสารไม่สามารถกระจายไปสู่กลุ่มคนต่าง
ๆ ได้ทั่วถึงทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องในด้านเป็นอุปสรรคต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
อันเนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานที่เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสาร
อย่างไรก็ตามได้มีการผ่อนคลายการผูกขาดการให้บริการด้านการสื่อสารของรัฐโดยให้เอกชนเข้ามาร่วมโครงการซึ่งมีความสามารถทางด้านเงินทุนตลาด
และทางด้านเทคนิคทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจโทรคมนาคมได้กว้างขึ้นทั้งนี้ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมเป็นระบบที่มีศักยภาพสูง
ที่จะตองสนองต่อเครือข่ายธุรกิจได้กว้างขวางและครบวงจรธุรกิจได้มากที่สุด
การสื่อสารผ่านดาวเทียม ขอบเขตและรูปแบบ
การสื่อสารผ่านดาวเทียม คือระบบการส่งคลื่นไมโครเวฟไปสู่ดาวเทียมที่เป็นสถานีทวนสัญญาณลอยอยู่เหนือพื้นโลก
ซึ่งจะสร้างขอบข่ายการสื่อสารได้กว้างขวางโดยไม่มีอุปสรรคทางภาคพื้นดิน เพียงแต่มีสถานีคมนาคมพื้นดินก็สามารถติดต่อสื่อสารได้ในพื้นที่ต่าง
ๆ ในจำนวนที่มากเท่าที่ต้องการ โดยในจุดต่าง ๆ นั้นจะเป็นสถานีรับส่งสัญญาณระหว่างพื้นโลกกับดาวเทียมและมีจานสายอากาศที่สถานีฯ
เป็นอุปกรณ์ในการแพร่กระจายสัญญาณหรือรับสัญญาณระหว่างดาวเทียมกับสถานีฯ
ภาคพื้นดิน
ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมแยกเป็น 2 ส่วนคือ
1. ตัวดาวเทียม
2. สถานีคมนาคมภาคพื้นดิน
1. ตัวดาวเทียม
มีส่วนประกอบสำคัญ 4 ส่วนคือ
1.1 แหล่งจ่ายพลังงาน (POWER SUPPLY)
1.2 อุปกรณ์ส่งสัญญาณควบคุม (TELEMETRY TRACKING AND COMMAND) เป็นตัวควบ
คุมตำแหน่งดาวเทียม และควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ดาวเทียม โดยมีสถานีภาคพื้นทินคอยติดตามและบังคับดวบคุมดาวเทียมให้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ
ตามวัตถุประสงค์และอยู่ในการควบคุม
1.3 อุปกรณ์ทรานส์พอนเดอร์ (TRANSPONDER) คืออุปกรณ์ที่ทำการส่งสัญญาณที่ได้รับจากสถานีต้นทางไปยังสถานีรับสัญญาณปลายทาง
เป็นการทวนสัญญาณโดยขยายสัญญาณที่ได้รับและทำการเปลี่ยนความถี่ของสัญญาณให้สูงขึ้น
1.4จานรับส่งสัญญาณ จะทำหน้าที่กระจายสัญญาณ และรวมสัญญาณในเวลาเดียวกัน
และการส่งสัญญาณนั้นสามารถครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง หรือบริเวณแคบ
แล้วแต่วัตถุประสงค์ของการใช้งาน
2.สถานีคมนาคมภาคพื้นดิน
เมื่อสถานีฯ ภาคพื้นดินได้รับคลื่นสัญญาณไฟฟ้าจากอุปกรณ์สื่อสารชนิดต่างๆเช่น
โทรทัศนโทรศัพท์ โทรสาร เทเล็กซ์ คอมพิวเตอร์ฯ ฯลฯ จะทำการแปลงให้เป็นคลื่นสัญญาณไมโครเวฟ
ผ่านจานสายอากาศเพื่อส่งไปยังดาวเทียมซึ่งตัวดาวเทียมจะมีอุปกรณ์ขยายกำลังของคลื่นสัญญาณให้สูงขึ้นก่อนที่จะส่งต่อไปยังจานสายอากาศ
ณ สถานีภาคพื้นดินปลายทาง เมื่อสถานีปลายทางได้รับคลื่นสัญญาณแล้วจะขยายกำลังให้สูงขึ้นและตัดสัญญาณรบกวนต่างๆ
แล้วแปลงสัญญาณไมโครเวฟให้กลับเป็นคลื่นไฟฟ้าของอุปกรณ์สื่อสารแต่ละชนิดตามเดิม
การสื่อสารระบบดาวเทียมเป็นสื่อที่มีข้อดีและมีความเหมาะสมมากโดยสามารถส่งข่าวสารได้ทั้ง
3 รูปแบบคือ
1. สัญญาณเสียง (VOICE)
2. สัญญาณภาพ (VIDEO)
3. ข้อมูลตัวเลข (DATE)
ซึ่งการติดต่อสามารถเชื่อมโยงได้ทั้งลักษณะ ระหว่างจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง ระหว่างจุดหนึ่งไปยัง
หลาย ๆ จุดหรือหลาย ๆ จุดไปยังจุดหนึ่งและสามารถเชื่อมระบบเข้ากับคอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารอื่น
ๆ ได้เป็นอย่างดีและยังมีข้อได้เปรียบมากกว่าการสื่อสารในสื่ออื่น ๆ คือ
1. เมื่อมีดาวเทียมใช้ในการติดต่อในพื้นที่แล้ว ค่าใช้จ่ายของการใช้บริการจะเป็นรูปการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมเพียงครั้งเดียวและสามารถมีสถานีรับสัญญาณได้มากตามต้องการ
ค่าใช้จ่ายไม่ขึ้นกับระยะทางใกล้ไกลเหมือนระบบโทรศัพท์และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตั้งสถานีทวนสัญญาณเหมือนสื่อระบบไมโครเวฟ
2. สามารถส่งข้อมูลได้เป็นจำนวนมากในคราวเดียว
3. ความผิดพลาดข้อมูลต่ำโดยเฉพาะการส่งสัญญาณแบบดิจิตอล
4. สามารถช่วยแก้ปัญหาของการสื่อสารภาคพื้นดินที่ระบบอื่น ๆ ประสบอยู่ เช่น
การชำรุดของเคเบิ้ลใยแก้ว หรืออุปสรรคจากการที่มีตึกสูง ๆ ในพื้นที่ทำให้รบกวนในการส่งคลื่นไมโครเวฟ
ประโยชน์จากสื่อดาวเทียม
1. สร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจโทรคมนาคม
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังคงอยู่ในอัตราที่สูงซึ่งเป็นผลมาจากตัวจักรทางด้านธุรกิจภาคเอกชนที่เป็นผู้ลงทุนสร้างหรือขยายธุรกิจให้แพร่กระจายไปสู่สาขาธุรกิจต่าง
ๆ สำหรับธุรกิจด้านโทรคมนาคมนับได้ว่ามีแรงดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาในธุรกิจสูงเนื่องจากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูง
และเป็นธุรกิจที่มีฐานเดิมอยู่ในระดับต่ำในขณะที่ความต้องการอยู่ในระดับสูง
นักธุรกิจที่เข้ามาดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมส่วนมากจะมีความพร้อมด้านเงินทุนและความสามารถด้านเทคโนโลยีรวมทั้งด้านการตลาด
ทั้งนี้อาศัย การร่วมทุนจากบริษัทต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจโทรคมนาคม
2. สามารถประหยัดและแสวงหาเงินตราต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันไทยมีการใช้ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมโดยใช้บริการของดาวเทียมในต่างประเทศ
ซึ่งต้องเสียค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมเป็นเงินมากกว่า 280 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้เมื่อไทยมีดาวเทียมเป็นของตนเอง จะทำให้ประหยัดเงินตราต่างประเทศได้
รวมทั้งยังสามารถเปิดบริการให้เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมแก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้
ซึ่งทำให้ไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีรวมทั้งสามารถมีเครือข่ายสื่อสารเชื่อมต่อกับดาวเทียมดวงอื่นได้ในพื้นที่กว้างขวาง
ทำให้ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางด้านโทรคมนาคมได้
3. ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนความต้องการด้านการสื่อสาร
จากปัญหาขาดแคลนบริการสื่อสารนั้น ได้มีการพยายามแก้ไขโดยหน่วยงานของรัฐ
ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบด้านบริการสื่อสารนั้นจะดำเนินงานในการพัฒนาระบบโทรคมนาคมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
และเปิดโอกาสให้เอกชนที่มีศักยภาพได้เข้ามาร่วมลงทุนในโครงการสื่อสารต่าง
ๆ โดยการประมูลสัมปทานการดำเนินงาน เพื่อให้มีการบริการสื่อสารให้มากขึ้น
นอกจากนี้รัฐบาลมีนโยบายให้การสนับสนุนแก่บริษัทในธุรกิจโทรคมนาคม โดยการให้สิทธิประโยชน์
เช่น การสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์ ให้ธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารต่าง
ๆ ให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อการระดมทุนในการดำเนินงาน ซึ่งบริษัทเหล่านั้นได้รับความสนใจจากนักลงทุนสูง
เช่น บริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่ได้รับสัมปทานด้านโครงการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ
นอกจากนั้นแล้วบริษัทอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบโทรคมนาคมในทุกสื่อไม่ว่าด้านโทรศัพท์คือ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ หรือบริษัทที่ทำการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการสื่อสารเช่น
บริษัท จรุงไทยไวร์แอนด์เคเบิล หรือบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของธุรกิจโทรคมนาคม
เช่น บริษัทดาต้าแมท จำกัด บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง
จำกัด ที่จะเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทรับอนุญาตในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากนั้นมีแนวโน้มว่าบริษัทต่างๆ
มีความสนใจจะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มอีกด้วย
4. เป็นการกระตุ้นการลงทุนทางเศรษฐกิจ
การลงทุนของบริษัทเอกชนในโครงการบริการสื่อสารต่าง ๆ นั้นเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้า
และเป็นตัวสร้างบรรยากาศการลงทุนจากต่างประเทศเพราะเป็นการช่วงแก้ปัญหาการขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการสื่อสาร
และทำให้การลงทุนสามารถกระจ่ายไปในพื้นที่ห่างไกลจากรุงเทพมหานครได้ ทำให้เป็นการกระตุ้นการลงทุนไปในพื้นที่ห่างไกลจากในอดีตไม่สามารถทำได้เนื่องจากติดปัญหาด้านการสื่อสารจอกจากนั้นยังเป็นการเสริมระบบการศึกษาให้สามารถกระจายไปในพื้นที่ต่าง
ๆ ด้วย
1. ดาวเทียมที่ใช้อยู่ในภาคพื้นเอเชีย
ภาคพื้นเอเชียตะวันออกและตะวันตกเฉียงใต้
ดาวเทียมที่ไทยใช้บริการอยู่ปัจจุบันคือดาวเทียม PALAPA ของอินโดนีเซีย
และ ASIASAT ของฮ่องกง ซึ่งเมื่อดาวเทียมไทยคมถูกส่งขึ้นไปจะกลายเป็นดวงที่
3 ที่สามารถให้บริการได้ในภูมิภาคนี้นอกจากนั้นการติดต่อสื่อสารที่ต้องการขอบข่ายการเชื่อมโยงได้ทั่วโลกก็จะใช้ดาวเทียม
INTELSAT ซึ่งเป็นดาวเทียมพาณิชย์ขององค์กรดาวเทียมระหว่างประเทศ
สำหรับดาวเทียมของประเทศไทยที่จะมีดาวเทียมไทยคมนั้นขอบข่ายสัญญาณจะกระจายครอบคลุมประเทศใกล้เคียงด้วย
ทำให้ต้องมีการปรับด้านเทคนิคเพื่อให้คลื่นสัญญาณไม่รบกวนซึ่งกันและกัน ประเทศที่มีดาวเทียมเป็นของตนเองคือ
ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย แต่ทั้งนี้อยู่ในความควบคุมขององค์กรที่จัดสรรความถี่สากล
ความต้องการใช้สัญญาณดาวเทียมในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นั้นมีการคาดการณ์จะมีความต้องการมากกว่าความสามารถที่จะบริการได้ถึง 50-100
ทรานส์พอนเดอร์ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในแถบภูมิภาคนี้มีโครงการส่งดาวเทียมของตนเองขึ้นสู่วงโคจรเพื่อลดการพึ่งพิงระบบการสื่อสารของดาวเทียม
INTELSAT
โดยประเทศที่ริเริ่มโครงการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร เช่น ไทย มาเลเซีย
สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เป็นต้น ทำให้มีแนวโน้มว่าธุรกิจดาวเทียมในภูมิภาคเอเชีย
จะมีการแข่งขันกันสูงมากทั้งด้านราคาและด้านการบริการ เนื่องจากภูมิภาคนี้มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและมีความต้องการการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
คุณภาพที่สูงขึ้นในขณะที่บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมโครงการต่าง ๆ ที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับความต้องการ
โครงการสื่อสารดาวเทียมนี้จะทำให้ประเทศที่มีดาวเทียมของตนเองสามารถสร้างเครือข่ายธุรกิจสื่อสารดาวเทียม
ธุรกิจโทรคมนาคมในรูปแบบเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม ที่มีศักยภาพรวมทั้งสามารถขายบริการสื่อสารผ่านดาวเทียมระหว่างประเทศให้แก่ประเทศใกล้เคียงด้วย
สำหรับโครงการส่งดาวเทียมของประเทศต่าง ๆ ในแถบนี้มีดังนี้
- องค์การสื่อสารดาวเทียมของประเทศเกาหลีใต้ โดยบริษัท โคเรียน เทเลคอม
มีโครงการสื่อสารดาวเทียมเพื่อโทรคมนาคม 5 ปี โดยสามารถให้บริการด้านการส่งสัญญาณออกอากาศโทรทัศน์และวงจรโทรศัพท์
มูลค่าโครงการ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ (10,000 ล้านบาท) โดยจะทำการส่งดาวเทียม
2 ดวงจะเข้าสู่วงโคจรได้ในเดือนเมษายน และเดือนตุลาคมปี 1995 (พ.ศ.2538)
ประเทศมาเลเซียมีโครงการดาวเทียมมูลค่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐ (6,250 ล้านบาท)
เป็นดาวเทียมจำนวน 2 ดวง มีชื่อว่ามาเลเซีย อีสท์เอเซีย แซทเทิลไลท์ ดำเนินงานโดยบริษัท
ไบนาเรียงและคาดว่าจะสามารถเข้าสู่วงโคจรได้ในปี 1994 (พ.ศ. 2537) ทั้งนี้ประเทศมาเลเซียได้เสียค่าใช้จ่ายด้านค่าเช่าสัญญาณดาวเทียมกับดาวเทียม
ASIASAT และ PALAPA ประมาณ 415 ล้านบาท ต่อปี
ประเทศอินโดนีเซียมีโครงการส่งดาวเทียมดวงที่ 3 เข้าสู่วงโคจรในปี 1992
(พ.ศ. 2535) โดยมีมูลค่า 72 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,800 ล้านบาท) และจะมีช่องสัญญาณดาวเทียม
24 ทรานส์พอนเดอร์
ประเทศสิงคโปร์โดยบริษัท สิงคโปร์ เทเลคอม ซึ่งเป็นธุรกิจโทรคมนาคมของรัฐบาลที่กำลังจะแปรรูปเป็นเอกชน
กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งดาวเทียมสื่อสารขึ้นสู่วงโครจร โดยมีมูลค่าประมาณ
200-300 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,000-7,500 ล้านบาท) ปัจจุบันนั้นประเทศสิงคโปร์ใช้ระบบสื่อสารทางด้านเคเบิลใต้น้ำ
และระบบดาวเทียมขององค์การดาวเทียมระหว่างประเทศคือ INTELSAT และ INMARSAT
โดยทั้งสองโครงการนี้สิงคโปร์มีการลงทุนร่วมอยู่
ประเทศไทยมีโครงการดาวเทียมแห่งชาติ โดยการดำเนินงานของบริษัท ชินวัตร
แซทเทลไลท์ จำกัด มูลค่าโครงการ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,000 ล้านบาท) ซึ่งจะมีการส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร
2 ดวงในปี 1993 (2536) และ ปี 1994 (2537) โดยมีช่องสัญญาณดาวเทียมดวงละ
12 ทรานส์พอนเดอร์
อย่างไรก็ตามโครงการดาวเทียมแม้จะมีแนวโน้มว่าจะมีความต้องการสูง แต่ก็ยังประสบอุปสรรคด้านข้อจำกัดทางกฎหมาย
เช่น การส่งสัญญาณข้ามประเทศที่บางประเทศที่มีกฎหมายควบคุมการส่งสัญญาณ เช่น
ญี่ปุ่น ดาวเทียมของรัฐบาลจะใช้ในการแพร่ภาพรายการของรัฐบาล และดาวเทียมของบริษัทเอกชน
จะใช้ในการแพร่ภาพรายการท้องถิ่น นอกจากนั้นปัญหาเช่น อินโดนีเซียมีข้อจำกัดจากกระทรวงข่าวสารที่ไม่ยอมให้มีการเผยแพร่สัญญาณโดยผ่านดาวเทียมดวงอื่น
เช่น INTELSAT ก่อนแล้วค่อยส่งสัญญาณเข้าดาวเทียม PALAPA ในศูนย์ประเทศอินโดนีเซีย
ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น มีโครงการบริการดาวเทียมสื่อสารเพื่อการพาณิชย์ที่ดำเนินการอยู่หลายโครงการและมีแผนจะขยายการดำเนินงานโดยการส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นสู่วงโคจร
เพื่อให้บริการได้ครอบคลุม ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากขึ้นโดยโครงการของประเทศต่าง
ๆ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง อินโดนีเซีย จีน มีดังนี้
โครงการดาวเทียม PALAPA ของประเทศอินโดนีเซียนั้น ได้เริ่มมีความพยายามในการแข่งขันด้านบริการดาวเทียมในภูมิภาคแปซิฟิกกับองค์กรดาวเทียมเพื่อการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ
(INTELSAT) ซึ่งประเทศในภูมิภาคนี้ใช้บริการดาวเทียมนี้เป็นหลัก อีกทั้งพยายามสร้างฐานการเติบโตในธุรกิจดาวเทียมในภูมิภาคนี้ให้มั่นคง
โดยมีการก่อตั้งศูนย์บริการดาวเทียมในระดับภูมิภาคในชื่อบริษัท แปซิฟิคแซทเทิลไลท์
นูซานทารา ขึ้นมาซึ่งเป็นโครงการเดียวกับ PALAPA ที่มีบริษัท เทลคอม ประเทศอินโดนีเซีย
ดำเนินการให้บริการในธุรกิจดาวเทียมนานกว่า 15 ปี ทำให้ได้เปรียบโครงการใหม่
ๆ ที่เริ่มเข้ามาในธุรกิจ
เพราะศูนย์บริการดาวเทียม PALAPA B-1 ซึ่งเป็นดาวเทียมที่อยู่ในวงโครจรพร้อมอยู่แล้ว
ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านการสร้างดาวเทียมดวงใหม่ และค่าใช้จ่ายด้านการยิงดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร
ดาวเทียม PALAPA B-1 นี้นั้นจะมีระยะเวลาการใช้งานได้อีก 3 ปี โดยมีอุปกรณ์พิเศษในการควบคุมการทำงาน
ทำให้ทางบริษัทสามารถคิดอัตราค่าเช่าสัญญาณดาวเทียมในอัตราที่ต่ำได้ อีกทั้งสามารถให้ส่วนลดราคาค่าเช่าสัญญาณดาวเทียมได้ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบทั้งนี้ได้มีการตั้งชื่อดาวเทียมดวงนี้ใหม่เป็นดาวเทียม
PALAPA PACIFIC ทั้งนี้ความครอบคลุมของสัญญาณอยู่ในบริเวณชายฝั่งประเทศจีนถึงฮาวาย
เพราะฉะนั้นโครงการดาวเทียมของประเทศอินโดนีเซียมีความพร้อม ในการแข่งขันสูง
และมีโครงการต่อเนื่องอีก โดยการรับซื้อดาวเทียมที่อยู่ในโครงการ PALAPA
เพิ่มอีก เช่น การซื้อดาวเทียม PALAPA B2P ซึ่งลูกค้าที่จะให้ความสนใจโครงการนี้คือ
กลุ่มธุรกิจด้านทำข่าวผ่านดาวเทียม ธุรกิจสื่อสารข้อมูล ภาพ และเสียง ธุรกิจถ่ายทอดโทรทัศน์ระหว่างประเทศ
โครงการดาวเทียม PALAPA ให้บริการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมแก่บริษัทเอกชน
และหน่วยงานรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ทั้งในมาเลเซีย ฟิลิปินส์ ไทย เวียดนาม
ออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี ซึ่งดาวเทียม PALAPA ทั้ง 2 ดวงนั้นมีช่องสัญญาณดวงละ
24 ทรานส์พอนเดอร์
- โครงการดาวเทียม ASIASAT ของประเทศฮ่องกง โดยมีบริษัท เอเชีย แซทเทิลไลต์เทเลคอมมูนิเคชั่น
จำกัด มีดาวเทียมที่ให้บริการคือ ดาวเทียม ASIASAT 1 ซึ่งให้บริการได้ตั้งแต่เดือนเมษายน
2533 พื้นที่บริการครอบคลุมประเทศ พม่า จีน รัสเซีย ปากีสถาน ญี่ปุ่น เกาหลี
ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ทั้งนี้ไทยเองได้เช่าสัญญาณดาวเทียมนี้เช่นบริษัทคอมพิวเนทโครงการเอเซียแซทมีแผนส่งดาวเทียมเพื่อการสื่อสารอีกดวงในกลางปี
2537
- โครงการดาวเทียม INTELSAT องค์กรดาวเทียมเพื่อการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ
เป็นโครงการที่สามารถครองตลาดในภูมิภาคนี้สูงที่สุด การครอบคลุมสัญญาณนี้มีตั้งแต่
ซานฟรานซิสโก จนถึงสิงคโปร์ ทั้งนี้การใช้โทรศัพท์ระหว่างประเทศนั้นจะใช้บริการของโครงการนี้เป็นหลัก
2. การใช้ระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมของไทย
การใช้ระบบดาวเทียมไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน
ไทยได้สมัครเป็นสมาชิกขององค์การโทรคมนาคมทางดาวเทียมระหว่างประเทศ INTELSAT
ใน ปี 2509 และเปิดการติดต่อผ่านดาวเทียม INTELSAT ครั้งแรกในปี 2510 โดยไทยได้เข้าร่วมถือหุ้นในโครงการระหว่างประเทศนี้ด้วนในสัดส่วนร้อยละ
1 ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของการสื่อสารแห่งประเทศไทย
จนกระทั่งปี 2511 ไทยเริ่มเปิดดำเนินการสถานีคมนาคมพื้นดินผ่านดาวเทียมที่ศรีราชา
เพื่อทำการส่งสัญญาณต่าง ๆ เช่น สัญญาณโทรเลขต่าง ๆ เช่น สัญญาณโทรเลข โทรศัพท์
โทรทัศน์ และมีการถ่ายทอดรายการผ่านดาวเทียม PALAPA และในปี 2523 การสื่อสารแห่งประเทศไทยได้เช่าช่องสัญญาณจากดาวเทียม
INTELSAT ซึ่งเป็นบทบาทของทางฝ่ายราชการทั้งสิ้น ปี 2526 กระทรวงคมนาคมได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ
และในปี 2531 กรมไปรษณีย์ฯ ได้อนุมัติสัมปทานให้แก่เอกชนครั้งแรก คือ บริษัท
สามารถ เทลคอม และบริษัท คอมพิวเนท และในปี 2533 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้อนุมัติสัมปทานให้แก่บริษัท
อคิวเม้นท์ โดยใช้ดาวเทียม PALAPA ปี 2534 กระทรวงคมนาคมได้อนุมัติให้บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์
แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ได้รับสัมปทานดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ
การใช้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมของไทยในปัจจุบัน
ดาวเทียมที่ไทยใช้อยู่เป็นการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมของต่างประเทศ คือ
ดาวเทียม PALAPA, INTELSAT, ASIASAT ตารางต่อไปแสดงการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมจากหน่วยต่าง
ๆ ในปัจจุบัน
ดาวเทียมของไทยในอนาคต
วันที่ 11 กันยายน 2534 บริษัท ชินวัตร แซทเทลไลท์ จำกัด ได้ชนะการประมูลโครงการสัมปทานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ
(NATIONAL PROJECT) ของกระทรวงคมนาคม ให้เป็นผู้ดำเนินงานจัดสร้าง จัดส่ง
บริหารโครงการและการให้บริการวงจรดาวเทียมภายในประเทศในช่วงเวลาสัมปทาน 30
ปี ซึ่งจะเป็นดาวเทียมดวงแรกของไทย ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานชื่อดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของประเทศไทยว่า "ไทยคม" (THAICOM)
ภายใต้การลงทุนในสัมปทานดาวเทียมสื่อสารในประเทศนั้น บริษัท ชินวัตร แซทเทลไลท์
จำกัด ได้ตกลงให้บริษัท HUGHES AIRCRAFT เป็นผู้ทำการออกแบบก่อสร้างดาวเทียม
และให้บริษัท ARIA-NESPACE เป็นผู้ดำเนินการยิงดาวเทียมขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งกำหนดยิงจรวดส่งดาวเทียมที่เกาะเฟรน
กีอาน่า แถบอเมริกาใต้ ซึ่งกำหนดการยิงนั้นเป็นช่วงปลายปี 2536 และพร้อมปฏิบัติงานได้ในปี
2537 นอกจากนั้นได้จ้างบริษัท TELESPACE เป็นที่ปรึกษาโครงการทางด้านเทคนิค
พร้อมทั้งหน้าที่ฝึกอบรมบุคลากร
บริษัท ชินวัตร แซทเทลไลท์ จำกัด ได้ตั้งขึ้นโดยมีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาทในช่วงแรก
และมีแผนเพิ่มทุนเป็น 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่มีการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของประเทศอเมริกาและประเทศฝรั่งเศส
เป็นเงิน 3,200 ล้านบาท
ด้านการระดมทุนของโครงการดาวเทียม 5,000 ล้านบาทนั้นแยกเป็นการระดมทุนจากแหล่งต่าง
ๆ คือ
1. เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทจาก 400 ล้านบาทเป็น 1,000 ล้านบาท
2. ออกหุ้นกู้แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ 1,000 ล้านบาท
3. กู้เงินจากธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของสหรัฐอเมริกา 2,125 ล้านบาท
4. กู้เงินจากธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของฝรั่งเศส 2,125 ล้านบาท
การกู้เงินจากต่างประเทศนั้นจะมีธนาคารในประเทศค้ำประกันการกู้คือ ธนาคารกรุงไทย
ธนาคารทหารไทย และธนาคารไทยพาณิชย์
เงื่อนไขของสัมปทานดาวเทียมไทยคม
ภายใต้ข้อกำหนดของสัมปทานนั้น ดาวเทียมไทยคมจะใช้ระบบดาวเทียมสำรองโดยระยะแรกจะส่งดาวเทียมขึ้นไป
2 ดวงเป็นดาวเทียมสำรองกันซึ่งต้องยิงดาวเทียมสำรองขึ้นไปหลังจากยิงดวงแรก
1 ปีระยะสองของโครงการจะทำการยิงดาวเทียมอีก 2 ดวง ซึ่งรวมโครงการระยะเวลา
30 ปี นั้นจะทำการยิงดาวเทียมทั้งหมด 4 ดวง ทั้งนี้ระยะเวลาการคุ้มครองสัมปทานโครงการเป็นเวลา
8 ปีนับจากเซ็นสัญญาคือสิ้นสุดการคุ้มครองในปี 2542 ในระหว่างการคุ้มครองนั้น
หน่วยของงานภาครัฐบาลและเอกชนในประเทศไทยที่ต้องการเช่าสัญญาณดาวเทียมต้องใช้ดาวเทียมไทยคมเท่านั้น
และห้ามเอกชนรายอื่นมาลงทุนในโครงการดาวเทียมในระยะเวลานี้ นอกจากนั้นให้ถือว่ากระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าของโครงการดาวเทียมนี้รวมทั้งตัวดาวเทียมสถานีควบคุมภาคพื้นดินและอุปกรณ์ต่าง
ๆ ที่เกี่ยวข้องจะเป็นทรัพย์สินของรัฐในทันทีที่การจัดสร้างและจัดส่งดาวเทียมเสร็จสิ้น
หลังจากที่ไทยคมขึ้นไปปฏิบัติงานแล้วหน่วยงานต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนมาใช้บริการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมของดาวเทียมไทยคม
โดยความต้องการเริ่มแรกคือหน่วยงานที่ใช้ดาวเทียมห่างก่อนแล้วซึ่งขณะนี้มีการใช้อยู่ประมาณ
10 ทรานส์พอนเดอร์ เท่ากับความสามารถของไทยคม
โดยช่วงแรกที่ส่งดาวเทียมขึ้นไปนั้นหน่วยงานต่าง ๆ อาจยังไม่สามารถเปลี่ยนมาใช้ดาวเทียมไทยคมได้
เนื่องจากสัญญาเช่าช่องสัญญาณที่ทำกับดาวเทียมต่างประเทศยังไม่หมดอายุใช้งานเช่น
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยหมดสัญญากับดาวเทียม PALAPA ในปี 2538 และหลังจากหมดอายุสัญญากับดาวเทียมต่างประเทศแล้วหน่วยงานนั้นต้องกลับมาใช้ดาวเทียมไทยคมแต่ส่วนใหญ่แล้วหน่วยงานต่าง
ๆ จะหมดอายุสัญญาประมาณปี 2536
สำหรับแนวโน้มการใช้สัญญาณดาวเทียมที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตนั้นดาวเทียมไทยคมก็สามารถให้บริการได้เพียงพอจากการยิงดาวเทียมดวงสำรองในปี
2537 ที่มีความสามารถให้บริการได้อีก 12 ทรานส์พอนเดอร์ ซึ่งจะเพียงพอกับความต้องการที่จะมีเพิ่มในอนาคต
ความสามารถให้บริการของดาวเทียมไทยคม
ความสามารถของดาวเทียมไทยคมแต่ละดวงซึ่งมีจำนวนช่องสัญญาณดาวเทียม 12 ทรานส์พอนเดอร์
โดยแบ่งเป็นคลื่น C-BAND 10 ทรานส์พอนเดอร์ และ KU-BAND 2 ทรานส์พอนเดอร์
ซึ่งคลื่น KU-BAND นี้มีความสามารถให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยและใช้ประโยชน์ในการส่งสัญญาณแบบ
DIRECT TO HOME เช่นใช้ในสถานีโทรทัศน์ทั่วไป หรือสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
การทำธุรกิจบรอดคาสติ้งหรือเคเบิลทีวี การทำธุรกิจสื่อสารข้อมูล เช่น VSAT
ซึ่งจะทำให้มีความสะดวกในการติดตั้ง และการใช้งานเนื่องจากคลื่น KU-BAND
มีความแรงคลื่นสูงสุดครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยทำให้การใช้งานนั้น จะรับสัญญาณได้ชัดเจนทำให้จากเดิมที่ใช้สัญญาณของดาวเทียมต่างประเทศนั้นมีกำลังแรงของสัญญาณอ่อนต้องใช้จานรับดาวเทียมขนาดใหญ่
แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้ไทยคมที่มีกำลังสัญญาณแรงกว่า ทำให้ใช้อุปกรณ์คือจานรับสัญญาณดาวเทียมได้ในขนาดเล็กลงและทำให้ราคาถูกลงด้วย
คลื่นแบบ C-BAND จะใช้สำหรับระบบโทรคมนาคมทำให้สามารถติดต่อกับต่างประเทศที่อยู่ในวงจรของดาวเทียมได้ทั้งระบบ
โทรทัศน์ และการสื่อสารข้อมูล หรือ ระบบ VSAT ได้
ทางด้านความพร้อมของบริษัท ชินวัตร แซทเทลไลท์ นั้นได้ทำการก่อสร้างสถานีดาวเทียม
"ไทยคม" โดยใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งจะมีจานสายอากาศแบบ C-BAND
2 จาน และแบบ KU-BAND 2 จาน และแบบ KU-BAND 2 จาน และมีจานสำรอง 1 จาน เพื่อเป็นศูนย์ควบคุมดาวเทียม
นอกจาก นั้นที่สถานีจะมีกำลังบุคลากร 70 คน ที่จะทำหน้าที่ควบคุมดาวเทียมให้อยู่ในตำแหน่งโคจรที่ถูกต้อง
มีการควบคุมระบบรวมทั้งระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานช่างเทคนิค และสำคัญคือวิศวกรที่ประยุกต์ใช้งานดาวเทียมและการวิจัยให้ความรู้แก่ลูกค้ารวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด
การเงิน ธุรการ และผู้บริหารงานให้โครงการนี้มีประสิทธิภาพทั้งด้านเทคนิค
การปฏิบัติงาน การทำตลาด ให้ประสบความสำเร็จ นอกจากนั้นยังพยายามพัฒนาความเชี่ยวชาญทางด้านการเผยแพร่ออกอากาศ
และการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาใช้งานกับดาวเทียม โดยเน้นระบบดิจิตอลที่สามารถประหยัดช่องสัญญาณ
ซึ่งจะเป็นการเน้นในด้านเทคนิคให้มีประสิทธิภาพ
ภาระรับผิดชอบของโครงการ
1. การประกันโครงการดาวเทียมซึ่งจะมีมูลค่าประกันประมาณ 15% ของมูลค่าดาวเทียมหรือประมาณ
375 ล้านบาทซึ่งการประกันจะแบ่งเป็นส่วน
-ประกันความสำเร็จในการสร้าง
-ประกันการยิง
-ประกันการเข้าวงโคจรของดาวเทียม
2. บริษัทต้องรับภาระในการปรับด้านเทคนิคสำหรับจานดาวเทียมของลูกค้าให้หมุนมารับสัญญาณจากดาวเทียมไทยคมจากที่เคยรับสัญญาณจากดาวเทียมดวงอื่น
เช่น ในระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม VSAT ที่มีผู้ให้บริการอยู่ขณะนี้ 4 บริษัทที่ใช้บริการดาวเทียมต่างประเทศซึ่งจะมีลูกค้าใช้บริการอยู่และมีการติดตั้งจานดาวเทียมไปแล้วเป็นจำนวนมาก
ทั้งขณะปัจจุบัน และที่จะมีในอนาคตจนกว่าไทยคมจะขึ้นไปปฏิบัติงาน ซึ่งจานดาวเทียมนี้มีอยู่ทั้งในเขตกรุงเทพฯ
และภูมิภาคต้องทำการปรับให้หันมารับสัญญาณจากดาวเทียมไทยคมได้จนครบทุกจาน
ทำให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากของทางบริษัทชินวัตร แซทเทลไลท์
การทำตลาดของโครงการดาวเทียมไทยคม
เนื่องจากด้วยความสามารถ และคุณลักษณะของดาวเทียมที่มีความเหมาะสม ในการสื่อสารในรูปแบบต่าง
ๆ การประยุกต์ใช้งานในการสื่อสารได้มาก และเป็นการเสริมประสิทธิภาพการสื่อสารได้ดีขึ้นทั้งด้าน
โทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์ การสื่อสารข้อมูล เช่น VSAT หรือธุรกิจประเภทต่าง
ๆ ที่ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม สามารถนำระบบดาวเทียมเป็นการเสริมประสิทธิภาพการสื่อสารให้ดีขึ้น
เป็นการรองรับกับความต้องการบริโภคข่าวสารของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความได้เปรียบของโครงการในแง่การเป็นโครงการแห่งชาติที่ได้รับการคุ้มครองจากเงื่อนไขสัมปทาน
8 ปี ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ในไทยต้องใช้ดาวเทียมไทยคมทั้งสิ้นถึงแม้หน่วยงานเหล่านั้นจะมีการทำสัญญากับดาวเทียมต่างประเทศอยู่
เช่น บริษัท คอมพิวเนท ซึ่งทำสัญญากับ ASIASAT หรือบางหน่วยงานจะมีการลงุทนในโครงการดาวเทียมอื่นและมีความสัมพันธ์ต่อกันมานาน
เช่น การสื่อสารแห่งประเทศไทยที่มีการลงทุนในดาวเทียม INTELSAT ซึ่งต้องมาเป็นลูกค้าของโครงการไทยคม
โดยมีทั้งหน่วยงานที่เป็นรัฐบาลและหน่วยงานเอกชน
การให้เช่าสัญญาณดาวเทียมนั้นจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ แบบเช่าตลอด
24 ชั่วโมง เช่น โทรทัศน์ วิทยุ กับการเช่าใช้สัญญาณดาวเทียมเป็นช่วงเวลาตามความต้องการใช้
ซึ่งบริษัท ชินวัตรฯ ต้องพยายามใช้การตลาดในลักษณะให้ความสะดวกทั้งด้านการติดต่อการให้บริการ
การให้คำแนะนำแก่หน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งก็สามารถให้บริการได้สะดวกกว่าของดาวเทียมต่างประเทศที่ไม่สามารถให้บริการหลังการขายได้
โดยข้อแม้เรื่องราคานั้นไม่แตกต่างกันมาก เป็นการผูกพันลูกค้าให้ยังคงใช้ไทยคมต่อไป
หลังจากหมดอายุการคุ้มครองแล้วอีกทั้งอาศัยความได้เปรียบดาวเทียมต่างประเทศทั้งในด้านประสิทธิภาพการบริการ
และคุณภาพของคลื่นที่มีความเข้มสูงกว่าทั้งคลื่นแบบ C-BAND และ KU-BAND
และที่สำคัญทางบริษัท ชินวัตรฯ จะเน้นการให้ความรู้และการส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้เรื่องการสื่อสารผ่านดาวเทียมในรูปแบบต่าง
ๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยให้ระบบการสื่อสารได้รับการยอมรับในหมู่ผู้บริโภคแล้ว
ทำให้หน่วยงานที่เป็นผู้ขอเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมที่ให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียม
ซึ่งจะเป็นผลกระทบที่ดีที่จะกลับมาทางบริษัท ชินวัตรฯ ด้วยในฐานะเป็นผู้ให้บริการเช่าช่องสัญญาณที่จะสร้างแนวโน้มการใช้สัญญาณดาวเทียมเพิ่มขึ้นเป็นการเติบโตของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมโดยรวม
ลูกค้าของโครงการดาวเทียมไทยคมนี้คือ หน่วยงานด้านวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์และการถ่ายทอดรายการโทรทัศน์ระบบโทรศัพท์ทั้งระบบโทรศัพท์ข้ามประเทศ
เป็นหลัก นอกจากนั้นมีส่วนที่เป็นบริการสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียม ระบบโทรคมนาคมทุกประเภท
โดยเฉพาะบริการ VIDEO CONFERENING
และในส่วนสัญญาณดาวเทียมที่เหลือจากความต้องการในประเทศแล้ว ยังสามารถทำตลาดได้ในต่างประเทศ
เนื่องจากมีความสามารถในการให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ปักกิ่ง โตเกียว
ลงมาจนถึงพื้นที่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศเวียดนามซึ่งไทยนั้นเป็นประตูสำคัญในการเป็นรากฐานการลงทุนในเวียดนาม
ซึ่งโอกาสนี้ความต้องการสื่อสารที่ทันสมัยนั้นมีความสำคัญมากต่อการทำธุรกิจที่ต้องการติดต่อระหว่างกัน
ในขณะที่เวียดนามเองยังไม่สามารถพัฒนาระบบการสื่อสารของตนเองให้ทันสมัยได้ทำใหห้ระบบดาวเทียมสามารถเข้าไปช่วยเสริมจุดนี้ได้ดี
รายได้ของโครงการดาวเทียมไทยคม
รายได้ของโครงการดาวเทียมไทยคม คือ รายได้จากการให้เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมโดยการคิดค่าเช่าสัญญาณดาวเทียมนั้น
ราคาที่จะกำหนดขึ้นต้องผ่านการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมก่อนและต้องพิจารณาด้านราคาโดยต้องเปรียบเทียบค่าบริการกับดาวเทียมที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันด้วย
โดยราคาค่าเช่าอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกับดาวเทียมที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันเพื่อให้สามารถแข่งขันทางราคาได้
การคิดค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม (TRANSPONDER) ในปัจจุบัน
การประยุกต์ดาวเทียมไทยคมมาใช้ในกิจการของบริษัท ชินวัตร กรุ๊ป
นอกเหนือจากรายได้จากการให้เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมแล้วประโยชน์สำคัญที่สุดที่บริษัท
ชินวัตรกรุ๊ป จะได้รับจากดาวเทียมไทยคม ในฐานะที่เป็นโครงการที่ดำเนินการ
โดยบริษัทในเครือทั้งนี้ระบบดาวเทียมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสารได้กว้างขวางและสามารถรองรับกับธุรกิจโทรคมนาคมที่ทางบริษัท
ชินวัตรมีเครือข่ายการบริการอย่างกว้างขวางอยู่แล้วซึ่งเครือข่ายของบริษัทที่สามารถใช้ดาวเทียมเป็นสื่อได้คือธุรกิจโทรคมนาคมและบรอดคาสติ้งทำให้ธุรกิจของบริษัท
ชินวัตรสามารถพัฒนาด้านการบริการได้ครบวงจร และเพิ่มความสามารถด้านการสื่อสารโดยใช้ดาวเทียมเป็นสื่อที่มาใช้เสริมสื่อที่ใช้อยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพขึ้น
คือ คลื่นวิทยุ สายโทรศัพท์ คลื่นไมโครเวฟ เช่น ระบบเคเบิลทีวี ที่ปัจจุบันใช้สัญญาณไมโครเวฟอยู่มีอุปสรรคในการส่งสัญญาณแต่ถ้าใช้ระบบดาวเทียมแล้วปัญหาเรื่องการ
ส่งสัญญาณจะหมดไป
ในธุรกิจเคเบิลทีวีนั้นมีบริษัทในเครือคือบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดเคสติ้ง
จำกัดดำเนินการอยู่โดยจะใช้ดาวเทียมในคลื่นแบบ KU-BAND ทำให้ช่วยเอื้อประโยชน์ในด้านการลดต้นทุน
และเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัทในเครือที่จะเปลี่ยนมาใช้ดาวเทียมทำให้มีความได้เปรียบคู่แข่ง
นอกจากนั้นยังเป็นตัวเสริมธุรกิจในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านเทคโนโลยี ด้านช่องทางธุรกิจบริการเสริมใหม่
ๆ ที่สามารถนำระบบดาวเทียมมาปรับใช้กับเทคโนโลยีที่มีใช้อยู่ เช่น บริการเคเบิลทีวีโฟนลิ้งค์
โฟนพ้อยต์ ดาต้าเน็ต โดยเฉพาะเซลลูล่าร์ 900 ที่กำลังมีการศึกษาการเชื่อมโยงระบบ
เซลลูล่าร์กับระบบดาวเทียมซึ่งถ้าทำได้จะทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วยสามารถขยายเครือข่ายได้
เร็ว และมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นประโยชน์เสริมต่อธุรกิจหลักอื่น ๆ ของบริษัทชินวัตรฯ
ได้อย่างดีในตลาดสื่อสารโทรคมนาคมหรือทำให้สามารถสร้างธุรกิจแบบใหม่ขึ้นมาให้บริการแก่ผู้บริโภคได้หลากหลายซึ่งยังคงมีความต้องการสื่อสารในรูปแบบต่าง
ๆ ที่ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ทำให้สามารถรองรับความต้องการสื่อสารของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น
ค่าใช้จ่ายในโครงการดาวเทียม
ค่าใช้จ่ายของโครงการดาวเทียมนั้น ต้องให้รายได้แก่รัฐบาลขั้นต่ำประมาณ
1,415 ล้านบาท ตลอดเวลาสัมปทานราคาดาวเทียมสองดวงดวงละประมาณ 2,500 ล้านบาท
และค่ายิงดาวเทียมประมาณ 1,500 ล้านบาท
บริการสื่อสารผ่านดาวเทียม
1. ระบบโทรทัศน์ (TV DISTRIBUTION RELAY)
1.1 การแพร่ภาพโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมซึ่งจะสามารถกระจายสัญญาณโทรทัศน์ให้กระจายไป
ในพื้นที่ห่างไกลโดยไม่มีอุปสรรคด้านภูมิประเทศซึ่งสถานีโทรทัศน์ในประเทศคือ
ช่อง 3,5,7,9,11 ได้ใช้ดาวเทียมเป็นสื่อในการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ นอกจากนั้นยังมีสถานีโทรทัศน์ของต่างประเทศที่ถ่ายทอดผ่านดาวเทียมคือสถานีโทรทัศน์ของต่างประเทศที่ถ่ายทอดผ่านดาวเทียมคือสถานีโทีทัศน์
สตาร์ทีวีของประเทศฮ่องกงและสถานีโทรทัศน์ แปซิฟิคเน็ทเวิร์คที่ ประเทศออสเตรเลียซึ่งผู้รับชมรายการจะรับคลื่นสัญญาณทางอากาศโดยจานรับสัญญาณทางอากาศโดยจานรับสัญญาณดาวเทียมขนาดเล็กได้
และเนื่องจากมีการผ่อนคลายกฎหมายเรื่องการอนุญาติให้เอกชนสามารถติดตั้งจานดาวเทียมได้เสรีที่จะทำให้เปิดตลาด
ของผู้บริโภคที่ต้องการรับข่าวสารจากต่างประเทศได้มากขึ้น และรายได้ของสถานีโทรทัศน์นั้นได้มาจากการขายเวลาโฆษณาในช่วงเวลาออกอากาศซึ่งจะมีกลุ่มลูกค้าจาก
สถาบันเงินทุน โรงแรม สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ
ทำให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจโฆษณาโดยใช้สื่อผ่านดาวเทียม
1.2 บริการเคเบิลทีวี (CABLE TV) เป็นการดำเนินการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกโดยการเสียค่าติดตั้งค่าสมาชิกรายเดือนซึ่งต้องขอสัมปทานกับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
ซึ่งปัจจุบันเป็นการส่งสัญญาณแบบไมโครเวฟ ทำให้มีปัญหาในเรื่องขีดจำกัดการส่งสัญญาณแต่เมื่อมีสื่อดาวเทียมเข้ามาบริษัท
จะหันไปใช้สื่อแบบดาวเทียมซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพในการส่งสัญญาณเคเบิลทีวีสูงขึ้นทั้งนี้
บริษัทที่ให้บริการอยู่คือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดเคสติ้ง จำกัด และบริษัทไทยสกายทีวี
จำกัด
1.3 บริการรับสัญญาณโทรทัศน์จากต่างประเทศโดยตรงผ่านดาวเทียมที่ผู้ใช้สามารถติดตั้งจานรับดาวเทียมขนาดเล็ก
ในการรับสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์ต่างประเทศไว้ที่บ้านส่วนบุคคล ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจดังเช่นปัจจุบันนี้
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมิใช่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้นที่มีผลกระทบ แต่รวมถึงภาวะภายนอกประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การปกครอง การทหาร การเงิน ฯลฯ ของประเทศหนึ่งประเทศใดในโลก
ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจในประเทศไม่มากก็น้อย
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงส่งผลต่อความจำเป็นในการติดต่อหรือรับส่งข่าวสารให้ทันต่อเหตุการณ์นั้น
เพื่อให้การปรับเปลี่ยนหรือรองรับสถานการณ์นั้นๆ ให้มีผลกระทบต่อธุรกิจน้อยที่สุดเครื่องมือสื่อสารจึงมีบทบาทมากขึ้นและในช่วงภาวะเช่นนี้
ไม่ว่าจะเป็นข่าวการเมืองภายในประเทศที่ไม่มีการเปิดเผยภาพข่าวที่เป็นจริง
อีกทั้งความต้องการรับข่าวภายนอกประเทศให้ฉับไวต่อสถานการณ์ได้เพิ่มขึ้นการสื่อสารผ่านดาวเทียมจึงมีบทบาทมากขึ้น
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นของใหม่สำหรับโลกใบนี้ แต่มันเป็นสื่อใหม่สำหรับคนไทยที่สามารถได้รับสิทธิ์การมีอุปกรณ์ดาวเทียมเป็นของตนเอง
2. ระบบวิทยุกระจายเสียง (RADIO DISTRIBUTION&RELAY)
ผู้ใช้บริการสามารถรับสัญญาณเสียงได้โดยตรงหรือรับสัญญาณเสียงผ่านสถานีทวนสัญญาณนอกจากนั้นยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการสื่อสารเช่น
ระบบวิทยุติดตามตัว เช่น แพ็คลิ้งค์ ฮัทชิสันเพจโฟน และ บริษัท แมทริกซ์
เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่ให้บริการ "EAST CALL" ทั้งนี้เป็นระบบที่ใช้ระบบดาวเทียมอยู่และกำลังจะปรับมาใช้ระบบดาวเทียม
เป็นการปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการเชื่อมโยงในการติดต่อให้มีประสิทธิภาพขึ้น
3. ระบบโทรศัพท์ (SATELLITE TELEPHONY)
สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายโทรศัพท์จากชุมสายในภูมิภาคที่ห่างไกลต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างทั่วถึงโดย
ประหยัดและใช้อุปกรณ์ขนาดเล็ก ซึ่งหน่วยงานทั้งการสื่อสารแห่งประเทศไทย และองค์การโทรศัพท์ก็ใช้บริการผ่านดาวเทียมอยู่ด้วย
นอกจากนั้นก็ยังสามารถปรับใช้กับโทรศัพท์มือถือทั้งระบบ CELLULAR 900 และระบบ
AMP 800 ได้ ซึ่งกำลังให้บริการอยู่ในปัจจุบันด้วย
4. การสื่อสารข้อมูล (SATELLITE COMMUNICATION NETWORK&VSAT)
บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมนั้นจะสามารถทำให้การติดต่อระหว่างกันในการรับและส่งข้อมูลระหว่างจุดหนึ่งกับอีกจุดหนึ่งได้กว้างขวาง
ทำให้ระบบข้อมูลสามารถต่อเนื่องกันจากระบบคอมพิวเตอร์ในที่ต่างๆ สามารถต่อเชื่อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงรวดเร็ว
และแม่นยำซึ่งการใช้สื่อดาวเทียมทำให้มีรูปแบบบริการได้กว้างขวางโดยสามารถส่งข้อมูลได้ทั้งรูป
เสียง ภาพ และข้อมูลพร้อมกัน ซึ่งระบบการส่งข้อมูลผ่านดาวเทียมมีดังนี้คือ
1. ระบบ VSAT (VERY SMALL SATELLITE) คือการสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียมโดยใช้สถานีภาคพื้นดินขนาดเล็กซึ่งมีบริษัทที่ได้รับสัมปทานดำเนินงาน
3 บริษัทคือ บริษัท COMPUNET CORPORATION บริษัท SAMART TELCOMS และบริษัท
THANAYONG ซึ่งทำให้มีการ ส่งข้อมูลด้านรายงานหุ้น วิทยุติดตามตัว และรายงานข้อมูลด้านการเงิน
โดยสามารถเชื่อมระบบกับคอมพิวเตอร์ได้
2. ระบบ ISBN หรือโครงการสื่อสารเพื่อบริการธุรกิจผ่านดาวเทียมที่มีบริษัท
ACUMEN ได้รับสัมปทานการลงทุน ซึ่งจะสามารถให้บริการข้อมูลได้เป็นการเสริมบริการสื่อสารให้ธุรกิจได้โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ระบบโทรศัพท์ยังเข้าไม่ถึงซึ่งจะสามารถสนองความต้องการในธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
เช่น โรงแรม รีสอร์ต หรือโรงงานอุตสาหกรรม
การบริการ VIDEO CONFERENCING
VIDEO ONFERENCING เป็นการประชุมร่วมกันโดยส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมได้ทั้งภาพและเสียงของผู้ประชุมจากที่ห่างไกลกันผ่านทางจอภาพได้เป็นการประหยัดและมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก
และบริการส่งโทรสาร (FAX) ที่สามารถทำได้ในความเร็วสูง ซึ่งผู้ให้บริการในรูปแบบนี้
เช่น บริษัทชินวัตรแซทเทลไลท์, บริษัท อคิวเม้นท์ และบริษัท ธนายง จำกัด
ผู้ใช้คือใคร
1. ธุรกิจธนาคาร
ในธุรกิจธนาคารมีการสื่อสารข้อมูลในรูปคอมพิวเตอร์แบบออนไลน์ระหว่างสาขาของแบงก์โดยใช้สายโทรศัพท์และระบบเคเบิลใต้น้ำ
ปัจจุบันมีการนำระบบสื่อสารดาวเทียมมาใช้เพื่อการออนไลน์ข้อมูลเป็นระบบสำรองการใช้สายโทรศัพท์ทำให้สามารถตัดปัญหาการมีสัญญาณรบกวน
นอกจากนี้ยังสามารถส่ง ข่าวสารไปในพื้นที่ที่สายโทรศัพท์ยังเข้าไปไม่ถึงเป็นการแก้ปัญหาด้านการสื่อสารของธนาคาร
ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ธนาคารเป็นกลุ่มเป้าหมายคือธนาคารคือ ระบบ VSAT
ปัจจุบันธนาคารต่าง ๆ กันมาใช้บริการกันมาก เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารไทยพาณิชย์ นอกจากนั้นธนาคารยังใช้บริการสื่อสารโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างประเทศหรือ
เรียกว่า SWIFT เป็นการเชื่อมโยงจากศูนย์กลางไปยังศูนย์ย่อยในประเทศต่าง
ๆ ด้วยการสื่อสารผ่านดาวเทียม ทำให้เกิด ความปลอดภัย รวดเร็ว ในการทำธุรกิจได้คล่องตัว
เช่น ด้านการนำเข้าส่งออก การขอ L/C การส่งตั๋วแลกเงิน หรือ DRAFT และการ
MONEY ORDER ทำให้การบริการมีประสิทธิภาพขึ้น
2. ตลาดเงินทุน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เลือกใช้ระบบสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียมในระบบ
VAST เพื่อใช้เป็นระบบสื่อสารสำรอง ในการเชื่อมโยงการสื่อสารและการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายราคาหุ้น
การสั่งซื้อ ขาย ยืนยัน และโอนหลักทรัพย์ ระหว่างตลาดหลักทรัพย์กับบริษัทสมาชิกทั้ง
40 แห่งและระหว่างบริษัทสมาชิกกับสาขารวมทั้งประชาชนทั่วไป โดยการติดตั้งจานรับสัญญาณและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
ทำให้เป็นประโยชน์แก่นักลงทุนที่สามารถรับทราบข่าวสารได้รวดเร็ว
3. กลุ่มธุรกิจที่มีเครือข่ายจำนวนมาก
กลุ่มบริษัทที่มีสาขาจำนวนมากนั้นจะมีปัญหาในการติดต่อข่าวสารระหว่างสาขาต่างๆ
ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบสื่อสารที่มีความรวดเร็วทันสมัย ที่พร้อมจะให้บริการได้ทั้งนี้ลักษณะการสื่อสารผ่านดาวเทียมมีความสามารถส่งข่าวสารทั้ง
ข้อมูล ภาพ เสียง ซึ่งเป็นที่ยอมรับแก่บริษัททั้งหลายทั้งนี้ยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบริการการสื่อสารได้นโยบายของรัฐบาลต่อธุรกิจสื่อสาร
- รัฐเริ่มผ่อนคลายการควบคุม
รัฐบาลทำการผูกขาดโครงการบริการสื่อสารโทรคมนาคมไว้ให้หน่วยงานของรัฐ ทำให้การลงทุนด้านบริการสื่อสารไม่สามารถทำได้เพียงพอ
อีกทั้งการขาดประสิทธิภาพในการบริหารและการบริการของรัฐที่ยังไม่ได้มาตรฐานสากลพอที่จะตอบสนองต่อระดับความต้องการได้ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ทั้งด้านคุณภาพและราคา
รวมทั้งนโยบายด้านโทรคมนาคมของรัฐที่ผ่านมายังขาดการวางแผนระยะยาวที่จะแก้ปัญหาต่าง
ๆ ทำให้ไทยประสบปัญหาขาดสาธารณูปโภคด้านการสื่อสาร
- รัฐเริ่มผ่อนคลายการควบคุม
เนื่องจากปัญหาที่รัฐบาล ไม่สามารถสนองความต้องการด้านการสื่อสารได้เพียงพอ
จึงมีนโยบายเร่งพัฒนาการสื่อสารโดยการเปิดโอกาสให้เอกชนได้เข้ามาร่วมลงทุนในโครงการการสื่อสารมากขึ้น
และพยายามปรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (2535-2539) ให้ได้ตามวัตถุประสงค์คือการรักษาความเจริญเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
และการกระจายรายได้การพัฒนาไปสู่ภูมิภาค
- สาระสำคัญของแผนพัฒนาฯ นั้นได้กำหนดเป้าหมายด้านการสื่อสารของไทยไว้ดังนี้คือ
1. ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านการสื่อสารให้ทันสมัยและเอื้ออำนวยต่อธุรกิจ
2. จัดทำแผนแม่บทระยะ 10 ปีในการเป็นกรอบและทิศทางพัฒนาการสื่อสารให้ต่อเนื่องและมี
เป้าหมาย รวมถึงการพัฒนาองค์กรด้านการพัฒนาเทคโนโลยี การผลิต การพัฒนาบุคลากร
การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และการปรับปรุงระบบการบริหารและการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการอีกทั้งการเพิ่มการผลิตบุคลากรด้านการสื่อสารให้เพียงพอ
3.ปรับโครงสร้างราคาค่าบริการสื่อสารให้สอดคล้องกับต้นทุนและสนับสนุนการลงทุน
เพื่อความสามารถในการแข่งขัน
4. ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคม และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ในการพาณิชย์
5. จัดทำแผนสารสนเทศแห่งชาติเพื่อส่งเสริมใช้วิทยาการสารสนเทศและเป็นแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมด้านสารสนเทศ
6. บริหารความถี่วิทยุให้มีประสิทธิภาพและเน้นการขยายและยกระดับคุณภาพ
โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่เขตอุตสาหกรรม เขต ธุรกิจการค้า และแหล่งท่องเที่ยวสนับสนุนการจัดตั้งเขตบริการโทรคมนาคมและสารสนเทศในเขตเศรษฐกิจเฉพาะ
(TELEPORT) ซึ่งมีความจำเป็นให้เพียงพอ เพื่อความสะดวกคล่องตัวและหลีกเลี่ยงการลงทุนซ้ำซ้อน
- กฎหมายเกี่ยวกับโทรคมนาคมมีด้วยกัน 4 ฉบับ คือ
1. พระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พ.ศ. 2477
2. พระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497
3. พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519
4. พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2497
เพื่อให้กฎหมายเข้ามามีส่วนในการช่วยสนับสนุนธุรกิจโทรคมนาคมนั้นจึงได้มีการพยายาม
ปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยขึ้นเพื่อสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการบริการด้านการสื่อสารบริการหลักและสนับสนุนเอกชนให้มีบทบาทการลงทุน
และดำเนินการในบริการเสริมให้มากขึ้น
สรุปและแนวโน้ม
1. การเปิดโอกาสในการลงทุนและการแข่งขัน
สำหรับสถานการณ์ทางด้านโทรคมนาคมในขณะนี้ จะเห็นว่ามีโอกาสดีตั้งต่อผู้ประกอบธุรกิจ
และต่อผู้ใช้มากเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะรัฐบาลเปิดโอกาสทองให้เอกชนเข้ามาลงทุนซึ่งสิ่งนี้จะเป็นแรงดึงดูดให้ธุรกิจเข้ามาแข่งขันกัน
ทางรัฐบาลมีสิทธิเลือกบริษัทที่ให้ผลตอบแทนแก่รัฐบาลได้มากที่สุดซึ่งผลประโยชน์นี้ก็จะตกแก่ประชาชนด้วย
เพราะข้อกำหนดจากรัฐบาลที่เข้ามาควบคุมด้านราคา และคุณภาพซึ่งสภาพการณ์นี้ทำให้บริษัทเอกชนที่มาประมูลนั้นต้องมีความพร้อมด้านเงินทุน
และเทคโนโลยี รวมทั้งความสามารถด้านการบริหาร การจัดการ ที่เหนือกว่าคู่แข่งเพื่อสามารถชนะการประมูลได้
ทั้งนี้ทำให้บริษัทที่เข้ามาประมูลมักจะมีการร่วมทุนกับต่างประเทศ หรือต้องพึ่งพิงด้านต่าง
ๆ เช่น เทคโนโลยี และเงินทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำได้รวดเร็ว
และเป็นการสร้างพื้นฐานการลงทุนต่อไปในธุรกิจอื่นด้วย การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมสามารถทำได้รวดเร็วและต่อเนื่อง
2. โครงการสื่อสารดาวเทียมสามารถเป็นฐานการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม
โครงการดาวเทียมแห่งชาติ "ไทยคม" นี้ได้รับอนุมัติจากกระทรวงคมนาคมเนื่องจากความจำเป็นด้านการสื่อสารของไทยที่มีความต้องการพัฒนาการใช้งานให้มีประโยชน์สูงสุดที่จะสามารถตอบสนองความต้องการได้มากที่สุด
และครบวงจรทั้งจากด้านรูปแบบและการประยุกต์ใช้ดูได้จากตัวโครงการดาวเทียม
ซึ่งมูลค่าการลงทุนเริ่มต้น 5,000 ล้านบาทเป็นเงินลงทุนที่เทียบกับโครงการอื่นแล้วไม่สูงนักแต่สามารถทำให้การพัฒนาหรือการริเริ่มโครงการใหม่
ๆ ที่ใช้ดาวเทียมเป็นสื่อสามารถทำได้มากเช่น การอนุมัติโครงการสื่อสารผ่านดาวเทียมขนาดเล็ก
(VSAT), โครงการสื่อสารเพื่อบริการธุรกิจผ่านดาวเทียม (ISBN) และโครงการอื่น
ๆ ในหลาย ๆ บริการซึ่งล้วนมีมูลค่าจำนวนสูงซึ่งโครงการเหล่านี้ยังสามารถมีธุรกิจสืบต่ออีกมากทั้งในรูปโทรศัพท์
วิทยุ โทรทัศน์ และบริการใหม่ ๆ ที่จะเป็นตัวแพร่กระจายความเจริญไปสู่ประชาชนได้มาก
ถึงแม้ผู้ใช้บริการเหล่านี้ได้จะเป็นผู้มีฐานะที่ดีแต่จะเป็นการพัฒนาการไหลเวียนการลงทุนไปสู่ส่วนรวมของประเทศด้วย
3. การเพิ่มขึ้นของการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคม
การแข่งขันในธุรกิจมีความรุนแรงเพราะคู่แข่งแต่ละคนมีกำลังเงินและความพร้อมด้านต่าง
ๆ ซึ่ง ในโครงการดาวเทียมไทยคมนั้น บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
จำกัด นั้นเป็นบริษัทคนไทยที่มีความได้เปรียบด้านการติดต่อกับหน่วยงานราชการเป็นอย่างดี
เนื่องจากโครงการต่าง ๆ นั้น ต้องอาศัยความสัมพันธ์กับราชการทั้งสิ้นเนื่องจากทางราชการเป็นเจ้าของโครงการต่าง
ๆ โดยมีบริษัทที่ได้รับสัมปทานเป็นผู่ดำเนินงาน ซึ่งนอกจากโครงการไทยคมแล้วยังมีโครงการบริการสื่อสารผ่านสื่ออื่น
ๆ อีกมากโดยต้องได้รับอนุมัติจาก 3 หน่วยงานหลักคือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และกรมไปรษณีย์โทรเลย ซึ่งมูลค่าการลงทุนรวมของสัมปทานที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานเหล่านี้มากกว่า
แสนล้านบาทบริษัทที่ได้รับสัมปทานไปจะได้รับประโยชน์ต่อการลงทุนไปสูงมากและยิ่งเป็นตัวดึงดูดให้มีการแข่งขันในการประมูลยิ่งขึ้น
หลังจากที่ชนะการประมูลสัมปทานแล้วบริษัทต่างๆ ต้องมีการทำการประชาสัมพันธ์โครงการของตนให้เป็นที่รู้จัก
และได้รับการยอมรับจากประชาชนด้วย ทั้งนี้ต้องมีการทำตลาดให้แข็งเพราะว่าเป็นการเปิดตลาดใหม่ที่ต้องอาศัยความยอมรับจากผู้บริโภคก่อน
และต้องแข่งขันกับบริษัทที่ได้รับสัมปทานการสื่อสารในรูปแบบคล้ายคลึงกันด้วย
เช่น โฟนลิ้งค์ กับ เพจโฟน หรือต้องแข่งขันกับบริษัทที่ได้รับสัมปทานในรูปแบบอื่นด้วย
เช่น ระบบ DATANET กับ VSAT ในโครงการดาวเทียมแห่งชาติ "ไทยคม"
นั้นเป็นรูปแบบผูกขาดในระยะเวลา 8 ปี ที่จะไม่มีคู่แข่งขันรวมทั้งหน่วยงานต่าง
ๆ ต้องมาใช้บริการของไทยคมด้วยเป็นความได้เปรียบซึ่งถ้าพ้นระยะ 8 ปี แล้วจะสามารถมีการแข่งขันได้
ซึ่งต้องพิสูจน์ บริษัทชินวัตรฯ ในด้านการทำตลาดเพราะถึงแม้ว่าจะไม่มีคู่แข่งที่จะทำดาวเทียมขึ้นมาแต่ยังมีสื่ออื่นที่สามารถให้บริการด้านการสื่อสารได้
เช่น เคเบิลใยแก้ว ที่เป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติเพื่อเริ่มดำเนินการด้วย
นอกจากนั้นการทำตลาดในต่างประเทศยังต้องแข่งขันกับดาวเทียมสื่อสารของประเทศต่าง
ๆ เช่น PALAPA ของอินโดนีเซีย, ASIASAT ของ ฮ่องกง, ดาวเทียม ซากุระ ของญี่ปุ่น
รวมทั้งดาวเทียม INTELSAT ที่เปิดให้บริการในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกอีกทั้งต้องคำนึงด้านนโยบายของประเทศในเอเชียด้วย
เช่น นโยบายปล่อยเอกชนทำธุรกิจด้านโทรคมนาคมในประเทศฮ่องกง และประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งถ้าเราต้องการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของโทรคมนาคมของภูมิภาคเอเชียตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่
7 ต้องคำนึงถึงการแข่งขันระหว่างประเทศด้วย
4. ความได้เปรียบของเจ้าของโครงการสัมปทานต่อธุรกิจโทรคมนาคม
บริษัทชินวัตรฯ นั้นมีธุรกิจด้านโทรคมนาคมที่มีเครือข่ายกว้างขวางมาก ซึ่งแต่ละธุรกิจสามารถสร้างมูลค่าให้สูงมากและดาวเทียมไทยคมที่จัดสร้างนั้นจะสามารถให้บริการได้ในประเทศได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศของหน่วยงานต่าง
ๆ ซึ่งดาวเทียมไทยคมเป็นระบบดาวเทียมสำรองที่สามารถมีช่องสัญญาณดาวเทียมใหห้บริการได้ทั้งดาวเทียมดวงแรกและดาวเทียมสำรอง
ซึ่งเมื่อให้บริการที่เพียงพอ ต่อความต้องการในประเทศแล้วยังสามารถให้บริการแก่บริษัทในเครือที่จะพัฒนาระบบการสื่อสารให้มาใช้ระบบดาวเทียม
ซึ่งจะพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานได้สูงขึ้นอีกทั้งสามารถลดต้นทุนได้จำนวนมากซึ่งเป็นความได้เปรียบต่อธุรกิจที่แท้จริงของบริษัทชินวัตรฯ
ทั้งด้านเทคโนโลยี และด้านการประหยัดนอกจากนั้นช่องสัญญาณดาวเทียมที่เหลือสามารถให้บริการในระดับต่างประเทศได้ด้วยโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายอยู่
นอกจากนั้นแล้วยังมีบริษัทอื่นๆ ที่ได้รับสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐบาลทั้ง
3 แห่ง เช่น บริษัทธนายง, บริษัทล็อกซเล่ย์และบริษัทอื่น ๆ ที่มีเครือข่ายธุรกิจโทรคมนาคมกว้างขวางอยู่แล้วอีกทั้งยังเป็นการร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีระดับสูง
ซึ่งโครงการสัมปทานนั้นส่วนใหญ่มีระยะเวลานานประมาณ 15-20 ปี ซึ่งในช่วงนี้ต้องมีการลงทุนสูงทั้งด้านอุปกรณ์และด้านระบบ
ซึ่งในระหว่างนั้นบริษัทที่ได้สัมปทานได้รับการคุ้มครองจากหน่วยงานเจ้าของสัมปทานทำให้สามารถสร้างเครือข่ายธุรกิจได้กว้างยิ่งขึ้น
โดยนอกจากจะนำไปใช้กับธุรกิจในสาขาของตนเองแล้วยังเป็นการกีดกันการเข้ามาในธุรกิจทีหลังซึ่งจะเสียเปรียบเป็นอย่างมาก
ทั้งทางด้านตลาดที่ผู้เข้ามาในตลาดช่วงแรกจะได้ส่วนครองตลาดไป อีกทั้งอาณาจักรธุรกิจที่จะถูกครอบครองเกือบทั้งหมดด้วย