Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน12 กุมภาพันธ์ 2551
คลังบีบ ธปท.ลดดอกเบี้ยแทน 30% ไม่แตะภาษี             
 


   
www resources

โฮมเพจ กระทรวงการคลัง

   
search resources

กระทรวงการคลัง
Economics




หมอเลี้ยบประกาศแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ศก.สัปดาห์หน้า เรียกประชุมหน่วยงานกระทรวงการคลังระดมข้อมูลก่อนถกผู้บริหารแบงก์ชาติยกเลิกมาตรการ 30% วันนี้ บิ๊ก สศค.เสนอให้ลดดอกเบี้ยชดเชย ป้องกันทุนต่างประเทศทะลัก ชี้ข้อดีช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชน เชื่อไม่กดดันต่อเงินเฟ้อ ยันไม่ใช้มาตรการจัดเก็บภาษีขาออกเงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศ (Exit Tax) ด้านตลาดทุนนิยามมาตรการ 30% "สัญลักษณ์ปิดประเทศ" จี้แบงก์ชาติยกเลิก อ้างกู้ความเชื่อมั่นในสายตาต่างชาติ ปชป.ลุ้นระทึกคลังตัดสินใจเลิก 30%

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง คาดว่า กระทรวงการคลังจะสามารถประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในราวปลายสัปดาห์หน้า หลังจากที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภาฯ แล้ว ส่วนมาตรการสำรอง 30% จะมีการยกเลิกหรือไม่ เป็นอิสระของ ธปท.ที่จะพิจารณาภายหลังจากแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกระทรวงการคลัง

"มาตรการสำรอง 30% เป็นมาตรการที่ไม่ใช่ว่าคลังจะสั่งได้ แต่จะเป็นการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน สุดท้ายแล้วแบงก์ชาติจะเป็นผู้ตัดสินใจ และยืนยันว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงแน่นอน" น.พ.สุรพงษ์กล่าวและว่า หลังจากหารือกับผู้ว่าการ ธปท.แล้ว จะมีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

น.พ.สุรพงษ์ ยังเปิดเผยว่า วานนี้ตัวแทนจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิสเซส ได้เข้ามาพบตามวาระปกติ เพื่อสอบถามแนวนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งได้แจ้งกับตัวแทนของมูดี้ส์ไปว่าทางการจะมุ่งเน้นการสร้างความเชื่อมั่นโดยเฉพาะในด้านการลงทุนและการบริโภค เพราะเชื่อว่าหากทั้งสองตัวฟื้นก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า วันนี้ (12 ก.พ.) เวลา 14.00 น. นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.และผู้บริหารระดับสูง จะเข้าชี้แจงนโยบายของ ธปท.ต่อ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง โดยจะมีการหยิบยกประเด็นการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% รวมถึงการสรุปภาพรวมเศรษฐกิจ มาร่วมหารือกัน โดยข้อมูลที่ ธปท.จะเตรียมไปชี้แจงถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการ 30% ได้แก่ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าลดลงจาก 17% เมื่อปี 2549 เหลือ 7% ในปี 2550 และปี 2551 แข็งค่าแล้วเพียง 2.3% ขณะที่เงินทุนต่างชาติไหลเข้าลดลงจาก 1.3 หมื่นล้านเหรียญ ในปี 49 เหลือเพียง 2.7 พันล้านเหรียญ ในปี 2550 ทั้งนี้ เงินทุนไหลเข้า-ออกเริ่มสมดุลมากขึ้น

ขณะที่ วานนี้ น.พ.สุรพงษ์ ได้เรียกประชุมหน่วยงานในกระทรวงการคลัง เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจในการประเมินความจำเป็นในการใช้มาตรการกันสำรองเงินตราต่างประเทศ 30% ของ ธปท.ก่อนที่จะมีการหารือกับผู้บริหาร ธปท.ในวันนี้

นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เปิดเผยว่า ในระหว่างการหารือร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังได้รับฟังข้อมูลจากทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อประเมินสถานการณ์ โดยที่ประชุมได้สรุปท่าทีของกระทรวงการคลังให้รัฐมนตรีรับทราบว่าการยกเลิกมาตรการ 30% ควรจะมีมาตรการที่จะนำมาใช้ในการดูแลเงินไหลเข้า โดยจะมีเป้าหมายในการป้องกันเงินไหลเข้า

สำหรับมาตรการที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือการปรับลดดอกเบี้ยในประเทศลงเพื่อให้ส่วนต่างกับดอกเบี้ยต่างประเทศลดน้อยลง ส่วนจะลดลงเท่าใดนั้นคงจะต้องมีการหารือในรายละเอียดก่อน และยืนยันว่าทางการจะไม่ใช้มาตรการจัดเก็บภาษีขาออกเงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศ (Exit Tax)

"การยกเลิกมาตรการ 30% คาดว่าน่าจะมีแน่นอน แต่หากยกเลิกทันทีจะมีผลกระทบ เพราะดอกเบี้ยของไทยยังสูงกว่าต่างประเทศ จะทำให้เกิดเงินทุนไหลเข้ามามาก และในที่สุดจะทำให้เงินบาทแข็ง ซึ่งน่าเป็นห่วง ดังนั้นหากจะยกเลิกมาตรการ 30% ก็ต้องลดดอกเบี้ยด้วย แต่จะเป็นลดในอัตราเท่าใดนั้นคงต้องขึ้นกับการหารือร่วมกับ ธปท." นายสมชัย กล่าว

อย่างไรก็ตามในแง่ของผลกระทบ จากการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% นั้นอาจจะมีเงินไหลเข้าได้ หากอัตราดอกเบี้ยในประเทศและ ต่างประเทศมีความแตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อมีความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินไหลเข้า ก็ควรจะมีมาตรการเสริมในลักษณะของมาตรการบูรณาการ เพื่อช่วยเหลือและลดผลกระทบจาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จะมีต่อผู้ฝากเงิน ข้าราชการเกษียณอายุ ตลอดจนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการส่งเสริมให้มีการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศให้มากขึ้น

ส่วนที่มีหลายฝ่ายเป็นห่วงว่าการปรับลดดอกเบี้ยอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นนั้น นายสมชัย กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อในประเทศเกิดจากราคาน้ำมันเป็นหลัก ขณะที่การใช้จ่ายของประชาชนมีอัตราชะลอตัวลง ดังนั้น การปรับลดดอกเบี้ยจึงไม่น่าจะเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ จึงทำให้มีช่องที่สามารถปรับลดดอกเบี้ยลงได้ เพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชน

นอกจากนี้ ในแง่ผลกระทบของการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ด้วยเพื่อร่วมกันหามาตรการเสริมด้านการเงิน

"ถ้าจะเลิกมาตรการ 30% ดอกเบี้ยต้องลงด้วย เพราะเงินจะไหลเข้า เงินบาทก็จะแข็งค่าอีก ดังนั้นคงต้องคุยกันว่าจะมีอะไรออกมาเพิ่มเติม และบทบาทหลังจากนี้ของแบงก์ชาติในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นอย่างไร รวมทั้งการแทรกแซงค่าเงินจะทำได้มากน้อยแค่ไหนเพียงใด"นายสมชัย กล่าว

ตลาดทุนแบงก์ชาติยกเลิกโดยเร็ว

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวถึงมาตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ว่า มาตรการดังกล่าวเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงการไม่ต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนตัวอยากให้มีการยกเลิกเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้สะดวกขึ้น

ทั้งนี้ การประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมาถือว่าไม่ได้ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างที่ภาครัฐต้องการ เนื่องจากการแข็งค่าของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้างที่ไม่ได้มีการใช้มาตรการดังกล่าว

"การจะยกเลิกมาตรการคงทำได้ไม่ง่าย เพราะว่ามีการใช้มาตรการดังกล่าวมานานมาแล้ว ผมเห็นด้วยที่ไม่ต้องการเห็นการเก็งกำไรค่าเงินบาท เก็งกำไรราคาหุ้นแต่เราก็ฝืนการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ไม่ได้"

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ภาครัฐควรเร่งออกมาตรการเพื่อสร้างความมั่นใจ และความเข้าใจที่ถูกต้องกับการเข้ามาลงทุน คือ เปิดช่องทางให้นักลงทุนไทยสามารถนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น นอกเหนือจากแค่อนุญาตให้ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ไปลงทุนในต่างประเทศ (FIF) โดยที่ผ่านมาธปท.มักจะหยิบยกเรื่องความเสี่ยงจากการลงทุนมาเป็นเหตุผลในการไม่อนุญาติให้นักลงทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศซึ่งความจริงควรจะให้นักลงทุนทำความเข้าใจและทดลองเพื่อให้มีทางเลือกการลงทุนมากขึ้น

สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการประกาศยกเลิกหรือผ่อนผันมาตรการดังกล่าวเพิ่มเติม อาจจะรอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อไม่ทำให้กระทบกับเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งที่ผ่านมาดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลก็ปรับตัวลดลงสะท้อนข่าวการประกาศยกเลิกมาตรการดังกล่าวไปบ้างแล้ว

"แบงก์ชาติควรจะปล่อยให้นักลงทุนได้รับรู้ความเสี่ยงมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะมีนักลงทุนจำนวนมากที่มีความรู้ที่จะไปลงทุน ไม่ใช่คิดแทนนักลงทุนทุกอย่างที่ผ่านมาแบงก์ชาติมักจะดูแลความเสี่ยงมากจนเกินไป"นายก้องเกียรติกล่าว

เอกชนต้องปรับตัวตามโลก

ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากการเพิ่มช่องทางในการลงทุนให้นักลงทุนไทยสามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศแล้วผู้ประกอบการได้ควรยกระดับตัวเองเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยที่ผ่านมาปัญหาของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ส่งออกที่มักจะพูดว่าได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท คือ ไม่ยอมที่จะซื้อประกันความเสี่ยงเนื่องจากถือว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันไม่ยอมลงทุนในส่วนของการทดลองวิจัย รวมถึงการซื้อเครื่องจักรใหม่ๆที่จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตอย่างที่ควรจะเป็น

ในส่วนของภาครัฐ การเร่งกระตุ้นการใช้จ่าย รวมถึงการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เพื่อให้ภาคธุรกิจได้รับประโยชน์จากสิ่งที่จะเกิดขึ้นถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในสภาวะชะลอตัวอย่างที่เป็นอยู่ โดยสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติยังรอคอย คือการประกาศนโนบายต่างๆของรัฐบาลอย่างเป็นทางการเพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตได้ง่ายขึ้น

"ณรงค์ชัย"ชี้ใช้ทุนสำรองให้เป็น

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บลจ.เอ็มเอฟซี เปิดเผยว่า สิ่งที่จำเป็นในเชิงนโยบายระดับชาติมี 2 เรื่องที่รัฐบาลควรทำและตัดสินใจให้เร็ว คือ การบริหารเงินสำรองของประเทศ ที่จะต้องปรับปรุงให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เงินออมล้นโลกในปัจจุบัน โดยหากมีการปรับปรุงดีๆ แล้ว ประเทศไทยจะสามารถเอาเงินออมที่ล้นโลกมาใช้ในการพัฒนาชาติได้อย่างมาก ส่วนนโยบายที่ 2 คือรัฐบาลต้องตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องการใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ว่าจะทำในลักษณะใด เพราะรูปแบบเดิมใช้ไม่ได้

ทั้งนี้ การบริหารเงินสำรองของประเทศ เป็นเรื่องที่ธปท. ทำฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะเงินสำรองมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่เอาไว้ใช้หนุนหลังธนบัตร และส่วนที่เอาไว้ใช้ซื้อของจากต่างประเทศ ซึ่งในส่วนนี้ต้องทำให้มีความสมดุลกัน ไม่ใช่เอามาให้อย่างเดียว โดยธปท.ไม่ใช่หน่วยงานที่ใช้เงินตราต่างประเทศ แต่ต้องเป็นประชาชน รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจใช้เพื่อลงทุน ซึ่งในส่วนนี้เหนืออำนาจของธปท. ที่จะไปสั่งการ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายการลงทุนและการตัดสินใจลงทุนซึ่งต้องตระหนักถึงการนำเงินตราต่างประเทศไปใช้ด้วย

"การที่มีเงินเข้ามาแล้วไม่มีใครใช้ ทำให้แบงก์ชาติต้องออกพันธบัตรมาดูดซับ ต้องเสียดอกเบี้ย เขาก็แพ้ลูกเดียวก็แย่ เพราะฉะนั้นการบริหารเงินสำรองในปัจจุบันมันใช้ไม่ได้ มันผิด เรื่องการบริหารเงินสำรองไม่ใช่เรื่องของแบงก์ชาติเพียงผู้เดียว มันเป็นเรื่องของทั้งรัฐบาลเพราะฉะนั้นรัฐบาลก็น่าที่จะมีทีมที่เข้ามาดูเรื่องนี้ จุดตั้งต้นที่อดีตรมว.คลังคนก่อนเริ่มเอาไว้ที่มีทีมร่วมระหว่างกระทรวงคลังกับแบงก์ชาติเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ทำทีมนี้ให้เป็นทีมที่มีอำนาจเพื่อเข้ามาดูแลเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพียงแต่ว่าอย่าใช้มั่วแล้วกัน ใช้เพื่อการลงทุน ใช้เพื่อประโยชน์ระยะยาว"นายณรงค์ชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในหลายประเทศที่มีเงินสำรองมากได้มีการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund : SWF) ขึ้นมาเพื่อนำเงินไปลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างจีนเองก็เพิ่งตั้งกองทุนลักษณะนี้ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแนวโน้มของโลกไปในแนวทางนั้น เพื่อให้เงินสำรองมันออกไปนอกประเทศได้ไม่กลายมาเป็นสภาพคล่องข้างในประเทศ โดยในทางบัญชีเงินสำรองที่นำไปลงทุนผ่านกองทุน SWF ก็ยังเป็นเงินสำรองอยู่ แต่อยู่ในรูปอื่นเท่านั้นเอง ซึ่งหากกองทุน SWF มีกำไรจากการลงทุน ก็สามารถนำกำไรนั้นมาใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ได้เหมือนกัน

ในส่วนของมาตรการกันสำรอง 30% เป็นผลของการที่เราไม่ได้บริหารเงินตราต่างประเทศกันได้ดีพอ เพราะฉะนั้นมาตรการสำรอง 30% ไม่ควรจะมี โดยเฉพาะเมื่อมีรัฐบาลแล้วเรื่องการลงทุนคงจะมีอีกมาก ดังนั้นเราจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนซึ่งเมื่อจะใช้เงินตราต่างประเทศมากขึ้นก็ควรจะยกเลิกมาตรการสำรอง 30% เพื่อให้มีเงินไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรเพื่อระดมทุนไปใช้ในโครงการลงทุนต่างๆ ส่วนยกเลิก 30% แล้วบาทจะทำให้ค่าเงินแข็งก็ไม่มีทางเลือก แม้จะเห็นใจธปท. แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่าเรื่องเงินสำรองไม่ใช่เรื่องของ ธปท.คนเดียว

เชื่อเลิก 30% ไม่กระทบหุ้น

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า หากมีการยกเลิกมาตรการกันเงินสำรอง 30% จะส่งผลดีต่อตลาดพันธบัตร ตราสารหนี้ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ทำให้มีเม็ดเงินไหลต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนได้สะดวกมากขึ้น แต่จะไม่ได้มีผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นเพราะการลงทุนในตลาดหุ้นได้มีการยกเว้นมาตรการกันเงินสำรอง 30% อย่างไรก็ตามอาจจะมีผลทางอ้อมในด้านจิตวิทยาการลงทุนซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมในการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

ทั้งนี้ รัฐบาลควรมีการพิจารณาออกมาตรการอื่นๆ เพื่อดูแลการไหลเข้า-ออกของเงินทุนอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบรุนแรงต่อการลงทุน โดยการดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออก และความผันผวนของค่าเงินบาทเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง ตลท.ไม่ห่วงว่าหากยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% แล้วเงินทุนต่างชาติจะย้ายไปลงทุนตลาดหุ้นอื่น เพราะเป้าหมายสำคัญของการลงทุนเพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดจากการลงทุน

สหพัฒน์หนุนเลิก 30%

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า การที่ประเทศไทยได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งมาบริหารประเทศย่อมดีกว่ารัฐบาลชุดเก่าที่มาจากการรัฐประหารอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลชุดใหม่น่าจะมีสไตล์การบริหารแบบพ่อค้า ส่วนชุดเก่าเป็นการบริหารงานจากข้าราชการและหลงทางต่างคนต่างทำคุยกันไม่รู้เรื่อง รู้สึกอึดอัดแทน

“เปรียบเหมือนกับขณะนี้รัฐบาลชุดใหม่ขับรถอยู่บนพื้นแล้วแต่ต้องขับโฟรวิลไดฟ์ ส่วนนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้น ต้องมุ่งเน้นสร้างรากหญ้าให้มีรายได้ที่ดีขึ้น และต้องทำอย่างมีเป้าหมาย โดยการดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลง หรือกระทั่งส่งเสริมสินค้าโอทอปให้มากขึ้น เพราะถ้ารากหญ้ามีกำลังซื้อดีขึ้นทุกอย่างจะดีขึ้น”

การแก้ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรการสำรองเงินบาท 30% เพราะมาตรการดังกล่าวทำให้ไม่มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย ไม่มีนักลงทุนที่ไหนที่จะเอาเงินมากองไว้เปล่าๆต้อง 30% มันไม่เมกเซนส์มากเลย ดูแล้วไม่ได้ป้องกันแต่เป็นการเอาเงินคนอื่นถึง 30% มาตุนไว้เฉยๆ ถือว่าเป็นมาตรการที่เชยมากๆ แต่หลังจากที่ยกเลิกมาตรการสำรองเงินบาท 30% รัฐบาลก็ต้องมีมาตรการแก้ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เอาแค่ไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งกว่าประเทศเพื่อนบ้านก็พอ ซึ่งต้องรอดูนโยบายกระทรวงการคลังว่าจะเป็นอย่างไร แต่ขณะนี้นักลงทุนต่างประเทศมีเชื่อมั่นกับไทยมากขึ้น

ทั้งนี้เพื่อรองรับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและอ่อนตัวลง สหกรุ๊ปมุ่งเน้นการบริหารบาลานซ์กันระหว่างบริษัท ไลอ้อน ซึ่งจะได้รับผลดีจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาก ส่วนสหกรุ๊ปจะได้รับผลดีเมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ด้านราคาสินค้าหากไม่มีความจำเป็นจะไม่ปรับขึ้น ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์วางแนวทางจะลดราคาสินค้า ในส่วนนี้ต้องมองต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น การไม่ขึ้นราคาอาจทำให้ผู้ประกอบการขาดทุน และอาจจะเป็นแนวทางที่ส่วนทางกัน ทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเก่า ขณะนี้ราคาวัตถุดิบกำลังปรับฐาน ผมว่ากระทรวงพาณิชย์ต้องช่วยทำอย่างไรเพื่อไม่ให้วัตถุดิบปรับราคาขึ้น

ปชป.ลุ้นระทึกคลังยุบ 30%

นายกรณ์ จาติกวาณิช รองเลขาธิการและรมว.คลัง(เงา)พรรคประชาธิปัตย์ กล่าววว่า อยากได้ยิน นพ. สุรพงษ์ ยืนยันถึงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้พรรคพลังประชาชนเคยพูดเอาไว้ว่าอยากเห็นอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นแบบตายตัว ซึ่งน่ากลัวมาก จนถึงวันนี้จะทำอย่างนั้นอีกหรือไม่ หรือจะให้เปิดเสรีและคิดถึงสถานการณ์และสภาพแวดล้อมขณะนี้เป็นอย่างไร เนื่องจากขณะนี้วิกฤติซับไพรม์รุนแรงขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯลดลงแล้วถึงร้อยละ1.25ภายใน 2 สัปดาห์ หากเป็นเช่นนี้เงินจะไหลมาสู่ประเทศที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า ซึ่งประเทศไทยก็จะเป็นประเทศหนึ่งที่เงินไหลเข้ามา ดังนั้นการแก้ปัญหาจะกำหนดเป็นสูตรสำเร็จไม่ได้ อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์พูดมาตลอดว่าควรยกเลิกมาตรการ 30 % และเมื่อรัฐบาลจะยกเงินมาตรการนี้เช่นกันก็ต้องอธิบายว่าจะมีอะไรดีกว่า โดยฉพาะรมว.คลังต้องตระหนักว่านโยบายดอกเบี้ยเป็นนโยบายของ ธปท.

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากแนวทางด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลและธปท.ไม่ตรงกันจะต้องปลดผู้ว่าฯ ธปท.หรือไม่ นายกรณ์ กล่าวว่า การปลดผู้ว่าฯ ธปท.เป็นเรื่องใหญ่ ในอดีตก็มีการปลดทุกครั้ง แต่การจะปลดก็ต้องอธิบายเหตุผลให้ชัดเจนว่าปลดเพราะอะไร แต่ไม่ทราบว่าพ.ร.บ.ของธปท.ฉบับปัจจุบันได้ลดบทบาทรมว.คลังลงเหลือแค่ไหน หากปลดผู้ว่าฯโดยมีเหตุผลเพียงให้คนส่วนใหญ่คิดว่าต้องการนโยบายการเงินที่หละหลวมจะมีผลกระทบระยะยาว

“ถ้าเลิกมาตรการ 30%ต้องมีความชัดเจนว่าเลิกเพราะอะไร คิดถึงผลที่ตามมาหรือไม่และมีคำอธิบายถึงมาตรการที่จะออกมารองรับการยกเลิกอะไรบ้าง โดยเฉพาะเมื่อมีผลเสียหายจากการเลิกมาตรการนี้จะควบคุมอย่างไร”นายกรณ์ กล่าว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us