นับว่าตัวเลขยอดขายของพรานทะแลที่มีการเติบโตมาตลอดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นการประกาศชัยชนะในการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้สำเร็จ โดยความนิยมที่ผู้บริโภคได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมารับประทานอาหารทะเลแช่แข็งเพิ่มมากขึ้น ด้วยตำแหน่งสินค้าสอดคล้องกับยุคที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว สะอาด และปลอดภัย ที่สำคัญคือการตอกย้ำทางด้านคุณค่าของอาหารทะเลซึ่งตอบสนองกับกระแสรักษ์สุขภาพที่กำลังมาแรง โดยผลประกอบการในปีที่ผ่านมา มียอดขาย 1,000 ล้านบาท เติบโต 25% ส่วนผลประกอบการปีนี้ตั้งเป้ายอดขายรวมไว้ที่ 1,200 ล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโต 20%
ในปัจจุบันโจทย์การทำตลาดของ"พรานทะเล" ในการบุกเบิกอาหารแช่แข็งพร้อมปรุง (Ready to Cook) และอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) ได้เปลี่ยนไปจากในระยะแรก จากเดิมที่การวางกลยุทธ์สร้างการรับรู้ต่อผู้บริโภค จะวางเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนทัศนคติการรับประทานอาหารทะเลสดของผู้บริโภคให้เกิดการยอมรับและเปิดใจรับอาหารทะเลแช่แข็งพร้อมรับประทานและพร้อมปรุง ให้เข้ามาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรับประทานอาหาร ด้วยจุดขายที่ยังคงความสด และมีเรื่องสะดวกรวดเร็วตรงตามความต้องการของผู้บริโภค
ความพยายามจุดแรก ในช่วงสร้างแบรนด์ที่เริ่มต้นจากการโหมภาพยนตร์โฆษณา ผ่านสื่อโทรทัศน์ในช่วงแรก เพื่อเปลี่ยนทัศนคติและสร้างพฤติกรรมใหม่ ด้วยสโลแกนที่ว่า "ทางเลือกสดใหม่จากทะเล" และเมื่อกลางปี 2550 พรานทะเล มีการปรับเปลี่ยนสโลแกนใหม่ คือ "พรานทะเลอาหารทะเลเพื่อสุขภาพ" ทั้งนี้เพื่อให้ภาพของแบรนด์พรานทะเล มีความชัดเจนในตำแหน่ง "เพื่อสุขภาพ"โดยเป็นสินค้าอาหารแช่แข็งพร้อมทานรวมถึงกลุ่มอื่นๆ
ผนวกกับกลยุทธ์ทางด้านผลิตภัณฑ์ ที่มีการออกเมนูอาหารทะเลแช่แข็งเมนูใหม่ๆที่หลากหลาย และสอดคล้องกับรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย เช่น ข้าวเหนียวเนื้อปลาปรุงรส ขนมจีนซีฟูดพรานทะเล หรือการมองหาช่องว่างเพื่อบุกตลาดใหม่ ซึ่งมีทั้งตลาดอาหารเช้า และล่าสุดการขยายฐานเข้าไปจับตลาดอาหารญี่ปุ่นที่มาแรง ด้วยการเปิดตัวซูชิพรีเมียม ภายใต้แบรนด์ 'I LOVE SUSHI by Prantalay" เน้นชูจุดขายเป็นฉบับต้นตำรับรสชาติแบบญี่ปุ่นแท้ๆ จับกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางถึงบน และกระจายสินค้าผ่าน 2 ช่องทางคือ โมเดิร์นเทรดและแบบดิลิเวอรี่เป็นหลัก
ดังนั้น เมื่อพรานทะเล ซึ่งเป็นผู้เล่นรายแรกที่ลงมาทำตลาดอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานอย่างจริงจัง ด้วยจุดแข็งอาหารทะเลพร้อมทานรายแรก ส่งผลทำให้ตลาดรวมขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก ซึ่งเป็นเพราะว่าที่ผ่านมามีผู้เล่นทั้งรายเก่า และรายใหม่กระโดดเข้ามาร่วมวงแบ่งเค้กในตลาดอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานกันอย่างมากมาย และทำให้ตลาดนี้โตวันโตคืน ซึ่งมีคู่แข่งที่สามารถยึดตู้แช่ในแต่ละช่องทางการขายที่ต่างกันเพียงไม่กี่ค่าย ซึ่งก็ทำให้มีตัวเลขการครองส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกันและเป็นทอปทรีสลับกันไปมากับพรานทะเลคือ "เอสแอนด์พี"ที่มีชั่วโมงบินสูงในตลาดอาหารแช่แข็งพร้อมทานมาตั้งแต่ยุคก่อนพรานทะเลจะแจ้งเกิด รวมทั้งมีความแข็งแกร่งด้านความเชื่อถือของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์มาเป็นระยะเวลานาน และ "ซีพี" มีเมนูเนื้อไก่ที่หลากหลาย และแต้มต่อด้านช่องทางวางจำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขาเป็นจุดแข็งที่สำคัญอีกด้วย
ที่ผ่านมาแม้จะเห็นการเคลื่อนไหวของแต่ละแบรนด์ที่ทำตลาดแบบผลัดกันรุกผลัดกันรับ แต่สุดท้ายแล้วก็ยังโค่นกันไม่ลง ยิ่งกว่านั้นการเข้ามาของเฮาส์แบรนด์ ที่เปิดตัวด้วยกลยุทธ์ราคาเป็นตัวนำตลาด ซึ่งทำให้ตลาดอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานเข้าสู่ยุคสงครามราคา ที่รุนแรงเห็นจะเป็นการเปิดศึกช่วงชิงลูกค้ากันดัวยกลยุทธ์ซื้อ 1 แถม 1 อย่างไรก็ตามการแก้เกมของบรรดาทอปทรีออกมาในรูปแบบของการออกไฟติ้งแบรนด์ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าราคาพิเศษ
ที่สำคัญคือ กลยุทธ์การออกเมนูใหม่ๆมาทำตลาดอย่างต่อเนื่องนั้น อนุรัตน์ โค้วคาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการตลาดและฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า โอกาสที่จะทำให้กลุ่มลูกค้าอาหารแช่แข็งพร้อมทานมีการเปลี่ยนแบรนด์มีค่อนข้างมาก และมีอายุวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์สั้นมาก โดยเรียงลำดับความสำคัญที่เป็นปัจจัยทำให้เปลี่ยนคือ 1.รสชาติ 2.เมนู และเหตุผลดังกล่าวทำให้การทำตลาดอาหารพร้อมทานต้องเปลี่ยนเมนูใหม่ๆเข้าสู่ตลาดตลอดเวลา
จุดเปลี่ยนของอาหารแช่แข็งพร้อมทานที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ตลอดจนอุณหภูมิการแข่งขันที่สูงขึ้นส่งผลทำให้นโยบายและกลยุทธ์การตลาดในปี 2551ของพรานทะเลมุ่งเน้นไปในรูปแบบใหม่ เพื่อสร้างความชัดเจนและแตกต่างกับแบรนด์คู่แข่ง อีกทั้งเพื่อรักษาลูกค้าเดิมและขยายฐานกลุ่มเป้าหมายใหม่ในอนาคต ซึ่งอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ "Healthy with Innovation" นวัตกรรมอาหารทะเลเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับทิศทางการบริโภคอาหารของผู้บริโภคในปัจจุบัน
การเปิดแนวรุกตลาดอาหารแช่แข็งในรูปแบบใหม่ของ พรานทะเล จะใช้วิธีการสร้างเซกเมนต์อาหารทะเลแช่แข็งที่แบ่งตามกรุ๊ปเลือด และเน้นการ Educate ให้ผู้บริโภครับรู้ถึงคุณค่าทางโภชนาการ (Nutrition Fact) ของผลิตภัณฑ์ ที่ร่างกายจะได้รับในการบริโภคต่อครั้ง อาทิ แคลเซียมสูง คอเลสเตอรอลต่ำ โดยสื่อสารผ่านฉลากบนกล่องบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งวางแผนออกแบบแพกเกจจิ้งในรูปแบบใหม่ ที่เน้นใช้วัสดุแบบชีวภาพเป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน อีกทั้งสามารถเก็บรักษาอาหารได้นานถึง 2 ปี
นอกจากนั้นการทำตลาดภายใต้คอนเซ็ปต์ "Healthy with Innovation" นวัตกรรมอาหารทะเลเพื่อสุขภาพ จะมีการออกสินค้าใหม่ทั้ง 3 กลุ่มคือ
หนึ่ง อาหารทะเลแช่แข็งพร้อมปรุง เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม โดยภาพรวมในตลาดอาหารแช่แข็งพร้อมปรุงนั้น ที่ผ่านมาบรรดาคู่แข่งที่มาจากกลุ่มอาหารสดมีการปรับเป้าหมายเข้ามาร่วมแบ่งเค้กในตลาดนี้กันมาก เห็นได้ว่าในช่วง 2 ปีหลัง ทุกค่ายที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่กล่าวมามีการเคลื่อนไหวเข้ามาเล่นในตลาดนี้ โดยเฉพาะสินค้าเฮาส์แบรนด์ในตลาดโมเดิร์นเทรด อย่างไรก็ตาม คาดว่าการแข่งขันในตลาดนี้จะไม่รุนแรงนัก เนื่องจากพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มแม่บ้าน พ่อบ้านยุคใหม่ จะค่อนข้างมีแบรนด์ลอยัลตี้กับสินค้า ส่วนในปี 2550 มูลค่าตลาดรวมหมวดอาหารทะเลแช่แข็งพร้อมปรุง 450 ล้านบาท โดยพรานทะเลมียอดขาย 320 ล้านบาท หรือคิดเป็น 71.11% ของมูลค่าตลาดรวม
สอง อาหารทะเลแช่แข็งพร้อมรับประทาน มีการออกเมนูใหม่ ทั้งสปาเกตตี ไส้กรอกอีสาน อูด้ง ขนมจีนน้ำยา โดยทิศทางการเคลื่อนไหวของตลาดนี้ในปีที่แล้ว พบว่า มีการแข่งขันที่สูงมากเนื่องมาจากการเข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่องของคู่แข่งที่มองเห็นช่องว่างในตลาด ซึ่งผู้บริโภคสินค้าในกลุ่มนี้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะสนใจเรื่องความหลากหลายและความแตกต่างของเมนู รวมไปถึงรสชาติของอาหารเป็นสำคัญ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความแตกต่างที่ทางพรานทะเลสามารถชูความเป็นหนึ่งในหมวดสินค้านี้ได้ เพราะสามารถออกสินค้าได้ครบตามความต้องการและตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ในไตรมาสแรกวางแผนเปิดตัวอาหารสำหรับกรุ๊ปเลือดต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความแตกต่างรองรับการแข่งขันที่รุนแรงของคู่แข่งที่งัดกลยุทธ์ราคาขึ้นมาใช้ และมีสินค้าให้เลือกหลากหลายถึง 16 แบรนด์ โดยจะเปิดตัวเมนูใหม่ 20 เมนู สำหรับในปี 2550 พรานทะเลสามารถทำยอดขายในตลาดนี้ได้กว่า 330 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.25% ของมูลค่าตลาดรวม ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท
สาม บุกเบิกตลาดซูชิ ที่เพิ่งเปิดตัวในปลายปีที่ผ่านมา ภายใต้แบรนด์ 'I LOVE SUSHI by Prantalay" ให้มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นขยายฐานกลุ่มเป้าหมายใหม่ด้วยเมนูในรูปแบบฟิวชั่น หรือพัฒนาเป็นอาหารประจำแต่ละภาคของประเทศไทย รวมทั้งเน้นการขยายฐานการบริโภคเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนที่จำหน่ายในโมเดิร์นเทรด และแบบดิลิเวอรี่ ทั้งชาวไทยและญี่ปุ่นที่อยู่ในย่านสุขุมวิท ซึ่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 20% เนื่องจากเป็นซูชิในระดับพรีเมียม ใช้วัตถุดิบเกรด A และควบคุมการผลิตให้มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานการบริโภคของชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยในปี 51 คาดว่าธุรกิจนี้น่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30% จากปัจจุบันที่มีมูลค่าตลาดของอาหารซูชิในภัตตาคาร มูลค่ารวมกว่า 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นในโมเดิร์นเทรดประมาณ 500-600 ล้านบาท ส่วนพรานทะเลมียอดขายของสินค้ากลุ่มนี้ในปีที่ผ่านมา 350 ล้านบาท หรือคิดเป็น 63.64% ของมูลค่าตลาดรวมในช่องทางโมเดิร์นเทรด
อนุรัตน์ กล่าวอีกว่า ตลาดอาหารแช่แข็งต้องซอยเซกเมนต์ให้มากขึ้น หลังจากเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาเป็นบลูโอเชี่ยน แต่ขณะนี้เริ่มเป็นเรด โอเชี่ยน ที่สำคัญอาหารทะเลแช่แข็งจะต้องมีจุดขายมากกว่าความอร่อย หรือดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค และนั่นเป็นที่มาของการปรับรูปแบบการทำตลาดสำหรับการให้ข้อมูลและความรู้แก่ผู้บริโภค นอกจากนี้บริษัทได้ทุ่มงบร่วม 130 ล้านบาท แบ่งเป็น 100 ล้านบาท สำหรับงบลงทุนเครื่องจักรและการขยายช่องทางจำหน่ายซึ่งจะขยายเพิ่มจาก 6,500 แห่ง เป็น 7,500 แห่ง
"ส่วนงบการตลาดได้ตั้งงบประมาณไว้ 30 ล้านบาท เน้นสื่อสารการตลาด ทั้งโฆษณาประชาสัมพันธ์ตอกย้ำการรับรู้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง และกิจกรรมส่งเสริมการขาย (Event) การส่งข้อมูลต่างๆ (Direct Marketing) ผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตเพื่อมุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค ซึ่งจะเริ่มในเดือนเมษายนนี้ โดยจัดกิจกรรมการตลาดให้ลูกค้าสะสมยอดแลกของรางวัล
นอกจากนี้การขยายตัวของช่องทางการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นของโมเดิร์นเทรดต่างๆ ที่สอดคล้องกับชีวิตของผู้บริโภคสมัยใหม่ทั้งเทสโก้ โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์ เซเว่นอีเลฟเว่น ที่มีอัตราการเติบโตขึ้นประมาณ 10-20% ซึ่งมีผลทำให้ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ "พรานทะเล" ทั้งในรูปแบบพร้อมปรุงและพร้อมทานแบบแช่แข็งและชิลล์ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีช่องทางการจัดจำหน่ายทั่วประเทศกว่า 6,500 จุด แบ่งเป็นร้านค้าเล็กในแหล่งชุมชนต่างๆ 6,000 จุด ส่วนที่เหลือเป็นจุดจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด คอนวีเนียนสโตร์ และมินิมาร์ท ส่วนในปีนี้วางแผนจะเพิ่มจุดจำหน่ายเป็น 7,500 จุด โดยเฉพาะ บริเวณพื้นที่ด้านหน้าของซูเปอร์มาร์เกต (Super out) เป็นสินค้าพร้อมรับประทาน ได้แก่ ไส้กรอก ลูกชิ้นแบบทอด และซูชิ ซึ่งเป็นจุดที่สามารถเพิ่มยอดขายได้อีกบริเวณหนึ่ง จากจุดจำหน่ายเดิมซึ่งเป็นตู้แช่ภายในโมเดิร์นเทรดที่มีอยู่ 300 จุด "
|