มีคำถามเกิดขึ้นทันทีเมื่อยูบีซีเคเบิลทีวี เปิดห้อง war room หรือ ที่ผู้บริหาร
ยูบีซีเรียกว่า ศูนย์บัญชาการรบทางธุรกิจ ที่มีไว้สำหรับให้ผู้บริหารในการตัดสินใจได้ทันท่วงทีว่า
การลงทุนครั้งนี้ยูบีซีจะไปแข่งขันกับใคร ในเมื่อ ยูบีซี เป็นผู้ให้บริการเคเบิลทีวีรายเดียวในเมืองไทยอยู่แล้ว
คำตอบ ที่ได้จากวาสิลี (เบซิล) สกูร์ดอส ผู้ช่วยรองประธานเจ้าหน้าที่ บริหารสายการเงิน
กลุ่มบริษัทยูบีซี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ ก็คือ ธุรกิจบันเทิง คือ
คู่แข่งของยูบีซี ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ วิดีโอ โดยเฉพาะความแข็งแกร่งของฟรีทีวี
ที่จะทำอย่างไรให้ผู้ชมฟรีทีวีไม่เสียสตางค์ ยอมควักเงินมาเป็นสมาชิกของยูบีซี
และนี่ก็คือ สาเหตุที่บอกว่าเหตุใด ยูบีซีจึงจำเป็นต้องสร้างห้อง war room
หรือห้องยุทธการนี้ขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ (tool) ชนิดหนึ่งในการตัด
สินใจของผู้บริหารระดับสูงในเรื่องสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดกลยุทธ์การตลาดทิศทางของธุรกิจ
และ รวมไปถึงการบริหารงานภายในขององค์กรของยูบีซีเอง
"ข้อมูล" ถูกจัดเป็นอาวุธสำคัญ ที่ผู้บริหารยูบีซี และหลายองค์กรเองเชื่อว่า
จะใช้สร้างความสามารถ และชั้นเชิงทางธุรกิจ และสร้างความเป็นต่อในการแข่งขัน
ในแต่ละองค์กรมีวิธีใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่แตกต่าง หลายองค์กร เลือกใช้ระบบอินทราเน็ตในการเรียกดูข้อมูลสำคัญจากหน้า
จอคอมพิวเตอร์ ของตัวเอง ข้อมูลจะจัดแบ่งระดับความสำคัญของตำแหน่งผู้บริหารในการเรียกดูข้อมูล
สำหรับยูบีซีแล้ว ระบบอินทราเน็ต เป็นแค่เครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ภายในองค์กรเท่านั้น
ยูบีซีเลือก ที่จะนำข้อมูลทั้งหมดมาไว้ในห้องห้องเดียว เพื่อให้ผู้บริหารสามารถมองภาพรวมของธุรกิจได้พร้อมๆ
กัน เป็น เพราะความซับซ้อนของตัวธุรกิจเคเบิลทีวี ที่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากหลายๆ
ส่วนมาใช้ประกอบการตัดสินใจ
งานนี้ยูบีซี ต้องลงทุนควักเงินเกือบสิบล้านบาทในการสร้างศูนย์บัญชาการ
โดยเลือกเอาระบบจากบริษัท ออริจิน ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา และติดตั้งระบบ
Management Cockpit ที่บริษัท SAP เจ้าของซอฟต์แวร์บริหารฐาน ข้อมูล "ข้อมูล"
ที่กระจัดกระจายอยู่ ภายในฝ่ายต่างๆ ของยูบีซี ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายบัญชี และการเงิน
ฝ่ายสมาชิกฝ่ายบุคคล ฝ่ายการตลาด ฝ่ายรายการ ฝ่าย ที่ดูแลเกี่ยวกับข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์
รวมทั้งจาก call center จะถูกรวบรวมอยู่ในห้องนี้ โดยมีเครื่อง server ที่จะทำหน้าที่ในการประมวลผล
ข้อมูล และแปลงข้อมูลเหล่านี้ให้อยู่ในรูปของกราฟิก ทั้งกราฟแท่งวงกลม กราฟเส้น
จุดสำคัญของห้องปฏิบัติการลักษณะนี้ ก็คือ ความง่ายของข้อมูลที่จะต้อง "สื่อ"
ให้ผู้บริหารรับรู้ได้ง่ายที่สุด ระบบนี้จึงต้องครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบตัวห้องให้สอดคล้องกับการใช้งาน
การออกแบบจอแสดงผลที่ทำ ให้มองเห็นข้อมูลได้ทั่วถึงกันไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของมุมห้อง
"ผู้บริหารมองเห็นสถานการณ์ธุรกิจ เหมือนกับมองจากเครื่องบิน คือ เห็นภาพรวมได้ทั้งหมด
และตรงนี้เป็นจุดสำคัญ ที่ให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจได้เร็วขึ้น" สมพันธ์
จารุมิลินท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทยูบีซี
ข้อมูลที่ถูกประมวลผล และแปลงให้อยู่ในรูปของภาพกราฟิกทั้ง 6 ประเภท ที่ปรากฏบนจอแสดงผลบนฝาผนัง
จะถูกแบ่งออกเป็น 6 เฉดสี ตามประเภทของข้อมูล เพื่อความง่ายในการมองข้อมูล
เช่น จอแสดงผลสีแดง จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการเงิน และการตลาด ส่วนจอสีดำ
จะเป็นการคาดการณ์อนาคตของธุรกิจ
งานนี้ จึงไม่ใช่แค่การซื้อซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์มาติดตั้งแล้วก็ใช้งานได้
ทันทีเพราะสิ่งที่สำคัญคือ การเลือก สรรข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการกำหนดตัว
วัดผลงาน ที่สำคัญ KPI"s (Key performance indicators) ที่จะเป็นหัวใจสำคัญของข้อมูลที่จะถูกนำไปปรากฏบนจอแสดงผล
ก่อน ที่ระบบนี้จะติดตั้งได้ ผู้บริหารจากทุกแผนกจะต้องเข้ามาร่วม กำหนดวัตถุประสงค์
และเป้าหมายร่วมกันในการที่จะเลือกนำข้อมูลมาใช้ ในการจัดทำตัววัดผลงาน ที่สำคัญ
เฉพาะขั้นตอนนี้อย่างเดียวก็กินเวลา 6 วันเต็ม ยังไม่รวมขั้นตอนอื่นๆ ที่ใช้เวลา
4-5 เดือนเต็มกว่าจะเสร็จสมบูรณ์
" ที่ยากก็คือ การนำเอาข้อมูลของแต่ละแผนกเข้ามาสู่ในห้องนี้ เพื่อใช้การทำตัววัด
ซึ่งความต้องการของแต่ละแผนกก็จะแตกต่างกันไป และข้อมูล เหล่านี้จะเชื่อมโยงกันทุกๆ
ด้าน ไม่ใช่แค่การเงิน แต่ยังรวมไปถึงความรู้สึกของพนักงาน ที่มีต่อองค์กรของบริษัทด้วย"
เบซิล กล่าว
สิ่งที่ยูบีซีจะได้จากการติดตั้งระบบนี้ก็คือ ผู้บริหาร ที่อยู่ภายในห้องนี้
จะ สามารถรู้ความเป็นไปของบริษัทในทุกๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นยอดสมาชิกเครือข่าย
ประเภทรายการ สภาวะของเศรษฐกิจจากต่างประเทศ และภายในของไทย ความเคลื่อนไหวของหุ้นยูบีซี
รวมถึงใช้ประกอบในการจัดการบริหารงานภายในของยูบีซี
จุดที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบนี้อีกด้านหนึ่งก็คือ ระบบไฟสัญญาณเตือน
ที่เหมือนกับสัญญาณของไฟจราจร ที่จะใช้ในการบอกสภาวะของธุรกิจ คือ ถ้าอยู่ในภาวะปกติสัญญาณไฟจะเป็นสีเขียว
แต่เมื่อภาวะเริ่มไม่ปกติ สัญญาณไฟจะขึ้นสีเหลือง ซึ่งเป็นการเตือนให้เห็นถึงภาวะ
ที่เริ่มไม่ปกติแล้ว และเมื่อไฟเปลี่ยนเป็นสีแดง นั่นหมายความว่าจะต้องรีบแก้ไขโดยด่วน
ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจให้ทันท่วงทีของผู้บริหาร
"เช่นว่า กรณี ที่พนักงานลาหยุดบ่อยๆ จะมีสัญญาณบนจอแสดงผลปรากฏออกมาในรูปของสัญญาณไฟ
ผู้บริหารจะได้เข้าไปแก้ไขปัญหาได้ทันทีว่า ปัญหาเกิดขึ้นมาจากอะไร หรืออย่างการทำโปรโมชั่นแล้วประสบความสำเร็จ
ในพื้นที่ไหน พื้นที่ไหนไม่สำเร็จ เป็นเพราะอะไร เราจะรู้ได้ทันที" เบซิลอธิบาย
นอกเหนือจากใช้ในการตัดสินใจของผู้บริหารแล้ว ในกรณี ที่ผู้บริหารระดับไม่อยู่ในบริษัท
ก็จะสามารถเรียกดูข้อมูล โดยออนไลน์จากเครื่องโน้ต บุ้คเข้ามา ที่ฐานข้อมูลที่อยู่ในเครื่อง
server ภายในห้องนี้ได้ทันที
ไม่ใช่แค่ผู้บริหารเท่านั้น ที่มีสิทธิ์เข้ามาใช้ห้อง war room ของยูบีซีเท่านั้น
แต่ยังเตรียมไว้ในการประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องจำเป็นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่างยูบีซี
ที่ต้องสร้างสร้างความเชื่อมั่นให้กับ นักลงทุน ด้วยความโปร่งใสในเรื่องข้อมูล
ห้องยุทธการของยูบีซี เป็นแค่ส่วนหนึ่งในแผนการลงทุนในการนำไอที มาใช้ประโยชน์ในธุรกิจ
เป้าหมายต่อไปของยูบีซี ก็คือ การติดตั้ง call center ระบบบริการหลังการขาย
และระบบบิลลิ่ง ที่ถือว่า เป็นการเตรียมความพร้อมขององค์กรทุกๆ ด้าน นับตั้งแต่การรวมกิจการลุล่วงมาเกือบ
2 ปีเต็ม งานนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ายูบีซีเข้าถึงปัญหา และมองถึงแก่นแท้ของการจัดการธุรกิจ
ได้หรือไม่ หรือจะเป็นแค่การสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรเวลาเท่านั้น จะเป็นเครื่องพิสูจน์