|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์ชาติคลอดพันธบัตรออมทรัพย์ล็อตแรกของปีนี้ วงเงิน 50,000 ล้านบาท อายุ 4 ปี และ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรอายุ 4 ปี 3.91% ต่อปี ส่วนพันธบัตรอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.53% ต่อปี เปิดขายให้ประชาชนตั้งแต่วันที่ 18 - 26 กุมภาพันธ์ 2551 นี้ ระบุเพื่อเป็นทางเลือกในการออมและการลงทุนให้ประชาชน
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.พร้อมด้วยตัวแทนจากธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง ร่วมลงนามในบันทึกความตกลงว่าด้วยการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท.ปี พ.ศ. 2551 ครั้งที่ 1 อายุ 4 ปี และ 7 ปี วงเงิน 50,000 ล้านบาท เมื่อวานนี้(7 ก.พ.) เพื่อรองรับความต้องการซื้อตราสารหนี้ต่างๆ เมื่อพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากบังคับใช้และเป็นทางเลือกในการออมที่มีการลงทุนความเสี่ยงต่ำและผลตอบแทนดีให้แก่ผู้ที่ต้องการออมระยะยาวและมีรายได้ดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินนโยบายการเงินด้วยการดูแลสภาพคล่องตลาดเงินในระบบ
“การออกขายพันธบัตรธปท.ครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อการระดมทุนไปใช้ประโยชน์อะไร แต่ต้องการสร้างทางเลือกในการออมและการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยให้กับประชาชน พร้อมทั้งการออกพันธบัตรครั้งก่อนมีกระแสตอบรับที่ดี ส่วนหากความต้องการของประชาชนทั่วไปมีมากจนยอดจองเกินกว่าวงเงินออกพันธบัตร 5 หมื่นล้านบาทก็จะขอดูสถานการณ์ก่อน”
ทั้งนี้ ธปท.จะประกาศอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรทั้ง 2 ประเภท ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ โดยอ้างอิงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 4 ปี และอายุ 7 ปี เป็นฐานในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย บวกด้วยส่วนต่างไม่เกิน 15% ของอัตราผลตอบแทน ซึ่งพันธบัตรจะลงวันที่ 27 ก.พ.2551 และผู้ถือพันธบัตรจะได้รับดอกเบี้ยปีละ 2 งวด คือในวันที่ 27 ก.พ.และ 27 ส.ค. ของทุกปี จนกว่าพันธบัตรจะครบกำหนด และได้รับชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวนเมื่อถือจนครบอายุในพันธบัตร
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับอัตราอ้างอิงของผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve) ของธปท.ซึ่งประกาศล่าสุด ณ วันที่ 7 ก.พ. พันธบัตรอายุ 4 ปี อยู่ที่ 3.40% ส่วนพันธบัตรอายุ 7 ปี อยู่ที่ 3.94% ซึ่งหากบวกส่วนต่าง 15% ของผลตอบแทน อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรอายุ 4 ปี จะอยู่ที่ประมาณ 3.91% ต่อปี ส่วนพันธบัตรอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณ 4.53% ต่อปี
สำหรับประชาชนผู้สนใจจะซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ของธปท.ได้ในวงเงินซื้อขั้นต่ำ 50,000 บาทต่อราย และซื้อเพิ่มเป็นจำนวนเท่าของ 10,000 บาท โดยผู้ที่มีสิทธิ์ซื้อ ได้แก่ บุคคลธรรมดา สหกรณ์ มูลนิธิ และองค์กรสาธารณะที่ไม่มุ่งหวังกำไร ดังนั้น ผู้ที่สนใจสามารถขอรับหนังสือชี้ชวนและใบคำเสนอขอซื้อพันธบัตรฯ ผ่านธนาคารพาณิชย์ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายทั้ง 9 แห่ง ซึ่งสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะได้สัดส่วนในการออกขายพันธบัตร ขึ้นอยู่กับฐานเงินฝากแต่ละแห่งได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย กสิกรไทย ไทยธนาคาร นครหลวงไทย ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น ซิตี้แบงก์ ไทยพาณิชย์ และ ธนาคารยูโอบี ได้ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 และสามารถจองซื้อพันธบัตรตั้งแต่วันที่ 18 - 26 กุมภาพันธ์ 2551 นี้
โดยก่อนหน้านี้ ธปท. ได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2550 วงเงิน 8.99 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะออกเพียง 4 หมื่นล้านบาท เมื่อเดือนส.ค.49 แบ่งเป็นอายุ 4 ปี ดอกเบี้ย 4.25% และ อายุ 7 ปี ดอกเบี้ย 5.00% ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายฐานนักลงทุนในพันธบัตร ธปท. ไปสู่ผู้ออมรายย่อย ขณะเดียวกันเพื่อช่วยดูดซับสภาพคล่องในตลาดเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อสานต่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว ธปท. จึงได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. อีกครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 นี้
นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง ธปท.กล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จะไปในทิศทางไหน ขึ้นอยู่กับความต้องการสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ หากต้องการสินเชื่อจำนวนมาก อัตราดอกเบี้ยก็มีโอกาสปรับขึ้นได้ จึงเป็นเรื่องที่ยังไม่แน่นอนและค่อนข้างผันผวนอยู่ ส่วนที่ธนาคารพาณิชย์มีการแย่งระดมเงินฝากมากในขณะนี้ เชื่อว่าส่วนหนึ่งต้องการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า
ด้านนายธีระ อภัยวงค์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถฟันธงทิศทางอัตราดอกเบี้ยได้ เนื่องจากตลาดทั่วโลกและเศรษฐกิจทั่วโลกยังมีความผันผวนอยู่ ซึ่งเห็นได้จากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา ขณะที่หลายประเทศได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยยังคงคาดการณ์ได้ลำบาก ขึ้นอยู่กับการลงทุนของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ และสภาพเศรษฐกิจในอนาคต เมื่อต้องการสินเชื่อมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นในสถานการณ์ที่ผันผวนเช่นนี้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริโภคเป็นสำคัญ
แจงขาดทุนบาทแข็งค่า1.74แสนล้าน
นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าในช่วงที่ผ่านมาธปท.ได้ออกพันธบัตรไปแล้ว 1.9 ล้านล้านบาท จากยอดวงเงินที่ขออนุมัติจากคลังทั้งสิ้น 2 ล้านล้านบาท ทำให้เหลือวงเงินออกพันธบัตรแค่ 1 แสนล้านบาทว่า ณ สิ้นปี 2550 ธปท.ได้มีการออกพันธบัตรและมียอดคงค้างทั้งสิ้นในระบบ 1.35 ล้านล้านบาท ทำให้ธปท.มีวงเงินเหลือในการออกพันธบัตรเพิ่มประมาณ 7 แสนล้านบาท และการออกพันธบัตรในช่วงที่ผ่านมาเป็นธุรกรรมตามปกติที่ใช้ในการดำเนินนโยบายการเงินไม่ได้เกิดจากการเข้าไปดูดซับสภาพคล่องของธปท.มากเกินไป
สำหรับประเด็นที่ กรณีที่กระทรวงการคลังจะออกพันธบัตร เพื่อระดมเงินสนับสนุนการก่อสร้างรถไฟฟ้าจำนวน 500,000 ล้านบาท ซึ่งหลายฝ่ายเกรงว่าจะเป็นการเข้าไปดูดซับสภาพคล่องในระบบมากเกินไปหรือไม่นั้น นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าววว่า ขณะนี้ตลาดมีสภาพคล่องเหลือมาก และการออกพันธบัตร เพื่อระดมเงินในการสนับสนุนสร้างรถไฟฟ้าคงไม่ได้ออกครั้งเดียวจำนวนมากจนสภาพคล่องในระบบหมดไป แต่เชื่อว่าจะค่อยๆ ทยอยออก ซึ่งภาคการเงินของประเทศน่าจะสามารถปรับตัวได้ และที่ผ่านมาธปท.ออกพันธบัตรจำนวนมาก หากจำเป็นต้องไปปล่อยสภาพคล่องเพิ่มเติมก็น่าจะสามารถทำได้
ส่วนการขาดทุนจากการบริหารทุนสำรองทางการของฝ่ายการธนาคาร ทำให้มีผลขาดทุนสะสมทั้งสิ้น 94,600 ล้านบาทตามงบการเงินล่าสุด ณ วันที่ 13 ธ.ค.2550 ที่ผ่านมานั้น เป็นผลขาดทุนที่สะสมมาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งธปท.ขาดทุนจากการตีราคาอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท 174,000 ล้านบาท เนื่องจากในปี 49 มีการขาดทุนจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์กว่าประเทศอื่นถึง 17% ขณะที่ในปี 50 เงินบาทแข็งค่าประมาณ 7% แต่ก็ไม่ได้แข็งกว่าประเทศอื่นและมีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศในสกุลเงินอื่น นอกเหนือจากเงินดอลลาร์มากขึ้น ทำให้เมื่อรวมงบดุลของฝ่ายการธนาคารและทุนสำรองเงินตราในฝ่ายออกบัตรธนาคารธปท.จะมีกำไร 2.2 หมื่นล้านบาท แต่กำไรนี้ยังไม่ได้หมายความว่าธปท.จะกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท
|
|
|
|
|