Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2535
"ความเข้มงวดกฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535"             
 


   
search resources

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Environment
Law




เมื่อ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมพุทธศักราช 2535 ทดแทนกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2518

กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับนี้เป็นหนึ่งในกฎหมายนับร้อยฉบับที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในสมัยอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นครั้งสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทางด้านกฎหมาย

ก่อนหน้านี้มีการเสนอแนะการปรับปรุงหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดรับกับปัญหาที่ทวีความรุนแรงมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่หลังจากเกิดเหตุการณ์อุทกภัยภาคใต้เมื่อปี 2531 จนกระทั่งล่าสุดปัญหาการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมลงลุ่มน้ำพอง-ชี-มูลในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางแนวคิดถึงกับเสนอให้ตั้งเป็นทบวงสิ่งแวดล้อมเพื่อจะได้รวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอยู่ในองค์กรเดียวกัน

แต่ในที่สุดแนวคิดเรื่องการปรับปรุงองค์กรที่รับผิดชอบงานด้านสิ่งแวดล้อม ก็หาข้อสรุปได้โดยการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2535 เพิ่มหน่วยงานขึ้นอีก 3 กรม คือสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

ประเด็นที่นับได้ว่าสำคัญที่สุดในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้คือการคั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม แนวคิดในเรื่องการมีกองทุนสิ่งแวดล้อมมีมาก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติใหม่ตั้งแต่สมัยอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรีโดยในแผน 7 มีการเน้นถึง กองทุนด้านสิ่งแวดล้อมและหลักการผู้ใดก่อมลพิษผู้นั้นต้องเป็นผู้จ่าย (POLLUTERS PAY PRINCIPLE-PPP)

เงินก้อนแรกจากงบประมาณปี 2535 จำนวน 500 ล้านบาท ได้รับอนุมัติให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตและเดือนมีนาคม 2535 อานันท์ ปันยารชุนได้อนุมัติให้โอนเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน 4500 ล้านบาท เข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม โดยผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ

แต่ในระหว่างนั้นยังไม่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ เงินจำนวนดังกล่าวจึงยังไม่ตกมาถึงกองทุน และเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะเป็นผู้อนุมัติการโอนเงินจำนวนดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนเงิน 500 ล้านบาทแรกที่ได้รับจากงบประมาณปี 2535 ก็ยังคงมิได้ถูกนำไปใช้ เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมายังไม่ได้มีการกำหนดระเบียบการใช้เงินในรายละเอียดแต่อย่างใด

แม้ว่าขณะนี้กฎหมายฉบับใหม่จะบังคับใช้แล้วก็ตาม การจัดระเบียบในเรื่องกองทุนสิ่งแวดล้อม ยังคงอยู่ในระหว่างการกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ โดยวางแนวคิดไว้ว่าในหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน สามารถกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการจัดหาหรือลงทุนงานด้านบำบัดอากาศเสีย น้ำเสียและกำจัดของเสียอื่นๆ

แหล่งข่าวในวงการสิ่งแวดล้อมกล่าวถึงที่มาของกองทุนสิ่งแวดล้อมว่า มีแนวคิดในการที่จะให้รัฐและเอกชนกู้ยืมหรือเป็นเงินช่วยเปล่าสำหรับต้นทุนคงที่ที่ต้องลงทุนในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

โดยกลุ่มเป้าหมายภาคเอกชนแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือเอกชนรายย่อยที่ต้องการลงทุนสร้างระบบบำบัดเอง อีกกลุ่มคือโรงงานอุตสาหกรรมที่รวมกลุ่มกันและจ้างบริษัทเอกชนมาทำการบำบัดของเสีย ซึ่งเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินมาก

ถ้าให้บริษัทดังกล่าว กู้เงินจากแหล่งเงินกู้ทั่วไปเพื่อใช้ในการลงทุนอาจจะไม่ค่อยคุ้มทุน แต่ถ้ากู้จากกองทุนซึ่งจะกำหนดอัตราดอกเบี้ย ที่ต่ำอาจจะเป็นแรงจูงใจให้บริษัทรับจ้างกำจัดมลพิษมีแรงจูงใจในการลงทุนมากขึ้น

ในด้านการบริหารกองทุนสิ่งแวดล้อมจะมีคณะกรรมการกองทุนโดยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานกรรมการ มีหน้าที่ในการพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนเพื่อใช้ในกิจการต่าง ๆ

ช่วงสองสามเดือนนี้เป็นระยะที่คณะกรรมการกองทุนต้องกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขระเบียบและวิธีการขอจัดสรรหรือขอกู้ยืมเงินกองทุน และต้องกำหนดรายละเอียดถึงเรื่องอัตราดอกเบี้ย การกำหนดสัดส่วนเงินให้กู้ระหว่างหน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลาง-ท้องถิ่น และหน่วยงานเอกชนรวมถึงเงินบางส่วนที่กองทุนอาจจะจัดสรรให้กับเอ็นจีโอที่จดทะเบียนกับสำนักงานนโยบายฯ เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือส่งเสริมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม

ส่วนในด้านการปฏิบัติงานจัดการกองทุนนั้นทางสำนักงานนโยบายฯ ได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลให้แนวคิดดังกล่าวเป็นจริง คือสำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม องค์กรรัฐและเอกชน ที่มีความประสงค์ในการกู้เงินจากกองทุนจะต้องส่งโครงการมายังสำนักงานกองทุนแห่งนี้ ทางสำนักงานกองทุนจะพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและประสานงานเพื่อวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการทั้งด้านการลงทุนและวิชาการ และเสนอให้คณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมในการพิจารณาต่อไป

กองทุนสิ่งแวดล้อมนับได้ว่าเป็นแรงจูงใจระดับหนึ่งเพื่อสนับสนุนให้เอกชนสนใจที่จะมากู้เพื่อการจัดการของเสียจากอุตสาหกรรม แต่ปัญหาที่หลายฝ่ายติงไว้ก็คือ วิธีการบริหารกองทุนที่ตั้งขึ้นจากหลักการที่สวยหรู แต่ในทางปฏิบัติทำให้การกู้ยืมติดขัดและยุ่งยากตามแบบระบบราชการไทยที่เอกชนอาจจะทนไม่ได้และเบื่อหน่ายไปเสียก่อน

ขณะเดียวกันจำนวนเม็ดเงินของกองทุนสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ มิใช่พูดกันแต่เพียงว่าการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข และทางรัฐก็ได้ตั้งกองทุน เพื่อการนี้แล้วแต่ว่ากองทุนมีเงินเพียงไม่กี่ร้อยล้านในการให้กู้ยืมเท่านั้น

ในเรื่องเม็ดเงินที่จะมาสู่กองทุนจะมากหรือน้อยขึ้นกับนายกรัฐมนตรีในแต่ละยุคสมัยที่จะให้ความสำคัญในประเด็นสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เพราะเงินก้อนใหญ่จำนวนหนึ่งของกองทุนมาจากการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจในการอนุมัติโอนเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ระหว่างนี้อุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็กที่มีโครงการเกี่ยวกับการสร้างระบบกำจัดมลพิษคงจะต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และต้องอดใจรอไปอีกซักระยะหนึ่งเพื่อให้ระบบต่าง ๆ เข้ารูปเข้ารอย

การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นเป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งของกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ โดยจังหวัดจะมีหน้าที่ในการจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตามความรุนแรงของปัญหาในจังหวัดนั้น ๆ เช่นการจัดการ คุณภาพอากาศ น้ำ การควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

การประสานงานในเรื่องแผนการปฏิบัติการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมระดับท้องถิ่นกับส่วนกลางจะมีสำนักงานสิ่งแวดล้อม 4 ภาค คือภาคตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้และภาคเหนือ เป็นหน่วยงานเชื่อมประสาน หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมจากส่วนกลางในการเข้าไปใกล้ชิดกับปัญหาระดับภาคนั่นเอง

ในส่วนการควบคุมมลพิษแต่เดิมมาสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป เช่น มาตรฐานคุณภาพน้ำในแม่น้ำลำคลอง คุณภาพน้ำบาดาล คุณภาพอากาศ เป็นต้น

กฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้กรมควบคุมมลพิษ มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมมลพิษแหล่งกำเนิดโดยเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมมลพิษที่มีปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธาน และเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาต ิ เพื่อเป็นประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในการบังคับใช้ต่อไป นอกเหนือจากการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมมาโดยทั่วไป

มาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ผ่านมามีกฎหมายและหน่วยงานดูแลอยู่เช่นการปล่อยน้ำเสีย หรืออากาศเสียของโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นผู้กำหนดมาตรฐานอยู่แล้วภายใต้พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512

หลายครั้งได้เกิดปัญหาขึ้นคือจะยึดมาตรฐานการควบคุมมลพิษของกระทรวงอุตสาหกรรมหรือว่ามาตรฐานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ที่เสนอโดย สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ว่าถ้าหากมาตรฐานเดิมที่กำหนดไว้ต่ำกว่า มาตรฐานที่เสนอโดยกรมควบคุมมลพิษให้หน่วยงานที่ดูแลอยู่แก้ไขมาตรฐานนั้น ตามมาตรฐานใหม่แต่ถ้ามาตรฐานเดิมสูงกว่าก็ให้ยึดมาตรฐานเดิม

ขณะเดียวกันกรมควบคุมมลพิษก็จะต้องกำหนดมาตรฐานมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ไม่มีหน่วยงานใด ๆ ดูแลอยู่ด้วย

นิศากร โฆสิตรัตน์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพน้ำกรมควบคุมมลพิษยกตัวอย่างในประเด็นนี้ว่า

"มีคนพูดกันมากเรื่องน้ำเสียจากสนามกอล์ฟที่ก่อให้เกิดปัญหาสนามกอล์ฟไม่ต้องผ่านการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกกันว่า EIA กฎหมายใหม่เราจะควบคุมน้ำทิ้งจากสนามกอล์ฟได้"

แต่อย่างไรก็ตามในการออกมาตรฐานมลพิษจากแหล่งกำเนิด นอกจากจะพิจารณาหลักวิชาการด้านวิชาการสิ่งแวดล้อมแล้ว ความเหมาะสมในการออกมาตรฐานที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติของธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน

กรมควบคุมมลพิษได้นำแนวคิด PRIVATE CONTROLS PRIVATE มาใช้ในการควบคุมระบบกำจัดมลพิษของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่างๆ คือแทนที่จะไปตรวจระบบที่ควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมตามโรงงานอุตสาหกรรมโดยตรงซึ่งเป็นงานที่ซ้ำซ้อนกับทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ทางกรมจะควบคุมบริษัทที่รับกำจัดของเสียของโรงงาน หรือธุรกิจแห่งนั้นแทนโดยกำหนดให้บุคคล หรือนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่ทางกรมกำหนดมาจดทะเบียนขออนุญาตทำการขจัดมลพิษ และถ้าหากมีการทำผิดกฎระเบียบในเรื่องการปล่อยของเสียไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางกรมจะถอนทะเบียนอนุญาตของบริษัทนั้น ๆ

"การไปควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม หรือธุรกิจหรือหน่วยงานที่ต้องมีระบบบำบัดของเสีย ก็เหมือนโปลิศจับขโมยเมื่อเราไปควบคุมก็มีคนอยากหนีเราจึงใช้วิธีควบคุมโดยบุคคลที่สาม (THIRD PARTY) เหมือนกับการสร้างอาคารอนุญาตให้ทำไปก่อนได้แต่ต้องมีบริษัทสถาปนิกมาการันตี ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นจะต้องถูกถอนใบอนุญาต" ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพน้ำให้ความเห็นถึงวิธีการควบคุมมลพิษอีกวิธีหนึ่ง

สำหรับการกำหนดอัตราค่าบริการขอองระบบบำบัดน้ำเสียรวมหรือระบบบำบัดน้ำเสียรวมของแต่ละชุมชนที่รัฐเป็นผู้สร้างตามหลักการ PPP ทางกรมควบคุมมลพิษจะเป็นผู้กำหนดอัตราค่าบริการเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมมลพิษ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

การกำหนดเช่นนี้ เพื่อจะได้ไม่ทำให้นักการเมือง ที่ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งมาทำหน้าที่ฝ่ายบริหารลำบากใจในการเก็บอัตราค่าบริการกำจัดของเสีย เพราะเกรงว่าจะเสียคะแนนนิยมจากประชาชน

สำหรับกรมส่งแสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่ในแง่ของการประชาสัมพันธ์รณรงค์ ในเรื่องสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการประสานงานกับหน่วยงานรัฐและเอกชน

การประกาศใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ที่เพิ่มอำนาจหน้าที่และเพิ่มหน่วยงานที่รับผิดชอบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นนิมิตรหมายอันดี ข้อจำกัดในการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (วล.) ในอดีต ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่นักทำได้แต่เพียงการเสนอแนะแนวทางเท่านั้น จนกระทั่งใครต่อใครพากันกล่าวว่า วล. เป็นเพียงเสือกระดาษ

ปัจจุบันประชาชน เริ่มตระหนักถึงคำว่าคุณภาพชีวิตที่ดีกันมากขึ้น ขณะเดียวกันช่องว่างและข้อจำกัดของหน่วยงานรัฐเริ่มถูกปรับปรุงแก้ไขภายใต้กรอบการควบคุมดูแลอันใหม่ที่เข้มข้นขึ้น มีบทบาทและอำนาจมากขึ้นกว่าเดิม

บทบาทที่มีอยู่น้อยมากในระยะที่ผ่านมาของ วล. กับบทบาท ณ วันนี้ที่ทั้งสามหน่วยงาน กำลังตื่นตัวกับความรับผิดชอบใหม่คงจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการพิสูจน์ศักยภาพขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐในเมืองไทย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us