Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2535
"ไพโรจน์ รัตตกุล 'ปรับตัว' รับคู่ท้าชิง"             
 


   
search resources

โคคา โคลา (ประเทศไทย), บจก.
เสริมสุข, บมจ.
ไพโรจน์ รัตตกุล
Food and Beverage




หากเอ่ยถึง "คู่กัด" ในสมาคมธุรกิจแล้ว คู่กัดที่เป็นมหาอมตะนิรันตร์กาลคู่หนึ่งน่าจะได้แก่คู่ของโค้กกับเป๊ปซี่ที่ทุกแห่งในโลก ทั้งค่ายโคคาโคล่า และค่ายเป๊ปซี่-โคล่าต่างก็งัดกลยุทธ์ทางการตลาดมาต่อกรกันอย่างดุเดือด

สำหรับเมืองไทยนั้นคู่กัดระหว่างค่ายน้ำดำทั้งสอง ก็ดุเดือดไม่แพ้ที่ไหนในโลก ในการเผชิญหน้ากัน ระหว่างค่าย "ไทยน้ำทิพย์" ในฐานะตัวแทนจำหน่ายโค้กกับ "เสริมสุข" ตัวแทนจำหน่ายเป๊ปซี่ในไทย

สงครามค่ายทั้งสองมีทั้งการดึงศิลปิน นักกีฬามาเผชิญหน้ากันในฐานะ PRESENTER ของแต่ละค่าย

แต่ในตลาดน้ำดำนั้น มีพื้นที่หนึ่งที่ต่างจากพื้นที่อื่นนั่นคือภาคใต้ !!

เพราะบังเอิญตัวแทนน้ำดำของโคคา-โคล่า อินเตอร์เนชั่นแนลในภาคใต้นั้นได้แก่ "หาดทิพย์" ไม่ใช่ "ไทยน้ำทิพย์" อย่างภาคอื่น ๆ

ตำนานของหาดทิพย์นั้นเริ่มจากการเข้าไปเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำดื่มของค่ายโคคา-โคล่าแห่งสหรัฐอเมริกาของหลวงศุภชลาศรัยในนามบริษัท "นครทิพย์" แต่จากการที่มีปัญหาบางประการ กลุ่มผู้ถือหุ้นปัจจุบันจึงได้มีการรวบรวมทุนตั้งเป็นบริษัท "ไทยธนา" เข้าไปบริหารในปี 2517 และซื้อกิจการของนครทิพย์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท "หาดทิพย์" ขึ้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2521 จนกระทั่งปัจจุบัน และเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นบริษัทภูมิภาคบริษัทต้น ๆ

หาดทิพย์เปลี่ยนผู้บริหารมาหลายคนจนปัจจุบันผู้บริหารสูงสุดคือ ร.ต. ไพโรจน์ รัตตกุล น้องชายพิชัย รัตตกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมผู้จัดการ

ร.ต. ไพโรจน์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าตลาดของน้ำดื่มในภาคใต้นั้น เป็นตลาดที่เล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ เพราะภาคใต้ มีประชากรเพียงแค่ 6 ล้านคนโดยประมาณ ในขณะที่ภาคอีสาน มีประชากรนับสิบล้าน จึงเป็นตลาดที่ใหญ่มาก

การทำตลาดของหาดทิพย์ ในฐานะที่เป็นตัวแทนที่แปลกแยกของโคคา-โคล่าอินเตอร์ จึงไม่ได้เป็นเช่นเดียวกับไทยน้ำทิพย์ รายการพรีเมียมต่าง ๆ ของไทยน้ำทิพย์มีข้อผูกมัดตามสัญญากับโคคา-โคล่าอินเตอร์เนชั่นแนลตั้งหาดทิพย์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มของบริษัทยกเว้นการนำเข้าของหาดทิพย์ เช่นกรณีโค้กแคน ที่หาดทิพย์ไม่มีการผลิตเองเพราะตลาดแคบเกินที่จะลงทุนในสินค้าตัวดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแม้จะไม่ได้รับสิทธิ์สำหรับดื่มแต่ค่ายหาดทิพย์ ได้รับประโยชน์ในเรื่องการประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาของไทยน้ำทิพย์เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่เครือข่ายของทีวีแต่ละช่องครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น

ตลาดเล็ก ๆ แห่งนี้ในสายตาของเสริมสุขเอเย่นต์ค่ายเป๊ปซี่ไม่ใช่ตลาดเล็กอีกต่อไปแล้ว !!

วันนี้ เสริมสุขจึงเตรียมบุกตลาดภาคใต้ครั้งใหญ่

สำหรับที่ผ่าน ๆ มานั้นไม่ว่าจะด้วยการมองตรงกับไพโรจน์ ที่ว่าตลาดภาคใต้เป็นตลาดที่เล็กหรือไม่ก็ตาม แต่ตลาดนี้ นับเป็นจุดบอดมาโดยตลอดของเสริมสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายการเป็นแขนขาในการกระจายสินค้า เพราะตลาดที่มีผู้ดื่มเพียง 6 ล้านคนนั้น เสริมสุขเองก็รู้ว่าไม่คุ้มที่จะลงทุนตั้งโรงงานอย่างหาดทิพย์ที่มีโรงงานอยู่ที่หาดใหญ่

ปัญหาของเสริมสุขมีเพียงว่า จะหาใครที่มีเครือข่าย และแขนขาไม่ด้อยกว่าเครือข่ายของหาดทิพย์ ที่ตั้งหลักปักฐานในภาคใต้มานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำโฆษณาที่ว่าหาดทิพย์เป็นบริษัทของคนใต้สร้างความสำเร็จให้กับหาดทิพย์มานาน กระทั่งกล่าวกันว่าภาคใต้เป็นภาคเดียว ที่น้ำดื่มโค้กขายสูงกว่าเป๊ปซี่

มองไปมองมา เสริมสุขก็ตกลงใจเลือกบ้านซูซูกิ ว่าเหมาะสมที่จะเป็นเอเย่นต์ของตนใน 14 จังหวัดภาคใต้

"บ้านซูซูกิ" ของตระกูล "ลาภาโรจน์กิจ" ที่มีบุญเลิศ ลาภาโรจน์กิจ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา 2 สมัยเป็นหัวเรือใหญ่ในภาคใต้นั้น ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใคร เพราะในฐานะตัวแทนจักรยานยนต์ "ซูซูกิ" ใน 14 จังหวัดภาคใต้ (จนกระทั่งนำมาใช้เป็นชื่อบริษัท) นั้น แขนขาเครือข่ายที่มีดีลเลอร์เกือบ 100 แห่งที่กำลังขยายฐานออกไปเป็นดีลเลอร์สินค้าอื่น เช่นรถยนต์โตโยต้าคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็ม เครื่องไฟฟ้าซันโย วิทยุติดตามตัวฮัทชิสันทำให้บ้านซูซูกิในวันนี้เริ่มมั่นใจศักยภาพของตัวเองมากขึ้น ว่าจะสามารถทำตลาดได้ในการรับเป็นตัวแทนเป๊ปซี่ได้

อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้จัดการฝ่ายการตลาดเป๊ปซี่อินเตอร์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าการทาบทามเพื่อตั้งกลุ่มบ้านซูซูกิ ให้เป็นเอเย่นต์นั้นมีการเตรียมมานานแล้วแต่รายละเอียดคงต้องให้ทางบ้านซูซูกิเป็นผู้เปิดเผย

แหล่งข่าวในบ้านซูซูกิกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าการตั้งบริษัทเอเย่นต์ของเสริมสุขในครั้งนี้ ไม่สร้างความหนักใจกับบริษัทนัก และเชื่อว่าบริษัทที่จะให้ สุปัญญา ลาภาโรจน์กิจน้องชายของบุญเลิศเป็นผู้ดูแลงานนี้คงจะทำตลาดได้

เมื่อเสริมสุขรุก มีหรือที่หาดทิพย์จะรับเพียงฝ่ายเดียว !!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนชื่อไพโรจน์ รัตตกุล บิ๊กบอสส์ใหญ่ของหาดทิพย์เองไม่มีทางที่จะเป็นฝ่ายตั้งรับให้คนอื่นมาบุกถึงถิ่น

หลายคนจึงค่อนข้างแปลกใจที่เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ไพโรจน์ตอบรับปากที่รับตำแหน่งประธานสมาพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา ที่เจ้าตัวปฏิเสธมาหลายครั้งแล้วโดยอ้างว่าตนต้องการที่จะอยู่ "หลังฉาก" มากกว่าที่จะออกมา "หน้าฉาก"

"ผมยินดีที่จะรับตำแหน่งเพราะไม่สามารถที่จะปฏิเสธการขอจากผู้ใหญ่ได้โดยเฉพาะผู้ใหญ่จากกองทัพ ที่ต้องการเห็นการท่องเที่ยวหาดใหญ่ฟื้นจากสภาพตกต่ำ" ไพโรจน์กล่าววันรับตำแหน่ง

สำหรับการตั้งสมาพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดสงขลานี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของ 6 องค์กรภาคเอกชนในจังหวัดสงขลา คือ หอการค้าจังหวัดสงขลา สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา สมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพจังหวัดสงขลา ชมรมภัตตาคารและร้าน อาหารหาดใหญ่ และชมรมผู้ค้าปลีกหาดใหญ่ ร่วมกับหน่วยงานราชการคือ กองทัพภาค 4 (ค่ายคอหงส์-หาดใหญ่) สถานีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และอำเภอหาดใหญ่เมื่อปลายปีก่อน และลงมติที่จะให้ไพโรจน์รับตำแหน่งเพราะเชื่อมั่นใน "พลัง" ที่เขามีกับ "ผู้ใหญ่"

นักธุรกิจในหาดใหญ่คนหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าการรับตำแหน่งของไพโรจน์ครั้งนี้ก็เพื่อหาดทิพย์ กล่าวคือถึงเวลาแล้วที่กรรมการผู้จัดการหาดทิพย์จะต้องออกโรงมาอุทิศตนเพื่อสังคมบ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมที่โรงงานตั้งอยู่อย่างสงขลา

จะว่าไปแล้ว ไพโรจน์ไม่ใช่คนที่ไม่เคยทำอะไรเพื่อสังคมเพราะอย่างน้อยตำแหน่งนายกสมาคมมวยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในสมัยกีฬาโอลิมปิคที่สหรัฐอเมริกานั้น ไพโรจน์เคยทำให้ไทยได้รับเหรียญเงินกีฬาโอลิมปิคมาแล้ว

แต่คราวนั้นความคิดของนักธุรกิจหาดใหญ่มองว่าไพโรจน์ ยังไม่ได้ทำเพื่อหาดใหญ่ตรงกันข้าม คราวนี้เป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุดเพราะหาดใหญ่กำลังวิกฤติจริง ๆ อันเนื่องมาจากสถานการณ์การท่องเที่ยวตกต่ำเพราะหลายปัจจัย

การขอให้ไพโรจน์รับตำแหน่งประธานสมาพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา จึงทำให้ไพโรจน์ต้องคิดหนักและในครั้งแรกเจ้าตัวเองต้องปฏิเสธ เนื่องจากยังไม่ต้องการที่จะทุ่มเวลาให้กับงานสังคม เพราะเป็นที่รู้กันว่าท่องเที่ยวหาดใหญ่นั้นเป็นทุกลมหายใจของเศรษฐกิจทีเดียว

แต่ถึงวันนี้ไพโรจน์ต้องยอมรับตำแหน่งแล้ว

ด้วยเหตุผลอรรถาธิบายได้สั้น ๆ ว่า "ธุรกิจ" อันเนื่องมาจากการรุกตลาดของเสริมสุขที่ตั้งกลุ่มบ้านซูซูกิเป็นเอเย่นต์มาแข่งขันนั่นเอง

หมากนี้ของไพโรจน์ จึงไม่ใช่หมากธรรมดาเพราะเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

และยังไม่รู้ว่าการลงทุน "เปลืองตัว" ของไพโรจน์ครั้งนี้จะคุ้มหรือไม่เพราะตอนนี้ เขากำลังจะเสียมิตรทางธุรกิจไปกลุ่มหนึ่งแล้ว นั่นคือกลุ่มแม่บ้านซูซูกิ ด้วยการที่หอการค้าจังหวัดสงขลา ซึ่งรู้ ๆ กันว่าเป็นทีมงานของบ้านซูซูกิเกือบทั้งสิ้นได้ปฏิเสธที่จะร่วมงานกับสมาพันธ์ไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยเหตุผลว่า หอการค้าฯ เป็นองค์กรนิติบุคคล ไม่สามารถร่วมงานกับองค์กรที่ไม่ใช่นิติบุคคลได้

หากแต่ลึก ๆ รู้กันว่าบ้านซูซูกิ "เปิดศึก" กับ "หาดทิพย์" แล้ว

เลยต้องรอลุ้นกันว่างานนี้ใครจะชนะ "ศึกน้ำดำ" ระหว่างบ้านซูซูกิกับหาดทิพย์ หรือระหว่างหอการค้าจังหวัดสงขลากับสมาพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดสงขลาที่เพิ่งตั้งและมีไพโรจน์ เป็นหัวเรือหลัก

และบางทีหมากที่ไม่ธรรมดานี้ ไพโรจน์จะเปลืองตัวฟรีก็เป็นได้ !!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us