|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
- สงคราม 3G ปะทุ ยักษ์ใหญ่วงการเครื่องใช้ไฟฟ้าเฮ
- รอแจ้งเกิดเทคโนโลยีแห่งการควบรวม ทั้งคอนเวอร์เจนซ์, ยูบิควิตัส และโฮมเน็ตเวิร์กกิ้ง
- หวังสร้างแบรนด์ลอยัลตี้ เพิ่มเฮาส์โฮลด์แชร์ กินรวบตลาด ปิดทางคู่แข่ง
- ใครตกขบวนมีหวังเจ็บไปถึงเจ๊ง
ข่าวคราวการแข่งขันในสมรภูมิรบของบรรดาค่ายโทรศัพท์มือถือที่พยายามก้าวสู่โลกแห่งเทคโนโลยี 3G ที่เริ่มจากการจับคู่พันธมิตรระหว่าง ดีแทค กับ กสท จากนั้นก็มีความร่วมมือระหว่าง เอไอเอส กับ ทศท เพื่อให้บริการ 3G มิใช่เพียงแต่วงการสื่อสารโทรคมนาคมเท่านั้นที่จับตามความเคลื่อนไหวดังกล่าว
หากยังมีบรรดายักษ์ใหญ่ในวงการตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่รอความหวังให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคของ 3G เนื่องจาก 3G เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเกิดฟังก์ชั่นการใช้งานใหม่ๆในการเชื่อมต่อสื่อสารสั่งการระหว่างสินค้าประเภทต่างๆโดยมีอินเทอร์เน็ตบอร์ดแบน และการสื่อสารแบบ 3G เป็นตัวเชื่อมหลัก นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระบบไอที เน็ตเวิร์ค บลูธูท ซึ่งได้เกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อนหน้านี้ ยกเว้น 3G ที่กำลังเกิดขึ้นและจะมาเติมเต็มโลกแห่งการเชื่อมต่อของวงการเครื่องใช้ไฟฟ้า
ความสำคัญของการเชื่อมต่อนอกจากจะทำให้สินค้ามีฟังก์ชั่นการใช้งานที่แตกต่างจากคู่แข่งแล้ว ยังมีความสำคัญในการสร้างแบรนด์ลอยัลตี้ให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภค เนื่องจากการเชื่อมต่อส่วนใหญ่ต้องอาศัยเทคโนโลยีบนพื้นฐานเดียวกัน ดังนั้นการเชื่อมต่อระหว่างสินค้าต่างแบรนด์จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย ถ้าหากผู้บริโภคต้องการการเชื่อมต่อเทคโนโลยี จำเป็นจะต้องใช้แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง ซึ่งเท่ากับว่าจะทำให้ธุรกิจมีเฮาส์โฮลด์แชร์เพิ่มขึ้น และยังทำให้เกิดยอดขายแบบโซลูชั่น คือลูกค้าจะซื้อเป็นเซ็ตมากขึ้น เท่ากับเป็นการบล็อกคู่แข่งไปในตัว ดังนั้นใครไม่มีเทคโนโลยีในการเชื่อมต่อก็จะเสียเปรียบ
3G เติมเต็ม จิ๊กซอว์ คอนเวอร์เจนซ์ ซัมซุง
Let’s CONVWERGE…Grow Business Together เป็นหัวข้อที่ซัมซุงใช้ในงานแถลงข่าวทิศทางการทำการตลาดของบริษัทในปีนี้ โดยหยิบยกเรื่องของโลกแห่งการเชื่อมต่อเทคโนโลยีที่ซัมซุงใช้คำว่า Digital Convergence ซึ่งซัมซุงได้พูดมานับตั้งแต่ปี 2545 ทว่าประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมโดยเฉพาะเรื่องของ 3G แต่หลังจากข่าวคราวการทดลองระบบ 3G ได้เกิดขึ้นในเมืองไทย ซัมซุงจึงเห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับการสร้างตลาดดิจิตอลคอนเวอร์เจนซ์ ทว่ายังต้องอาศัยเวลาในการทำให้ผู้บริโภคเห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับแม้จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป
“ในอดีต สินค้าต่างคนต่างอยู่ ไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ สินค้ามีแต่ฟังก์ชั่นการใช้งานหลัก ทว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เน็ตเวิร์ค ระบบคอมพิวเตอร์ได้พัฒนาจนสินค้าสามารถใช้งานเชื่อมต่อกันได้ ปี 2008 สิ่งเหล่านี้จะเป็นจริง เพราะทุกอย่างพร้อมแล้ว” อาณัติ จ่างตระกูล รองกรรมการผู้จัดการ ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ กล่าว
เทคโนโลยีในการเชื่อมต่อของซัมซุงสามารถสร้างตลาดได้ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดย Home Intelligence Solution เป็นการเชื่อมต่อการใช้งานของเทคโนโลยีในบ้าน ซึ่งจะมีเริ่มตั้งแต่ประตูบ้าน กล้องวงจรปิดที่รั้วบ้านที่ประตู กระดิ่ง การเปิดปิดไฟ เปิดปิดม่าน วาวน้ำ วาวแก๊ซ สัญญาณกันขโมยเตือนเมื่อมีคนร้ายปีนเข้าบ้าน สัญญาณจะส่งตรงถึงสถานีตำรวจ หรือเจ้าของบ้านสามารถ log in จากข้างนอกเพื่อตรวจดูกล้องวงจรปิดในบ้านว่ามีคนบุกรุกหรือไม่ หรือเด็กในบ้านอยู่กันอย่างไร ปลอดภัยแค่ไหน
ตู้เย็นที่มีระบบเซ็นเซอร์สามารถรับรู้ข้อมูลการนำอาหารเข้าออกจากตู้เย็นโดยใช้เทคโนโลยี RFID เวลาเอาของใส่ ตู้เย็นก็จะบันทึกว่ามีอะไรในตู้เย็น เวลาเอาของออกจากตู้เย็นก็จะบันทึกลงเซิร์ฟเวอร์ เมื่อไปชอปปิ้งก็สามารถโหลดข้อมูลใส่โทรศัพท์มือถือหรือพีดีเอ เครื่องก็จะโชว์ขึ้นมาว่าต้องซื้อสินค้าอะไรเท่าไร โดยผู้บริโภคไม่ต้องกลับมาเช็กของในตู้เย็น การสั่งการต่างๆสามารถทำได้จากนอกบ้าน
อาหารที่นำเข้าไมโครเวฟจะมีบาร์โค้ดทำให้เครื่องสามารถคำนวณได้ว่าจะต้องให้ความร้อนอย่างไรกับอาหารประเภทนั้นๆ จะอุ่นหรือจะทำให้เกรียม ถ้าเป็นอาหารแช่แข็งจะทำอย่างไร เครื่องอบไมโครเวฟจะคำนวณเสร็จสรรพ
นอกจากนี้ ดิจิตอล คอนเวอร์เจนซ์ ยังสามารถใช้ในภาคธุรกิจเช่น Integrate Hotel Solution ที่ตอบสนองความต้องการของแขกที่มาพัก โดยลูกค้าที่เช็กอินจะได้การ์ดพิเศษที่ซัมซุงเรียกว่า One Card ซึ่งระบุตัวตนของลูกค้าเมื่อมาถึงประตู เครื่องจะส่งสัญญาณกับการ์ดดังกล่าว พร้อมสแกนหน้าตาลูกค้าว่าใช่ตัวจริงหรือไม่ ถ้าใช่ประตูก็จะเปิด จากนั้นระบบจะดำเนินการต้อนรับลูกค้าต่อ โดยจะปรากฏบนจอทีวีในห้อง มีชื่อลูกค้า พร้อมเมนูให้ลูกค้าเลือกว่าจะดูหนัง ฟังเพลง ดูพยากรณ์อากาศ ดูสภาพการจราจรเพื่อบริหารเส้นทางในการไปทำธุระ หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในเมืองนั้นๆ
รวมถึงการสื่อสารผ่านบลูธูทโดยรูปถ่ายของลูกค้าในกล้องหรือโทรศัพท์มือถือสามารถโหลดขึ้นบนจอทีวี กรอบรูปดิจิตอลในห้อง ตลอดจนการส่งข้อมูลเหล่านั้นผ่านทางอีเมล์ และเมื่อลูกค้าเช็กเอาต์ ข้อมูลก็จะส่งผ่านไปสู่แม่บ้านให้มาทำความสะอาดห้องดังกล่าว นอกจากนี้ระบบยังคำนวณค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นค่าห้อง หรือค่าอาหารในมินิบาร์ที่ลูกค้านำมาบริโภค
นอกจากคอนโดมิเนียมแล้ว ยังมีอาคารสำนักงาน ที่สามารถใช้เทคโนโลยีคอนเวอร์เจนซ์ในการเชื่อมต่อการใช้งานให้กับผู้ที่มาใช้บริการในอาคารดังกล่าว
พานาฯรอ 3G ผุด Ubiquitous
ในขณะที่พานาโซนิคพยายามสร้างคอนเซ็ปต์ของ Ubiquitous ก่อนที่ประเทศไทยจะมี 3G เพื่อสร้างยอดขายแบบโซลูชั่น และสร้างแบรนด์ลอยัลตี้ให้กับลูกค้า ด้วยการใช้เอสดีการ์ดในการเชื่อมต่อสินค้าประเภทต่างๆของพานาโซนิค แต่ยังไม่แรงพอเนื่องจากผู้บริโภคมีทางเลือกในการเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีรูปแบบอื่นๆ รวมถึงการออกรีโมตคอนโทรลที่สามารถควบคุมสินค้าหมวดภาพและเสียงของพานาโซนิคด้วยรีโมตตัวเดียวกัน ล่าสุดในปีที่ผ่านมาพานาโซนิคได้ลอนช์สินค้าที่เป็นจิ๊กซอว์ของ Ubiquitous อย่างจริงจังโดยมีไลน์อัพสินค้าใหม่เพิ่ม 2 กลุ่มคือ สินค้าที่เป็นระบบรักษาความปลอดภัย และอุปกรณ์บอกพิกัดสำหรับติดตั้งในรถยนต์
ทั้งนี้ Ubiquitous ที่พานาโซนิคพัฒนาในประเทศญี่ปุ่นจำแนกตามวัตถุประสงค์การใช้งานเช่นเพื่อความบันเทิง, เพื่อการสื่อสาร เช่นการพูดคุยระหว่างเพื่อนหรือครอบครัวบนจอทีวีผ่านระบบบอร์ดแบน, เพื่อระบบรักษาความปลอดภัย เช่นในระหว่างที่รับชมรายการต่างๆทางทีวีก็สามารถแบ่งหน้าจอเพื่อตรวจดูว่ามีใครบุกรุกเข้าบ้านหรือไม่ ซึ่งรวมถึงเวลาที่อยู่นอกบ้านก็สามารถเช็คข้อมูลได้จากในรถหรือเวลาที่มีคนร้ายปีนเข้าบ้านก็จะมีการส่งรูปคนร้ายไปยังเจ้าของบ้านทันทีโดยผ่านโทรศัพท์มือถือหรือจอแสดงผลในรถ นอกจากนี้ Ubiquitous ยังมีประโยชน์อื่นๆอีกเช่นเวลาเดินทางกลับบ้านก็สั่งการผ่านมือถือเพื่อเปิดเครื่องปรับอากาศ พอมาถึงบ้านก็จะมีอากาศเย็นพอดี หรือการตรวจเช็ครายการต่างๆในตู้เย็นว่ามีอะไรหมดหรือไม่เพื่อที่จะได้แวะซื้อก่อนกลับบ้าน และยังมีระบบขับเคลื่อนรถยนต์อัตโนมัติที่อาศัยระบบ GPS เพียงระบุว่าจะเดินทางไปที่ไหนรถก็จะขับเคลื่อนไปตามเส้นทางอีกทั้งยังมีข้อมูลร้านอาหารหรือสถานที่สำคัญเพื่อให้การสั่งการทำได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
สำหรับตลาดเมืองไทยสินค้าระบบรักษาความปลอดภัยถือเป็นไลน์อัพใหม่ที่พานาโซนิคตั้งความหวังเอาไว้มากโดยกลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นลูกค้าโครงการเสียส่วนใหญ่ แต่กระนั้นก็ยังมีสินค้าบางรุ่นที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคบ้านเช่น Wireless Video Intercom System หรือชุดกริ่งประตูแบบมีจอทำให้ผู้ที่อยู่ในบ้านสามารถมองเห็นว่ามีใครมากและสนทนาโดยไม่ต้องเปิดประตูได้รวมถึงมีชุดหน้าจอแบบไร้สายทำให้สามารถพกพาได้ทุกจุดในบ้านถือเป็นการใช้งานภายใต้คอนเซ็ปต์ Any Time Any Where ซึ่งเป็นหลักการของ Ubiquitous ในส่วนของ Navigation System หรือระบบบอกพิกัดในรถยนต์ จะมีการบันทึกชื่อถนนและสถานที่สำคัญโดยมีเสียงเตือนระยะทางเพื่อความปลอดภัย ตลอดจนระบบคำนวณเส้นทางที่ประหยัดเวลาที่สุด
“พานาโซนิคอยากจะนำโทรศัพท์มือถือ 3G เข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังเพื่อรองรับ Ubiquitous แต่วันนี้ประเทศไทยยังใช้ระบบ 2.5 G การนำสินค้าที่มีเทคโนโลยีไม่สูงเข้ามาทำตลาดย่อมแข่งขันกับคู่แข่งได้ยาก สินค้าอื่นๆก็เช่นกัน เราจะเน้นสินค้าไฮเทคโนโลยีเข้ามาทำตลาดก่อน จากนั้นค่อยแนะนำไลน์อัพรุ่นต่ำเข้าสู่ตลาดในภายหลัง เช่น Tough Book หรือ Note Book ที่ทนต่อแรงกระแทรกและกันน้ำได้ซึ่งยังไม่มีใครนำเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย” ไดโซ อิโตะ ประธานกลุ่มพานาโซนิคในประเทศไทย กล่าวก่อนที่ประเทศไทยจะเริ่มมีการทดลองใช้ระบบ 3G
ดังนั้นเชื่อว่าหลังจากนี้ พานาโซนิค คงจะมีการเตรียมแผนสำหรับการรุกตลาดโทรศัพท์มือถือในระบบ 3G อีกครั้งเพื่อกรุยทางไปสู่โลกแห่งยูบิควิตัสที่รอคอยมานาน เพราะเป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้พานาโซนิคสามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าได้อย่างสมบูรณ์แบบทุกผลิตภัณฑ์
นอกจากซัมซุงและพานาโซนิคแล้วยังมีอีกหลายค่ายที่พัฒนาเทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อเช่น แอลจี ที่ใช้คอนเซ็ปต์ว่า Home Networking โดยผู้บริโภคสามารถสั่งงานเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนผ่านโทรศัพท์มือถือระบบ 3G และอินเทอร์เน็ต เช่น การเปิดปิดไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น โดยสามารถสั่งการได้จากนอกบ้าน ถ้าเป็นเครื่องปรับอากาศก็สั่งก่อนจะกลับมาถึงบ้าน เมื่อมาถึงก็จะได้สัมผัสกับอากาศเย็นสบายพอดี สำหรับตู้เย็นยังสามารถเช็กของที่อยู่ในตู้เย็น พร้อมด้วยระบบสั่งซื้อที่ส่งตรงไปยังร้านค้าให้ส่งสินค้ามาที่บ้าน
ในขณะที่โซนี่มีความเสียเปรียบคู่แข่งตรงที่ไม่มีผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ทำให้ไม่สามารถตอบสนองผู้บริโภคได้เต็มความต้องการในชีวิตประจำวัน ดังนั้นโซนี่จึงต้องสร้างโซลูชั่นความบันเทิงให้เหนือคู่แข่ง โดย HD World คือกุญแจสำคัญในการเชื่อมต่อผลิตภัณฑ์หมวดภาพและเสียงของโซนี่เพื่อเพิ่มความคมชัดและอรรถรสในการรับชมความบันเทิงของผู้บริโภค โดยมี Full HD TV, กล้องดิจิตอล, กล้องวิดีโอ, เครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่น 3 และเครื่องเล่นบลูเรย์ดิสก์ ที่สามารถเชื่อมต่อกันและให้สัญญาณภาพที่คมชัดในระดับ Full HD
สงครามโซลูชั่นปฐมบทก่อนยุค 3G
อย่างไรก็ดีก่อนที่ประเทศไทยจะมีการพัฒนาเทคโนโลยี 3G หลายๆค่ายต่างพยายามนำคอนเซ็ปต์ในการเชื่อมต่อมาพัฒนาเป็นแคมเปญการตลาดต่างๆเพื่อเพิ่มเฮาส์โฮลด์แชร์ และสร้างแบรนด์ลอยัลตี้ให้กับผู้บริโภค เช่นแคมเปญ 11 Days Special ของซัมซุงที่ขนสินค้า 4 หมวดคือ หมวดภาพและเสียง หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน หมวดโทรศัพท์มือถือ หมวดไอที โดยมีการทำ Cross Promotion เพื่อจูงใจให้ลูกค้าซื้อสินค้าของซัมซุงมากขึ้น ซึ่งผลจากการจัดแคมเปญดังกล่าวมาเป็นเวลา 2 ปี ได้ส่งผลให้กลุ่มสินค้าที่เคยเป็นรองคู่แข่งอย่าง เครื่องซักผ้าฝาบนสามารถขึ้นเป็นผู้นำตลาดในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นการขยายฐานลูกค้าจากกลุ่มธุรกิจที่แข็งแกร่งอย่างเช่นทีวีไปสู่สินค้าอื่นๆด้วย
ไม่เว้นแม้แต่แบรนด์จีนอย่างไฮเออร์ที่พยายามเดินตามรอยซัมซุง จากสงครามราคาสู่การสร้างนวัตกรรมที่มีดีไซน์ ล่าสุดมีการทำแคมเปญขายเป็นเซ็ตในราคาพิเศษโดยแบ่งตามกลุ่มลูกค้าเช่น Best Family Set เป็นกลุ่มสินค้าสำหรับครอบครัว, Best Bundle Choices เป็นสินค้าสำหรับครอบครัวขนาดเล็ก, สำหรับ Best Buy และ Best Payment Programs เป็นสินค้าลดราคาพิเศษพร้อมด้วยโปรโมชั่นเงินผ่อน 0% ทว่าแคมเปญที่จูงใจให้ผู้บริโภคซื้อยกเซ็ตจะได้รับความนิยมน้อยลงหากสินค้าเหล่านั้นไม่สามารถเชื่อมโยงสื่อสารกันได้
อย่างไรก็ดีหลังจากประเทศไทยมีการใช้ระบบ 3G แพร่หลายกว่านี้ เชื่อว่าสงครามโซลูชั่นจะทวีความรุนแรงมากขึ้น แพกเกจขายคู่ ขายยกเซ็ต จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อกินรวบตลาด และบล็อกคู่แข่ง ส่วนใครที่มีไม่ครบ หรือไม่มีฟังก์ชั่นในการเชื่อมต่อ ก็จะตกขบวน กลายเป็นสินค้าโลว์เอนด์ไปในที่สุด อย่างไรก็ดี ธุรกิจเหล่านี้อาจเติมเต็มซึ่งกันและกันด้วยการเป็นพันธมิตรเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อซึ่งกันและกันระหว่างค่ายโทรศัพท์มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ต่างๆ
|
|
 |
|
|