กลยุทธ์ Synergy of Asean : Towards Dynamic Unity in Diversity ผนึกกำลังชาติอาเซียน : จากความแตกต่างสู่เอกภาพที่แข็งแกร่ง กลายเป็นแก่นแท้ของหัวใจงานประชุมรมต.ท่องเที่ยวภาคีอาเซียน ATF หรือ ASEAN Tourism Forum ซึ่งจัดขึ้นทุกปีโดยผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพไล่ตามลำดับอักษร ปีที่แล้วสิงคโปร์ ปีนี้ไทย และปีหน้าเวียดนาม
นอกจากรัฐมนตรีชาติสมาชิกมาตั้งโต๊ะพูดจาหาร่วมมือกันวิเคราะห์และพัฒนาท่องเที่ยว หากยังมีกิจกรรมหลายๆด้านทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาผสมโรงเพื่อร่วมเสนอขายสินค้าบริการด้านท่องเที่ยวจากทั่วโลก 56 ประเทศมากกว่า 630 ราย โรงแรม สายการบิน บริษัทนำเที่ยว ฯลฯ เป็นการพบกันระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อโดยตรง
จากตัวเลขสถิติปี 50ในกลุ่มอาเซียน- มาเลเซียมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศมากที่สุด ประมาณกว่า 17.5 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับ 2 ประมาณกว่า 13.8 ล้านคนโดยสิงคโปร์ตามมาห่างๆถึง 9.7 ล้านคน
ต้องยอมรับว่ามาเลเซียทุ่มเทบุกอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสูงมาก ทั้งๆที่มีศักยภาพในด้านแหล่งท่องเที่ยวสู้ประเทศไทยแทบไม่ได้โดยเฉพาะสินค้าธรรมชาติ
ว่ากันว่าปี 2550 มาเลเซียพยายามมุ่งมั่นดันแคมเปญ "Visit Malaysia Year" จนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยในปี 2551 เริ่มสร้างอีกแคมเปญ "Rasa Sayang" ฉลองการได้เอกราชครบรอบ 50 ปี มีความพยายามจะดึงพันธมิตรกลุ่มประเทศที่ได้เอกราชเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมาเลเซีย ตั้งเป้าหมายจะทำตลาดรวมต่างประเทศตลอดปีได้ 21.5 ล้านคน สร้างรายได้ 4.97 แสนล้านบาททีเดียว
เพราะผลพวง Visit Malaysia Year 2550-2551 การท่องเที่ยวมาเลเซียสามารถสร้างผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ให้มาเลเซีย คิดเป็น 7.1% ของจีดีพี จากปี 2549 ทำไว้ 6.1% คิดเป็น 3.89 แสนล้านบาท โดยเฉพาะลูกค้าหลักยังคงเป็นจีนที่เพิ่มขึ้น 71% อินเดีย เพิ่ม 57.3% สินค้าไฮไลต์ขายกีฬาและ การเดินทางท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ
สอดคล้องกับที่นักวิจัยจากสถาบันเศรษฐกิจแห่งชาติมาเลเซียระบุว่าเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 9 ปี 2549-2553 การท่องเที่ยวจะผลักดันการเติบโตภาคบริการ จะได้เปรียบจากการใช้ความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาบริหารจัดการสถานที่ท่องเที่ยวปี 2549 มีกลุ่มลงทะเบียน ทำหมู่บ้านโฮมสเตย์ 79 แห่ง 1,089 ครัวเรือน
เป็นที่น่าสังเกตจากกลยุทธ์ที่มาเลเซียนำมาใช้ด้วยการอัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้นแม้ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจะนำโด่งก็จริง แต่สิ่งที่ได้รับคือปริมาณนักท่องเที่ยวไม่ใช่ใครอื่นขาใหญ่สุดของมาเลเซียคือชาวสิงคโปร์โดยมีจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวเข้าประเทศทั้งหมด โดยจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวอิเหนาอินโดฯและไทยบ้าง
และเมื่อโฟกัสไปที่ตลาดหลักโดยสถิตินักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก ของประเทศไทยเหนือกว่าเยอะอย่าง 9 เดือนแรกของปี 50 นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเลือกไปเที่ยว
มาเลเซียเพียง 272,000 คน แต่มาประเทศไทยถึง 956,000 คน อังกฤษซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของประเทศไทยในยุโรปแต่ไปเที่ยวมาเลเซียเพียง 188,000 คนโดยมาเที่ยวไทย 615,000 คน ชาวออสเตรเลียก็เช่นกันเข้าประเทศไทยมากกว่ามาเลเซียถึงเท่าตัว
ปัจจุบันผู้ประกอบการจึงไม่ค่อยวิตกกังวัลสักเท่าไรเนื่องจากศักยภาพท่องเที่ยวในตลาดหลักของประเทศไทยยังคงนำอยู่หัวแถวในกลุ่มอาเซียน
ที่สำคัญผลจาก "องค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ" (United World Tourism Organization : UNWTO) พยากรณ์การท่องเที่ยว 2 ปีข้างหน้า พ.ศ.2553 "กลุ่มเอเชียตะวันออกและเอเชียแปซิฟิก" จะผงาดสู่อันดับ 2 ของโลก และมีนักเดินทางหมุนเวียน 195 ล้านคน/ปี โดยมีส่วนแบ่งตลาด 25.40% เป็นแรงกระตุ้นไทยและประเทศคู่แข่ง เร่งขยายการลงทุนรองรับทันที สร้างแผนแม่บทเชิงยุทธศาสตร์ด้วยกลยุทธ์มีสีสันต่างกันไป หวังปูพรมความสำเร็จข้างหน้า 5-10 ปี
ส่งผลให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คีย์แมนตัวสำคัญที่คอยผลักดันขยายตลาดและการขาย ตั้งเป้าใช้แคมเปญกึ่งแบรนด์ "อะเมซิ่ง ไทยแลนด์" ผนวกไฮไลต์สถานที่ท่องเที่ยว 7 สิ่งมหัศจรรย์ จับมือกับภาคเอกชนทุกสาขา ผลิตแพ็กเกจตลอดทั้งปีวางขายทั้งในและ ต่างประเทศหลายพันโปรแกรม หวังเพิ่มตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 51 เป็นชาวต่างประเทศ 15.5 ล้านคนหมายถึงรายได้ 6.8 แสนล้านบาทที่จะได้รับ
ขณะเดียวกันตลาดในประเทศหวังไว้ที่ 82 ล้านคนครั้งเป็นรายได้ 3.8 แสนล้านบาท นอกจากนั้นแผนกลยุทธ์ที่สำคัญจะถูกนำมาใช้เพื่อให้ไทยก้าวสู่ประเทศศูนย์กลางการท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทางด้านธรรมชาติและวัฒนธรรมให้สำเร็จ คือการรักษาฐานลูกค้ากลุ่มซ้ำ สหภาพยุโรป เอเชีย+แปซิฟิก และสร้างกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้น เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลาง รัสเซีย และนักท่องเที่ยวหรูหรา luxury travel จากทั่วโลก เติบโตเพิ่มอีกปีละ 1-3%
ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยเชื่อว่าในอนาคตที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือตลาดจีนที่กำลังถูกมาเลเซียไล่บี้อย่างหนักหน่วง หากย้อนไป 9 เดือนแรกของปี 49 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจีนถึง 747,000 คน ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 50 เหลือ 655,000 คนเท่านั้น ขณะที่มาเลเซียขยับจาก 286,000 ปี 49 พุ่งขึ้นมาเป็น 490,000 คนในปี 50 ดังนั้นททท.จึงต้องปรับแผนการตลาดหลายอย่างเพื่อพัฒนาตลาดนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
ประเทศเล็กๆอย่าง "สิงคโปร์" ยังคงเหนียวแน่นกับแบรนด์ Uniqely Singapore ที่ตั้งเป้าหวังผลระยะยาวปี 2558 เพื่อจะดึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้ได้สูงถึง 17 ล้านคน ขณะที่การท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourism Broad : STB) ยืนยันว่ามีสัญญาณที่ดีมาตั้งแต่ ปี 2547 จากนักท่องเที่ยว 8 ล้านคน ธันวาคม 2550 ฉลองนักท่องเที่ยวครบ 10 ล้านคน มั่นใจจะมีรายได้ 4.55 แสนล้านบาท
ปัจจุบันการท่องเที่ยวสิงคโปร์เติบโตเร็วมากส่งผลบวกโดยตรงต่อธุรกิจโรงแรม เห็นได้จากผลสำรวจตลอด 11 เดือนปีที่ผ่านมา ค่าห้องพักเฉลี่ย (average room rate : ARR) สูงขึ้น 29.8% ประมาณ 5,273 บาท/ห้อง/คืน สร้างรายได้ต่อห้องพัก (revenue per available room : RevPar) แตะ 3,871 บาท/ห้อง/คืน รายได้รวมห้องพักทั้งเกาะสิงคโปร์ 9 เดือนแรก มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท (854.4 ล้านเหรียญสิงคโปร์)
ตลอด 11 เดือนของปี 2550 สิงคโปร์มีลูกค้ารายใหญ่จากจีนถึง 1,015,887 คน เพิ่ม 6.3% อินเดีย 678,914 คน เพิ่ม 13.7% กิจกรรมที่สิงคโปร์เตรียมไว้ไม้เด็ดก็มีจะเป็นสถานที่จัดการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน กรังด์ปรีซ์ ครั้งที่ 1 กันยายนศกนี้ และการเปิดเมกะโปรเจ็กต์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ มารีน่า เบย์ แซนด์ ในปี 2553
สอดคล้องกับที่ ลิม เนียว เชน รองประธานและกรรมการบริหาร การท่องเที่ยวสิงคโปร์ บอกว่าในปี 2551 นี้ สิงคโปร์จะให้ความสำคัญกับเรื่องการดึงดูดนักท่องเที่ยวในส่วนรายได้เป็นหลัก แทนการให้ความสำคัญกับจำนวนนักท่องเที่ยว โดยจะใช้นโยบายพัฒนาการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าการท่องเที่ยว
ล่าสุดการท่องเที่ยวสิงคโปร์ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนด้านท่องเที่ยวรุกตลาดต่างประเทศจัดโรดโชว์ในประเทศไทยขึ้น สร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวเชิญชวนให้คนเดินทางไปร่วมสัมผัส
ด้าน"เวียดนาม" จัดเป็นประเทศที่มาแรงจากแคมเปญใหม่ที่เพิ่งจะเปิดตัว "Three Countries, One Destination" คือ 3 ประเทศ 1 จุดหมาย ผนวกจุดขายเที่ยวมรดกโลก 3 ประเทศ เวียดนาม-ลาว-กัมพูชา และ National Tourism Year in the Mekhong Delta ส่งเสริมการท่องเที่ยวสามเหลี่ยมลุ่มน้ำโขง เริ่มปี 2551 การปรับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเวียดนาม สามารถดึงดูดต่างชาติเข้าไปลงทุนภาคบริการ โรงแรม ปี 2550 ประมาณ 41 โปรเจ็กต์ มูลค่ากว่า 5.8 หมื่นล้านบาท (1,773 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งหากรวมการลงทุนช่วง 10 ปี ระหว่าง 2541-2550 เวียดนามจะมีถึง 229 โปรเจ็กต์ มูลค่ากว่า 2.03 แสนล้านบาท (6,084 ล้านเหรียญสหรัฐ) โรดแมป ด้านท่องเที่ยวจะเร่งพัฒนาการท่องเที่ยวแบบให้ชุมชนเป็นพื้นฐาน โดยรัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าปี 2553 จะเร่งทำรายได้ให้ถึง 1.33-1.5 แสนล้านบาท
ตลอดปี 2551 กุญแจเศรษฐกิจจากอุตฯท่องเที่ยวทั้ง 5 แคมเปญ จะทำให้ไทย+4ประเทศร้อนแรงสุดๆ ในตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันวันนี้หากสังเกตประเทศรอบข้าง แล้วย้อนกลับมาดูตัวเองก็ยังเห็นว่าโอกาสประเทศไทยที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของอาเซียนอยู่ไม่ไกลเลย
เพียงแต่ประเทศไทยยังมีการลงทุนด้านท่องเที่ยวน้อยมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่เหนือเราอย่างมาเลเซีย หรือไล่หลังเราอย่างสิงคโปร์ หากประเทศไทยฮึดลงทุนให้มากขึ้น-แชมป์อาเซียนก็แค่เอื้อม…แต่คงต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลชุดใหม่ที่มี สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกจะสามารถสานฝันดันท่องเที่ยวไทยให้เป็นผู้นำอย่างเต็มตัวได้หรือไม่ต้องรอพิสูจน์
|