ชายวัยกลางคนร่างสันทัดมาดเท่ห์ อารมณ์ดี ชอบสูบไปป์เป็นนิจสินเป็นบุคลิกของจุลจิตต์
บุณยเกตุหรือที่ใครต่อใครมักเรียกขานสั้นๆ ว่า เจ.เจ.ที่มักพบเห็นอยูเป็นประจำ
ด้วยคุณสมบัติของการเป็นมือประสานสิบทิศ ผสมกับประชาสัมพันธ์ชั้นเยี่ยมทำให้ชื่อเสียงของจุลจิตต์ติดอยู่บนทำเนียบของนักบริหารในองค์กรใหญ่ๆ
มาตลอด นับตั้งแต่การดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทไทยออยล์ รวมทั้งนั่งเป็นกรรมการขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
(อ.ส.ม.ท.) ในยุคสมัยหนึ่ง จนมาถึงการนั่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของสยามอินโฟเทนเม้นท์
เพื่อประกอบธุรกิจทีวีระบบยูเอชเอฟในนามไอทีวี
จุลจิตต์ ได้ชื่อว่าเป็นกลไกสำคัญในการคว้าสัมปทานทีวีเสรีมาให้กับกลุ่มสยามทีวี
ทั้งในแง่ของสายสัมพันธ์ และการที่เขาคือหนึ่งในผู้ร่างทีโออาร์ประมูล จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในเวลาต่อมาจะปรากฏชื่อของ
จุลจิตต์ในตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารของสยามทีวี แถมพ่วงด้วยประธานกรรมการบริหารของสหศินิมา
ช่วงชีวิตในระยะปีถึงสองปีที่ผ่านมาของจุลจิตต์ จึงค่อนข้างผูกติดอยู่กับธุรกิจทางด้านมีเดีย
และอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยีอย่างเต็มตัว แม้ว่าปัจจุบันเขาจะนั่งเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการของไทยออยล์
จุลจิตต์ มีความสนิทสนมเป็นอย่างดีกับ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สิน
จุลจิตต์นับเป็น 1 ใน 2 ขุนพล ตัวแทนของสำนักทรัพย์สิน ที่มีสหศีนิมาเป็นหัวหอกเคียงคู่กับบรรณวิทย์
บุญญรัตน์ ที่ส่งตรงมาจากแบงก์ไทยพาณิชย์ ในการนำพาสยามทีวีก้าวกระโดดเข้าสู่ธุรกิจมีเดียและอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี
ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ
การเปิดหมวกอำลาจากไอทีวีของจุลจิตต์ พร้อมกับเกษม จาติกวณิช บิ๊กบอสของไทยออยล์
เจ้าของฉายา "ซุปเปอร์เค" ผู้เป็นเจ้านายของจุลจิตต์ แถมพ่วงด้วยการยื่นใบลาออกของ
ดร. เสรี วงษ์มณฑา ที่จุลจิตต์ดึงเข้ามาร่วามทีมบริหารซึ่งก่อนหน้านี้ก็เกิดปัญหาการถอนหุ้นของตงฮั้วและดอกเบี้ย
จึงเป็นรูปธรรมของปมปัญหาที่ปะทุขึ้นมากับทีวีช่องใหม่แห่งนี้หลังจากที่ส่อเค้ามานาน
หากพิจารณาให้ดีแล้ว ไอทีวีคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวได้เลย เพราะเงื่อนไขการประมูลที่ระบุไว้ว่าผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเป็นกลุ่มนิติบุคคลไม่ต่ำกว่า
10 ราย และจะต้องถือหุ้นไม่เกิน 10% ซึ่งเงื่อนไขนี้มีข้อดีในแง่ที่ว่าปกป้องไม่ให้เกิดการผูกขาด
แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นที่มีถึง 10 รายจะดำเนินธุรกิจไปโดยไม่มีปัญหาในเรื่องของการบริหาร
ในเรื่องนี้ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรมบิ๊กบอสแกรมมี่ ซึ่งเคยประกาศชัดเจนจะเข้าร่วมวงตั้งแต่ต้น
พอมาเจอเงื่อนไขนี้เข้าก็ยังต้องยอมถอยฉากออกมาแค่ยืนดูอยู่ห่างๆ เพราะไม่เชื่อว่าโครงสร้างการถือหุ้นในลักษณะดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ตงฮั้วและดอกเบี้ยจะถอนหุ้นออกไปโดยมีกลุ่มเนชั่นเข้าไปสวมแทน
และอีกไม่นานคงต้องมีเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกแน่ เพราะหลังจากไตรภพ
ลิมปพัทธ์ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารแล้ว มีความเป็นไปได้สูงมากที่ไตรภพอาจจะถอนหุ้นของบอร์น
แอนด์ แอสโซซิเอทออก
แหล่งข่าวในไอทีวี เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้บริหารของสยามทีวีฯ ได้มีการทาบทามกลุ่มซีพีเจ้าพ่อค้าไก่
ที่หันมาเอาดีทางธุรกิจทางด่วนข้อมูลเข้ามาสวมหุ้นในแทน เพราะในเวลานี้ซีพีมีความพร้อมในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายโทรศัพท์
หรือ ธุรกิจสื่ออยู่ในมือ คงมาช่วยเหลือได้มากไม่ว่าจะเป็นในเรื่องระบบสาธารณูปโภค
หรือในด้านของซอฟท์แวร์
สำหรับการบริหารก็เป็นเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีความพยายามจัดรูปแบบโครงสร้างการบริหารงานให้เกิดความคล่องตัว
ด้วยการจัดตั้งเป็นบอร์ดบริหารขึ้น ประกอบไปด้วยบรรณวิทย์, จุลจิตต์, กิตติ
จันทราทิพย์, ไตรภพ ลิมปพัทธ์ ซึ่งบอร์ดบริหารชุดนี้เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ถือหุ้นให้มีสิทธิขาดในการตัดสินเรื่องและพิจารณาเรื่องต่างๆ
ได้ทันที
แต่คงไม่ง่ายนักที่จะบริหารงานให้ลงตัวโดยไม่มีปัณหา เมื่อทุกฝ่ายต่างมีแนวคิดของตัวเอง
ภาพความแตกร้าวจึงเกิดขึ้นพร้อมกับการอำลาของจุลจิตต์
ทว่า การเปิดหมวกอำลาของจุลจิตต์ในครั้งนี้ คงจะต้องเกิดขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ไม่เพียงแค่ปัญหาในเรื่องความขัดแย้งในด้านของการบริหารเท่านั้น
แต่หากสังเกตให้ดี ในระยะหลังๆสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการลงทุนธุรกิจทีวีเสรีตั้งแต่ต้นต้องการลดบทบาทลงดำรงตนเป็นแค่ผู้ลงทุนเท่านั้น
ภารกิจทั้งหมดเป็นแบงก์ไทยพาณิชย์ ซึ่งมีความต้องการและความพร้อมที่เข้าสู่ธุรกิจสื่อ
และอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยีอยู่แล้ว
เนื่องจากแบงก์อื่นๆ ต่างมีสื่อทีวีอยู่แล้ว อาทิ ช่อง 7 มีเแบงก์กรุงศรีอยุธยาหนุนหลังอยู่ส่วนช่อง
3 มีแบงก์กรุงเทพสนับสนุน
การเข้ามาของแบงก์ไทยพาณิชย์ จึงเหมาะสมมากกว่าที่จะทำให้สำนักทรัพย์สินฯ
ในนามของสหศีนิมา ซึ่งต้องการรักษาภาพความเป็นกลางในฐานะของสถาบันเอาไว้
การถอนตัวของจุลจิตต์ ซึ่งเป็นตัวแทนของสำนักทรัพย์สินไม่เพียงจะทำให้ภาพของสยามทีวีในมือของแบงก์ไทยพาณิชย์ชัดเจนขึ้นเท่านั้น
แต่ยังทำให้ภาพของสำนักทรัพย์สินอาจดูดีขึ้น เพราะที่แล้วมาสยามทีวีถูกโจมตีมาตลอดว่าได้สัมปทานมาเพราะอาศัยบารมีของทรัพย์สิน
และจุลจิตต์ก็เป็นผู้มีส่วนร่างทีโออาร์เอง
ยิ่งไปกว่านั้น ภารกิจของจุลจิตต์ที่ได้รับมอบหมายจากสำนักทรัพย์สินนั้นเสร็จสิ้นลงแล้ว
ในช่วงต้นสยามทีวีจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องพึ่งพาจุลจิตต์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสายสัมพันธ์
หรือการเป็นมือประสานในการจะได้สัมปทานมาไว้ในมือ แต่นับจากนี้ คุณสมบัติเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับไอทีวีอีกต่อไป
ความเชี่ยวชาญในเรื่องตลาดและผังรายการต่างหากคือ ความจำเป็นของไอทีวี
ที่จะต้องแพร่สัญญาณสู่สาธารณชนในอีกไม่ช้านี้ และยังต้องแย่งส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งขันจากสถานีโทรทัศน์ทั้ง
5 ช่องและเคเบิลทีวีอีกหลายสิบช่องที่เตรียมรับมือกันอย่างแข็งขัน
การเปลี่ยนแปลงของบอร์ดบริหารของไอทีวีต่อจากนี้คงจะมีรายชื่อของมือบริหารทางด้านการตลาด
หรือผังรายการเข้ามาสวมแทน เช่นเดียวกับผังผู้ร่วมทุนคงต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาเป็นระลอกๆ
จากปัญหาทางด้านบริหารที่จะเกิดขึ้นแน่
แต่ที่แน่ๆ ในเวลานี้บอร์ดรถไฟฟ้าของธนายง ได้ปรากฏชื่อของจุลจิตต์นั่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่มี
เกษม จาติกวณิช เป็นประธานกรรมการบริหาร
และด้วยการที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงของ"สื่อ"มาตลอด จุลจิตต์จึงไม่อาจทิ้งความชอบส่วนตัวนี้ไปได้
หนังสือพิมพ์ชาวไทย ที่กำลังจะเกิดขึ้นบนแผงหนังสือ ก็อาจมีชื่อของเจ.เจ.คนนี้ปรากฏอยู่
นั่นเพราะ ภารกิจครั้งใหม่ของจุลจิตต์ กำลังจะเริ่มขึ้นอีกครั้ง