แสนสิริยังเกาะเก้าอี้ตำแหน่งเบอร์ 2 อสังหาฯ เดินหน้าลุย 15 โครงการ ตั้งเป้าโต 25% มั่นใจธุรกิจไม่สะดุดแม้ภาวะตลาดไม่เอื้อเรื่องเพิ่มทุนหลังจากรอนานกว่า 1 ปี ชี้ยังมีงบพร้อมลงทุน จากยอดรับรู้รายได้ที่จะเข้ามาต่อเนื่อง เร่งรัดเข็มขัดบริหารต้นทุน หวังตรึงราคาขายเดิม รักษาผลกำไร
ความพยายามของแสนสิริที่ผลักตัวเองให้ก้าวสู่ตำแหน่งเบอร์หนึ่งในธุรกิจบ้านจัดสรร ณ วันนี้อาจจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น จากทุ่มงบประมาณมหาศาลในช่องทางต่างๆ เพื่อรุกสร้างแบรนด์อย่างหนักให้เป็นที่คุ้นเคยในกลุ่มผู้บริโภค และเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่และรุกไปสู่การเป็นเบอร์หนึ่งได้อย่างรวดเร็ว แสนสิริตัดสินใจประกาศเพิ่มทุนเท่าตัวจากเดิม 6,305 ล้านบาทเป็น 12,610 ล้านบาทเมื่อปลายปี 2549 พร้อมออกวอร์แรนต์ที่รองรับการเพิ่มทุนสูงสุดเป็น 19,238 ล้านบาทภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะทำให้ทุนจดทะเบียนของแสนสิริเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับเบอร์หนึ่งอย่างแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง สัดส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงจาก 1.37 เหลือ 0.88 ทันที สามารถขยายการลงทุนในธุรกิจที่อยู่อาศัยได้ครบทุกเซกเมนต์มากยิ่งขึ้น เป็นการมุ่งหวังที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการ เห็นว่า กลยุทธ์การรุกตลาดในทุกเซกเมนต์เป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยผลักให้แสนสิริก้าวไปสู่การเป็นเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจนี้ได้
แม้เวลาจะผ่านมากว่า 1 ปีแล้วก็ตาม แผนการเพิ่มทุนก็ยังไม่คืบหน้า เนื่องจากภาวะตลาดทุนที่ไม่เอื้อ แต่เศรษฐาก็ยังยืนยันว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของแสนสิริ เนื่องจากบริษัทมีกระแสเงินสดเพียงพอในการขยายธุรกิจ และมียอดขายล่วงหน้า (Pre-Sale Backlog) แล้วกว่า 21,500 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นรายรับเข้ามาอย่างต่อเนื่องในอีก 1-3 ปีข้างหน้า แต่หากภาวะตลาดดีขึ้นเมื่อไหร่ ก็พร้อมจะเพิ่มทุนทันที
การเพิ่มทุนครั้งนี้ เศรษฐาสนใจที่จะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนด้วยในสัดส่วนไม่เกิน 24% ซึ่งจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทนบริษัท เนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) (N-PARK) หลังจากที่ N-PARK ประสบปัญหาด้านการเงิน จึงได้ทยอยขายหุ้นหลายตัวในมือออกไปเพื่อชำระหนี้ ทำให้ขณะนี้เหลือหุ้นแสนสิริอยู่ในมือเพียงไม่มากนัก อย่างไรก็ตามสิทธิในการบริหารงานยังคงเป็นของผู้บริหารกลุ่มเดิม ดังนั้นปัจจัยสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเมื่อไหร่จังหวะตลาดจึงจะฟื้นตัวเพื่อให้แผนการเพิ่มทุนครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เพราะนักลงทุนเป็นชาวต่างชาติและเป็นนักลงทุนสถาบัน ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มอย่างรุนแรง รวมทั้งติดกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ที่การขายหุ้นเพิ่มทุนจะต้องขายไม่ต่ำกว่าราคาพาร์ คือ 4.28 บาทต่อหุ้น ในขณะที่ภาวะตลาดตกต่ำทำให้ราคาตลาดของหุ้นแสนสิริอยู่ในช่วง 3.50 บาทต่อหุ้นเท่านั้น ซึ่งราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมากจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้การเพิ่มทุนครั้งนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จ
ในแง่ยอดขายของแสนสิริ แม้จะสูงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับรายอื่น แต่ในทางกลับกันกลับพบว่าอัตรากำไรสุทธิของแสนสิริยังอยู่ในระดับต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลมาจากการทุ่มงบสร้างแบรนด์ และโหมแคมเปญทางการตลาดอย่างหนักนั่นเอง ซึ่งผู้บริหารแสนสิริ กล่าวว่า กำไรที่หดตัวจากการรุกตลาดอย่าง Aggressive เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ หากไม่ทำแสนสิริจะโตได้ลำบาก แต่เมื่อต้นทุนต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น จึงยิ่งเป็นแรงกดดันต่อการสร้างกำไรของแสนสิริมากขึ้น แม้ก่อนหน้านี้แสนสิริเพิ่งขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ 51% ในบริษัท สิริ ภูเก็ต จำกัด ให้กับเคเอ็นพี อินเวสเม้นต์ พีทีอี แอลทีดี มูลค่าประมาณ 250 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะมีกำไรจากการขายหุ้นราว 140 ล้านบาท ซึ่งในระยะสั้นจะทำให้ผลกำไรดีขึ้น อย่างไรก็ตามเศรษฐาคาดการณ์การว่า จะต้องปรับขึ้นราคาขายบ้านอีก 5-10% ในเร็วๆ นี้ แต่จะพยายามตรึงราคาเดิมให้นานที่สุด ด้วยการเร่งลดต้นทุนทุกด้านให้มากที่สุด เพื่อรักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับ 30% แต่ที่สำคัญต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการขายและแบรนด์ของแสนสิริ
แสนสิริมียอดขายในปี 2550 อยู่ที่ 20,000 ล้านบาท มียอดรับรู้รายได้ 13,500 ล้านบาท เติบโต 20% จากปี 2549 โดยในปีนี้แสนสิริและบริษัทในเครือมีแผนจะลงทุนโครงการใหม่รวม 15 โครงการ มูลค่ารวม 15,300 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขาย 20,000 ล้านบาท ยอดรับรู้รายได้ 16,000-17,000 ล้านบาท เติบโต 25% จากปี 2550 ซึ่งจะเป็นอันดับ 2 รองจากแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โดยในปีนี้แสนสิริจะยังเดินกลยุทธ์เดิมอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการเติบโตด้วยการรุกอสังหาริมทรัพย์ทุกเซกเมนต์
|