|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
แบงก์ไทยแข่งหาเงินฝากเพลิน งัดดอกเบี้ยสูงล่อใจผู้ฝาก ตายใจคิดดอกเบี้ยขาขึ้น เฟดดับฝันลดดอกเบี้ยแรง ส่งผลดอกเบี้ยในประเทศต้องปรับลง นายแบงก์ยอมรับงานนี้เจ็บตัว ค่ายใดเสนอดอกเบี้ยสูง ฝากได้ยาวเจ็บหนัก แนะผู้มีเงินออมฉวยโอกาสล็อกฝากยาว คาดดอกเบี้ยในประเทศต้องลงอย่างน้อย 0.5% ผนวกรัฐบาลใหม่ต้องการเห็นดอกเบี้ยต่ำ กลายเป็นบทพิสูจน์ฝีมือแบงก์ชาติต้องคุมทั้งเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนให้ได้
นับตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 3 ของปี 2550 ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็กหลายแห่ง ใช้กลยุทธ์ดอกเบี้ยพิเศษสำหรับเงินฝากตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ด้วยการเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากปกติเพื่อจูงใจลูกค้า ครั้งนั้นธนาคารกสิกรไทย นครหลวงไทย ธนชาติ ทิสโก้และธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์เพื่อรายย่อย ตามมาด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ที่ออกโปรโมชั่นผลตอบแทน 2.6%
โปรโมชั่นข้ามปีของไทยพาณิชย์อย่าง Combo Set ด้วยบัญชีเงินฝาก 2 บัญชี คือฝากประจำ 3 เดือนรับดอกเบี้ย 2.7% และฝากประจำ 12 เดือนดอกเบี้ย 2.4% เงินฝากทั้ง 2 บัญชีต้องเท่ากัน ครั้งแรกไม่ต่ำกว่าบัญชีละ 5 หมื่นบาท การฝากครั้งต่อไปต้องไม่ต่ำกว่าบัญชีละ 1 หมื่นบาท
นับได้ว่าแรงได้ใจผู้คนไม่น้อย เนื่องจากเป็นความต่อเนื่องจากภาพยนตร์โฆษณาที่เชิญชวนผู้คนให้เข้ามาใช้บริการที่ธนาคารแห่งนี้ โดยเปิดรับฝากจนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2551
ก้าวข้ามสู่ปี 2551 สงครามเรียกลูกค้าด้วยดอกเบี้ยเงินฝากอัตราพิเศษที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากปกติเริ่มขยายวงมากขึ้น ค่ายกสิกรไทยเริ่มกลับนำเอากลยุทธ์นี้มาใช้อีกครั้ง ขณะที่ Combo Set ของไทยพาณิชย์ก็ยังเป็นนางกวักเรียกลูกค้าอยู่ และค่ายที่โดดลงมาเล่นในสมรภูมินี้คือธนาคารทหารไทยที่สูญเสียเงินฝากไปมากจากปัญหาภายในของธนาคารเอง เมื่อได้ผู้ร่วมทุนต่างชาติรายใหม่เข้ามาค้ำยันความมั่นคงจึงได้เปิดฉากทวงคืนเงินฝาก
เริ่มจากธนาคารกสิกรไทยที่ออกโปรโมชั่นต่อเนื่องมาจากปี 2550 แต่คราวนี้กสิกรไทยออกบัญชีเงินฝากประจำ 4 เดือนดอกเบี้ย 2.75% ฝากขั้นต่ำ 1 แสนบาท หากฝากไม่ถึง 3 เดือนจะได้ดอกเบี้ยที่อัตรา 0.75% แต่ถ้าฝากเกินกว่า 3 เดือนแต่ไม่ถึง 4 เดือนจะได้ดอกเบี้ยที่ 2% โดยฝากได้ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2551
ที่มาแรงจากอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงคือธนาคารทหารไทยออกโปรโมชั่น TMB Buddy TD กำหนดให้ต้องเปิดบัญชีเงินฝาก 2 บัญชี เริ่มจากฝากประจำ 9 เดือน ดอกเบี้ย 2.9% ต่อปี เริ่มต้นที่ 5 หมื่นบาท อีกบัญชีหนึ่งเป็นบัญชีฝากประจำ 24 เดือน ดอกเบี้ยที่ 3.5% ต่อปี เริ่มที่ฝากขั้นต่ำที่ 1 แสนบาท เมื่อฝากเงินกับทั้ง 2 บัญชีนี้จะได้รับสิทธิเปิดบัญชีออมทรัพย์พิเศษของธนาคารที่เรียกว่า TMB Prima Saving ได้รับดอกเบี้ย 2.75% ต่อปี นับว่าสูงกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์ปกติที่ 0.75% เท่านั้น ฝากได้จนถึง 31 มีนาคม 2551
แต่บัญชีเงินออมทรัพย์พิเศษนี้ต้องฝากเงินขั้นต่ำที่ 5 แสนบาท และมีเงื่อนไขว่าต้องมีเงินคงเหลือในบัญชีไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาทต่อเดือน ถ้าต่ำกว่าทางธนาคารจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี 500 บาท บัญชีดังกล่าวสามารถเบิกถอนได้ 2 ครั้งต่อเดือน ถ้าถอนเกิน 2 ครั้งจะเรียกเก็บรายการละ 500 บาท
นอกจากนี้ธนาคารเล็กอย่างธนชาตยังคงให้ดอกเบี้ยฝากที่ 3% สำหรับฝากประจำตั้งแต่ 1 แสนบาท สำหรับฝากประจำ 9 เดือน และวงเงิน 5 แสนบาทขึ้นไปสำหรับฝากประจำ 3 และ 6 เดือนได้ผลตอบแทน 3% เช่นกัน ธนาคารทิสโก้มีให้เลือกทั้งฝาก 8 เดือนดอกเบี้ย 3% และ 12 เดือนดอกเบี้ย 3.4% สำหรับวงเงิน 1 ล้านบาท ธนาคารเกียรตินาคิน ฝาก 12 เดือนดอกเบี้ย 3.5% และ 18 เดือนดอกเบี้ย 3.75% สำหรับฝากขั้นต่ำที่ 5 แสนบาท
ที่เพิ่งหมดเขตไปเมื่อสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาอย่างนครหลวงไทยกับบัญชีฝากประจำ 5 เดือนที่ 2.6% และ 10 เดือนที่ 2.8% วงเงินขั้นต่ำแค่ 1 หมื่นบาท และดอกเบี้ย 3% สำหรับเงินฝาก 12,24 และ 36 เดือนสำหรับวงเงินขั้นต่ำ 1 ล้านบาท
ส่วนธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์เพื่อรายย่อย ที่ให้ดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดปีแรก 3.25% ปีที่ 2 ดอกเบี้ย 3.875% และปีที่ 3 ดอกเบี้ย 4.25% แต่ธนาคารแห่งนี้รับเงินฝากเพียงแค่ 500 ล้านบาทเท่านั้น
เฟดทำดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศ
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวบ่งบอกถึงการคาดการณ์ของคนในวงการธนาคารพาณิชย์ว่าดอกเบี้ยในประเทศไทยน่าจะถึงจุดต่ำสุดและพร้อมที่จะปรับขึ้นได้ ดังนั้นการรีบล็อกดอกเบี้ยเงินฝากของลูกค้าไว้ก่อนถือเป็นการชิงความได้เปรียบหากดอกเบี้ยในอีก 2-3 ปีนับจากนี้สูงเกินกว่า 3.5% ขึ้นไป
แต่อัตราดอกเบี้ยในประเทศกลับเปลี่ยนทิศทางกระทันหันเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารปล่อยกู้ระหว่างกันชั่วข้ามคืนลง 0.75% มาอยู่ที่ 3.5% เมื่อ 22 มกราคมที่ผ่านมา นับเป็นการลดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 23 ปี เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจของสหรัฐที่ต้องเผชิญกับปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์(ซับไพร์ม) ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยก่อนที่จะมีการประชุมในวันที่ 29-30 มกราคมที่ผ่านมา หากธนาคารกลางสหรัฐประกาศลดดอกเบี้ยลดอีก 0.25-0.5% ยิ่งจะกดดันให้ดอกเบี้ยในประเทศมีโอกาสปรับลดลงได้มากยิ่งขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดการเงินทั่วโลก เมื่อสหรัฐในฐานะผู้บริโภครายใหญ่ส่งสัญญาณเช่นนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตรึงไว้ที่ระดับ 3.25% จึงอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในครั้งต่อไป
ก่อนหน้านี้ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงตามทิศทางของตลาดโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการแห่กันปรับขึ้นราคากันถ้วนหน้า ส่งผลให้เงินเฟ้อในประเทศเริ่มขยับขึ้น แน่นอนว่าธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ที่กำหนดทิศทางในตลาดเงินย่อมต้องการสยบปัญหาเงินเฟ้อด้วยนโยบายดอกเบี้ย
ดังนั้นทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยจึงค่อนข้างนิ่ง หลายฝ่ายประเมินกันว่าน่าจะถึงจุดต่ำสุดของอัตราดอกเบี้ย และมีความเป็นไปได้สูงที่ในปีนี้อัตราดอกเบี้ยในประเทศมีโอกาสในการปรับขึ้นได้ 0.25-0.5% ตามทิศทางของเงินเฟ้อ แต่สถานการณ์ในวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่สหรัฐกำหนด และถ้าปัญหาซับไพร์มในสหรัฐยังไม่ทุเลาลง ธนาคารกลางสหรัฐก็จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก
ด้วยเหตุนี้จึงกระทบต่อทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทย ที่แม้ว่าปัญหาเงินเฟ้อในประเทศจะขยับขึ้น แต่การจะใช้นโยบายดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อตามสูตรสำเร็จของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นย่อมต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาทอีกรอบ
เนื่องจากเมื่อผลตอบแทนในสหรัฐเริ่มลดลง เม็ดเงินเหล่านั้นย่อมต้องไหลไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ไม่เพียงแค่การหาส่วนต่างจากดอกเบี้ยเงินฝากจากประเทศอื่น ๆ เท่านั้น แต่ช่องทางในการหาผลตอบแทนที่สูงยังรวมไปถึงตลาดหุ้นของแต่ละประเทศด้วย
การไหลบ่าของเม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้ามาตามประเทศต่าง ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสกุลเงินของประเทศนั้น ๆ ด้วย หากไม่สามารถบริหารจัดการที่ดีพอย่อมกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากนโยบายดอลลาร์อ่อนจากสหรัฐและเม็ดเงินจากต่างชาติไหลเข้ามาแสวงหาผลตอบแทน ยิ่งเป็นแรงบวกให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว
ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นย่อมทำให้ความสามารถในการส่งออกของประเทศไทยลดลง นั่นคือราคาสินค้าของประเทศไทยจะมีราคาสูงขึ้นเมื่อส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐ ย่อมทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐชะลอการใช้จ่าย
การบ้านชิ้นใหญ่แบงก์ชาติ
วันนี้ธนาคารกลางสหรัฐได้สร้างการบ้านชิ้นใหญ่ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก ระหว่างการประคองค่าเงินบาทไม่ให้แข็งเกินไปเพื่ออุดหนุนอุตสาหกรรมส่งออก และการสกัดเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เมื่อทิศทางดอกเบี้ยของโลกเริ่มลดลงประเทศไทยคงฝืนยืนได้ยาก เพราะถึงขณะนี้ดอกเบี้ยของสหรัฐสูงกว่าไทยต่างกันแค่ 0.25% โดยดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 1 วันของไทยอยู่ที่ 3.25%
ขณะนี้ในตลาดเงินคาดการณ์กันว่าโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดอัตราดอกเบี้ยลงตามทิศทางต่างประเทศก็มีความเป็นไปได้สูง อันเนื่องมาจากนโยบายดอลลาร์อ่อนของสหรัฐและการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามปัญหานี้ก็ต้องพิจารณาควบคู่กับทิศทางของอัตราเงินเฟ้อว่า ผลกระทบจากราคาน้ำมันนั้นทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งแค่ไหน เช่น เรื่องค่าโดยสาร ขสมก.ที่จะเพิ่มขึ้นอีก 1 บาทสำหรับรถปรับอากาศต่อระยะทางและอีก 50 สตางค์สำหรับรถไม่ปรับอากาศ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 มีนาคมนี้ หากสามารถควบคุมได้การลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลค่าเงินบาทก็ทำได้ง่ายขึ้น หรือราคาน้ำมันปาล์มที่อนุมัติให้ปรับขึ้นอีกลิตรละ 4 บาทเป็น 47.50 บาทต่อลิตรที่มีผลไปแล้ว
ไม่เพียงแค่เรื่องการบริหารจัดการเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาเพียงอย่างเดียว แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องดูแลในเรื่องการไหลออกของเม็ดเงินต่างชาติด้วย แม้ในช่วงนี้ต่างชาติจะมีการถอนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไปบ้าง แต่ยังไม่มากจนทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจเพราะหากไม่มีมาตรการควบคุมเงินตราปล่อยให้เงินไหลออกได้อย่างรวดเร็วปัญหาที่ตามมาคือการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาจจะประสบปัญหาขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ยอมรับว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งต่อไป จะนำเอาเรื่องการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐเข้ามาเป็นประเด็นในการตัดสินใจกำหนดทิศทางดอกเบี้ยในประเทศ พร้อมทั้งระบุถึงความท้าทายของระบบเศรษฐกิจในปี 2551 นั้น แบงก์ชาติจะต้องดูแลใน 3 เรื่อง ได้แก่ ประการที่ 1 การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้ภาวะราคาน้ำมันแพง และปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ประการที่ 2 การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนภายใต้กระแสเงินทุนไหลเข้าออกอย่างรวดเร็ว และมีความผันผวน และประการที่ 3 การดูแลความมั่นคงของสถาบันการเงินภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
สินค้ามากได้เปรียบ
เมื่อทั้ง 2 สถานการณ์เกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกัน โดยที่คนในวงการธนาคารพาณิชย์มองว่าทิศทางดอกเบี้ยในประเทศไทยจะปรับขึ้น แต่เมื่อเฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยกระทันหันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐ โอกาสที่ดอกเบี้ยในประเทศไทยจะปรับลดลงนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูง
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า “ไม่มีใครคิดว่าทิศทางดอกเบี้ยจะเลี้ยวกลับกะทันหันเช่นนี้ แน่นอนว่าที่ออกดอกเบี้ยพิเศษคงเจ็บตัวกันบ้าง ธนาคารใดที่เปิดให้ฝากยาวและให้ดอกเบี้ยสูงโอกาสเจ็บตัวก็มีได้มาก”
ในส่วนของธนาคารที่ออกโปรโมชั่นดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษนั้น คงจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก โดยเฉพาะธนาคารที่กำหนดระยะเวลาในการฝากสั้น ๆ และดอกเบี้ยที่ให้ไว้ไม่สูงนัก เช่นของกสิกรไทย เพราะแค่ 4 เดือนกับดอกเบี้ยที่ 2.75% แต่ธนาคารที่กำหนดดอกเบี้ยสูงและเสนอให้ฝากระยะยาวนั้นอาจได้รับผลกระทบ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับดอกเบี้ยที่กำหนดไว้และระยะเวลาที่เปิดรับฝาก รวมถึงการบริหารจัดการของธนาคารเองว่าจะทำได้ดีเพียงใด
เพราะว่าขณะนี้การปล่อยสินเชื่อทำได้ค่อนข้างยาก ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมหรือภาคประชาชน อีกทั้งธนาคารก็ต้องพิจารณาความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วยเช่นกัน ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันที่ความสามารถในการซื้อสินค้าน้อยลง และภาระของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อมีสูงขึ้น
เนื่องจากเป้าหมายใหญ่สุดของการเสนอดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของความต้องการในการระดมเงินฝากเพียงอย่างเดียว หากธนาคารใดมีความพร้อมในเรื่องของสินค้าอื่น ๆ ของธนาคารที่พร้อมให้บริการก็อาจผลักเอาเงินฝากเหล่านี้ไปยังสินค้าและบริการของบริษัทลูกของธนาคารได้ เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์หรือซื้อกองทนรวม โดยที่ธนาคารจะได้ค่าธรรมเนียมจากการขายไปในตัว พร้อมกับการรับรู้กำไรที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทลูกในอนาคต
แต่ถ้าธนาคารใดมีสินค้าและบริการอื่นน้อย เงินฝากก้อนนี้ก็จะกลายเป็นต้นทุนของธนาคารที่อาจสูงกว่าธนาคารอื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร อาจต้องหันไปลงทุนด้านอื่นแทน ซึ่งก็มีความเสี่ยงจากการลงทุนสูงกว่าการสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม
ดูแบงก์ไหนเขี้ยว-เลือกฝากยาว
สำหรับทิศทางของดอกเบี้ยในประเทศไทยนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะเป็นตัวชี้นำให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับลดลงได้ ยิ่งรัฐบาลใหม่ที่บอกถึงทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในประเทศว่าควรจะลดลงแล้ว น่าจะส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 1 วันลงได้อย่างน้อยอีก 0.25% ลงมาเหลือ 3% และถ้าธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยลงอีก 0.5% ดอกเบี้ยในประเทศก็อาจลดลงได้อีกอย่างน้อย 0.25% ได้ในช่วงกลางปี
โปรโมชั่นที่เปิดรับฝากในเวลานี้ท่ามกลางทิศทางที่ดอกเบี้ยในประเทศกำลังเป็นขาลง ประโยชน์จึงตกอยู่กับผู้มีเงินออมว่าจะเลือกฝากเงินไว้กับธนาคารใด ทางที่ดีควรเลือกฝากกับธนาคารที่เสนอผลตอบแทนสูงและควรเลือกฝากระยะยาวไว้ก่อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ฝากเงินเองว่ามั่นใจที่จะใช้กับบริการของธนาคารใด เนื่องจากธนาคารขนาดเล็กมักจะมีสาขาที่ให้บริการน้อย ดังนั้นหากธนาคารที่เราหมายตามีสาขาอยู่ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานก็น่าสนใจ แต่ถ้าไกลเกินไปต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางพอสมควรดอกเบี้ยดังกล่าวก็อาจไม่คุ้ม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ฝากต้องนำไปพิจารณาเอง
ส่วนประเด็นเรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองเงินฝากจะเริ่มออกมาบังคับใช้ ที่ค่อย ๆ ลดการคุ้มครองเงินฝากลงจากมากลงมาน้อยนั้น แต่ถ้าผู้ฝากทั่วไปที่มีเงินออมไม่มากนักก็จะไม่ได้รับผลกระทบ
อย่างไรก็ตามทางที่ดีควรตรวจสอบกับธนาคารก่อนว่า โปรโมชั่นที่แต่ละธนาคารออกมานั้นยังพร้อมให้บริการอยู่หรือไม่ เพราะบางแห่งอาจจะมีการกำหนดวงเงินไว้เช่นของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ที่รับฝากแค่ 500 ล้านบาทเท่านั้น ถ้าเต็มแล้วก็ไม่รับฝาก
จากการสำรวจโปรโมชั่นดอกเบี้ยเงินฝากประจำอัตราพิเศษของธนาคารต่าง ๆ นั้น ผู้ที่ต้องการฝากเงินจะต้องศึกษาถึงเงื่อนไขของแต่ละธนาคารให้ดีว่ามีเงื่อนไขที่ยากต่อการปฏิบัติหรือไม่ บางแห่งกำหนดให้ต้องฝากเงินทั้ง 2 บัญชีเท่า ๆ กัน เช่น ของไทยพาณิชย์ บางแห่งเปิดทางให้เลือกฝากในประเภทใดประเภทหนึ่งได้ รวมถึงต้องสอบถามถึงเรื่องวงเงินฝากครั้งต่อไปด้วยว่าเป็นเท่าไหร่ เพราะอย่างธนาคารทิสโก้กำหนดฝากขั้นต่ำที่ 1 ล้านบาทและฝากครั้งต่อไปก็ต้อง 1 ล้านบาทด้วย
กรณีของธนาคารทหารไทย TMB Buddy นั้น เปิดให้ฝาก 9 เดือนที่ 2.9% ที่ 5 หมื่นบาท และฝาก 24 เดือนดอกเบี้ย 3.5% ฝากขึ้นต่ำที่ 1 แสนบาท โดยธนาคารให้สิทธิในการเปิดบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงถึง 2.75% ต้องฝากที่ 5 แสนบาทขึ้นไป มีเงื่อนไขอื่นกำกับไว้ ถ้าผิดเงื่อนไขธนาคารมีสิทธิคิดค่าปรับจากผู้ฝากเงิน ดังนั้นต้องศึกษาให้ดี
|
|
 |
|
|