|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สารพัดวิกฤติรุมเร้าต่อเนื่องไม่จบสิ้น ฉุดเศรษฐกิจแยงกี้ทรุดต่อได้อีกยาว ยังไม่มีวี่แววว่าจะถึงก้นเหว ทำนักลงทุนทั่วโลกระส่ำเทขายลดพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยง ดึงตลาดหุ้นไทยลงไปด้วย 3 วันดี 4 วันไข้ กูรูชี้มีปัจจัยระยะยาวหนุนเศรษฐกิจไทยคงไม่ร่วงตามนาน คาดดัชนีมีสิทธิ์ฟื้นกลับมาที่เดิมได้
ความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาเป็นสัญญาณสะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่เปราะบางของสหรัฐอเมริกาอันมีความเสี่ยงว่าจะถดถอย
เริ่มต้นจากวิกฤติตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยคุณภาพต่ำซับไพร์ม) แพร่เชื้อต่อจนทำให้เกิดเป็นวิกฤติสถาบันการเงินตามมาและกระจายไปยังยุโรป ผสมโรงกับข่าว โซซิเอเต้ เจเนอราล เอสเอ (ซอคเจน) ธนาคารใหญ่อันดับสองของฝรั่งเศสโดนฉ้อโกงจำนวนมหาศาล ทำให้นักลงทุนยิ่งตื่นตระหนกเข้าไปอีก
แม้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะประกาศลดลดเบี้ยแบบกระทันหัน 0.75%และส่งสัญญาณว่าจะลดอีก ประกอบกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.45 แสนล้านเหรียญที่สภาคองเกรซผลักดันออกมา จะเป็นสัญญาณในเชิงบวก แต่สิ่งเหล่านี้จะทำให้สถานการณ์สงบลงได้นานเพียงไร
สำหรับตลาดหุ้นไทยและนักลงทุนไทยก็ต้องถือว่าเป็น January Effect ที่เจ็บปวดอันเป็นผลจากการไหลรูดลงของดัชนีด้วยการเทขายของฝรั่ง แม้จะมีบางวันที่ตลาดฯปิดบวกได้ แต่ก็ไม่รู้ว่านั่นเป็นสัญญาณของขาขึ้นบอกให้ซื้อ หรือเป็นกับดักล่อให้เข้าไปเพื่อซื้อของแพงแล้วลงต่อกันแน่
หวั่น CDS มาแรงแซง CDO
ทวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กสิกรไทย กล่าวว่า ต้นเหตุปัจจัยที่ฉุดตลาดหุ้นก็คือไม่มีใครรู้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวแค่ไหนและจะลามไปที่ไหนต่อ ซึ่งความกังวลนี้เองได้นำมาสู่วิกฤติตลาดหุ้นทั่วโลก
"มันไปไกลกว่าคำว่าซับไพร์มมากแล้ว ทั้งสินเชื่อบุคคล สินเชื่อรถยนต์ ค่าโทรศัพท์ อัตราการว่างงาน เหมือนว่าจะมันไปกันหมด"
นอกจากเรื่องของ CDO ที่เคยได้ยินพิษสงค์ของมันมาแล้ว ยังมีเรื่องของ CDS (Credit Default Swap)ซึ่งเป็นตราสารป้องกันความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มูลค่าซื้อขายหมุนเวียนทั้วโลกราว 450 ล้านล้านเหรียญอีก ถ้ามีการผิดนัดชำระมันก็จะเป็นปฎิกริยาลูกโซ่ไปกันทั้งระบบ
ขณะที่ปัญหาการลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารก็ทำให้หลายๆแบงก์ยักษ์ใหญ่ของโลกต้องปรับลดมูลค่าที่ถืออยู่ตามแต่ก็ยังไม่มีใครบอกได้ว่า "พอ"ซึ่งผลที่จะตามมาในอนาคตก็คือ เมื่อต้องรีไฟแนนซ์ตราสารหนี้ที่หมดอายุจะไปเอาเงินมาจากไหนเพราะตอนนี้แบงก์ก็เริ่มที่จะไม่เชื่อใจกันแล้ว
ด้านตลาดหุ้นไทยก็ถือได้ว่าเข้าสู่ยุคตลาดหมี (Bear Market) แล้ว ประเมินว่าในกรณีเลวร้ายจุดต่ำสุดไม่น่าจะหลุด 680 จุด ภายใต้สมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจไทยโตไม่น้อยกว่า 4%ในปีนี้
จากวิกฤติดังกล่าวมองว่าหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทยยังน่าจะโดดเด่นในปีนี้ เพราะถ้าบริษัทใหญ่ๆของไทยไปออกหุ้นกู้ในต่างประเทศไม่ได้ก็อาจจะต้องหันกลับมากู้ในประเทศ
เชื่อเศรษฐกิจกระทบน้อย
ด้านดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประเมินว่าปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพภาคอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพร์ม) ในสหรัฐอเมริกา ถือว่ามีความรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าอาจขยายวงกว้างไปยังสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาด้วย โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ลงทุนในตราสารซึ่งเกี่ยวข้องกับซับไพร์ม ซึ่งผลกระทบเหล่านี้อาจส่งผลให้สถาบันการเงินบางรายถึงขั้นล้มละลายจนกลายเป็นวิกฤติครั้งสำคัญของสถาบันการเงินก็เป็นได้
อย่างไรก็ตามในส่วนของเศรษฐกิจไทยเชื่อว่าไม่ได้รับผลกระทบในประเด็นเหล่านี้มากนัก เนื่องจากแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจหลักๆ ในปีนี้มาจากการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของภาคเอกชนเป็นหลัก แตกต่างจากปีก่อนที่เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนโดยภาคการส่งออก "การลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวอาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องมากนัก เพราะสิ่งที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวได้ อยู่ที่รัฐบาลว่าจะทำอย่างไรให้การลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งแก้ไขกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน อีกทั้งการลดดอกเบี้ยก็ไม่ได้ช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงด้วย"
แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจลดดอกเบี้ยลงอีกหลายครั้ง เพียงแต่การจะให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นคงต้องใช้เวลานาน
ปรับเป้าใหม่เป็น 915 จุด
สำหรับ สุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล. นครหลวงไทย มองว่าผลกระทบจากซับไพร์มทำให้ฝ่ายวิจัยฯได้ปรับเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยในปีนี้ใหม่ โดยลดเหลือประมาณการดัชนีหุ้นไทยในปีนี้ใหม่ โดยลดเหลือ 915 จุด จากเดิม 1พันจุด
"ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐที่ถดถอย ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนสูง ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย โดยมีแรงขายของต่างชาติและกองทุนบริหารความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) ออกมาต่อเนื่อง ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยปีนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะลดลงเหลือระดับ 12.5% จากเดิมมองว่าจะอยู่ที่ 15%"
กรณีที่เฟดปรับลดดอกเบี้ยลง 0.75% นั้น คาดว่าเฟดอาจมีการลดดอกเบี้ยลงอีก 2-3% เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยไทยเองก็ควรมีการปรับลดลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดการบริโภคและการลงทุนตามมา ส่วนเงินเฟ้อนั้นถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยปีนี้มองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเติบโตในระดับ 4.5-5%
เชื่อฝรั่งยังมีของขาย
ขณะที่ สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ประเมินว่า ปัญหาซับไพร์มในสหรัฐคงไม่ยุติลงโดยเร็วและอาจยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอลงหนักติดต่อกันหลายไตรมาส และอาจกระทบต่อตลาดหุ้นไทย ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง
"ถึงรัฐบาลจะออกมาตรการมายังไงก็ไม่พอ แต่ก็ต้องมีตามออกมาเป็นระรอก"
ตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพร์มในเดือนกรกฎาคม 2550 จนถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยแล้วรวม 1.1 แสนล้านบาท แต่ถ้าดูย้อนไป 3-4 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่นักลงทุนกลุ่มนี้เข้ามาซื้อสะสมหุ้นไทย จะพบว่ามีมูลค่ารวมกว่า 3-4 แสนล้านบาท ไม่นับรวมมูลค่าหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นก็มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะเทขายหุ้นออกเพิ่มได้ เพราะยังมีหุ้นที่ถือไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนล้านบาท
"สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ต้องปรับประมาณการหุ้นไทยในปีนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะผลกระทบจากปัญหาซับไพร์ม จากเดิมที่คาดไว้ว่า 1,030 จุด ขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐอาจต้องลดดอกเบี้ยอีก 0.5-1% เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ และจะส่งผลให้แบงก์ชาติต้องลดดอกเบี้ยลงตาม 0.25-0.5% ภายในกลางปีนี้ เพื่อหนุนเศรษฐกิจไทย"
ส่วน คีธ เนรูดา ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.ยูบีเอส กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยฯได้ปรับประมาณการหุ้นไทยในปีนี้ลงมาอยู่ที่ระดับ 950 จุด จากเดิมคาดไว้ที่ระดับ 1,080 จุด เพราะปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยลงกระทบต่อภาคส่งออกของไทย และยังกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ด้วย
นอกจากนี้แรงขายของผู้ลงทุนต่างชาติที่ออกมาต่อเนื่อง ยังไม่รู้ว่าจะหยุดลงเมื่อใด ซึ่งแรงขายที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องซับไพร์ม ช่วงสั้นดัชนีหุ้นไทยจึงมีโอกาสปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 680 จุด ได้
อย่างไรก็ตาม ยูบีเอส ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในไทย เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในระดับที่ดี ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนขยายตัวสูง และนักลงทุนในประเทศยังเข้ามาซื้อหุ้นต่อเนื่อง เพราะมีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ
สถิติชี้หุ้นลงไม่นาน
ด้าน วิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประเมินว่า การปรับตัวของดัชนีตลาดหุ้นไทยรอบนี้ มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับปรับตัวลงของ 4 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศ ตั้งแต่ช่วงปี 2538-2550
เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นจากวิกฤติค่าเงินเปโซของเม็กซิโกเมื่อเดือน มกราคม 2538โดยช่วงนั้นดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง 11 % แต่ภายหลังจากนั้นภายใน 1เดือนดัชนีได้ปรับตัวขึ้นมา 8% กับเหตุการณ์ของแบริ่ง ซิเคียวริตี้ของสิงคโปร์ที่ขาดทุนจากการค้าตราสารอนุพันธ์ในเดือน กุมภาพันธ์ 2538 ในปีเดียวกัน ทำให้ดัชนีปรับตัวลดลง 14% แต่หลังจากนั้น 4 เดือนดัชนีได้ปรับตัวขึ้นมามากถึง 29%
ส่วนเหตุการณ์ที่ 2 ก็คือ การก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11กันยายน 2544 ช่วงนั้นดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง 17% แต่ภายใน 4 เดือนต่อมาดัชนีได้ปรับตัวขึ้นมาถึง 11 % ส่วนเหตุการณ์ที่ 3 คือ วิกฤติเวิลด์คอม(เอนรอน) ในเดือนมิถุนายน 2545 ดัชนีตลาดหุ้นไทยลงไป 2 รอบ รวมทั้งสิ้น 22 % แต่ภายหลังจากนั้น 4 เดือนดัชนีปรับขึ้นมา 16 % และสุดท้ายคือ มาตรการกันสำรอง 30 % เมื่อเดือนธันวาคม2543 ดัชนีปรับตัวลง 15% หลังจากนั้นภายใน 2 เดือนดัชนีปรับตัวขึ้นมา 12%
จากเหตุการณ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า ในช่วงที่เกิดผลกระทบจากวิกฤตต่างประเทศ ที่ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดจากตลาดหุ้นไทยเลยนั้น จะมีการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่หลังจากนั้นภายใน2-4 เดือน ดัชนีก็จะมีการปรับตัวขึ้นมา ถ้าหากนักลงทุนมองเห็นโอกาสของการลงทุน จะทำให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วงที่ดัชนีปรับตัวลดลง
"ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติภายนอกประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะของการถูกเลขหาง แต่สุดท้ายแล้วภายในระยะเวลาไม่เกิน 4 เดือนดัชนีจะปรับตัวขึ้นมาทั้งนั้น ซึ่งระยะเวลาที่รอให้ปรับตัวขึ้นยังไม่เท่ากับการลงทุนระยะยาวเลย ประกอบกับผลตอบแทนที่ปรับขึ้นมาให้มากถึงสองหลักเลยทีเดียว ดังนั้นจึงไม่อยากให้นักลงทุนตื่นตระหนกกับการปรับตัวลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยที่มีผลมาจากวิกฤตต่างประเทศ"
อย่างไรก็ตาม การที่นักลงทุนต่างชาติเทขายออกมาเป็นจำนวนมาก ก็ยังมีนักลงทุนรายย่อยเข้ามารับ แสดงให้เห็นว่าผลประกอบการของ บริษัทจดทะเบียนยังดีอยู่ ทำให้นักลงทุนรายย่อยกล้าที่จะเข้ามาซื้อหุ้น
|
|
|
|
|