|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยลงมาอีก 0.50% หวังยับยั้งการชะลอตัวอย่างแรงในเศรษฐกิจสหรัฐ ธปท.ชี้ผลเฟดลดดอกเบี้ยป่วนตลาดการเงินโลก มีความผันผวนสูง กระทบไทยทั้งดอกเบี้ยในประเทศ เงินทุนเคลื่อนย้ายและทำให้ค่าเงินทุกสกุลในภูมิภาคแข็งค่า เผยแนวโน้มดอกเบี้ยต้องรอการประเมินจาก กนง.ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ ส่วนเงินบาทวานนี้แตะ 33.02 โอกาสเห็น 32 อยู่แค่เอื้อม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฟันธง กนง.ยังไม่แตะดอกเบี้ย
ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ครั้งล่าสุดเมื่อคืนวันพุธที่ 30 ม.ค. ทำให้เป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เฟดฟันด์เรต ลงมาอยู่ที่ระดับ 3.0% ต่ำที่สุดนับแต่เดือนมิถุนายน 2005 อีกทั้งบังเกิดขึ้นเพียง 8 วันหลังจากเฟดเพิ่งประกาศหั่นลดเฟดฟันด์เรตรวดเดียว 0.75%
การหั่นลดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารชั่วเวลาข้ามคืนตัวนี้ รวมกันถึง 1.25% ในชั่วเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์เช่นนี้ นับเป็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่ดุเดือดฉับพลันที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐฯทีเดียว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด(เอฟโอเอ็มซี) มิได้มีมติเอกฉันท์ในความเคลื่อนไหวคราวนี้ โดยคะแนนออกมา 9 ต่อ 1 ผู้ที่ไม่เห็นด้วย คือ ริชาร์ด ฟิชเชอร์ ประธานเฟดสาขาดัลลัส ซึ่งมองว่าควรคงดอกเบี้ยไว้ที่เดิม
คำแถลงของเฟดที่ออกมาหลังการประชุมเอฟโอเอ็มซีคราวนี้ อธิบายว่าการรณรงค์หั่นดอกเบี้ยของตน ซึ่งมีการลดเฟดฟันด์เรตจากที่เคยอยู่ในระดับ 5.25% ตอนกลางเดือนกันยายนปีที่แล้ว ลงมารวม 5 ครั้งแล้วนี้ ควรที่จะช่วยเศรษฐกิจสหรัฐฯหลบหลีกให้พ้นจากภาวะถดถอย แต่ถ้อยคำที่ใช้ในคำแถลงนี้ ก็ส่อให้เห็นว่ายังเปิดช่องที่จะมีการหั่นลดกันต่อไปอีก
"ปฏิบัติการเชิงนโยบายในวันนี้ เมื่อบวกกับสิ่งที่ได้ทำไปแล้วคราวก่อนๆ ควรช่วยส่งเสริมให้เกิดอัตราเติบโตระดับพอประมาณในเวลาต่อไป และลดทอนความเสี่ยงที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงขาลงต่อการเติบโตก็ยังคงดำรงอยู่" คำแถลงของเฟดบอก
ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าการแถลงข่าวของเฟด กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้เผยแพร่ตัวเลขเบื้องต้นของอัตราเติบโตของเศรษฐกิจประจำไตรมาส 4/2007 ซึ่งปรากฏว่าต่ำมากๆ โดยเท่ากับ 0.6%ต่อปี และทำให้ตลอดทั้งปี 2007 จีดีพีสหรัฐฯเติบโตด้วยอัตรา 2.2% อันเป็นการขยายตัวที่อ่อนแรงที่สุดในรอบ 5 ปีทีเดียว
ด้วยการตัดลดดอกเบี้ยในเชิงรุกเป็นระลอกต่อเนื่อง เฟดมองว่าตนเองกำลังแสดงให้เห็นถึงความเอนเอียงที่จะใช้ปฏิบัติการเชิงป้องกัน เพื่อหยุดยั้งสิ่งที่อาจกลายเป็นวงจรอุบาทว์ โดยที่การตึงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ของภาวะสินเชื่อ ตลอดจนความปั่นป่วนของตลาดการเงิน จะยิ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว และการเชื่องช้าลงของเศรษฐกิจก็จะทำให้ตลาดการเงินยิ่งย่ำแย่
"ตลาดการเงินยังคงอยู่ภายใต้ความเครียดค่อนข้างใหญ่โต และสินเชื่อก็ยังคงตึงตัวต่อไปอีกสำหรับบางธุรกิจและภาคครัวเรือน" คำแถลงของเฟดบอก "ยิ่งกว่านั้น ข้อมูลข่าวสารในระยะหลังๆ นี้ก็บ่งชี้ถึงการหดตัวหนักหน่วงยิ่งขึ้นของภาคที่อยู่อาศัย ตลอดจนการอ่อนตัวลงบางระดับในตลาดแรงงาน"
กระนั้นก็ตาม เฟดก็ย้ำเช่นกันว่า จะติดตามพัฒนาการด้านอัตราเงินเฟ้ออย่างระมัดระวัง ถึงแม้คาดหมายไว้ว่าภาวะเงินเฟ้อน่าจะยืนอยู่ในระดับแค่พอประมาณในหลายๆ ไตรมาสข้างหน้าก็ตามที
สำหรับความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ต่อความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯคราวนี้ รอเบิร์ต แมคอินทอช หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง อีตัน แวนซ์ แมเนจเมนต์ บอกว่า เฟดกำลังอยู่ในอาการตาลีตาลานวิ่งตามให้ทันเศรษฐกิจซึ่งกำลังเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว
เขาเชื่อด้วยว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงไปจนถึง 2.0% เพื่อช่วยให้สหรัฐฯหลบหลีกภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทว่าคงไม่หั่นไปถึงระดับ 1.0% ซึ่งเป็นอัตราที่บางคนบอกว่าเป็นตัวการสร้างฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จนนำมาสู่วิกฤตในเวลานี้
ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ได้สำรวจความคิดเห็นของดีลเลอร์ระดับท็อปในวอลล์สตรีท 16 คน ปรากฏว่า 15 คนคาดหมายเฟดจะลดดอกเบี้ยอีกในการประชุมเอฟโอเอ็มซีครั้งต่อไปในเดือนมีนาคมนี้ ถึงแม้พวกเขามีทัศนะแตกต่างกันในเรื่องที่ว่าจะลดลงมามากขนาดไหน
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลชี้ว่า นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งได้เตือนให้เฟดต้องจับตาความเสี่ยงในอีกด้านหนึ่งด้วย นั่นคือการลดดอกเบี้ยมากจนเกินไป โดยหากเศรษฐกิจมิได้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างที่คาดหมายกัน การหั่นดอกเบี้ยมากขนาดนี้ก็อาจทำให้เงินเฟ้อเริ่มขยับสูงขึ้น
วอลล์สตรีทเจอร์นัล อ้างคำพูดของ วินเซนต์ เรนฮาร์ต อดีตเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของเฟด ซึ่งเวลานี้ทำงานกับ อเมริกัน เอนเตอร์ไพรซ์ อินสติติว กลุ่มศึกษาวิจัยของพวกอนุรักษ์นิยมใหม่ ที่กล่าวว่า เมื่อเฟดปฏิบัติการในเชิงรุกขณะเศรษฐกิจอยู่ทางขาลงได้ พวกเขาก็จะกระทำในเชิงรุกได้เช่นกันเมื่อเศรษฐกิจอยู่ทางขาขึ้น
ธปท.ชี้กระทบแต่ยังรอประชุม 27 ก.พ.
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงอีก 0.5% ทำให้อัตราดอกเบี้ยมาแตะที่ระดับ 3.00% เป็นไปตามที่ตลาดการเงินทั่วโลกคาดการณ์อยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ระบบการเงินโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูงและความผันผวนยังมีอยู่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการที่เฟด ลดดอกเบี้ยลงส่งผลกระทบหลายช่องทางทั้งอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้าย เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการประเมินในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 27 ก.พ.นี้
“ในขณะนี้ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดการเงินโลกยังมีความผันผวนอยู่ เห็นได้จากในช่วงที่เริ่มเกิดปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) นักลงทุนต่างชาติเริ่มมีเงินทุนไหลกลับไปลงทุนในสหรัฐ แต่เมื่อเกิดภาวะปกติเงินทุนเหล่านั้นก็ไหลกลับมาใหม่ ทำให้กระทบต่อค่าเงินทุกสกุลในเอเชีย รวมทั้งเงินบาทไทยด้วย ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก ซึ่งมองว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ทั้งการอุปสงค์ในประเทศเริ่มฟื้นตัว การได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ทำให้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้มากขึ้น จึงขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศมากกว่า”
ค่าเงินบาทวานนี้ (31 ม.ค.) แข็งค่าตามคาด นักบริหารเงินจากธนาคารไทยธนาคาร เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 33.02/04 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 33.01/02 บาท/ดอลลาร์ ส่วนสกุลเงินต่างประเทศช่วงปิดตลาด เงินเยนอยู่ที่ระดับ 106.50/60 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.4840/50 ดอลลาร์/ยูโร
"คาดว่าวันพรุ่งนี้ (1 ก.พ.) เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.95-33.10 บาท/ดอลลาร์ เพราะด้านรับซื้ออาจมีหลุดลงไปบ้างบางช่วงเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้อีกหลังจากที่เฟดปรับลดดอกเบี้ย แต่จะแข็งค่าอีกแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับแบงก์ชาติที่จะเข้ามาดูแลด้วย" นักบริหารเงินระบุ
ศูนย์กสิกรฯ ฟันธง กนง.คงดอกเบี้ย
ดร.พิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่าทางกลุ่มธนาคารกสิกรไทยฯเชื่อว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงนโยบายดอกเบี้ยนโยบายแม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับลดดอกเบี้ยลงมาอีก ทั้งนี้ เนื่องจากทางธปท.ยังมีข้อจำกัดทางด้านอัตราเงินเฟ้อ ที่อาจได้รับแรงกดดันจากความผันผวนของราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯคาดว่าในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ระหว่าง 2.5-3.7% ภายใต้เงื่อนไขน้ำมันตลาดโลกอยู่ระหว่าง 75-95 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เฟดน่าจะลดดอกเบี้ยลงอีกในเดือนมีนาคม 0.25% และในเดือนเม.ย.อีก 0.25% และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็อาจจะทำให้เงินไหลออกจากสหรัฐฯทำให้เกิดความผันผวนของตลาดการเงินของโลกได้" ดร.พิมลวรรณ กล่าวและว่า สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยนั้น แม้ว่ารัฐบาลรักษาการในชุดที่ผ่านมา ได้จัดทำงบประมาณขาดดุลปี 2551 ไว้ 1.65 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1.8% ของจีดีพี ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่มาก แต่ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯคาดว่า รัฐบาลชุดใหม่อาจจะมีการทำงบประมาณพิเศษกลางปีได้ ซึ่งทางศูนย์วิจัยฯคิดว่าน่าจะเพิ่มงบประมาณขาดดุลเพิ่มได้อีก 70.000ล้านบาทถึง1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ปริมาณเงินไหลเข้าสู่ระบบและน่าจะผลักดันให้จีดีพีเติบโตได้กว่า 0.7-1%
บิ๊ก ธอส.เชื่อดอกเบี้ยไทยลงได้อีก 0.25%
นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยลงอีกอาจทำให้เงินไหลเข้าและส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ซึ่งต้องติดตามดูสถานการณ์ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ และขึ้นอยู่กับ กนง.จะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไร แต่ตนเห็นว่าดอกเบี้ยควรจะลดลงได้ 25 สตางค์ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ธนาคารยังแข่งขันระดมเงินฝาก และธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมจะออกพันธบัตรอีก 5 หมื่นล้านบาทดอกเบี้ย 3-4% ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศคงจะไม่ลงเร็วเท่ากับสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐใช้ทั้งมาตรการการเงิน คือ การลดดอกเบี้ย และมาตรการคลัง คือ การคืนภาษีให้กับประชาชน เพื่อแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และการลดดอกเบี้ยลงจะทำให้คนผ่อนบ้านมีกำลังใจในการผ่อนบ้านต่อไป คาดว่ามาตรการดังกล่าวน่าจะเห็นผลในการชะลอภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ช่วงกลางปีนี้
เอกชนจี้ลดดอกเบี้ยอุ้มบาท
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงค่าเงินบาทที่แตะระดับ 33.01 บาทต่อเหรียญสหรัฐว่า ปัญหาดังกล่าวมีผลจากที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นลงมา 0.5% เหลือระดับ 3 % ขณะที่อัตราดอกเบี้ยไทยสูงกว่าสหรัฐซึ่งอยู่ระดับ 3.25% ส่งผลให้มีการไหลเข้ามาของเงินทุนที่มาอาศัยดอกเบี้ยแพงและทำส่วนต่างกำไรจากค่าเงินบาทได้อีก ดังนั้นเห็นว่าไทยควรต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อยให้เท่ากับสหรัฐอเมริกาเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ
นอกจากนี้การประชุมของเฟดวันที่ 18 มีนาคมยังมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกก็จะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย คงจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับเงินทุนที่จะไหลเข้ามาเพื่อให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพซึ่งจำเป็นต้องสะท้อนภูมิภาคและคำนึงถึงผู้ส่งออกด้วยเนื่องจากแม้ว่าค่าบาทที่แข็งจะทำให้มีผลการนำเข้าน้ำมันลดลงหรือราคาน้ำมันปรับลดแต่จะกระทบส่งออกที่มีภาคแรงงานอยู่จำนวนมากจึงจำเป็นต้องวางสมดุลให้เกิดขึ้น
สำหรับโผรายชื่อ ครม.ชุดใหม่ที่ออกมานั้นภาพรวมยอมรับว่ารัฐมนตรีส่วนใหญ่ยังไม่เป็นที่รู้จักของนักลงทุนนัก ดังนั้นควรจะสร้างความเชื่อมั่นด้วยการตั้งทีมทำงานหรือทีมที่ปรึกษาให้ดีก็จะสามารถเป็นจิตวิทยาในการดึงเชื่อมั่นกลับมาได้ อย่างไรก็ตามครม.ที่ออกมาก็ต้องให้โอกาสในการบริหารประเทศเพราะได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว
|
|
|
|
|