แม้สถานการณ์ของบีเอ็มดับบลิวในเมืองไทย จะดูถดถอยเต็มทีแต่ก็ใช่ว่าบีเอ็มดับบลิวจะหมดโอกาสเทียบเคียงเมอร์เซเดส-เบนซ์
ในตลาดเมืองไทยอีกแล้ว กลับตรงกันข้าม
บีเอ็มดับบลิว มียอดจำหน่ายในปีล่าสุด เพียง 4,836 คันเท่านั้น และไม่ต้องพูดถึงว่าอัตราเติบโตมีเท่าไร
ในปี 2536 กลุ่มยนตรกิจ จำหน่าย บีเอ็มดับบลิวได้ 6,340 คัน และปี 2537
จำหน่ายได้ 7,045คัน
ขณะที่คู่ขับเคี่ยวสำคัญ คือ เมอร์เซเดส-เบนซ์ โดยบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์
ยังคงยอดจำหน่ายเกินหนึ่งหมื่นคันต่อปีไว้ได้ มาโดยตลอดนับจากปี 2535 เรื่อยมา
ที่สำคัญปี 2538 เมอร์เชเดส-เบนซ์ มียอดจำหน่ายถึงประมาณ 14,000 คัน นับเป็นยอดจำหน่ายที่สูงมากสำหรับรถยนต์ในตลาดหรูหราเช่นนี้
หลังเปิดเสรีรถยนต์เรื่อยมา บีเอ็มดับบลิวดูจะถดถอยลงเป็นลำดับเมื่อเทียบกับความเติบใหญ่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์
ทั้งที่ก่อนหน้านั้นบีเอ็มดับบลิวมียอดจำหน่ายอยู่ในแนวหน้าของตลาดรถยนต์หรูหรา
ส่วนเมอร์เซเดส-เบนซ์ แม้ว่าภาพพจน์ชื่อเสียงจะเป็นที่ติดตาติดใจคนไทย แต่ยอดจำหน่ายแต่ละปีมีไม่มากนัก
เพราะข้อจำกัดในด้านซีรีส์รถที่มีน้อยเกินไป
ความเพลี้ยงพล้ำที่เกิดขึ้น ในช่วง 3-4 ปีที่ ผ่านมา กลุ่มยนตรกิจ ก็รับทราบถึงปัญหาและพยายามแก้ไขสถานการณ์มาตลอด
ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างองค์กร การบริหารงาน ปรับกลยุทธ์การทำตลาด ให้ทันกับสถานการณ์
ในหลายยุทธวิธี มีอยู่ประการหนึ่งที่น่าสนใจ และถ้ากลุ่มยนตรกิจ สามารถกระทำได้สำเร็จและสม่ำเสมอระยะยาวแล้ว
เชื่อว่าการกลับมาเทียบเคียงหรือบดบังรัศมีเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในอนาคต น่าจะเกิดขึ้นได้
บุญฤทธิ์ ผ่องเมฆินทร์ ดูแลฝ่ายการตลาดของบีเอ็มดับบลิว ในไทยกล่าวว่า
ในราวกลางปี(2539) ทางบริษัทจะเปิดศูนย์จำหน่ายรถยนต์บีเอ็มดับบลิวมือสองขึ้นที่ถนนรัชดาภิเษกและสุขุมวิท
87 เพื่อรักษามาตรฐานราคาของรถยนต์บีเอ็มดับบลิวไว้ เนื่องจากที่ผ่านมาการซื้อขายรถยนต์บีเอ็มดับบลิวมือสองมีระดับราคาต่ำกว่าความเป็นจริงของสภาพการใช้งาน
"ที่เราพูดเช่นนี้เพราะผู้ที่ต้องการจะขายรถบีเอ็มดับบลิวเพื่อเปลี่ยนเป็นรถใหม่ถูกเต็นท์รถกดราคามากกว่าควรจะเป็น
เพราะมีช่องว่าของกำไรมาเกี่ยวข้อง"
ราคาขายรถเก่านับเป็นปัจจัยประกอบด้านหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถของลูกค้าแต่ละค่ายรถยนต์
และความล้มเหลวของรถยนต์หลายยี่ห้อในตลาดเมืองไทยที่มาจากสาเหตุนี้ก็มีตัวอย่างให้เห็น
หนึ่งในจำนวนนั้นก็เป็นรถยยนต์ทีอยู่ในค่ายยนตรกิจเอง
ซีตรองคือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด
มาถึงบีเอ็มดับบลิว รถยนต์ตัวหลักของกลุ่มยนตรกิจ เมื่อแนวโน้มเรื่องราคามือสองตกต่ำลง
จึงต้องเร่งรีบแก้ไขสถานการณ์ก่อนที่จะสายเกินไป
การดันราคารถยนต์เก่าบีเอ็มดับบลิว โดยกลุ่มยนตรกิจจะลงมารับซื้อด้วยตัวเอง
จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมแม้จะต้องลงทุนเข้ามามากพอสมควร แต่ก็ยังนับว่าน่าจะคุ้มค่า
ดูจากแผนงานที่วางไว้ ทางกลุ่มยนตรกิจคงไม่ได้หวังเพียงเสนอทางเลือกให้ผู้ใช้รถยนต์บีเอ็มดับบลิวมีทางออกที่ดีเมื่อต้องการขายรถเท่านั้น
บุญฤทธิ์ กล่าวว่า รถยนต์บีเอ็มดับบลิวมือสองที่กลุ่มยนตรกิจรับซื้อไว้
และนำออกจำหน่ายจะรับประกันอายุการใช้งาน 6 เดือนถึง 1 ปี
การรับประกันประกอบกับแนวนโยบายที่ต้องการพยุงราคาบีเอ็มดับบลิวมือสอง
อย่างเป็นจริงเป็นจังน่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของลูกค้ารถยนต์มือสองบีเอ็มดับบลิวมีอยู่มากและความน่าเชื่อถือจะสะท้อนกว้างออกไป
ไม่เฉพาะรถเก่าบีเอ็มดับบลิว แต่จะส่งผลต่อภาพพจน์ของบีเอ็มดับบลิวโดยรวมทีเดียว
เมื่อซื้อรถยนต์บีเอ็มดับบลิวจะสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่เหมาะสมเมื่อต้องการเปลี่ยนรถ
ในส่วนของผู้ซื้อรถยนต์มือสองบีเอ็มดับบลิวก็จะได้ราคาที่แทบไม่มีส่วนต่างของกำไรมาเกี่ยวข้อง
ขณะที่ได้รถยนต์คุณภาพเหมาะสมไปใช้ หมดกังวลเรื่องปัญหาการย้อมแมวไปได้ระดับหนึ่ง
การปูรากฐานของตลาดเช่นนี้ นับได้ว่าบีเอ็มดับบลิวกำลังเริ่มต้นครั้งใหม่ในตลาดแมืองไทยก็ว่าได้และที่สำคัญเป็นการเริ่มต้นที่รอบคอบ
มั่นคงด้วยพื้นฐานที่แน่น
การเริ่มต้นเช่นนี้ ถ้าทุกอย่างกระทำอย่างต่อเนื่อง ระยะยาว เชื่อได้ว่า
ภาพพจน์ของบีเอ็มดับบลิวในตลาดเมืองไทย จะไม่ด้อยไปกว่ารถยนต์ยี่ห้อใด
ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มยนตรกิจจะบริหารเงินทุนที่ลงมาครั้งนี้ได้อย่างรัดกุมเพียงใด
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของต้นทุนดอกเบี้ย เงินที่ต้องจมลงไป การค้างสต๊อก ถ้าสามารถคุมในประเด็นเหล่านี้ไม่ให้ขาดทุนมากนักหรือถ้าสามารถสร้างกำไรได้บ้างก็นับว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง
วิทิต ลีนุตพงษ์ กรรมการบริหารกลุ่มยนตรกิจ กล่าวถึงทิศทางของบีเอ็มดับบลิว
ไว้อย่างน่าฟังว่า 5-10 ปีข้างหน้า บีเอ็มดับบลิวจะขึ้นเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์หรูหราเมืองไทยอีกครั้ง
"ไม่อยากให้มองอะไรกันในระยะสั้นๆ ต้องมองกันยาวๆ"
วิทิต ตั้งความหวังว่า จากการปรับเปลี่ยนในหลายเรื่องช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
จะเริ่มเห็นภาพชัดเจนก็ต่อเมื่อ 4-5 ปีข้างหน้า ด้วยนโยบายหลักที่นำมายึดถือตอนนี้
"น้ำซึมบ่อทราย"
การที่บีเอ็มดับบลิวจะผงาดขึ้นมาอีกครั้งในเมืองไทย ได้หรือไม่นั้น คงต้องถามเมอร์เซเดส-เบนซ์
ว่าจะยินยอมด้วยหรือไม่
มองการปรับเปลี่ยนแนวทางของฝ่ายบีเอ็มดับบลิว ที่กลับมาเน้นการสร้างฐานเปรียบเทียบกับการรุกแบบก้าวกระโดดของเมอร์เซเดส-เบนซ์ในช่วง
3-4 ปีมานี้ ยังไม่อาจบอกได้ว่า ใครจะเป็นอย่างไร
แต่ ณ วันนี้ ตลาดเมอร์เซเดส-เบนซ์นับว่าเติบโตอย่างมาก จากปีละไม่กี่พันคันเพิ่มทันทีมากกว่าหมื่นคันต่อปี
แต่ภายใต้การทำตลาดที่รุกเร็วเช่นนี้สถิติการขายเมอร์เซเดส-เบนซ์เข้าสู่ตลาดรถเก่าหรือในส่วนของรถยึด
ก็มีมากตามไปด้วยและอย่างน่ากลัวทีเดียว
สถานการณ์เช่นนี้ อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ ล้นตลาดมือสอง
ตรงนี้น่าสนใจว่า จะถึงขั้นทำให้ราคามือสองเมอร์เซเดส-เบนซ์ ตกต่ำลงและภาพพจน์ความเป็นเมอร์เซเดส-เบนซ์
จางหายไป ได้หรือไม่
ถ้าเมอร์เซเดส-เบนซ์ ปล่อยตัว จนเข้ามาสู่วังวนที่ว่านั้น
ก็เท่ากับ เร่งแผนงานของบีเอ็มดับบลิว ให้สำเร็จได้เร็ววันขึ้น