มาม่าเร่งเครื่องลดต้นทุน ดิ้นสู้วัตถุดิบพุ่งไม่หยุด ย้ำหากน้ำมันปาล์ม และแป้งสาลี ราคาแพงขึ้นไม่เลิก มีสิทธิปรับอีก เล็งผลิตแบบใช้น้ำมันปาล์มลดลง รวมทั้งศึกษาบะหมี่แบบไม่ทอดด้วย ยอมรับปีที่แล้วกำไรเหลือ 8% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี
นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือทีเอฟ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาม่า เปิดเผยว่า ในระยะใกล้นี้ ช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดีอยู่ บริษัทฯยังไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ แต่จะมีการลงทุนในส่วนที่จำเป็นโดยเฉพาะการลงทุนทางด้านการลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากปัจจุบันนี้ต้นทุนการผลิตพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยในปีนี้จะลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท
ทั้งนี้โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมการคือ การนำเครื่องจักรที่ลดการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตลง ซึ่งเครื่องจักรที่ญี่ปุ่นเสนอมาลดใช้น้ำมันปาล์มเหลือเพียง 13% จากเดิมต้องใช้สูงถึง 17% ของการผลิต แต่ว่าราคาเครื่องจักรสูงมาก อีกโครงการคือ การศึกษาวิจัยทำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยไม่ต้องทอด ซึ่งได้ต่อสัญญาให้กับที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นอีก 2 ปีเพื่อรับผิดชอบโครงการนี้ ซึ่งอาจจะออกมาเป็นอีกเวอร์ชั่น ในราคาที่สูงขึ้นกว่ามาม่าแบบเดิมก็ได้
"แม้ว่าเราจะได้ปรับราคา 1 บาท มาช่วงกลางเดือนมกราคมนี้ก็ตาม แต่ไม่ใช่ว่าปรับเพื่อเอากำไร แต่ปรับราคาขึ้นก็เพื่อความอยู่รอดเอาไปใช้ในส่วนต้นทุนที่ขึ้นมา โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มและแป้งสาลี รวมทั้งค่าขนส่ง โดยรวมต้นทุนขึ้นมาประมาณ 8-10% ซึ่งราคาขาย 1 บาทที่ขึ้นมานั้นแบ่งไปเป็น ภาษีรัฐบาล 7% ช่องทางค้าปลีกค้าส่ง 15% และค่าขนส่งกระจายสินค้าโดยสหพัฒน์อีก 20% แล้ว"
โครงสร้างการผลิตของมาม่า มีต้นทุนหลักมาจากแป้งสาลี 38% น้ำมันปาล์ม 17% ค่าขนส่งที่ขึ้นกับราคาน้ำมัน โดยปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์ม 490 บาทต่อกระสอบ (25 ก.ก.) ขยับขึ้นกว่า 35% เมื่อปีที่แล้ว ส่วนแป้งสาลีขึ้นมาเป็น 40 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น14% และไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใดด้วย ซึ่งขณะนี้บริษัทฯยังพออั้นราคาไหว ในอนาคตหากทั้ง 2 ตัวหลักนี้ขึ้นราคาไม่หยุดเกินเพดานที่จะรับได้คือ ข้าวสาลีเกิน 600 บาทต่อกระสอบ และน้ำมันปาล์มราคา 50 บาทต่อกิโลกรัม คงต้องมีการพิจารณากันใหม่
โดยมาม่ามีความต้องการใช้วัตถุดิบอย่างเช่น แป้งสาลีในการผลิตประมาณ 300,000 กระสอบต่อเดือน ส่วนน้ำมันปาล์มประมาณ 1,400 ตันต่อเดือน
นายพิพัฒยอมรับว่า ผลประกอบการของไตรมาสแรกปีนี้อาจจะไม่ดีมากนัก เนื่องจากปัจจัยต้นทุนการผลิตและเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี โดยเมื่อปีที่แล้วมียอดขายรวม 6,000 กว่าล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ประมาณ 12.87% แต่กำไรสุทธิได้ลดลงจากปี 2549 ประมาณ 14.4%
ทั้งๆที่โดยเฉลี่ยแล้วบริษัทฯจะมีกำไรประมาณ 12% แต่ว่าเมื่อปีที่แล้วกำไรเหลือเพียง 8% เท่านั้น ขณะที่ยอดขายของเดือนธันวาคมเดือนเดียวปีนี้มีกำไรเหลือแค่ 6% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ตกต่ำมากที่สุดในรอบ 5 ปีย้อนหลังมานี้
แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงสภาพตลาดรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเมื่อปี 2550 จะพบว่า ตลาดรวมมีมูลค่า 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% ขณะที่มาม่า มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 54.8% เพิ่มขึ้นมาจากปี 2549 ประมาณ 11.4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการเติบโตของตลาดรวมด้วยซ้ำไป
หากแบ่งเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซอง ตลาดรวมปี 2550 มีการเติบโตลดลงจาก 9.1% ในปี 2549 เป็น 7.2% แต่ว่ามาม่ามีการเติบโต 8.8% ส่วนชนิดโบว์ลและคัพนั้น การเติบโตของตลาดรวมปี 2551 อยู่ที่ 19.9% ขณะที่มาม่ามีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 33.4% มีส่วนแบ่งตลาดที่ 55% ซึ่งจะเห็นได้ว่าในภาพรวมแล้วมาม่าเติบโตสูงกว่าตลาดรวมทั้งหมด คาดว่าตลาดรวมปีนี้จะเติบโตที่ 10% และในส่วนของบริษัทฯจะเติบโต 10% เช่นเดียวกัน
ล่าสุดบริษัทฯได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มรองรับความต้องการตลาด โดยในส่วนของบะหมี่แบบถ้วย เพิ่มอีก 80,000 หีบต่อเดือนจากเดิมที่ผลิต 220,000 หีบต่อเดือน ส่วนแบบซองนั้นเพิ่มอีก 36,000 หีบต่อเดือนจากเดิมที่ผลิต 600,000 หีบต่อเดือน
นอกนั้นก็มีการเพิ่มในส่วนของการผลิตเวเฟอร์ที่จะใช้เครื่องจักรแบบฟูลออโตเมติค จากออสเตรีย ช่วยประหยัดคน 22 คนแต่เพิ่มกำลังผลิต 1 เท่าตัว ติดตั้งที่ระยอง ลงทุนด้านขนย้ายและที่ดิน 200 ล้านบาท และขยายผลิตบิสกิตอีก
|