การกลับสู่สนามเรียลเอสเตทครั้งใหม่ของหม่อมหลวงตรีทศยุทธ เทวกุล เป็นเรื่องสั่น
สะเทือนวงการธุรกิจไม่น้อย
เพราะนอกจากการขายโครงการที่อยู่อาศัยในแนวความคิดใหม๋แล้ว
มาคราวนี้เขากลายเป็นผู้เทกโอเวอร์ "สยามโพสต์" หนังสือพิมพ์ที่กำลังเป็น
"ของร้อนประจำปี"อีกด้วย
ทำไมเขาถึงกลับมา เพื่ออะไร และเขาวางยุทธศาสตร์การสู้รบไว้อย่างไร ?
การขายบริษัทโมเบลกส์ ยูไอซีของหม่อมหลวงตรียุทธ เทวถุล เจ้าของโรงแรมภูเก็ต
ยอช์ทคลับ และโรงแรมเลอเมอริเดียนที่ภูเก็ตให้กับ วินัย พงศธร แห่งบริษัทเฟิร์สท์
แปซิฟิคแลนด์จำกัด(มหาชน) เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมานั้นทำให้คิดกันไปว่า
คงถึงเวลาที่สถาปนิกนักพัฒนาที่ดินคนนี้จะปิดฉากงานทางด้านพัฒนาที่ดิน และใช้ชีวิตที่เรียบง่ายในบ้านพักริมหาดกะตะน้อยจังหวัดภูเก็ตเสียที
แต่เมื่อต้นปี 2539 นี้เองหม่อมตรีกลับประกาศตัวกลับคืนสังเวียนการพัฒนาที่ดินอีกครั้งหนึ่ง
"ผมก็เคยคิดว่าจะหยุดทำงานทางด้านพัฒนาที่ดินเหมือนกันเพราะเศรษฐกิจทุกวันนี้ไม่ดี
แต่พอมองดูแล้วเห็นว่าทุกวันนี้บ้านเมืองเราพัฒนาไปในแนวที่ไม่ค่อยดีนักอยู่เฉยก็คงไม่ได้แล้ว"
การกลับมาครั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ เปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหม่
และเพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้นเป็น 500 ล้านบาท พร้อมๆกับดึงตัวลูกน้องมือดีหลายคนที่แตกกระจายไปตั้งแต่เมื่อครั้งขายบริษัทโมเบลกส์
ยูไอซีให้กลับมารวมพล เพื่อบุกงานทางด้านพัฒนาที่ดินอีกครั้งภายใต้ชื่อ "บริษัทตรีทศ
ทรีเจเนอเรชั่น"
ผู้ถือหุ้นของบริษัทตรีทศ ทรี-เจเนอเรชั่น จะประกอบไปด้วยหม่อมตรี ถือในนามบริษัทโมเบลกส์จำกัด
บริษัทเก่าแก่ของหม่อมตรีเองจำนวน 70 % ,กฤตย์ รัตนรักษ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารศรีอยุธยาถือหุ้นในนามบริษัท
ซุปเปอร์ แอสเซทส์ จำกัด 20% , สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์และชาตรี โสภณพนิช
ถือหุ้นกันอีกฝ่ายละ 5 %
ทั้งกฤตย์ ชาตรี และทรัพย์สินส่วนพระองค์ ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มผู้ที่มีแหล่งเม็ดเงิน
และเม็ดดินมากมายมหาศาล ในขณะเดียวกันหม่อมหลวงตรีทศยุทธก็คือสถาปนิกนักพัฒนาที่ดินคนหนึ่งซึ่งมีแนวคิดใหม่ๆ
ในการทำโครงการอยู่เสมอ
การผนึกกำลังร่วมกันครั้งนี้จึงน่าสนใจทีเดียว
และภายใต้การทำงานของผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่โครงการ "ตรีทศ ทรี-เจเนอเรชั่นสกูลวิลเลจ"ก็ได้เกิดขึ้น
โครงการดังกล่าวเป็นโรงเรียนในแนวความคิดที่แปลกใหม่จริงๆ เพราะโรงเรียนนี้จะเข้าไปศึกษาได้ผู้ปกครองต้องมีเงินเสียค่าสมาชิกๆ
ละ 3 ล้านบาท
สมาชิกทั่วไปจะมีสิทธิ์ส่งบุตร-ธิดาเข้ามาศึกษาได้ 1 คน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องผ่อนดาวน์
30 % ในระยะเวลาประมาณ 18 เดือน ที่เหลือผ่อนต่อกับทางธนาคารกรุงเทพฯ เป็นจำนวนเงินต่อเดือนเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาว่าจะใช้เวลากี่ปีและต้องเสียค่าเล่าเรียนอีกปีละประมาณ
2 แสนบาท
สมาชิกนี้มีสิทธิ์ขายต่อได้ ซึ่งอาจจะขายคืนให้กับบริษัทหรือผู้สนใจทั่วไปได้โดยวางไว้ว่าจะมีจำนวนสมาชิกทั้งหมดประมาณ
1,200 คน ดังนั้นนอกจากเป็นการซื้อสมาชิกเพื่อเป็นการลงทุนทางด้านการศึกษาแล้ว
ทางโครงการยังมั่นใจว่าเป็นการลงทุนที่มั่นคงทางการเงินในแง่ของหลักทรัพย์และสิ่งตอบแทนอีกด้วย
ที่ต่างไปจากโรงเรียนทั่วไปอีกก็คือเป็นโรงเรียนประจำที่ส่งเสริมให้ผู้ปกครองเข้ามาพักอาศัยร่วมกันกับนักเรียน
ในโรงเรียนจึงมีทั้งส่วน ของการศึกษา และส่วนของที่ พักอาศัย สำหรับผู้ซื้อสมาชิกจะมีสิทธิ์ได้ที่พักอาศัยอีก
1 ยู-นิต โดยโรงเรียนจะสร้างที่พักแบบโลว์ไรท์คอนโดมิเนียม ยูนิตละ 2 ห้องนอนจำนวนประมาณ
1,000 ยูนิตไว้ให้อีก ด้วย รวมทั้งมีศูนย์ชุมชน แหล่งจับจ่าย หอประชุมและเวทีกลางแจ้ง
และแหล่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ สำหรับชุมชนกว่า 2,000 คน
ถ้าจะมองกันในมุมมองหนึ่งก็คือการขายโครงการที่อยู่อาศัยอีกรูปแบบหนึ่ง
ก็อาจจะไม่ผิดนัก
โรงเรียนตรีทศ ทรี-เจเนอเรชั่นนี้ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ริมท่ามกลางขุนเขาและแนวไม้
ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 20 กิโลเมตร ในพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ โรงเรียนนี้ไม่ใช่โรงเรียนนานาชาติ
เพราะหลักสูตรการสอนมีทั้งหลักสูตรภาษาไทยตามมาตรฐานกระทรวงศึกษาธิการ และหลักสูตรภาษาอังกฤษตามระบบการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา
"ทุกวันนี้การอยู่ร่วมกันแบบสังคมไทยในสมัยก่อนทำได้ยากขึ้นทุกที
เพราะวิถีการใช้ชีวิตของคนได้เปลี่ยนไป โรงเรียนที่นี่เปิดโอกาสให้พ่อแม่หรือปู่ย่าตายายมาอาศัยในโรงเรียนกับลูกหลานได้เพื่อใช้ชีวิตร่วมกัน"
ม.ล.ตรีทศยุทธพูดถึงแนวความคิดในการทำโรงเรียน
โครงการนี้จะเปิดบริการได้ในปี 2540 ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าในปีการศึกษาแรกจะมีนักเรียนประมาณ
400-500 คน โดยมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นประธานกรรมการการปกครองส่วนคณะกรรมการปกครองท่านอื่นๆ
ก็เช่น คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อมเรศ สศิลาอ่อน ดิลกมหาดำรงกุล
เป็นต้น
คงต้องคอยดูกันว่าจากแนวความคิดการอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุขของคน 3 รุ่นที่ทางหม่อมตรีได้นำเสนอออกสู่ตลาดในรูปแบบของโรงเรียนนั้นได้รับการตอบสนองจากคนในสังคมนี้เป็นอย่างไร
แต่หากโครงการนี้สำเร็จโครงการตรีทศ ทรี-เจเนอเรชั่น แห่งที่ 2 ในระดับมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นแน่นอน
ในที่ดินบนเกาะภูเก็ต
โครงการตรีทศ ทรี-เจเนอเรชั่นนับเป็นโครงการแรกของการกลับมาของหม่อมตรี
แต่แล้วก็มีสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเมื่อหม่อมตรีและบริษัทตรีทศ ทรี-เจเนอเรชั่นเทกโอเวอร์หนังสือพิมพ์"สยามโพสต์"รายวัน
หนังสือพิมพ์ที่อยู่ในช่วง "ร้อน" ที่ สุดทั้งในแง่การเสนอข่าวและผลประกอบการ
จากสถาปนิก ก้าวสู่ความเป็นนักพัฒนาที่ดินมาหลายสิบปี วันนี้การรุกเข้าธุรกิจสิ่งพิมพ์ในยุคที่การแข่งขันเข้มข้นไม่แพ้ธุรกิจอื่นๆ
เป็นเรื่องที่ใครๆ สงสัย (อ่านในล้อมกรอบ)
ส่วนงานทางด้านพัฒนาที่ดินในรูปแบบใหม่นั้นขณะนี้หม่อมตรี กำลังให้ความสนใจกับซิตี้คอนโด
หรือคอนโดมิเนียมในเมือง โดยที่เมื่อปีที่แล้วได้ทำโครงการ สมาร์ทลีฟวิ่ง
บนถนนศรีอยุธยาซอย 10 ในพื้นที่ 283 ตารางวา เป็นคอนโดขนาดเล็กเพียง 44 ยูนิต
ขนาด 60-90 ตารางเมตรต่อยูนิต ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายคือกลุ่มลูกค้าที่ต้องการที่อยู่อาศัยใกล้ที่ทำงาน
และเป็นรูปแบบคอนโดที่ผุดโผล่ขึ้นมากมายเมื่อประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมา จนถึงปีนี้นักพัฒนาที่ดินหลายรายบอกว่ามันเริ่มจะโอเวอร์ซัฟพลายกันอีกแล้ว
อย่างไรก็ตามความมั่นใจในตลาดว่ายังมีความต้องการแน่นอนยังคงมีอยู่สูง
ซิตี้คอนโดจึงเป็นรูปแบบหนึ่งในการพัฒนาที่ดินของบริษัท ตรีทศฯ และในเร็วๆ
นี้สมาร์ทลีฟวิ่งแห่งที่ 2 บนถนนสุขุมวิทจะเกิดขึ้น
อีกโครงการหนึ่งที่หม่อมตรีกำลังหาที่ดินและจะเปิดตัวในปีนี้เช่นกันคือ
ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เป็นโครงการคอนโดมีเนียม ที่ห้องไม่ใหญ่นัก
แต่ต้องมีพื้นที่สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกมากเป็นพิเศษในโครงการจะประกอบไปด้วยคลีนิกซึ่งมีหมอประจำคอยดู
และมีที่ออกกำลังกายของผู้สูงอายุ
"อาจจะมีวัดอยู่ข้างบนเลยก็ได้" หม่อมตรีพูดพลางหัวเราะ สำหรับพื้นที่ตั้งโครงการนี้ต้องการคือที่ดินริมแม่น้ำประมาณ
8-10 ไร่ในย่านฝั่งธนซึ่งยังมีราคาที่ดินไม่แพงนักและหาที่ดินได้ง่ายกว่าฝั่งพระนคร
นอกจากโครงการพัฒนาที่ดินดังกล่าวแล้วในขณะนี้หม่อมตรีกำลังรอใบอนุญาตเรือด่วน
ซึ่งถ้าสำเร็จก็หมายความว่าจะเป็นเจ้าของเรือด่วนรายที่ 3 ที่วิ่งในแม่น้ำเจ้าพระยานอกเหนือจากบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา
และบริษัทแหลมทอง เพียงแต่ว่าเรือด่วนของหม่อมตรี จะเป็นเรือด่วนที่เน้นความสวยงามและสะดวกสบายในราคาที่อาจจะแพงกว่าเรือด่วนทั้ง
2 เจ้าที่มีอยู่แล้ว
"จะเป็นแนวความคิดเดียวกับไมโครบัส ของเราก็เป็นไมโครโบท แพงหน่อยอาจจะติดแอร์ด้วยลงทุนเฉพาะตัวเรือก็ประมาณ
2-300 ล้านบาท" ในเรื่องของเรือด่วนขณะนี้ได้ตั้งบริษัทขึ้นมาแล้วชื่อบริษัทไมโครโบทซึ่งคาดว่าจะมีผู้ร่วมทุนประมาณ
3-4 กลุ่มหุ้นส่วนที่แน่นอนแล้วรายหนึ่งคือธนาคารกสิกรไทย
"ธนาคารกสิกรไทยมีสำนักงานใหญ่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านถนนพระรามที่
3 มีคอนโดที่พักอาศัยที่ทำขายให้พนักงานในย่านใกล้ๆ กัน โครงการเรือด่วนนี้ก็จะได้เป็นการบริการพนักงานของเขาด้วย"
หม่อมตรีอธิบายถึงเหตุผลการเข้ามาถือหุ้นของธนาคารกสิกรไทย ส่วนสาเหตุส่วนตัวที่เข้ามาทำธุรกิจนี้เป็นเพราะว่าตนเป็นคนรักธรรมชาติ
และต้องการส่งเสริมให้คนเดินทางโดยทางเรือมากขึ้น
การกลับเข้ามาครั้งนี้หม่อมตรีต้องเรียกทีมงานที่เคยอยู่ร่วมกันมานับ 10
ปีกลับมาหลายคนเพราะช่วงที่ขายบริษัทโมเบลกส์ ยูไอซีให้กับวินัยนั้นพนักงานหลายคนต้องออกไปด้วย
มือขวาคนสำคัญคนหนึ่งคือวรวุฒิ วรรณชัยวงศ์ ผู้จัดการทั่วไปบริษัทโมเบลกส์
ยูไอซีในสมัยนั้นต้องออกไปเป็นผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทคริสเตียนี
แอนด์ นีลเส็น(ประเทศไทย) จำกัด มหาชน หลังจากทำที่ใหม่ได้ปีกว่าหม่อมตรีก็
ชวนกลับมาร่วมงานกันใหม่โดยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทตรีทศ ทรี-เจอเนอเรชั่นคนปัจจุบัน
เช่นเดียวกับวิไล ศรีรัตนสถาวรที่ดูแลทางฝ่ายบัญชีและการเงิน ซึ่งออกไปอยู่ที่เฟิร์สท์
แปซิฟิก และบริษัทคริสเตียนีแอนด์ นีลเส็นกลับมาด้วย เธอบอกกับ "ผู้จัดการรายเดือน"
ว่า
"ตอนแรกที่ออกกันไปเพราะไม่คิดว่าหม่อมท่านจะมาทำโครงการใหญ่ๆ อีก"
นอกจากทีมงานเก่าๆที่มากไปด้วยประสบการณ์แล้ว แล้วปัจจุบันงานขายโครงการเป็นหัวใจสำคัญของบริษัทในช่วงที่มีการแข่งขันกันสูงอย่างมากทีมงานฝ่ายขายวัยหนุ่ม-สาวที่เพิ่งเข้ามาร่วมงานเป็นส่วนหนึ่งที่จะตัดสินความก้าวหน้าบริษัทเช่นกัน
แหล่งเงิน ที่ดิน ทีมงานพร้อมผสมผสานไปกับความเป็นสถาปนิกนักคิดอย่างหม่อมตรี
เป็นฐานสำคัญในการเติบโตของบริษัทประกอบกับนโยบายที่หม่อมตรีกล่าวว่า คงไม่จำเป็นต้องโตแบบก้าวกระโดดแบบบริษัทอื่นๆ
แต่ค่อยเป็นค่อยไปทีละโครงการเท่านั้น
ภาพลักษณ์ของหม่อมตรีและบริษัทตรีทศ ทรี-เจเนอเรชั่นจึงดูเงียบสงบและเคร่งขรึมไม่ก้าวร้าว
ตามสไตล์ของผู้ถือหุ้นใหญ่
แต่การซื้อ "สยามโพสต์" แทบจะเป็นสิ่งตรงข้ามกับที่เขาทำมา
การกลับมาครั้งนี้ของหม่อมตรีจึงไม่ธรรมดาเสียเลย