การขึ้นมารับตำแหน่ง "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง" ของธารินทร์
นิมมานเหมินท์กับสุรเกียรติ์ เสถียรไทยนั้นมีความเหมือนกันคือ เป็น "คนนอก"
แต่ที่ต่างกันมากๆ คือ ธารินทร์เป็นคนนอกที่มีประสบการณ์ในแวดวงสถาบันการเงินมาก่อนและมีบารมี
ขณะที่สุรเกียรติ์ไม่มีทั้งสองอย่าง
ความไม่มีแขนขาในแวดวงการเงินการคลังทำให้สุรเกียรติ์กลายเป็น "คนอ่อนหัด"
ในกระทรวงการคลังและลำบากมากในการบริหารงาน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาทางการเงินเฉพาะหน้า
กล่าวกันว่า สุรเกียรติ์มีปัญหามากในการระดมกำลังจากนายแบงก์มาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ
ขณะที่ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล ปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่ที่สุรเกียรติ์ตั้งมากับมือก็อยู่ในช่วงผ่องถ่ายอำนาจ
ภาวะนี้เองที่ผลักดันให้สุรเกียรติ์ต้องพึ่งพาผู้ว่าวิจิตรแบบเต็มตัว อีกทั้งสายสัมพันธ์แต่เก่าก่อนที่สุรเกียรติ์เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกที่มีส่วนผลักดันอย่างสำคัญให้วิจิตรเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ
แหล่งข่าวกล่าวว่า เหตุการณ์ที่แสดงถึงความ "อ่อนหัด" อีกประการคือ
การตัดสินใจ "เชือด" เอกกมลแบบเหตุการณ์พาไป
กรณี "ดาบสอง" ปลดจากรองผู้ว่าแบบ "มีความผิด" นั้น
บางกระแสเสียงกล่าวว่า ผู้ว่าวิจิตรเป็นผู้เสนอ ขณะที่แหล่งข่าวกล่าวว่า
เดิมทีนั้นผู้ว่าวิจิตรเป็นผู้เสนอจริง แต่ให้ปลด "เพื่อความเหมาะสม"
มีบำเหน็จบำนาญ
แต่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีการซักถามกันมากว่าเกิดอะไรขึ้น และมีความจำเป็นเพียงใด
ด้วยความมั่นใจในข้อมูล สุรเกียรติ์จึงยืนยันว่ามีข้อมูลการกระทำความผิด
รัฐมนตรีท่านอื่นจึงต้อนทันทีว่า เมื่อทำความผิดก็ต้องดำเนินคดีและปลดแบบไม่มีบำเหน็จบำนาญซึ่งเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่เอกกมลสะสมจากการทำงาน
25 ปี ตรงนี้เป็นจุดรุนแรงกว่าที่สุรเกียรติ์และผู้ว่าวิจิตรตั้งใจไว้ก่อนหน้ามาก
"ความอ่อนหัดของสุรเกียรติ์ก็คือมีความเป็นนักกฏหมายมากเกินไป"
แหล่งข่าวให้ความเห็น
สุรเกียรติ์อาจจะถูกทุกอย่างในแง่ของกฏหมาย มีข้อมูล มีหลักฐานครบถ้วนก่อนที่จะตัดสินใจ
แต่ในแง่การเมือง และในแง่สาธารณะ สุรเกียรติ์มีแต่ "ติดลบ"
แต่แหล่งข่าวระดับวงในรัฐบาลกลับมองตรงกันข้าม แหล่งข่าวยืนยันว่า สุรเกียรติ์เป็นนักการเมืองที่เป็นยิ่งกว่านักการเมือง
"เขาถูกเลี้ยงมาเพื่อเป็นนักการเมือง"
สุรเกียรติ์มีสายสัมพันธ์กับทุกระดับอย่างแน่นแฟ้น ฉลาดที่จะเลือกใช้คำพูดมีมาดที่สุขุม
สงบ และไม่สะทกสะท้านเลยยามเมื่อถูกสาธารณชนจับตาหรือตกอยู่ในวงล้อมของสื่อมวลชน
ในกระทรวงการคลัง ใช่ว่าสุรเกียรติ์จะไม่มีแขนขา คุณพ่อของเขา "สุนทร
เสถียรไทย" เคยเป็นรองปลัดกระทรวงการคลังเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมาตลอดชีวิต
ย่อมรู้จักและรู้วิธีที่จะเลือกใช้คน เพียงแต่ในช่วงาวลานี้สุรเกียรติ์เลือกที่จะใช้แบงก์ชาติ
การเข้าถึงบรรหารและประคับประคองจนยึดทำเนียบรัฐบาลในที่สุด ไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญของสุรเกียรติที่ย่อมมองการณ์ไกล
อีกทั้งเป็นผู้เจรจาประนีประนอมผลประโยชน์ของ 7 พรรคจนจัดตั้งรัฐบาลในที่สุด
ไม่ใช่เป็นเพราะความเป็นนักการเมืองของสุรเกียรติ์กระนั้นหรือ?
"สุรเกียรติ์เป็นคนที่สร้างภาพได้เก่งมาก" แหล่งข่าวใกล้ชิดกล่าว
เขายืนยันว่าสุรเกียรติ์จับประเด็นเร็ว กระชับและนำเสนอได้อย่างน่าสนใจโดยเฉพาะการนำเสนอในครม.
ขณะที่ผู้ใกล้ชิดสุรเกียรติ์อีกรายหนึ่งให้ความเห็นว่า สุรเกียรติ์ไม่ใช่
"ล็อบบี้ยิสต์"อย่างที่คนเข้าใจ
"สุรเกียรติ์เป็นนักเจรจาต่อรอง" เขายืนยันและว่า ล็อบบี้ยิสต์ไม่ได้ทำอะไรมากกว่าการแจกเงินรัฐบาลหรือฝ่ายตรงข้ามแต่นักเจรจาต่อรองไม่ใช่คนแจกเงิน
แหล่งข่าวกล่าวว่า สุรเกียรติ์เป็นนักเจรจาต่อรองที่เก่งมาก โดยเฉพาะการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
เพราะความเป็นนักกฏหมายและความใจเย็น เขาเจรจาสำเร็จหลายๆเรื่องในสมัยอยู่บ้านพิษณุโลก
ความแตกต่างอยู่เพียงแค่ว่า นักเจรจาต่อรองนั้น ต่อรองกันได้ในที่ลับแต่รัฐมนตรีคลังต้องทำทุกอย่างอย่างโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับของสาธารณขน
สุรเกียรติ์อาจจะไม่เข้าใจความแตกต่างตรงนี้เท่านั้นเอง !
อะไรจะเกิดขึ้น ?
ก.ล.ต.กลายเป็นองค์กรที่บอบช้ำจากกรณีปลดเอกกมลอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นมีคำถามมากมายเกี่ยวกับองค์กรแห่งนี้
เอกกมลนั้นถูกปิดประตูที่จะกลับมาสู่ก.ล.ต.อย่างสมบูรณ์แล้ว
กล่าวกันว่า ประเด็นต่างๆที่หยิบยกขึ้นมาซักฟอกและแสวงหาข้อเท็จจริงในเวลานี้ไม่ได้ช่วยเอกกมลมากมายนัก
โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาทของฝ่ายค้าน
ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือ ล้มรัฐบาลบรรหาร หรือไม่ก็ปลดสุรเกียรติ์โดยชูภาพของเอกกมลว่าเป็นคนดีที่ถูกรังแก
"หลังเอกกมลถูกปลด ไม่มีใครช่วยจริงๆ วิโรจน์ นวลแขเป็นเพียงคนเดียวที่ช่วยเอกกมลขณะที่คนอื่นไม่กล้าเพราะเท่ากับเป็นศัตรูกับแบงก์ชาติ
แต่เอกกมลมีลูกน้องที่น่านับถืออย่างดร.ประสาน ซึ่งเป็นตัวชนยามเกิดข้อขัดแย้ง
หากก.ล.ต.ไม่มีประสานทุกอย่างจบ" แหล่งข่าวในภัทรธนกิจเล่าให้ฟัง
ดร.ประสานคือเสาหลักของก.ล.ต.ในวันนี้ที่ยืนยันว่าถ้าจะให้ก.ล.ต.ปลอดจากการเมืองนั้นทำไม่ได้
เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องพัฒนาประเทศ แต่จะทำอย่างไรให้โปร่งใสและนักการเมืองแทรกแซงโดยใช้อำนาจไม่ได้
คำตอบมิใช่อยู่ที่วิธีการแก้กฏหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
แต่อยู่ที่ผู้นำที่ปกป้องสถาบันไว้อย่างชาญฉลาด
ขณะที่กรรมการก.ล.ต.หลายคนที่เป็น "ผู้ใหญ่" แต่กลับไม่แสดงปฏิกิริยาใดๆ
ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
คนในกล่าวว่า กรรมการหลายท่านเข้าใจสถานการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น และยอมรับว่า
เวลาของเอกกมลหมดแล้ว ค้านไปก็ไร้ประโยชน์ ส่วนเรื่องการปลดรองผู้ว่าอย่างรุนแรงเกินไปนั้น
ไม่เกี่ยวกับกรรมการก.ล.ต.
ต่อจากนี้ "ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา" จะได้เป็นเลขาธิการก.ล.ต.ตัวจริงหรือไม่
เป็นคำถามที่น่าสนใจ
หลายคนไม่เชื่อว่าปกรณ์จะได้เป็นเลขาธิการ เพราะโดยส่วนตัวปกรณ์ก็ไม่ได้คาดหวังที่จะมานั่งตรงนี้
อีกทั้งการทำงานที่ผ่านมาปกรณ์ก็ไม่มีอะไรโดดเด่น
"เลขาธิการก.ล.ต.ต้องเป็นคนที่คลังแต่งตั้งเข้ามา คนที่จะไปต้องเป็นคนนอกที่มีลักษณะนุ่มนอกแข็งใน
ที่สามารถทำงานร่วมกับดร.ประสานได้ และเป็นคนที่สามารถคานอำนาจกับผู้ว่าวิจิตรได้อย่างดี"คุณสมบัติเช่นว่านี้เป็นสิ่งที่คนในวงการจับตามอง
อย่างไรก็ตามทฤษฎี "การคานอำนาจ" ระหว่างกระทรวงการคลัง-แบงก์ชาติ-ก.ล.ต.ที่เกิดขึ้นในสมัยเอกกมลอาจเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว
เมื่อสุรเกียรติ์และผู้ว่าวิจิตรจับมือกันอย่างเหนียวแน่น
ดังนั้นเลขาธิการก.ล.ต.คนต่อไปต้องเป็นคนที่ทั้งคลัง และแบงก์ชาติสบายใจที่จะคุยด้วย
ซึ่งไปๆ มาๆ ปกรณ์ก็อาจจะได้เป็นจริงๆ ขึ้นมาก็ได้ เพราะผู้ว่าวิจิตรเสนอให้มารักษาการด้วยตนเอง
และสุรเกียรติ์ก็อาจจะยอมรับข้อเสนอของผู้ว่าวิจิตรหากไม่มีปัจจัยอื่นเปลี่ยนแปลง
แม้ว่าปกรณ์จะไม่อยู่ในสายตาของผู้คนในวงตลาดหุ้นก็ตาม
ในเวลานี้ใครต่อใครคาดกันว่าเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสุรเกียรติ์คลอนแคลนเต็มที
"นายกฯ บรรหารคงจะต้องปลดสุรเกียรติ์ออก เพราะอยู่ไปมีแต่จะหาเรื่องมาให้แก้ปัญหาไม่หยุด"
แหล่งข่าวให้ทัศนะ
ประกอบกับภาพพจน์ของสุรเกียรติ์และความยอมรับจากสถาบันการเงินมีแต่จะตกต่ำลง
รวมทั้งมีเรื่องอื้อฉาวอื่นๆ ที่สุรเกียรติ์เป็นเป้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
แต่คนในรัฐบาลกลับมองตรงข้าม
"ถ้านายกฯบรรหารจะปลดสุรเกียรติ์หรือสุรเกียรติ์จะลาออก เขาออกตั้งแต่มารับตำแหน่งแล้วหุ้นตกอย่างแรงแล้วหุ้นตกอย่างรุนแรงแล้ว"แหล่งข่าวกล่าว
หลังจากปลดเอกกมลมีการคาดการณ์ว่าความไม่โปร่งใสของรัฐบาลชุดนี้จะทำให้สถานการณ์หุ้นตกต่ำ
แต่ปรากฏว่าภาวะหุ้นที่พุ่งทะยานอย่างร้อนแรงในสัปดาห์แรกของปี 2539 นี้
เพียงสามวันทำการสูงถึง 83.42 จุด ปิดที่ 1,364.23 จุด มูลค่าซื้อขายรวม
47,383.38 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติหวนกลับมาซื้อสุทธิ 9,535.43 ล้าน
ตัวเลขดัชนีหุ้นที่พุ่งทะยานกลายเป็นความมั่นใจที่ชุบชีวิตสุรเกียรติ์บนเก้าอี้ตำแหน่งทางการเมืองให้เนิ่นนานออกไปจนสามารถกุมสภาพได้
บรรหารตระหนักดีในข้อนี้ที่ตนเองเคยประสบสมัยเป็นรมว.คลังที่เคยถูกปรามาสไว้
แต่ยุทธวิธีซื้อเวลาด้วยสไตล์บรรหาร จนกระทั่งตัวเลขฐานะการคลังออกมาดีก็รอดตัวไป
ความฉลาดของสุรเกียรติ์ อยู่ที่"ซื้อเวลา"ให้นานมากที่สุด และใช้จุดแข็งด้านกฏหมายสร้างความชอบธรรม
ที่ใช้อำนาจเพียงให้เขาพ้นระยะน่าหวาดเสียวริมหน้าผา และได้ตีตื้นคะแนนนิยมจากจุดติดลบที่ตกต่ำสุดๆ
ในช่วงแรกที่รับตำแหน่งใหม่ !
บรรหารเดินเกมอย่างฉลาด เมื่อเลือก "อำนวย วีรวรรณ" รองนายกรัฐมนตรีเข้ามารับผิดชอบและกำกับดูแลนโยบายการคลัง
ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนว่าสุรเกียรติ์กำลังย่ำแย่และถูกโจมตีขนานใหญ่
อำนวยเองก็กระตือรือร้นอยากจะคุมคลังเป็นอย่างมาก ด้วยการช่วงชิงโอกาสการนำในกระทรวงการคลังรุกเร็ว
เขาเดินทางไปเยี่ยมแบงก์ชาติและสำนักงาน ก.ล.ต.อย่างทันที
"นายกรัฐมนตรีท่านได้มอบหมายให้คุณอำนวยทำหน้าที่กำกับตามสายงานเท่านั้น
ไม่ใช่สั่งราชการที่เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรี เพราะตามกฏหมายก็กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าใครเป็นผู้สั่งราชการ
ผู้ว่าแบงก์ชาติขึ้นกับใคร ก.ล.ต.ขึ้นกับใคร" สุรเกียรติ์ยึดหลักกฎหมายเหนียวแน่น
"ไม่มีทางที่อำนวยจะมาแทนสุรเกียรติ์หรอก" วงในยืนยัน
แน่นอนระหว่างสุรเกียรติ์กับอำนวยบรรหารย่อมนึกถึงสุภาษิตไม้อ่อนดัดง่ายจึงเลือกสุรเกียรติ์
เป็นรมว.คลังแทนที่จะเป็นอำนวย วีรวรรณ หัวหน้าพรรคนำไทย
เพราะควบคุมอำนวยไม่ได้ แต่คุมสุรเกียรติ์ได้ !
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งบรรหารและสุรเกียรติ์ไม่ได้สนใจต่อกระแสความไม่พอใจของสาธารณะ
เพราะหากสนใจ พวกเขาก็คงไม่ปลดเอกกมลและไม่ทำอะไรอีกหลายๆ เรื่อง สิ่งที่เขาสนใจคือท่าทีของ
7 พรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า
"สุรเกียรติ์ยอมลงทุนทำทุกอย่างให้บรรหาร แล้วบรรหารจะไปปลดทำไม เก้าอี้ของสุรเกียรติ์ตอนนี้มั่นคงเสียยิ่งกว่าตอนเข้ามาใหม่ๆ
ด้วยซ้ำ"
การคาดการณ์นี้เป็นเรื่องท้าทายมากต่อสายตาสาธารณชน และอาจจะผิดทันทีหากสุรเกียรติ์ลาออก
หรือมีการเปลี่ยนแปลงในคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้หรือเร็วๆ นี้
แต่เป็นการคาดการณ์ที่น่าสนใจไม่ใช่น้อยทีเดียว !
สำหรับเก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติจะเป็นเช่นไร ?
หลายคนมองว่า ทั้งสุรเกียรติ์และผู้ว่าวิจิตรต่างลงเรือลำเดียวกันแล้ว
อย่างไรก็ไม่ทิ้งกันแน่ ยิ่งในภาวะที่สุรเกียรติ์ต้องพึ่งพิงแบงก์ชาติมากขนาดนี้ยิ่งเป็นไปไม่ได้
ผู้ว่าวิจิตรกลายเป็นผู้ที่กุมกลไกทั้งด้านตลาดเงินและตลาดทุน อีกทั้งเป็นบุคคลที่สุรเกียรติ์ต้องพึ่งพิงมากที่สุดในเวลานี้
มีปัจจัยบางประการที่อาจจะเปลี่ยนไปเพราะหลังจากการปลดเอกกมล ไม่ว่าเอกกมลจะผิดหรือไม่ก็ตาม
ภาพพจน์ของผู้ว่าการแบงก์ชาติคนปัจจุบันได้ตกต่ำลงอย่างถึงขีดสุด
สาธารณชนมองว่าผู้ว่าวิจิตรรังแกลูกน้อง โดยใช้เครื่องมือของรัฐคือสำนักข่าวกรองแห่งชาติเป็นเครื่องมือ
และยืมมือนักการเมือง "เชือด" และอีกบางด้านก็เห็นว่าผู้ว่าวิจิตรตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองเพื่อ
"เชือด" เอกกมล
ความไม่เข้าใจเกิดขึ้นว่า ทำไมผู้ว่าวิจิตร จึง "จับผิด" เฉพาะบุคคลและให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงองค์กร
โดยยึดมั่นอย่างแท้จริงว่าข้อมูลที่ตนเองได้มานั้นถูกต้องอย่างสมบูรณ์ โดยไม่ให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
ชี้แจง
ผู้ว่าวิจิตรกลายเป็น "ตัวตลก" ต่อสาธารณชนมากขึ้น เมื่อออกแถลงการณ์ไม่ตรงกับคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
จนรัฐมนตรีต้องจับผู้ว่าการแบงก์ชาติมานั่งแถลงคู่กัน
กลายเป็นว่า ผู้ว่าการแบงก์ชาติต้องอยู่ใต้อำนาจของรัฐมนตรีคลัง และคอยพูดจาไปในทางเดียวกัน
ขณะเดียวกันผู้ว่าวิจิตรก็กำลังถูกจ้องมองอย่างระแวงจากภายในแบงก์ชาติว่าจะมีการเมืองอะไรเกิดขึ้นบ้างไหมในแบงก์ชาติ
ในปัจจุบันสุรเกียรติ์ย่อมสนับสนุนวิจิตรเต็มที่ถ้าเอื้อประโยชน์ แต่ในอนาคตเมื่อสุรเกียรติ์สั่งสมบารมีอำนาจทางคลังได้มากขึ้นๆ
ถึงเวลานั้นผู้ว่าการแบงก์ชาติอย่างวิจิตรอาจจะลำบากที่จะดำเนินนโยบายการเงินและประคองตัวได้อย่างราบรื่น
หลายคนเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลานับต่อจากนี้ ผู้ว่าวิจิตรอย่าได้พลาด เพราะถ้าพลาดอาจจะ"รับ"แต่เพียงผู้เดียว
ประกอบกับปํญหาเศรษฐกิจที่อาจจะรุมเร้ามากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง
ผู้เชี่ยวชาญให้ทัศนะว่า ผลงานนโยบายทางการเงินของวิจิตรในช่วงที่สุรเกียรติ์เป็นรมว.คลังดำเนินไปในวิธีการเดียวกันกับสมัยธารินทร์เป็นรมว.คลัง
ในการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน
เพียงแต่ยุคของสุรเกียรติ์ ลักษณะนโยบายทั้งด้านการเงินและการคลังซึ่งว่าด้วยภาษีและงบประมาณไม่เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน
ทั้งๆที่ส่วนผสมของยาแก้เศรษฐกิจนี้ต้องผสมสัดส่วนได้พอเหมาะ ทำให้แก้ปัญหาจุดหนึ่งแต่ไปเป็นปัญหาอีกจุด
ถ้าสภาพคล่องเกิดปัญหา ฐานะการเงินที่ฝืดเคือง และปัญหาขาดดุลของประเทศอาจจะทำให้นักการเมืองอย่างสุรเกียรติ์
จำเป็นต้องดำเนินนโยบายให้มีประสิทธิภาพที่ตอบสนองการอยู่รอดทางการเมืองของรัฐบาล
มากกว่านโยบายเสถียรภาพการเงิน
เป็นที่หวังว่า สามสถาบันการเงินการคลังหลัก คลัง-แบงก์ชาติ-ก.ล.ต.จะต้องคานอำนาจให้สมดุลเพื่อประสิทธิภาพในการจัดการปํญหา
แต่ถ้ารัฐมนตรีคลังอย่างสุรเกียรติ์จะอำนาจแทรกแซงบีบบังคับให้ทุกหน่วยงานสนองตอบนโยบายทางการเมือง
ถ้าบรรหารและสุรเกียรติ์ยังไม่พ้นตำแหน่งด้วยปัจจัยทางการเมืองอื่นๆ เสียก่อน
ความเสี่ยงที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าแบงก์ชาติอาจปะทุขึ้น
ในอนาคตมวยเอกคู่ใหม่อาจจะเป็น"สุรเกียรติ์-วิจิตร"ก็ได้ ใครจะไปรู้