สืบเนื่องจากคำถามในคอลัมน์นี้เมื่อสองสามฉบับที่ว่า อินเทอร์เน็ตจะมาแทนที่หนังสือพิมพ์กระดาษหรือนิตยสารเล่มหรือไม่นั้น คำถามที่ท้าทายบรรณพิภพครั้งใหม่กลับอยู่ที่ว่า หนังสือเล่มจะถึงคราสิ้นสุดความขลังที่มีมายาวนานหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์กำลังก้าวข้ามมาในพื้นที่ของหนังสือเล่มมากขึ้นในทุกวันนี้
จริงๆ แล้วสิ่งที่เรียกว่า หนังสือ ได้อย่างเต็มปากนั้นมีมานาน มากแล้วตั้งแต่สมัยอียิปต์ที่ใช้กระดาษปาปีรุส (Papyrus) ซึ่งต้องรวม ถึงยุคสมัยที่ตัวอักษรเริ่มถูกคิดค้นและนำมาใช้กันอย่างเป็นทางการ แต่การเปลี่ยนแปลงที่ถือว่าทำให้วงการหนังสือก่อร่างสร้างตัวอย่างเป็นหลักเป็นฐานนั้นน่าจะเป็นยุคสมัยที่หนังสือได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเมื่อมีการผลิตแท่นพิมพ์ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิต หนังสือลดลงรวมถึงระยะเวลาในการผลิตที่สั้นลงด้วย การสร้างแท่นพิมพ์ของกูเทนเบิร์ก (Guttenberg) เป็นการเปิดกว้างวงการหนังสือให้ขยายไปสู่ชาวบ้านร้านตลาดมากขึ้น และถือเป็นการทำให้วงการหนังสือมีความหลากหลายและเติบโตมาในทุกวันนี้
แต่ปรากฏการณ์ของอินเทอร์เน็ตและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายของอินเทอร์เน็ตก็ทำให้วงการหนังสือที่ไม่ใช่กระดาษเติบโตอย่างรวดเร็วมากกว่ายุคสมัยแท่นพิมพ์ของกูเทนเบิร์กเสียด้วยซ้ำ อินเทอร์เน็ตทำให้คนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการทำอะไรก็ตามที่เทคโนโลยีอนุญาตให้ทำ และอินเทอร์เน็ตเปิดช่องว่างไว้
เว็บบอร์ด ไดอารีออนไลน์ มาจนถึงบล็อกในทุกวันนี้ทำให้คนระดับล่างที่สุดของสังคมอินเทอร์เน็ตก็มีสิทธิ์มีเสียงเหมือนกันทุกคน ตราบใดที่อินเทอร์เน็ตยังเปิดกว้างมีความเป็นประชาธิปไตยสูงเหมือนอย่างในทุกวันนี้
แต่ตอนนี้วงการหนังสือที่เป็นกระดาษ ก็กำลังจะต้องสั่นคลอนครั้งใหญ่ มากกว่ายุคสมัยที่อินเทอร์เน็ตคุกคามวงการหนังสืออย่างหนักหน่วงเสียด้วยซ้ำ เพราะแม้อินเทอร์ เน็ตจะมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากมายก็ตาม แต่อินเทอร์เน็ตก็ยังไม่สามารถแทนที่หนังสือ ได้เสียที โดยเฉพาะช่วงระยะเวลากว่าสิบปีหลังสุดที่เป็นช่วงระยะเวลาที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนที่สุด ที่สำคัญอินเทอร์เน็ตกลับมีส่วนช่วยทำให้วงการหนังสือขยายตัวอย่างกว้างขวางกว่าเดิม ช่วยเพิ่มยอดการผลิต และช่วย กระจายหนังสือให้ไปสู่หมู่ชนที่กว้างใหญ่ขึ้น ศักยภาพของอินเทอร์เน็ตช่วยสร้างช่องทางกระจายหนังสือในระดับที่เราคงคิดหาช่องทางในลักษณะเดียวกันนี้ไม่ได้ไปอีกหลายปีเป็นแน่
เจฟฟ์ เบซ็อส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้ง Amazon.com กำลังพยายามนำเสนอของเล่นใหม่ที่อาจจะไม่ใช่เป็นแค่เพียงของเล่นเท่านั้น Kindle เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการอ่าน หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ให้ใกล้เคียงหนังสือจริงมากที่สุด โดยไม่ใช่เป็นแค่การอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์แบบที่เราทำๆ กันมาเท่านั้น
บางคนเรียก Kindle ว่า iBook โดยคาดหวังว่ามันจะมาสร้างปรากฏการณ์ในลักษณ์เดียวกับที่ iPod ทำได้โดยมาพลิกกลับอุตสาหกรรมหนังสือโดยผสมผสานกับความเป็นแฟชั่นของเครื่องมือและคุณสมบัติเชิงดิจิตอลมากมายที่จะทำให้มันเป็นห้องสมุด เคลื่อนที่มากกว่าหนังสือเล่มเดียวที่หิ้วไปไหน มาไหนได้สะดวกใจ
Kindle ถูกตั้งราคาไว้ที่ 399 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเท่าๆ กับราคาของ iPhone โดยผู้ใช้ สามารถดาวน์โหลดหนังสือทั้งเล่มมาใส่ไว้ใน Kindle ได้ในเวลาไม่กี่นาที โดยจะมีหนังสือใหม่ๆ หนังสือเบสต์เซลเลอร์ รวมถึงหนังสือเล่มกระดาษที่ได้รับความนิยมเล่มอื่นๆ โดยคิดที่ราคาเล่มละ 9.99 เหรียญสหรัฐเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และบล็อกที่สามารถใช้ Kindle ในการสมัครสมาชิกรายเดือนหรือในลักษณะต่างๆ ซึ่งบริการสมัครสมาชิกของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และบล็อกนี้ถือเป็นก้าวที่กล้าของ Amazon. com โดยเฉพาะในยุคสมัยปัจจุบันที่การอ่าน เรื่องราวในบล็อกยังเป็นเรื่องที่ไม่มีค่าใช้จ่ายมาเกี่ยวข้อง ในขณะที่หนังสือพิมพ์รายใหญ่ๆ ที่เคยเก็บค่าบริการออนไลน์ก็มีแนวโน้มจะให้ บริการฟรีมากขึ้นเรื่อยๆ
จริงๆ แล้ว มีการพูดถึงหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มานานแล้วและมีการวิเคราะห์กันอย่างยาวนานแล้วว่า หนังสือดิจิตอลนี้จะมาแทนที่หนังสือกระดาษจริงๆ แต่การเปิดตัวหนังสือดิจิตอลที่ผ่านๆ มาก็ไม่ได้ทำให้การคาดการณ์เหล่านี้ถูกต้องสักครั้ง ปัญหาของหนังสือดิจิตอลที่ยังไม่สามารถมาแทนที่หนังสือจริงๆ ได้สักทีอยู่ที่ตัวอักษรที่เราต้องดูผ่านเครื่องอ่านหนังสือดิจิตอลซึ่งทำให้คนอ่านปวดตาและทนอ่านหนังสือดิจิตอลได้ไม่ทนเหมือนอ่านหนังสือกระดาษ ยิ่งทุกวันนี้ที่หนังสือพิมพ์พิมพ์ด้วยกระดาษถนอมสายตาก็ทำให้คนอ่านอ่านได้ทนทานมากขึ้น ที่สำคัญแฟนๆ หนังสือรวมถึงหนอนหนังสือทั้งหลายให้ความเห็นว่า หนังสือดิจิตอลทำให้ประสบการณ์ในการอ่านหนังสือที่เคยมีกับหนังสือกระดาษสูญหาย ไป เพราะประสบการณ์หรือความรู้สึกใดๆ ที่มีต่อการอ่านหนังสือถือเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ทำให้คนรักหนังสือยังคงอ่านหนังสือมาจนถึงทุกวันนี้ นี่ยังไม่รวมกลิ่น หมึกเก่าๆ ที่ติดมากับหนังสือทุกครั้งที่เราพลิกไปแต่ละหน้า
สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่ยากมากในการทำหนังสือดิจิตอลให้เป็นที่นิยมและแพร่หลาย แต่ความได้เปรียบที่สำคัญของ Kindle คือ รอยหมึกของตัวหนังสือที่ปรากฏบนหน้าจอช่วยให้อ่านง่ายขึ้น ที่สำคัญช่วยถนอมสายตากว่าหนังสือดิจิตอลเล่มอื่นๆ นอกจากนี้น้ำหนัก ของ Kindle ที่หนักเพียง 10 ออนซ์และแบตเตอรี่ที่อยู่ได้นานถึง 30 ชั่วโมงก็เป็นส่วน ประกอบสำคัญอีกส่วนหนึ่ง ปัจจุบัน Amazon. com มีรายการหนังสือดิจิตอลกว่า 88,000 เล่มแล้วและ Amazon.com ก็มีช่องทางกระจายสินค้ามากมายเพียงพอที่จะเผยแพร่สินค้าของพวกเขาในวงกว้าง ถ้าเทียบกับ iPod แล้วถือว่า Kindle มีความได้เปรียบในหลายๆ ข้อที่ทำให้หนังสือดิจิตอลจากค่าย Amazon. com สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการหนังสือครั้งสำคัญ และ Kindle ก็ดูดีกว่าหนังสือดิจิตอลเล่มอื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Sony Reader ของค่าย โซนี่ที่เพิ่งวางตลาดเมื่อปีกลาย ข้อได้เปรียบ สำคัญคือ Kindle ไม่จำเป็นต้องไปดาวน์โหลด หนังสือมาจากคอมพิวเตอร์อีกต่อหนึ่งและยังมีฟังก์ชัน Search ที่ Sony Reader ไม่มี
อย่างไรก็ดี หลายๆ คนยังตั้งข้อสงสัย ว่า Amazon.com เป็นเพียงร้านค้าปลีกสินค้าที่หลากหลายที่เพียรพยายามเข้าเจาะตลาดสินค้าอุปโภค อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ย่อมไม่มีความเข้าใจในตัวตนของหนังสือและมองหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ไม่ต่างอะไรกับสินค้าขายปลีกชิ้นหนึ่ง บนชั้นวางเท่านั้น แต่ Amazon.com เองก็ยืนยันว่า Kindle จะมีความเป็นบริการมากกว่าความเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการอ่านหนังสือ Kindle ยังสามารถเก็บข้อมูลไว้ได้ในตัวจำนวนมาก นั่นหมายถึงเราสามารถขนหนังสือกองโตไปไหนมาไหนกับเราได้ตลอดเวลาในน้ำหนักเพียง 10 ออนซ์เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีระบบสนับสนุนการใช้งานกับ 3G เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้
นอกจากนี้สิ่งที่ Amazon.com จะต้องทำต่อไปก็คือ การมองหาสมการราคาของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่จะซื้อขายกันอย่างน้อย Amazon.com ก็ได้เรียนรู้จากบทเรียนของอุตสาหกรรม ดนตรีที่ต้องเผชิญกับนวัตกรรม MP3 ที่สร้างความสั่นสะเทือนครั้งสำคัญกับวงการเพลงมาแล้ว โดยโมเดลการจ่ายเงินซื้อเพลงออนไลน์ ได้สร้างแรงกดดันและแรงผลักดันในการคิดค้นหาทางเลือกในการฟังเพลงของผู้บริโภคเพื่อหลีกหนีการควบคุมของยักษ์ใหญ่ในวงการ เพลง เมื่อการซื้อขายหนังสือออนไลน์ขยายตัวอย่างกว้างขวางก็อาจ จะเกิดทางเลือกในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นก็ได้
ปัจจุบันกูเกิ้ลมีหนังสือให้อ่านออนไลน์หลายล้านเล่มแล้ว สำนักพิมพ์อย่าง Harvard Business School Press ก็ขายหนังสือแนวธุรกิจโดยแยกเป็นบทๆ ผ่านทางเว็บแล้ว ส่วน Amazon ก็มีให้ อ่านหนังสือบางบทฟรีเป็นตัวอย่าง
อาจจะกล่าวได้ว่า นวัตกรรมทางเทคโนโลยีกำลังจะทำให้อุตสาหกรรมหนังสือเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ในขณะเดียวกัน ตัวตนของหนังสือเล่มก็ยังสร้างกำแพงปกป้องตัวเองที่จะไม่ยอมให้เกิดการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะประสบการณ์ที่ขาดกลิ่นอายของหนังสือแบบที่เป็นมา
บางคนตั้งข้อสังเกตว่า จากข้อจำกัดของวงการหนังสือที่กว่าจะสามารถทำให้ต้นฉบับหนังสือกลายเป็นหนังสือเล่มสำหรับวางขายบนชั้นได้จริงจะต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน หรือหนึ่งปีนั้น ถ้า Amazon มองเห็นถึงช่องว่างในเรื่องเวลา และเอาอินเทอร์เน็ตเข้าไปนำเสนอหนังสือในช่องว่างนั้น ก็อาจจะทำให้ อุตสาหกรรมหนังสือในทุกวันนี้ถึงคราวอวสาน อย่างแท้จริงก็เป็นได้
แต่หลายคนคงไม่ยอม เช่นเดียวกับหนอนหนังสืออีกหลายตัว
อ่านเพิ่มเติม
1. "The future of books : Not bound by anything," The Economist, Mar 22, 2007.
2. "The Book is dead," The Economist, Nov 20, 2007.
3. "Amazon's new toy," The Economist, Nov, 22, 2007.
4. Google Book, http://books.google.com/
5. Kindle, http://www.amazon.com/exec/obidos/tg/browse/-/133141011/ref=topnav_storetab_kinh/102-7514195-7433741
6. Sony Reader, http://www.sonystyle.com/webapp/wcs/stores/servlet/CategoryDisplay?catalogId=10551&storeId=10151&langId=-1&categoryId=8198552921644523779
|