|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2551
|
|
ใครเล่าจะเชื่อว่าประเทศไทยที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแห่งดินแดนสุวรรณภูมิมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จะกลายสภาพเป็นทะเลทรายไปได้
เป็นไปได้อย่างไร
การสำรวจของนักวิชาการกรมพัฒนาที่ดินปรากฏหลักฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงอยู่มิใช่น้อยที่จะเกิดความแห้งแล้งถาวร ถึงขั้นที่ไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้ในหลายพื้นที่ สิ่งที่ทำให้เป็นไปนั้นมีหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ภูมิอากาศทั่วโลก แต่ส่วนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของคนไทยเรานั่นเอง ยิ่งไปกว่าการเมืองน้ำเน่าก็คือ การตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้ง นโยบายการพัฒนาที่ทำลายทรัพยากรอย่างสูญสิ้นไป นอกจากนั้น การทำเกษตรกรรมแบบเร่งรัด การแผ้วถางเพาะปลูกบนพื้นที่ลาดชันโดยไม่มีการป้องกัน การใช้สารเคมีมากเกินไป เหล่านี้ร่วมกันล้วนเสริมให้เกิดการกลายสภาพเป็นทะเลทรายได้อย่างรวดเร็วทั้งสิ้น
ประเทศไทยอยู่ในขอบข่ายที่จะเกิดสภาพการเป็นทะเลทราย เพราะจากการศึกษา สำรวจพบว่าอัตราส่วนน้ำฝนในรอบปีต่อการระเหยและคายน้ำ (annual precipitation/evaporation-transpiration) นั้นมีค่าต่ำกว่า 0.5 ในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและอีสาน นั่นคือ ปริมาณน้ำฝนของเราน้อยกว่าการสูญเสียของน้ำ เมื่อเป็นดังนี้ไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง เราคงหลีกไม่พ้นสภาพทะเลทรายในอนาคต เราจำเป็นต้องตระหนักในเรื่องนี้ก่อนที่จะสายเกินไปและหามาตรการแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมาเฝ้าระวังและป้องกัน
ต้นเหตุ
ต้นเหตุของการกลายสภาพเป็นทะเลทราย คือ การชะล้างพังทลายของดินและคุณสมบัติที่สูญเสียการอุ้มน้ำของดิน เมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา โลกเราเคยมีดินแดนที่เป็นทะเลทรายไม่เกินหนึ่งในสาม แต่จากการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้พบว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่โลกกำลังประสบกับปัญหานี้ ประมาณว่า ทุกๆ ปีมีพื้นที่ 6 ล้านเฮกตาร์ทั่วโลกได้กลายสภาพไปเป็นทะเลทราย (จากรายงานของ UN ในปี 2540)
ปัจจัยที่เร่งให้เกิดสภาพทะเลทรายอย่างรวดเร็วนั้น คือ การหักร้างถางพงทำลายพืชคลุมดิน การทำเกษตรกรรมอย่างเร่งรัดทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของดินและดินแห้งแข็งสูญเสียการดูดซับน้ำ ความแห้งแล้งซ้ำซาก และสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อน น้ำระเหยไปได้มากขึ้น
อย่างที่รู้ๆ กันทั่วไปว่า การลักลอบตัดไม้ การบุกรุกพื้นที่ป่าขยายการเพาะปลูก ไฟป่า การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ การทำรีสอร์ตและสวนสัตว์ไนท์ซาฟารี ทำให้พื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง เกิดการชะล้างพังทลายของดินค่อนข้างสูง เมื่อผนวกกับภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดผลกระทบคือ ความแห้งแล้งและน้ำท่วมใหญ่ อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ทุกวันนี้ นอกจากความแห้งแล้งแล้ว น้ำที่มากเกินไปคือน้ำท่วม น้ำไหลบ่าตามที่สูงและที่ลาดเขา ก็ก่อให้เกิดความแห้งแล้งเสื่อมโทรมของดินได้เช่นเดียวกัน เพราะการที่น้ำไหลบ่าลงมาอย่างรวดเร็วทำให้การซึมผ่านของน้ำลงสู่ใต้ดินลดลง มีน้ำกักเก็บอยู่ใต้ดินลดลง และการชะล้างพังทลายของดินไปกับน้ำหลากทำให้สูญเสียหน้าดินและสูญเสียการอุ้มน้ำในดิน ความชื้นของดินก็ลดต่ำลงด้วย
การพัฒนาเมืองและขยายตัวของเมือง ก็เป็นสาเหตุอีกอันหนึ่งที่ทำให้เกิดความแห้งแล้งขึ้นได้ ในเมืองพื้นผิวดินตามธรรมชาติถูกคลุมทับด้วยคอนกรีต น้ำฝนไม่สามารถซึมลงสู่ใต้ดินได้ แต่ไหลบ่าไปตามถนนลงสู่ท่อระบายน้ำออกสู่แม่น้ำลำคลอง ดินส่วนที่เหลือขาดสารอินทรีย์ที่ช่วยในการอุ้มน้ำ เมื่อดินไม่สามารถดูดซับหรือถ่ายเทความชื้นสู่อากาศได้ จึงเกิดความเสื่อมโทรมของดิน ความชื้นที่ได้รับจากดินและต้นไม้ในเมืองน้อยลงๆ ตามความหนาแน่นที่เพิ่มขึ้น มีไอความร้อน ฝุ่นผง และมลพิษเข้ามาแทนที่
เมืองน่าอยู่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตจึงต้องมีสวนสาธารณะในเมืองอย่างเพียงพอ มีกฎหมายกำหนดอัตราส่วนของพื้นที่อาคารสูง/พื้นที่ราบ ไว้ให้เหมาะสม เช่น ถ้ากำหนดอัตราส่วนไว้ที่ 2:1 คือ พื้นที่อาคาร 2 ไร่ ต้องมีพื้นที่ราบโล่ง 1 ไร่ นอก จากนั้นยังต้องมีผังเมืองที่เคร่งครัดในเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน มิใช่ปล่อยให้เมืองขยายตัวออกไปอย่างไร้ทิศทางและการควบคุม เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล
สถานการณ์โลก
climate change จาก global warming จะทำให้ปริมาณน้ำในโลกลดลง 5-10% เป็นอย่างน้อย การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ โลกเพียง 1 องศาเซลเซียส จะมีผลกระทบต่อพืชคลุมดินและป่าไม้ในเขตร้อนบริเวณเส้นศูนย์สูตรเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศที่ทั้งพืชและสัตว์ต้องมีการปรับตัวจึงจะอยู่รอด ผลผลิตทางการเกษตรก็ลดลง ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นกำลังคุกคามไปทั่วโลก จึงมีการจัดตั้งองค์กร UNCCD (United Nations Convention to Combat Desertification) ขึ้นเพื่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย มีหลายประเทศได้ร่วมให้สัตยาบันไปแล้วรวมทั้งประเทศไทยด้วยอย่างน้อยประเทศไทยก็ยังมีคนเห็นการณ์ ไกลในเรื่องนี้
ส่วนของโลกที่กำลังเผชิญปัญหานี้อย่างรุนแรงคือ บริเวณร้อนแห้งแล้งกึ่งทะเลทรายของทวีปแอฟริกาตอนกลาง โมร็อกโก (Morocco) เป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้และเป็นตัวอย่างของประเทศที่สามารถบรรเทา ปัญหานี้อย่างได้ผล ด้วยการปฏิบัติตามหลักการ 4 ข้อ คือ การพัฒนาชนบทอย่างบูรณาการด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน การลด ความยากจน การบรรเทาภัยแล้งด้วยการจัดการน้ำและดิน และการอนุรักษ์ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ แผนปฏิบัติการนี้อยู่ในความอุปถัมภ์ของ UNCCD และได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลเยอรมัน
โมร็อกโกมีภูมิอากาศอยู่ในเขตร้อนกึ่งแห้งแล้ง (semi-arid region) มีความเสี่ยง สูงต่อภาวการณ์เป็นทะเลทรายสูงอยู่แล้ว และยังมีปัจจัยเร่งอย่างอื่นอีก เช่น การตัดไม้ เพื่อทำฟืน การถางป่าทำการเพาะปลูก การเลี้ยงวัว ไฟป่า การขยายตัวของเมือง ดินเค็ม และลมแรง การหยุดยั้งปัญหานี้เริ่มด้วยการใช้แหล่งน้ำอย่างรอบคอบมีวิจารณญาณ หาวิธีการเพาะปลูกโดยใช้แหล่งน้ำธรรมชาติและ ฝนให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงการใช้น้ำชลประทาน ฟื้นฟูคุณภาพของดินด้วยการใช้ประโยชน์และ อนุรักษ์อย่างเหมาะสม ในด้านการเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นการเกษตรที่สำคัญของประเทศ ก็มีการกำหนดบริเวณทุ่งหญ้าที่ใช้เลี้ยง สนับสนุน องค์กรชุมชนประเภทสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเพื่อลดความยากจน อนุรักษ์ป่าไม้และทรัพยากรที่มีอยู่น้อยนิดอย่างเข้มงวด จัดเป็นทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดของประเทศ ในการดำเนินงานก็เน้นการปฏิบัติแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ มิให้มีการพัฒนา แบบแยกส่วน ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้ เสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชน และรณรงค์ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม รวมทั้งลดจำนวนประชากร
แม้จะนับได้ว่าแผนปฏิบัติการนี้ประสบ ความสำเร็จมากที่สุดของ UN แต่การดำเนินงานก็ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ปัญหาหลักก็คือเรื่องเกี่ยวกับองค์กร การขาด ความรู้ ขาดเงินทุน ซึ่งเป็นธรรมดาของทุกประเทศทุกโครงการ แต่ก็เห็นได้ชัดว่ารัฐบาล โมร็อกโกได้เดินมาถูกทางแล้ว และรัฐต้องดำเนินการต่อไปโดยเน้นการบูรณาการและการมีส่วนร่วมของประชาชน
ความเสี่ยงของประเทศไทย
ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในขั้นที่แห้งแล้งเป็นทะเลทราย แต่ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนโดยตรง ประกอบกับการเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างเร่งรัด มีการขยายตัวไปทุกๆ ด้าน กล่าวโดยรวมก็คือการ เร่งรัดแบบนี้ย่อมเป็นปัจจัยเร่งให้สภาพความแห้งแล้งคืบคลานเข้ามา เราจึงอยู่ในความเสี่ยงมิใช่น้อย
กรมพัฒนาที่ดินได้ทำการศึกษาสำรวจ ความเสี่ยงต่อภาวะการเป็นทะเลทรายของไทย พบว่าดัชนีปริมาณน้ำฝนรายปี/การระเหย-คายน้ำอยู่ในช่วง 0.05-0.65 นั่นหมายถึง อะไรที่ต่ำกว่า 0.5 คือ มีการ ระเหยคายน้ำสูงกว่าการได้รับน้ำฝน จัดว่าเป็นความแห้งแล้ง กระจาย อยู่ในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือและอีสาน (ดูจากแผนที่ประกอบ) แม้จะนับว่าเป็นพื้นที่ไม่มากนัก น้อยกว่า 5% แต่มีการกระจายตัวเป็นวงกว้าง หากไม่มีมาตรการป้องกันอย่างจริงจังก็จะเกิดผลเป็นความแห้งแล้งซ้ำซากถาวร พืชคลุมดินเปลี่ยนไปเพราะดินเสื่อมโทรม เมื่อประกอบกับภาวะโลกร้อนและการพัฒนาที่เร่งรัด ก็จะขยายเป็นวงกว้างออกไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว
ความเสี่ยงที่เราเผชิญอยู่มีค่าอยู่ในช่วงกว้างดังนี้
ค่า 0.65 จัดว่าเป็นปกติของเขตร้อนชื้น (tropical zone)
ค่า 0.5 จัดว่าเป็นเขตกึ่งแห้งแล้ง (semi-arid zone)
แต่ค่า 0.05 จัดว่าเป็นความแห้งแล้งอย่างรุนแรง (hyper-arid zone)
ประเทศไทยเรามีพื้นที่ที่มีค่า 0.05 ทั้งหมดอยู่เพียง 2% เท่านั้น (ปี 2545) แต่เกิดเป็นบริเวณกว้าง ลองเอามาวิเคราะห์ดูแยกเป็นภาค จะเห็นว่ามีนัยสำคัญที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้
ภาคเหนือ ภูมิประเทศเป็นภูเขาต้นน้ำ ลำธาร มีเมืองใหญ่ๆ อยู่ริมแม่น้ำและหุบเขา ที่ผ่านมามีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าบนภูเขา การเพาะปลูกบนที่ลาดชัน การขยายตัว ของเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว (เช่น การใช้พื้นที่ ธรรมชาติเป็นรีสอร์ต สนามกอล์ฟ โรงแรม หมู่บ้านจัดสรร สวนสัตว์ไนท์ซาฟารี) จึงทำให้ ภูมิประเทศและภูมิอากาศเริ่มเปลี่ยนแปลง แม้ว่ายังไม่แสดงสภาพการเป็นทะเลทราย แต่บางพื้นที่ก็เกิดความเสื่อมโทรมถึงเนื้อในโครงสร้างของดิน เช่น พื้นที่หุบเขาในเขตจังหวัดน่าน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรงคือ การเพาะปลูกพืชไร่บนที่ลาดชัน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราจึงได้ยินข่าวน้ำท่วม ดินถล่ม ความแห้งแล้ง ไฟป่า เกิดขึ้นในแถบนี้เป็นประจำทุกปี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดความแห้งแล้งซ้ำซากที่มีนัยสำคัญโดยเฉพาะจังหวัด นครราชสีมา ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ทั้งนี้น่าจะสืบเนื่องมาจากพื้นดินในภาคอีสานมีปัญหาอยู่แล้ว เป็นดินตื้น ดินเค็ม ดินทราย และมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าภาคอื่นๆ ช่วงเวลารับลมมรสุมสั้นกว่า จึงเกิดความแห้งแล้งได้ง่ายกว่า
ภาคตะวันออก ไม่ค่อยมีปัญหาความแห้งแล้งมากนัก เพราะมีปริมาณฝนตกมาก พื้นที่ที่มีปัญหาดินเสื่อมโทรมคือจังหวัดชลบุรี และฉะเชิงเทรา เนื่องจากมีการเพาะปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง มากและมีการใช้ที่ดินหนาแน่นเพื่อการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอยู่อาศัย มีการใช้น้ำมาก จนเกิดการขาด น้ำตามฤดูกาล ในจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด ยังมีความชุ่มชื้น เพราะมีการเพาะปลูก แบบสวนเกษตร เช่น ยางพารา สวนผลไม้
ภาคกลาง ได้รับปริมาณฝนตกเต็มที่ เพราะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทั้งลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ยังมีการเพาะปลูกได้ดีในพื้นที่ทั่วไป เพราะเป็นที่ราบลุ่มดินดี มีน้ำท่วมบ้าง แต่เป็น น้ำท่วมจากการเอ่อล้นของแม่น้ำ มิใช่น้ำท่วม ฉับพลันไหลบ่าจากภูเขา โดยทั่วไปยังมีความ เสื่อมโทรมของดินน้อย แต่ที่เริ่มมีปัญหาหนัก คือ จังหวัดลพบุรีและสระบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับเพชรบูรณ์ในภาคเหนือ และนครราชสีมาในภาคอีสาน มีพื้นที่เป็นลอนลาดเขา มีดินตื้น แต่อากาศดี มีการเพาะปลูก พืชไร่ ทำสวนองุ่น เลี้ยงสัตว์มาก จำเป็นต้อง มีการควบคุมการใช้ที่ดินอย่างเข้มงวดในอนาคต
ภาคตะวันตก พื้นที่ที่เริ่มมีปัญหาเป็นบริเวณกว้าง กระจายตัวอยู่ตั้งแต่แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี มาถึงประจวบฯ เพราะมีการเพาะปลูกในหุบเขาและพื้นที่ลาดชันมาก โดยไม่มีการอนุรักษ์ดินเท่าที่ควร
ภาคใต้ พื้นที่ทั้งหมดยังอยู่ในสภาพที่ชุ่มชื้น พืชเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นสวนเกษตร เช่น ยางพารา สวนผลไม้ จึงมีความเสื่อม โทรมของดินไม่มากนัก ควรป้องกันแต่เรื่องน้ำท่วม เพื่ออนุรักษ์และเฝ้าระวังดินไว้ให้อยู่ในสภาพดีอย่างยั่งยืน
ประเทศไทยควรมีมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังอย่างไร
การแปรสภาพเป็นทะเลทรายมิได้เป็น ปัญหาที่อยู่ไกลตัวคนไทยอีกต่อไป แต่ความตระหนักยังมีอยู่ในวงแคบ อย่างน้อยก็ยังมีหน่วยงานรัฐที่ทำงานใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือกรมพัฒนาที่ดิน ได้ตระหนักให้ความสำคัญและลงมือดำเนินงาน ร่วมกับ UN มีผลงาน "ความแห้งแล้งซ้ำซาก สู่ภาวการณ์เป็นทะเลทรายของประเทศไทย" ออกมา โดยมีการสำรวจและวิเคราะห์ในด้านปริมาณฝนและความเสื่อมโทรมของดิน ใช้ระบบคอมพิวเตอร์และดาวเทียม (Geographic Information System และ Remote sensing) มาช่วยในการศึกษา ได้ผลออกมาเป็นแผนที่ "ความเสี่ยงต่อภาวการณ์เป็นทะเลทราย" เป็นรายภาค ชี้ให้เห็นระดับความรุนแรงและความจำเป็นที่จะต้องป้องกัน
แต่เท่าที่ทำมาก็อยู่ในระดับเริ่มต้นเท่านั้นจำเป็นต้องมีการศึกษาในรายละเอียดต่อไป โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีดัชนีชี้วัดว่ามีความรุนแรง นอกจากนั้นยังต้องดึงหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย และที่สำคัญต้องมีการให้ความรู้ สื่อสารกับชาวบ้าน ประชาชนทั่วไป กระตุ้นให้ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ผู้วางนโยบายตั้งแต่ระดับประเทศและท้องถิ่น ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ ซึ่งถ้าเราลงมือทำในปัจจุบันก็ยังป้องกันได้ เน้นการป้องกันความแห้งแล้งควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
เราจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริงไปไม่ได้ ถ้าประเทศของเราเกิดภัยพิบัติแห้งแล้ง ประชาชนยากจน ผลิตพืชผลไม่ได้ ทั้งนี้ต้องอาศัยวิสัยทัศน์และจริยธรรมของกลุ่มผู้บริหาร ประเทศในเวลานี้ก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด
-------------------
desertification - การกลายสภาพเป็นทะเลทราย คือสภาวะที่สภาพแวดล้อมของพื้นที่สูญเสียความชื้น เพราะขาดน้ำอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดดินแห้งเสื่อมโทรม ภูมิอากาศและพืชคลุมดิน (vegetation) เปลี่ยนไปอย่างถาวร มีสาเหตุมาจากการปรวนแปรไปของวงจรหมุนเวียนของน้ำ (hydrologic cycle) จากที่ที่เคยมีความชื้นเป็นความแห้งแล้ง จากการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม หรือผลจากภาวะโลกร้อนที่บรรยากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น
|
|
|
|
|