ดูเหมือนว่า ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จะแอคทีฟตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะการให้บริการสินเชื่อรายย่อยที่มียุทธชัย เตยะราชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสินเชื่ออุปโภคบริโภคของธนาคารจะขยันขันแข็งเป็นพิเศษ เห็นบอกว่าปีนี้จะรุกสินเชื่อบุคคลอย่างเต็มที่ ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างนั้นเพราะอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนมกราคม ธนาคารก็เปิดบริการเรียกน้ำย่อยตัดหน้าธนาคารหลายแห่งไปเรียบร้อย
แคมเปญชิ้นแรกเปิดตัวสินเชื่อ "I Do" เอาใจคนมีฝัน ทำได้เลย ไม่ต้องรอ เป็นการเอาใจคน 3 กลุ่ม ตามที่ธนาคารอ้างจากผลการสำรวจ กลุ่มนี้ต้องการใช้เงินชัดเจน กลุ่มแรก คนที่ต้องการนำเงินไปซ่อมบำรุงและตกแต่งต่อเติมบ้าน ส่วนกลุ่มที่สอง คนที่ต้องการจะแต่งงาน ฮันนีมูน เดินทางเพื่อท่องเที่ยว ส่วนกลุ่มสุดท้าย คนที่ป่วยหรือคนที่ต้องการดูแลรักษาสุขภาพและดูแลความงาม
"ที่ผ่านมาคนอยากแต่งงาน แต่ต้องรอเก็บเงินอีกหลายปี จึงไม่ได้แต่งงานสักที แคมเปญจึงเป็นทางเลือกของคนที่จะได้แต่งงาน เร็วขึ้น"
ในวันแถลงข่าวจึงไม่แปลกใจที่คอนเซ็ปต์ของงานจะเลือกจัดซุ้มประตูดอกไม้ให้สื่อมวลชนเดินผ่าน และมีเจ้าบ่าว เจ้าสาว มีทั้งนางพยาบาล ช่างต่อเติมบ้าน ช่วยเพิ่มสีสัน แต่อาจจะไม่เข้ากับบรรยากาศมากนัก เพราะเลือกสถานที่จัดงานเป็นสำนักงานบริการของธนาคาร สำนักงานใหญ่ ที่อาคารสาธร ชั้น 1 ก็เลยดูจะแปลกๆ ไปสักหน่อย
แคมเปญ "I Do" ยุทธชัยชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มนี้ว่ามีโอกาสเบี้ยวหนี้น้อย จึงใช้กลยุทธ์ดอกเบี้ยต่ำ และอัตราดอกเบี้ยจะแบ่งตามวงเงินกู้ 4 ระดับ อาทิ วงเงินกู้ 500,000-1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 11.99% ต่อปี วงเงินกู้ 300,000-499,999 บาท ดอกเบี้ย 13.99% วงเงินกู้ 150,000-299,999 บาท ดอกเบี้ย 15.99% และวงเงินกู้ 50,000-149,9999 บาท ดอกเบี้ย 17.99% มีกำหนดระยะผ่อนชำระได้ 60 เดือน หรือ 5 ปี
จะเห็นว่าดอกเบี้ยที่ธนาคารให้กู้จะอยู่ระดับต่ำกว่าดอกเบี้ยสินเชื่อลูกค้าทั่วไปที่ปัจจุบันกำหนดโดยเฉลี่ย 18-28% ส่วนเงื่อนไขผู้กู้จะต้องมีฐานเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท และไม่เสียค่าธรรมเนียมในการสมัคร
ขั้นตอนการขอสินเชื่อจะแบ่งลูกค้าออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ลูกค้ารู้ว่าจะซื้ออะไร ดังนั้นจะต้องติดต่อกับสำนักงานสาขาเพื่อกรอกใบสมัครและยื่นเอกสารที่สำนักงานสาขาของธนาคาร หลังจากนั้นให้นำใบเสนอราคาสินค้าที่ไปติดต่อกับร้านค้านำมายื่น
ลูกค้ากลุ่มที่สอง ลูกค้าที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่สามารถเข้ามาขออนุมัติวงเงินไว้ก่อนล่วงหน้า แล้วนำแบบฟอร์มราคามาให้กับธนาคาร ทั้งสองรูปแบบนี้ธนาคารจะใช้เวลาพิจารณา 3 วัน หลังจากนั้นธนาคารจะส่งแคชเชียร์เช็คไปที่ร้าน
แม้ว่าแคมเปญนี้มีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน ถึงวันที่ 15 กรกฎาคมปีนี้ แต่ยุทธชัยก็ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะมีลูกค้ามาใช้บริการมากน้อยเพียงใด เพราะร้านค้าที่เข้าร่วมแคมเปญมีจำนวน 100 รายส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งไม่สามารถ ครอบคลุมได้ทั่วประเทศ อีกเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าสำนักงานสาขาของธนาคารยังไม่มากนัก ประกอบกับเงื่อนไขการสมัคร และขั้นตอนการยื่นเอกสารจะต้องยื่นไปที่สำนักงานของธนาคารเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนการติดต่อสื่อสารระหว่างธนาคาร ลูกค้า และร้านค้า อาจ กลายเป็นอุปสรรคไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้ ความสำเร็จของแคมเปญนี้จะยาวนานเพียงแค่ 6 เดือนตามกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ หรือจะขยายเวลาเพิ่มขึ้นก็ต้องคอยดูกันต่อไป เพราะ 6 เดือนถือว่าไม่นานจนเกินรอ
|