|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2551
|
|
"DREAM" คำเดียวสั้นๆ ของโซชิอิโร ฮอนด้า บ่งบอกถึงแรงบันดาลใจอันเป็นฝันอันยิ่งใหญ่ (The Power of Dreams) ที่มีพลังขับเคลื่อนจินตนาการให้กลายเป็นจริงได้ โดยปรากฏความหมายสำคัญเป็น the top company of mobilities ของนวัตกรรมยานยนต์หลากหลายภายใต้แบรนด์ Honda นับตั้งแต่ปี 2492 ที่โซชิอิโรผลิตรถมอเตอร์ไซค์คันแรกรุ่น "Dream D Type" -รถยนต์ -รถแข่งฟอร์มูล่าวัน -เครื่องบินฮอนด้าเจ็ทและเครื่องยนต์อเนกประสงค์ (power products) สำหรับเรือยนต์ ปัมน้ำ เครื่องตัดหญ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ฯลฯ รวมถึงการสร้างสรรค์หุ่นยนต์ ASIMO ซึ่งเป็น Advanced technology humanoid robot
ปรัชญาธุรกิจอย่างเข้มข้นของฮอนด้า ที่มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศของยานยนต์ และเน้นสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ (Value Creation) นำวิสัยทัศน์สากลสู่ประเทศ (Glocali-zation) และยึดมั่นพันธสัญญาต่อสังคมอนาคต (Commit-ment for the future) ด้วยคำขวัญว่า "Together for Tomorrow" นั้น มาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Resposibility) ที่ครอบคลุมกว้างตั้งแต่ผู้ถือหุ้น ลูกค้า ดีลเลอร์ ซัปพลายเออร์ พนักงาน สิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชนบ้าน โรงเรียน โดยกิจกรรมเพื่อสังคมของฮอนด้าอยู่ภายใต้หน่วยงานที่ชาวฮอนด้าเรียกว่า "Honda Philanthropy" ซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2500 จนถึงปัจจุบันได้กระจายไปทั่ว 6 ภูมิภาคของโลกที่มีโรงงาน ของฮอนด้า 130 แห่งใน 29 ประเทศ
มร.Hiroharu Suzuki ผู้บริหารระดับสูงที่เป็น General Manager, Philanthropy Office of Japan (HPO-J) ประจำสำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่น ได้เล่าให้ฟังหลังสิ้นสุดงานเยาวชน Honda ASIMO Super Idea Contest ที่เด็กไทย ได้เสนอผลงานร่วมด้วยว่า
"ที่ฮอนด้ามีกิจกรรมสองประเภท อันหนึ่งคือเป็นในรูปของการบริจาคด้วยเงิน (Donation) คืนสู่สังคมนั้นมันชัดเจน และอีกอย่างคือบริจาคในรูปของความรู้ หรือในรูปโครงการกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ซึ่งปัจจุบันที่สำนักงานใหญ่มี 12 โปรเจ็กต์ที่ให้ความสำคัญในสามส่วน คือ ส่วนเกี่ยวกับ การศึกษาของเด็กซึ่งเป็นอนาคต ส่วนเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และส่วนสร้างเสริม awareness เกี่ยวกับการขับขี่อย่างปลอดภัย ฮอนด้าเป็นบริษัทที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันสร้างสังคมที่ดีในอนาคต โดยใช้โปรเจ็กต์สามส่วนนี้เป็นตัวขับเคลื่อน" มร.ซูซูกิเล่าให้ฟัง
อย่างไรก็ตาม ลักษณะการทำงานกิจกรรมเพื่อสังคม ของ Honda Philanthropy ในญี่ปุ่นและต่างประเทศจะเป็น ไปในลักษณะที่เรียกว่า "Glocalization" ที่ปรับกระบวนทัศน์ จัดการกิจกรรมเพื่อสังคมตามโลกาภิวัตน์กับท้องถิ่นให้เหมาะสม เช่น ที่ฮอนด้าญี่ปุ่นผลิตรถทำความสะอาดหาดทราย (beach cleaner) เพื่อเก็บเศษขยะเล็กและก้นบุหรี่ได้ แต่วิธีนี้อาจไม่เหมาะกับหาดทรายพัทยาของไทยที่เศษขยะส่วนใหญ่ที่ทิ้งเกลื่อนกลาดเป็นขวดเบียร์และผู้คนพลุกพล่าน ตลอดทั้งวันทั้งคืน จนยากแก่การทำงานของรถ beach cleaner
สำหรับกลุ่มบริษัทฮอนด้าในภูมิภาคอาเซียนและโอเชียเนีย มีบริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ เป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ กว่า 43 ปี ทำหน้าที่เป็น Hub ศูนย์กลางลงทุนสนับสนุนด้านการผลิตที่ไทย ซึ่งมีโรงงานใหญ่เป็นอันดับหกของฮอนด้าทั่วโลก และเป็น Hub ด้านการส่งออกการตลาดการขายรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์และ เครื่องยนต์ รวมถึงเป็นศูนย์ลอจิสติกส์ ในนามของ Honda's Asian Parts Centre (APC) ที่เปิดไปในปี 2541 ทั้งนี้ปีที่แล้วมูลค่าการส่งออกของฮอนด้ารวมทั้งสิ้นเกือบแสนล้านบาทหรือ 98,800 ล้านบาท
ในประเทศไทย กลุ่มบริษัทฮอนด้าที่เน้นทำกิจกรรมเพื่อสังคมประกอบด้วย 4 บริษัทหลักๆ คือ บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์, บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ซึ่งผลิตและจำหน่ายรถยนต์ได้ครบหนึ่งล้านคันเมื่อปลายปีที่แล้ว, บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่งที่ผลิตรถมอเตอร์ไซค์กับเครื่องยนต์อเนกประสงค์ และบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า ซึ่งบริหารการขายรถมอเตอร์ไซค์
ล่าสุดในเดือนเมษายน 2550 บริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์เพิ่งมีการจัดตั้ง "ฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม" (Social Contribute Bloc) แยกออกมาจากฝ่ายสื่อสารองค์กรอย่างเป็นทางการ โดยมีศิริพร ศรีสุข เป็นผู้จัดการฝ่ายฯ ภายใต้การกำกับดูแลของอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานกรรมการ บริหารอาวุโส บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์
"ส่วนใหญ่กิจกรรมเพื่อสังคมที่เราช่วยเหลือจริงๆ ไม่ค่อยเน้นการประชาสัมพันธ์ เพราะนโยบายของฮอนด้าในอดีตที่ห้าม เราไม่มีวัฒนธรรมแบบคนอื่นที่ทำบุญสามส่วน แต่โฆษณาเป็นเจ็ดส่วน แต่ตอนนี้มุมมองเริ่มเปลี่ยนไปสู่จุดสมดุลระหว่างบริษัทกับสังคม พอตั้งเป็นแผนกนี้เราก็กำลัง ดูว่าในเมืองไทยมีกลุ่มบริษัทฮอนด้า 4-5 บริษัทหลักๆ คนไม่แยกแยะ รู้แต่ว่าเป็นแบรนด์ฮอนด้าก็พอ เราก็จึงทำแบบ synergy ไม่ว่าใครจะทำกิจกรรมก็บอกว่าเป็นฮอนด้า ซึ่งส่งเสริมภาพพจน์ของบริษัทและแบรนด์ฮอนด้าด้วยกัน โดยเน้นการประชาสัมพันธ์มากกว่าโฆษณา ที่ต้องใช้เงินมาก 24-30 ล้าน ผมคิดว่าเอาเงินก้อนนี้ไปใช้ประโยชน์สร้างกิจกรรมเพื่อสังคมดีกว่า" อดิศักดิ์ให้ทัศนะต่อการบริหารจัดการ
งบประมาณที่บริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า รับผิดชอบทำกิจกรรมเพื่อสังคมในนามของกลุ่มบริษัทฮอนด้าทั้งหมด ปีหนึ่งงบประมาณ 98 ล้านบาท ไม่รวมมูลนิธิ ซึ่งปัจจุบันเหลือแค่โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์อย่างเดียวประมาณสิบล้านบาท
สำหรับแนวทางการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของกลุ่มบริษัทฮอนด้าประเทศไทยได้กำหนดไว้ 4 แนวทางเด่นๆ ดังนี้
หนึ่ง-เพื่อการศึกษา (education) เช่น โครงการ Honda ASIMO Super Idea Contest ที่น่าทึ่งกับจินตนาการของเด็กระดับประถมศึกษา ป.1-ป.6 ผู้สร้างสรรค์ ประดิษฐกรรมที่เคลื่อนไหวได้ด้วยวัสดุเหลือใช้มาดีไซน์ใหม่ โดยผู้ชนะเลิศไทยจะได้เดินทางไปญี่ปุ่นและได้เสนอผลงานบนเวทีระดับโลกและทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น และหลังจาก นั้นฮอนด้าจะไปเยี่ยมถึงโรงเรียนด้วย
นอกจากนี้ยังมีโครงการ "สพฐ.-ฮอนด้า วิ่ง 31 ขา สามัคคี" ซึ่งเป็นกีฬาแข่งขันที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับฮอนด้า ผู้นำกีฬา วิ่ง 31 ขาจากญี่ปุ่นมาสู่เด็กไทย โดยกีฬานี้เน้นฝึกความมีวินัยรักสามัคคี ทำงานกันเป็นทีมเวิร์คของนักเรียนอย่างสนุกสนานและผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานด้วย
สอง-เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม (environment) เช่น โครงการโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมดีเด่นเฉลิมพระเกียรติ (Honda School Environment Challenge Award) ซึ่งฮอนด้าดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องมาแปดปีแล้ว โดยให้ทุนสนับสนุนโครงการแก้ไขและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแก่ 60 โรงเรียน และคัดเลือกโรงเรียนชนะเลิศที่มีผลงานดีเด่นรับรางวัลถ้วยพระราชทานด้วย โดยวาดหวังว่า ผลงานโครงการนี้จะเป็นความรู้ที่ถูกนำไปพัฒนาภูมิปัญญาแต่ละท้องถิ่นในหลักสูตรตำราการเรียนการสอนของโรงเรียนต่อไป
สาม-เพื่อฝึกอบรมเรียนรู้ทักษะการขับขี่ปลอดภัย (Traffic Safety) โดยที่กิจกรรมจะยึดโยงอยู่กับธุรกิจของบริษัท ฮอนด้าออโตโมบิล และบริษัท เอ.พี.ฮอนด้า ผู้ก่อตั้ง "ศูนย์ขับขี่ปลอดภัยฮอนด้าประเทศไทย" ที่มีผลงานฝึกอบรม ผู้ขับขี่มากกว่า 10 กว่าล้านคน โดยร่วมกับกรมขนส่งทางบก ที่ส่งเจ้าหน้าที่มาออกใบขับขี่ให้หลังจากสอบผ่านการเรียนจาก ศูนย์ฯ ซึ่งรับฝึกอบรมแก่หน่วยงานองค์กรต่างๆ ภายนอกด้วย
สี่-เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและชุมชน (Commu-nity) ภายใต้มูลนิธิฮอนด้าประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2545 และบริหารจัดการโดยบริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ ทั้งนี้การทำกิจกรรมเพื่อสังคมของมูลนิธิฮอนด้า เพื่อช่วยเหลือสังคมในสามแนวทางคือ ด้านวัฒนธรรม เช่น โครงการช้างลาดตระเวนเพื่อการอนุรักษ์ ทำร่วมกับมูลนิธิช้างและกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อคืนช้างสู่ป่า ขณะที่ด้านการศึกษา ก็มีโครงการปลูกต้นกล้าปัญญาเด็กไทยร่วมกับกระทรวงศึกษาฯ โดยมอบคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียน และโครงการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เช่น กฐินสามัคคีเพื่อผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งดำเนินความช่วยเหลือมานานกว่า 14 ปี โดยพนักงานฮอนด้า ที่มาของโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์นี้ อดิศักดิ์ โรหิตะศุน ได้เล่าให้ฟังว่า
"โดยบังเอิญแท้ๆ เพราะช่วงที่ผมอยู่ที่โรงงานไทยฮอนด้า โรคเอดส์เริ่มระบาดในหมู่ผู้ใช้แรงงาน เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตอนนั้นผมมีการให้ความรู้แก่เหยื่อโรคเอดส์โดยอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยโรคนี้เมื่อ 14 ปีที่แล้ว ซึ่งไม่มีใครอยากเปิดเผยตัวเอง ตอนนั้นรู้สึกสงสารเขามากๆ และถามเขาว่าอยากให้ช่วยอะไรบ้าง? เขาก็บอกว่าอย่างไรก็ต้องตาย แต่อยากได้เมรุเผาศพที่วัดพระบาทน้ำพุ พระอาจารย์ซึ่งเป็นวิศวกรออกแบบเตาไฟฟ้าราคาสองล้านบาท เราก็เลยจัดทอดกฐินหาเงินถวายวัดต่อเนื่อง สร้างโรงพยาบาล โรงเรียนและศูนย์กีฬาแก่เด็กๆ ปัจจุบันมูลนิธิให้ทุนสนับสนุน อาสาสมัครปีละสิบล้าน และในวันเอดส์โลก 30 พฤศจิกายน 2550 ก็จัดกฐินสามัคคีได้เงิน 3 ล้านร่วมด้วย"
แรกเริ่มมูลนิธิฮอนด้าประเทศไทยอยู่ในฝ่ายสื่อสารองค์กร แต่ปัจจุบันการบริหารมูลนิธิฯ สังกัดภายใต้ "ฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม" (Social Contribute Bloc)
"เราเคยสำรวจว่าในเมืองไทย ถ้าหากเราจะทำกิจกรรมเพื่อสังคม สังคมต้องการให้เราทำอะไรบ้าง? จากผลสำรวจออกมาว่า อยากให้ช่วยเรื่องการศึกษา ให้ทุนการศึกษาและอาหารกลางวัน และที่ต้องการมากคือให้ช่วยเรื่องคอมพิวเตอร์ เขาอยากได้ตรงนี้ แต่เรามองว่าการพัฒนา ประเทศให้แข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ จำเป็นต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มากยิ่งๆ ขึ้น จึงนำเอาโครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์"
อดิศักดิ์เล่าให้ฟังบนรถไฟชินกันเซนขณะร่วมเดินทาง ไปทัศนศึกษาที่เกียวโตกับกลุ่มเยาวชนไทยที่ชนะเลิศโครงการ Honda ASIMO Super Idea Contest ซึ่งฮอนด้าจัดมาเป็นปีที่สามแล้ว เพื่อเปิดประตูแห่งจินตนาการสร้างสรรค์ของเด็กไทย ซึ่งสนใจส่งเข้าประกวดเพิ่มขึ้นมากถึง 30,000 กว่าคน ซึ่งเทียบกับต้นแบบนี้ที่ญี่ปุ่นจัดมาหกปีแล้ว ล่าสุดมีเด็กญี่ปุ่นร่วมประกวด 5,000 คน โดยธีมหลักของการแข่งขันว่าด้วยพลังความฝันที่เคลื่อนที่ได้ ที่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ๆ
"จริงๆ แล้ว การเอาจุดแข็งของฮอนด้ามาช่วย เช่น เราเอา ASIMO มาชี้นำเด็กไทยในสิ่งที่ดีๆ เมื่อสองปีที่แล้ว เราพา ASIMO มาตอนปิดเทอมและเรียกเด็กมาร่วมด้วย เขากลับไปสนใจวิทยาศาสตร์ เมื่อมีโครงการประกวดนี้เราได้รับความสนใจมากและน่าพอใจ เราประเมินผลส่วนใหญ่ออกมาดี เช่น โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนที่ส่งเด็กมาร่วมเกือบพันคน และทางโรงเรียนบรรจุเป็นหลักสูตรที่นักเรียนต้องทำ ผมเชื่อว่ากระบวนการเรียนรู้ตรงนี้อาจจะเป็นโมเดล ให้โรงเรียนอื่นๆ ผมอยากให้เด็กไทยกล้าคิดกล้าแสดงออก พึ่งตัวเองได้ ตอนที่ผมทำงานที่ญี่ปุ่น ผมเห็นเด็กญี่ปุ่นตัวเล็กๆ มาโรงงาน และครูก็ให้ไกด์ไลน์ว่าเด็กต้องดูอะไรบ้าง เสร็จแล้วต้องมาตอบคำถาม เขียนรายงาน ไม่ใช่แค่ดูเฉยๆ หรือ ถ่ายรูปกันสนุกสนาน ผมอยากให้เด็กไทยเปลี่ยนกระบวน การเรียนรู้จากท่องจำ และอยากให้สามโครงการทั้ง ASIMO และกีฬา 31 ขาและโรงเรียนสิ่งแวดล้อมดีเด่น เชื่อมโยงกันได้" อดิศักดิ์เปิดเผยถึงกิจกรรมเพื่อสังคมของฮอนด้า
ฮอนด้าได้ใช้หุ่นยนต์ ASIMO ซึ่งเป็น icon ของฮอนด้า มาใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นแรงบันดาลใจและนำไปสู่กระบวน การเรียนรู้สร้างสรรค์ของเด็กๆ โดยเริ่มต้นจากการให้เด็กที่เข้าประกวดวาดจินตนาการ my dream ออกมาเป็นรูปและเรื่องราวของแรงบันดาลใจก่อน จากนั้นคณะกรรมการก็จะสกรีนคัดเลือกไอเดียที่เข้าท่าให้เหลือเพียง 120 คน เพื่อแข่งกันสร้างโมเดลจำลองจินตนาการออกมาเป็นสามมิติจับต้องได้แบบ my dreams come true ปรากฏว่าในรอบสุดท้ายที่ต้องพรีเซนเตชั่นและคัดเลือกผู้ชนะเลิศ 6 คน ที่ได้ รับโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพฯ และทุนการศึกษา รวมทั้งได้เดินทางไปทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของทีมงาน "ซุปเปอร์จิ๋ว" ซึ่งเป็น Event organizer หลักของโครงการนี้ต่อเนื่องมาตลอด
ผลงานชนะเลิศระดับประถมต้น เป็นของ ด.ช.กมล ทองสมุย หรือ "บูม" วัย 8 ขวบซึ่งเป็นเด็กเก่งที่ตัวเล็กที่สุด และกำลังเรียนอยู่ชั้น ป.3 โรงเรียนดรุณสิกขาลัย กรุงเทพฯ บูมได้ประดิษฐ์ "หุ่นยนต์กินก๊าซเรือนกระจก" เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ไอเดียนี้คุณพ่อคุณแม่ของบูมเล่าให้ฟังว่า ลูกคิดเองทั้งหมดและเมื่อพ่อรู้ข่าวประกวดของฮอนด้า เขาก็สนับสนุนให้ความฝันของลูกเป็นจริง
ขณะที่ผลงานชนะเลิศระดับประถมปลาย เป็นของ ด.ช.ชวิน ศรีเมือง หรือ "ช้าง" อายุ 12 เรียนอยู่ที่โรงเรียนไผทอุดมศึกษา กรุงเทพฯ เขาคิดทำ "หุ่นยนต์แมลงสาบนักค้นหา" โดยเอาข้อดีของแมลงสาบ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีคุณสมบัติปรับตัวอยู่รอดในภาวะวิกฤติได้ มาทำเป็นหุ่นติดอินฟราเรดรับภาพและส่งข้อมูลผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหว ตึกถล่ม ฯลฯ เพื่อให้ทีมค้นหาช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ส่วนผลงานระดับรองชนะเลิศของเด็กอีก 4 คน ก็มีทั้งผลงาน "เปลือกหอยเก็บโรงเรียน" ของ ด.ญ.ศิขริน เผ่าอรุณ หรือ "ชมพู่" นักเรียนชั้น ป.3 โรงเรียนประสานมิตร ปทุมธานี ที่คิดอยากช่วยป้องกันการเผาโรงเรียนในสามจังหวัด ภาคใต้ เพื่อให้เด็กมีที่เรียนหนังสือ และผลงาน "หุ่นยนต์ดับเพลิง" ของ ด.ช.นฤกานต์ ศรีสว่าง หรือ "ปิง ปิง" นักเรียนชั้น ป.3 จากโรงเรียนพระกุมารร้อยเอ็ด ที่อยากช่วยคนโดนไฟไหม้ให้รอดชีวิต ขณะที่ผลงาน "กำแพงทุ่นกันน้ำท่วม" ของ ด.ช.ก้องภพ มีสวัสดิ์ หรือ "โอม" จากโรงเรียนประสานมิตร จ.ปทุมธานี ที่ใช้ป้องกันน้ำท่วมด้วยการสร้างทุ่นกำแพงที่จะสูบลมเข้าและออกอัตโนมัติพร้อมอุปกรณ์ดำรง ชีวิตให้อยู่รอด และสุดท้าย "หุ่นยนต์หนอนฟื้นฟูแผ่นดิน" ของ ด.ช.คเณศ นิพัทธ์ธีรนันท์ หรือ "เคนโด้" นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ กรุงเทพฯ ซึ่งติดตั้งเสารับสัญญาณแผ่นดินไหวและช่วยแจ้งเตือนภัยให้คนรู้ล่วงหน้า เพื่ออพยพหนีทันรวมทั้งช่วยซ่อมแซมอย่างรวดเร็วในพื้นที่เสียหายได้ด้วย
ในความเห็นของอดิศักดิ์ที่มี ต่อเด็กไทยในงานประกวดนี้ เขาแสดงความประทับใจและชื่นชมความสมาร์ทและความสามารถของ เด็กไทยระหว่างพรีเซนต์ผลงาน แม้ว่าการถ่ายทอดระหว่างแสดงผลงานของเด็กไทยจะต้องผ่านล่ามแปลอีกทอดหนึ่งก็ตาม
"ผมได้ดูเด็กไทยพรีเซนต์แล้วปีติน้ำตาไหล รู้สึกว่าดีกว่าตอนอยู่เมืองไทย แต่สำหรับเรื่องการมองโอกาส ผมคิดว่าเด็กไทยเรายังมองไม่ลึกเท่าของเด็กญี่ปุ่น ที่มีจินตนาการไกลกว่าบ้านเรา ความรู้รอบตัวของเขาดีมากเพราะรอบตัวเขาให้โอกาสเรียนรู้ ไม่เฉพาะในห้องเรียนอย่างเดียว" อดิศักดิ์เล่าให้ฟัง
บรรดาเด็กไทยทั้งหกได้รับโอกาสเดินทางตามเส้นทางความฝันไปยังบ้านเกิดของอาซิโมที่เมือง Motegi ซึ่งห่างจากโตเกียวประมาณ 100 กม. และได้สัมผัส สนามแข่งทวิน ริง โมเตกิ (Twin Ring Motegi) ซึ่งถือเป็น "เมืองของฮอนด้า" ที่ออกแบบเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีของยนตรกรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เมืองฮอนด้านี้จะต้อนรับเฉพาะแขกสำคัญเท่านั้นที่จะเข้าชม ภายในเนื้อที่ 640 เฮกตาร์ บริเวณสนาม แข่งรถถูกขุดเป็นแอ่งลึกรูปถ้วย 70 เมตร เพื่อป้องกันเสียงและแสง จากสนามไม่ให้รบกวนชุมชนหมู่บ้านใกล้เคียง
ส่วนภายในทวิน ริง โมเตกิ มีสถานที่สำคัญๆ เช่น Honda Collection Hall ที่เด็กๆ ได้เห็นปัญญาประดิษฐ์รถยนต์ทุกชนิดตั้งแต่ยุคแรก ถือว่าเป็นการเดินตามรอยความฝันของฮอนด้า โดยรถทุกคันถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีและยังขับขี่วิ่งได้ จากนั้นเด็กๆ มีโอกาสได้เล่นกับอาซิโมด้วยรีโมตบังคับที่ Honda Fan Fun Lab ซึ่งมีพื้นที่แสดงวิวัฒนาการหุ่นยนต์อาซิโมตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงความฝันในอนาคตใน Next Lab ภาคบ่ายก็ได้ฝ่าลมหนาวเดินเข้าป่า Hello Woods' ซึ่งเป็นโครงการปลูกป่าลูกโอ๊กและลูกนัท ที่หมูป่าชอบและเจ้าหน้าที่ ฮอนด้าคนรักป่าก็รักษาระบบนิเวศวิทยาทั้งให้ความรู้แก่เด็กๆ และทำเวิร์กชอปเอาเศษไม้มาประดิษฐ์เป็นของขวัญฝากพ่อแม่
โปรแกรมท่องเที่ยวเมืองฮอนด้าที่เมืองโมเตกิ ก่อนเข้าสู่วันสำคัญ 1 ธันวาคม 2550 ที่เยาวชนไทยต้องนำเสนอ ผลงาน (presentation) ที่สำนักงานใหญ่ฮอนด้าที่โอยาม่า โตเกียว ได้สร้างความเข้าใจอัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่น่าประทับใจและสร้างความมั่นใจแก่เด็กไทยที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ร่วมกัน ยิ่งกว่านั้นที่สนุกสนานคือได้ประสบการณ์ท่องเที่ยวทัศนศึกษาสถานที่สำคัญทั้งสามเมืองเอก คือ โตเกียว เกียวโต และโอซากา อย่างเต็มอิ่มท่ามกลางบรรยากาศฤดูใบไม้ร่วงที่ทิวทัศน์งามด้วยใบไม้หลากสีสันรับลมหนาวเย็นฉ่ำ ระหว่างการเดินทางวันที่ 28 พฤศจิกายน-4 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา
ตบท้ายด้วยรายการเยาวชนไทยทั้งหมดได้พูดคุยซักถาม Mr.Masato Hirose หรือที่เด็กๆ เรียกเขาว่า "คุณพ่ออาซิโม" ปัจจุบันเป็น Senior Chief Engineer, General Manager Research Division 2 รับผิดชอบงานวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์อาซิโม และงานนี้เขาได้เข้าร่วมเป็นกรรมการ ตัดสิน Idea Contest ในรอบชิงชนะเลิศด้วย
"การเดินทางครั้งนี้ผมหวังว่าจะหาประสบการณ์ได้มาเที่ยวและเจอสิ่งใหม่ๆ แค่นี้ก็พอครับ และลึกๆ ผมอิจฉา เด็กญี่ปุ่นที่ได้นั่งรถไฟชินกันเซ็น ได้เที่ยวโรงถ่ายยูนิเวอร์แซล ได้ดูพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่ดีมากๆ ที่โอซากา และในงานซูเปอร์ไอเดีย คอนเทสต์ ผมเห็นคนญี่ปุ่นสนับสนุนเด็กแบบอลังการงานสร้าง เขาให้เด็กมากกว่าทำให้งานที่เขาคิดกว้าง กว่าของผม ซึ่งคิดแค่ทุ่นกำแพงกันน้ำท่วมได้ แต่ของเขาสามารถคิดเครื่องเก็บระเบิดแล้วยิงระเบิดขึ้นฟ้าเป็นพลุ เพื่อสร้างชั้นบรรยากาศให้โลกดีขึ้นไปอีก" เด็กชายก้องภพ มีสวัสดิ์ ชื่อเล่นว่า 'โอม' เล่าให้ฟังถึงความประทับใจ โดยเฉพาะการได้พูดคุยซักถามคุณพ่ออาซิโมบนเวทีงานประกวด แข่งขันครั้งนี้ด้วยว่า
"ผมถามว่า สร้างยากไหมครับและมีปัญหาอะไรบ้างระหว่างทำ? คุณพ่อฮิโรเซะบอกว่า สร้างอาซิโมไม่ยาก เพราะเอาสมองกลมาต่อๆ กัน แต่ปัญหาคือขนาดของอาซิโม ถ้าใหญ่ไปก็เทอะทะ แต่ถ้าเล็กไปก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้อีก เขาจึงหาตัวประมาณขนาดเท่าเด็ก และตอนที่เพื่อนผมที่ชื่อ ช้างถามว่า อยากให้อาซิโมแสดงสีหน้าอารมณ์ได้ไหม? เขาตอบว่าจะทำก็ได้ แต่ก่อนอื่นต้องทำให้กระโดดได้ก่อน ผมเห็นอาซิโมเต้น เตะบอล และยกถาดถ้วยน้ำชาที่ Fan Fun Lab ซึ่งเป็นอาซิโมตัวเก่าซึ่งพวกผมทั้งหกคนบังคับรีโมตเล่นกับอาซิโมได้พักใหญ่ก็ต้องกลับไปชาร์จไฟใหม่อีกแล้ว แต่อาซิโมรุ่นใหม่ที่หน้าอกจะมีไฟสามดวง ทำได้หลาย อย่าง ทั้งวิ่งและเต้นรำได้นานกว่า ผมว่าอาซิโมตอนนี้เหมือน มนุษย์เพียงห้าสิบเปอร์เซ็นต์และต่อไปคงช่วยมนุษย์ในชีวิตประจำวันได้"
นี่คือทัศนะหนึ่งที่สะท้อนจากเด็กไทยช่างคิดช่างพูดคนหนึ่งของกลุ่มชนะการประกวดแข่งขัน Honda ASIMO Super Idea Contest ซึ่งในความเห็นของ Hiroharu Suzuki ซึ่งเป็น General Manager ของ HPO-J และ มร.Toshiya Kobayashi ผู้จัดการกิจกรรมเพื่อสังคม ต่างหวังว่าประสบ การณ์จากงาน idea contest นี้จะทำให้เด็กไทยนำกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ อยากปลูกฝังให้เด็กซึ่งเป็นอนาคต มีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน มีความสามัคคี ปลูกฝังการทำงานเป็นทีม ซึ่งอันนี้เป็นความฝันของฮอนด้าทั่วโลก
จะเห็นว่า การทำกิจกรรมเพื่อสังคมของฮอนด้าประเทศไทย มีลักษณะเป็น Glocalization ซึ่งเป็นคำสมาส ความหมายของกิจกรรมฮอนด้าที่ผสมผสานระหว่างความเป็นโลกาภิวัตน์ (Globalization) กับท้องถิ่น (Localization) เข้าด้วยกัน
เช่น ปีนี้โครงการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยโครงการ Peace for Global Environment ที่ทั่วโลกจะปลูกต้นไม้ 1,000 ล้านต้น โดยที่จะทำในประเทศไทยประมาณ 5 ล้านต้น ส่วนที่สองคือการร่วมกับรัฐบาลปลูกต้นไม้ และส่วนที่สาม ที่ฮอนด้าอยู่ระหว่างพิจารณาถึงการทำโครงการปลูกและอนุรักษ์ระบบนิเวศวิทยาบนพื้นที่โครงการของบริษัทเอง เหมือนโมเดลของ Holly Woods ที่เมืองโมเตกิ
ขณะเดียวกันกิจกรรมภายในประเทศไทย ก็มีการทำโครงการประกวดโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมดีเด่นเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีสามโรงเรียนที่เข้ารอบชนะเลิศ คือ "โครงการบำบัดน้ำเสีย" ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์อำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ "โครงการร่วมใจ สืบสาน จัดการขยะ พัฒนาชุมชน" ของโรงเรียนสา จ.น่าน และ "โครงการสำนึกรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ตามรอยพ่อ" ของโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองภู จ.ขอนแก่น
"โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว ผมได้ไปปรึกษา ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่มูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งท่านได้บอกว่า ปัญหาใหญ่ของบ้านเราในตอนนี้ คือเรื่องขยะเต็มเมือง สอง-เรื่องน้ำเสีย และสามคือเรื่องพลังงานทดแทน ผมก็เลยเอาสามปัญหานี้มาทำในกิจกรรมโครงการ แยกเป็นประเภทพลังงาน ประเภทจัดการขยะและประเภทจัดการน้ำเสีย ซึ่งโครงการดีเด่นจะได้รับถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้จะเอาโรงเรียน ระดับภาคทั้ง 12 แห่งมาแสดงนิทรรศการที่เซ็นทรัลเวิลด์ด้วย" นี่คือแนวทางทำกิจกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย (Localization) ที่อดิศักดิ์เล่าให้ฟัง
ในส่วนของกีฬาวิ่ง 31 ขาที่เป็นกีฬายอดฮิตของญี่ปุ่น ที่นิยมเล่นกันมาหลายสิบปีแล้ว แต่ที่ประเทศไทย ฮอนด้าเพิ่งนำเข้ามาได้สามปี เพื่อฝึกฝนให้เด็กไทยได้เรียนรู้ความสามัคคีด้วยการวิ่งผูกขาเป็นทีม 30 คน ทั้งนี้ฮอนด้าเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนให้วิดีโอแนะนำโรงเรียนว่าเล่นอย่างไรและให้ปลอกป้องกันเข่ากับสายยางรัดข้อเท้าที่มีคุณสมบัติพิเศษตรงที่หกล้มแล้วสายจะหลุดจากกันเพื่อป้องกันอันตราย เป็นพันชุดสำหรับโรงเรียนที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ 30 โรงเรียนๆ ละ 30 กว่าชุด
สายรัดข้อเท้านี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่มีผลิต และจำหน่ายในไทย เพราะกีฬานี้ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่เป็นกีฬาที่ส่งเสริมความสามัคคีของหมู่คณะมากๆ เน้นความพร้อมใจและกายที่วิ่งระยะ 50 เมตรเข้าสู่เส้นชัย ปรากฏว่าสถิติเด็กไทยดีขึ้นเป็นลำดับจากปีแรกถึงปีที่สาม ล่าสุด "โรงเรียนป้อมวิเชียร โชติการาม จ.สมุทรสาคร" ทำสถิติชนะเลิศวิ่ง 31 ขาด้วยเวลา 9.11 วินาที ขณะที่เจ้าของ สถิติโลกคือเด็กนักเรียนโรงเรียนประถมศึกษา อิชิอิ ฮิงาชิ ทำเวลาเพียง 8.80 วินาที ซึ่งเป็นสถิติที่น่าท้าทายเด็กไทย
ขณะที่โครงการ Honda ASIMO Super Idea Contest เตรียมพิจารณาปรับทิศทางการขยายสู่ระดับภูมิภาค อาเซียนของฮอนด้า ที่มีอยู่ 12 ประเทศคือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ถือเป็นก้าวสำคัญที่พลังความฝันของเด็กทั่วภูมิภาคนี้จะได้รับแรงบันดาล ใจจากหุ่นยนต์ ASIMO
"ปีนี้ เราจะมีการเรียกประชุม 12 ประเทศเพื่อกำหนด ทิศทางว่า จะมีอะไรที่เราควรทำไปในลักษณะร่วมมือร่วมไม้ กัน ทิศทางของฮอนด้าที่ทำทั่วโลกถือว่าเป็นไกด์ไลน์ว่าควรจะมีแนวทางหลักดำเนินการสักเรื่องสองเรื่อง ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมแต่ละท้องถิ่น ที่มีโจทย์และการใช้งบประมาณไม่เหมือนกัน แต่บางอย่างอาจร่วมกันได้ เช่นกรณีโครงการโชว์ตัว ASIMO ซึ่งการแสดงแต่ละครั้ง จะมีค่าใช้จ่ายแพงมาก จึงไม่ใช่โชว์เฉพาะเมืองไทย" อดิศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
ความท้าทายกับวิสัยทัศน์ใหม่ในการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสังคมของฮอนด้าประเทศไทย ที่มีปณิธานมุ่งมั่นให้บริษัทฮอนด้า เป็นบริษัทที่สังคมต้องการให้ดำรงอยู่คู่โลกตลอดไปนั้น จะสามารถบรรลุคุณค่าแท้จริงได้ จำเป็นต้องเติมเต็มความหวังและความฝันที่เป็นจริงให้เกิดขึ้น แม้จะเต็มไปด้วยขวากหนามก็จะฝ่าข้ามไปแบบ Together for Tomorrow !!
|
|
|
|
|