"อันยองฮาเซโย! Hello!" แอร์โฮสเตสสาวหน้าตาจิ้มลิ้มชาวเกาหลีของ Asiana Airlines กล่าวทักทายด้วยกิริยานุ่มนวลและรอยยิ้มหวาน ไม่แพ้ "ยิ้มสยาม" ของการบินไทย
สายการบินเอเชียน่าฯ เป็น 1 ใน 2 สายการบินหลักประจำชาติเกาหลีใต้อีกสายการบินก็คือ Korean Air
Skytrax ยกให้ Asiana Airlines เป็น 1 ใน 6 สายการบินคุณภาพระดับ 5 ดาวประจำปีนี้เคียงคู่กับ Kingfisher Airlines, Malaysia Airlines, Qatar Airways, Singapore Airlines และ Cathay Pacific Airways ขณะที่สายการบินไทยของเราปีนี้คว้ามาได้เพียง 4 ดาวเท่านั้นเอง
พิจารณาคร่าวๆ ผู้โดยสารในเที่ยวบินเดียวกับ "ผู้จัดการ" ส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลี ใต้ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่มีความเป็นชาตินิยมสูง ตามถนนหนทางเราจึงได้เห็นรถยนต์ฮุนได แดวู เกียวิ่งเต็มท้องถนนและเห็นคนเกาหลีใช้โทรศัพท์มือถือซัมซุงมากกว่าโนเกีย
อีกส่วนหนึ่งก็เพราะคนเกาหลีส่วนใหญ่ สื่อสารภาษาอังกฤษได้น้อยมาก ปัญหานี้กลายเป็นวาระแห่งชาติของประเทศเกาหลีใต้ ทันทีที่รัฐบาลเกาหลีใต้มีวิสัยทัศน์ที่จะนำพาประเทศมุ่งหน้าไปสู่การเป็น Hub of Asia
ทุกวันนี้รัฐบาลเกาหลีแก้ปัญหานี้ด้วยการเปิด Call Center "1330" คอยให้ความช่วยเหลือและข้อมูลการท่องเที่ยวเป็นภาษาอังกฤษ และมีบริการล่ามทางโทรศัพท์ฟรีในรถแท็กซี่บางคัน (ดูจากสติ๊กเกอร์ข้างรถ) ซึ่งสื่อสารได้ถึง 7 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส รัสเซีย และสเปน โดยคนขับจะเป็นคนโทรหาล่ามแล้วใช้วิธีสนทนาแบบ 3 ทาง
นอกจากแอร์โฮสเตสสาวชาวเกาหลี เที่ยวบินนั้นยังมีแอร์โฮสเตสสาวไทยอีกคนไว้คอยบริการผู้โดยสารคนไทยซึ่งมีจำนวนไม่น้อย คนไทยหลายคนไปเที่ยวเกาหลีเพราะอิทธิพลจากหนังและละครเกาหลีที่เข้ามาโกย เรตติ้งจากแฟนๆ คนไทยมานานร่วม 5 ปีแล้ว หนังและละครเหล่านั้นมักแทรกภาพธรรมชาติ สวยๆ และสถานที่โรแมนติกเข้าไปในซีนอยู่เสมอ จึงกลายเป็นสื่อโฆษณาชั้นดีขององค์การ ส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศเกาหลี (Korea Tourism Organization หรือ KTO) สาวไทยไม่ว่าน้อยใหญ่พากันควักกระเป๋าซื้อแพ็กเกจ "ดราม่าทัวร์" ตามรอยคู่พระนางในหนังหรือละครที่ตนชื่นชอบ ซึ่ง KTO ออกแบบไว้เอาใจสาวกกลุ่มนี้จากทั่วโลก ไม่ใช่แค่เหล่าแฟนดารานักร้องเกาหลี เที่ยวบินนี้ยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบ incentive จากต่างจังหวัด ของไทยกลุ่มใหญ่ที่พากันไปหลายครัวเลยทีเดียว
บนเครื่องบินมีหนังเกาหลีที่ยังไม่เข้ามาฉายในเมืองไทยไว้ให้ผู้โดยสารที่เป็นแฟนหนังละครและมีเพลงป็อบเกาหลีอัพเดตสุดๆ ไว้ให้แฟน Kpop ได้ฟังแบบส่วนตัวเพลินๆ จนถึง Incheon International Airport สนามบินนานาชาติแห่งใหม่สร้างขึ้นมาทดแทน สนามบิน Gimpo ซึ่งลดฐานะเป็นสนามบินในประเทศตั้งแต่ต้นปี 2001 หรือกว่าปีครึ่งก่อนพิธีเปิดฟุตบอลโลกที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่น
สนามบินอินชอนฯ เป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย และมีอาคารผู้โดยสารใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก Chek Lap Kok Airport ของฮ่องกงและสนามบินสุวรรณภูมิของไทย อินชอนฯ ถือเป็น สนามบินที่มีการจราจรทางอากาศแออัดมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิติดอันดับ 3 ส่วนปีนี้ Skytrax ยกให้อินชอนฯ เป็นสนามบินระดับ 5 ดาว เคียง คู่สนามบินนานาชาติฮ่องกง และ Changi Airport ของสิงคโปร์ ส่วนสุวรรณภูมิของเราได้เพียงแค่ 3 ดาว
สถิติปีที่ผ่านมา อินชอนฯ มียอดผู้โดย สารทั้งปีกว่า 31 ล้านคน หรือมากกว่า 85,000 คนต่อวัน และขนถ่ายสินค้ามีน้ำหนักรวมมากกว่า 2.5 ล้านตัน มีเครื่องบินขึ้นลงกว่า 2 แสนครั้งหรือร่วม 580 ครั้งต่อวันเลยทีเดียว
ปัจจุบันคนไทยที่จะเข้าประเทศเกาหลี ใต้ไม่เกิน 90 วัน ไม่ต้องขอวีซ่า ดังนั้นการตัดสินใจว่าใครจะได้ผ่านแดนหรือไม่ จึงเป็นอำนาจสิทธิขาดของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองชาวเกาหลี การตรวจคนเข้าเมืองของที่นี่จึงเป็นนาทีวัดดวงสำหรับคนไทย เพราะไม่มีกฎเกณฑ์การตัดสินใจแน่ชัด เทคนิคง่ายๆ ที่ "ผู้จัดการ" ใช้ก็คือสังเกตว่าตำรวจฯ คนไหนส่งตัวนักท่องเที่ยวเข้าห้องกักตัวที่ด่านเยอะสุดก็ให้ถอยไปอยู่ในช่องอื่นที่เจ้าหน้าที่เข้มงวดน้อยกว่า
เล่ากันว่า มีสาวไทยบางคนเที่ยวเกาหลีใต้มาแล้วหลายครั้งแต่วันดีคืนดีที่เธอแต่งตัวจัดขึ้นหน่อยก็มีสิทธิถูกส่งตัวกลับประเทศได้ แม้จะไปกับทัวร์ก็อาจไม่รอด เพราะขนาดไกด์หนุ่มชาวไทยบางคนยังสามารถถูกข้อหาเดินทางเข้าประเทศถี่เกินไปได้ด้วย บริษัททัวร์หลายแห่งจึงมักมีข้อตกลงว่าจะไม่รับผิดชอบคืนเงินให้กับลูกค้าที่ถูกด่านตรวจคนเข้าเมืองกักตัวไม่ให้เข้าเมืองไม่ว่าด้วยเหตุผลใด แต่ถึงอย่างนั้นคนไทยก็ไปเที่ยวเกาหลีเพิ่มขึ้นทุกปี
เหตุที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีเข้มงวดกับนักท่องเที่ยวที่ถือพาสปอร์ตไทยอย่างมาก ก็เพราะมีคนไทยบางกลุ่มมักแฝงตัวเป็นนักท่องเที่ยวเข้าเมืองไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย หญิงไทยบางคนก็แอบเข้าไปขาย บริการในเกาหลี
การเดินทางสู่แดนโสมขาวของ "ผู้จัด การ" ครั้งนี้เพื่อเข้าร่วมงาน 2007 Korea Convention Fair (KCF) ซึ่งมีเจ้าภาพเป็น KTO ร่วมกับผู้บริหารแห่งเมือง Changwon เปิดประตู Changwon Exhibition Conven- tion Center (CECO) ศูนย์ประชุมและจัดนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดของเมืองนี้เพื่อต้อนรับ แขกจากหลายประเทศมีทั้งสื่อมวลชน เอเยนซี่ ทัวร์ และ Meeting Planner/Organizer ฯลฯ
CECO เป็นศูนย์ประชุมฯ น้องใหม่เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน 2548 มีพื้นที่กว่า 4 หมื่นตารางเมตร นับเป็นหนึ่งใน 7 World-Class Convention Center หรือศูนย์ประชุม และจัดนิทรรศการนานาชาติขนาดใหญ่ของประเทศที่รัฐบาลเกาหลีพยายามโปรโมตให้เป็นปลายทางระดับเวิลด์คลาสของนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE จากทั่วโลก
ประเทศเกาหลีมีทั้งหมด 9 จังหวัด แต่มีเมืองใหญ่ๆ ทางจำนวนประชากรและเศรษฐกิจอยู่ 6 เมือง ได้แก่ Busan, Daegu, Incheon, Gwangju, Daejeon และ Ulsan รวมกับกรุงโซลเมืองหลวง และเมืองหลวงแห่งการท่องเที่ยวชายทะเลอย่างเกาะเจจู ก็อาจกล่าวได้ว่าเกาหลีใต้มีเมืองหัวหอกที่ KTO ตั้งใจจะใช้โปรโมตการท่องเที่ยวแบบ MICE อยู่ถึง 8 เมือง
ในเมืองใหญ่เกือบทุกเมืองจะมีศูนย์ประชุมฯ ขนาดใหญ่ระดับโลกเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองและของประเทศ ในทุกเมืองที่มีศูนย์ประชุมฯ ขนาดใหญ่มักจะมี Con-vention&Visitor Bureau (CVB) ของแต่ละท้องถิ่นทำหน้าที่โปรโมตศูนย์เหล่านั้นร่วมกับ Korea Convention Bureau (KCB) หน่วยงานที่แอ็คทีฟมากของ KTO
KCB มีหน้าที่หลักในการสนับสนุน ช่วยเหลือและประสานงานกับทุกฝ่าย เพื่อทำให้ภาพรวม MICE Industry ของประเทศ เติบโตอย่างมีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก หน่วยงานนี้ตั้งขึ้นในปี 2522 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ศูนย์ประชุมฯ แห่งแรก ได้แก่ KOEX เปิดดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติปี 2515-2519 ที่ต้องการให้ประเทศมีศูนย์ประชุมฯ ขนาดใหญ่เป็นศูนย์หลักของประเทศจนมีการขยายพื้นที่ในปี 2531 จึงมีการรีแบรนด์ใหม่เป็น COEX ในปัจจุบัน
สำหรับ Changwon เจ้าภาพจัดงาน KCF 2007 เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่อยู่ไม่ไกล จากเมือง Busan ถือเป็นเมืองใหม่ที่รัฐบาลเห็นศักยภาพและต้องการโปรโมตการท่องเที่ยว ของเมืองนี้ โดยเน้นเป็น MICE Tourism ทั้งนี้เพราะนอกจากมีธรรมชาติสวยงามไม่แพ้ เมืองอื่น พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองยังเป็นที่ตั้งโรงงานขนาดใหญ่ของหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในเกาหลี แพ็กเกจการท่องเที่ยวแบบ MICE ของเมืองนี้จึงมี Technical Tour หรือทัวร์เยี่ยมชมโรงงานระดับสุดยอดของเกาหลีและของโลกแถมเป็นจุดขาย
ปัจจุบัน CECO มีพื้นที่กว่า 40,000 ตร.ม. ในปีนี้ที่นี่มีแผนจะขยายพื้นที่และยกระดับศูนย์แห่งนี้ให้ยิ่งใหญ่เหมาะแก่การเป็นศูนย์ประชุมฯ ที่เป็น หน้าเป็นตาของประเทศ เทียบเท่าศูนย์ประชุมฯ อื่นในเกาหลีที่มีจุดยืนอยู่บนเวทีโลกแล้ว เช่น COEX ศูนย์ประชุมที่มีตารางจัดงาน หนาแน่นที่สุดของประเทศ
COEX เป็นศูนย์ที่ใหญ่ที่สุดของกรุงโซล พื้นที่ทั้งหมด 8 ชั้นซึ่งมีทั้ง COEX Mall และศูนย์ประชุมฯ รวมคอมเพล็กซ์ของ Korea World Trade Center ซึ่งอยู่ล้อมรอบ COEX จะเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ถึง 2.2 แสน ตร.ม. เลยทีเดียว ถ้านับเฉพาะพื้นที่ประชุมและจัดนิทรรศการจะมีขนาดใหญ่กว่า 5.5 หมื่น ตร.ม. แต่ก็ยังเป็นรอง KINTEX ซึ่งมีพื้นที่รวมกว่า 6 หมื่น ตร.ม. อยู่ไม่ไกลจากโซลห่างจาก สนามบิน Gimpo เพียง 20 นาที
ในอนาคต KINTEX จะขยายพื้นที่โดยรอบเพื่อสร้างอาณาจักรที่จะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกถึง 2.2 แสน ตร.ม. โดยจะมีทั้งโรงแรมหรูระดับ 4-5 ดาวสำหรับนักธุรกิจ มี sport mall เป็นแหล่งรวมกีฬาหลายชนิดทั้งสกีรีสอร์ต และสนามกีฬาอื่นๆ รวมทั้งอะควาเรี่ยม ศูนย์ การค้าและอาคารพาณิชย์มี China Town ขนาดใหญ่เป็นแหล่งรวมไลฟ์สไตล์กลิ่นอายวัฒนธรรมจีนและอีกส่วนที่น่าสนใจคือ "Hallywood" theme park เหมือน Holly- wood แต่ใหญ่และครบวงจรกว่า
เหล่านี้จะกลายเป็นจุดขายที่เพิ่มมูลค่า ให้ KINTEX ที่ไม่ได้ดึงดูดแค่เพียงนักท่องเที่ยว กลุ่ม MICE แต่ยังดึงดูดกลุ่ม Leisure ให้มาท่องเที่ยวจับจ่ายที่นี่ เหมือนกับ COEX Mall ที่ดึงดูดนักช้อปได้ไม่น้อย ตามแผนที่วางไว้ โครงการเฟส 2 ของ KINTEX จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2554
ด้วยการจราจรที่ติดขัดของกรุงโซล COEX จึงได้สร้าง Airport terminal ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ร่วมงานที่จะต้องเดินทางไปสนามบิน ได้เช็กอินและโหลดกระเป๋าขึ้นเครื่องก่อนล่วงหน้าและที่นี่มีรถบริการจาก COEX วิ่งตรง สู่สนามบินทั้ง 2 แห่ง ส่วน KENTEX เองก็จะสร้าง Airport terminal ขึ้นในเฟส 2 นี้ด้วย
ขณะที่ผู้ร่วมงานที่มาจากเครื่องบินอาจจะเลือกหนีรถติดในเมืองใหญ่ๆ ได้ด้วยรถไฟไฮสปีด KTX ที่วิ่งด้วยความเร็ว 300-350 กม./ชม. ซึ่งจะทำให้เดินทางได้ทั่วเกาหลีในเวลาราว 4 ชั่วโมง
Busan เมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลี ใต้ และมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองรองจากกรุงโซล ศูนย์ประชุมฯ ที่เป็นหน้าเป็นตา คือ BEXCO ศูนย์ประชุมฯ ที่ใหญ่ที่สุดของเมือง มีพื้นที่ในส่วน convention & exhibition รวมกว่า 4.5 หมื่น ตร.ม.
ที่ BEXCO เริ่มนำเอาเทคโนโลยี "electronic name card" มาทดลองใช้ ซึ่งศูนย์จะมีบัตรคล้องคอที่บันทึกข้อมูลแล้วและเครื่องอ่านซึ่งถ่ายโอนข้อมูลได้เตรียมไว้ให้ เท่านี้ทั้งผู้ร่วมงานและผู้แสดงสินค้าก็สามารถ บันทึกข้อมูลของทุกบริษัทที่สนใจแทนการขน เอกสาร ทั้งสะดวกและยังประหยัดทรัพยากร โดยในอนาคตอันใกล้จะมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในศูนย์อื่นด้วย
นอกจาก 7 แห่งที่เปิดใช้แล้วภายในปีนี้ เกาหลีใต้จะเปิดศูนย์ประชุมฯ ขนาดใหญ่ เพิ่มขึ้นอีกถึง 2 แห่ง ได้แก่ Daejeon Con-vention Center ในเมือง Daejeon ที่จะเปิด ตัวต้นปี และ Songdo Convention Center (หรือ Incheon Convention Center) ในเมือง Incheon จะเปิดตัวกลางปี อันเป็นไปตามข้อกำหนดของ Convention Promotion Law ที่ระบุให้รัฐบาลต้องทำหน้าที่เลือกและพัฒนาเมืองที่มีศักยภาพขึ้นมาเป็น "Conven- tion City" เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม MICE Tourism ในประเทศให้ก้าวหน้า
จากงาน KCF 2007 ยังเห็นได้ชัดว่า ทุกศูนย์ประชุมฯ และทุก CVB ในแต่ละท้องถิ่นต่างต้องแข่งขันกันเองในการปรับปรุง มาตรฐานบริการและการตลาด ขณะเดียวกัน ก็ต้องร่วมมือกันในการผลักดันประเทศ เพื่อ ให้เกาหลีใต้มีชื่ออยู่บนแผนที่โลกในฐานะ Global MICE Destination of Asia
...เรียกได้ว่า นี่ถือเป็นพันธกิจร่วมกันของทุกหน่วยในองคาพยพนี้ โดยเฉพาะ KTO ที่ต้องทำงานหนักและจริงจังในการที่จะนำเอาจุดแข็งทางการท่องเที่ยวที่ KTO มีมาใช้ synergy และดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE บ่อยครั้งจึงเห็นแพ็กเกจสำหรับกลุ่ม MICE แถมพ่วงด้วยทัวร์ไฮไลต์ในเมืองนั้นและทัวร์เมืองหลวง แม้แต่ drama tour ก็ยังอาจถูกนำมาใช้สร้างแรงจูงใจของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ด้วยเหมือนกัน
ภายในงานนี้ไม่ได้มีแต่ exhibitor ที่เป็นศูนย์ประชุมฯ แต่ยังมีโรงแรมระดับ 4-5 ดาวหลายแห่งมาร่วมออกบูธ เพราะโรงแรมเหล่านี้จะได้รับอานิสงส์โดยตรงจากกลุ่ม MICE ขณะเดียวกันการมีโรงแรมธุรกิจหรูหลายแห่งอยู่ใกล้ๆ ศูนย์ก็เป็นอีกปัจจัยที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ใช้พิจารณา
นอกจากนี้ยังมีบริษัทจัดงานประชุมและนิทรรศการที่ลงทะเบียนไว้กับ KCB ซึ่งจะถูกเรียกเป็นชื่อใหม่ว่ากลุ่ม professional congress organizer (PCO) คนกลุ่มนี้เป็นเสมือน software ที่ช่วยสร้าง value creation ให้กับอุตสาหกรรม MICE ของเกาหลี และยังมีบูธของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในเกาหลี ที่มีหลักสูตรว่าด้วยหน้าที่ของ Convention & Exhibition Organizer จากหลายแห่งมาโปรโมตสถาบันในงานนี้ด้วย
ไม่ใช่เพียงเกาหลีแต่หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เริ่มเบนเข็มทิศอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมาสู่เส้นทาง MICE Tourism กันอย่างจริงจัง ด้วยสถิตินักท่องเที่ยว กลุ่ม MICE ถือเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปเฉลี่ย 3 เท่า หรือหมื่นกว่าบาทต่อวันและจะสูงเกือบ 10 เท่าหากเป็นกลุ่ม MICE จากแถบยุโรปและอเมริกา อีกทั้งกลุ่ม MICE มักจะมีระยะเวลาในการพักเฉลี่ยนานกว่า
สำหรับเมืองไทย เรามีศูนย์ประชุมฯ ระดับชาติหลักๆ ไม่กี่แห่ง เช่น IMPACT ซึ่งเคลมว่ามีพื้นที่รวมกันทั้งหมด 1.4 แสนตร.ม.และยังมี BITEC พื้นที่กว่า 4 หมื่นตร.ม.และศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เคลมว่าพื้นที่ทั้งหมดกว่า 6 หมื่น ตร.ม. ล้วนกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะที่แผนสร้างศูนย์ประชุมฯ ที่เชียงใหม่และภูเก็ตยังอาจต้องเจอภาวะ "โรคเลื่อน" อยู่ต่อไป
แม้ว่าความสวยงามของธรรมชาติและมนต์เสน่ห์ของวัฒนธรรมไทยเราจะไม่เป็น รองเกาหลี แต่เมื่อมองดูความพร้อมของ infrastructure ในอุตสาหกรรมไมซ์เปรียบเทียบกัน ทั้ง hardware, software และ peopleware ...จึงไม่น่าแปลกใจที่เกาหลีจะดูพร้อมสู่การเป็น MICE Hub of Asia มากกว่าไทย
แต่ก็อย่าเพิ่งหมดหวังเพราะอย่างน้อยเมื่อ 5 ปีก่อนประเทศไทยได้จัดตั้งหน่วย งานที่ทำหน้าที่คล้ายกับ KCB ขึ้นมาดูแล กระตุ้นและส่งเสริมอุตสาหกรรม MICE Tourism อย่างจริงจังที่ชื่อว่า "สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)" ถึงแม้จะเกิดขึ้นมาหลัง KCB นานถึง 25 ปี ก็ตามที...
|