หลังจากดำเนินธุรกิจมาจนเกือบจะครบ 30 ปี บริษัท เอส.พี.ซูซูกิ จำกัด (มหาชน)
ซึ่งเป็นสมบัติของตระกูล "พรประภา" อีกซีกหนึ่ง ภายใต้การนำของ"ดร.ชุมพล"
ได้จัดให้มีพิธีลงนามแต่งตั้งผู้จัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนกับตัวแทนจากสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศรวม
33 แห่ง เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เอกธำรง จำกัด
(มหาชน) และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไอเอฟซีที ไฟแนนซ์ จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
นอกจากจะเป็นหุ้นในธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ตัวแรกในตลาดหลักทรัพย์และเป็นหุ้นตัวแรกของปีนี้แล้ว
ชุมพล พรประภายังคุยว่า เป็นหุ้นที่ประธานบริษัทเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางอีกด้วย
แม้จะฟังดูน่าหมั่นไส้ แต่หลายคนก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง
การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้ ชุมพลถือว่า เป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนากิจการของบริษัท
เพื่อจะได้เติบโตไปอย่างมั่นคงและขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต
อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะกลายมาเป็นบริษัท เอส.พี.ซูซูกิ จำกัด (มหาชน)ในวันนี้
ชุมพลเริ่มธุรกิจการค้ารถจักรยานยนต์ซูซูกิขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2509
ในนามบริษัท เอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ด้วยทุนจด
ทะเบียน 1 ล้านบาท
หลังจากก่อตั้งได้ 1 ปี เอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนลก็ขยายธุรกิจด้วยการเข้าไปร่วมทุนถือหุ้นในบริษัท
ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการผลิตรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ซูซูกิเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยฝ่ายญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 49% ขณะที่กลุ่มของชุมพลร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย
19.5% (ปัจจุบันเป็นการถือในนามของเอส.พี.ซูซูกิ) ส่วนบ้านซูซูกิ ตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ซูซูกิใน
14 จังหวัด ภาคใต้ ถือหุ้นอยู่ประมาณ 6%
1 กรกฎาคม 2530 บริษัท เอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ซื้อกิจการจากบริษัท
ทีทีซี ซูซูกิเซลส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทประกอบธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ซูซูกิ
ที่มีทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท
ปี 2537 ได้โอนกิจการในส่วนการจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ซูซูกิ รวมถึงศูนย์บริการ
โชว์รูมและพนักงานทั้งหมดจากบบริษัท เอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เข้ามารวมไว้ด้วยกันและได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเอส.พี.ซูซูกิ
จำกัด โดยปล่อยให้เอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนลทำธุรกิจขายรถยนต์โตโยต้ารายใหญ่ในกรุงเทพฯ
อย่างเต็มตัว
หลังจากนั้นไม่นาน บริษัท เอส.พี.ซูซูกิ จำกัด (มหาชน) ก็ได็เข้าซื้อกิจการของ
บริษัท สินพล จำกัด ที่นอกจากจะเป็นผู้แทนจำหน่ายและให้บริการหลังการขายรถจักรยานยนต์ซูซูกิในเขตภาคกลางแล้ว
ยังให้บริการเช่าซื้อ ซึ่งถือเป็นธุรกิจสำคัญของธุรกิจการจำหน่ายรถจักรยานยนต์อีกด้วย
วันที่ 31 สิงหาคม 2537 ผู้ถือหุ้นมีมติที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน
เพื่อระดมทุนจากประชาชน และได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 800 ล้านบาท (แบ่งเป็น
80 ล้านหุ้น) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2538
โดยก่อนเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนทั่วไปจำนวน 16 ล้านหุ้น ในราคาเสนอขายหุ้นละ
76 บาท
คิดเป็นมูลค่า 1,216 ล้านบาท ในวันที่ 15-17 มกราคมนี้ ผู้ถือหุ้นของบริษัทประกอบไปด้วยเอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล
จำกัด และบริษัท ซี.เอ.อาร์.เอส. จำกัด ถือหุ้นใหญ่เท่ากัน คือ บริษัทละ
38.1% ตระกูลพรประภา 9.5% อื่นๆ 14.3%
เงินที่ได้จากการระดมทุนจะถูกนำมาใช้ในการขยายธุรกิจตามแผนงาน 2 ปี ซึ่งประกอบไปด้วย
5 แผนงานหลัก เริ่มจากใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ 246 ล้านบาท สร้างศูนย์บริการ
ศูนย์ฝึกอบรม และสนามฝึกสอนการขับขี่ปลอดภัยบริเวณคลอง 4 ถ. รังสิต - องครักษ์
100 ล้านบาท ซื้อคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลของบริษัท 20
ล้านบาท ให้บริษัท สินพล จำกัด กู้ยืมเพื่อนำไปขยายวงเงินให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์
590 ล้านบาท นอกจากนี้ยังให้บริษัทสินพลกู้ไปใช้ในการขยายช่องทางการจำหน่ายอีก
260 ล้านบาท
แต่ถ้าจะพิจารณากันจริงๆ แล้ว การนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของชุมพลครั้งนี้มีความลึกซึ้งมากกว่าการนำเงินมาใช้ในการขยายธุรกิจ
ประการแรกชุมพลมองว่า เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเอส.พี.ซูซูกิในฐานะบริษัทคนไทย
ทั้งในการต่อสู้กับคู่แข่งที่มีบริษัทแม่จากต่างประเทศให้การสนับสนุน อย่างฮอนด้าหรือสยามยามาฮ่าที่เพิ่งร่วมลงทุนกับยามาฮ่า
ญี่ปุ่นเมื่อปี 2538 ที่ผ่านมา
"บางบริษัทอาจไม่จำเป็นต้องเข้ามาระดมทุนในตลาด เพราะบริษัทแม่เขาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศอยู่แล้ว
จึงสามารถนำเงินทุนราคาถูกกว่าเข้ามาใช้ในการขยายงานได้ แต่สำหรับบริษัทคนไทยอย่างเราถ้าไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์จะเสียเปรียบมาก
โดยนอกจากจะเสียเปรียบคู่แข่งแล้ว ในฐานะที่เราเป็นบริษัทร่วมทุนกับญี่ปุ่นก็อาจจะเสียเปรียบ
เมื่อมีความจำเป็นในเรื่องการเพิ่มเงินลงทุน เพราะถ้าบริษัทไม่พร้อมก็จะถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นลงไปโดยปริยาย
ซึ่งที่ผ่านมามีลักษณะเช่นนี้ให้เห็นบ่อยๆ "ชุมพลกล่าว
เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดของชุมพล พรประภา
ก็คือ เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดศึกสายเลือดระหว่างลูกหลานของเขาและน้องๆในอนาคต
อย่างที่เขาและลูกพี่ลูกน้องในเจนเนอเรชั่นที่ 2 ของตระกูลพรประภาเคยประสบมาจนกลายเป็นเรื่องสาวไส้ให้กากินเมื่อเร็วๆ
นี้
"การเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นการป้องกันปัญหาศึกสายเลือดที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง
แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นครอบครัวไหนที่ต้องการมีศึกสายเลือดน้อยๆ
ก็คงต้องนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดให้เร็วที่สุด"ชุมพลแนะนำ ซึ่งในส่วนของเอส.พี.นั้น
มีแนวโน้มที่จะนำบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มเช่น เอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนลเข้าตลาดอีกก็ได้
ถ้าเอส.พี.ซูซูกิไปได้ดี
ส่วนที่ว่าการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะทำให้เสียเปรียบคู่แข่ง เพราะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับทราบนั้น
ไม่ใช่เรื่องที่ชุมพลหวั่นเกรง เพราะมั่นใจว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวของบริษัทใดก็ตาม
80 % ขึ้นอยู่กับฝีมือของตัวเอง ไม่ใช่เพราะคู่แข่ง โดยจุดที่จะทำให้ธุรกิจรถจักรยานยนต์ประสบความสำเร็จนั้น
ปัจจัยหลักมี 4-5 ข้อ เริ่มจากการพัฒนาสินค้าให้มีรูปร่างหน้าตาถูกใจผู้ใช้
เหมาะสมกับรูปร่างผู้ใช้ คงทนประหยัดน้ำมัน และมีจุดจำหน่ายกว้างขวาง
จากตัวเลขการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ช่วง 11 เดือนของปี 2538 ปรากฏว่า ซูซูกิมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่
24.6 % ครองอันดับสองร่วมกับยามาฮ่า ซึ่งเป็นการขึ้นมาอยู่ในอันดับสองอีกครั้งหลังจากตกไปอยู่ในอันดับ
3 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ฮอนด้าครองอันดับหนึ่งด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึง
43.7% ส่วนคาวาซากินั้นมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 7.1 %
เป้าหมายทางการตลาดที่ซูซูกิวางไว้ในช่วง 5 ปีนี้ก็คือการเป็นอันดับ 2
ที่โดนอันดับหนึ่งทิ้งน้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็พยายามทิ้งห่างจากยามาฮ่าซึ่งมียอดขายเท่ากันอยู่ในขณะนี้ให้มากที่สุด
เพื่อจะได้ไม่ต้องถ่ายรูปตัดสิน ส่วนการจะขึ้นเป็นอันดับหนึ่งนั้นคงต้องมาคุยกันหลังพ้น
5 ปีไปแล้ว ซึ่งชุมพลคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ เพราะในอดีตที่ผ่านมา
ทั้งฮอนด้า ยามาฮ่าและซูซูกิต่างเคยเป็นเบอร์หนึ่งมาแล้วทั้งสิ้น