อุตฯอาหารส่งออกปี’50 ชะงักงันผู้ประกอบการลดการผลิต ด้าน “ส.อาหาร”คาดปี 2551 ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ชู “สินค้า”ประมงยังสดใสแทบทุกตัว พร้อมเตือนระวังค่าเงินบาทแข็งค่า ทั้งเตรียมรับมือ “อียู” กีดกันสินค้าไทย
ต้องยอมรับอุตสาหกรรมอาหารเป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่งที่สร้างมูลค่าจากการส่งออกได้ในระดับที่น่าพอใจในปี 2550 ที่ผ่านมาแม้จะมีบางกลุ่มธุรกิจที่ยอมกลืนเลือดเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดมาได้ แต่ปีหน้าฟ้าใหม่ในปี 2551 นี้จะมีอุปสรรคใดที่จะยังสกัดกั้นอุตสาหกรรมอาหารของไทย รวมทั้งแนวโน้มในการส่งออกยังสดใสมากน้อยเพียงไรเพื่อหาแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ปี’50 อุตฯอาหารชะงัก.!
ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในช่วง 11 เดือนของปี 2550 ว่า ภาพรวมลดลงเมื่อเทียบกับปี 2549 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2550 ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อรวมตลอด 11 เดือนของปี 2550 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวต่ำเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 อุตสาหกรรมอาหารส่วนใหญ่มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนทั้งอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ แปรรูปสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ น้ำมันพืช รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากนม โดยการผลิตสัตว์น้ำ (ทูน่าแปรรูป) ผลไม้แปรรูป (สับปะรดกระป๋อง) ผลิตภัณฑ์นม และน้ำมันพืช (ปาล์มน้ำมัน) ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลน วัตถุดิบ ราคาวัตถุดิบทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมอาหารที่มีการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมีเพียงอุตสาหกรรมน้ำตาลและการผลิตเบียร์
สำหรับการนำเข้าสินค้าอาหารของไทยในปี 2550 มีมูลค่า 196,125 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.5 การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่สำคัญ ได้แก่ ธัญพืช แป้ง อาหารสัตว์ เนื่องจากการขาดแคลนผลผลิต ราคาตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนการนำเข้าสินค้าจำเป็นในการบริโภค ได้แก่ ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์นม อาหารทะเลแปรรูป มีการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการนำเข้าลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว
ส่งออกตลาดใหม่เพิ่มยอด.!
ด้านการส่งออกในปี 2550 มีมูลค่า 619,990 ล้านบาท โดยการส่งออกไปยังตลาดใหม่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นชดเชยการหดตัวของตลาดหลักส่งผลให้มูลค่าส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับปี 2549
ขณะที่การส่งออกอาหารของไทยในปี 2550 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ผลผลิตอาหารโลกโดยรวมยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตพืชอาหารบางส่วนถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส่วนประเทศคู่แข่งประสบปัญหาผลผลิตไม่เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศจึงระงับการส่งออกชั่วคราว
“คู่แข่งที่สำคัญคือจีนและเวียดนามกำลังประสบปัญหาเรื่องสุขอนามัยอาหาร ทำให้คู่ค้าหันมานำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาของผู้ประกอบการไทยคือการแข็งค่าของเงินบาท ราคาน้ำมันสูงขึ้นส่งผลให้กำไรของผู้ประกอบการลดลง” ผอ.สถาบันอาหาร ระบุ
คาดส่งออกปี’51 ทะลุเป้าสินค้า “ประมง” ยังสดใส
ด้านแนวโน้มการส่งออกในปี 2551 คาดว่า การส่งออกอาหารของไทยจะมีมูลค่า 664,524 ล้านบาทขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 7.2 (ภายใต้สมมุติฐานค่าเงินบาทที่ 33.50 บาท/1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยการส่งออกจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าของตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะสินค้าอาหารในกลุ่มธัญพืชและเมล็ดพืชน้ำมัน เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
ในส่วนของการคาดการณ์การส่งออกรายสินค้าในปี 2551 นั้น กลุ่มสินค้าประมง ได้รับสิทธิทางภาษี(GSP) จากสหภาพยุโรป ซึ่งปี 2551 จะเป็นปีสุดท้ายของรอบโครงการก่อนจะมีการพิจารณาทบทวนโครงการรอบใหม่ นอกจากนี้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่นก็ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าประมงเช่นกันผลิตภัณฑ์ประมงส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ กุ้ง คาดว่าจะมีมูลค่า 85,747 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับปี 2550 ทูน่ากระป๋องแปรรูป คาดว่าจะมีมูลค่า 53,796 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับปี 2550 ในขณะที่กลุ่มผักและผลไม้ การส่งออกผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูป ในปี 2551 คาดว่าจะมีมูลค่า 34,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับปี 2550 ส่วนผักสดและผักแปรรูป คาดว่าจะมีมูลค่า 19,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 สำหรับกลุ่มสินค้าอื่นๆ อาทิ ข้าว คาดว่าจะมีมูลค่า 119,106 ล้านบาท
ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับปี 2550 มันสำปะหลังอัดเม็ดและมันเส้น คาดว่าจะมีมูลค่า 20,495 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 แป้งมันสำปะหลัง คาดว่าจะมีมูลค่า 16,042 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.5 ไก่และสัตว์ปีก คาดว่าจะมีมูลค่า 46,464 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อย 12.5 เมื่อเทียบกับปี 2550
เตือนระวังค่าเงินบาทแข็ง!
อย่างไรก็ดีปัจจัยเสี่ยงในปี 2551 ยังกังวลเรื่องค่าเงินบาทที่อาจจะแข็งค่าไปถึง 30 บาท/เหรียญสหรัฐซึ่งอาจจะทำให้ผู้ผลิตจะหันไปนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพราะการนำเข้าจะมีราคาถูกกว่าการใช้วัตถุดิบในประเทศ เพราะภาคเอกชนไม่มีอำนาจที่จะบริหารจัดการเรื่องค่าเงินบาทแต่พยายามหาวิธีการช่วยเหลือตนเองอแต่ก็ทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ภาครัฐต้องทำคือ ทำให้เงินที่มีอยู่ไหลไปข้างนอกบ้าง เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนและมีการใช้เงินบาท เพื่อจะได้อ่อนค่าลงบ้าง
ทว่าในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าผู้ประกอบการพยายามรักษาตลาดส่งออกเอาไว้ให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อผลิตมากกลับต้องขาดทุนมาก เมื่อทนแรงต้านทานไม่ไหวจะสูญเสียตลาดให้ประเทศอื่น จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะการสร้างตลาดใหม่ทำได้ไม่ง่าย
เตรียมรับมือ “อียู” กีดกันการค้า
“เมื่อภาษีนำเข้าวัตถุดิบลดลงอยู่แล้วประกอบกับเงินบาทแข็งผู้ประกอบการส่วนหนึ่งหันไปนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แม้ภาคอุตสาหกรรมยังอยู่รอดแต่ภาคเกษตรและอาหารจะเดือดร้อน”นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจการเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า
นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่ส่งออกอาหารไปยังตลาดสหภาพยุโรป (อียู)จะเผชิญกับ 2 เรื่อง ปัจจัย1.เรื่องการใช้พลังงานและ2.แพ็กเกจจิงโดยสินค้าที่กระบวนการผลิตปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่อากาศสูงจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นต้นทุนของผู้ผลิตก็เพิ่มตามไปด้วย
|