Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน28 มกราคม 2551
แกะปมขัดแย้งโรงถลุงเหล็กสหวิริยา บทพิสูจน์น้ำยาสิทธิชุมชนตามรธน.50             
 


   
www resources

โฮมเพจ สหวิริยาสตีลอินดัสตรี

   
search resources

สหวิริยาสตีลอินดัสทรี, บมจ.
Metal and Steel




นับเป็นเวลานานกว่าปีแล้วที่พื้นที่ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จุดที่ตั้งโรงถลุงเหล็กสหวิริยา ถูกปกคลุมไปด้วยความตึงเครียด เกิดการเผชิญหน้ากันหลายครั้งหลายคราระหว่างกลุ่มสนับสนุนโครงการฯ และฝ่ายคัดค้านในนามกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กระทั่งล่าสุดม็อบสองฝ่ายเผชิญหน้ามีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสังเวยความขัดแย้งซึ่งนับวันจะรุนแรงขึ้นตราบใดที่ปมปัญหายังไม่ได้รับแก้ไข

ย้อนรอยกำเนิด-ปมขัดแย้ง

กลุ่มทุนอุตสาหกรรมเหล็กเครือสหวิริยา เข้ามาลงทุนในพื้นที่อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ปี 2533 ถือเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่สุดในเขตเวสเทิร์นซีบอร์ด ที่มีเม็ดเงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท เฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กรีดร้อนสร้างรายได้ให้กับเครือสหวิริยานับแสนล้านต่อปี

การลงทุนของสหวิริยา ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อหนุนส่งให้เป็น 1 ใน 13 อุตสาหกรรมเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจและสังคมของชาติ ขณะที่สรรพเสียงจากชุมชนรอบโครงการที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะ กลับไม่เคยได้รับการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจังทั้งจากหน่วยงานรัฐและกลุ่มทุน

เครือสหวิริยา ซึ่งวางแผนลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจรมาตั้งแต่ต้น ได้ประกาศลงทุนโครงการโรงถลุงเหล็กซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ มีเม็ดเงินลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาทมาตั้งแต่ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อปี 2540 แต่พิษต้มยำกุ้งทำให้กลุ่มทุนใหญ่ซวนเซ กระทั่งร่วมสิบปีให้หลังเครือสหวิริยาจึงเร่งพลิกฟื้นโครงการโรงถลุงเหล็กอีกครั้ง

ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายถึงการลงทุนที่ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะไทยไม่มีวัตถุดิบรองรับต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมด ศักยภาพการแข่งขันต่ำ เครือสหวิริยา ปัญหาเรื่องเงินทุนซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเอ็นพีแอลแก่ประเทศชาติโดยรวม ฯลฯ

แต่ในที่สุดคณะรัฐมนตรี ยุคทักษิณ เมื่อเดือน ม.ค. 2548 มีมติเห็นชอบนโยบายส่งเสริมส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตเหล็กขั้นต้นของเครือสหวิริยาที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ และจ.ชุมพร ตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมิได้มีมติที่คำนึงถึงประเด็นผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน ชุมชน สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ หรือไม่ เพียงใด ทั้งที่เกิดปัญหาความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างกลุ่มทุนใหญ่กับชุมชนเกิดขึ้นทุกหัวระแหง และมีผู้สังเวยชีวิตบาดเจ็บล้มตายนับไม่ถ้วน

การลงทุนของเครือสหวิริยาในอภิมหาโปรเจ็กต์โรงถลุงเหล็กมูลค่า 5 แสนกว่าล้าน ถือเป็น “จิ๊กซอว์” สำคัญของสองเป้าหมายใหญ่ที่กลุ่มตระกูลวิริยะประไพกิจ มุ่งมั่นไปให้ถึง หนึ่ง คือการปั้นยอดขายให้ถึง 2 แสนล้านบาทภายใน 5-10 ปีข้างหน้าโดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กเป็นตัวทำรายได้ที่สำคัญ จากปัจจุบันเครือสหวิริยามีรายได้นับแสนล้านจากโรงเหล็กรีดร้อนที่บางสะพาน และ สอง การก้าวขึ้นเป็นบริษัทอุตสาหกรรมเหล็กยักษ์ใหญ่ 1 ใน 5 ของโลก หลังการลงทุนโรงถลุงเหล็กครบทั้ง 5 เฟสภายในระยะเวลา 15 ปี

ขณะที่เครือสหวิริยา มีความมั่งคั่งเป็นเป้าหมาย ชุมชนแม่รำพึงและใกล้เคียงที่รวมตัวกันในนาม “กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง” ก็ลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการโรงถลุงเหล็กสหวิริยา โดยมีวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และอนาคตของลูกหลานเป็นเดิมพัน

“สู้วันนี้ยังมีโอกาสรอด แต่ถ้าไม่สู้เราก็ตายอย่างเดียว” วิฑูร บัวโรย ในฐานะประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ลั่นวาจาในหลายวาระหลายโอกาส ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเผชิญหน้าทั้งสองฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อมองลึกลงไปถึงองคาพยพของทั้งสองฝ่ายที่เผชิญหน้า ใช่ว่าจะมีแต่คู่กรณีคือกลุ่มทุนเอกชนและกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงเท่านั้น อย่าลืมว่าโครงการแสนล้านของสหวิริยา ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล ดังนั้น ความโน้มเอียงของหน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือท้องถิ่น ไล่ตั้งแต่ระดับคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฯลฯ ซึ่งเป็นกลไกของรัฐทั้งหมด รวมไปถึงเทคโนแครตด้านพลังงาน อุตสาหกรรม นักลงทุนในตลาดหุ้น ผู้รับเหมา ฯลฯ ล้วนแต่ยืนอยู่ข้างกลุ่มทุน ตามแนวทางการปกครองแบบ “รัฐทุนนิยม” (Capitalist State)

ขณะที่ฝ่ายกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง มีเครือข่ายภาคประชาชนและชุมชนที่ร่วมต่อสู้กับโครงการใหญ่ทั่วประเทศ และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นแรงสนับสนุน ซึ่งที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า พลังของเครือข่ายชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ นับตั้งแต่การต่อสู้อันยาวนานร่วมสองทศวรรษของสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีที่คัดค้านโครงการเหมืองโปแตช กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด-บ่อนอก ฯลฯ

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบองคาพยพของทั้งสองฝ่ายจะเห็นได้ชัดว่า ฝ่ายหนึ่งมีความเหนือกว่าในทุกด้านทั้งอำนาจและเงินทุน ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งแม้จะมีความชอบธรรมในการลุกขึ้นมาปกป้องรักษาทรัพยากรท้องถิ่นตามสิทธิชุมชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แต่กลับไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะไปบังคับให้ฝ่ายรัฐและทุนปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้ชุมชนได้รับสิทธิอันชอบธรรมนั้น

ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 กำหนดเรื่องสิทธิชุมชนไว้ในส่วนที่ 12 มาตรา 66 และมาตรา 67 ซึ่งมาตรา 66 ระบุว่า “บุคคลที่รวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน”

ส่วนมาตรา 67 ระบุว่า “สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม

“การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

“สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับการคุ้มครอง”

บทบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนกำหนดเอาไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ดูเหมือนกลไกรัฐทุกระดับที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย ไม่ยอมทำหน้าที่ ต่างลอยตัวหนีปัญหา เอนลู่ตามกระแส กระทั่งเกิดการเผชิญหน้ารุนแรงบานปลายที่มองไม่เห็นจุดสิ้นสุด

ปมขัดแย้งที่ดิน-ป่าพรุ-อีไอเอ

ปมปัญหาโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กบางสะพานที่สุมทับอยู่ในพื้นที่นั้น ประเด็นที่ปะทุขึ้นมาก่อนหน้าและยังคาราคาซังอยู่จนถึงบัดนี้นั้นคือ เรื่องที่ดินจุดที่ก่อสร้างโครงการ ที่มีข้อโต้แย้งกันระหว่างฝ่ายเอกชนที่ยืนยันถึงการได้มาซึ่งที่ดินว่ามีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง

ขณะที่ฝ่ายคัดค้านแย้งว่า บริเวณพื้นที่ที่เป็นป่าพรุ พื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นพื้นที่สาธารณะที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันไม่มีใครถือครองกรรมสิทธิ์ การพิสูจน์ความจริงในประเด็นนี้แม้ชาวบ้านจะร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ มากมาย แต่กระบวนการพิสูจน์เกิดขึ้นอย่างจริงจังเมื่อเดือนพ.ค. 2549 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

คณะกรรมการสิทธิฯ โดยนางสุนี ไชยรส กรรมการคณะกรรมการสิทธิฯ รับเรื่องร้องเรียนของชาวบ้านต.แม่รำพึง ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงใน 3 ประเด็นหลัก คือ

1) การออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนในพื้นที่ที่เป็นป่าพรุที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งสหวิริยา มีหลักฐานการซื้อขายครอบครองโดยชอบ ซึ่งต้องตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ว่ามีการออกโดยชอบหรือไม่ 2) การที่อบต.อนุญาตให้สหวิริยา เช่าพื้นที่ป่าช้าสาธารณะและทางสาธารณะซึ่งชุมชนมีการคัดค้านการให้เช่าที่สาธารณะดังกล่าว และ 3) การขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยแต่เดิมสหวิริยา ขอใช้ประมาณ 1,200 กว่าไร่ แต่ได้ลดลงมาเหลือ 22 ไร่

กระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งในพื้นที่คุกรุ่นหนักขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา ทางบริษัทสหวิริยา เดินหน้าปรับที่ดินในบริเวณป่าพรุ กลุ่มชาวบ้านจึงเข้าไปตั้งเพิงพักในบริเวณพื้นที่ป่าพรุเพื่อเฝ้าระวัง 24 ชม. มิให้มีการรุกทำลาย ทั้งสองฝ่ายต่างแจ้งความต่อกันและกันในหลายคดี

สำหรับกระบวนการพิสูจน์เอกสารสิทธิ์ที่ดิน ล่าสุด นางสุนี เปิดเผยว่า ที่มาของเอกสารสิทธิ์ที่ดินพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบหลายแปลง กระทั่งนำไปสู่การเพิกถอนแล้วจำนวน 1 แปลงจากทั้งหมด 17 แปลง ส่วนที่เหลือกำลังรอให้กรมที่ดินนำภาพถ่ายทางอากาศมาเปรียบเทียบและลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการสิทธิฯ เสนอไปยังกรมที่ดินตั้งแต่เดือนพ.ย. 2550 แล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ส่วนการเช่าพื้นที่ป่าช้าสาธารณะ ทางสาธารณะ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ได้รับอนุมัติและถูกยกเลิกในเวลาต่อมา

ปมปัญหาข้างต้น ทำให้เครือสหวิริยา ปรับเปลี่ยนผังที่ดินโครงการโรงถลุงเหล็กระยะที่ 1 ใหม่

นายไพโรจน์ มกร์ดารา ผู้อำนวยโครงการพิเศษ เครือสหวิริยา เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า เครือสหวิริยาตัดสินใจปรับเปลี่ยนผังที่ดินโครงการโรงถลุงเหล็กระยะที่ 1 ขยับไปทางด้านบนที่ได้จัดซื้อที่ดินใหม่เพิ่มเติม และตัดพื้นที่ดินที่มีปัญหาจำนวน 17 แปลง ที่ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ออกไปจากผังโครงการโรงถลุงเหล็กดังกล่าวหวังจะยุติข้อขัดแย้ง โดยพื้นที่โครงการได้ปรับขนาดลงจากเดิม 1,500 ไร่ เหลือ 1,200 ไร่

อย่างไรก็ตาม การขยับปรับผังโครงการใหม่ของเครือสหวิริยาขึ้นไปด้านบน กลับไปทำให้ทางสัญจรสาธารณะขนาดกว้าง 4 เมตร ที่อยู่แนวตะเข็บเดิมเข้ามาอยู่ในพื้นที่โครงการซึ่งเป็นปมปัญหาที่ชุมชนร้องคัดค้านหากบริษัทจะใช้ประโยชน์

ที่สำคัญประเด็นที่ดินจุดก่อสร้างโครงการ แม้เครือสหวิริยา จะตัดพื้นที่ป่าพรุที่เป็นปมปัญหาออกไป แต่มีประเด็นสำคัญที่ยึดโยงกันอยู่ก็คือ การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ของโครงการที่ยังไม่ผ่านการพิจารณา

นางสุนี ชี้ว่า อีไอเอครั้งแรกที่ผ่านการพิจารณาไปแล้วมีความบกพร่องที่ไม่ได้พิจารณาสภาพพื้นที่ตั้งโครงการที่เป็นป่าพรุ กระทั่งสุดท้ายสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ส.ผ.) มีมติให้ทบทวนและต้องจัดทำอีไอเอใหม่

“จุดที่เป็นข้อขัดแย้งคือ ระหว่างที่อีไอเอฉบับใหม่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งต้องพิจารณาผลกระทบของโครงการต่อพื้นที่ป่าพรุซึ่งได้รับการเสนอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งชาติและวนอุทยานด้วย ทางบริษัทผู้รับเหมาถมดินก็ลงมือทำงานโดยไม่รออีไอเอผ่านก่อน” กรรมการคณะกรรมการสิทธิฯ กล่าว

นางสุนีกล่าวต่อว่า เรื่องนี้ต้องยุติความรุนแรงโดยการดำเนินการใดๆ ขอให้รอให้อีไอเอผ่านการเห็นชอบก่อน บริษัทจะอ้างว่าขุดคลองและถมดินในพื้นที่ของตนเองไม่ได้ เพราะการขุดคลอง ถมดินที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นเป็นประเด็นสำคัญที่อยู่ในอีไอเอที่คณะผู้ชำนาญการฯ ต้องพิจารณาเนื่องจากคลองระบายน้ำของโครงการจะระบายน้ำไปลงในวนอุทยานและป่าพรุด้วย

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า พื้นที่ป่าพรุแม่รำพึงมีความหลากหลายทางนิเวศวิทยาสูงมาก การเร่งขุดคลอง ถมดิน ตามพ.ร.บ.ถมดิน ที่ไม่ได้ระบุว่าจะต้องรอให้อีไอเอผ่านความเห็นชอบก่อนทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา เพราะผลจากการถมดินจะกระทบต่อพื้นที่ป่าพรุและวนอุทยาน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญว่าคณะผู้ชำนาญการจะพิจารณาให้ความเห็นชอบอีไอเอหรือไม่

ขณะที่ฟากฝั่งผู้บริหารของเครือสหวิริยา แสดงท่าทีพร้อมจะเสนอข้อมูลในเวทีสาธารณะเพื่อตอบข้อกังขาในประเด็นข้างต้น

ปมปัญหาเรื่องอีไอเอว่าจะต้องผ่านการพิจารณาก่อนที่บริษัทจะลงมือดำเนินการใดๆ ได้หรือไม่นั้น นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รักษาการรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า สหวิริยาต้องรอการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติจากสำนักนโยบายและแผนฯ

การลงทุนโครงการใหญ่ที่มีผลประโยชน์มหาศาลย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้งเพราะความต้องการของแต่ละฝ่ายไม่ต้องตรงกัน การคลี่คลายปมปัญหาขึ้นอยู่กับว่า “ผู้คุมกฎ” ซึ่งหมายถึงหน่วยงานของรัฐจะวางตัวเป็นกลาง กล้าหาญยึดมั่นในหลักการ กฎ กติกา ที่เป็นขื่อแปของบ้านเมืองหรือไม่ ตราบใดที่ “รัฐทุนนิยม” มีความโน้มเอียงไม่เที่ยงธรรม ยากที่จะหาข้อยุติและความสงบสุข   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us