|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
นักลงทุนต่างชาติโยกถือหุ้นเปลี่ยนไปถือพันธบัตรความเสี่ยงต่ำในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกยังผันผวน ผู้จัดการตลาดตราสารหนี้ ระบุแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะทำให้เอกชนหันมาออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนมากขึ้น เผยต้นทุนต่ำกว่าการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน แนะแบงก์ชาติจับตาการเคลื่อนไหวเงินทุนพร้อมเตรียมแผนรับมือให้รอบคอบ เชื่อไม่รุนแรงเหมือนมาตรการกัน 30% โบรกเกอร์ คาดตลาดหุ้นไทยมีเสน่ห์พอที่จะดึงดูดเงินนอก ระบุทีมเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่มีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน ด้านภาคเอกชน จี้รัฐบาลใหม่เร่งฟื้นความเชื่อมั่นกระตุ้นภาคการลงทุน
นายสันติ กีระนันทน์ ผู้จัดการตลาดตราสารหนี้ (BEX) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลต่อเนื่องจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างรุนแรงและทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯต้องเข้าสู่ภาวะถดถอด ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้นักลงทุนทั่วโลกต่างหันมาลงทุนในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐฯ จึงส่งผลทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนลดต่ำลง
ทั้งนี้ การโยกย้ายเงินลงทุนมาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลรวมถึงพันธบัตรไทย แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลง แต่เรื่องดังกล่าวถือว่ากระทบต่อการลงทุนไม่มากนัก โดยคาดว่าส่งผลทำให้ผลตอบแทนลดลงเพียง 0.10% เท่านั้น ซึ่งยังถือว่าเป็นการลงทุนที่น่าลงทุนในสภาวะการทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ตกอยู่ในภาวะถดถอย
สำหรับเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จากการประชุมฉุกเฉินในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามากถึง 0.75% ทำให้ในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยของไทย ในขณะที่แนวโน้มการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ยังมีความเป็นไปได้สูงทำให้ในอนาคตมีความเป็นไปได้อย่างมากที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ซึ่งหากเกิดขึ้นผลกระทบที่จะตามมาคือการย้ายเงินลงทุนเพื่อลงทุนในประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ประกอบกับการแข็งค่าของค่าเงินบาทเหมือนในปัจจุบันอาจจะทำให้มีโอกาสที่ผู้ส่งออกสินค้าขายเงินดอลลาร์ที่ถือครองอยู่เปลี่ยนมาถือเงินบาทแทนมากขึ้นซึ่งจะยิ่งทำให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นกว่าในปัจจุบัน
"การย้ายเงินลงทุนเข้ามาในประเทศไทยจะยิ่งทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น หลังจากนี้คงต้องอยู่ที่แบงก์ชาติแล้วว่าจะมีมาตรการเพื่อรับกับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างไร แต่ยังเชื่อว่ามาตรการของแบงก์ชาติที่จะนำมาใช้คงไม่รุนแรงเท่ามาตรการกันสำรอง 30% ที่ประกาศใช้อยู่ในขณะนี้แต่อาจจะมีการมาตรการทางการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพแทน" นายสันติกล่าว
ส่วนการเคลื่อนย้ายการลงทุนในประเทศไทยมีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนต่างชาติจะขายหุ้นที่ถือครองอยู่ในตลาดหุ้นไทย ซึ่งปัจจุบันมีการขายสุทธิออกมาอย่างต่อเนื่องแล้วโยกเงินลงทุนในไทยไปสู่ตลาดตราสารหนี้ และนำเงินใหม่ที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนมาลงทุนในตลาดหุ้นแทน เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงมาตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากธปท.ได้อนุญาตให้ผ่อนผันไม่ต้องกันสำรอง 30% สำหรับเงินลงทุนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น
นอกจากนี้ เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะมีการปรับลดลงเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับปัญหาว่าจะสร้างความเสียหายอีกมากน้อยเพียงใด โดยคาดว่าทั้งปีมีโอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก 1% โดยเรื่องดังกล่าวส่วนตัวยังเชื่อว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยคงมีไม่มาก เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4/50 ที่ออกมา โดยเฉพาะการส่งออกยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ประกอบการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่องหากพิจารณาในส่วนดีแล้วถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ภาคเอกชนที่กู้เงินสกุลดอลลาร์จะมีโอกาสในการชำระหนี้ในเงินกู้ได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม มาตรการกันสำรอง 30% ที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันแม้ว่าจะมีการผ่อนผันสำหรับการเข้ามาลงทุนในบางประเภท บางรายการก่อนหน้าจะส่งผลกระทบในเชิงกว้าง แต่หากมีการยกเลิกมาตรการดังกล่าวเชื่อว่าคงไม่ส่งผลทำให้ค่าเงินบาทผันผวนไปมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่หากมีการไหลเข้ามาของเงินทุนอย่างรุนแรง ธปท.จะต้องติดตามการไหลเข้ามาอย่างใกล้ชิดโดยอาจจะมีการไหลเข้ามาในตลาดรองประเภทต่างๆมากขึ้น รวมถึงอาจจะมีการออกพันธบัตรหรือตราสารต่างๆ มากขึ้น เพราะต้นทุนในการระดมทุนด้วยการออกตราสารต่ำกว่าการระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้ภาระในการจ่ายผลตอบแทนลดลง
แหล่งข่าวผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ประกาศออกมาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนักลงทุนตอบรับในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างดีจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เงินลงทุนจากต่างประเทศไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นทั่วเอเชียรอบใหม่ โดยในรอบนี้ตลาดหุ้นที่ยังคงมีเสน่ห์ต่อนักลงทุนต่างๆไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นอินเดีย ตลาดหุ้นจีน รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่มีค่าพีอีเรโชอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในภูมิภาคจะเป็นกลุ่มที่ดูดเม็ดเงินให้เข้ามาลงทุน
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยอาจจะถือว่าได้เปรียบตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาคนี้ เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนในประเทศโดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยในช่วงสัปดาห์หน้าจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมทั้งอาจจะได้เห็นรายชื่อทีมเศรษฐกิจที่จะเข้ามาดำเนินนโยบายในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อจิตวิทยาในการลงทุนค่อนข้างมาก
"ตลาดหุ้นเรายังผูกติดกับการเข้าและออกของนักลงทุนต่างชาติ จะเห็นได้ว่าในช่วงตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิออกมาอย่างต่อเนื่องทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างหนัก ขณะที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นวันแรกที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยก็ตอบรับอย่างชัดเจน" แหล่งข่าวกล่าว
ภาคเอกชนจี้รัฐฟื้นความเชื่อมั่น
นายสถาพร เพชรทองคำ เลขานุการบริษัทและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC กล่าวในการเสวนาเรื่อง "การขับเคลื่อนของภาครัฐ ชี้นำเศรษฐกิจไทยปี 51" ว่า ต้องการให้รัฐบาลใหม่ยึดนโยบายการสนับสนุนเศรษฐกิจรากหญ้า เนื่องจากปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ประมาณครึ่งหนึ่งจะอยู่ในภาคเศรษฐกิจรากหญ้า ขณะที่ภาพรวมการใช้ปูนซีเมนต์ในปีนี้ คาดว่าจะทรงตัวใกล้เคียงปีที่ผ่านมาที่ 28-29 ล้านตัน
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ปิดเตาไป 2 เตา ทำให้กำลังการผลิตลดลง 2.2 ล้านตัน เพื่อเป็นการลดปริมาณการส่งออก หลังจากที่บริษัทได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาททำให้กำไรจากการส่งออกลดลง รวมถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานซึ่งบริษัทใช้พลังงานจากถ่านหินและไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70%
"เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตบริษัทได้พยายามหาพลังงานทดแทนการใช้ถ่านหิน เช่น ยางรถยนต์เก่า ขยะอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยตั้งเป้าจะลดต้นทุนให้ได้ประมาณ 10% ขณะเดียวกันบริษัทจะมีการปรับเพิ่มราคาขายให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น"
พร้อมกันนี้ นายสถาพร ได้กล่าวให้ความเห็นกรณีที่นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ว่า ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้นักลงทุนควรระมัดระวังในการลงทุน โดยเลือกลงทุนในบริษัทที่มีหนี้สินน้อยและมีอัตราการสร้างกำไรที่ดีในอนาคต
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS กล่าวว่า จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% กดดันให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศลดลงได้ เพื่อประคองการบริโภคที่จะชะลอจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ
"หลังการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว คาดว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะถูกนำมาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ โดยภาคอสังหาริมทรัพย์มีผลต่อการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติประมาณ (GDP) 6-7% ขณะเดียวกันหากภาคภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวจะเกิดส่งผลดีต่อภาคธุรกิจอื่นๆ รวมถึงเกิดการจ้างงานขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับมาโดยเร็ว" นายประเสริฐ กล่าว
นายณรงศ์ ทัศนนิพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAFECO กล่าวว่า รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต้องมีนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน และเดินหน้าลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) อย่างต่อเนื่อง แม้การก่อสร้างหรือเม็ดเงินที่ใช้จริงอาจจะเป็นช่วงปลายปีก็ตาม แต่เมื่อมีความชัดเจนออกมาจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมันในการลงทุนเช่นกัน
"ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณบวกกลับมาบ้างหลังการเมืองมีความชัดเจน โดยเอกชนบางส่วนที่มีความพร้อมแต่เดินหน้าโครงการไม่ได้ เนี่องจากติดขัดกับกฎเกณฑ์ เงื่อนไขบางประการ เช่น มาตรการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น จึงอยากให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ"
ส่วนด้านแผนการดำเนินงานของบริษัทนั้น บริษัทได้พยายามหาตลาดในต่างประเทศมากขึ้น ทั้งในตะวันออกกลางและอาเซียน รวมทั้งปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ ซึ่งคาดว่าแนวโน้มธุรกิจของบริษัทในปี 51 จะดีขึ้นหลังจากปี 50 บริษัทใช้กำลังการผลิตได้เพียง 70% เท่านั้น ในขณะที่มีงานในมือแล้วกว่า 1.1 พันล้านบาท
|
|
|
|
|