เจ้าหนี้เตรียมดันบริษัท บริหารแผนไทยฟื้นฟูฯ ทีพีไอวันนี้ ขณะที่"สุวรรณ"
ตีกันคลังตั้งกองทุนซื้อหนี้ทีพีไอเต็มที่ อ้างเป็นเบี้ยหัวแตก ด้านเจ้าหนี้แบไต๋
หากกองทุนซื้อหนี้คืนก็ยินดีขายให้ แต่ต้องได้ราคายุติธรรม
นายสุวรรณ วลัยเสถียร รองประธานบริษัท บริหารแผนไทย จำกัด เปิดเผยว่าการประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้บริหารแผนรายใหม่ของบริษัท
อุตสาห-กรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (TPI) วันนี้ (2 มิ.ย.) คาดว่าเจ้าหน้าหนี้เลือกบริษัท
บริหาร แผนไทย บริหารแผนฟื้นฟูฯ ทีพีไอ อย่างแน่นอน เพราะทางเจ้าหนี้ได้เตรียมตัว
โดยมีการตรวจคะแนนและหนังสือมอบอำนาจแล้ว หลังจากผลประชุมโหวตแล้ว ทางเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
จะนำผลสรุปดังกล่าวเสนอต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อมีคำสั่งแต่งตั้งผู้บริหารแผนฯในวันที่
11 มิ.ย.
อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 2-11 มิ.ย. จะมีการเปลี่ยนแปลงในทีพีไอ หรือไม่นั้นคงต้องติดตามเป็นวันต่อไปวัน
เพราะฝ่ายเจ้าหนี้ยืดหยุ่นพอสมควร จะเห็นได้ว่า วันที่ 28 พ.ค. เจ้าหนี้รับฟังความคิดเห็นของตัวแทนกระทรวงการคลังพอสมควร
จึงยอมจะให้มีตัวแทนภาครัฐและลูกหนี้ร่วมเป็นผู้บริหารแผนฯ
ส่วนการตั้งกองทุนเพื่อซื้อหนี้ ทีพีไอ ขณะนี้ยังไม่ทราบเรื่องการตั้งกองทุน
แต่เชื่อว่ามาจากกระทรวงการคลัง ตราบใดที่ทีพีไอ ยังอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการฯ คงยากจะตั้งกองทุน
แต่กองทุนที่ตั้ง คงมีวิธีที่จะซื้อหนี้จากเจ้าหนี้ทั้งก้อน หรือแยกซื้อหนี้จากเจ้าหนี้
410 ราย เพื่อสวมสิทธิ์เป็นเจ้าหนี้
ตีกันคลังตั้งกองทุนซื้อหนี้ทีพีไอ
การตั้งกองทุน ต้องดูว่าใครบริหารรวมถึงวัตถุประสงค์กองทุนเป็นอย่างไร และประชาชนสนใจแค่ไหน
ส่วนกระแสข่าวการตั้งกองทุนเพื่อซื้อหนี้ทีพีไอ เขากล่าวว่า การตั้งกองทุน ต้องมีวงเงิน
มาก เพราะหนี้ทีพีไอปัจจุบัน 1.2 แสนล้านบาท ถ้าต้องตั้งกองทุนมูลค่าไม่กี่พันล้านบาทช่วงนี้
ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะซื้อหนี้ไปแล้ว ก็เป็นเบี้ยหัวแตก และถ้าตั้งกองทุนมูลค่าหมื่นล้านบาท
ก็มีสัดส่วนเพียง 8% ของมูลหนี้
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในการจัดกองทุนนั้น เป็นเรื่องดี แต่การลงทุนไปถึงรายละเอียดคงเป็นเรื่องยาก
ดังนั้น ทางออกการแก้ไขปัญหาทีพีไอช่วงนี้ คงหลีกหนีไม่พ้นให้เจ้าหนี้โหวตรับบริษัท
บริหารแผนไทยเพียงอย่างเดียว
นายสุวรรณ กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้าที่เจ้าหนี้จะเปิดเผยรายชื่อบริษัท บริหารแผนไทย
บริหารแผนฯ ทีพีไอนั้น ราคาหุ้น TPI 2.80 บาท ต่อหุ้น แต่ขณะนี้ ราคาหุ้นTPI 5
บาทกว่า จำนวน หุ้นทั้งหมด 7.7 หมื่นล้านหุ้น เป็นส่วนของลูกหนี้คือ นายประชัย
เลี่ยวไพรัตน์ 15% หรือ 1 พันล้านหุ้น จากราคาหุ้นที่ขยับเพิ่มขึ้น ทำให้ลูกหนี้กำไรแล้วกว่า
2 พันล้านบาท
น่าจะทำให้ลูกหนี้เห็นประโยชน์ และยอมรับบริษัท บริหารแผนไทย บริหารแผนฟื้นฟูฯ
ทีพีไอรายใหม่ โดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท นายสุวรรณ
รองประธาน ส่วนกรรมการ จะประกอบด้วย นายมังกร เกรียงวัฒนา และ ม.ล. วารีวัลย์ วรวรรณ
ผู้บริหารจากบริษัทตรวจสอบบัญชี เคพีเอ็มจี จากแดนมะกัน รวมทั้งมีตัวแทนลูกหนี้และภาครัฐร่วมเพียงฝ่ายละคน
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการเจ้าหนี้เสนอชื่อนายอารีย์ วงศ์อารยะ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย
เป็นตัวแทนลูกหนี้ และนายพละ สุขเวช อดีตผู้ว่าการ ปตท. เป็นตัวแทนรัฐ ร่วมบริษัท
บริหารแผนไทย แต่นายอารีย์ ปฏิเสธจะร่วมเป็นกรรมการ เพราะหลักการนี้ขัดกับแนวคิดแก้ปัญหาทีพีไอ
ของนายกรัฐมนตรี แต่พร้อมจะเป็นตัวแทนลูกหนี้ตามโยบาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ที่เสนอให้มีตัวแทนเจ้าหนี้และลูกหนี้ฝ่ายละ 7 คน และจากรัฐ1 คน เป็นคณะกรรมการบริหารแผนฯ
ร่วม
แหล่งข่าวเจ้าหนี้ทีพีไอ กล่าวว่า กระแสข่าวการตั้งกองทุน น่าจะยาก เพราะต้องใช้เงินค่อนข้างมาก
โดยยังไม่รู้ว่า แหล่งเงินกองทุน จะมาจากส่วนไหน แต่ถ้าตั้งกองทุนได้จริง เชื่อว่า
เจ้าหนี้จะไม่คัดค้าน เพราะต้องการหนี้คืน ซึ่งรายละเอียดเงื่อนไขการซื้อหนี้คืนคงต้องยุติธรรมด้วย
อย่างไรก็ตาม ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่า เจ้าหนี้ยอมให้นายประชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีพีไอ ร่วมเป็นกรรมการ ในบริษัท บริหารแผนไทย แต่นายประชัย
ปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว ระบุว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ และลูกหนี้ยืนยันจะปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล
ตามสูตร 7-7-1
น่าสังเกตว่า หากผลประชุมเจ้าหนี้โหวตเลือกบริษัท บริหารแผนไทย บริหารแผนฯ ทีพีไอ
รายใหม่ แสดงให้เห็นว่า เจ้าหนี้ยังยึดหลักการเดิม โดยไม่สนใจคำเสนอแนะภาครัฐรวมทั้งคำสั่งศาลล้มละลายกลาง
สุดท้ายศาลจะใช้ดุลพินิจ ว่าจะแต่งตั้งผู้บริหารแผนรายใหม่ตามที่เจ้าหนี้โหวตเลือกหรือไม่
วันที่11 มิ.ย.นี้
คำสั่งศาล วันที่ 21เม.ย. ระบุว่า "การที่ที่ประชุมเจ้าหนี้จะมีมติเลือกผู้บริหารแผนคนใหม่
แต่หากไม่เป็นที่ยอมรับของลูกหนี้แล้ว โอกาสที่ลูกหนี้จะฟื้นฟูกิจการได้เป็นผลสำเร็จ
อาจเกิด ขึ้นได้ยาก และหากลูกหนี้ล้มละลายจริง ย่อมส่งผลกระทบต่อเจ้าหนี้ ประชาชนผู้ถือหุ้นของลูกหนี้
รวมทั้งพนักงานของลูกหนี้ และยังทำ ให้นักลงทุนต่างประเทศย่อมไม่มีความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาโดยกระบวนการยุติธรรมของไทย
เมื่อลูกหนี้มีลักษณะเป็นองค์กรขนาดใหญ่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก
เมื่อแนวโน้มเป็นเช่นนี้ และเนื่องจากกฎกระทรวง ว่า ด้วยคุณสมบัติผู้บริหารแผน
และผู้บริหารแผนไม่ได้ใช้บังคับคดีนี้ ที่ประชุมเจ้าหนี้ จึงควรมีมติตั้งผู้บริหารแผนรายใหม่จากผู้ที่ได้รับการยอมรับของลูกหนี้ด้วย
หรือจากนิติบุคคล หรือคณะบุคคลภาครัฐหรือองค์กรรัฐ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงิน
หรือวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกัน หากยินยอม
เพื่อให้ผู้บริหารแผนรายใหม่เป็นกลาง และมีความสามารถเพียงพอจะบริหารจัดกิจการ
และทรัพย์สินลูกหนี้ได้ เมื่อถึงเวลานั้น ให้ผู้บริหารแผนรายใหม่พิจารณาทบทวนให้มแก้ไขแผน
เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้ได้รับการฟื้นฟู
กิจการในที่สุด จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและประเทศชาติไทยด้วย